วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

A Man and a Woman (…20 years later)


ผู้ชาย ผู้หญิง ความรู้สึก ชีวิต และความรัก

คล็อด เลอลูช พูดถึงการทำหนังของเขาว่า “ผมสนใจเพียงสิ่งเดียว – ผู้คน แล้วก็ความรู้สึก ชีวิต และความรัก”
         ปี 1966 เลอลูชถ่ายทอดความสนใจของเขาออกมาใน A Man and a Woman หนังโรแมนติค ที่สุดเรื่องหนึ่งของทศวรรษ 1960
ผู้ชายคนหนึ่ง พาลูกชายไปส่งที่โรงเรียนประจำในโดวิลล์ หลังจากสนุกสนานด้วยกันอย่างเต็มที่ในวันหยุดกับการขับรถบนหาดทราย ครูที่โรงเรียนแนะนำให้เขารู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอพาลูกสาวกลับมาส่งเข้าโรงเรียนเหมือนกัน และกำลังจะกลับปารีส
            เขาขับรถไปส่งเธอถึงที่พัก ระหว่างทางเขารู้จักเธอมากขึ้นจากเรื่องราวที่เธอเล่าให้ฟัง ความสนใจก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ และเมื่อถึงที่หมาย เขาก็ไม่ลืมจดจำที่อยู่ของเธอไว้
            เลอลูชวางโครงเรื่องเอาไว้ง่ายๆ คนสองคนพบกันและรักกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เขาเป็นนักขับรถแข่ง เธอเป็นสคริปต์เกิร์ล ต่างเป็นม่าย สูญเสียคนรักให้กับความตายที่มาถึงก่อนกาลอันควร ทิ้งลูกหนึ่งคนไว้ในความดูแล และงานอาชีพทำให้ไม่อาจอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ต้องเอาไปอยู่โรงเรียนประจำแทน
            ความรักในวัยผู้ใหญ่ ที่ผ่านการมีชีวิตคู่มาแล้ว และมีลูกเล็กๆ โดยที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของคนที่เป็นทั้งพ่อและแม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบนี้ ไม่อาจจะทำให้ออกมาดูบริสุทธ์ สดใส และประทับใจคนดูได้ง่ายๆ เหมือนกับเรื่องราวของวัยรักแรก แต่เลอลูชก็สามารถทำให้เรื่องของชาย-หญิงคู่นี้ประทับใจทุกคนได้ และลึกซึ้งมากกว่า
            ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นมาระหว่างคนทั้งสอง จากการพบกันครั้งแรกไปจนถึงความรักที่เกิดขึ้นในที่สุด พัฒนาลึกซึ้งเป็นลำดับในจังหวะที่งดงาม โน้มน้าวความรู้สึกคนดูให้คล้อยตามไปด้วยได้ตลอดเวลา ในแต่ละจังหวะเลอลูชไม่ลืมที่จะทำให้คนดูสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาตั้งใจให้มันเป็นภาพแทนความรู้สึกและลำดับความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่มีต่อกัน: มือของเขาที่เอื้อมไปจะกุมมือของเธอ ขณะที่ต่างโอบกอดเด็กๆ ไว้ แล้วชะงักอย่างรู้สึกไม่มั่นใจ, ต่อมาบนรถของเขา เขาวางมือลงไปเกาะกุมเธอไว้ เธอไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ออกมาให้เห็น แต่คำถามของเธอคือ “คุณไม่ได้เล่าเรื่องภรรยาของคุณให้ฉันฟังเลย”, เธอเริ่มสนใจหาหนังสือแข่งรถมาอ่าน และเมื่อเขาชนะในมอนติคาร์โล เธอก็ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีกับเขาทันที แม้จะไม่แน่ใจนักกับการกระทำของตัวเองและการใช้ถ้อยคำ แล้วก็มาถึงฉากในห้องอาหาร เธอและเขาได้ก้าวเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัวเพียงลำพัง โดยมีบริกรเป็นส่วนเกินไปทันที และหลังจากนั้นคนดูก็จะรู้สึกได้เองว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ทั้งคู่จะได้แสดงความรักต่อกัน
            อันที่จริง เป็นการง่ายมากที่คนดูจะตั้งสมมุติฐานเอาเองในใจว่า พ่อม่ายนักขับรถแข่งที่มีชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยง กับแม่ม่ายที่มีชีวิตอยู่ในโลกมายาซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กับลูกได้มากพอ มาพบกันและรักกันบนพื้นฐานของความรู้สึกเปลี่ยวเหงา ซึ่งอาจต้องการเพียงใครสักคน
            แต่เลอลูชไม่เปิดโอกาสให้คนดูได้รู้สึกอย่างนั้น
            นอกจากการวางจังหวะของความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปได้อย่างเหมาะสม เลอลูชยังใช้เด็กทั้งสองเป็นสื่อให้คนดูได้เห็นภาพอีกด้านของคนเป็นพ่อแม่ ด้านที่อ่อนโยน มีความอาทรผูกพัน และความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นด้านที่ไม่อาจเห็นได้ในช่วงเวลาที่อยู่กับงานอาชีพ
            ภาพด้านนี้แสดงให้เห็นจากการที่แต่ละคนแสดงต่อลูกของตัวเอง แล้วเคลื่อนไปสู่ลูกของอีกคนหนึ่ง และแสดงต่อกันและกันอย่างแนบเนียนในที่สุด โดยที่คนดูจะไม่นึกคลางแคลงใจในความรู้สึกอันแท้จริงของคนทั้งสอง
            ผู้แสดงมีส่วนอยู่มากในการทำให้เรื่องรักง่ายๆ แต่ให้ความรู้สึกลึกซึ้งอยู่ในตัว บรรลุผลสมบูรณ์ในความรู้สึกนึกคิดของคนดูหนัง ฌ็อง-หลุยส์ แตรงติญอง เคยสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมาแล้วจากการแสดงคู่กับบริจิตต์ บาร์โดต์ ในหนังของโรเจอร์ วาดิม เรื่อง And God Created Woman แต่ชีวิตทหารในสงครามแอลจีเรียหยุดความก้าวหน้าทางการแสดงของเขาไปหลายปี บทฌ็อง-หลุยส์ในเรื่องนี้ นำชื่อเสียงและความสำเร็จกลับคืนมาอีกครั้ง
            เขาไม่ใช่พระเอกหน้าตาดี แต่ชนะใจคนดูได้ด้วยความสามารถทางการแสดงอย่างแท้จริง ในสนามแข่งรถ เขามุ่งมั่นอยู่กับการเอาชนะความเร็ว ให้ภาพของลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งและกร้านชีวิต แต่อยู่นอกสนาม เขาเป็นพ่อผู้อ่อนโยน รักลูก และกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มอีกครั้งเมื่อมีความรัก ความกระวนกระวายใจของเขาเมื่อต้องแวะเติมน้ำมันระหว่างทางขับรถข้ามคืนไปหาเธอ เป็นความจงใจของหนังที่จะบอกให้คนดูรู้ว่าเขารักเธอและปรารถนาจะได้พบเธอเพียงไร แต่แตรงติญองก็ทำให้มันออกมาเป็นธรรมชาติมาก
            อนูค แอมเม เป็นนักแสดงชั้นยอดอีกคนของฝรั่งเศส แม้ว่าจะมีผลงานออกมาไม่มากนัก แต่มันก็เป็นงานชั้นเยี่ยมอย่าง La Dolce Vita และ 8-1/2 บทแอนน์-สคริปต์เกิร์ลที่สูญเสียคนรักไปด้วยอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ เป็นจุดยอดแห่งงานแสดงของเธอเช่นเดียวกับแตรงติญอง แม้ว่าเธอจะเป็นสาวสวย ก็ไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกว่าเธอเป็นดารา แต่เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง มีงานต้องทำ มีลูกต้องดูแล และมีอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน
