วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Golden Mermaid


บางทีสิ่งที่เราคุ้นเคยมานาน ก็กลายเป็นสิ่งที่เรามีความรู้น้อยมาก
            ผมคุ้นเคยกับสงขลา คุ้นเคยกับหาดสมิหลา คุ้นเคยกับรูปปั้นนางเงือก มาตั้งแต่เด็ก อาจจะก่อนได้รู้จักนางเงือกในเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ด้วยซ้ำ ประมาณว่าไปสงขลาครั้งแรกก็ได้เห็นนางเงือกแล้ว ได้ปีนขึ้นไปนั่งตักถ่ายรูปด้วยแล้ว

เงือกทองเปรียบเสมือนตัวแทนคนสงขลาคอยต้อนรับผู้มาเยือนหาดสมิหลา
อย่างโอบอ้อมและเป็นมิตรตลอดมา

            แต่ถ้าใครจะมาถามผมว่าเงือกสาวนางนี้ไปสิงสถิตย์อยู่บนหาดทรายสวยแห่งนี้ได้อย่างไร ผมก็คงได้แค่งึมงำตอบส่งๆ ไปว่า “ทางจังหวัดเขาคงสร้างขึ้นมามั้ง”
แผ่นจารึกประวัติการสร้างนางเงือก
            จนเมื่อไปสงขลาครั้งล่าสุด และมีเวลาเอ้อระเหยอยู่ริมหาดเนิ่นนาน ผมจึงได้หยุดอ่านแผ่นประวัตินางเงือก (ซึ่งทำขึ้นมาภายหลัง) อย่างละเอียดอีกครั้ง (และถือโอกาสถ่ายรูปไว้เป็นบันทึกช่วยจำ) แผ่นหินนั้นจารึกข้อความว่า “รูปปั้นนางเงือกนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้อาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่างเป็นผู้ปั้นหล่อจากบรอนซ์รมดำ โดยใช้งบประมาณของเทศบาล 60,000 บาท ตั้งชื่อว่า "เงือกทอง" (Golden Mermaid) เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลามาจนทุกวันนี้
            แผ่นประวัติยังได้อธิบายเรื่องนางเงือกต่อไปว่า “นางเงือกเป็นนางในวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ เอกกวีสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352 - 2367) ตามคำบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นั้น นิทานปรัมปราไทยเรื่องหนึ่งมีว่า ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ คืนหนึ่งมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจหนีลงน้ำไป ทิ้งหวีทองคำไว้ ชาวประมงผู้นั้นเฝ้าแต่รอคอย แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย”
ลองนึกภาพว่า ถ้าผมได้อ่านแผ่นจารึกก่อนหน้านี้เมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีก่อน ผมอาจจะอยากรู้ว่าปลัดจังหวัด/นายกเทศมนตรีคนนี้ คิดอย่างไร มีความประทับใจใดกับนางเงือก เป็นเพียงนางเงือกในนิทานปรัมปรา หรือว่ายังโยงใยไปถึงนางเงือกใน “พระอภัยมณี” ดังที่สุนทรภู่ได้รจนาไว้
            “พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย                     
         ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม 
         ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม           
         ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง
         ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด 
         ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง 
         พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง                 
         แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป” 
         แต่กับวัยวันที่เป็นจริง กับภาพเบื้องหน้าที่ผู้คนทุกเพศวัยทยอยกันขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือกแทบไม่ได้ว่างเว้น ทำให้ผมนึกอยากรู้คำตอบว่าตลอด 45 ปีที่ผ่านมา มีคนมาถ่ายรูปกับเงือกทองไปแล้วกี่ล้านหรือกี่สิบล้านคน
            แน่ละว่าเราคงเอา “เงือกทอง” ไปเปรียบกับ Little Mermaid ของเดนมาร์ก ที่กำลังจะมีอายุครบหนึ่งศตวรรษไม่ได้ ทั้งในแง่ของชื่อเสียง สถานะของสิ่งที่มาทีหลัง หรือแม้กระทั่งว่าการแปรเรื่องราวของเงือกสาวในตำนานออกมาเป็นงานประติมากรรมก็ยังอาจได้รับแรงบรรดาลใจมาจากรูปปั้นเงือกน้อยแห่งอ่าวโคเปนเฮเกน แต่ในขณะที่เงือกน้อยดูหม่นหมองและโดดเดี่ยว เงือกทองของเราดูโอบอ้อมและเป็นมิตร
            ระหว่างที่นั่งดูผู้คนมีความสุขกับการเวียนกันขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือก ผมก็นึกต่อไปว่า อาจารย์จิตร บัวบุศย์ คงปลาบปลื้มที่ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ใกล้ชิดสาธารณชนมากที่สุด เช่นเดียวกับที่คุณชาญ กาญจนาคพันธุ์ คงจะภูมิใจที่มรดกจากความคิดฝันของเขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เป็นหมุดหมายสำคัญทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย มาตลอดระยะเวลายาวนาน และหวังว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นสืบไป
            ที่ต้องใช้คำว่า “หวัง” ก็เพราะเมื่อปีที่แล้ว เคยมีข่าวว่ามีชาวบ้านนำผ้าสไบไปห่มรูปปั้นนางเงือก เอาพวงมาลัยไปคล้อง แถมยังมีการทาปากสีแดงและเจิมหน้าผากด้วยทองคำเปลวอีกต่างหาก เข้าใจว่าเป็นการแก้บนที่รอดพ้นภัยพายุและน้ำท่วม ยังดีที่ทางเทศบาลนครสงขลาไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ความเชื่อของคนบางกลุ่มแปรสถานะเงือกทองให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป
            ไม่อย่างนั้นภาพความน่าประทับใจที่เราได้เห็นจากอากัปกิริยาของผู้คนที่ไปถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นนางเงือก ก็อาจจะกลายเป็นภาพความคลั่งไคล้ของผู้คนที่ไปขูดเลขขอหวยและบนบานศาลกล่าว ซึ่งน่าจะมีมากเกินไปแล้วในประเทศนี้
ผมเคยคิดค้างไว้นานเกี่ยวกับเรื่องของนางเงือก ว่าผู้คิดมีแรงบันดาลใจอะไร และมุ่งหวังอะไร แม้จะไม่รู้อะไรมากขึ้นจากการสืบค้นได้เพียงผิวเผินผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ทุกครั้งที่ผมไปถึงแหลมสมิหลา ผมก็ยิ่งแน่ใจในพลังความคิดที่ยิ่งใหญ่ของนักปกครองคนหนึ่ง
            หากเส้นทางความสำเร็จของนักปกครองหมายถึงความก้าวหน้าจากตำแหน่งปลัดอำเภอ ไปเป็นนายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งถึงอธิบดี โดยมีตำแหน่งปลัดกระทรวงเป็นปลายทางของความใฝ่ฝัน บุตรชายของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้นี้ก็เดินไปไกลเกือบถึงสุดทางความสำเร็จ ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ที่สุดแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาและจะอยู่คู่กับเขาไปตลอดกาล ก็คือผลงานที่เขาได้ทำไว้ในขณะดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสงขลานี้เอง
            ผมนึกภาพข้าราชการหนุ่มวัย 40 เดินทางมารับตำแหน่งปลัดจังหวัดสงขลา และคงจะมีวันใดสักวันหนึ่งในยามที่เขามองดูหาดทรายขาวเนียน ทะเลสาบสีคราม ใคร่ครวญเรื่องเล่าเก่าแก่ของเกาะหนูเกาะแมว แล้วความคิดคำนึงก็ประหวัดถึงเงือกสาวในนิทานปรัมปราที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง...
            จากความคิดที่ล่องลอยดั่งปุยเมฆ เกิดกลายมารูปปั้นนางเงือกนั่งแปรงผมยาวสลวยอยู่บนโขดหิน ได้อย่างเหมาะเจาะพอดีกับทุกสิ่งทุกอย่างในบริบทนั้น บนหาดสวย ริมทะเลงาม มีเกาะที่โลดไล่กันในจินตนาการเป็นฉากหลัง ด้วยฝีมือการออกแบบ-ปั้นของศิลปินชั้นครูผู้เคยฝากฝืมือไว้กับพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากการที่ปลัดหนุ่มได้สร้างโอกาสขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง
            ในปีพ.ศ. 2509 ปลัดจังหวัดคนหนึ่งคงสร้างอะไรแบบนั้นขึ้นมาไม่ได้ในโครงสร้างการบังคับบัญชาของระบบราชการ ภายใต้กรอบการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลกลาง ในขณะที่ขนบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ปกครองต้องออกไปขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาคธุรกิจเอกชนมาใช้ในโครงงานนอกงบประมาณก็ยังไม่เกิดมี
            แต่ในยุคสมัยเดียวกันนั้น โครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาคเหลื่อมทับอยู่กับการปกครองท้องถิ่น การที่ปลัดจังหวัดหนุ่มได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกสถานะ ทำให้เขามีโอกาสได้ขายความคิดฝัน และเงินงบประมาณจำนวน 60,000 บาทที่อนุมัติโดยสภาเทศบาลเมืองสงขลานั้นเองที่ทำให้นางเงือกในความฝันของชาญ กาญจนาคพันธุ์ เป็นความจริงขึ้นมา
            เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของเราแต่ละคน
#
3 สิงหาคม 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2554)

