วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

อีมี่ ดราม่า อากง

ผมคงเป็นคนใจร้ายแน่ๆ ถ้าจะบอกว่า ดราม่าไม่ใช่วิธีการสู้คดี และไม่รู้สึกว่าจำเลยในคดี “SMS 20 ปี น่าสงสารเห็นใจเท่าที่มีความพยายามปั้นแต่งกัน
           ที่จริง แรกที่ผมได้อ่านผ่านๆ คำพิพากษาจำคุกจำเลย 20 ปี ในคดีส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเขาเรียกกันเป็นการทั่วไปว่า “คดีอากง SMS” (แต่ผมไม่สะดวกใจจะเรียกตามนั้น ด้วยเหตุผลอะไรไว้ค่อยว่ากันตอนท้าย) ความรู้สึกของผมก็คงไม่ต่างจากคนอีกมาก ที่เห็นว่าเป็นการลงโทษที่หนักหนาสาหัสอยู่สักหน่อย แม้จะรู้ว่า 20 ปีเป็นผลรวมของฐานความผิดรวม 4 ครั้ง ก็ตาม


                    แต่เมื่ออ่านรายละเอียดช้าๆ ผมก็เริ่มสะดุดกับเรื่องของ IMEI (International Mobile Equipment Identity) ซึ่งเป็นเลขรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์มือถือของจำเลย ตามบันทึกสรุปคำพิพากษาและบันทึกการสืบพยานของฝ่ายทนายจำเลย (ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลฝั่งเดียวที่ผมหาได้เกี่ยวกับคดีนี้ เพื่อนทนายบอกว่าคำพิพากษาในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดจะยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ ส่วนการขอคัดคำพิพากษาในคดีจะทำได้เฉพาะคู่ความ) อ้างว่า ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ...” แต่ทนายจำเลยได้นำมาเป็นประเด็นแย้งหลังคำพิพากษาว่า เลขหลักสุดท้าย (หลักที่ 15) ของเลข IMEI ในเครื่องโทรศัพท์ของจำเลย ไม่ตรงกับเลข IMEI ในรายงานการใช้บริการโทรศัพท์ (log) ที่ได้จากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 ราย (ในที่นี้คือ DTAC และ True)
            ประเด็นนี้ถูกนำไปขยายความ (และหลงเชื่อ) กันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องยากในการค้นหาความจริงว่า เลขหลักสุดท้าย (หลักที่ 15) เป็น check digit หรือเลขทดสอบความถูกต้องของเลข 14 ตัวแรก ถ้าเลขตัวสุดท้ายถูกต้องตามหลักการคำนวณอัลกอริทึมแบบลุน (Luhn algorithm) ก็จะระบุรายละเอียดยี่ห้อ-รุ่น-เลขลำดับของโทรศัพท์ได้ แต่ถ้าเลขหลักสุดท้ายผิด ก็จะไม่พบข้อมูลของโทรศัพท์ตามเลขอีมี่ที่ผิดนั้น
            ถ้ายังงงๆ อยู่ ลองนึกเลขรหัส ISBN ที่อยู่หลังปกหนังสือนะครับ เป็นเลขชุดคล้ายๆ กับเลข IMEI ของโทรศัพท์ ต่างกันเพียง 13 หลักกับ 15 หลัก โดยที่หลักสุดท้ายเป็น check digit เหมือนกัน ถ้าเราป้อนเลข ISBN 12 ตัวแรกของหนังสือเล่มหนึ่ง สมมติว่าเป็น ISBN 978974991617 ในระบบค้นหาของกูเกิ้ล ผลที่ได้ก็คือ การค้นหาของคุณ - ISBN 978974991617- ไม่ตรงกับเอกสารใดๆ” จากนั้นถ้าลองป้อนเลขชุดเดิมและเพิ่มเลขหลักสุดท้ายแบบสุ่มไปเรื่อย (สมมติว่าไม่รู้เลขหลักสุดท้าย) การลองตั้งแต่เลข 0 ถึงเลข 8 จะได้ผลลัพธ์เหมือนข้างต้น จนเมื่อป้อนเลข 9 เป็นหลักสุดท้าย ก็จะได้รายละเอียดเบื้องต้นว่าเป็นหนังสือแปลเรื่อง แผนลวงสะท้านโลก ซึ่งแปลจาก Deception Point ของ แดน บราวน์โดย อรดี สุวรรณโกมล ไม่มีเล่มอื่นซ้ำแน่นอน
            ในทำนองเดียวกัน เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของเรา แม้ว่าจะไม่มีแหล่งให้ตรวจสอบได้ว่าเลขประจำตัวนั้นๆ เป็นของใคร (ซึ่งก็ไม่สมควรจะมีหรอก) แต่ก็มีโปรแกรม/เว็บไซต์ที่ใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่ามีเลขประจำตัวชุดนั้นๆ อยู่จริงหรือไม่ ทดลองกรอกเลขประจำตัวของเราลงไป ระบบจะยืนยันการมีอยู่ของเลขชุดดังกล่าว แต่ถ้าลองเปลี่ยนเลขหลักสุดท้าย ระบบก็จะแจ้งว่าเป็นเลขรหัสที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งช่วยยืนยันว่าจะไม่มีใครที่มีเลข 12 หลักแรกตรงกับเราทั้ง 12 หลักแน่ๆ