            เมื่อเธอรักฌ็อง-หลุยส์ ในขณะที่ยังคงนึกถึงสามีของเธอที่ตายไป คนดูสามารถยอมรับและเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของเธอ มีการถ่วงดุลกันอยู่ตลอดเวลาระหว่างความรู้สึกที่เธอมีต่อฌ็อง-หลุยส์  และความรู้สึกไม่มั่นใจในความเหมาะควร ซึ่งอนูค แอมเม แสดงออกมาได้อย่างดีเยี่ยม หลังจากคืนแรกที่ได้อยู่ด้วยกัน เธอสารภาพกับเขาว่าสามีเธอยังไม่ตายไปจากความทรงจำของเธอ แล้วเมื่อเธอนั่งรถไฟกลับปารีสคนเดียว – โดยไม่ต้องแสดงออกมา คนดูก็รู้ได้เองถึงความยุ่งยากใจ ความรู้สึกสับสนที่ปนเปกันอยู่ในใจเธอ
            แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของหนังเป็นของคล็อด เลอลูช นอกจากการกำกับการแสดง เลอลูชเป็นคนวางเรื่องทั้งหมดขึ้นมา และร่วมกำกับภาพด้วย ตอนทำหนังเรื่องนี้ เลอลูชมีปัญหามากทีเดียวในเรื่องงบประมาณ เขาไม่มีเงินพอแม้แต่จะซื้อฟิล์มสีมาถ่ายได้ทั้งเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างงานที่ดีออกมา เขาเลือกช่วงที่จะถ่ายทำด้วยฟิล์มสีและขาวดำในหนังเรื่องเดียวกันได้อย่างฉลาด และแทนที่จะใช้ฟิล์มขาวดำในภาพแฟลชแบ็คอย่างที่ใช้กันทั่วไป เลอลูชสลับที่ทางกัน และใช้ฟิล์มขาวดำในส่วนที่สามารถสร้างสีสันได้เองด้วยความรู้สึกของคนดู
            การใช้กล้องและวิธีการตัดต่อของเลอลูชมีสไตล์ที่เด่นชัดของตัวเอง และมีส่วนอยู่มากในการสร้างผลทางอารมณ์ ทำให้หนังที่แสดงเรื่องรักง่ายๆ ของคนสองคนตรึงคนดูไว้ด้วยความประทับใจ ภาพที่คนดูจะจดจำได้ติดตาตลอดไปคือภาพที่ถ่ายจากด้านหน้าของรถยนต์ขณะฌ็อง-หลุยส์ขับไปกลางสายฝน ให้ความรู้สึกอันอ้างว้าง แต่ในขณะดียวกันที่ปัดน้ำฝนซึ่งทำงานเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ก็เหมือนความแน่วแน่ของหัวใจที่จะไปให้ถึงปลายทาง
            ฌ็อง-หลุยส์ตัดสินใจขับรถตามขบวนรถไฟที่แอนน์นั่งไป และนั่งรอเธออยู่ที่สถานีปลายทาง เลอลูชปิดฉากสุดท้ายของหนังด้วยภาพคนทั้งสองสวมกอดกันไว้ และไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนั้น สิ่งต่างๆ จะดำเนินไปอย่างไร
ปี 1986 เลอลูชให้คำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ด้วยหนังเรื่อง A Man and a Woman: Twenty Years Later ด้วยทีมงานหลักและผู้แสดงนำชุดเดิม
ฉากที่สถานีรถไฟนั้นคือการลาจาก ตลอดระยะเวลายาวนาน ฌ็อง-หลุยส์และแอนน์ไม่ได้พบกันอีกเลย กระทั่งยี่สิบปีต่อมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ฌ็อง-หลุยส์ยังอยู่ในวงการแข่งรถ แต่ในฐานะผู้จัดการแข่งขัน ลูกชายเขาโตเป็นหนุ่มและเจริญรอยตามพ่อด้วยการเป็นนักแข่งเรือ แอนน์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ลูกสาวเธอเป็นนักแสดง
            แอนน์ขอพบฌ็อง-หลุยส์ ตอนนั้นหนังเรื่องล่าสุดของเธอล้มเหลว เธอคิดว่าช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความหมายระหว่างเธอกับเขาเมื่อยี่สิบปีก่อนจะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นหนังที่ประทับใจคนดูได้    ฌ็อง-หลุยส์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเธอในตอนแรก แต่ก็ยอมให้เธอเอาเรื่องของเขาไปใส่ไว้ในหนังได้
            การพบกันครั้งนี้ ทั้งคู่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมาก แอนน์แต่งงานแล้วหย่า และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่ด้วย เธอมีความรับผิดชอบกับงานมากขึ้นในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ความรู้สึกไม่มั่นใจที่เป็นบุคลิกของเธอยังมีให้เห็นเมื่อเธอพบกับฌ็อง-หลุยส์อีกครั้ง แต่บทบาทในงานที่ทำ ทำให้เธอมีการตัดสินใจที่ชัดเจน มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเมื่อถ่านไฟเก่าจะกลับคุโชนขึ้นมาอีกครั้ง เธอไม่ยุ่งยากกับการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองอีกแล้ว
            อนูค แอมเม รับบทเดิมของเธอด้วยขีดความสามารถเดียวกับที่เธอเคยแสดงให้ทุกคนเห็นและยอมรับมาแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจมากกว่าคือรูปร่างหน้าตาของเธอ เมื่อเอาหนังภาคแรกและภาคสองมาดูต่อกัน แทบไม่น่าเชื่อว่าเวลาได้ผ่านไปแล้วยี่สิบปี
            ฌ็อง-หลุยส์เป็นผู้ใหญ่ที่สุขุมขึ้นตามวัย ไม่มีการแสดงออกแบบเด็กหนุ่มอีกต่อไปแล้ว ฌ็อง-หลุยส์ แตรงติญองก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก อย่างที่บทฌ็อง-หลุยส์ซึ่งมีอายุมากขึ้นยี่สิบปีควรจะเป็น แต่ในความสุขุม-มั่นคงของบุคลิกภายนอก แตรงติญองก็ทำให้คนดูมองเห็นความรู้สึกที่อยู่ภายในได้ ความรู้สึกที่เขามีต่อแอนน์ยังไม่ลบเลือนไปด้วยระยะเวลา เราเห็นได้ตั้งแต่ตอนที่เขารู้ว่าแอนน์ติดต่อมา อตนที่เขาโทรกลับไปหาเธอ และไปพบเธอ เขายอมให้เธอทำหนังตามที่เธอต้องการ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นทางที่จะนำเขาไปใกล้ชิดกับเธออีกครั้ง และคราวนี้เขาจะไม่ยอมให้เธอจากไปอีก ฌ็อง-หลุยส์ไม่ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนในส่วนนี้ แต่ภรรยาสาวของเขา – ซึ่งเป็นพี่สาวของลูกสะใภ้ – เป็นบทเสริมขึ้นมาให้คนดูรู้สึกได้ เธอไวต่อความรู้สึกนี้ของเขามากกว่าทุกคน ขณะที่สิ่งกีดกั้นความรักของทั้งคู่ในภาคแรก คือภาพอดีตที่ยังไม่ตายไปจากความทรงจำของแอนน์ แต่ในคราวนี้ ขณะที่ภาพอดีตเมื่อยี่สิบปีก่อนกระจ่างชัดขึ้นมา สิ่งที่มาขวางทางคือปัจจุบันและความตายที่ภรรยาสาวของฌ็อง-หลุยส์ เกิอบจะหยิบยื่นให้เขาและตัวเธอเองพร้อมๆ กันกลางทะเลทราย
            เลอลูชสะท้อนอารมณ์รุนแรงอันเนื่องมาจากความรักได้อย่างน่ากลัว!
