วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (4)

จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ประเทศไทยยังคงจมอยู่ในปลักของการลบล้างความผิดให้ทักษิณและแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาอำนาจที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ปักหลักหมุดสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านการลงประชามติ
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ ศาล และองค์กรอิสระจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่นั่นก็เพราะการออกแบบโครงสร้างอำนาจอธิปไตย และการตรวจสอบ-ถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงสร้างที่ล้มเหลว
            จริงอยู่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากการแต่งตั้ง แต่ ส.ส.ร. 2550 ก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจน-กว้างขวางยิ่งกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่มักจะอ้างกัน (บ่อยครั้งที่อ้างโดยผู้ร่างเอง) ว่า “ก้าวหน้าที่สุด” และ “ดีที่สุดโลก”
            จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็โดยวิถีทางที่ถูกต้อง ตามกระบวนการที่กำหนด และไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติตามมาตรา 291 ที่ว่า “ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้”
            จึงเป็นเรื่องน่าขัน ที่ได้เห็นนักประชาธิปไตยผู้ชูธงคัดค้านรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร ล้วนกระหายอยากจะร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญกันเอง และรับรองกันเอง ในขณะที่พรรคการเมืองซึ่งอวดอ้างชัยชนะจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ ก็ไม่กล้าเผชิญหน้าการทำประชามติ
            ได้แต่อวดตรรกะโง่ๆ ว่า ศาลจะให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ
            ตอบแบบเด็กมัธยมต้น ก็คือ “ถ้าคนอยากแก้ก็ยังไม่รู้ แล้วจะขอแก้ทำติ่งหูอะไร”
๐ 
Credit: Praphol Chattharakul
ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญไม่เคยใช้เป็นสิ่งชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ อย่าว่าแต่ประเด็นปลีกย่อยเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญ
            โดยไม่สำคัญเลยสักนิดว่าเรามีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากน้อยขนาดไหน เพียงแต่ในหัวของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสมอง และในใจของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสติ เราย่อมรู้ว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นแม่แบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
            รู้ว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ใช้มา 225 ปีแล้ว โดยไม่มีใครประทับตราว่าเป็นรัฐธรรมนูญยุคทาส และไม่เคยต้องยกร่างใหม่ เพียงแต่แก้ไขเฉพาะส่วนให้เหมาะสมกับกาลสมัยและบริบทความสัมพันธ์ทางอำนาจต่างๆ ในสังคม
            และรู้ว่าญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 โดยที่ประชาชนของเขาไม่คิดว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญของผู้แพ้สงคราม
            แล้วเราก็พอรู้ – แม้เพียงเลาๆ ว่า – สถานะของรัฐธรรมนูญคือ การเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบรัฐ รูปแบบการปกครอง โครงสร้างและขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์และการถ่วงดุลระหว่างสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตย การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่การนำมาใช้ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
            ตามดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ที่สำรวจและจัดอันดับโดยหน่วยงานชื่อ “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต” ของนิตยสารอีโคโนมิสต์ (อันเป็นที่เคารพสักการะของพวกแดงซ้าย) ใช้ตัวชี้วัด 5 อย่างในการประเมินและให้คะแนน คือ กระบวนการเลือกตั้ง, การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวอาจสะท้อน-สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่เกณฑ์การให้คะแนนจริงๆ น่าจะอยู่ที่วิถีปฏิบัติในหัวข้อนั้นๆ
            ลองมาดูกรณีประเทศไทยในปี 2011 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 58 ด้วยคะแนน 6.55 น่าสนใจว่าตัวชี้วัดที่ฉุดดึงคะแนนความเป็นประชาธิปไตยไทย กลับเป็นเรื่องของ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, วัฒนธรรมการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ใช่กระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เสรีภาพที่เรียกหากันไม่หยุดหย่อน และยิ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลไม้พิษที่ชื่อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” ที่ใช้มา 5 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง
            แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงยุโรป, อเมริกา, ออสเตรเลีย เพราะคะแนนประเทศไทยยังต่ำกว่า ประเทศในละตินอเมริกาอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา ไปจนถึง โคลอมเบีย, เปรู ด้วยซ้ำ ในเอเชีย ถึงไม่เทียบกับ ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน คะแนนของเราก็ยังต่ำกว่าศรีลังกา (อันดับ 57 คะแนน 6.58) อยู่เล็กน้อย แต่เมื่อมองหาประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน ก็จะพบว่าอยู่ใต้เราทั้งหมด ทั้งอินโดนีเซีย (60/6.53), มาเลเซีย (71/6.19), ฟิลิปปินส์ (75/6.12), สิงคโปร์ (81/5.89), กัมพูชา (101/4.87), เวียดนาม (143/2.96), ลาว (156/2.10), พม่า (161/1.77) ส่วนบรูไนตกสำรวจ