            หลักการของเลข ISBN และเลขประจำตัวประชาชน ก็เหมือนกับเลข IMEI คือ เลขหลักสุดท้ายไม่มีความสำคัญในแง่ที่ว่า จะมีเพียงเลขเดียว (จาก 0-9) เท่านั้นที่ถูกต้อง-ในฐานะ check digit และจะไม่มีเลขชุดแรก (12 หลักของเลข ISBN และเลขประจำตัวประชาชน, 14 หลักของเลข IMEI) ซ้ำกันเด็ดขาด
            ผมจึงขอสรุปไว้ตรงนี้ก่อนว่า “จะไม่มีโทรศัพท์มือถือสองเครื่องใดในโลกที่มีเลข IMEI ตรงกัน (No two mobile handsets in the world should have the same IMEI number) ตรงนี้สำคัญนะครับ และเขาก็มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำหนดเลข IMEI ให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ (เหมือนกับเลข ISBN ของเราที่ต้องขอจาก กลุ่มงานคัดเลือกและประเมินคุณภาพทรัพยากรห้องสมุด สำนักหอสมุดแห่งชาติ) ไม่ใช่ว่าผู้ผลิตยี่ห้อไหนจะกำหนดเอาเองอย่างไรก็ได้
            และยิ่งไม่ใช่เรื่องที่มาอ้างกันมั่วๆ แบบ “ผู้รู้” ใน มติชนออนไลน์ ว่า หมายเลข IMEI นั้น ไม่ใช่ Unique Number มีมือถือหลายเครื่องที่มี IMEI ซ้ำกันได้ โดยมีทั้งการที่ซ้ำกันมาตั้งแต่โรงงานผู้ผลิต และซ้ำกันเพราะมาแก้ไข IMEI เองในภายหลัง ซึ่งถ้าไม่รู้-แต่มั่วๆกันไป ก็พออภัย แต่ในเมื่ออ้างว่าเป็น “ผู้รู้” ก็ต้องถือว่าตั้งใจบิดเบือน
            คือ ถ้าจะพูดเรื่องปลอม IMEI ก็ต้องบอกว่าทำได้ เครื่องที่ใช้เลข IMEI ปลอม ก็ต้องบอกว่ามี แต่นั่นคือข้อยกเว้น และถ้าเป็นช่วงก่อนปี 2545 การพูดอย่างนั้นจะพอมีน้ำหนัก เพราะเป็นยุคที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยังล็อครหัส IMEI ให้เครื่องที่ซื้อจากผู้ให้บริการ (ซึ่งขายในราคาแพงหลุดโลก) เท่านั้นที่นำมาใช้งานในระบบได้ แต่เมื่อเลิกล็อคและให้ผู้ผลิตโทรศัพท์ขายได้เองโดยเสรี กระทั่งราคาตัวเครื่องโทรศัพท์ลดลงมามากมาย ไม่เพียงแต่จะไม่มีใครสนใจเรื่องปลอม IMEI อีกต่อไป คนที่เพิ่งมาใช้โทรศัพท์มือถือในระยะหลังจำนวนมาก ไม่เคยได้ยินเรื่องเลข IMEI ด้วยซ้ำ
ก้าวข้ามประเด็นเรื่อง 14 หลัก/15 หลัก และอีมี่ปลอมมาได้ ก็มีคำถามต่อมาว่า ทำไมเลขหลักสุดท้ายในรายงาน (log) ของผู้ให้บริการ (DTAC กับ True) ไม่ตรงกับเลขหลักสุดท้ายที่ตัวเครื่องของกลางของจำเลย
            ตามบันทึกสังเกตการณ์การสืบพยานของฝ่ายทนายจำเลยเอง สรุปคำให้การของเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า การตรวจสอบหมายเลขในเครือข่าย DTAC ที่ใช้ส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นพยานโจทก์และผู้กล่าวโทษในคดีนี้) พบว่าเป็นหมายเลข xxx-xxx-3615  แบบเติมเงิน ที่ใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์ที่มีหมายเลข IMEI  358906000230110 เมื่อนำเลข IMEI ข้ามไปตรวจสอบกับ True พบว่าเลข IMEI ดังกล่าวใช้ร่วมกับซิมของโทรศัพท์หมายเลข  xxx-xxx-4627
            ทนายจำเลยอ้างว่า เลข IMEI ของจำเลยเป็นเลข 358906000230116 แต่ log ของDTAC ระบุเป็น 358906000230110 ประเด็นนี้สามารถอธิบายโดยหลักการได้ง่ายๆ ว่าเป็นแนวปฏิบัติของระบบ (ซึ่งเป็นมาตรฐานเดิมที่ใช้กันทั่วโลก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ check digit ที่ถูกต้องตามจริง แต่ประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องจัดทำ log มาตรฐานใหม่) ที่แปลงเลขหลักสุดท้ายเป็น 0 ทั้งหมด จริงเท็จประการใด ผู้เกี่ยวข้องในคดี-โดยเฉพาะทนายจำเลย-สามารถใช้สิทธิ์ตรวจสอบได้ว่า log ของ DTAC แสดงเลข IMEI หลักสุดท้ายของเครื่องอื่นๆ แตกต่างไปจากเลข 0 หรือไม่