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Call It Democracy

บ็อบ ดีแลน น่าจะเป็นศิลปินรุ่นแรกๆ ที่ตั้งคำถามกับความเป็นประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่คำว่า Globalization ยังไม่ทันจะแพร่หลาย
            ตอนนั้นเป็นปี 1983 ปีที่นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนกำลังผลิดอกออกผลในนาม เรแกนโนมิคส์ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นความงอกงามที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานชาติเดียวกันพากันตกงานจากการย้ายฐานการผลิตขนานใหญ่ออกนอกประเทศไปยังประเทศโลกที่สามซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่ากันหลายเท่า
            เพลง “Union Sundown”* จากอัลบัม Infidels ในปีนั้น เมื่อดูจากชื่อเพลงและฟังเผินๆ ดูเหมือนว่าบ็อบกำลังกล่าวโทษผู้นำสหภาพแรงงานที่เอาแต่ตั้งเงื่อนไขค่าจ้าง ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ จนกระทั่งเมื่อสบช่องเหมาะ นักลงทุนก็หนีไปลงทุนในประเทศอื่นที่พร้อมจะเปิดประเทศให้เข้าไปตักตวงเอาทุกอย่างในราคาถูกๆ ตั้งแต่ค่าแรง ทรัพยากร และโครงสร้างภาษี ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุน เริ่มตั้งแต่ประเทศใกล้บ้านทางตอนใต้ในแถบละตินอเมริกาก่อน ต่อมาไม่นานพวกที่ปีกแข็งบินไกลก็สยายปีกไกลมาถึงเอเชียตะวันออก จนเป็นที่มาของความหลงลำพองในความเป็นเสือแห่งเอเชียของหลายประเทศแถบนี้
            บ็อบใช้คำว่า สหภาพกลายเป็นธุรกิจใหญ่โต ซึ่งจะสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์แค่นี้ก็ชัดแล้วว่าในมุมของเขา ผู้นำสหภาพเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นำไปสู่ภาวะ สหภาพอัสดงแต่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ ไม่มีอะไรที่ทำกันในอเมริกาอีกแล้วเพราะรองเท้าที่เขาใส่อยู่มาจากสิงคโปร์ ไฟฉายก็ส่งมาจากไต้หวัน ผ้าปูโต๊ะจากมาเลเซีย หัวเข็มขัดจากแถบอเมซอน เสื้อเชิ้ตจากฟิลิปปินส์ รถเชฟโรเล็ตที่เขาขับประกอบในอาร์เจนตินา ชุดผ้าไหมจากฮ่องกง ไข่มุกจากญี่ปุ่น ปลอกคอหมาจากอินเดีย แจกันจากปากีสถาน เครื่องเรือนทำในบราซิล ทั้งหมดนี้ด้วยค่าจ้างวันละสามสิบเซนต์
            เขาไม่ได้โทษผู้คนในประเทศทั้งที่ได้เอ่ยชื่อและไม่ได้เอ่ยถึง เพราะสามสิบเซนต์ที่แทบไม่มีความหมายแม้ในอัตราต่อชั่วโมงสำหรับคนงานอเมริกัน แต่ มันก็มากพอสำหรับแรงงานเหล่านั้นสำหรับการเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว บ็อบบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจาก ความโลภ” - ความโลภของระบบทุนนิยม
            จากศาสดาของเสรีชนเมื่อสองทศวรรษก่อน อาจดูเหมือนว่าบ็อบ ดีแลน ในต้นทศวรรษ 1980 กำลังกลายเป็นอนุรักษนิยมอย่างสมบูรณ์ หลังจากได้ละทิ้งเพลงโฟล์ก หันหลังให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ดำรงตนเป็นร็อกสตาร์ผู้ลึกลับ และเป็นคริสเตียนเกิดใหม่ มาคราวนี้ เขากำลังทวนกระแสระบบเศรษฐกิจเสรีที่จะนำพาโอกาส รายได้ และความเจริญไปยังประเทศด้อยพัฒนา เพียงเพื่อปกป้อง อะไรๆ ที่ผลิตกันในอเมริกาและรวมถึงผู้ใช้แรงงานอเมริกันที่มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าผู้ใช้แรงงานอีกค่อนโลก
            คงจำกันได้ว่า บ็อบไปไกลกว่านี้อีก บนเวทีคอนเสิร์ตไลฟ์เอด บ็อบเปรยขึ้นมาว่าน่าจะแบ่งรายได้ไปช่วยชาวไร่ชาวนาอเมริกันบ้าง แล้วก็ได้รับเสียงสวดส่งไปเยอะทีเดียว ทั้งในข้อหาไม่รู้จักกาละเทศะ และเป็นพวกชาตินิยมหลงยุค คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของคนชาติเดียวกัน       
            แต่บ็อบ ดีแลนไม่ใช่คนที่ตื้นเขินขนาดนั้น ถ้าเราไม่หลงประเด็นไปเสียก่อน ก็จะเห็นชัดว่าผลประโยชน์ของคนที่เขาปกป้องเป็นชนชั้นล่างที่เสียเปรียบในสังคมของเขา และเมื่อฟัง “Union Sundown” ซ้ำอีกหลายรอบก็จะพบว่าแกนกลางความคิดของบ็อบอยู่ตรงที่ เขาไม่ไว้ใจระบบทุน เขาอาจจะให้น้ำหนักส่วนใหญ่ของเพลงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วกับคนงานอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็บอกเป็นนัยว่าประเทศที่กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ให้กับทุนข้ามชาติก็จะต้องเจอกับภาวะเดียวกัน เพราะเมื่อเริ่มต้นกันด้วยความคิดที่ว่า เมื่อการผลิตที่นี่มันแพงเกินไป ก็ไปหาที่อื่นซึ่งผลิตได้ถูกกว่าเสียแล้ว ทุนเหล่านี้ก็พร้อมจะย้ายไปทุกหนแห่งในโลก หรือกระทั่งนอกโลก
            ความเป็นปฏิปักษ์ต่อการเติบใหญ่ของระบบทุนยังเห็นได้ชัดในท่อนที่เขาบอกว่าระบบนายทุนอยู่เหนือกฎหมายและแดกดันให้ว่าวันหนึ่งสวนครัวของคุณก็จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” (ที่เขียนขึ้นมาภายใต้บงการของนายทุน) นั่นเองที่ทำให้บ็อบบอกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ปกครองโลก จำใส่หัวเอาไว้เลย โลกนี้ปกครองกันด้วยความรุนแรง
            แม้บ็อบไม่ได้อรรถาธิบายที่มาที่ไปของท่อนนั้น รวมทั้งนิยามของความรุนแรงเพราะเขาตัดบทเพียงแค่ว่า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่าแต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สะท้อนมุมคิดของเขาต่อความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง ซึ่งพอจะประเมินได้ว่า การปกครองในนามของคนส่วนใหญ่ นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนักการเมืองเสมอมา บ็อบยังเห็นภาพที่คนอีกจำนวนมากยังมองไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัด คือภาพที่ทุนบรรษัทสามารถยืมมืออำนาจรัฐที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมาใช้จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกเสียใหม่เพื่อขยายขอบเขตแห่งการแสวงประโยชน์ของตน ออกไปอย่างไร้พรมแดน
            ความรุนแรงในเพลง “Union Sundown” จึงอาจหมายถึงทั้งความไม่ใยดีต่อผู้ใช้แรงงานชาติเดียวกัน และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงการกอบโกยเอาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศอื่น
            ในแง่นี้เรแกนโนมิคส์ที่นำมาซึ่ง โลกาภิวัตน์ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาฝันหวานถึงการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการล่าอาณานิคมในนามของพระเจ้า และในนามของความอารยะ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพียงแต่แนบเนียนกว่า และชวนสมยอมมากกว่าในนามของการลงทุน ระบอบประชาธิปไตย และระบบการค้าเสรี
สิ่งที่บ็อบ ดีแลน ทิ้งค้างไว้ในสายลม บรูซ ค็อกเบิร์น เป็นคนนำมาทำให้ชัดเจนขึ้นในเพลงชื่อ “Call It Democracy”**
            บรูซอาจไม่ได้มีสายโยงทางความคิดกับบ็อบ ดีแลน เพลงสองเพลงนี้ก็มีที่มาและอยู่ในบริบทที่ต่างกันพอสมควร แต่สิ่งทั้งคู่น่าจะมองเห็นเหมือนกันก็คือพลังอำนาจที่ยากจะต้านทานของระบบทุนนิยมที่กำลังมีอำนาจเหนือระบบการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ
            บรูซ ค็อกเบิร์น เป็นศิลปินโฟล์ค/ร็อคชาวแคนาดา มีผลงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1970 และประสบความสำเร็จพอสมควรในประเทศตัวเอง เดิมแนวเพลงของบรูซเกาะเกี่ยวกับคติพื้นบ้านและความเชื่อทางศาสนา ปัญหาวิกฤตการเงิน/คลังในกลุ่มประเทศละตินตอนต้นทศวรรษ 1980 โดยมีเม็กซิโกเป็นโดมิโนตัวแรก เป็นจุดเปลี่ยนความสนใจของบรูซ เขาเดินทางไปสัมผัสรับรู้สภาพปัญหาและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนในประเทศแถบนั้น นับจากนั้นมาเขาก็กลายเป็นนักดนตรี/นักเคลื่อนไหวที่ผูกโยงตัวเองไปกับ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ตลอดมา
            บรูซแต่งเพลง “Call It Democracy” เมื่อปี 1985 การรับรู้และทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาของละตินอเมริกาจากด้านของผู้คนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาส ทำให้บรูซอยู่ในซีกของกลุ่มที่เห็นว่าบทบาทของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เข้าไปช่วยกู้วิกฤตถูกมองว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าจะช่วยแก้ไข
            เพลงนี้ของบรูซน่าจะเป็นเพลงแรกๆ ที่ออกมาโจมตีไอเอ็มเอฟว่าเป็นเพียงเครื่องมือของทุนบรรษัทข้ามชาติที่หิวกระหาย การปรับโครงสร้างและกลไกเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอื้อให้บรรษัทได้ตักตวงผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้นได้สะดวกมือขึ้น เขาใช้คำแรงๆ อย่างไม่บันยะบันยัง ประณามกองทัพทุนว่ากระหายเลือดเนื้อของคนจน ผู้นำประเทศด้อยพัฒนาที่ทำตัวราวกับโสเภณีชั้นต่ำ การส่งเสริมการลงทุนและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศกลายเป็นค่ายแรงงานทาสสมัยใหม่ภายใต้นามของเสรีภาพที่ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์จากทรราชแห่งประเทศพัฒนาแล้ว
            และเมื่อพูดถึงไอเอ็มเอฟ บรูซก็มีสร้อยขยายความต่อให้ด้วย “IMF dirty MF” คำย่อสองตัวหลังจะยังมีความหมาย “Monetary Fund” หรือจะแผลงเป็นอื่น ก็แล้วแต่คนฟังจะนิยาม
            แล้วบรูซก็สรุปอย่างเยาะๆ ว่า นี่แหละที่พวกเขาเรียกมันว่าประชาธิปไตย”
กว่าสองทศวรรษหลังเพลงของบ็อบ ดีแลน และ บรูซ ค็อกเบิร์น สิ่งที่เคยสะท้อนแสดงในเพลงอาจเปลี่ยนไปบ้างในรายละเอียดตามพลวัตเศรษฐกิจโลก แต่การล่าอาณานิคมในยุคโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไป
            ความหมายของประชาธิปไตยแบบที่บ็อบถามหาก็ค่อยๆ เลือนลางลง จนอาจเป็นที่เข้าใจได้กระจ่างขึ้นว่า ทำไมเมื่อยี่สิบสามปีที่แล้วเขาถึงบอกว่า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่าในขณะที่ประชาธิปไตยแบบที่บรูซเยาะหยันก็คืบครองพื้นที่เหนืออำนาจอธิปไตย ของแต่ละรัฐชาติที่ทั้งสมัครใจและจำยอม ผูกมัดตัวเองกับข้อตกลงการค้าเสรีจนต้องยอมรับกันไปโดยปริยายว่า
            นี่แหละที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย
#
12 ธันวาคม 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2549)

*ฟังเพลง Union Sundown ได้จากลิงก์นี้ >>  http://music.truelife.com/player/song/20060118095948345820 
**ฟังเพลง Call It Democracy ได้จากลิงก์นี้ >> 
http://www.youtube.com/watch?v=68zccrskOqQ

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Middle of Nowhere

ความเป็นกลางเคยเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์แห่งการ (เอาตัว) รอดปลอดภัยในสังคมไทยเสมอมา
            หนุ่มมอเตอร์ไซค์ส่งหนังสือพิมพ์ในหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ตอบคำถามหญิงสูงวัยที่ออกมาขอเปลี่ยนหนังสือพิมพ์ฉบับที่เคยบอกรับเป็นฉบับอื่น ว่าเขาอยู่ข้างไหน ด้วยคำตอบที่ใครๆ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าผมเป็นกลางครับแล้วก็เลี่ยงไปส่งหนังสือพิมพ์บ้านอื่นต่อ
            ความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรมของความเป็นไทยก็คือ เราเคยชินที่จะแบ่งพวกเลือกข้างกันก็เฉพาะแต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ประเด็นปลีกๆย่อยๆ ที่ทั้งไม่ได้สะท้อนคุณค่าใดๆ  ทั้งแสดงถึงตรรกะความคิดแบบเหมารวม-แต่ว่างเปล่า
            เราจึงคุ้นเคยกับวิวาทะที่ถูกหลอมมาในเบ้าของ โค้กกับเป็ปซี่ไม่ว่าจะเป็น แกรมมี่-อาร์เอส (ศิลปิน-เพลง) อีซูซุ-โตโยต้า (รถกระบะ) โตโยต้า-ฮอนด้า (รถยนต์นั่ง) มาจนถึง ไทยรักไทย-ประชาธิปัตย์ ทักษิณ-สนธิ ซึ่งล้วนพัฒนาไปเป็นกระบวนคิดของการแบ่งฝ่าย ตีตรา และเอาชนะคะคานกันจนไม่มีที่ว่างสำหรับสารัตถะและเหตุผล
            เหมือนกับกรณีของคัทลียา แมคอินทอช ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นความขัดหรือเห็นแย้งของคนที่เลือกที่จะชอบหรือจะชังเธอ อันได้กลบเลือนสาระประเด็นที่เป็นจุดตั้งต้นนั้นไป และในที่สุดก็ได้เปิดพื้นที่ให้กระบวนการชำระล้าง-สร้างความเห็นอกเห็นใจได้แทรกเข้ามาทำหน้าที่อย่างแนบเนียน เมื่อเวลาผ่านไป ไม่เพียงแต่เกิดภาวะอภัยแต่ไม่ลืมแต่คนจำนวนหนึ่งอาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าจะต้องอภัยในเรื่องไหน ประเด็นใด
            ในทางตรงข้าม วิถีแห่งความเป็นไทยก็เป็นเบ้าหลอมของความเป็นกลาง-วางเฉยต่อความคิดขัดแย้ง ระดับที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางสังคม ภายใต้กรอบคิด เพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ภายใต้คติ ไทยนี้รักสงบและยิ้มรับกับคุณลักษณ์แห่งความเป็นไทยซึ่ง สงสารเห็นใจผู้แพ้แม้จะรู้ดีว่า พ่วงมาด้วยถ้อยคำตามท้ายในวงเล็บ (แต่ขออยู่ข้างผู้ชนะ)
Credit: http://gardenspictures.net/Maze-garden.html