            ทั้งโดยชีวิตจริงที่เราต่างก็ประสบ-สัมผัส-รับรู้ได้ ทั้งโดยการประมวล-วัดผลจากหน่วยงานที่ขายความน่าเชื่อถือของข้อมูล (ข้อมูลนะครับ ไม่ใช่ทัศนะ และอยู่ในเครือดิ อีโคโนมิสต์ ด้วยนะครับ-อย่าลืม) ต่างสอดคล้องตรงกันว่าระดับเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยไทยไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ก็ไม่วายมีพวกเสียจริตผลิตวาทกรรมออกมาล้างสมองพวกที่หัวด้านในกลวงไปหมดแล้วว่า ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยเท่าๆ กับเกาหลีเหนือ
            เกาหลีเหนือนั่นอยู่ก้นตารางครับ อันดับที่ 167 คะแนน 1.08
            ถ้าใครจะแย้งเรื่อง “เสียจริต” และ/หรือ “หัวด้านในกลวง” ผมแก้ใหม่ให้ตรงนี้เลยก็ได้ว่า พวกนี้คงโตมาแบบเก็บกด ในบ้านที่เลี้ยงดูกันมาแบบอำนาจนิยม ขาดความอบอุ่น ไม่ถูกปลูกฝังทั้งสติและปัญญา ถึงได้เรียกหาประชาธิปไตยไป สรรเสริญฮุนเซ็นไป (โอ้ว อยู่สูงกว่าเกาหลีเหนือตั้ง 60 กว่าอันดับ คะแนนก็มากกว่าตั้ง 4 เท่า เลยนะนั่น)
๐ 
รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ดี
            ส่วนที่ดีในรัฐธรรมนูญ 2540 คือกระบวนทัศน์ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งถือได้ว่าก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับเจตนารมณ์ในการสถาปนาประชาธิปไตยที่มั่นคง บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
            ปัญหาพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ 2540 คือการขัดกันในเชิงแนวคิดและปรัชญา ด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งตอบโจทย์เก่าแก่ของการเมืองไทย คือความไม่ต่อเนื่อง-ไม่มั่นคงของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายที่ได้ก็คือ การสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นคำตอบเดียวกับที่เคยเสนอกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 โดยมีช่วง 8 ปีของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นข้อพิสูจน์ว่าความต่อเนื่องมั่นคงทางการเมืองสามารถนำพาประเทศไทยก้าวไกลไปในหลายทิศทาง ปัญหาคือคำตอบของทศวรรษ 2520 อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับทศวรรษ 2540 และพฤติกรรมนักการเมืองไทยตลอดทศวรรษ 2530 ไม่ได้บ่งชี้ถึงโอกาสที่พวกเขาจะเป็นแนวหน้าของการพัฒนาประชาธิปไตยได้เลย
            ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์-ความคิดและจิตสำนึกทางสังคมในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ได้ฉายให้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคม และโอกาสของการเสริมสร้างพลังชุมชนควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจเพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืนกว่าของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เลือกเอาเสถียรภาพรัฐบาลและเสริมสร้างพลังอำนาจผู้นำฝ่ายบริหาร การเสริมสร้างพลังชุมชนก็กลายเป็นเรื่องของระบอบอุปถัมภ์ใหม่ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมกลายเป็นเรื่องของโครงสร้างการปกครองที่ทับซ้อนและอีลุ่ยฉุยแฉก ประชาสังคมก็อ่อนแอลงด้วยประชานิยมที่หยิบยื่นให้ตั้งแต่ยังไม่แบมือขอ
            ทุกอย่างเริ่มต้นมาตั้งแต่คดีซุกหุ้นในปี 2544 เมื่อทั้งการหว่านล้อมและการกดดันสารพัดวิธีการ โดยเฉพาะการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อ “ให้โอกาสทักษิณทำงาน” ได้แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็เพื่อที่จะฉีกมันด้วยมือเราเอง
            เมื่อเปรียบเทียบกัน รัฐธรรมนูญ 2550 แม้ไม่มีจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อให้ได้มา ไม่มีกระบวนการของการมีส่วนร่วมแต่ต้นทาง ไม่มีเจตนารมณ์ยิ่งใหญ่หรือกระบวนทัศน์กว้างไกล แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นพันธสัญญาจากการทำรัฐประหารที่มีประชาชนเห็นด้วย 84 เปอร์เซนต์ ผ่านการเห็นชอบด้วยประชามติ 14.7 ล้านคน เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-ที่เคยถูกฉีกทึ้งทำลายมาก่อนหน้านั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองและขยายขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปกว้างขวางยิ่งกว่าฉบับเดิม และอุดชันทุกรูโหว่ที่เปิดช่องให้อำนาจของเสียงข้างมากในรัฐสภาล้ำเข้าไปแทรกแซงเขตแดนอำนาจของฝ่ายและองค์กรอื่นๆ
            ความพยายามใดๆก็ตามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้ที่ให้การรับรองรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงไม่ได้แตกต่างการทำรัฐประหารที่เริ่มด้วยการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แต่ที่แย่กว่าการทำรัฐประหารครั้งหลังสุดก็คือ เพื่อสร้างอำนาจสถาปนาใหม่ที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
๐ 
จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ทุกเหตุการณ์ที่อยู่ในปลักโคลนของการต่อสู้เพื่อทักษิณ ล้วนพิสูจน์ชัดเจนว่าเขาต้องการกลับมาอย่างผู้พิชิต และจะไม่มีวันรามือตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่
            รัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบได้กับธงผืนใหญ่ที่ถูกชักชูขึ้นประกาศเสรีภาพเหนือระบอบทักษิณ และนับจากนี้ไป ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะยังชักชูธงผืนนี้กันต่อไป หรือดูดายให้เขาปลดลง
7 สิงหาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555)

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (3)