            ในกรณี log ของ True ที่ฝ่ายทนายจำเลยอ้างว่า มีทั้งลงท้ายด้วย 0 และ 2 ก็น่าจะตรวจสอบได้แบบเดียวกัน เพื่อหาคำตอบว่าระบบรายงานของ True เป็นอย่างไรให้สิ้นสงสัย มากกว่าการอธิบายลับหลังคำพิพากษา
            นอกจากนั้น การที่ log ของผู้ให้บริการทั้ง DTAC และ True ได้แสดงข้อมูลทั้ง IMEI (เลขรหัสระบุตัวเครื่อง), IMSI (International Mobile Subscriber Identity-เลขรหัสของซิม), เซลล์ไซต์ที่ใช้เชื่อมต่อโทรศัพท์กับเน็ตเวิร์ค และเวลาที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์ค จึงแสดงรอยต่อของการใช้งานให้เห็นในลักษณะที่มีการใช้งานสลับกัน คือ หลังจากปิดการเชื่อมต่อกับโครงข่ายของ True (ใช้งานโทรศัพท์) แล้วจึงปรากฏการเชื่อมต่อกับโครงข่าย DTAC (ใช้ส่ง SMS) หลังจากนั้นจึงมีการเชื่อมต่อกับโครงข่าย True อีกครั้ง ทั้งหมดนี้ระบุตำแหน่งการใช้งานในเซลล์ไซต์เดียวกัน  คือย่านที่อยู่ของจำเลย โดยไม่มีการใช้งานทับเวลากันแต่อย่างใด
            โดยสรุปก็คือ ถ้าจำเลยไม่ได้ส่ง SMS จากโทรศัพท์ตัวเอง ที่บ้านของตัวเอง มันก็คงเป็นเรื่องบังเอิญมากที่มีคนปลอมเลข IMEI ของจำเลย (หรือแม้แต่ซ้ำกันโดยบังเอิญ มาตั้งแต่โรงงานผลิต-ขำขำนะครับ) แล้วมาส่ง SMS หมิ่นฯ ในพื้นที่เซลไซต์เดียวกัน โดยสอดแทรกเข้ามาในเวลาที่สอดคล้องกันอย่างน่าอัศจรรย์
            แต่ก็เอาละ ข้อมูลเชิงประจักษ์แบบนี้ ยังไม่ได้ทำให้ผมยังปักใจว่าจำเลยส่ง SMS เอง ทั้งยังมีหลายคนพูดถึงหลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย รวมไปถึงการยกตัวอย่างว่า เจ้าของรถคันที่ขับไปชนคนตายโดยที่จับผู้ขับขี่ไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องติดคุกเพียงเพราะเป็นเจ้าของรถ แต่ก็นั่นแหละ คงง่ายเกินไปที่เจ้าของรถจะบอกแต่เพียงว่าตัวเองไม่ใช่คนขับ ใครเอาไปขับก็ไม่รู้ อย่างน้อยเจ้าของรถก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ณ เวลาที่เกิดเหตุ ตัวเองอยู่ที่ไหน มีใครที่เอารถไปใช้โดยไม่ต้องบอกกล่าวได้บ้าง หรือถ้ารถหาย ก็ต้องมีการแจ้งความ ฯลฯ
            ในกรณีนี้ การที่จำเลยบอกแต่ว่าส่ง SMS ไม่เป็น บอกว่าเคยส่งเครื่องไปซ่อม แต่ซ่อมที่ร้านไหนก็จำไม่ได้ นอกจากไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว การให้หลานวัย 11 ปีขึ้นให้การในฐานะพยาน บอกว่า “จำเลยมักทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ่อยครั้งขณะไปส่งตนและน้องๆ ที่โรงเรียน” ก็มัดจำเลยแน่นเข้าไปอีก ว่าโอกาสที่โทรศัพท์เครื่องนี้จะไปตกในมือคนอื่นเพื่อใช้เปลี่ยนซิมส่ง SMS หรือปลอม IMEI ยิ่งน้อยลง
            หรือจะให้ศาลเข้าใจตามที่จำเลยให้การว่า “ทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ้าง พกติดตัวบ้าง บางครั้งเมื่ออยู่ที่บ้านก็ไม่ได้พกโทรศัพท์ติดตัว ซึ่งที่บ้านมีคนเข้าออกอยู่จำนวนหนึ่ง” จึงเป็นโอกาสให้ผู้อื่นเข้าไปในบ้านของจำเลยเพื่อใช้โทรศัพท์ส่ง SMS ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก???
ถึงที่สุดแล้ว ผมกลับมีคำถามในใจว่า แทนที่จะดราม่ากันใหญ่โต ทนายจำเลยได้สู้คดีให้ลูกความของตัวเองดีพอหรือยัง
            ถ้าดูจากคำแถลงปิดคดีของทนายจำเลย ใน 3 ประเด็น  คือ 1. การใช้หมายเลขเครื่อง (อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ 
            2. การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานมุ่งไปที่ตัวจำเลยโดยตรง โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับหมายเลขอีมี่ และคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารฝ่ายโจทก์
            3. โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว
            จะเห็นได้ว่า เป็นแนวทางที่มุ่งปฏิเสธความน่าเชื่อถือของหลักฐานและฝ่ายโจทก์ โดยที่ฝ่ายจำเลยเองกลับไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากเท่ามาต่อสู้/หักล้าง ผมอาจไม่ได้เรียนมาทางกฎหมาย แต่เท่าที่คิดและตรวจสอบกับเพื่อนที่มีความรู้ทางเทคนิคการโทรคมนาคมบ้าง ทางกฎหมายบ้าง ถึงช่องทางความเป็นไปได้ต่างๆ ก็พบว่า อย่างน้อยที่สุด การขอข้อมูลจาก True มาพิสูจน์ว่า เครื่องของจำเลยที่ใช้ซิมของ True ไม่เคยใช้ส่ง SMS เลย ก็น่าจะมีน้ำหนักดีกว่าการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย
            แย่กว่านั้นคือความไม่อยู่กับร่องกับรอยของทีมทนาย ทนายจำเลยคนหนึ่งให้การเป็นพยานจำเลยด้วยท่าทีที่เหมือนกับเข้าใจเลขรหัส IMEI ดีพอสมควร ซึ่งขัดกับการสู้คดีแบบไม่ยอมรับรู้ไม่ยอมเข้าใจเรื่องเลขหลักสุดท้าย ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งไป “หลุด” ในรายการคมชัดลึกหลายประเด็น เพราะมุ่งแต่จะดราม่าจนละเลยสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” เช่น นาทีหนึ่งบอกว่าจำเลยส่ง SMS ไม่เป็น โทรศัพท์ที่ใช้ก็เป็นรุ่นเก่า มีแป้นพิมพ์ภาษาไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้ (ถึงตอนนี้คนดูจำนวนมากตั้งคำถามแล้วละ ว่าเรื่องแค่นี้ไม่รู้จะไปสู้คดีอย่างไร) แต่อีกไม่กี่นาทีต่อมากลับบอกว่า โทรศัพท์ของจำเลยพิมพ์ยาก จะพิมพ์ตัว ง ทีต้องกดแป้มเดิมถึงสามครั้ง (คนดูก็จะรู้สึกว่า อ้าว แล้วอย่างนี้จะเชื่อถืออะไรกันได้อีกไหม)
            หรือเขาไม่ได้ต้องการชนะคดีกันจริงๆ
จำเลย – ที่เขาเรียกกันว่า “อากง” – อายุ 62 ในปีนี้ ก่อนจะมาเป็น “อากง” คดีนี้เคยเรียกกันว่า “คดีลุง SMS” มาก่อน แต่คง “ไม่โดน”
            เข้าใจได้ว่าคำ “อากง” เป็นคำเรียกในมุมของหลานอายุ 11 (ที่ขึ้นให้การเป็นพยานด้วย) และน้องๆ ที่เด็กกว่านั้นอีก และในยุคที่คนวัย 60 เวลาตกเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ มักจะถูกแทนด้วยคำว่า “ไอ้เฒ่า” ผมจึงไม่ติดใจกับคำเรียกอากงเท่าไรนัก ที่ติดใจก็คงเป็นเรื่องที่ทำเสมือนว่าคนวัย 60 ต้นๆ เป็นวัยที่หมดแล้วซึ่งสมรรถนะ จำอะไรไม่ค่อยได้ ทำอะไรไม่ค่อยเป็น
            ผมมีพี่ชายคนโตอายุเท่าๆ นี้ ซึ่งยังทำทุกอย่างได้เหมือนเมื่อสิบปีก่อน ผมมีแม่ซึ่งอายุ 83 แล้ว แต่ยังขับรถตะลอนๆ ออกไปช้อปปิ้งเองได้ทุกเวลาที่อยากออกจากบ้าน ตัวอย่างที่ยกมานี้อาจจะมีความจำเพาะสักหน่อย แต่ผมก็ยังไม่พบว่าคนวัย 60 ต้นๆ จะมีปัญหาความจำถึงขนาดจำร้านที่เอาโทรศัพท์ไปซ่อมและไปรับคืนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนไม่ได้ และผมไม่คิดว่าถ้าการส่ง SMS สำหรับคนวัยนี้เป็นเรื่องยากเกินหัด โดยเฉพาะคนที่เคยมีอาชีพเป็นพนักงานขับรถมาก่อน
            อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงตอนนี้ อากงจะทำหรือไม่ทำอะไร ทำได้หรือไม่ได้ ทำจริงหรือไม่จริง หรือกระทั่งว่าอากงจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เพราะทุกอย่างถูกขับเคลื่อนไปสู่อีกเป้าหมายหนึ่ง – ซึ่งไม่ทำให้ผมแปลกใจเท่าไหร่ – คือการรณรงค์แก้ไข/ยกเลิกมาตรา 112 (อีกครั้ง)
            ผมเคยสงสัยว่า มันจะมีความเป็นไปได้แค่ไหนกันที่จะวางพล็อตให้คนสูงอายุที่ดูน่าสงสารเห็นใจ ตกเป็น “เหยื่อ” ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยความยินยอมพร้อมใจของเจ้าตัว อาจจะเพื่อปกป้องลูกหลานใกล้ชิด หรือเพื่อผลตอบแทนบางประการ แต่เมื่อคิดมาถึงขั้นที่ว่า ถ้าจะเคลื่อนไหวแบบหวังผล ก็ต้องใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของคนๆ นั้นเป็นเดิมพัน ผมก็ไม่อยากคิดต่อ
            รอดูเขาแสดงกันไปเลยดีกว่า
#
6 ธันวาคม 2554