            ในภาคสองนี้ เลอลูชไม่ได้มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกของแอนน์และฌ็อง-หลุยส์ ออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกับภาคแรก แต่ภาพอดีตที่ปรากฏขึ้นมาควบคู่ไปกับการถ่ายทำหนังที่แสดงความสัมพันธ์ครั้งนั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะสะกิดเตือนคนดูถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่ทั้งคู่มีต่อกัน เลอลูชยังใส่ซับพล็อตเข้ามา ซึ่งดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสานต่อความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ทิ้งค้างไปนาน มันเป็นเรื่องของฆาตกรที่หนีออกมาจากโรงพยาบาลโรคจิตและนำไปสู่คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่วางแผนเอาไว้อย่างดี แอนน์ยอมรับความจริงว่าเรื่องรักของเธอกับฌ็อง-หลุยส์ไม่อาจเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จได้ และเธอก็ยอมรับข้อเสนอเอาเรื่องของฆาตกรคนนั้นมาทำหนังแทน ดูเหมือนว่าความเกี่ยวโยงของพล็อตและซับพล็อตจะมีอยู่เพียงเท่านี้เอง
            แต่เลอลูชอาจจะอยากบอกกับเราว่า ในวันเวลาและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หนักรักเรียบง่ายที่เขาเคยทำเมื่อทศวรรษ 1960 ไม่อาจนำเสนอออกมาด้วยรูปแบบเดิมได้อีกในทศวรรษ 1980 แนวของหนังที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตในยุคนี้ที่เราเห็นๆ กัน ไม่ใช่หนังที่คนดูจะสามารถร่วมซึมซับความละเอียดอ่อน อารมณ์อันลึกซึ้งของชีวิตตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนจอ เพราะสังคมรอบข้างและความจริงที่รายล้อมชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน
            ความรักของแอนน์และฌ็อง-หลุยส์ อาจจะยิ่งใหญ่ก็แต่ในความรู้สึกของคนทั้งสอง แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับคนอื่น และอาจจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อด้วยซ้ำที่คนสองคนจะรักกันและลาจากกันโดยเก็บรักษาความรู้สึกที่ดีให้ยั่งยืนตลอดมา ในเมื่อทางออกของสังคมปัจจุบันแก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง ชีวิตลดความหมายลงไปพร้อมกับที่ความรู้สึกอันอ่อนโยนถูกแทนที่ด้วยความหยาบกระด้าง ความอ่อนไหวถูกแทนที่ด้วยความเปราะบาง ซับพล็อตที่เลอลูชใส่เข้ามาได้แสดงถึงจุดนี้ มันเป็นภาพตัวอย่างของสังคมทศวรรษ 1980 คนไข้โรคจิตถูกหมอใช้เป็นเครื่องมืออย่างแนบเนียนเพื่อฆ่าเมียตัวเอง และเพื่อให้แผนการรัดกุมเต็มที่โดยความผิดจะไปตกอยู่กับคนไข้ของเขา สี่ชีวิตต้องสังเวลยไป – เมียหมอ, คนไข้, ลูกและเมียคนไข้ – แลกกับการที่เขาจะมีเมียใหม่คนหนึ่ง
            เห็นได้ชัดว่าเลอลูชไม่ได้พยายามจะทำให้ภาคสองของ A Man and a Woman ออกมาเป็นหนังโรแมนติคที่จะประทับใจคนดูได้เหมือนกับภาคแรก แต่ในแง่ของหนังดรามาที่แสดงถึงชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก เลอลูชยังประสบความสำเร็จใจการนำเสนอสิ่งที่เขาสนใจออกมาเป็นหนัง และเด่นด้วยการลำดับภาพ-ดำเนินเรื่องตามแบบเฉพาะตัวของเขา     
            คนที่ดู A Man and a Woman ภาคสอง โดยไม่ได้ดูภาคแรกมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจเลยว่า มันเป็นตอนต่อของหนังที่ได้ชื่อว่าโรแมนติคที่สุดของเมื่อสองทศวรรษก่อนได้อย่างไร เพราะหลังจากมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกและความรักในภาคแรก เลอลูชกลับมามุ่งเสนอแง่มุมต่างๆ ของชีวิตแทนในภาคสอง แต่คนที่ยังจดจำความประทับใจของเมื่อยี่สิบปีก่อนจะสามารถรับรู้สิ่งที่เลอลูชต้องการจะบอกได้ว่า ชีวิตมีความหมายอยู่ด้วยความรู้สึกอันงดงาม และความรู้สึกที่แท้จริงจะยั่งยืนเหนือกาลเวลา
            ไม่ว่ามันจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงไร
#
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530)


วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์



โดย กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

ลีโอ ตอลสตอย เคยเขียนถึงนักวิจารณ์เอาไว้ในหนังสือ “ศิลปะคืออะไร” ว่า “นักวิจารณ์ก็คือคนโง่ที่มาถกเถียงกันถึงเรื่องของคนฉลาด”
            เป็นเรื่องธรรมดามาก ที่ศิลปิน ผู้สร้างงานศิลปะ จะพากันมีความคิดความเห็นเช่นนี้ต่อนักวิจารณ์และการวิจารณ์ เหมือนๆ กันมาทุกยุคทุกสมัย เคยมีคำพูดคล้ายกันในวงการดนตรี กระทบกระเทียบนักวิจารณ์ว่าเป็น “คนหูหนวกที่ทะลึ่งมาตั้งเสียงเปียโน” และที่โด่งดังมากในวงการหนังไทย คือคำท้าทายจากผู้กำกับมาถึงนักวิจารณ์ว่า “แน่จริง (มึง) ก็มาสร้างหนังเองสิวะ”
            แต่ไม่ว่าศิลปินจะคิดอย่างไร การวิจารณ์ก็มีบทบาทอยู่คู่ศิลปะทุกแขนงตลอดมา ในแง่หนึ่ง การวิจารณ์เป็นธรรมชาติของคนเรา ซึ่งมีความคิดความเห็นเป็นของตัวเอง เมื่อมารวมเข้ากับความรู้ความเข้าใจในศิลปะแขนงต่างๆ ก็ได้ก่อให้เกิดการวิจารณ์ขึ้นมา
            ในขณะที่ตอลสตอยมีความเห็นต่อนักวิจารณ์และการวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องของคนโง่ที่มาถกเถียงกันในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ไม่เข้าใจ สิ่งที่ตอลสตอยทำไปในหลายๆ บทของหนังสือ “ศิลปะคืออะไร” ก็คือการวิจารณ์และการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์
            ศิลปินอาจจะไม่ชอบใจที่มีผู้มาประเมินค่าผลงานของเขา แต่ผู้รับสื่อศิลปะแต่ละแขนงต้องการ งานวิจารณ์เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการกลั่นกรอง-ตัดสินใจของผู้รับสื่อ ก่อนที่จะเลือกรับหรือไม่รับงานชิ้นใดๆ โดยไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเห็นตามไปกับนักวิจารณ์ ยิ่งในงานศิลปะที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพาณิชย์ศิลป์ เช่น ภาพยนตร์ หรือดนตรี บทบาทและความต้องการงานวิจารณ์ยิ่งมีสูง เพราะมีจำนวนผลงานหลั่งไหลออกมามากมาย ในขณะที่ผู้รับสื่อมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังซื้อและเวลา
            พอล แกมบาคชินี ซึ่งเป็นผู้รวบรวมนักวิจารณ์ดนตรีและนักจัดรายการวิทยุมาช่วยกันคัดเลือกแผ่นเสียงยอดเยี่ยมตลอดการของวงการเพลงร็อคเมื่อปี 1977 และมีการทบทวนผลกันใหม่อีกครั้งในปีนี้ (1987) อาจจะเป็นคนที่เขียนถึงบทบาทของนักวิจารณ์ในงานพาณิชย์ศิลป์ยุคใหม่ได้อย่างชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง เขาบอกว่า “ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับนักวิจารณ์อย่างรุนแรงหรือมากครั้งเพียงไร เราก็ยังคงอ่านงานของเขา เพราะเราเป็นเพียงปุถุชนคนหนึ่ง ความคิดเห็นของเราอาจผิดพลาดได้ และเราก็ต้องการการชี้นำสิ่งซึ่งจะตรงตามรสนิยมและงบประมาณของเรา นักวิจารณ์ก็เป็นปุถุชนเช่นเดียวกับเรา ความคิดเห็นของเขาอาจผิดพลาดได้เหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าหากไม่มีนักวิจารณ์ เราก็จะตกอยู่ภายใต้ระบอบอนาธิปไตยของการโหมโฆษณาชวนเชื่อจากบริษัทแผ่นเสียง”