ปีพ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งที่(แม้)ผมไม่ได้เขียนเรียกหารัฐประหาร แต่(ในที่สุด)ก็(เสมือนหนึ่งว่า)สนับสนุนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน อยู่ดี 
            นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ข้อเขียนของผมบนพื้นที่ตรงนี้ [ภายใต้ชื่อคอลัมน์ “(I Can’t Get No) Satisfaction และยังอาจนับย้อนหลังไปถึงปลายๆ ยุคของ “ยิ้มทั้งน้ำตา”] โฟกัสอยู่ที่การต่อต้านทักษิณและระบอบทักษิณ ชิ้นที่ถือว่าเป็นการชักชูธงขึ้นมาให้เห็นกันชัดๆ เลยก็คือ “ฟักแม้ว” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 4/2548) ที่เขียนเปรียบเปรยและล้อกันไประหว่างชื่อพืชผักสวนครัว กับคำพ้องเสียงสองภาษา (อังกฤษ-ไทย, ตามลำดับ)
            โดยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับถึงบทความเมื่อกลางปี 2539 เรื่อง “Look Who's Talking Too (Much)” (สีสัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 8/2539) ที่ผมเคยสาธยายเอาไว้ชัดๆว่า คนอย่างทักษิณลวงโลกอย่างไร โกหกรายวันกันหน้าด้านๆ ขนาดไหน ท้ายเรื่อง “ฟักแม้ว” ผมก็บอกท่าทีของผมไว้ชัดและตรงว่า การแก้ปัญหา “สารพิษในฟักแม้ว” ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือวิธีที่เกษตรกรในบางพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรและอุทัยธานีได้ทำเป็นแบบอย่าง-โดยการรื้อถอนทำลายทั้งรากทั้งโคนจนหมดแปลง
            แปลชัดๆ ก็คือ เราปลูกเองได้ เราก็(ควรจะ)รื้อถอนทำลายเองได้
            ต่อมา ในเรื่อง “We Shall Overcome” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 8/2549) ผมมองภาพที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินคล้องแขนกันไปเปิดพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมประกาศเจตนารมณ์ “ทักษิณออกไป” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 แล้วนึกย้อนไปถึงเพลงที่ พีต ซีเกอร์ เรียบเรียงขึ้นใหม่จากเพลงกอสเพลตอนต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งกลายมาเป็นเพลงแห่งการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ และกลายเป็นเพลงเอกในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่โลกได้รู้จักจากการขับขานของ โจน บาเอซ ในการเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ในวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ที่มี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำ
            ผมโยงต่อเหตุการณ์และเพลงนั้นมาถึงเพลง “The Times They Are A-Changin’” กับท่อนที่ขึ้นต้นว่า “The line it is drawn, the curse it is cast” เพื่อจะบอกว่า “เส้นที่ไม่อาจหลบเลี่ยงถูกขีดไว้แล้ว” 
            เพียงแต่ว่า เมื่อเส้นนั้นปรากฏแสดงขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 มันไม่ใช่อย่างที่ผมหรือใครๆหลายคนนึกหวัง แต่เราก็ยอมรับมัน
๐ 
Credit:  chorchangsinging.blogspot.com
ผมนึกหวังอะไร? ยอมรับอะไร?
            ใน “สีสัน” ฉบับเดือนตุลาคม ปีนั้น (ปีที่ 18 ฉบับที่ 3/2549) ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง “Comes A Time” ว่า “สิ่งที่ปรากฏแสดงในรูปของรถถัง กองกำลัง และการยึดอำนาจ อาจไม่สวยงามเท่าความนึกฝันของคนที่ต่อสู้เรียกร้องเอาอนาคตของประเทศออกมาจากอุ้งมือทรราชจำแลง ที่วาดหวังว่าพลังมหาชนจะสามารถกำหนดลากเส้นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เอง แต่ในบริบทแคบๆ ของการทำรัฐประหาร ปฏิบัติการ 19/9/49 เป็นปฏิบัติการจริงที่งดงาม
            “ไม่ได้งดงามแต่ในเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งปราศจากการต่อสู้ปะทะ และการสูญเสียเลือดเนื้อ ไม่ได้งดงามด้วยดอกไม้และความชื่นชมยินดีของผู้คนที่เปลี่ยนบรรยากาศภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ยังงดงามอย่างยิ่งในแง่ที่สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด”
            มีข้อโต้แย้งมากมายจากคนที่ปฏิเสธรัฐประหาร โดยเฉพาะฟากฝั่งของทักษิณ ว่าสถานการณ์นองเลือดเป็นแค่จินตนาการของคนที่กวักมือเรียกทหารออกมายึดอำนาจ แต่ผมก็ยืนกลับไปตามที่เขียนไว้ในบทความเดียวกันนั้นว่า “สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด แต่ยังหมายความด้วยว่า เพราะมันไม่มีโอกาสได้เกิด”
            สองปีต่อมา เหตุการณ์เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเสมือน “ภาพจำลอง” ที่อาจพิสูจน์แสดงได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2549 ผมเขียนไว้ในเรื่อง “And a new day will dawn…” (สีสัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 3/2521) ว่า
            “7 ตุลาคม 2551 คือการฉายภาพต่อจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นภาพที่ผู้คัดค้านการทำรัฐประหารล้วนไม่คิดและไม่เชื่อว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เพียงเพราะว่ามันยังไม่เกิด
            “7 ตุลาคม 2551 คือภาพที่ฉายยืนยันการสถาปนาขึ้นมาของรัฐตำรวจ ที่ก่อร่างสร้างขึ้นอย่างมั่นคงนับจากการเถลิงอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นต้นมา
            “7 ตุลาคม 2551 ยังพิสูจน์ถึงธาตุความสามานย์สูงสุดของระบอบทักษิณที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อแสวง-รักษาอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน โดยปราศจากความรู้สึกผิดบาปโดยสิ้นเชิง”

            ที่จริง ผมควรจะยกมาเพียงแค่นี้ สำหรับประเด็นการรัฐประหารในแง่ที่ว่า “สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด” แต่เมื่ออ่านอีกบางย่อหน้าถัดไป...