สภาวะเดิม เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติสากลของมนุษย์ที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการเปรียบเปรยว่า เราต่างพอใจที่จะอยู่กับปีศาจ (หรือความเลวร้าย/มืดมน) ที่เราคุ้นเคย มากกว่าที่จะเปิดรับความเปลี่ยนแปลง (แม้ในทางที่ดีกว่า/แสงสว่าง) ที่เรายังไม่รู้จัก
            การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในโลกนี้ จึงมักจะจุดประกายโดยคนกลุ่มน้อยที่ด้อยค่าในเชิงปริมาณ หรือกระทั่งคนเพียงคนเดียวที่เปิดรูเล็กๆ ให้แสงสว่างได้ลอดเข้าไปในบ้านที่มืดมิด ความยากของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ช่วงตอนของการรักษารูสว่างนั้นไว้ไม่ให้ถูกอุดยาไป และการเจาะช่องรับแสงเพิ่มจนกว่าลำแสงใหม่จะทำให้ความสว่างปรากฏขึ้นในระดับที่สามารถแสดงคุณค่า/ความหมายโดยเปรียบเทียบ และเป็นที่คุ้นเคย
            โดยนัยนี้ ความเป็นกลางจึงไม่เคยมีความหมายของการไม่เลือกข้างอย่างแท้จริง แต่อิงแอบอยู่กับสภาวะเดิมเสมอ เช่นเดียวกัน คำถามและเสียงเรียกร้องของการเลือกข้างในประวัติศาสตร์มนุษย์ ล้วนเริ่มต้นอย่างแผ่วเบา
            ก่อนที่เพลง We Shall Overcome ที่ดัดแปลงมาจากเพลงกอสเพลจะกลายมาเป็นเพลงที่หลอมรวมความเชื่อมั่นศรัทธาในวิถีการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ของอเมริกา นับจากปี 1946 เป็นต้นมา เพลงคลาสสิคแห่งการต่อสู้เรียกร้องในยุคก่อนหน้านั้น เป็นเพลงที่ตั้งคำถามถึงการเลือกข้าง
            ปี 1931 คนงานเหมืองแร่ในฮาร์ลัน เคาน์ตี้, เคนทักกี้ นัดหยุดงานประท้วง สิ่งที่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของเหมืองคือการกวาดล้าง-จับกุม-เข่นฆ่า โดยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง คนงานเหมืองจึงจับอาวุธขึ้นต่อสู้ กลายเป็นสงครามชนชั้นขนาดย่อมๆ
            ฟลอเรนซ์ รีซ เขียนเพลง “Which Side Are You On?” จากชีวิตของเธอ สามีเธอ-แซม เป็นหนึ่งในผู้นำคนงานเหมืองที่เป็นเป้าของการกวาดล้าง แต่เขาหลบหนีขึ้นเขาไปต่อสู้ด้วยอาวุธ เธอกับลูกเจ็ดคนถูกปิดล้อมอยู่ในบ้านโดยเจ้าหน้าที่ติดอาวุธของนายอำเภอ-เจ.เอช. แบลร์ ซึ่งพร้อมที่จะสังหารสามีของเธอทุกเวลาหากเขาย้อนกลับมา
            วันหนึ่งในสถานการณ์ตึงเครียด ฟลอเรนซ์ฉีกปฏิทินข้างฝาลงมาเขียนคำถามที่กัดกินใจเธอมานาน “Which side are you on?” เป็นคำถามถึงเพื่อนคนงานร่วมเมืองที่รักษาตัวเป็นกลางและวางเฉย “They say in Harlan County / There are no neutral there / You either be a union man / Or a thug for J.H. Blair”
            อีกชุดหนึ่งของคำถามในเพลงคือ  “Oh workers can you stand it? / Oh tell me how you can? / Will you be a lousy scab / Or will you be a man?”
            เพลงนี้ถ่ายทอดต่อมาโดยศิลปินมวลชนอย่างวูดดี กูธรี และพีท ซีเกอร์ ในฐานะคำถามอมตะท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิ-เสรีภาพ-เสมอภาค
ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ และบ่อยครั้งที่รวบรัดเสมือนหนึ่งชัยชนะการต่อสู้เปลี่ยนแปลงใดๆ ปะทุอานุภาพขึ้นทันทีทันใด โดยคลื่นมหาชนอันไพศาล
            ในแง่นั้น คงยากจะอธิบายว่าเพียงสามปีหลังการแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยและขับไล่เผด็จการถนอม–ประภาสออกไปในปี 2516 เราเปิดประตูรับหรืออย่างน้อยก็สยบยอมอำนาจจากการรัฐประหารภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้อย่างไร
            ยากจะอธิบายถึงการนองเลือดเดือนพฤษภาเพื่อล้มล้างอำนาจ รสช. ที่เราเพิ่งแสดงความชื่นชมยินดีกับการเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายไปเพียงไม่นานก่อนหน้านั้น ทั้งรัฐบาลชาติชายยังเป็นรัฐบาลที่เรารอคอยมาแสนนานภายใต้ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
            ตัวอย่างคำถามเหล่านี้คงต้องศึกษาอธิบายถึงรายละเอียดของสถานการณ์แต่ละช่วงตอนจากจุดเริ่มจนพัฒนาและปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากอคติ เพื่อให้เห็นถึงบริบทและคติชนที่แตกต่างในแต่ละสมัย กระแสโน้มน้าวชักนำที่ได้ผลและไม่ได้ผลในแต่ละแง่มุม อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่ไม่อาจละเลยคือการเลือกข้างหรือวางเฉย
            เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างเสมอไปก็จริง และความเป็นกลางอาจไม่ได้สะท้อนแสดงถึงฐานคิดแห่งการเอาตัวรอดหรือปฏิเสธความรับผิดชอบ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง/เผชิญหน้าระหว่างแนวคิด-ลัทธิ-ผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต่างกันก็จริง
            แต่ในทางแยกใหญ่ที่การไม่เลือกข้างเท่ากับการเลือกเดินไปตามทางสายหนึ่งที่มีผลลัพธ์-ปลายทางต่างจากอีกสายหนึ่งเกือบจะสิ้นเชิง ความเป็นกลาง-วางเฉยจึงเป็นการเลือกโดยปฏิเสธความรับผิดชอบของการเลือก
            หากคนอินเดียเฉยชาต่อแนวทางอหิงสาของคานธี สภาวะเดิมของการครอบครองอาณานิคมโดยชอบธรรมของจักรภาพที่ทรงพลังอำนาจย่อม ไม่ถูกสั่นคลอน หากคนอังกฤษและยุโรปที่อพยพไปยังดินแดนใหม่ยังยอมตนให้สิทธิเหนือเขตแดนและการเก็บภาษีเป็นอำนาจชอบธรรมของพระเจ้าจอร์จที่สาม ประเทศเอกราชชื่อสหรัฐอเมริกาคงจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี
            การต่อต้านระบอบทักษิณอาจไม่ได้มีความหมายสูงส่งเท่ากับการกู้ชาติ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้องของกุ๊ยข้างถนนหรือวิธีการนอกกรอบกติกาของพรรคฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพียงการดิ้นรนของเหล่าขาประจำ-นักเคลื่อนไหว-เอ็นจีโอ ไม่ใช่เพียงความแค้นเคืองของผู้เสียประโยชน์ที่มีสนธิ-จำลองเป็นตัวแทน หากเป็นผลรวมสะสมของผู้คนที่ได้ตระหนักว่าไม่อาจปล่อยให้ชะตากรรมของประเทศถูกขยี้ขยำอยู่ในกำมือทักษิณอีกต่อไป
            พฤติกรรมที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับตลอดช่วงเวลาห้าปีแห่งการเสวยอำนาจของทักษิณ นับจากวันที่ชนะคดีซุกหุ้นในศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงวันที่ยุบสภาและวันเลือกตั้งใหม่ โดยตัวของมันเองล้วนลดทอนน้ำหนักของวาทกรรมทุกรูปแบบที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นการต่อต้านคัดค้าน ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างความชอบธรรมที่มี 19 ล้านเสียงรองรับ การรักษาระบบ การเคารพกฎกติกา เจตนารมณ์ประชาธิปไตย อย่างได้ผลยิ่งกว่าทุกเสียงที่วิพากษ์ คัดค้าน ต่อต้าน
            ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งผิดที่ผิดทางในสถานการณ์ประเทศไทย พ.ศ. 2549 อย่างที่เรียกกันว่า กลางตกขอบซึ่งอาจจะชัดเจนมากกว่าถ้าเปลี่ยนเป็น กลางตกเหว
            เพราะเมื่อผ่าทะลุมายาคติทั้งมวล เนื้อในของสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ไม่อาจถูกบิดเบือนไปเป็นเรื่องของผล ประโยชน์-แนวคิด-อุดมการณ์ ที่อาจจะพอมีที่ว่างพอให้ความเป็นกลางได้วางตัว แต่เป็นสถานการณ์ระหว่างความจริง-ลวง ถูก-ผิด ดี-เลว ความเป็นกลางจึงมีความหมายเป็นอื่นใดไม่ได้มากไปกว่าการสยบยอมต่อความเลว ความผิด ความลวง
            เป็นความเป็นกลางที่ดิ่งลงไปในหุบเหวของอวิชชาและอุปาทาน
            เป็นความเป็นกลางที่เกื้อหนุนให้คนเลวปกครองบ้านเมืองต่อไป
#
3 เมษายน 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2549)

*ฟังเพลง  Which Side Are You On? ได้จากลิงก์นี้

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ซ.ต.พ.

ครูไพบูลย์ บุตรขัน เขียนเพลง น้ำท่วมไว้เป็นอมตะ น้ำท่วมทีไร เพลงนี้ก็ใช้สะท้อนแทนใจคนที่สูญเสียจากน้ำท่วมได้เสมอ ไม่เฉพาะแต่คนใต้เท่านั้น
            “น้ำท่วมไต้ฝุ่นกระหน่ำซ้ำสอง / เสียงพายุก้องเหมือนเสียงของมัจจุราชก่น / น้ำท่วมที่ไหนก็ต้องเสียใจด้วยกันทุกคน / เพราะต้องพบกับความยากจน เหมือนคนหมดเนื้อสิ้นตัว
            เสียงร้องของศรคีรี ศรีประจวบ-ศิษย์เอกคนสุดท้ายของครูไพบูลย์ ก็เป็นเสียงที่ไม่มีใครเทียบเทียม โดยเฉพาะลูกเอื้อนลูกคอ ยิ่งได้ร้องเพลงชั้นยอดของบรมครูก็ส่งเขาขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการทันที ด้วยเพลง บุพเพสันนิวาสกับ น้ำท่วมซึ่งเป็นเพลงรุ่นแรกสุดที่ศรคีรีได้บันทึกเสียง เข้าใจว่าเนื้อเพลงท่อนบ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่ประจวบคีรีขันธ์เหมือนกันไปทุกครอบครัวจะเชื่อมโยงกับชื่อที่ตั้งสำหรับการร้องเพลง เพราะศรคีรีไม่ใช่คนประจวบฯ
            น้ำท่วมเป็นสถานการณ์ที่ครูไพบูลย์วางให้ศรคีรีใช้ตัดพ้อสาวคนรักผู้ไม่อาทรถึงพี่สักครา ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลยจนทำให้พี่คิดเช้าค่ำ ปล่อยให้น้ำท่วมตายดีกว่าเมื่อคาราบาวเอาเพลงนี้มาบันทึกเสียงเพิ่มลงในอัลบัม ทับหลังจึงเปลี่ยนบางถ้อยคำทำให้มีความหมายกว้างขึ้น เหมาะกับการใช้เป็นเพลงซับน้ำตาชาวใต้ในช่วงปลายปี 2531
            “น้ำท่วมสร้างความผิดหวังชอกช้ำ / ชีวิตเช้าค่ำอยู่กับน้ำท่วมมาจากป่า / คนอยู่เมืองดอนจงช่วยอาทรเมืองใต้สักครา / จงมาช่วยกันซับน้ำตา น้ำตาปักษ์ใต้บ้านเรา
เครดิตภาพ:ผู้จัดการออนไลน์
มองโลกในแง่ดี การที่รัฐบาลไม่รับเงินบริจาค (และสั่งระงับรายการขอรับบริจาค) ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ครั้งนี้ (ปลายปี 2548) ก็มีข้อดีหลายอย่าง
            ดีสำหรับรัฐบาลที่ได้โอกาสยืนยันให้รู้กันอีกครั้งว่า ถังยังไม่แตก (แต่ที่คลังยังไม่ได้จ่ายเงินตามแผนงานโครงการต่างๆ ที่อนุมัติแล้ว จัดทำกันเรียบร้อยไปแล้ว จะแค่หลักสิบล้านหรือร้อยล้าน แต่ยังไม่ได้ตามที่เบิก ก็เป็นเรื่องของคลัง ไม่เกี่ยวกับ ถัง”)
            ดีสำหรับเจ้าของ/ผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะได้บริจาคเพื่อบุญกุศล (ไม่ใช่หน้าตาของผู้ให้ และหน่วยงานที่รับ) ตามอัตภาพและสมัครใจ (ไม่ใช่ถูกกะเกณฑ์)
            ดีสำหรับรัฐมนตรีคลังที่ได้โอกาสอธิบายให้คนไทยเข้าใจว่า ดัชนีวัดความสูญเสียและผลกระทบแบบ โมเดิร์นวัดกันที่ตัวเลขการท่องเที่ยว (“พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว จึงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”)
            ดีสำหรับนายกรัฐมนตรีของเรา (หรือเปล่า?) ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านพูดจริง-ทำจริง (อย่างน้อย ก็เรื่องที่เคยพูดว่าจะดูแลแต่ประชาชนที่เลือกพรรคของท่านยกจังหวัดก่อน ก็ได้ทำอย่างที่พูด แล้วไง)