            งานวิจารณ์ซึ่งจะแสดงบทบาทอย่างนั้นได้ อย่างน้อยที่สุดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดอิสระของนักวิจารณ์ ไม่ใช่งานเขียนซึ่งอาศัยรูปแบบการวิจารณ์บังหน้าเพื่อหวังผลประโยชน์ทั้งที่แอบแฝงและชัดเจน ซึ่งเห็นกันได้มากมาย คงไม่จำเป็นที่จะต้องยกตัวอย่างในที่นี้
            แต่ตรงจุดของความคิดอิสระ ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เหมือนกัน ขอบเขตของความคิดอิสระน่าจะอยู่ที่ การมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้กินความกว้างไปถึงการใช้รสนิยม-ความชอบส่วนตัวเป็นบรรทัดฐานในการประเมินค่างานศิลปะ หรือใช้งานวิจารณ์เป็นเครื่องระบายอารมณ์ส่วนตัว ความชอบ-ไม่ชอบของตัวนักวิจารณ์
            การวิจารณ์งานศิลปะแขนงต่างๆ จะมีหลักกว้างๆ ในการพิจารณาใกล้เคียงกัน คือ ในเรื่องของรูปแบบหรือสไตล์ เนื้อหา อารมณ์ จุดมุ่งหมาย และเทคนิค งานศิลปะหรือพาณิชย์ศิลป์แต่ละชิ้นที่ออกมา อาจจะเด่นหรือด้อยในบางด้าน เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ต้องพิจารณาแยกแยะ ถ้านักวิจารณ์ดนตรีจะไม่ชอบอัลบั้ม Thriller ของไมเคิล แจ็คสัน เพราะเขาไม่ชอบเพลงเต้นรำ และเห็นว่าเพลงอย่างนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าทางศิลปะขึ้นมาเลย สิ่งที่น่าคำนึงถึงก็คือ งานชิ้นนี้ออกมาด้วยจุดมุ่งหมายอย่างไร ตอบสนองจุดมุ่งหมายเหล่านั้นได้หรือไม่ องค์ประกอบของงานสอดคล้องกับจุดหมายนั้นและได้ผลเพียงไร ถ้าคนเกือบ 40 ล้านซื้อแผ่นเสียงชุดนี้ไปและสนุกกับมันได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าผลงานชิ้นนี้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของมัน และคุณค่าทางความบันเทิงต่อคนหลายสิบล้าน – หรืออาจจะมากกว่านั้น – ก็ไม่อาจมองข้ามไปได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม
            นักวิจารณ์ไม่ใช่พระเจ้าที่จะยกรสนิยมตัวเองขึ้นมาสูง และกดรสนิยมความคิดเห็นของคน 40 ล้านลงไปจมดิน ความสำเร็จของงานในเชิงพาณิชย์ศิลป์อาจมีกลวิธีทางธุรกิจเกื้อหนุนอยู่มาก แต่มันก็ไม่ถึงกับช่วยให้สินค้าที่หาค่าอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นสินค้าที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในตลาดไปได้แน่ๆ
            นอกเหนือไปจากการประเมินค่า บทบาทสำคัญอีกทางหนึ่งของงานวิจารณ์ ซึ่งบางครั้งมักจะถูกมองข้ามกันไป ก็คืองานวิจารณ์มีฐานะเป็นสื่อถ่ายทอดความเข้าใจด้วย งานศิลปะอาจจะเป็นสื่อแสดงความคิด เจตนา และสิ่งต่างๆ ที่ผู้สร้างงานต้องการนำเสนอออกมาสู่ผู้รับสื่อของเขาในตัวเองอยู่แล้ว แต่โดยกลวิธี-เทคนิคทางศิลปะ โดยข้อจำกัดทางการรับรู้ของผู้รับที่มีพื้นฐานทางศิลปะแขนงนั้นๆ แตกต่างกันอยู่ งานวิจารณ์สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อเชื่อมได้อีกทอดหนึ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ในฐาะนี้เองที่งานวิจารณ์สามารถเป็นงานสร้างสรรค์ได้ในตัวของมันเองเช่นเดียวกัน
            งานวิจารณ์จึงไม่ใช่เพียงข้อเขียนบอกเล่าเรื่องราวที่ปรากฎในงานศิลปะ แสดงความคิดเห็น ติชม หรือแสดงความเก่งกาจของนักวิจารณ์โดยการจ้องจับผิด หาข้อบกพร่อง แต่เป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่จะช่วยขยับขยาย สร้างความเข้าใจของผู้อ่านงานวิจารณ์ที่จะมีต่องานศิลปะ ให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายและสิ่งแอบแฝงที่ศิลปินต้องการจะสื่อแสดงออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมองทะลุเทคนิค วิธีการ และองค์ประกอบทางศิลปะต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้รองรับสิ่งที่ต้องการเสนอ งานวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ยังจะมีส่วนช่วยพัฒนางานศิลปะต่อไปได้ด้วยตัวมันเอง เพราะงานวิจารณ์ที่ดีสามารถปูพื้นฐานความเข้าใจให้กับผู้รับสื่อ และเมื่อผู้รับพัฒนาความรับรู้ ความเข้าใจในงานศิลปะ งานศิลปะก็สามารถพัฒนาต่อไปได้โดยที่ผู้รับสามารถตามทันและเข้าใจ
            เมื่อเดือนกันยายน (2530) มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับบรรยากาศการวิจารณ์งานศิลปะในบ้านเรา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดสัมมนาการวิจารณ์งานศิลปะ ไล่ๆ กับที่ภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดงานการวิจารณ์งานศิลปะขึ้นมาเหมือนกัน ทั้งสองงานนี้ทั้งศิลปินและนักวิจารณ์ต่างก็ได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานวิจารณ์จากจุดที่แต่ละฝ่ายยืนอยู่ ให้ผู้สนใจได้ฟังกัน ทั้งสองงานนี้อาจจะยังไม่ได้ก่อผลให้เห็นกันได้ชัดเจนเดี๋ยวนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายขอบข่ายความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจารณ์ ซึ่งอาจจะมีส่วนพัฒนาการวิจารณ์งานศิลปะในบ้านเราต่อไป ทั้งในส่วนของคนทำงานวิจารณ์เอง และอาจกระตุ้นให้เกิดนักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาในโอกาสต่อไป
            คนเราทุกคนมีพื้นฐานของการเป็นนักวิจารณ์ในตัวเองอยู่แล้ว เหมือนกับที่ปรัชญาการเมืองสมัยกรีกเคยมีคำเปรียบเปรยเอาไว้ว่า “โดยไม่ต้องเป็นช่างก่อสร้าง เราก็สามารถบอกได้ว่าบ้านหลังนี้ดีหรือไม่ดี เพราะเราเป็นคนอยู่” จุดประสงค์เดิมของเขาใช้ในความหมายเชิงวิจารณ์สังคม แต่ในแวดวงศิลปะ คำนี้ก็สามารถใช้ได้ดี เพราะเราทุกคนเป็นคนรับสื่อศิลปะนั้นๆ ถึงตรงนี้อาจจะมีคนแย้งว่า การวิจารณ์งานศิลปะต้องมีความรู้ในศิลปะแต่ละแขนงด้วย ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ผมก็ยังเห็นว่าความรู้เป็นสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนกันได้ตามความสนใจเฉพาะตัว แต่ความคิดเห็น วิจารณญาณของตัวเอง คือพื้นฐานแรกสุดที่จะนำไปสู่การวิจารณ์งานศิลปะ เป็นสิ่งที่สร้างที่สอนกันไม่ได้ แต่จะต้องพัฒนากันเองในแต่ละคนจากพื้นฐานที่มีอยู่
            เคยมีนิตยสารฉบับหนึ่งมาสัมภาษณ์ ถามความรู้สึกของผมเกี่ยวกับการเป็น “เอ็นไซโคลปีเดียภาพยนตร์” ซึ่งผมไม่ยอมรับ เพราะเอ็นไซโคลปีเดียนั้นมีก็แต่ความรู้ ไม่มีความคิด แต่นักวิจารณ์จำเป็นต้องมีความคิด และเป็นความคิดในทางสร้างสรรค์ด้วย
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530)

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ยังเฟื้อ