            “การซุกหุ้น หลบเลี่ยงภาษี แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ขัดแย้ง แลกเปลี่ยนประโยชน์ชาติให้ได้ประโยชน์ตน ข่มขู่คุกคามทุกเสียงคัดค้าน อุ้มฆ่าทุกผู้คนที่ขวางทางและเปิดโปง วิสามัญฆาตกรรมนับพันศพ จุดไฟหายนะในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือความเป็นไปในภาวะการณ์หยั่งรากลึกของระบอบทักษิณที่ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกับทุนนิยมสามานย์โลกในนามโลกาภิวัตน์
            “ภายใต้รัฐบาลหุ่นที่นิยามประชาธิปไตยไว้ในกรอบของการเลือกตั้ง มีความชอบธรรรมด้วยเสียงข้างมากในสภา ทางหนึ่ง-มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างทุกคดีความที่ก่อไว้ทั้งในอดีตและเกิดขึ้นใหม่ อีกทางหนึ่ง-เป็นความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะปล้นชาติขายแผ่นดินกันต่อไป ไม่เว้นกระทั่งอธิปไตยเหนือดินแดน
            “จากรัฐบาลทักษิณ ถึงสมัคร และสมชาย ไม่เคยเลยที่รัฐบาลจะเปิดทางให้กับการแสวงหาความจริง ไม่เคยเลยที่จะละวางการแสวงหาประโยชน์ ไม่เคยเลยที่จะเจรจากระทั่งนำพาต่อการคัดค้าน มีแต่กระบวนการปกปิดบิดเบือน มีแต่กระบวนการสร้างข่าวเบี่ยงเบนความสนใจ มีแต่กระบวนการข่มขู่คุกคาม มีแต่ถือเอาทุกคนทุกฝ่ายที่คัดค้านเป็นศัตรู
            “กระทั่งสามารถเข่นฆ่าปราบปรามทำลายล้างอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ”

            ผมก็ยิ่งแน่ใจว่า จาก 2549 ถึง 2551 และ 2555 หกปีผ่านไป เรายังไม่ได้พยายามหาทางออกจากห้วงเหวของความอับจนและสิ้นหวัง
๐ 
ที่จริง แม้ผมจะยอมรับ – เหมือนที่อาจารย์เสน่ห์ จามริกยอมรับ – ว่าการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่ (หากเราไม่ปรารถนาจะเห็นภาพคนไทยฆ่ากันเอง) และแอบหวังอยู่บ้างว่า “รัฐาธิปัตย์” ที่สถาปนาขึ้นมาหลังการยึดอำนาจ อย่างน้อยที่สุดจะสามารถทำให้สังคมแยกถูกออกจากผิด
            แต่ความรู้สึกที่ไม่แปลกปลอมเลยกลับเป็น “ความว่างเปล่า” ตามชื่อบทความที่ผมเขียนให้นิตยสาร Image ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้น (ตีพิมพ์ในฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
            “ระหว่างสิบเก้าล้านหรือสิบหกล้านเสียงที่เลือกพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมามีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ กับกว่าร้อยละแปดสิบของการสุ่มสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
            “ระหว่างความตึงเครียดแห่งการเผชิญหน้าทางการเมืองภายใต้บรรยากาศของประชาธิปไตย กับบรรยากาศราวกับงานเฉลิมฉลองภายใต้กฎอัยการศึก
            “ระหว่างการคัดค้านต่อต้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งถูกตอบโต้-ปิดกั้น-คุกตาม ถึงขั้นปะทะ-ทำร้าย กับการต่อต้านคัดค้านความไม่ชอบธรรมของคณะทหารที่มาด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งถูกควบคุมใต้กรอบของการขอความร่วมมือและเงื่อนไขที่จะไม่ลุกลามไปสู่การ เคลื่อนไหวต่อต้านที่หวังผลทางการเมือง
            “ระหว่างการบิดเบือน-ทำลายกลไกและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในนามประชาธิปไตย กับการฉีก-ยกเลิกรัฐธรรมนูญในนามการยึดอำนาจ
            “ระหว่างการทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่ประชาชนให้ความไว้วางใจสูงสุด กับคำมั่นสัญญาของการรื้อ-สร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสขึ้นมาใหม่ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ เพียงหยิบมือเชื่อมั่น
            “ระหว่างการนองเลือดในครรลองของประชาธิปไตย กับการยึดอำนาจที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ
            “ระหว่างการรัฐประหารที่นำประเทศไทยถอยหลังไปสิบห้าปี กับการใช้อำนาจของเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จที่นำประชาธิปไตยถอยหลังมาจนสุดทางไป
            “ระหว่างการรักษารูปแบบ-วิธี-กระบวนการของประชาธิปไตยด้วยทุกๆ ต้นทุนที่มีอยู่ กับการยอมจำนนต่อการยึดอำนาจในฐานะทางออกเดียวที่เหลืออยู่ของสังคม เพื่อเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่
            “ระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น มากด้วยคำถาม หลักการ ฐานคิด และคติที่ต่างกัน
            “และระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น สำหรับบางคน ยังแทรกคลุมด้วยความรู้สึกที่ว่างเปล่า”

๐ 
เกือบหกปีผ่านไป กับทุกๆ เหตุการณ์ที่อาจไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดจะมีในบ้านเมืองของเรา คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึก “ว่างเปล่า” ไม่แตกต่างกัน
            เป็น “ความรู้สึกว่างเปล่า(ที่)ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนความไม่มี หากบ่อยครั้งที่มักสั่งสมจนกระทั่งสามารถหยั่งถึง หรือผุดบังเกิดขึ้นในภาวะซึ่งคุณค่าเดิมที่เรามี ไม่สามารถยึดถือไว้ได้ ในภาวะซึ่งสิ่งที่เราสามารถยึดเหนี่ยว ไม่อาจใช้เกาะเกี่ยวอีกต่อไป”
            สิ่งนั้นมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ความถูกต้อง-ดีงาม”
6 กรกฎาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555)

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (2)

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่บางครั้งชื่อผม – หรือข้อเขียนของผม – ถูกนำไปมัดรวมกับการเรียกหาหรือสนับสนุนรัฐประหาร
            ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสิ่งที่ผมเพิ่งเขียนลงคอลัมน์นี้ (ปีที่ 23 ฉบับที่ 6) ไปว่า “ในสายตาของเพื่อนที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันมาบางคน – ซึ่งบัดนี้ยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง – ผมคงกลายเป็นรอยัลลิสต์ไปแล้ว”
            แต่ไม่ว่าจะถูกประทับตรา/ตีความอย่างไร ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไข/อธิบาย เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เขียน (และเผยแพร่-ตีพิมพ์) ไปนั้น ได้กลายเป็น “สิ่งที่พ้นจากมือเราไป” ซึ่งผมเคยขยายความเอาไว้ว่า...