            ดีสำหรับคนภาคใต้ จะได้ซาบซึ้งถึงกฎแห่งกรรมว่า กรรม (ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล) ย่อมเป็นผลจากการกระทำ (ที่ไม่รู้จักเลือกพรรคไทยรักไทย)
            ดีสำหรับคนภาคอื่น จังหวัดอื่น จะได้ตัดสินใจกันตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า เลือกตั้งครั้งต่อไป ควรจะเลือกใคร พรรคไหน คะแนนจึงจะไม่สูญเปล่า (เช่น ถ้าไม่เน่ใจว่าเลือกคนของพรรคไทยรักไทยแล้วจะได้คะแนนพอเป็น สส. หรือเปล่า ก็อย่าไปเลือกมันเลย)
            ดีสำหรับมูลนิธิ/องค์กรการกุศล ภาคเอกชน จะได้ระดมความช่วยเหลือจากสาธารณชน และแสดงศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ โดยไม่ถูกแข่งขัน/ขัดขวางจากภาคที่มีพลังอำนาจในการระดมเงินบริจาคมากกว่า (แต่ประสิทธิภาพในการจัดสรร/กระจายความช่วยเหลือต่ำกว่า)
            และดีสำหรับประชาชน ที่ไม่ต้องมาถามไถ่กันในภายหลังว่า เงินทองที่บริจาคไปอยู่ที่ไหนเสีย
หนึ่งปีหลังจากสึนามิ แสดงให้เห็นว่า การพูดอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ทำให้การเริ่มต้นด้วยท่วงท่าที่แข็งขัน จริงจังที่สุด อย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนจากผู้นำประเทศไม่ว่ายุคสมัยใด ลงเอยด้วยทีท่าที่เหลวเป๋ว เละเทะที่สุด อย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เหมือนกัน
            จากวันที่ความอาทรห่วงใยจากรัฐมนตรีที่ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันไป ปรากฏอยู่เฉพาะเวลาไม่กี่นาทีที่ได้โอกาสเฉิดฉายหน้ากล้องข่าวโทรทัศน์ จากสัปดาห์/เดือนที่คนทำงานอย่างทุ่มเททั้งระดับเซเลบ อย่างคุณหญิงหมอพรทิพย์ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานทุกฝ่าย และอาสาสมัครไร้ชื่อ ได้รับการหนุนช่วยจากภาครัฐช้าและน้อยกว่าที่ควรได้ และยิ่งช้ายิ่งน้อยกว่านั้นอีกเมื่อเทียบกับที่บางคนอวดโอ้
            จนถึงครบปีที่ความช่วยเหลือจากศูนย์กลางของการระดมทุนยังไปถึงคนที่ควรจะได้ไม่ทั่ว บ้านสำหรับคนที่สูญเสียบ้านไปยังไม่เสร็จ หรือที่เสร็จก็เป็นบ้านต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด ในขณะที่ความช่วยเหลือของภาคเอกชน บ้านจากองค์กรสาธารณกุศล และบ้านฝีมือทหารช่าง ล้วนเบ็ดเสร็จและเรียบร้อย
            ในระหว่างนั้น คนที่รับทำงานให้หน่วยราชการ ได้งานที่บอกกล่าวกันว่าเป็น งบสึนามิโดยไม่รู้สึกคลางแคลงอะไร เพราะเข้าใจ (เอาเอง) ว่า คงเป็นการจัดสรรงบประมาณปกติมาใช้ แม้ว่าเนื้องานนั้นจะไม่มีนัยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการช่วยผู้ประสบภัยเลยก็ตาม เพราะเป็นกระบวนการปกติ (อีกเหมือนกัน) ของหน่วยราชการที่จะทำงานที่ง่ายและถนัดในเวลาที่ต้องเร่งใช้งบประมาณให้หมด ในเวลาที่กำหนด
            จนกระทั่งวันได้รับเช็คค่าจ้าง––เป็นเช็คบัญชีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ
พายุแคทรินาที่อเมริกา ในแง่หนึ่งเหมือนเป็น แม่แบบแห่งความเฉยเมยของผู้นำประเทศบางสายพันธุ์ หลายวันผ่านไป ประธานาธิบดีบุชยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวอยู่ในอาณาจักรส่วนตัว
            คานเย เวสต์ แรปเพอร์ที่มาแรงที่สุดแห่งยุค เคยเอ่ยประโยคซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในวาทะแห่งปี 2005 ว่า จอร์จ บุชไม่แยแสคนดำลองเปลี่ยนประธานและกรรมตามบริบทที่ต้องการก็จะได้ความหมายที่ไม่ต่างกันเลย
            กลางกระแสเสียงวิพากษ์รัฐบาลกลางและประธานาธิบดี นิตยสาร Fortune ฉบับแรกที่ออกหลังแคทรินาจมนิวออร์ลีนส์ (ฉบับ 19  ก.ย. 2005) จอห์น ฮิวอี้ อดีตบรรณาธิการบริหารและยังคงเป็นบรรณาธิการดูแลเนื้อหาในภาพรวม เขียนบทบรรณาธิการไว้อย่างน่าใคร่ครวญ
            ภัยพิบัติระดับชาติที่เราเรียกว่า แคทรินาเป็นโอกาสที่ธุรกิจอเมริกันต้องการเพื่อปะซ่อมสัมพันธภาพที่เลวร้ายกับสาธารณชน ทั้งยังเป็นการพิสูจน์ตัวพวกเราที่มักจะอ้างว่าภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาต่างๆ มากกว่าภาครัฐ และยังอาจเป็นโอกาสให้ได้แสดงถึงพลังอำนาจของตลาดเสรีที่สามารถแปรเป็นปฏิบัติการเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากผลกำไรระยะสั้น เมื่อเดิมพันหมายถึงสุขภาพของประเทศในระยะยาวและอาจจะรวมไปถึงอนาคตของระบบทุนนิยม
            จอห์นบอกว่า ศักยภาพอันน่าทึ่งของธุรกิจอเมริกันอย่าง วอล-มาร์ต, จีอี, โคคา-โคลา และ เป๊ปซี่โค, ไมโครซอฟต์, เอ็กซอน, แม็คโดนัลด์, ซิตีกรุป และ โฮมดีโปต์ ได้รับการกล่าวถึงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน-รวมทั้งในนิตยสารนี้ บริษัทเหล่านี้บรรลุความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์และการกระตุ้นทีมขนาดมหึมา ให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่รัฐบาลกลางเป็นองค์กรราชการขนาดใหญ่ที่มุ่งแต่ในเรื่องของงบประมาณ แต่ไร้ขีดความสามารถในเรื่องเหล่านี้  “ประธานาธิบดีมาแล้วก็ไป แทบจะไม่มีใครทำให้ระบบราชการทำงานได้เหมือนกับวอล-มาร์ต
            แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จอห์นบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่องค์กรธุรกิจมีภาพลักษณ์เลวร้ายที่สุด เพราะการฉ้อฉลครั้งใหญ่ของเอ็นรอน, เวิร์ลด์คอม, ไทโค, อะเดลเฟีย, เฮลธ์เซาธ์ ในขณะที่วอล-มาร์ตใหญ่เกินไปและมีอำนาจเกินไป ส่วนโค้กและแม็คโดนัลด์ส ก็ทำให้เราอ้วน ธนาคารและโบรกเกอร์ ทั้งหลายล้วนมีพฤติกรรมหลอกลวง บริษัทน้ำมันสูบเอาจากเรา บริษัทยาใหญ่ๆ วางยาเราสิ่งเหล่านี้ลดทอนความเชื่อมั่นที่เคยมีต่อพลังของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน และบริษัทที่เป็นผลิตผลของระบบนี้
            เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่จมเมืองใหญ่ลงไว้ใต้น้ำ ระบบต่างๆ ล้มเหลว ไร้ความสามารถในการอพยพโยกย้ายและช่วยเหลือผู้คนซึ่งขาดทั้งน้ำดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และความปลอดภัย จอห์นชี้ให้เห็นว่าสายใยสังคมได้ฉีกขาดอย่างน่าตระหนกสำหรับประชาชาติทั้งมวล... นี่ไม่ได้เป็นเพียงโศกนาฏกรรมสำหรับผู้ประสบภัย ยังเป็นเรื่องน่าละอายสำหรับประเทศของเรา ระบบของเรา และคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของเรา
            ทั้งหมดนี้ทำให้เวลานี้เป็นเวลาอันเหมาะควรที่วิสาหกิจใหญ่จะได้ลงมือทำในสิ่งที่ปากเคยพูดมานานนับปี แน่นอน เราต้องช่วยกันกดดันรัฐบาล ช่วยกันเรียกร้องให้พิทักษ์รักษาความปลอดภัยของสาธารณชนและปกป้องผู้ช่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่วิสาหกิจอเมริกามีโอกาสดีหากทำอย่างฉับพลันทันทีที่จะแสดงบทบาทผู้นำ และฉุดดึงประเทศของเราออกมาจากความล้มเหลว พูดอย่างเป็นธรรม เกือบทุกบริษัทใหญ่ได้พยายามทำอะไรบางอย่าง และแต่ละบริษัทได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับ FEMA (สำนักงานกลางจัดการอุบัติภัยสหรัฐ) เป็นรายการเหยียดยาวเขาบอกว่า วอล-มาร์ตบริจาคไปแล้ว 17 ล้านดอลลาร์ เงินบางส่วนได้นำไปสนับสนุนให้เปิดร้านขนาดเล็กแจกเสื้อผ้าอาหารและของใช้จำ เป็น โฮมดีโปต์ส่งเครื่องปั่นไฟ 200 เครื่องไปยังบริเวณลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี จีอีแคปิตัลสัญญาจะสร้างบ้านพัก ชั่วคราวขึ้นมาให้ผู้ไร้ที่อยู่ โค้กบริจาคเงิน 5 ล้านดอลลาร์และจัดส่งนำดื่มไปให้
            แต่การแสดงเจตนาดีและรอให้ FEMA จำแนกความช่วยเหลือต่างๆ ที่ต้องการจำเป็น ไม่อาจมีชัยได้ในวันนี้ วิสาหกิจอเมริกันจะต้องดันตัวเองไปสู่แนวหน้าของการให้ความช่วยเหลือเสมือนว่าผลกำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ ฮัลลิเบอร์ตันจำเป็นต้องนำเอาความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และเครื่องไม้ เครื่องมือทุกอย่างที่มี ไปซ่อมเขื่อนและสูบน้ำที่ท่วมคลุมนิวออร์ลีนส์ออกมา โค้กและเป๊ปซี่จำเป็นต้องจัดส่งน้ำดื่มบรรจุขวดนับล้านแกลลอนเข้าไป วอล-มาร์ตเป็นเจ้าของระบบขนส่งภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดเหตุใดจะไม่สามารถบอกให้ซัพพลายเออร์ทุกรายบริจาคเสื้อผ้า ยา และสิ่งอุปโภคบริโภคมาให้เพื่อรวบรวมจัดส่งต่อไป (ใครจะกล้าปฏิเสธวอล-มาร์ต?) เอ็กซอนโมบิลมีอำนาจในตลาดที่จะยับยั้งการขึ้นราคาน้ำมัน จงแสดงมันออกมา ลืมไปได้เลยที่จะเข้าแถวรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เราต้องการให้ธนาคารแห่งอเมริกาปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจรายย่อยที่เสียหายโดยเร็ว มีขั้นตอนน้อยที่สุด และในอัตราดอกเบี้ยที่รับได้เช่นเดียวกับที่ธนาคารแห่งอิตาลีของ เอ.พี. จานนินี เคยทำในครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในซานฟรานซิสโก ปี 1906”
            “ผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจอาจพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวว่าไร้เดียงสา เพราะคุณมีผู้ถือหุ้นและลูกค้าที่ต้องตอบสนอง มีผลกำไรที่ต้องบรรลุ และก็ถูกถ้าคุณจะบอกว่า พูดน่ะง่าย แต่โปรดจำคำนี้ไว้เมื่อคุณเริ่มเทศนาถึงคุณงามความดีของธุรกิจและความชั่วร้ายของรัฐบาลในครั้งต่อไป หรือไม่เช่นนั้นจงเลือกเล่นเกมยาว แล้วเมื่อคุณกดดันให้รัฐเปิดที่ทางให้เอกชนได้มีบทบาทมากขึ้นในด้านต่างๆ ทุกคนก็จะอยู่ข้างคุณ ทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องทำเพื่อกลับมาเป็นวีรบุรุษอีกครั้งก็คือทำในสิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุด จงส่งมอบสิ่งต่างๆ ออกไป เดี๋ยวนี้เลย
ใจความทุกอย่างครบสมบูรณ์อยู่ในนั้น หากวิถีแห่งทุนนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นี่ก็นับเป็นการแสดงทัศนะต่อระบบทุนนิยมที่ชัด ตรง คมคาย และหนักแน่นที่สุดครั้งหนึ่ง
            หลายปีมาแล้ว ที่กระแสโลกคือกระแสซึ่งภาคธุรกิจเรียกร้องต้องการแสดงบทบาทที่ (เชื่อกันว่า) มีประสิทธิภาพมากกว่าแทนที่บทบาทหลายด้านที่เคยเป็นของภาครัฐ คู่ขนานมากับกระแสซึ่งภาคประชาชนแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมทาง การเมืองและการปกครองตนเองที่ (เชื่อกันว่า) สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้ดีกว่า
            บนเส้นทางแห่งการพิสูจน์ตัวเองของทุนนิยมก้าวหน้าและประชาสังคมยุคใหม่ รัฐบาลเข้มแข็ง ผู้นำอำนาจเด็ดขาด เป็นเพียงกับดัก ที่ทั้งพ้นสมัยและไม่พึงปรารถนา
#
29 ธันวาคม 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2549)