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2554)



15 ความคิดเห็น:

  1. ความเห็นเชิงเทคนิคต่อคดีนายอำพล (อากง SMS)
    http://www.blognone.com/news/28771/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%A5-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%87-sms

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณครับ ตอนเริ่มเขียนบทความชิ้นนี้ ผมก็อาศัยข้อมูลของ iLaw กับของทนายจำเลย เป็นหลักครับ เพราะมีข้อมูลทางเดียว

      ลบ
    2. แก้ไขเพิ่มเติมครับ (เพิ่มความคิดเห็นไปอีกต่างหาก)

      - แต่ เครื่องนี้มีระบบช่วยพิมพ์แบบเดาคำสะกดอัตโนมัติ และ/หรือ กดเรียงตัวธรรมดา หากแป้นพิมพ์ไทยไม่มีก็อาจจะโชว์อักษร >>>ที่บนหน้าจอแทน การมองช่วงระยะกลุ่มอักษรที่แบ่งในปุ่มหมายเลขต่างๆ (ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ค่อยสะดวกนะครับสำหรับคนใช้ต่างยี่ห้อและหลายๆเครื่อง เพราะการแบ่งกลุ่มอักษรไม่เหมือนกัน)<<<

      ลบ
    3. ข้อความผมหาย (ทดสอบ)

      ลบ
  2. ข้อความหายอีกแล้วครับ
    สงสัย พิมพ์ข้อความยาวเกินไป ถ้ายังไงของตัดแบ่งเป็นหลายส่วนต่อเนื่องกันแทนนะครับ

    ตอบลบ
  3. บทความนี้นับว่าผ่านมานานแล้วทีเดียว แต่ผมก็เพิ่งมาให้ความสนใจ หาข้อมูลมาไขข้อสงสัยตัวเองแต่ก็อย่างว่าครับเจอแต่ ดราม่า+กีฬาสี ตามกระแสซะเป็นส่วนใหญ่

    เบื่องต้นผมได้หาข้อมูลมา แล้ววิเคราะห์เองมาบ้างแล้ว แต่ก็มีส่วนแต่ต่างกันกับ จขบ. พอสมควรครับ

    ผมติดใจสงสัยช่วงนี้ในบทความครับ แล้วอยากได้คำชี้แนะพิ่มเติมครับ
    "แย่กว่านั้นคือความไม่อยู่กับร่องกับรอยของทีมทนาย"

    เรื่องแป้นพิมพ์ภาษาไทย

    จากรูปประกอบของ จขบ. เองและผมเอา imei ไปหาเอง ก็เป็นข้อมูลตรงกันกับ จขบ. ครับ เป็นรุ่น Motolora ROKR E2 (บุคลิกของรุ่นนี้เหมาะกับวัยรุ่น ชอบเทคโนโลยี ลูกเล่นฟังค์ชั่นเยอะ และรักการฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ)