            แต่เมื่องานหนึ่งๆ ผ่านจากมือผู้สร้างออกไปสู่สาธารณชน ก็เป็นอีกบทหนึ่งแล้ว อีกมิติหนึ่งแล้ว
เป็นบริบทของผู้บริโภคที่จะรับหรือไม่รับตามจริตและความต้องการ-พอใจที่จะเสพของตน เป็นมิติที่นักวิจารณ์จะประเมินคุณค่าเอาตามภูมิหลัง-การรับรู้-การตีความของตน ความคิดความเห็นเช่นนี้คือสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งยกระดับเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสวงหาทางปัญญาผ่านการตั้งคำถามในทุกด้านและทุกเรื่อง มาตั้งแต่นครรัฐเอเธนส์ก่อนสมัยโสกราตีส ซึ่งสะท้อนความชอบธรรมผ่านการเปรียบเปรยว่า “โดยไม่ต้องเป็นช่างก่อสร้าง เราก็สามารถบอกได้ว่าบ้านหลังนี้ดีหรือไม่ดี เพราะเราเป็นผู้อยู่”
            ในท่วงทำนองคล้ายกันนี้ บ็อบ ดีแลน บอกเอาไว้ในเพลง Subterranean Homesick Blues ว่า “You don’t need a weather man to know which way the wind blows”
            งานชิ้นหนึ่งอาจเป็นที่ตอบรับหรือปฏิเสธ สำเร็จหรือล้มเหลว ตีความถูกต้องหรือเข้าใจผิดพลาด เป็นวิถีของการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นไปเช่นนั้นเอง เราอาจจะไม่ยอมรับ แต่ไม่จำเป็นต้องปกป้อง เราอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความและประเมินค่า แต่ไม่จำเป็นต้องขยายความและชี้นำ
            สำหรับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ งานที่พ้นมือเขาไปแล้วจะสื่อสารด้วยตัวของมันเอง เขาไม่เห็นด้วยกับนักวิจารณ์บางคนและการตีความบางด้านในนิยายของเขา แต่เขาก็ไม่ได้ถือเป็นภาระที่จะต้องอธิบายให้ใครๆ เข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการเสนอ เขาเคยบอกว่า “หลังจากที่ผมเขียน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ เสร็จ ผมก็ทำลายบันทึกและเอกสารประกอบไปหมด เพื่อว่าจะได้ไม่มีร่องรอยของมันหลงเหลืออยู่เลย โดยวิธีนั้นนักวิจารณ์จะต้องตีค่าหนังสือตามคุณค่าของมันเองและไม่ต้องไปมองหากระดาษต้นร่าง” 
๐ 
Credit: http://sanskritresearchingujarat.org/gallery.html
แต่เมื่อได้รับการบอกกล่าวว่า ผมถูกพาดพิงย้อนหลังไปไกลถึงปี 2534 ด้วยข้อความว่า “คอลัมนิสต์บางคนของ "สีสัน" ถึงกับเชียร์ให้ทหารออกมาแทรกแซงการเมืองด้วยท่าทีแบบ "โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร" ซึ่งเป็นการตีความที่พอคุ้นอยู่ แต่ถ้าหากข้อเขียนไม่กี่บรรทัดฝังใจบางคนได้นานขนาดนั้น ผมก็น่าจะลองกลับไปอ่านดูสักครั้ง
            “สีสัน” ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 (ธันวาคม 2533) คือที่มาของข้อความข้างบน ผมเลือกอัลบั้ม “โนพลอมแพลม” ของ ยืนยง โอภากุล เป็น 1 ใน “5 ชอบ” ประจำปีนั้น ด้วยคำอธิบายเต็มๆ ดังนี้
            สิ้นศรัทธาที่เคยมีเคยฝากไว้กับ “น้า” เมื่อครั้งเทป “ทับหลัง” เสียแล้ว งานเดี่ยวชุดที่สี่-แต่เป็นชุดแรกในชื่อจริงของ แอ๊ด คาราบาว จึงตีเข้าแสกหน้ารัฐบาลชาติชายและปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบเนื้อๆ งานดนตรีใช้ได้ เนื้อหาชัด ตรง สะใจ นับได้ว่าเป็นเพลงการเมืองที่มีพลังเด่นชัดที่สุดในรอบหลายปี เพลงที่แฝงนัยไว้ได้แรงที่สุด คือ “ภควัทคีตา” ฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง
            ไม่ตัดไม่ทอนอะไรเลยนะครับ ถ่ายทอดต่อมาเต็มๆ ให้ตีความกันตามอัธยาศัย
            ช่วงนั้นผมไม่ได้เขียนเรื่องดนตรีให้กับ “สีสัน” นานแล้ว (เพราะข้ามฝั่งไปเขียนเรื่องโฆษณา) แต่ยังมีงานเขียนเกี่ยวกับดนตรีอยู่ใน “สารคดี” และคลับคล้ายคลับคลาว่าผมไม่น่าพลาดวิจารณ์งานของแอ๊ดชุดนี้
            ไปค้นเจอในฉบับที่ 73 ปีที่ 7 (มีนาคม 2534) ขอตัดตอนมาเฉพาะที่เขียนถึงเพลง “ภควัทคีตา” ก็แล้วกัน...