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Jobsless



Credit: Fortune Magazine
วันที่ สตีฟ จ็อบส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิ้ล นั่นหมายความว่าเขาได้พิสูจน์ตัวจนสาแก่ใจตัวเองแล้ว
            ผมเขียนอย่างนั้น เพราะโลกเทคโนโลยี โลกธุรกิจ รวมถึงโลกของผู้บริโภค ล้วนไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถ – หรือที่บางคนยืนยันว่าเป็น “อัจฉริยภาพ” – ของ สตีฟ จ็อบส์ มานานแล้ว บ้างก็เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ กลับมาฟื้นชีวิตแอปเปิ้ลด้วย iMac ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ บ้างก็เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ ได้ส่ง iPod ออกมาเปลี่ยนวิธีการฟังเพลงของคนทั้งโลก และบ้างก็เมื่อได้สัมผัสและหลงใหลในโทรศัพท์ฉลาดๆ ที่มีชื่อว่า iPhone
            ปมเงื่อนใดๆ อันอาจจะเหลืออยู่หลังจากนั้น ก็คงมีแต่ปมในใจของเขาเองที่ต้องคลายให้แล้วใจตัวเองเท่านั้น
สตีฟ จ็อบส์ รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ปี 2003 แต่เข้ารับการผ่าตัดในปีต่อมา เจ็ดปีนับจากนั้นมีข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพของเขาออกมามากมายถึงขั้นที่สำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่งเคยเตรียมข่าวการเสียชีวิตของเขารอไว้เสร็จสรรพ
            ช่วงที่สตีฟลาพักยาวๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2009 โดยมีคำอธิบายว่า ปัญหาสุขภาพของเขาซับซ้อนกว่าที่คิด และเข้ารับการปลูกถ่ายตับในช่วงเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่คาดการณ์กันว่าเขาน่าจะวางมือจริงๆ เสียที แต่ก็ไม่ใช่ สตีฟกลับมาทำงานอีกปีครึ่ง ก่อนประกาศลาหยุดยาวอีกครั้งช่วงต้นปีนี้
            ถึงอย่างนั้น ทุกคนก็ยังได้เห็น สตีฟ จ็อบส์ ในงานเปิดตัว iPad 2 เมื่อเดือนมีนาคม และแนะนำบริการ iCloud ด้วยตัวเอง ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
            มองในแง่หนึ่ง สตีฟ จ็อบส์ ได้ดำรงตนเหมือนกับเรื่องที่เขาเล่าในการแสดงปาฐกถาเลื่องชื่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2005 ว่าคติที่เขาอ่านพบตอนอายุ 17 สอนให้เขาใช้ชีวิตแต่ละวันเหมือนกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิต คตินี้ช่วยให้เขาเลือก ทำ และละวางสิ่งซึ่งจะไม่มีความหมายอะไร หากวันรุ่งขึ้นเราไม่มีชีวิตอีกต่อไป และเขาก็บอกกับบัณฑิตใหม่ในที่นั้นว่า เวลาของทุกคนมีจำกัด อย่ามีชีวิตเปลืองเปล่าไปกับความคิดคาดหวังของคนอื่น อย่าให้เสียงของคนอื่นมากลบเสียงภายในของเรา
            แต่ในอีกแง่หนึ่ง 24 สิงหาคม 2011 วันที่เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของแอปเปิ้ล อย่างเป็นทางการ เป็น 5 วันหลังจากที่มาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของแอปเปิ้ลพุ่งแตะหลัก 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ามูลค่ารวมของหุ้นกลุ่มธนาคารในยูโรโซนจำนวน 32 แห่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อสองเดือนก่อนนั้น มูลค่าของแอปเปิ้ลในตลาดหุ้นแซงมูลค่าของไมโครซอฟต์และอินเทลรวมกันไปเรียบร้อย
            ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สาสมใจ สตีฟ จ็อบส์ มากที่สุด
เมื่อปี 1997 ตอนที่ สตีฟ จ็อบส์ เพิ่งกลับมากอบกู้สถานะของแอปเปิ้ลใหม่ๆ และ iMac ยังไม่ได้แสดงอานุภาพ มีคนถาม ไมเคิล เดลล์ ซีอีโอของ เดลล์ คอมพิวเตอร์ ในที่ประชุมแห่งหนึ่งว่า เขาจะทำอะไรอย่างไรถ้าเป็นเจ้าของบริษัทที่กำลังดิ้นรนอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างแอปเปิ้ล
            ไมเคิลตอบว่า “ผมจะปิดบริษัทและคืนเงินให้ผู้ถือหุ้น”
            ที่จริง คำตอบของไมเคิล เดลล์ อาจถือได้ว่าเป็นเพียงการโต้ตอบคำวิจารณ์ของ สตีฟ จ็อบส์ ที่เป็นฝ่ายเปิดฉากวิวาทะก่อนว่า “เดลล์ทำเป็นแค่กล่องสีเบจที่ปราศจากนวัตกรรมโดยสิ้นเชิง” แต่ใครจะเชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี และมูลค่าในตลาดหุ้นของแอปเปิ้ลพุ่งขึ้นไปแซงเดลล์ได้สำเร็จ จะมีอีเมล์ลงชื่อ สตีฟ ส่งถึงพนักงานแอปเปิ้ล ใจความตอนหนึ่งว่า “เห็นได้ว่า ไมเคิล เดลล์ ใช้ไม่ได้ในเรื่องทำนายอนาคต ตามราคาหุ้นที่ปิดวันนี้ แอปเปิ้ลมีมูลค่ามากกว่าเดลล์ หุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้ตลอดเวลา และทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไปได้ในวันพรุ่งนี้ แต่ผมคิดว่ามันควรค่าที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้กันสักหน่อยในวันนี้”
            บนฐานคิดของกรณี ไมเคิล เดลล์ นี้เอง ที่น่าสนใจว่า สตีฟ จ็อบส์ รู้สึกอย่างไรกับ บิลล์ เกตส์ และไมโครซอฟต์?
ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้คำตอบนี้มากไปกว่าที่ได้เห็นจากฉากหน้าของการแข่งขันและท้าทายกันระหว่างสองบริษัท สองระบบปฏิบัติการ ซึ่งต่างได้ช่วยกันปฏิวัติยุคสมัยด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC)
            สตีฟ จ็อบส์ กับแอปเปิ้ลเริ่มต้นก่อนในปี 1977 ด้วยเครื่องรุ่น Apple II ที่น่าตื่นตาสำหรับยุคนั้น ตอนที่แอปเปิ้ลเปิดตัวเครื่องนี้ในงานคอมพ์ที่ซาน ฟรานซิสโก บิลล์ เกตส์ ซึ่งก่อตั้งไมโครซอฟต์แล้วและรับงานเขียนซอฟต์แวร์ให้หลายบริษัท แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้พยายามแนะนำตัวกับสตีฟ แต่ว่ากันว่า สตีฟไม่ได้แยแสสนใจเด็กหนุ่มท่าทางเนิร์ดๆ ที่เกิดร่วมปีกับเขา
            บิลล์ เกตส์ เริ่มก้าวที่ประสบความสำเร็จจริงๆ กับการเขียนระบบปฏิบัติการให้คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ในปี 1980 เขาได้ค่าเขียนสิ่งที่เรียกกันว่า PC DOS มา 50,000 ดอลลาร์ แต่ที่สำคัญกว่าคือลิขสิทธิ์ของระบบปฏิบัติการอยู่ในมือบิลล์ เขาแน่ใจว่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นจะต้องเลียนแบบไอบีเอ็ม ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัย MS-DOS ของเขา จากนั้นไมโครซอฟต์ก็เติบโตมาเป็นลำดับ
            แอปเปิ้ลก้าวไกลไปอีกขั้นกับเครื่อง Macintosh ในปี 1984 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วย GUI (Graphic User Intereface) ที่ได้มาจากนวัตกรรมที่ถูกมองข้ามของ
ซีร็อกซ์ ปีถัดมา–ด้วยไลเซนส์จากแอปเปิ้ล ไมโครซอฟต์ปรับโฉม MS-DOS เข้าสู่ยุค GUI บ้าง ภายใต้ชื่อ Windows 1.0 ในขณะที่ซอฟท์แวร์ชุดใช้งานในชื่อ Microsoft Works ซึ่งประกอบด้วยเวิร์ดโพรเซสเซอร์ สเปรดชีต และดาต้าเบส ก็เริ่มแนะนำตัวสู่ตลาดผู้ใช้ผ่านทางเครื่อง Macintosh
            ยุคถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างแอปเปิ้ลกับไมโครซอฟต์ยุติลงด้วยคดีความในปี 1988 เมื่อไมโครซอฟต์พัฒนา Windows 2.0 ออกมาเขย่าความล้ำหน้าในเชิงกราฟิคของ Macintosh ซึ่งทำให้แอปเปิ้ลยื่นฟ้องว่าไมโครซอฟต์ละเมิดลิขสิทธิ์ คดียืดเยื้ออยู่ 4 ปี ก่อนจบลงด้วยศาลสั่งยกฟ้อง แต่นั่นก็เป็นช่วงหลังจากที่สตีฟ จ็อบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง (ปี 1985) และแอปเปิ้ลกำลังดิ้นรนหาทางอยู่รอดในยุคที่ไมโครซอฟต์กำลังเติบโตขึ้นมาสวนทางกัน
            แม้จะไม่ใช่คู่ความกันโดยตรง แต่ไมโครซอฟต์ –  เช่นเดียวกับคู่แข่งอื่น – ถูกสตีฟวิจารณ์เสมอว่า “ขาดความคิดสร้างสรรค์” ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์ทางรายการทีวีว่า “ปัญหาเดียวของไมโครซอฟต์คือพวกเขาไม่มีรสนิยม พวกเขาไร้รสนิยมโดยสิ้นเชิง และผมไม่ได้หมายถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรอกนะ ผมหมายถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น พวกเขาไม่เคยมีความคิดที่แท้จริงเป็นของตัวเอง ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาขาดคุณค่าทางวัฒนธรรม” แต่หลังจากนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าสตีฟโทรไปขอโทษบิลล์ เขาบอกว่าแม้เขาจะเชื่อในทุกคำที่พูด แต่เขาก็รู้สึกตัวว่าไม่ควรพูดต่อสาธารณชน
            อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สตีฟ จ็อบส์ต้องไปบุกเบิกใหม่กับเน็กซ์ท และพิกซาร์ ไมโครซอฟต์ก็เติบโตแซงหน้าแอปเปิ้ลไปอย่างรวดเร็ว ปี 1987 บิลล์ เกตส์ ในวัย 32 ได้ชื่อว่าเป็น “Youngest self-made billionaire” และไต่อันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นคนรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ 13 ปีซ้อน ในช่วงปี 1995-2007
            ถ้าสตีฟจะรู้สึกริษยาในความมั่งคั่งและความสำเร็จของบิลล์ เกตส์ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เขาคงไม่เห็นบิลล์ เกตส์ เป็นศัตรู ปีที่สตีฟกลับไปกอบกู้แอปเปิ้ล และยังไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำอะไรได้ (หลายคนคิดเหมือนไมเคิล เดลล์) แต่บิลล์ เกตส์ อนุมัติให้ไมโครซอฟต์ซื้อหุ้นแอปเปิ้ลแบบไม่มีสิทธิ์โหวต มูลค่า 150 ล้านเหรียญ พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาซอฟต์แวร์ชุด Microsoft Office สำหรับผู้ใช้แม็คต่อไป ในขณะที่ข้อแลกเปลี่ยนมีเพียงแค่ Internet Explorer จะเป็นบราวเซอร์ที่ติดมากับเครื่องแม็ค การสนับสนุนของบิลล์ แม้ว่าในเวลาอีกไม่นานนักจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งสำหรับไมโครซอฟต์ แต่ ณ เวลานั้น ความเชื่อมั่นมีค่าเหนือทุกอย่าง และเป็นความเชื่อมั่นของบิลล์ เกตส์นั่นเองที่ช่วยให้สตีฟ จ็อบส์ได้ผาดโผนไปกับแนวคิด Think Different โดยไม่ต้องห่วงหลัง
            แอปเปิ้ลประสบความสำเร็จมาเป็นลำดับ นับจาก iMac ในปี 1998 ซึ่งเป็นเครื่องแม็คที่ขายเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ แอปเปิ้ลฟื้นและเติบโตอย่างน่าทึ่ง แม้ในโลกของ PC เครื่อง Macintosh จะยังไม่สามารถโจมตีป้อมปราการอันแข็งแรงของพันธมิตร Wintel – ซึ่งหมายถึงคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์และบนไมโครโพรเซสเซอร์ของอินเทล แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของสตีฟอยู่ที่นวัตกรรมในรูปของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ที่สร้างระบบนิเวศใหม่ของตัวเองขึ้นมารองรับ และครอบครองเป็นอาณาจักรของตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จ
            iPod เป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบ ก่อนหน้านั้นโลกรู้จักไฟล์เพลงสกุล mp3 ธุรกิจดนตรีปวดเศียรเวียนเกล้ากับการละเมิด แอปเปิ้ลสร้าง iPod เครื่องเล่นเพลงคุณภาพดีออกมาพร้อมซอฟท์แวร์ iTune ที่ใช้ในจัดการไฟล์เพลงเบ็ดเสร็จ และเปิดไปสู่การซื้อขายเพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องจากต้นสังกัด
หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรหยุด สตีฟ จ็อบส์ และแอปเปิ้ล ได้อีกต่อไป ในยุคสมัยที่เริ่มเรียกกันว่า “ยุคหลัง PC”
แม้สตีฟ จ็อบส์จะเริ่มปี 2011 ด้วยการลาพักยาวอีกครั้งเพื่อดูแลสุขภาพ แต่นี่ก็เป็นปีที่ดีที่สุดของเขา
            ตามข้อมูลของ Fortune 500 ปีล่าสุด แอปเปิ้ลติดอันดับที่ 35 มีรายได้ 65,225 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2009 ถึง 78.5% แซงไมโครซอฟต์ซึ่งอยู่ที่อันดับ 38 แม้รายได้จะไม่ห่างกันมากนัก แต่มูลค่าหุ้นของแอปเปิ้ลในตลาดสูงกว่าไมโครซอฟต์ไปตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน และในขณะที่มูลค่าของไมโครซอฟต์ยังมีแนวโน้มลดลง มูลค่าของแอปเปิ้ลกลับร้อนแรงไม่หยุด จนในที่สุดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเอ็กซอนเท่านั้น
            ภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนก็คือ ภายใต้การเสริมทัพของผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone และ iPad แอปเปิ้ลเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นสูงกว่าไมโครซอฟต์ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับมูลค่าไมโครซอฟต์รวมกับอินเทล หรือไมโครซอฟต์รวมกับเอชพีและเดลล์ ก็ยังน้อยกว่าแอปเปิ้ลบริษัทเดียว
            ดังนั้นเอง นอกเหนือไปจากเหตุผลที่ว่าเขาสามารถวางใจให้คนอย่างทิมโอธี คุก เป็นผู้นำแอปเปิ้ลในยุคต่อไป นอกเหนือไปจากเหตุผลที่เขามีคนอย่าง โจเอล โพโดลนี จากเยล มาดูแลโครงการ Apple University ที่พร้อมจะถ่ายทอดแนวคิด-บทเรียน-ประสบการณ์ของเขาทั้งหมดให้กับคนของแอปเปิ้ลรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ และนอกเหนือไปจากเหตุผลเขามีคนกลุ่มที่เรียกกันว่า Top 100 ที่พร้อมจะทำงานเป็นทีมเดียว
            อีกเหตุผลที่สตีฟ จ็อบส์ สามารถวางมือได้อย่างปลอดโปร่งจริงๆ ก็เพราะเขาได้นำแอปเปิ้ลมาสู่จุดสูงสุด โดยไม่เหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์ ไม่มีเงื่อนปมใดให้ต้องคลาย   
#
5 กันยายน 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2554)

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

สิ้นสุดที่ไหน?


เรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?”
            คำถามทำนองนี้ผุดเกิดขึ้นเสมอ ในความทุกข์ที่เกินทน ในการรอคอยที่ยาวนาน ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง แม้แต่ในความฉ้อฉลหลอกลวงที่ไม่สิ้นสุด
            ในผลงานเลื่องชื่อของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ เรื่อง คนขี่เสือจันทรเลขาตั้งคำถามนี้กับกาโลผู้เป็นพ่อ ในวันที่ชีวิตของทั้งสองพลิกผ่านจากความยากเข็ญไปสู่ความมั่งคั่งและได้รับการเคารพนบนอบ คำถามของเธอไม่ได้มาจากความกริ่งเกรงว่าวันเวลาที่ยิ่งกว่าฝันจะมอดมลายไป แต่เพราะ ในอกของลูกหนักอึ้งอยู่ด้วยความเท็จ
กาโลที่แท้เป็นคนดีงาม เขาเป็นช่างเหล็กฝีมือดีที่สุดแห่งเมืองฌรนา แคว้นเบงกอล ภรรยาของเขาเสียชีวิตหลังจากคลอดจันทรเลขาผู้ซึ่งกลายมาเป็นเหตุผลเพียงอย่างเดียวในการมีชีวิตอยู่ของเขา เขาไม่แต่งงานใหม่เพราะไม่วางใจว่าจะมีแม่เลี้ยงคนไหนดูแลลูกสาวเขาดีพอ
            แม้กาโลจะเป็นคนชั้นกมารซึ่งอยู่ในวรรณะศูทร และไม่เคยเห่อเหิมที่จะก้าวข้ามเส้นแบ่งวรรณะ แต่เขาก็ดิ้นรนส่งเธอเข้าเรียนที่โรงเรียนคอนแวนต์ เพื่อให้เธอมีการศึกษาอย่างดีที่สุด และผลการเรียนของเลขาก็ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวัง แต่ชะตาสองพ่อลูกถูกพลิกผันภายใต้สงครามใหญ่และความอดอยากยากจนที่แผ่คลุมทั่วเบงกอล เงินที่กาโลเก็บออมไว้ชั่วชีวิตทั้งด้อยค่าลงทุกทีและร่อยหรอลงทุกวันเมื่อ ลูกค้าไม่มีทั้งของที่จะซ่อมและเงินที่จะจ่ายค่าซ่อม เช่นเดียวกับคนทั่วแคว้น กาโลแอบเกาะขบวนรถไฟไปแสวงโชคในมหานครกัลกัตตา แต่ปลายทางของเขากลับอยู่ที่เรือนจำ
            กาโลถูกจับขณะขโมยกล้วยหอมสามใบของผู้โดยสารในตู้รถไฟชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่บอกว่าความผิดลหุโทษนี้อาจถูกจำคุกสิบห้าวันหรือหนึ่งเดือน แต่ด้วยความศรัทธาเชื่อถือในตัวบทกฎหมายว่าเป็นเครื่องมือรับใช้ความยุติธรรมแม้แต่คนยากจน กาโลเชื่อว่าหลังคำสารภาพ ศาลจะเข้าใจในความหิวและความจำเป็นที่เขาต้องมีชีวิตอยู่ แต่คำถามของผู้พิพากษาที่เขาจะจดจำไปชั่วชีวิตก็คือทำไมแกถึงจะต้องมีชีวิตอยู่ด้วยเล่า
            ตามคำบรรยายของภวานี ภัฏฏจารย์ กระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นในศาลสถิตยุติธรรม แล้วรวมตัวขึ้นเป็นพลังภายในเรือนจำ จึงคงดำเนินต่อไป... กาโลไม่เพียงแต่ปฏิเสธเท่านั้น หากยังกำจัดคุณค่าต่างๆ ที่เขาได้มาโดยกำเนิดออกไปเสียด้วย เขาจำเป็นต้องตัดรากแก้วทางสังคมและสละมรดกตกทอดที่ตนได้สืบต่อไว้ออกไปจนหมดสามเดือนในคุกทำให้เขาไม่มีวันเป็นกาโลคนเดิมอีกต่อไป และนั่นคือวิถีเดียวกับที่คนจำนวนมากได้ขบถต่อสังคม
            นักโทษหมายเลขบี-10 ทำลายภาพลวงตาของมหานครในความนึกคิดของกาโลลงไป ที่นั่นไม่มีงานให้ทำ มีแต่คนอดอยากจำนวนมหาศาลที่ทบทยอยกันตายไปทุกๆ วัน ดังที่กาโลได้ประจักษ์ด้วยตัวเองเมื่อเขาเดินทางไปถึง เมื่อชีวิตเหลือทางเลือกเพียงอดตายกับงานที่เขารังเกียจในซ่องโสเภณี กาโล ก็เลือกที่จะมีชีวิตอยู่
            บทเรียนแรกที่กาโลได้เรียนรู้จากชีวิตใหม่ก็คือ คำแนะนำของเจ้านายว่าหาหมวกคานธีมาใส่หัวเสีย จะทำให้แกดูน่านับถือขึ้นกว่าเดิมเมื่อรวมกับรายได้ที่มากกว่าเคยนึกฝัน เขาก็ไม่ใช่ เศษเดนของแผ่นดินที่ถูกเหยียดหยามอีกต่อไป แม้แต่ตำรวจผู้บันดาลโทสะได้ทันทีที่เห็นผู้คนในร่างโครงกระดูกเดินได้ ก็ยังผูกมิตรกับเขา ทักทายว่า การค้าเป็นอย่างไรบ้าง?” ทั้งที่การค้าและรายได้ของเขามาจากความอัปยศและน้ำตาของเด็กสาวที่ถูกล่อลวง/บังคับมา ซึ่งกาโลยังคงเห็นว่าชั่วช้ายิ่งกว่าสิ่งที่ทำให้เขาถูกตราหน้าและลงโทษมาก่อน
            ถ้อยคำของบี-10 เมื่อครั้งอยู่ในคุก กลับมาดังก้องในใจกาโลอีกครั้งเมื่อจันทรเลขากลายเป็นหนึ่งในเด็กสาวเหล่านั้น เจ้าพวกที่เป็นนายเหยียดหยามเราก็เพราะมันกลัวเรา พวกมันทำร้ายเราตรงที่ที่เราเจ็บอย่างร้ายกาจ คือตรงท้องของเรา เราจะต้องจ้วงกลับ
วิธี จ้วงกลับของผู้คนต่อสังคม ต่อการเหยีดหยามทำร้าย มีรูปวิธีที่หลากหลาย จากการแก้แค้นโดยเจาะจง อาชญากรรมที่ไม่เลือกเป้าหมาย การไต่บันไดสังคม ไปจนถึงการต่อสู้ทางชนชั้น และการยึดกุมอำนาจ
            คนอย่างบี-10 เลือกเอาการกระชากสายด้ายศักดิ์สิทธิ์แห่งชนชั้นพราหมณ์ทิ้งไป และต่อสู้เรียกร้องให้กับผู้คนที่อดอยากแห่งวรรณะที่ต่ำต้อยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง แม้เขาจะมีโอกาสกลับสู่วรรณะเดิมและชีวิตที่สุขสบายกว่าได้เสมอ ส่วนกาโลยกตัวเองขึ้นเป็นพราหมณ์ผู้ได้รับความเคารพจากชนทุกชั้น
            มนตร์อุบายที่เกิดจากอารมณ์ขันอันขมขื่นของบี-10 คือวิธีการที่กาโลได้กลายเป็นมงคล อธิการี เป็นการ เกิดใหม่พร้อมกับสายด้ายอันศักดิ์สิทธิ์แห่งวรรณะอันสูง และปาฏิหาริย์แห่งการเสด็จของพระศิวะซึ่งไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าหินก้อนที่ผ่านการสลัก ทำให้กลวงเพื่อมีน้ำหนักเบาลง เผาไฟให้ดูเก่าคร่ำ และผุดขึ้นจากแรงดันของถั่วในกระป๋องใต้ดินที่งอกขึ้นภายหลังการทดลองกะระยะ ปริมาณ และรดน้ำ จนแน่ใจ
            เงินทองจากศรัทธาของคนทุกชั้นวรรณะหลั่งไหลมา เทวาลัยเริ่มก่อตัวเป็นอาคารงดงามสมบูรณ์ ความเคียดแค้นของกาโลได้รับการชำระด้วยลาภสักการะ แต่ก็เช่นเดียวกับที่ลูกสาวตั้งคำถาม เรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?” เขาเริ่มจากความลวง ตามมาด้วยการบีบบังคับเอาที่ดินจากเจ้าของเดิมมาใช้ก่อสร้างเทวาลัยในนามของพระศิวะ เขาได้สาสมใจในวันที่ผู้พิพากษาคนที่เคยถามถึงความจำเป็นที่คนอย่างเขาต้องมีชีวิตอยู่ บัดนี้กลับต้องก้มลงสัมผัสเท้าเขาอย่างนอบน้อม เขารักเงินของเทวาลัยมากกว่าสมัยที่เขาได้มาจากการทำงานหนัก และเมื่อมีชายชราวรรณะต่ำผู้อดอยากมาวิงวอนขออาหาร ปฏิกิริยาแรกของเขาคือถอยหลบจากมือที่ยื่นมา ตามด้วยถ้อยคำเดือดดาลแกกล้าดีอย่างไรถึงได้มาแตะต้องเนื้อตัวข้า
            ความดีงามของกาโลช่างตีเหล็กไม่ถึงกับสิ้นสูญ ยังคงปรากฏขึ้นขัดแย้งกับท่านอธิการิน ทำให้บางครั้งมงคล อธิการีรู้สึกไม่สบายใจที่ต้องรับเงินจากศรัทธาของคนจนที่แทบไม่มีกิน และทำให้เขายอมให้คนสวนนำเอาน้ำนมสรงพระศิวะไปเลี้ยงทารกที่กำลังจะอดตาย แต่ถึงที่สุดแล้วความเป็นพราหมณ์ได้เกาะกุมเขาไว้มั่นเกินกว่าจะฉุดดึงกลับมา เมื่อรักแท้ระหว่างลูกสาวกับเพื่อนต่างวัยผู้ประกาศตนเป็น วรรณะนักโทษยากจะขวางกั้น เงื่อนไขข้อสำคัญของกาโลคือ บี-10 ต้องแสดงตนเป็นวรรณะพราหมณ์    
            ตามคำเปรียบเปรยของผู้เขียนกาโลได้ขึ้นควบขับความเท็จไปเหมือนกับว่ามันคือเสือซึ่งเขาไม่สามารถจะลงมาจากหลังของมันได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วเสือก็จะตะครุบตัวเขากินเสีย
            ยิ่งกาโลควบขับไป จันทรเลขาซึ่งเขาเข้าใจว่านั่งร่วมบนเสือตัวเดียวกัน ก็ยิ่งอยู่ห่างออกไปทุกที จันทรเลขาเข้าใจว่าพ่อจะต้องคอยระวังตัวไม่เผยแสดงตัวตน เธอเห็นด้วยกับแรงกระตุ้นแห่งการขบถ แต่เธอก็สงสัยเสมอว่าทำไมพ่อจึงไม่มีแม้ความเมตตาเล็กๆ น้อยๆ สายใยความรัก ความเชื่อถือศรัทธาในความดีงามของพ่อที่เคยแน่นแฟ้นตลอดมาคลายเกลียวลงทุกขณะกับคำถามในใจครั้งแล้วครั้งเล่าว่า มันเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้วหรือและเมื่อเธอมองดูพราหมณ์คนอื่นที่เธอพบอยู่ทุกวันซึ่งล้วนแล้วแต่มีมารยาทดี และนอบน้อมถ่อมตัว เธอก็สงสัยว่าเงินเหรียญปลอมจำเป็นจะต้องส่งประกายฉายแสงให้สดใสยิ่งกว่าเงินเหรียญแท้ หรืออย่างไร
เงินเหรียญปลอมที่ฉายแสงสดใสยิ่งกว่าเหรียญเงินแท้สามารถตบตาคนได้เสมอมา แต่เหรียญเงินแท้ที่งำประกายเช่นบี-10 มีอยู่ไม่มาก บี-10 ปฏิเสธการเป็นหุ้นส่วนในรายได้ของเทวาลัย ปฏิเสธเงื่อนไขความรักที่กาโลกำหนด เช่นเดียวกับที่เขาเคยหันหลังให้วรรณะเดิมของตัวเองมาก่อน เขาเป็นคนจุดไฟแห่งการ จ้วงกลับให้กาโล แต่วันหนึ่งเขาก็ต้องถามเพื่อนเก่าผู้รุ่งโรจน์ว่า หรือมันเป็นไปได้ว่า ในการทุจริตหลอกลวงนั้น นายไม่มีความประสงค์อื่นใดยิ่งไปกว่าจะทำให้ท้องกับกระเป๋าเงินของนายเต็มขึ้นมา
            ในขบวนของคนที่ต่อสู้ตามเสียงเพรียกแห่งความยุติธรรม มีคนที่เริ่มต้นอย่างบี-10 อยู่มากมายทุกหนแห่ง แต่สุดท้าย จะมีกี่คนที่ภายใต้เสื้อคลุมตัวเดิมจะไม่เหลืออยู่เพียงความเมามัวและกระหาย อำนาจ ดังที่จันทรเลขาพูดกับพ่อ (และนับรวมพ่อของเธอเข้าไว้ด้วย)คนรักชาติโจมตีผู้ปกครองของประชาชนที่เลว แต่ครั้นเมื่อตัวเองมีอำนาจขึ้น ก็กลายมาเป็นผู้ปกครองแบบที่ตัวเคยโจมตี
            เช่นเดียวกัน คนอย่างกาโลที่ควบขี่หลังเสือแห่งความฉ้อฉลหลอกลวง ก็ปรากฏอยู่ทุกสมัย และไม่มีกี่คนที่กล้าจ้วงแทงเสือตัวนั้นด้วยมือของตัวเอง อย่างที่กาโลเริ่มลงมีดแรกกับประโยคที่ว่าข้าพเจ้าผู้สร้างเทวาลัยนี้ไม่ได้เกิดมาในวรรณะพราหมณ์
            ด้วยคำถามเดียวกับจันทรเลขา แต่ภายใต้แรงทับถมของความเท็จและการฉ้อฉลอันยาวนานของยุคสมัย ว่าเรื่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?” เราทำได้เพียงคาดหวังให้ผู้ที่ควบขี่อยู่บนเสือร้ายเป็นกาโลอีกคนหนึ่ง หรือรอให้เขาก้าวลงมาจากหลังเสือเสียเอง
            หรือทำอะไรได้มากกว่านั้น?
#
Rhymes to learn
  • คนขี่เสือของ ดร.ภวานี ภัฏฏาจารย์ เป็นวรรณกรรมแนวสัจจนิยมที่ได้รับการยกย่องว่าถ่ายทอดชีวิตผู้คนและสภาพ สังคมอินเดียได้อย่างหมดจด สำนวนแปลที่นำมาใช้ในที่นี้ เป็นของ ทวีป วรดิลก จากฉบับพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2517 ส่วนสำนวนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นคนแรกที่แปลไว้ เพิ่งค้นพบในภายหลัง

#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549)

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

Down in the Flood


น้ำท่วม ชักพามาทั้งน้ำตา และน้ำใจ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นการเอาเท้าราน้ำ หรือกวนน้ำให้ขุ่น  
            คืนออกพรรษา (2553) ผมกดดูรายงานข่าวน้ำท่วมของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง สิ่งที่เห็นก็คงเหมือนกับที่ทุกคนเห็น สายน้ำที่ท่วมท้น ผู้คนที่เดือดร้อน ความช่วยเหลือที่ทบทยอยไป การแก้ไขสถานการณ์อย่างแข็งขันของหลายฝ่าย ก่อนจะมารู้สึกแปลกๆ กับสกู๊ปข่าวทางทีวีไทย ที่ตบท้ายรายงานว่า “ตั้งแต่มีคลองชลประทานมา...ปี บริเวณนี้ น้ำท่วมมาแล้ว...ครั้ง”
            ครั้นเมื่อเปรยเป็นข้อสังเกต ก็ได้รู้ว่ามีคนอื่นที่รู้สึกแบบเดียวกัน จากช่วงข่าวกลางวันและรายการภาคบ่ายของสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวกัน วันเดียวกัน
            ปานประหนึ่งว่า คลองชลประทานเป็นสาเหตุของน้ำท่วมซ้ำซาก
เครดิตภาพ: ครอบครัวข่าว 3