สำหรับคนอ่าน “สีสัน” ชื่อของ “นรา” ไม่ควรต้องมีคำอธิบายอะไรอีก
            หลายคนยังรู้ด้วยว่า งาน “เขียน” ของเขา นอกจากการเขียนวิจารณ์หนังที่ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิจารณ์แถวหน้ามานาน นรายังมีงานเขียนภาพที่ปรากฏต่อสายตา “เพื่อน” ของเขาในเฟซบุ๊ค อยู่สม่ำเสมอ เป็นภาพที่เขาบอกว่า “วาดเล่น” แต่สะท้อนความจริงจังในการฝึกปรือ และให้ผลเป็นงานที่น่าชื่นชม
            แต่คงมีคนจำนวนน้อยลงที่รู้ว่า นราสนใจงานจิตรกรรมฝาผนัง และศึกษาหาข้อมูลความรู้ด้านนี้จนถึงขั้นหลงใหล ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการคัดลอกและซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังไว้เป็นมรดกของชาติ – อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
            ผมเห็นข้อเขียนชุดนี้ของนรา เริ่มเผยแพร่เป็นตอนๆ ในเว็บไซต์ Manager Online เมื่อราวๆ สองปีก่อน มีแง่มุมหลายอย่างที่เมื่ออ่านผ่านแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่บุคลิกของสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับการตามอ่านทีละตอน ดูจะไม่เหมาะกับงานที่ต้องเสพอย่างละเมียดละไม
            จนกระทั่งปลายๆ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานเขียนของนราชุดนี้ จึงปรากฏเป็นรูปเล่มหนังสือ ชื่อ “ยังเฟื้อ”
ความผิดหวังเบื้องต้นของผมต่อหนังสือเล่มนี้ คือ จำนวนภาพสีที่มีอยู่จำกัด ภาพหลายภาพที่เราควรจะได้เห็นฝีมือของศิลปินเอกเป็นสีที่ใกล้เคียงภาพจริง จึงกลายเป็นเพียงภาพขาวดำที่ยากจะทดแทน แม้จะเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนผลิตกับการตั้งราคาปก ซึ่งผกผันกับกำลังซื้อของผู้อ่าน ก็ตาม
            แต่ตัวอักษรของนราไม่ได้ทำให้คนอ่านผิดหวัง เขาบอกว่าที่มาของการเขียนงานชุดนี้เกิดจากความสนใจดูจิตรกรรมฝาผนัง และเขาก็เริ่มต้นด้วยการพาเราย้อนกลับไปสู่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ แนะนำให้เรารู้จักกับพระอาจารย์นาค ผู้ได้รับการยกย่องเอาไว้สูงส่ง ตามบันทึกของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผลงานของพระอาจารย์นาคเกือบทั้งหมดไม่หลงเหลือให้เห็นมานานมากแล้ว ยกเว้นสองภาพสุดท้ายที่หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม
            เป็นสองภาพสุดท้ายที่ดลใจให้อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มุ่งอนุรักษ์งานศิลปกรรมไทยไว้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลัง อย่างไม่แยแสต่อลาภ-ยศ-ชื่อเสียงในฐานะศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก
            นราใช้ชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อเป็นแกนในการเล่าเรื่อง แม้ว่าข้อมูลหลักที่นำมาใช้เป็นการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร-หนังสือต่างๆ แต่นราก็มีข้อสังเกต มุมมอง และความประทับใจของเขาแทรกวางลงไปในลีลาการเขียนที่ผมอยากจะเรียกว่า “แบบอิมเพรสชันนิสม์” ซึ่งสามารถนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับบุคลิก ทัศนคติ พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงตอนของชีวิตอาจารย์เฟื้อได้อย่างแยบยล และเพลิดเพลิน
การได้ค้นพบว่า ศิลปินอินเดียสร้างศิลปะใหม่ๆ ขึ้นมาได้โดยผ่านการทำความรู้จักกับศิลปวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ้ง ในระหว่างที่อาจารย์เฟื้อไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิศวะภารติ – หนึ่ง
            การเขียนรูปพระธาตุหริภุญไชย ที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร – หนึ่ง
            การช่วยงานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี คัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อจำลองฝีมือครูช่างโบราณมาใช้ในการสอนวิชาศิลปะไทย – อีกหนึ่ง
            ทั้งสามประการนั้นได้นำอาจารย์เฟื้อเดินทางข้ามฟากจากงานศิลปะร่วมสมัยไปสู่การคัดลอกและซ่อมแซมงานจิตรกรรมฝาผนังที่ลบเลือนไปตามกาลเวลา ช่วงนี้นราประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการทำให้คนอ่านตระหนักถึงคุณค่าของการตัดสินใจครั้งสำคัญของศิลปินหนุ่ม ผู้ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มั่นใจว่ามีคุณสมบัติเพียบพร้อมจะก้าวไปสู่การเป็นศิลปินระดับโลก อันหมายถึงชีวิตที่เพียบพร้อมด้วยลาภยศทุกสิ่งอย่างเท่าที่ชื่อเสียงจะสามารถชักนำมา แต่กลับเลือกที่จะไปอุทิศตนทำงานคัดลอก ซึ่งในเวลานั้นยังมีความหมายเพียงการทำซ้ำที่ไม่สร้างสรรค์ และที่ยิ่งกว่านั้นคือชีวิตที่เหนื่อยยากกับผลตอบแทนเพียงน้อยนิด
            ถึงตอนนี้ ผมนึกถึงคำที่น้องสาวคนหนึ่งได้แบ่งปันความประทับใจของเธอต่อการเดินทางข้ามฟากฝั่งของอาจารย์เฟื้อ ก่อนที่ผมจะทันอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ว่า การละทิ้งอนาคตอันสดใสของศิลปินอย่างอาจารย์เฟื้อ ได้แสดงถึงภาวะที่ไร้อัตตา ยอมสละทุกอย่างเพื่อสิ่งที่เรารักและเราเชื่อ”
            เธอแสดงเหตุผลต่อมาว่า “ศิลปะและวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกมีคติที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว งานของตะวันตกล้วนต้องมีชื่อ ต้องมีลายเซ็น เพื่อให้เราได้ชื่นชมตัวตนของศิลปินที่ปรากฏอยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน แต่งานของไทย ศิลปินดำรงอยู่อย่างไร้ตัวตน ผลงานที่สร้างออกมาก็เพื่อให้คนได้รำลึกถึงศาสนา และศรัทธาในคุณงามความดี สิ่งที่ศิลปินฝากไว้มีเพียงความงามที่จะชักนำไปสู่ความสงบและลดละอัตตา ไม่ใช่ชื่อของตัวเอง”
            ผมถือว่านั่นคือคำคารวะของคนธรรมดาคนหนึ่งต่อคำประกาศอันเป็นสัจจะของอาจารย์เฟื้อเอง ที่ว่า “ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใส และจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริง ในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้สภาวธรรม”
ช่วงหลังของหนังสือ “ยังเฟื้อ” นราได้นำเราไปสู่โลกของจิตรกรรมฝาผนัง และตามรอยอาจารย์เฟื้อไปในเส้นทางการคัดลอกและการอนุรักษ์ซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง
            นับตั้งแต่วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพุทไธศวรรย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปถึงวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม และหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ
            นอกจากการเขียนถึงผลงานการคัดลอกและซ่อมแซม ที่นราให้รายละเอียดและแง่มุมต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ มุมมองของนราต่อภาพและบรรยากาศที่ไปเห็น ตลอดจนวิธีบรรยายภาพที่ดูมาก็ช่วยให้คนอ่านเห็นภาพได้ชัด-ลึกยิ่งขึ้น เช่น ภาพพระลักษณ์รบกันอินทรชิต ในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ “ความยอดเยี่ยมของภาพดังกล่าวอยู่ที่ภาพอินทรชิตกำลังเงื้อคันศรฟาดฟันด้วยท่วงทีขึงขัง เต็มไปด้วยพละกำลัง และสีหน้าดุดัน”
            หรือ “ลีลาท่วงท่าของตัวละครซึ่งกำลังแสดงความโศกเศร้าเสียใจ (ผ่านการยกมือกรีดเช็ดน้ำตา แทนการแสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้า) ดูอ่อนช้อย เต็มไปด้วยความสะเทือนใจ และขานรับกับคดโค้งของกิ่งก้านไม้และโขดหินที่อยู่รายรอบ”
             นรายังได้ฉายภาพที่จับใจของอาจารย์เฟื้อไว้เป็นระยะ เช่น “เมื่อหันมองย้อนหลัง อาจารย์ไม่เคยปริปากตัดพ้อ ไม่เคยนึกเสียดายอาลัยอาวรณ์ต่อชีวิตอีกรูปโฉมตรงข้าม
            “ถ้าจะมีถ้อยรำพึงรำพันอันใดหลุดหล่นออกมาจากปากคำของอาจารย์เฟื้ออยู่บ้าง นั้นก็เพียงแค่ว่า ยังมีศิลปะไทยล้ำค่าอีกมากที่ท่าไม่ได้กอบกู้บูรณะหรืออนุรักษ์ไว้ให้ทันท่วงที”
            และ “เมื่อมีผู้ถามถึงเหตุผลว่าทำไมอาจารย์จึงมาใฝ่ใจกับงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง บรมครูก็มักจะตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะ ไม่มีคนทำ
            การตามรอยอาจารย์เฟื้อไปยังหลายแหล่งแห่งที่ แม้จะยังไม่สามารถครอบคลุมผลงานมากมายที่อาจารย์เฟื้อฝากไว้ได้หมด แต่ก็เป็นงานที่ใช้เวลา ใช้ความวิริยะ ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยความรักชอบหลงใหลแบบที่นราได้แสดงให้เราเห็นผ่านหนังสือเล่มนี้ ในขณะเดียวกัน ก็ยิ่งขับเน้นให้เห็นว่ามรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของอาจารย์เฟื้อเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าเพียงใด ทั้งยังอาจกระตุ้นให้ใครหลายคน – เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง – ได้ลุกขึ้นมาทำความรู้จักกับอาจารย์เฟื้อ กับงานศิลปกรรมไทย มากขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
            เป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อแรงบันดาลใจ แบบเดียวกับที่นราได้จากการดูจิตรกรรมและตามรอยผลงานของอาจารย์เฟื้อ แบบเดียวกับที่อาจารย์เฟื้อได้รับจากภาพฝีมือพระอาจารย์นาค ซึ่งในแง่นี้ นราได้เขียนเอาไว้อย่างจับใจว่า
            “ผมเชื่อว่าอาจารย์เฟื้อเห็น บางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ไพศาลเกินบรรยายในภาพเขียนนั้น (ภาพสุครีพถอนต้นรัง และภาพศึกอินทรชิต ในหอไตร วัดระฆังฯ) และหยั่งรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวท่านเอง
            “อาจารย์เฟื้อจึงบรรจุการฝึกปรือทางศิลปะทั้งชีวิตของคนเอง เพื่อเป็นเพียงแค่เงาในภาพเขียนของพระอาจารย์นาค
            “พูดได้ว่าทุกครั้งที่ดูภาพเขียนฝีมือพระอาจารย์นาค ผมเห็นภาพอาจารย์เฟื้อเหลื่อมซ้อนซ่อนอยู่ในนั้น”
#
5 กรกฎาคม 2554
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2554)

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดอน วีโต คอร์เลโอเน ในฐานะนักบริหาร



โดย วิวิธ วุฒิวีรวรรธน์*
มาริโอ พูโซ แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่ – ดอน วีโต คอร์เลโอเน ตัวละครเอกในนิยายของเขาเรื่อง The Godfather อย่างแนบเนียน โดยผ่านทางตัวละครสามคน อเมริโก โบนาเซรา สัปเหร่อ, จอห์นนี ฟอนเทน – นักร้องที่กำลังตกอับ, นาโซรีเน – คนทำขนมปัง ต่างคนต่างกำลังเผชิญปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งของชีวิต เป็นปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็แน่ใจว่า มีคนเดียวเท่านั้นที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ คนนั้นคือก็อดฟาเธอร์ – ดอน วีโต คอร์เลโอเน
            ในคำอธิบายของพูโซ: ดอน วีโต คอร์เลโอเน เป็นผู้ที่ทุกคนมาขอความช่วยเหลือ และไม่เคยผิดหวังกลับไป เขาไม่เคยให้สัญญาลมๆ แล้งๆ กับใคร ไม่เคยหาข้ออ้างว่ามีอำนาจอื่นใดในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา ไม่จำเป็นหรอกว่าเขาจะต้องเป็นเพื่อนของผู้ที่มาหา ไม่สำคัญด้วยซ้ำไปว่า ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือจะไม่มีปัญญาตอบแทนบุญคุณได้ มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่จำเป็น นั่นก็คือ ผู้ที่มาหานั่นแหละต้องประกาศมิตรภาพ
            ผู้ที่เคยอ่านคอลัมน์นี้ใน Man ฉบับที่แล้ว (เรื่อง “ศึกษาจากมาเฟีย”) คงทราบแล้วว่า ทำไม ดอน คอร์เลโอเน จึงเป็นบุคคลที่น่าศึกษาในฐานะนักบริหาร แต่ผู้ที่ยังไม่เคยอ่านอาจจะยังคลางแคลงใจอยู่บ้าง ขออนุญาตทบทวนสักเล็กน้อยในย่อหน้านีว่า แม้ดอน คอร์เลโอเน จะเป็นเพียงตัวละคร แต่ The Godfather เป็นหนังสือเล่มที่วงการบริหารยอมรับในฐานะ “หนังสือแนะนำ” และ “เป็นภาพสะท้อนของธุรกิจที่มีการจัดการดีที่สุดในโลก” มาริโอ พูโซไม่เพียงแต่นำเอาโลกเร้นลับอันน่าตื่นเต้นขององค์กรนอกกฎหมายมาตีแผ่ แต่เขายังให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง ข่ายงาน วิธีการทำงานขององค์กรแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์โดยผ่านทางครอบครัวคอร์เลโอเน ในทางการบริหารองค์กร เราสามารถศึกษาได้จากองค์กรมาเฟีย ในทางบุคลิกผู้นำและแนวคิดในการบริหารงาน เราสามาถศึกษาได้จากดอน คอร์เลโอเน

อาณาจักรของเดอะ บอสส์
            ในโลกนอกกฎหมาย ดอน คอร์เลโอเน คือ เจ้าพ่อคือ ก็อดฟาเธอร์ แต่ถ้าประเมินว่าองค์กร ของเขาเป็นองค์กรธุรกิจแบบหนึ่ง ดอน คอร์เลโอเน ก็คือ เดอะ บอสส์บางทีคำเดียวที่เหมาะสมกว่านี้ก็คือ บิ๊ก บอสส์
            ธุรกิจที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างแรกของวีโต คอร์เลโอเน ก็คือการค้าน้ำมันมะกอกจากอิตาลี เขาทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อสร้างธุรกิจของเขาให้ประสบความสำเร็จ จากนั้นอีกสองสามปีน้ำมันมะกอกของเขาก็ขายดีที่สุดในอเมริกา ก้าวถัดมาคือก้าวกระโดดสู่ความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง อเมริกาในยุคห้ามขายเหล้าคือโอกาสที่เปิดให้วีโต คอร์เลโอเนก้าวเข้าสู่อาณาจักรการค้าเหล้าเถื่อน อาณาจักของเขาเริ่มยิ่งใหญ่และแผ่กว้างออกไป หลังการยกเลิกการห้ามขายเหล้า วีโต คอร์เลโอเนซึ่งในเวลานั้นเป็นดอนไปแล้ว ไม่ยอมให้อาณาจักรของเขาปั่นป่วนด้วยสภาพตลาดของโพรดัคท์ไลน์อย่างใดอย่างเดียวที่ผันผวนไป งานของเขาเริ่มขยายไปสู่วงการพนัน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เครือข่ายธุรกิจของเขาก็พร้อมแล้วสำหรับการกอบโกยผลประโยชน์จากธุรกิจหลากแขนง ครอบครัวของเขามีส่วนในแสตมป์อาหาร แสตมป์น้ำมัน การค้าในตลาดมืด หาวัตถุดิบป้อนตลาดเครื่องแต่งกายที่กำลังขาดแคลน หลังจากนั้นไม่มีอะไรมาขวางทางการเติบโตของอาณาจักรคอร์เลโอเนได้อีกต่อไป และไม่เพียงแต่ในกิจการที่ผิดกฎหมายเท่านั้น