            เพลงที่แฝงนัยการเมืองเอาไว้อย่างน่ากลัวก็คือ “ภควัทคีตา” ที่จับใจความตอนหนึ่งมาจากมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” เพลงนี้ต้องมีเจตนาแน่นอน และยากที่จะให้เข้าใจเป็นอื่นไปได้ นอกจากเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง และวิถีทางที่ต้องใช้กำลังก็อาจเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรมได้ “รบเถิดอรชุน หากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ยังรอท่านอยู่ ยังเปิดประตูรอผู้ปราชัย แม้หากว่าท่านชนะ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ ทุกพงพื้นปฐพี รอให้ท่านเข้าไปครอบครอง” ไม่สำคัญหรอกว่าแอ๊ดจะชี้ชวนให้ใครรบ และไม่สำคัญว่าด้วยว่าแอ๊ดจะมองการเมืองอย่างไร สนับสนุนวิถีทางไหน สิ่งที่ผมหมายความเอาไว้ในคำว่า “น่ากลัว” ก็คือ ภายใต้รัฐบาลที่มีพลเอกชาติชายเป็นผู้นำ ได้ทำให้คนระอากับการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที และทหารกับการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจและใช้อำนาจทางการเมือง ก็จะเป็นทางเลือกแรกเสมอ
            คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก่อนที่ “สารคดี” ฉบับนั้นจะวางจำหน่าย แต่ต้นฉบับน่าจะเขียนเสร็จและส่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์
            เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความ ผมไปค้น “ลลนา” ในช่วงเดือน-ปีใกล้ๆ กัน ด้วยคลับคล้ายคลับคลาว่าได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ หลังเกิดเหตุการณ์ รสช และพบในฉบับที่ 438 (ปักษ์แรก เมษายน 2534) เฉพาะที่เกี่ยวกับเพลง “ภควัทคีตา” ผมเขียนเอาไว้ว่า...
            ถึงที่สุดแล้ว แอ๊ดก็ไปพลิกเอาเรื่องราวในมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” ตอนหนึ่งมาเขียนเป็นเพลง “ภควัทคีตา” เรื่องราวตอนที่กฤษณะหว่านล้อมให้อรชุนทำศึกย่อมมีความนัยแน่นอน ผมเคยเขียนลงใน “สีสัน” ว่าฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง
            (แล้วผมก็เขียนต่อไป-อีกหลายย่อหน้า-ว่า) ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีใครเสียอกเสียใจกับการล้มลงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกันเท่าไรนัก ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผมเขียนลง (ใน “สารคดี”) ไปว่า แอ๊ดสามารถสะท้อนอารมณ์ร่วมทางการเมืองของคนไทยจำนวนมากใต้รัฐบาลชุดก่อนได้ดี ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผมจับฉวยมาได้จากงานเพลงของแอ๊ดนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวแอ๊ดเองจะมองการเมืองอย่างไร สนับสนุนวิถีทางไหน จุดยืนเขาเคลื่อนไปแค่ไหน นับจากที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนครั้งแรกในงานเพลงกับเทปชุดที่หกของคาราบาว ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์วันที่ 9 กันยาฯ อยู่มาก ตั้งแต่ชื่อเทป vol.6 ซึ่งอ่านกลับหัวได้ว่า 9 กย. ผ่านมาถึงการเรียกร้องหา “ผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง” ในเทปชุด 7 “ประชาธิปไตย” และ “น้าคือความหวัง” ในเทปชุดที่ 9 กระทั่งถึงคราวนี้กับยุคสมัยของ “รัฐบาลตัวแสบ” ซี่งการตัดสินใจแผลงศรของอรชุนมีความชอบธรรมอยู่เต็มเปี่ยม ประเด็นสำคัญที่ว่านั้นก็คือ รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้คนระอากับธุรกิจการเมืองที่แอบแฝงมาในความเป็นประชาธิปไตย จนพาลมองไม่เห็นความหมายของประชาธิปไตยไปเลย และทหารกับการใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะเป็นทางเลือกเดียวที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง 
            อาจจะสรุปลงไปได้ด้วยซ้ำว่า ประชาชนคนไทยมีความผูกพันกับสถาบันกองทัพแนบแน่นและลึกซึ้งกว่าสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ คือการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
            แม้แต่คนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อน และยังคงยืนหยัดในหลักการบนจุดยืนเดิมอย่างเหนียวแน่น หลายคนก็จะมีความรู้สึกใกล้เคียงกับที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนเอาไว้ใน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “กับการถอยหลังกลับไปเตรียมนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งของระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นเรื่องที่ทำได้แค่เฝ้าดูเท่านั้น ถ้าจะถามว่าทำไมไม่ต่อสู้คัดค้าน ก็ตอบได้ว่าไม่รู้ว่าจะสู้เพื่ออะไร เพื่อใคร ถ้าจะถามว่าสิ้นหวังหรือ อาจจะตอบได้ว่าไม่ แต่ถ้าถามต่อไปว่ายังจะมีหนทางออกอื่นหรือไม่ แทนที่จะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ กลับไปกลับมาระหว่างการเลือกตั้งกับการยึดอำนาจ ก็ตอบได้แค่ว่าไม่รู้เหมือนกัน”

๐ 
ที่มาที่ไปของการย้อนกลับไปอ่านงานเขียนของตัวเอง มีคำตอบอยู่แล้วตอนต้นเรื่อง
            แต่เหตุผลของการเอากลับมานำเสนออีกครั้ง นอกเหนือจากคำตอบแบบฮาๆว่า “เอาของเก่ามาขอรับค่าเรื่องใหม่” แล้ว ก็คงเป็นเพราะว่า มันไปสอดคล้องกับตอนท้ายบทความชื่อ Helplessly Hoping (1) ที่ผมเขียนไว้เมื่อเร็วๆนี้ (“สีสัน” ปีที่ 23 ฉบับที่ 7) ว่า... 