    ตอบลบ
  4. ผมไปหาข้อมูลของเครื่องรุ่นนี้จากหลายๆแหล่งถึงลักษณะกายภาพของมันจนมีความมั่นใจมากพอสมควรพอจะสรุปได้ดังนี้
    - ROKR E2 มีระบบปฏิบัติการ (OS) เป็น Linux
    - เครื่องรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไท ย จะไม่มีแป้นพิมพ์ไท ย บนปุ่มตัวเลขเลย
    - ความไม่พร้อมของ OS ทำให้ตอนแรกยังไม่รองรับอักษรไท ย (ขึ้นเป็นตัวสี่เหลี่ยม)
    - มีการอัพเกรดครั้งแรกๆ จนสามารถรองรับภาษาไท ยได้ แต่เป็นแบบ Read only ไม่สามารถ Input เข้าไปได้
    - มีการอัพเกรด ต่อจากนั้นหลายๆครั้ง จนรองรับภาษาไท ยได้สมบูรณ์แบบ คือ อ่านได้/พิมพ์ input อักษรไท ยเข้าไปได้ แต่....!! ก็ไม่มีการสกรีนอักษรไท ยลงไปบนปุ่มตัวเลข

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ17 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:07

    - แต่ เครื่องนี้มีระบบช่วยพิมพ์แบบเดาคำสะกดอัตโนมัติ และ/หรือ กดเรียงตัวธรรมดา หากแป้นพิมพ์ไทยไม่มีก็อาจจะแสดงอักษรที่บนหน้าจอแทน การมองช่วงระยะกลุ่มอักษรที่แบ่งในปุ่มหมายเลขต่างๆ (ซึ่งผมว่ามันก็ไม่ค่อยสะดวกนะครับสำหรับคนใช้ต่างยี่ ห้อและหลายๆเครื่อง เพราะการแบ่งกลุ่มอักษรไม่เหมือนกัน)
    - เครื่องรุ่นนี้ที่ขายเป็นสิน ค้า มือ สอง ก็ไม่ปรากกฏแป้นพิมพ์ไทย บนปุ่มตัวเลข เช่นกัน
    - แล้ว รุ่นนี้ที่เป็นสิน ค้า มือ สอง มันจะมีคำบรรยายสรรพคุณว่า "อัพเกรดล่าสุดแล้ว อ่าน/เขียนไทยได้ 100%" กับ "อ่านไทยได้ยังเดียวนะครับ พิมพ์ไทยยังไม่ได้"

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ17 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:09

    - อีกทั้งรุ่นนี้ ยังมีสิน ค้า มือ สองประเภทว่า เครื่องหิ้ว/เครื่องนอก(จากจีน)
    - และรา คาสิน ค้า มือ สองของรุ่นนี้ ณ.ตอนนี้ผมเห็นลงประกาศไว้ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.55 นี้เองครับ เฉลี่ยรา คาประมาน 1500 บ. จากรา คาแรกวางจำหน่าย 1หมื่น กว่าบ.

    นั่นแสดงให้เห็นถึง "ตัวแปรค่าไม่คงที" อีกอย่างหนึ่งครับ

    พอดี ผมเคยดูคลิปข่าวตอนเขาจับตัวอากงแล้วครับเห็นของกลางเป็น Motolora ROKR E2 จริงแต่มีข้อสังเกตุตามนั้นครับ


    ดังนั้นข้อสงสัยของผมก็คือ ถ้าเอาข้อมูลตรงนี้ไปพิจารณาเรื่อง "ของกลาง" ด้วย จะมีผลอะไรที่เปลี่ยนไปไหมครับ

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ17 พฤษภาคม 2555 เวลา 17:21

    โพสสำเร็จเสียทีครับ กว่าจะโพสติดแต่ล่ะครั้ง ยากลำบากมาก ตั้งแต่
    - ตอนแรกใช้ Firefox โพสก็เห็นว่า "เผยแพร่ความคิดเห็นของคุณแล้ว" แต่กดสักพักกรีเฟชดู ข้อความก็หาย
    - นึกว่าโดนระบบของ bolgspot คัดกรองคำไม่เหมาสมหรือเปล่า ก็ไม่ใช่อีก
    - สุดท้ายใช้ IE โพสปุ๊บก็ติดปั๊บ แต่ดู blog ใน IEก็โหลดช้ามาก ไม่รูเป็นเพราะอะไร

    ตอนแรกรู้สึกท้อมาก แต่เห็นที่นี้แปลกและแตกต่าง และ ดูมีประโยชชน์แก่สาธารณะ ผมเลยต้องพยายามโพสให้ครบให้ได้

    ย.

    ตอบลบ
  8. ขอบคุณ คุณ ย. สำหรับความเพียรในการโพสต์นะครับ
    และขอบคุณสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ROKR E2

    ในส่วนที่เกี่ยวกับคีย์แพดภาษาไทยของเครื่องรุ่นนี้ เป็นส่วนที่ผมไม่ได้นึกถึงตอนเขียนบทความนี้ เพราะไม่รู้สึกว่าโมโตฯมีปัญหาภาษาไทย เพราะที่บ้านผมทั้งบ้านก็ใช้โมโตฯ มาตั้งแต่ E398 ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบของ ROKR E1 มา V360 จนกระทั่ง SLVR L7,KRZR K1 และ Z6 พออ่านที่คุณเขียน ก็นึกได้ว่า มีอยู่รุ่นหนึ่ง (น่าจะเป็น V360)ที่ตอนซื้อไม่มีเครื่องศูนย์ จึงไม่มีภาษาไทยบนคีย์แพด แต่รุ่นอื่นๆ มีหมด