หากอยากจะพูดกันแบบกำปั้นทุบดินโดยไม่กลัวเจ็บมือ ก็คงจะไปแย้งเขาไม่ได้ เพราะวิธีที่น้ำท่วมในโลกนี้มีอยู่แค่ไม่กี่วิธี และวิธีหนึ่งก็มาจากการที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเอ่อล้นท้นขึ้นมาในยามน้ำหลาก
            เมื่อมีคลองและมีน้ำ น้ำก็ย่อมจะมาตามคลอง ในยามน้ำนองก็ย่อมล้นคลองท่วมสองฟากฝั่ง เป็นธรรมดา แต่ที่เป็นปัญหาก็คือว่า ถ้าไม่มีคลอง น้ำจะไม่ท่วมหรืออย่างไร และใครที่เขาขุดคลองขึ้นมา มีเจตนาเพียงเพื่อจะปล่อยน้ำมาท่วมบริเวณนั้นหรือเปล่า
            คลองชลประทานคงไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับการตัดถนนไปขวางทางน้ำอันเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในบางพื้นที่ ต่างจากการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจนเป็นสาเหตุให้แผ่นดินทรุด ไม่เหมือนการขยายตัวของเมืองและการรุกล้ำทำลายความสมดุลของธรรมชาติ แต่เป็นเครื่องมือเก่าแก่ในการกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ทำการเกษตร
            โดยการลอกเลียนธรรมชาติ มนุษย์เริ่มรู้จักกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเพาะปลูก คนโบราณรู้จักขุดสระ ขุดบึง สร้างอ่างเก็บน้ำ ต่อมาได้มีการขุดคูคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ซึ่งขาดแคลน เรียนรู้การลดความแรงของน้ำ และวิธีเปลี่ยนเส้นทางน้ำ จนกระทั่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเพื่อการชลประทาน เขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
            แต่ในระยะหลัง เขื่อน-โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่-ซึ่งสมัยหนึ่งเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ ได้กลายเป็นเป้าหมายของการต่อต้านคัดค้าน โดยเฉพาะในแง่ “ต้นทุน” ของความสูญเสีย ทั้งทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากจะต้องประเมินผลกระทบในแต่ละด้านกันอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้ต้องมาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์กันใหม่ด้วย เมื่อสมการของต้นทุนมีองค์ประกอบมากขึ้น
            ดูจากผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง ผมค่อนข้างจะมีความโน้มเอียงไปทางเดียวกับฝ่ายที่คัดค้านเรื่องเขื่อน แต่ผมก็ยอมรับด้วยว่า การคัดค้านอะไรสักอย่าง หรือแม้แต่คัดค้านมันเสียทุกอย่าง เป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ปัญหาหรือการลงมือทำอะไร(แม้เพียงอย่างเดียว)มากนัก
            ดังนั้น ไม่ว่าจะมองเรื่องเขื่อนในแง่ของการเก็บกักน้ำและ/หรือบริหารจัดการน้ำ หรือในแง่ของการผลิตกระแสไฟฟ้า เราก็คงต้องมองไปให้ไกลกว่า “เอา/ไม่เอา”
ในแง่กระแสไฟฟ้า มันง่ายกว่าแน่ๆ ที่คนหนึ่งจะบอกว่า ไม่เอาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ อีกคนหนึ่งบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีกคนก็มาบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
            หรือการที่หลายๆ คน จะบอกว่า พวกเขาไม่เอาทุกอย่าง ก็ไม่ยากอะไรอีกเหมือนกัน
            การอยู่ในสถานะที่พูดอะไรก็ได้โดยไม่ผูกพันความรับผิด เป็นเรื่องง่ายเสมอ แต่ถ้าบุคคลเดียวกันนั้นไปอยู่ในจุดที่ต้องรับผิด-รับชอบต่อการทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่บุคคลนั้นจะทำในสิ่งที่ตรงข้าม/ขัดแย้งกับที่เขาเคยพูด ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะเขาหรือเธอเปลี่ยนไป หรือเป็นคนไร้จุดยืน แต่เป็นเพราะเขาหรือเธอได้ไปอยู่ในจุดที่เข้าถึงข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ตระหนักถึงผลกระทบอีกแบบหนึ่งจากการทำหรือไม่ทำสิ่งใดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาหรือเธอเคยพูดไว้
            รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในความหมายนี้-แม้จะในกรณีตัวอย่างต่างกัน-ก็คือ การลาออกของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยูกิโอะ ฮาโตยามะ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน หลังจากที่เขาไม่สามารถรักษาสัญญาที่จะย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาะโอกินาวา ตามที่ได้หาเสียงไว้
            แน่นอน ณ วันนี้เราอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ว่าพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นทางออกที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นสายลม แสงแดด แต่ ณ วันนี้อีกเช่นกัน ที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถแทนที่เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมได้อย่างเบ็ดเสร็จ และไม่มีใครหยุดยั้งหรือแม้แต่ชะลอการเผาผลาญพลังงานของมนุษยชาติได้จริง เราก็คงต้องคุยกันและเลือกเอา เช่น ถ้าเราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแน่ๆ เราจะอยู่กับเขื่อนอย่างไร ในเงื่อนไขแบบไหน ตราบเท่าที่เราก็ไม่อยากเสี่ยงกับภัยพิบัติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
ในแง่การบริหารจัดการน้ำ ผมนึกถึงงานเขียนของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เรื่อง “น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรมไทย”
            หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิดเรื่องการอพยพและย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการแพร่กระจายของวัฒนธรรม ว่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นการขยายจากทิศใต้ (จากน่านน้ำหรือทะเล) ไปทิศเหนือ (ทวีปและภูเขา) โดยระบุว่า ยิ่งอพยพลึกเข้าไปในพื้นทวีปหรือยิ่งมีภูเขามากขึ้นเท่าไร ความฉลาดของมนุษย์ในเรื่องการกักกันน้ำไว้เพาะปลูก (ซึ่งเริ่มจากการเลียนแบบธรรมชาติ) รวมทั้งการแก้ปัญหาความแรงของน้ำจากภูเขาที่มีความลาดเอียงสูง ก็ยิ่งมีมากขึ้น และเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมที่มีพื้นฐานมาจากการกักกันน้ำ
            ตัวอย่างสภาวะที่ต้องเผชิญกับทั้งความอดอยากแห้งแล้งและอุทกภัย กับประวัติศาสตร์เก่าแก่ของการสร้างเขื่อนและการทดน้ำ/ผันน้ำในเมืองจีน เป็นสภาวะที่ต่างจากมนุษย์บริเวณชายฝั่งทะเล ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งน้ำค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่ทะเล และมีน้ำจืดค้างอยู่ทั่วไปตามที่ลุ่มต่ำ การควบคุมน้ำและการเก็บกักน้ำจึงแทบไม่มีความจำเป็น “แต่อาศัยอยู่กับน้ำที่ไหลผ่านไปมาอย่างง่ายๆ เหมือนกับต้นข้าวซึ่งมีชีวิตอยู่กับน้ำ” วัฒนธรรมชาวน้ำแถบนี้จึงต่างไปมากจากวัฒนธรรมของการเก็บกักน้ำ ซึ่งอาจจะเรียกในเชิงเปรียบเทียบว่าเป็น วัฒนธรรมชาวบก
            การคลี่คลายของสังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนประเทศไทย-เช่นเดียวกับประเทศแถบที่ลุ่มชายฝั่งอื่นๆ-ไปเป็นสังคมชาวบก แม้สัญชาติญาณแบบเลื่อนไหลไปกับกระแสน้ำจะยังฝังแฝงอยู่มาก แต่มันก็เหมือนกับที่ ดร.สุเมธเสนอไว้ว่า ในสมัยประวัติศาสตร์ คลื่นวัฒนธรรมกลับไหลวนจากทวีปและภูเขากลับมายังย่านทะเล
            ในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำ ชาวน้ำที่กลายมาเป็นชาวบก ก็เรียนรู้และรับเอาอารยธรรมการกักกันน้ำและจัดการน้ำของชาวบกมาด้วย ยิ่งในยุคที่โลกเสียสมดุล แล้งก็มาก น้ำก็มาก เช่นนี้ เขื่อนหรือสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำย่อมไม่ใช่สิ่งที่เราจะด่วนตัดออกไป โดยที่ยังไม่มีสิ่งทดแทนที่สมเหตุสมผลพอ
            หรือเราจะคิดกันจริงๆ ว่า เขื่อนและคลองชลประทานเป็นตัวการปล่อยน้ำออกมาท่วมทั้งไร่นาและบ้านเรือน
            และมันคงจะดีกว่านี้ ถ้าเราไม่มีเขื่อน ไม่มีคลองชลประทาน?
ในกลุ่มคนที่ไม่เอาเขื่อน มีทั้งที่คัดค้านด้วยหลักวิชาการ มีทั้งที่ต่อต้านโดยบทเรียนจากหลายๆ เขื่อนในอดีต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการคัดค้าน/ต่อต้านโดยสุจริต ด้วยจุดยืน/มุมมองที่แตกต่าง
            ส่วนคนที่คัดค้าน/ต่อต้านโดยไม่สุจริต จะมีหรือไม่ อย่างไร ด้วยผลประโยชน์หรือเหตุผลอื่นใด ผมไม่ทราบ เพราะอย่างน้อยที่สุด คนในภาคองค์กรพัฒนาเอกชนที่ผมพอจะรู้จักมักคุ้นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะคิดเหมือนหรือต่างอย่างไร ก็ไม่ใช่คนแบบนั้น
            แต่ถ้าถามว่าผู้ที่ต่อต้านเขื่อนโดยไม่ได้สนใจในปัญหาเรื่องน้ำท่าหรือว่าพลังงาน หากแต่มีนัยแอบแฝงหรือวาระซ่อนเร้น มีไหม ตอบได้ว่ามี
            แต่ก่อนนี้ ผมยังนึกว่าคงมีแต่คนรุ่นๆ ผม ที่จะมองเห็นนัยของคนรุ่นไล่ๆกัน ซึ่งออกมาผสมโรงต่อต้านเขื่อนไปกับเอ็นจีโอสายอนุรักษ์ ว่าเป็นการแสดงออกแบบ “ตีวัว” เพื่อให้ “กระทบ(ไปถึง)คราด” อันเป็นเป้าหมายจริงที่พวกเขาต่อต้านและหาทางจะล้มล้าง
            มาถึงวันนี้ คนรุ่นอายุยี่สิบกว่าๆ ก็เริ่มมาสะกิดถามผมแล้วว่า การต่อต้านเขื่อนนี่เป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์..... ด้วยหรือเปล่า
            ผมบอกว่า ถ้าคนรุ่นๆ เขายังรู้สึกได้ คำตอบของผมก็คงไม่จำเป็น แต่เมื่อนึกถึงระยะทางจากเขื่อน เลื่อนไหลมาจนถึงคลองชลประทาน ผมก็ต้องบอกไปว่า “มันมาไกลมากแล้วด้วย”
#
30 ตุลาคม 2553
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553)

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

A Man and a Woman (…20 years later)