            สุดท้ายเราก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรอุบาทว์ของฉ้อฉลทุจริต ที่นำไปสู่การรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเพื่อให้นักเลือกตั้งกลุ่ม-ตระกูลเดิมๆ กลับเข้ามาตักตวงแสวงหาผลประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง 
            ครึ่งปีเศษของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยมาสู่จุดนั้นซ้ำอีก จุดแห่งความเหลืออดเหลือทนต่อความฉ้อฉลและเหิมเกริม โดยมีความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุดเป็นตัวเร่ง แต่ก่อนที่จะด่วนเรียกหาหรือกระทั่งขานรับการรัฐประหารที่อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความผิดหวังซ้ำซาก เราอาจจะต้องถามตัวเองกันจริงๆอีกสักครั้งว่า
            เราไม่อาจทำอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว ใช่ไหม?

            ขอย้ำไว้ตรงนี้ครับว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตอบ
4 มิถุนายน 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2555)







วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (1)

Credit: www.bangkokbiznews.com
การทลายลงของโครงสร้างชานชาลาสถานีย่อยในโครงการโฮปเวลล์ บริเวณหน้าวัดเสมียนนารี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะเจาะพอดี 
            เหมาะเจาะพอดีในแง่ที่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ทั้งฉายย้อนเหตุการณ์ในอดีต สะท้อนเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอาจยังส่องผ่านไปยังเหตุการณ์ในอนาคตได้ด้วย
๐ 
โฮปเวลล์เป็นโครงการใหญ่ยักษ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ วาดฝันกันเอาไว้ว่าจะยกระดับทางรถไฟขึ้นไปวิ่งเหนือพื้นผิวถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะตามจุดตัดกับทางรถยนต์ โดยสร้างคร่อมแนวทางรถไฟสายหลักในกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 60.1 กิโลเมตร
            บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) บริษัทในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ของกอร์ดอน วู เป็นผู้ได้สัมปทานที่ประเมินมูลค่าการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท (มูลค่าในขณะนั้น) และต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐเป็นรายปี ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี รวมเป็นเงินกว่า 50,000 ล้านบาท แลกกับการเก็บค่าผ่านทางถนนยกระดับ สัมปทานการเดินรถไฟฟ้าบนทางรถไฟยกระดับ การใช้พื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่รถไฟตลอดสองข้างทาง รวมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่
            ไม่ใช่ว่าโครงการยกระดับทางรถไฟจะไม่ดี แต่ปัญหาพื้นฐานของประเทศนี้ก็คือ หนึ่ง – ไม่มีการวางแผนแก้ปัญหา(ใดๆ)อย่างเป็นองค์รวม สอง – การผลักดันโครงการ(ใดๆ)เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-เฉพาะเรื่อง-เฉพาะจุด ผล(ประโยชน์ตอบแทนที่คาดว่าจะได้)รับ สำคัญกว่าผลลัพธ์(ในการแก้ปัญหา)เสมอ
            ดังจะเห็นได้จากการแก้ปัญหาจราจร-หรือเพื่อหาเสียงก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็คิดกันง่ายๆ แค่ว่า ถนนไหนแยกไหนรถติดมาก ก็สร้างสะพานลอยข้ามแยกไปเรื่อย (สร้างได้ไม่กี่ปีต้องรื้อทิ้งก็มีมาแล้ว) จนกระทั่งการสร้างสะพานลอยไม่น่าตื่นเต้น (เพราะใช้งบประมาณไม่มากพอ) การเจาะอุโมงค์ทางลอดก็กลายเป็นทางเลือกใหม่ โดยไม่คำนึงว่าสุดท้ายแล้ว ผิวจราจรที่เสียไปให้กับช่องอุโมงค์ได้สร้างปัญหาสาหัสสากรรจ์กับรถบนช่องทางที่เหลือขนาดไหน
            โครงการโฮปเวลล์ก็เหมือนกัน วาดฝันกันง่ายๆ แบบไปตายเอาดาบหน้า ให้ได้ค่าอนุมัติโครงการมาก่อนก็พอใจ หลายปีผ่านไป หลายรัฐบาลผ่านมา โครงการนี้กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของนักการเมือง ทั้งที่จะผลักดัน สานต่อ หรือยกเลิก กระทั่งในที่สุดก็เหลือแต่เพียงแนวตอม่อขนาดใหญ่ เรียงกันเป็นอนุสาวรีย์แห่งความฉ้อฉลของนักการเมืองและระบบการเมืองไทย (ยาวที่สุดในโลกด้วย – เผื่อใครจะรู้สึกภูมิใจ) กับ “ค่าโง่” หมื่นกว่าล้านบาทที่คนไทยต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
            รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมผู้ผลักดันโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งมาเซ็นสัญญากับโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุครบ 47 ปีในวันเดียวกันนั้นเอง ชื่อ มนตรี พงษ์พานิช 
๐ 
รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาเติมเต็มความหวังที่ว่า เราจะได้เริ่มต้นยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” กันเสียที
            จากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธคำเชิญจากหัวหน้าพรรคการเมืองให้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 พลเอกชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ชนะเลือกตั้ง มี ส.ส. มากที่สุด ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบ 12 ปีที่มาจากการเลือกตั้ง
            แต่ในเวลาเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาลพลเอกชาติชายไม่เพียงทำลายความหวังทั้งหมดที่ผู้คนวาดหวังไว้จาก “ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” แต่ยังทำลายรากฐานความเชื่อมั่นและโครงสร้างการพัฒนาประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่เพียรสร้างกันขึ้นมาใหม่บนความอดทนร่วมกันตลอดช่วงเวลา 8 ปี 5 เดือนในยุคที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี
            คำว่า “ความอดทนร่วมกัน” คำว่า “เพียรสร้างกันขึ้นมาใหม่” เป็นถ้อยคำซึ่งผู้ที่ไม่ทันได้มีประสบการณ์ร่วมในความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง-สังคมช่วงปี 2516 เป็นต้นมา อาจมองไม่เห็นความหมายและความจำเป็น แต่สำหรับผู้ที่เติบโตมาในระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย – โดยไม่ปิดกรอบความคิดของตัวเองไว้หลังกำแพงแห่งฝักฝ่าย – สามารถตระหนักแน่แก่ใจตัวเอง