    เพื่อความแน่ใจ ลองไปสุ่มค้นข้อมูล ก็พบว่ากรณี E2 ก็มีเครื่องที่ไม่มีคีย์แพดภาษาไทยค่อนข้างเยอะ แต่ก็มีผู้ยืนยันว่าถ้าเป็นเครื่องศูนย์ คีย์แพดเป็นภาษาไทย ตามลิงก์นี้ครับ (ประมาณความเห็นที่ 22 จากบน) แต่ก็เห็นด้วยว่าเครื่องนอก ที่นำเข้ากันมาเองในยุคนั้นมีเยอะทีเดียว

    ส่วนความสะดวกในการพิมพ์ โดยเฉพาะการส่ง SMS ขอไม่ออกความเห็นนะครับ รู้แต่ว่าการใช้โมโตฯ ค่อนข้างจะสลับข้างกับ โนเกีย (ซึ่งผมก็ใช้มาหลายรุ่น)

    สำหรับประเด็นที่ว่าข้อมูลเรื่องแป้นภาษาไทยจะมีผลในการพิจารณาหรือไม่ ผมคิดว่าทนายน่าจะเห็นประเด็นตรงนี้นะครับ เพราะผมไม่ทราบเหมือนกันว่าเครื่องของกลางมีแฟ้นภาษาไทยหรือไม่

    ตอบลบ
  9. ส่วนที่ติดใจสงสัยกับคำว่า "แย่กว่านั้นคือความไม่อยู่กับร่องกับรอยของทีมทนาย" ก็อย่างที่ผมเขียนอธิบายไว้ในบทความแหละครับ คือ
    1. ทนายจำเลยคนหนึ่งให้การเป็นพยานจำเลยด้วยท่าทีที่เหมือนกับเข้าใจเลขรหัส IMEI ดีพอสมควร ซึ่งขัดกับการสู้คดีแบบไม่ยอมรับรู้ไม่ยอมเข้าใจเรื่องเลขหลักสุดท้าย (อันนี้น่าจะมาจากข้อมูลที่ทางทนายจำเลยหรือ iLaw เขาโพสต์เกี่ยวกับแนวทางการสู้คดี หรือจากคำพิพากษา ผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว)
    2. ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งไป “หลุด” ในรายการคมชัดลึกหลายประเด็น เพราะมุ่งแต่จะดราม่าจนละเลยสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” เช่น นาทีหนึ่งบอกว่าจำเลยส่ง SMS ไม่เป็น โทรศัพท์ที่ใช้ก็เป็นรุ่นเก่า มีแป้นพิมพ์ภาษาไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้ (ถึงตอนนี้คนดูจำนวนมากตั้งคำถามแล้วละ ว่าเรื่องแค่นี้ไม่รู้จะไปสู้คดีอย่างไร) แต่อีกไม่กี่นาทีต่อมากลับบอกว่า โทรศัพท์ของจำเลยพิมพ์ยาก จะพิมพ์ตัว ง ทีต้องกดแป้มเดิมถึงสามครั้ง (คนดูก็จะรู้สึกว่า อ้าว แล้วอย่างนี้จะเชื่อถืออะไรกันได้อีกไหม)

    ขอบคุณอีกครั้งครับ สำหรับการแลกเปลี่ยน

    ตอบลบ
  10. ลืมแปะลิงก์ http://community.siamphone.com/viewtopic.php?t=148355&postdays=0&postorder=asc&start=225

    ตอบลบ
  11. คุณ ย. มาโพสต์ความเห็นเกี่ยวเนื่องจากข้างบน แต่ไม่ทราบว่ามีปัญหาอย่างไร จึงไม่โชว์ในนี้
    ผมจึงถือวิสาสะนำมาแปะไว้ให้นะครับ >>>

    ว้าว !! บังเอิญเจอแฟนโมโตฯ แต่ผมก็ได้แต่สนใจครับ สนใจมาตั้งนานแล้วแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของสักที ผมสนใจพวกรุ่นที่มี OS Linux นะครับ ที่โมโตฯบุกเบิกไว้ก่อนที่จะถอยทัพออกจากไทยแล้วเปลี่ยนผ่านไป OS Android อย่างปัจจุบัน

    ผมก็ไม่รู้สึกว่า ทางโมโตฯมีปัญหาภาษาไทย ในรุ่นปรกติครับ เพราะโมโตก็เป็นเจ้าแรกๆทีุ่บุกเบิกการพิมพ์ภาษาไทยเข้าไปเช่นกัน

    แต่ด้วยความที่ว่าระบบ OS เป็น Linux ที่เพิ่งมารู้ตอนหลังนี่สิครับ เป็นเหตุให้ผม "เอะใจ" เรื่องภาษาไทย เพราะปรกติใน Linux สำหรับคอมนั้นก็ยุ่งยากพอสมควร (รายการรุ่นทั้งหมดที่ จขบ. มีในครอบครองก็คือ Z6 ที่มี OS เป็น Linux ที่ดูจะใกล้เคียงกับ E2 มาที่สุดครับ อิงเบื้องต้นจาก GSMArena.com)