ผู้ชาย ผู้หญิง ความรู้สึก ชีวิต และความรัก

คล็อด เลอลูช พูดถึงการทำหนังของเขาว่า “ผมสนใจเพียงสิ่งเดียว – ผู้คน แล้วก็ความรู้สึก ชีวิต และความรัก”
         ปี 1966 เลอลูชถ่ายทอดความสนใจของเขาออกมาใน A Man and a Woman หนังโรแมนติค ที่สุดเรื่องหนึ่งของทศวรรษ 1960
ผู้ชายคนหนึ่ง พาลูกชายไปส่งที่โรงเรียนประจำในโดวิลล์ หลังจากสนุกสนานด้วยกันอย่างเต็มที่ในวันหยุดกับการขับรถบนหาดทราย ครูที่โรงเรียนแนะนำให้เขารู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอพาลูกสาวกลับมาส่งเข้าโรงเรียนเหมือนกัน และกำลังจะกลับปารีส
            เขาขับรถไปส่งเธอถึงที่พัก ระหว่างทางเขารู้จักเธอมากขึ้นจากเรื่องราวที่เธอเล่าให้ฟัง ความสนใจก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ และเมื่อถึงที่หมาย เขาก็ไม่ลืมจดจำที่อยู่ของเธอไว้
            เลอลูชวางโครงเรื่องเอาไว้ง่ายๆ คนสองคนพบกันและรักกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เขาเป็นนักขับรถแข่ง เธอเป็นสคริปต์เกิร์ล ต่างเป็นม่าย สูญเสียคนรักให้กับความตายที่มาถึงก่อนกาลอันควร ทิ้งลูกหนึ่งคนไว้ในความดูแล และงานอาชีพทำให้ไม่อาจอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ต้องเอาไปอยู่โรงเรียนประจำแทน
            ความรักในวัยผู้ใหญ่ ที่ผ่านการมีชีวิตคู่มาแล้ว และมีลูกเล็กๆ โดยที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของคนที่เป็นทั้งพ่อและแม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบนี้ ไม่อาจจะทำให้ออกมาดูบริสุทธ์ สดใส และประทับใจคนดูได้ง่ายๆ เหมือนกับเรื่องราวของวัยรักแรก แต่เลอลูชก็สามารถทำให้เรื่องของชาย-หญิงคู่นี้ประทับใจทุกคนได้ และลึกซึ้งมากกว่า
            ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นมาระหว่างคนทั้งสอง จากการพบกันครั้งแรกไปจนถึงความรักที่เกิดขึ้นในที่สุด พัฒนาลึกซึ้งเป็นลำดับในจังหวะที่งดงาม โน้มน้าวความรู้สึกคนดูให้คล้อยตามไปด้วยได้ตลอดเวลา ในแต่ละจังหวะเลอลูชไม่ลืมที่จะทำให้คนดูสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาตั้งใจให้มันเป็นภาพแทนความรู้สึกและลำดับความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่มีต่อกัน: มือของเขาที่เอื้อมไปจะกุมมือของเธอ ขณะที่ต่างโอบกอดเด็กๆ ไว้ แล้วชะงักอย่างรู้สึกไม่มั่นใจ, ต่อมาบนรถของเขา เขาวางมือลงไปเกาะกุมเธอไว้ เธอไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ออกมาให้เห็น แต่คำถามของเธอคือ “คุณไม่ได้เล่าเรื่องภรรยาของคุณให้ฉันฟังเลย”, เธอเริ่มสนใจหาหนังสือแข่งรถมาอ่าน และเมื่อเขาชนะในมอนติคาร์โล เธอก็ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีกับเขาทันที แม้จะไม่แน่ใจนักกับการกระทำของตัวเองและการใช้ถ้อยคำ แล้วก็มาถึงฉากในห้องอาหาร เธอและเขาได้ก้าวเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัวเพียงลำพัง โดยมีบริกรเป็นส่วนเกินไปทันที และหลังจากนั้นคนดูก็จะรู้สึกได้เองว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ทั้งคู่จะได้แสดงความรักต่อกัน
            อันที่จริง เป็นการง่ายมากที่คนดูจะตั้งสมมุติฐานเอาเองในใจว่า พ่อม่ายนักขับรถแข่งที่มีชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยง กับแม่ม่ายที่มีชีวิตอยู่ในโลกมายาซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กับลูกได้มากพอ มาพบกันและรักกันบนพื้นฐานของความรู้สึกเปลี่ยวเหงา ซึ่งอาจต้องการเพียงใครสักคน
            แต่เลอลูชไม่เปิดโอกาสให้คนดูได้รู้สึกอย่างนั้น
            นอกจากการวางจังหวะของความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปได้อย่างเหมาะสม เลอลูชยังใช้เด็กทั้งสองเป็นสื่อให้คนดูได้เห็นภาพอีกด้านของคนเป็นพ่อแม่ ด้านที่อ่อนโยน มีความอาทรผูกพัน และความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นด้านที่ไม่อาจเห็นได้ในช่วงเวลาที่อยู่กับงานอาชีพ
            ภาพด้านนี้แสดงให้เห็นจากการที่แต่ละคนแสดงต่อลูกของตัวเอง แล้วเคลื่อนไปสู่ลูกของอีกคนหนึ่ง และแสดงต่อกันและกันอย่างแนบเนียนในที่สุด โดยที่คนดูจะไม่นึกคลางแคลงใจในความรู้สึกอันแท้จริงของคนทั้งสอง
            ผู้แสดงมีส่วนอยู่มากในการทำให้เรื่องรักง่ายๆ แต่ให้ความรู้สึกลึกซึ้งอยู่ในตัว บรรลุผลสมบูรณ์ในความรู้สึกนึกคิดของคนดูหนัง ฌ็อง-หลุยส์ แตรงติญอง เคยสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมาแล้วจากการแสดงคู่กับบริจิตต์ บาร์โดต์ ในหนังของโรเจอร์ วาดิม เรื่อง And God Created Woman แต่ชีวิตทหารในสงครามแอลจีเรียหยุดความก้าวหน้าทางการแสดงของเขาไปหลายปี บทฌ็อง-หลุยส์ในเรื่องนี้ นำชื่อเสียงและความสำเร็จกลับคืนมาอีกครั้ง
            เขาไม่ใช่พระเอกหน้าตาดี แต่ชนะใจคนดูได้ด้วยความสามารถทางการแสดงอย่างแท้จริง ในสนามแข่งรถ เขามุ่งมั่นอยู่กับการเอาชนะความเร็ว ให้ภาพของลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งและกร้านชีวิต แต่อยู่นอกสนาม เขาเป็นพ่อผู้อ่อนโยน รักลูก และกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มอีกครั้งเมื่อมีความรัก ความกระวนกระวายใจของเขาเมื่อต้องแวะเติมน้ำมันระหว่างทางขับรถข้ามคืนไปหาเธอ เป็นความจงใจของหนังที่จะบอกให้คนดูรู้ว่าเขารักเธอและปรารถนาจะได้พบเธอเพียงไร แต่แตรงติญองก็ทำให้มันออกมาเป็นธรรมชาติมาก
            อนูค แอมเม เป็นนักแสดงชั้นยอดอีกคนของฝรั่งเศส แม้ว่าจะมีผลงานออกมาไม่มากนัก แต่มันก็เป็นงานชั้นเยี่ยมอย่าง La Dolce Vita และ 8-1/2 บทแอนน์-สคริปต์เกิร์ลที่สูญเสียคนรักไปด้วยอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ เป็นจุดยอดแห่งงานแสดงของเธอเช่นเดียวกับแตรงติญอง แม้ว่าเธอจะเป็นสาวสวย ก็ไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกว่าเธอเป็นดารา แต่เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง มีงานต้องทำ มีลูกต้องดูแล และมีอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน
            เมื่อเธอรักฌ็อง-หลุยส์ ในขณะที่ยังคงนึกถึงสามีของเธอที่ตายไป คนดูสามารถยอมรับและเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของเธอ มีการถ่วงดุลกันอยู่ตลอดเวลาระหว่างความรู้สึกที่เธอมีต่อฌ็อง-หลุยส์  และความรู้สึกไม่มั่นใจในความเหมาะควร ซึ่งอนูค แอมเม แสดงออกมาได้อย่างดีเยี่ยม หลังจากคืนแรกที่ได้อยู่ด้วยกัน เธอสารภาพกับเขาว่าสามีเธอยังไม่ตายไปจากความทรงจำของเธอ แล้วเมื่อเธอนั่งรถไฟกลับปารีสคนเดียว – โดยไม่ต้องแสดงออกมา คนดูก็รู้ได้เองถึงความยุ่งยากใจ ความรู้สึกสับสนที่ปนเปกันอยู่ในใจเธอ
            แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของหนังเป็นของคล็อด เลอลูช นอกจากการกำกับการแสดง เลอลูชเป็นคนวางเรื่องทั้งหมดขึ้นมา และร่วมกำกับภาพด้วย ตอนทำหนังเรื่องนี้ เลอลูชมีปัญหามากทีเดียวในเรื่องงบประมาณ เขาไม่มีเงินพอแม้แต่จะซื้อฟิล์มสีมาถ่ายได้ทั้งเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างงานที่ดีออกมา เขาเลือกช่วงที่จะถ่ายทำด้วยฟิล์มสีและขาวดำในหนังเรื่องเดียวกันได้อย่างฉลาด และแทนที่จะใช้ฟิล์มขาวดำในภาพแฟลชแบ็คอย่างที่ใช้กันทั่วไป เลอลูชสลับที่ทางกัน และใช้ฟิล์มขาวดำในส่วนที่สามารถสร้างสีสันได้เองด้วยความรู้สึกของคนดู
            การใช้กล้องและวิธีการตัดต่อของเลอลูชมีสไตล์ที่เด่นชัดของตัวเอง และมีส่วนอยู่มากในการสร้างผลทางอารมณ์ ทำให้หนังที่แสดงเรื่องรักง่ายๆ ของคนสองคนตรึงคนดูไว้ด้วยความประทับใจ ภาพที่คนดูจะจดจำได้ติดตาตลอดไปคือภาพที่ถ่ายจากด้านหน้าของรถยนต์ขณะฌ็อง-หลุยส์ขับไปกลางสายฝน ให้ความรู้สึกอันอ้างว้าง แต่ในขณะดียวกันที่ปัดน้ำฝนซึ่งทำงานเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ก็เหมือนความแน่วแน่ของหัวใจที่จะไปให้ถึงปลายทาง
            ฌ็อง-หลุยส์ตัดสินใจขับรถตามขบวนรถไฟที่แอนน์นั่งไป และนั่งรอเธออยู่ที่สถานีปลายทาง เลอลูชปิดฉากสุดท้ายของหนังด้วยภาพคนทั้งสองสวมกอดกันไว้ และไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนั้น สิ่งต่างๆ จะดำเนินไปอย่างไร
ปี 1986 เลอลูชให้คำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ด้วยหนังเรื่อง A Man and a Woman: Twenty Years Later ด้วยทีมงานหลักและผู้แสดงนำชุดเดิม
ฉากที่สถานีรถไฟนั้นคือการลาจาก ตลอดระยะเวลายาวนาน ฌ็อง-หลุยส์และแอนน์ไม่ได้พบกันอีกเลย กระทั่งยี่สิบปีต่อมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ฌ็อง-หลุยส์ยังอยู่ในวงการแข่งรถ แต่ในฐานะผู้จัดการแข่งขัน ลูกชายเขาโตเป็นหนุ่มและเจริญรอยตามพ่อด้วยการเป็นนักแข่งเรือ แอนน์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ลูกสาวเธอเป็นนักแสดง
            แอนน์ขอพบฌ็อง-หลุยส์ ตอนนั้นหนังเรื่องล่าสุดของเธอล้มเหลว เธอคิดว่าช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความหมายระหว่างเธอกับเขาเมื่อยี่สิบปีก่อนจะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นหนังที่ประทับใจคนดูได้    ฌ็อง-หลุยส์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเธอในตอนแรก แต่ก็ยอมให้เธอเอาเรื่องของเขาไปใส่ไว้ในหนังได้
            การพบกันครั้งนี้ ทั้งคู่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมาก แอนน์แต่งงานแล้วหย่า และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่ด้วย เธอมีความรับผิดชอบกับงานมากขึ้นในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ความรู้สึกไม่มั่นใจที่เป็นบุคลิกของเธอยังมีให้เห็นเมื่อเธอพบกับฌ็อง-หลุยส์อีกครั้ง แต่บทบาทในงานที่ทำ ทำให้เธอมีการตัดสินใจที่ชัดเจน มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเมื่อถ่านไฟเก่าจะกลับคุโชนขึ้นมาอีกครั้ง เธอไม่ยุ่งยากกับการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองอีกแล้ว
            อนูค แอมเม รับบทเดิมของเธอด้วยขีดความสามารถเดียวกับที่เธอเคยแสดงให้ทุกคนเห็นและยอมรับมาแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจมากกว่าคือรูปร่างหน้าตาของเธอ เมื่อเอาหนังภาคแรกและภาคสองมาดูต่อกัน แทบไม่น่าเชื่อว่าเวลาได้ผ่านไปแล้วยี่สิบปี
            ฌ็อง-หลุยส์เป็นผู้ใหญ่ที่สุขุมขึ้นตามวัย ไม่มีการแสดงออกแบบเด็กหนุ่มอีกต่อไปแล้ว ฌ็อง-หลุยส์ แตรงติญองก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก อย่างที่บทฌ็อง-หลุยส์ซึ่งมีอายุมากขึ้นยี่สิบปีควรจะเป็น แต่ในความสุขุม-มั่นคงของบุคลิกภายนอก แตรงติญองก็ทำให้คนดูมองเห็นความรู้สึกที่อยู่ภายในได้ ความรู้สึกที่เขามีต่อแอนน์ยังไม่ลบเลือนไปด้วยระยะเวลา เราเห็นได้ตั้งแต่ตอนที่เขารู้ว่าแอนน์ติดต่อมา อตนที่เขาโทรกลับไปหาเธอ และไปพบเธอ เขายอมให้เธอทำหนังตามที่เธอต้องการ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นทางที่จะนำเขาไปใกล้ชิดกับเธออีกครั้ง และคราวนี้เขาจะไม่ยอมให้เธอจากไปอีก ฌ็อง-หลุยส์ไม่ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนในส่วนนี้ แต่ภรรยาสาวของเขา – ซึ่งเป็นพี่สาวของลูกสะใภ้ – เป็นบทเสริมขึ้นมาให้คนดูรู้สึกได้ เธอไวต่อความรู้สึกนี้ของเขามากกว่าทุกคน ขณะที่สิ่งกีดกั้นความรักของทั้งคู่ในภาคแรก คือภาพอดีตที่ยังไม่ตายไปจากความทรงจำของแอนน์ แต่ในคราวนี้ ขณะที่ภาพอดีตเมื่อยี่สิบปีก่อนกระจ่างชัดขึ้นมา สิ่งที่มาขวางทางคือปัจจุบันและความตายที่ภรรยาสาวของฌ็อง-หลุยส์ เกิอบจะหยิบยื่นให้เขาและตัวเธอเองพร้อมๆ กันกลางทะเลทราย
            เลอลูชสะท้อนอารมณ์รุนแรงอันเนื่องมาจากความรักได้อย่างน่ากลัว!
            ในภาคสองนี้ เลอลูชไม่ได้มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกของแอนน์และฌ็อง-หลุยส์ ออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกับภาคแรก แต่ภาพอดีตที่ปรากฏขึ้นมาควบคู่ไปกับการถ่ายทำหนังที่แสดงความสัมพันธ์ครั้งนั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะสะกิดเตือนคนดูถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่ทั้งคู่มีต่อกัน เลอลูชยังใส่ซับพล็อตเข้ามา ซึ่งดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสานต่อความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ทิ้งค้างไปนาน มันเป็นเรื่องของฆาตกรที่หนีออกมาจากโรงพยาบาลโรคจิตและนำไปสู่คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่วางแผนเอาไว้อย่างดี แอนน์ยอมรับความจริงว่าเรื่องรักของเธอกับฌ็อง-หลุยส์ไม่อาจเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จได้ และเธอก็ยอมรับข้อเสนอเอาเรื่องของฆาตกรคนนั้นมาทำหนังแทน ดูเหมือนว่าความเกี่ยวโยงของพล็อตและซับพล็อตจะมีอยู่เพียงเท่านี้เอง
            แต่เลอลูชอาจจะอยากบอกกับเราว่า ในวันเวลาและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หนักรักเรียบง่ายที่เขาเคยทำเมื่อทศวรรษ 1960 ไม่อาจนำเสนอออกมาด้วยรูปแบบเดิมได้อีกในทศวรรษ 1980 แนวของหนังที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตในยุคนี้ที่เราเห็นๆ กัน ไม่ใช่หนังที่คนดูจะสามารถร่วมซึมซับความละเอียดอ่อน อารมณ์อันลึกซึ้งของชีวิตตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนจอ เพราะสังคมรอบข้างและความจริงที่รายล้อมชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน
            ความรักของแอนน์และฌ็อง-หลุยส์ อาจจะยิ่งใหญ่ก็แต่ในความรู้สึกของคนทั้งสอง แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับคนอื่น และอาจจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อด้วยซ้ำที่คนสองคนจะรักกันและลาจากกันโดยเก็บรักษาความรู้สึกที่ดีให้ยั่งยืนตลอดมา ในเมื่อทางออกของสังคมปัจจุบันแก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง ชีวิตลดความหมายลงไปพร้อมกับที่ความรู้สึกอันอ่อนโยนถูกแทนที่ด้วยความหยาบกระด้าง ความอ่อนไหวถูกแทนที่ด้วยความเปราะบาง ซับพล็อตที่เลอลูชใส่เข้ามาได้แสดงถึงจุดนี้ มันเป็นภาพตัวอย่างของสังคมทศวรรษ 1980 คนไข้โรคจิตถูกหมอใช้เป็นเครื่องมืออย่างแนบเนียนเพื่อฆ่าเมียตัวเอง และเพื่อให้แผนการรัดกุมเต็มที่โดยความผิดจะไปตกอยู่กับคนไข้ของเขา สี่ชีวิตต้องสังเวลยไป – เมียหมอ, คนไข้, ลูกและเมียคนไข้ – แลกกับการที่เขาจะมีเมียใหม่คนหนึ่ง
            เห็นได้ชัดว่าเลอลูชไม่ได้พยายามจะทำให้ภาคสองของ A Man and a Woman ออกมาเป็นหนังโรแมนติคที่จะประทับใจคนดูได้เหมือนกับภาคแรก แต่ในแง่ของหนังดรามาที่แสดงถึงชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก เลอลูชยังประสบความสำเร็จใจการนำเสนอสิ่งที่เขาสนใจออกมาเป็นหนัง และเด่นด้วยการลำดับภาพ-ดำเนินเรื่องตามแบบเฉพาะตัวของเขา     
            คนที่ดู A Man and a Woman ภาคสอง โดยไม่ได้ดูภาคแรกมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจเลยว่า มันเป็นตอนต่อของหนังที่ได้ชื่อว่าโรแมนติคที่สุดของเมื่อสองทศวรรษก่อนได้อย่างไร เพราะหลังจากมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกและความรักในภาคแรก เลอลูชกลับมามุ่งเสนอแง่มุมต่างๆ ของชีวิตแทนในภาคสอง แต่คนที่ยังจดจำความประทับใจของเมื่อยี่สิบปีก่อนจะสามารถรับรู้สิ่งที่เลอลูชต้องการจะบอกได้ว่า ชีวิตมีความหมายอยู่ด้วยความรู้สึกอันงดงาม และความรู้สึกที่แท้จริงจะยั่งยืนเหนือกาลเวลา
            ไม่ว่ามันจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงไร
#
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530)