            ประเทศไทยในพุทธศตวรรษใหม่ ปี 2500 เป็นต้นมา เริ่มต้นด้วยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดฉากบทบาทและการช่วงชิงอำนาจในหมู่คณะราษฎรที่ดำรงมาตลอด 25 ปีนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ข้ออ้างสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ก็คือการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามที่ประชาชนเรียกร้อง เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์
            แต่การเลือกตั้งในตอนปลายปีนั้น – ก็เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งต่อๆมา – ที่เป็นเพียงพิธีกรรมและกระบวนการรับรองความชอบธรรมให้กับผู้นำทหาร ซึ่งส่งต่อกันระหว่างจอมพลถนอม กิตติขจร ไปยังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลับมายังจอมพลถนอมอีกครั้ง ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ พ.ศ. 2501 มาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
            ประชาธิปไตยที่ได้มาด้วยการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนมีอายุไม่เต็ม 3 ปีดี มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งสองคน (มรว.เสนีย์ ปราโมช, มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) คณะรัฐมนตรี 4 คณะ มีระยะเวลาบริหารประเทศรวมกันเพียง 1 ปี 8 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันเดียวกัน
            ช่วงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม ประเทศของเราไม่ได้มีปัญหาเพียงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ยังมีฝ่ายขวาที่สูญเสียอำนาจในเหตุการณ์ 14 ตุลา กับฝ่ายขวาที่เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายซ้ายต่างแนวทาง แม้กระทั่งฝักฝ่ายต่างๆ ในกองทัพ ซึ่งเห็นได้จากการยึดอำนาจซ้ำของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปี 2520 และความพยายามก่อกบฏ 3 ครั้ง ในปี 2520, 2524, 2528 ทั้งยังถูกท้าทายจากทฤษฎีโดมิโนที่ล้มเรียงกันมาจากเวียดนาม-กัมพูชา-ลาว
            เวลา 8 ปี 5 เดือน (มีนาคม 2523-สิงหาคม 2531) ภายใต้การนำของพลเอกเปรม ด้านหนึ่งสะสม “ความน่าเบื่อ” ให้กับคนรุ่นๆ ผมที่ยังอยากจะเห็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นการพัฒนาทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่ก้าวหน้า-เป็นธรรม-ฉับไวยิ่งขึ้น ก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง “ความน่าเบื่อ” ก็สะท้อนความสำเร็จในการนำประเทศของพลเอกเปรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ด้วย
            สภาวะ “น่าเบื่อ” ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากว่าพลเอกเปรมไม่สามารถกระชับอำนาจและสร้างเอกภาพขึ้นในกองทัพ ไม่มีนโยบาย 66/2523 ที่ใช้การเมืองนำหน้าการทหารเอาชนะการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ ไม่มีนโยบายใต้ร่มเย็นที่นำสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีกุศโลบายทางการต่างประเทศที่สามารถหยุดกองทัพเวียดนามเอาไว้ก่อนจะยกพลข้ามแม่น้ำโขง และลบทฤษฎีโดมิโนทิ้งไป
            ในยุคพลเอกเปรมอีกเช่นกัน ที่ประเทศไทยฝ่าข้ามปัญหาเศรษฐกิจโลกและวิกฤตค่าเงินบาทมาได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก (และไม่มีใครได้ประโยชน์บนความทุกข์ของคนทั้งประเทศ) ทั้งยังสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม-การลงทุน-การส่งออกให้รองรับกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ จนกลายเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ในขณะเดียวกันการสร้างเสถียรภาพและรักษาความต่อเนื่องของวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ก็ได้ปูทางความหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนบนแผ่นดินนี้ หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาเกือบ 50 ปี
            แต่ความน่าเบื่อในปีท้ายๆ ของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เทียบไม่ได้เลยกับความเหลืออดเหลือทนที่คนจำนวนมากมีต่อความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเต็มใบของรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” ที่มีพลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี
            ซึ่งอาจเปรียบเปรยให้เห็นภาพอีกแบบได้จากบทเพลง “ประชาธิปไตย” ที่วงคาราบาวร้องหา “ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” เอาไว้เมื่อปี 2529 กับเพลง “ภควัทคีตา” ที่แอ๊ด คาราบาวเรียกร้องว่า “รบเถิดอรชุน” ในปี 2533
            และแล้ว วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 “อรชุน” ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ปิดฉากประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาลงไปอีกวาระ 
๐ 
ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนักในความฉ้อฉลและเหิมเกริมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น 2 ปี 6 เดือนในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หรือ 5 ปี 7 เดือนในยุคพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร 
            ทั้งไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนักในการขานรับการยึดอำนาจของ รสช. เมื่อปี 2534 กับการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อปี 2549 
            แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรอุบาทว์ของการฉ้อฉลทุจริต ที่นำไปสู่การรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเพื่อให้นักเลือกตั้งกลุ่ม-ตระกูลเดิมๆ กลับเข้ามาตักตวงแสวงหาผลประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง 
            ครึ่งปีเศษของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยมาสู่จุดนั้นซ้ำอีก จุดแห่งความเหลืออดเหลือทนต่อความฉ้อฉลและเหิมเกริม โดยมีความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุดเป็นตัวเร่ง แต่ก่อนที่จะด่วนเรียกหาหรือกระทั่งขานรับการรัฐประหารที่อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความผิดหวังซ้ำซาก เราอาจจะต้องถามตัวเองกันจริงๆอีกสักครั้งว่า
            เราไม่อาจทำอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว ใช่ไหม?
3 มีนาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2555)