    ลิงก์ที่แปะให้มา ผมตัดสินใจอ่านหมดทั้งหน้าเลยครับ (แต่อ่านแค่หน้าที่ให้มาหน้าเดียว) อ่านแล้วก็เพิ่งทราบเรื่องปัญหาภาษาไทยมีเยอะมากครับ มีทั้งแบบให้ทางศูนย์อัพเกรดให้ และ ทำกันเอง (ตรงข้อหลังนี้น่าคิดว่าเป็น สาเหตุ ที่ทำให้รุ่นนี้มีปัญหากับภาษาไทยมากขึ้นไปอีก)

    แต่เรื่องเครื่องศูนย์นั้นที่แป้นไทย ก็เป็นเรื่องที่น่ากังขาอย่างยิ่ง

    เนื่องจากผมดูข้อมูลจากเว็บรีวิวหลายๆสำนักที่พอจะน่าเชื่อถือได้ บอกว่า "เครื่องศูนย์ไม่มีแป้นไทย" (ยอมรับว่าบางอันดูภาพภาษาไทยในจอกับปุ่มกดเอาแต่เขาไม่ได้บอกตรงๆ แล้วสรุปไปเอง)

    http://hitech.sanook.com/mobile/reviewmotorola_07316.php
    http://www.whatphone.net/review/Motorola/ROKR_E2.html
    http://www.mxphone.net/review-motorola-rokr-e2/

    ส่วนเครื่องสินค้ามือสอง ต่อไปนี้ผมก็ว่าน่าจะถือเป็นเครื่องศูนย์ได้นะครับ
    จากโมโตฯ โดย void ของ jaymart (ud,m-link)
    http://www.pdamobiz.com/forum/forum_posts.asp?TID=545861&PN=1

    ภาพอยู่ไกล/ภาพมีจุดบอด สรุบไม่ได้ (เห็นไกลๆเหมือนข่าวการเข้าจับกุมตัวอากง) แต่เห็นมีคู่มือระบบพิมพ์ MOTOสมาร์ทไทย อยู่ไกลๆ และสติกเกอร์หน้ากล่องข้อความว่า RHYTHM & BOYd ศิลปินชาวไทยที่พอจะช่วยระบุได้ แต่แจ้ง สาเหตุการพิมพ์ไทยไม่ได้ ไว้ชัดเจน
    http://www.pdamobiz.com/forum/forum_posts.asp?TID=410829&PN=1&TPN=1

    แบบข้อมูลหน้ากล้องไม่มีอะไรเลย นอกจากตรายางวันที่บน สติกเกอร์ ส่วนที่น่าจะมีข้อมูล IMEI รวมทั้ง Number ต่างๆ ข้างกล่อง กับ คู่มือระบบพิมพ์ MOTOสมาร์ทไทย เหมือนผู้ประกาศขายรายอื่น
    http://w2.pdamobiz.com/forum/forum_posts.asp?TID=247650&PN=566

    จากหลายๆอย่าง รวมถึงการตลาดของบริษัทโมโตฯไทย (คหสต.ที่ไม่มั่นคง) ในตอนนั้น ให้มีปัญหากับรุ่น แป้นกดภาษาไทย อย่างมากเหมือนกลายเป็นสิ้นค้าหายากไปโดยปริยาย

    ลักษณะสินค้ามือสองเครื่องนอก ที่แต่แรกคนหิ้วมาอาจคิดว่าถ้าเอาเขามาจำหนายก็น่าจะขายได้ไม่ต่างกับเครื่องศนูย์รุ่นไม่มีแป้นไทย
    http://www.pramool.com/cgi-bin/dispitem.cgi?9715011

    ใช่เลยครับ ผมเลยกลายเป็น 1 ในกลุ่มคนในช่องวงเล็บของ "ข้อ 2" เลยครับ จะไปหาที่พูดคุยกับใครก็ไม่กล้า เพราะมีปัญหาอย่างที่กล่าวไปข้างต้น สับสนไปหมด

    ขอขอบคุณมากๆสำหรับการแลกเปลี่ยนความเห็นเช่นกันครับ
    ย.

    ตอบลบ
  12. ถือว่าได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นเยอะเลยนะครับ และคงสรุปเบื้องต้นได้ว่า โมโตรุ่นนี้ที่มีคีย์แพดภาษาไทย อาจจะมีการนำเข้ามาอย่างถูกต้องเพียงล็อตเดียว เครื่องส่วนใหญ่น่าจะนำเข้ากันมาจากหลายๆประเทศ โดยผู้ค้ารายอื่นๆ

    แต่จุดชี้ขาดก็อยู่ที่เครื่องของกลางในคดีแหละครับ

    ตอบลบ