            เมื่อดอน คอร์เลโอเนเตรียมวางมือจากธุรกิจ ไมเคิล คอร์เลโอเน – ลูกชายคนเล็กซึ่งจะเป็นผู้สืบอำนาจของเขา ได้มีโอกาสศึกษาข่ายธุรกิจของครอบครัวอย่างละเอียดเพื่อเตรียมตัวเข้ารับตำแหน่ง ไมเคิลรู้สึกทึ่งในขอบข่ายงาน มันมากกว่าที่เขาเคยรู้หรือเคยคิด ครอบครัวคอร์เลโอเนเป็นเจ้าของที่ดินย่านมิดทาวน์อันมีค่าเหลือล้นของนิวยอร์ก อาคารสำนักงานทุกหลัง ยังเป็นหุ้นส่วนของบริษัทโบรกเกอร์ในวอลล์สตรีทบางแห่ง ธนาคารบางแห่งในลองไอส์แลนด์ กระทั่งบริษัทเครื่องแต่งกาย ทั้งหมดนี้ในนามของคนอื่น
            นอกจากธุรกิจ เส้นสายของดอน คอร์เลโอเนยังกระจายไปทั่วในแวดวงทางกฎหมายและทางการเมือง บางคนเคยคิดว่าดอนอาจจะยิ่งใหญ่แต่ในนิวยอร์ก แต่ปัญหาของจอห์นนี ฟอนเทน แสดงให้เห็นว่าเงื้อมมือของดอนสามารถยื่นออกไปไกลถึงฟากฝั่งตะวันตกอย่างแคลิฟอร์เนีย ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูดผู้ทะนงในบารมีและเส้นสายของตน เป็นคนที่รู้ซึ้งถึงอิทธิพลของเขาดีที่สุด เมื่อม้าราคาหกแสนเหรียญของเขาตกเป็นเครื่องสังเวย และในที่สุด จอห์นนี ฟอนเทนก็ได้งานในหนังที่เขาอยากแสดง

เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่
            วีโต คอร์เลโอเน ถูกส่งจากเกาะซิซิลีมาอยู่ในอเมริกา หลังจากที่มาเฟียซิซิลีฆ่าพ่อของเขาตอนอายุสิบสอง และเขาเป็นเป้าต่อไปของการถอนรากพันธุ์การแก้แค้น วีโต คอร์เลโอเนอาจเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ชีวิตก็คือชีวิต มันเหมือนกับบทสรุปของเขาในเวลาต่อมาว่า “ทุกคนมีจุดหมายปลายทางในชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” และจุดหมายปลายทางของเขาก็คือ ดอนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่ทุกคนเคารพนับถือ
            ความตายของพ่อผู้อารมณ์ร้อน ทำให้ดอนเยือกเย็นและเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่ม งานชิ้นแรกที่เขาสร้างความเคารพนับถือขึ้นมาคือการวางแผนอย่างรอบคอบ ชาญฉลาด และรัดกุม เพื่อสังหารนักเลงกระจอกชื่อฟานุคชี ที่มาเรียกเอาส่วนแบ่งจาก ธุรกิจที่เขาลงแรงไป ปีเตอร์ เคลเมนซา กับเตสซิโอ เพื่อนผู้ร่วมธุรกิจด้วยกัน เป็นสองคนแรกที่รู้และแสดงความนับถือในตัวเขา ต่อมาทั้งสองกลายเป็นคาโปเรจิเมคนสำคัญในอาณาจักรของดอน คอร์เลโอเน ในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ทุกคนในละแวกนั้นก็รับรู้กันหมด วีโตกลายเป็นผู้ที่คนอื่นเริ่มมาขอความช่วยเหลือ และเขาก็ช่วยได้จริงๆ เขาไม่ได้ช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยกำลังหรือการข่มขู่ แต่โดยคำพูดอย่างที่เขาพูดออกมาครั้งหนึ่งว่า “บริการข้าหน่อยนะ ข้าจะไม่ลืมเลย ถามเรื่องของข้าจากเพื่อนท่านในละแวกนี้ดูก็ได้ พวกนั้นจะบอกเองว่าข้าเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการตอบแทนบุญคุณคน”
            นั่นคือวิธีการที่เขาสร้างความเคารพนับถือขึ้นมา และคือการเริ่มต้นในการทำธุรกิจด้วย มิตรภาพบ่อนการพนันเต็มใจจ่ายเงินให้เขาสำหรับมิตรภาพที่เขาจะให้โดยการไปเยี่ยมบ่อนบ้างเป็นครั้งคราว เจ้าของกิจการร้านค้าต่างๆ เต็มใจให้เงินตอบแทนเขาสำหรับมิตรภาพที่เขายื่นมือไปจัดการกับพวกอันธพาลวัยรุ่นที่มาเกะกะระราน เมื่อวีโตเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบด้วยการค้าน้ำมันมะกอก มิตรภาพและความเคารพนับถือที่เขาได้รับกลายเป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จทางธุรกิจ
            เมื่ออาณาจักรของเขายิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา ดอน วีโต คอร์เลโอเน ก็ได้พูดถึงความหมายและความสำคัญของมิตรภาพเอาไว้ว่า “มิตรภาพคือทุกสิ่งทุกอย่าง มิตรภาพสำคัญกว่าพรสวรรค์ สำคัญกว่ารัฐบาล มันเกือบจะเท่าครอบครัว (หมายถึงองค์กรมาเฟีย)”
            และเขาก็มีวิธีการที่ดีในการแสดงออกถึงมิตรภาพที่จะทำให้ผู้รับซาบซึ้ง เมื่อใครมาหาเขาพร้อมกับมิตรภาพ และต้องการความช่วยเหลือจากเขา ดอนจะไม่ปฏิเสธ ไม่เคยให้สัญญาลมๆ แล้งๆ หรืออ้างว่ามีอำนาจอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าเขาซึ่งทำให้เขาไม่อาจช่วยเหลือได้ ดอนทำได้เสมอเพื่อมิตรภาพ พูโซเขียนถึงวิธีการของดอนเอาไว้ว่า: ดอนมักจะสอนว่าเมื่อใครจะใจกว้าง ก็ต้องแสดงความใจกว้างนั้นออกมาว่าเป็นความใจกว้างส่วนตัว เป็นการแสดงให้เห็นว่า คนอย่างดอนเองก็ต้องยืมเงินคนอื่นมาให้เขายืม ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ว่าดอนเป็นเศรษฐี แต่มีเศรษฐีกี่คนที่ยอมลำบากเพื่อช่วยเหลือเพื่อที่ทุกข์ยากอย่างนี้
            อาจกล่าวได้ว่า รากฐานแห่งความยิ่งใหญ่ของเขาก็คือมิตรภาพ เขาเป็นดอนที่ได้รับการยอมรับด้วยความนับถือ ไม่ใช่เพราะความเกรงกลัวและอำนาจเพียงอย่างเดียว งานของดอนเป็นไปด้วยดีเพราะมีคนมากมายเป็น “หนี้มิตรภาพ” ของเขาอยู่ และมันได้ผลดีเป็นพิเศษในที่ที่ความรุนแรงไม่อาจใช้ได้ผล การข่มขู่ไม่มีความหมาย
            ในเชิงธุรกิจแล้ว ด้วยวิธีการแห่งมิตรภาพและความเคารพนับถือที่ดอน วีโต คอร์เลโอเนได้รับ ก็คือการสร้างภาพพจน์ของผู้นำ ของนักบริหารที่ดีที่สุดทางหนึ่งที่ทำได้

ชั้นเชิงธุรกิจของดอน
            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกของมาเฟีย อำนาจและอิทธิพลมีบทบาทอยู่อย่างสำคัญ วีโต คอร์เลโอเนยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็โดยการสั่งสมอำนาจและอิทธิพลด้วย แต่วีโต คอร์เลโอเนยิ่งใหญ่กว่ามาเฟียคนอื่นเพราะเขารู้ว่าเมื่อไรคือเวลาของมิตรภาพ เมื่อไรคือเวลาสำหรับการพูดกันด้วยเหตุผล และเมื่อไรที่เขาจะใช้กำลังอำนาจของเขาออกมา
            วีโตเริ่มต้นธุรกิจน้ำมันมะกอกบนพื้นฐานมิตรภาพและความเคารพนับถือ แต่ธุรกิจของเขาจะไม่สามารถยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้เลยถ้าปราศจากชั้นเชิงทางธุรกิจ ในเวลาไม่นาน เขาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องนี้ เขาเริ่มเข้าใจผลดีของการตัดราคาสินค้าคู่แข่ง สกัดกั้นช่องทางจำหน่ายของคู่แข่งโดยการชักจูงเจ้าของร้านให้สั่งน้ำมันของพวกนั้นมาสต็อกไม่เพียงจำนวนน้อย และในที่สุดเป้าหมายของเขาก็คือการบีบคู่แข่งให้เลิกกิจการไป หรือไม่ก็มารวมกับบริษัทของเขา จะมีใครปฏิเสธได้ว่าวิธีการเหล่านี้ไม่มีอยู่จริงในเกมธุรกิจของสังคม การค้าเสรี ซึ่งเป็นแค่ชื่อ วิธีการของดอนก็เหมือนกับสิ่งที่เรียกกันว่า ทุนนิยมผูกขาด
            การเจรจาเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในเชิงธุรกิจ ดอน คอร์เลโอเนก็เปรียบเสมือนนักบริหารที่ใช้อาวุธนี้ได้เต็มประสิทธภาพของมัน “ข้าจะพูดเหตุผลกับมัน” คือคำพูดที่มีชื่อเสียงประโยคหนึ่งของเขา มันเป็นเหมือนคำเตือนให้รู้ตัวก่อนลงมือเล่นงานกันถึงตาย เมื่อเขากลายเป็นดอนคนหนึ่งไปแล้วและขอให้คู่แข่งมานั่งคุยกันด้วยเหตุผลกับเขา พวกนั้นจะเข้าใจทันทีว่ามันเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาโดยไม่มีการนองเลือดและฆ่าฟันกัน ก่อนจะมีการเจรจา ดอน คอร์เลโอเนจะไตร่ตรองทุกอย่างอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด ประเมินผลได้ผลเสียของมันในทุกๆ ทาง จนได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด และข้อสรุปนั้นก็กลายเป็นคำพูดอีกประโยคหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเขา “ข้ามีข้อเสนอที่มันปฏิเสธไม่ได้”
            คนหนึ่งที่เรียนรู้ศิลปะของการเจรจามาจากดอน คอร์เลโอเนดีที่สุด ก็คือ ทอม เฮเจน ผู้มีตำแหน่งเป็นคอนซีลโยรีของดอน “อย่าโกรธ อย่าขู่ จงพูดโดยใช้เหตุผล” นั่นคือประโยคที่ดอนสั่งมา คำว่า ใช้เหตุผลนั้นฟังเป็นภาษาอิตาเลียนได้ดีกว่าด้วยคำว่า ราจูนาห์ หรือการโต้แย้ง ศิลปะของการเจรจานี้อยู่ที่ว่า ไม่สนใจกับคำสบประมาท คำข่มขู่ต่างๆ ไม่สนใจมันทั้งหมด เฮเจนเคยเห็นดอนนั่งเจรจามาแปดชั่วโมง รับฟังคำสบประมาทต่างๆ พยายามชักจูงไอ้คนบ้าอำนาจให้เออออกับวิธีการของเขา เมื่อหมดเวลาแปดชั่วโมงนั้น ดอน คอร์เลโอเนก็ชูมือขึ้นอย่างหมดหวังและบอกคนที่นั่งเจรจาด้วยว่า “แต่ไม่มีใครจะใช้เหตุผลกับหมอนี่ได้” แล้วก็เดินออกมาจากการเจรจา สองเดือนหลังจากนั้นไอ้หมอนั่นก็ถูกยิงตาย
            สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการเจรจาก็คือกฎแห่งความเงียบ หรือโอเมอร์ตาของชาวซิซิเลียน มันเป็นเช่นเดียวกับการรักษาความลับในทางธุรกิจ การเจรจาครั้งหนึ่งของดอน คอร์เลโอเนพลาดไป และเกือบจะทำให้เขาเอาชีวิตไม่รอด ดอนไม่สนใจข้อเสนอร่วมค้ายาเสพติดกับมาเฟียอีกแก๊งหนึ่ง แต่ซันนี – ลูกชายของเขาแสดงท่าทีสนใจขึ้นมาระหว่างการเจรจา ทำให้ผู้มาเจรจาด้วยเกิดความคิดจะเก็บดอน ด้วยหวังว่าเมื่อไม่มีดอน มันจะเจรจากับซันนีได้ ประโยคสำคัญประโยคหนึ่งในเรื่องนี้ของดอนก็คือ “ซันตีโน อย่าให้ใครรู้ว่ามีอะไรอยู่ในอุ้งเล็บเอ็ง”
            ถ้าเปรียบดอนเป็นนักบริหาร เขาคือนักบริหารที่ชาญฉลาด รู้จังหวะ รู้เวลา รู้สถานการณ์ จังหวะไหนที่เขาควรจะรุก จังหวะไหนที่เขาควรจะรับ ดอนเป็นคนที่ทำอะไรผิดพลาดไม่กี่อย่าง และก็เรียนรู้ทุกอย่างจากความผิดพลาดนั้น
            การ รุกครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของดอนก็คือการขยายอาณาจักรเข้าสู่วงการพนัน ซึ่งทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนของอัล คาโปน ผู้เป็นมาเฟียที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้น ดอนโค่นเพื่อนของคาโปนลงได้ และสามารถยับยั้งให้อัล คาโปนต้องคิดทบทวนใหม่ในการที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนเก่าทำสงครามกับดอน เป็นการรุกที่ใช้กำลังอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ หลังจากครั้งนั้นดอนก็ได้รับความนับถือจากวงการใต้ดินทั้งสหรัฐ
            ในการ รับครั้งสำคัญ ก็คือการเจรจากับห้าครอบครัวของนิวยอร์กเพื่อทำสันติภาพ ทั้งๆ ที่พวกนั้นเพิ่งสังหารลูกชายคนโตของเขาไป มันเป็นการรับที่ทำให้ครอบครัวคอร์เลโอเนถูกประเมินว่าอ่อนแอลง ดอนแสดงให้เห็นว่าเขาเก่งกาจในเชิงการทูตการเจรจา การทำสันติภาพครั้งนั้นลุล่วงไปด้วยดีตามที่เขาวางเป้าไว้ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกประเมินว่าครอบครัวเขากำลังอ่อนแอ เพราะไม่ได้แก้แค้นให้ลูกชาย แต่ดอนมีแผนการยาวไกลไปกว่านั้น
            ยุทธศาสตร์ของดอนก็คือ แม้จะต้องรับ แต่ก็ต้องรัดกุม และไม่ใช่การรับในเรื่องที่จะแสดงถึงความพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง “ถ้าเราเคยยอมให้มันปั่นหัวในเรื่องเล็กๆ ได้ ต่อไปมันก็ต้องการครอบครองเราหมดทุกอย่าง เอ็งจะต้องหยุดยั้งมันตั้งแต่ต้นมือเหมือนกับที่พวกนั้นควรจะหยุดยั้งฮิตเลอร์ที่มิวนิคนั่นแหละ ไม่น่าให้มันรอดไปได้ พวกมันเรียกหาความยุ่งยากตอนที่ปล่อยให้มันรอดไปได้” ดอนเคยพูดอย่างนี้เมื่อปี 1939 ก่อนหน้าที่สงครามจะเกิดขึ้นจริงๆ เขาคิดด้วยว่าถ้าครอบครัวต่างๆ เป็นดำเนินงานกระทรวงการต่างประเทศ สงครามโลกครั้งที่สองจะไม่มีวันเกิดขึ้น    
            ทุกอย่างดูจะผสมผสานกันอย่างเหมาะเจาะในการทำงานและการคิดวางแผนของดอน คอร์เลโอเน เขาเลือกใช้กำลังหรือการเจรจาอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด กฎโอเมอร์ตาไม่เพียงแต่มีบทบาทในการเจรจา แต่รวมถึงการใช้กำลังด้วย เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ไม่ควรทำให้ศัตรูไหวตัวก่อน เมื่อเขาจะลงมือ มันจะต้องเฉียบขาด รวดเร็ว ได้ผล ชั้นเชิงของดอนอันนี้เหมือนกับที่ต่อมา ทอม เฮเกน ผู้เป็นคอนซีลโยรีบอกกับไมเคิล คอร์เลโอเนว่า “มีอย่างหนึ่งซึ่งเอ็งยังไม่ได้เรียนจากดอน นั่นก็คือการพูดอย่างที่เอ็งกำลังพูดอยู่นี่ มีหลายอย่างที่จะต้องทำ เอ็งทำมันไปเลย และอย่าพูดถึงมันเด็ดขาด อย่าพยายามพูดว่าสมเหตุสมผลทั้งนั้น เอ็งเพียงแต่ลงมือไปเลย แล้วก็ลืมมันเสีย”
            การใช้กำลังอำนาจกับการข่มขู่คุกคามในทัศนะของดอนเป็นคนละเรื่องกัน การคุกคามข่มขู่นั้นเป็นสิ่งที่โง่ที่สุด อีกนัยหนึ่งมันเป็นเพียงวิธีการของนักเลงสวะ ดอนสุขุมในทุกเรื่อง และในเรื่องเช่นนี้ยิ่งสำคัญ ไม่เคยมีใครได้ยินดอนพูดขู่ ไม่มีใครเคยเห็นดอนโกรธมากจนลืมตัว เพราะมันน่ารังเกียจ เขาบอกว่าไม่มีผลประโยชน์ใดทางธรรมชาติในชีวิตจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการให้ศัตรูประเมินความผิดพลาดของเราเองสูงกว่าที่เป็นจริง เว้นแต่ว่าจะมีเพื่อนที่ดีตีค่าความดีของเราต่ำต้อยกว่าความเป็นจริง – นั่นคือปรัชญาของดอน

การบริหารองค์กร การบริหารคน
            แม้ว่าดอนจะมีความสามารถในเชิงธุรกิจ เป็นผู้นำที่ดี แต่พื้นฐานความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือวิธีที่เขาจัดองค์กร วิธีที่เขาบริหารคน
            ข่ายงานของครอบครัวคอร์เลโอเน ถ้าเปรียบกับองค์กรธุรกิจ ดอน วีโต คอร์เลโอเนก็คือซีอีโอ เขามีคอนซีลโยรีคนหนึ่งเป็นเหมือนมือขวาของเขา ตามความหมายของตำแหน่งนี้คือที่ปรึกษา แต่โดยการทำงานของคอนซีลโยรีเป็นเหมือนซีโอโอ ที่คอยดูแลงานภาคปฏิบัติทั้งหมด ทำตามนโยบายที่ดอนกำหนด ให้ความคิดเห็นเมื่อต้องการ เป็นสมองอีกส่วนหนึ่งของดอน
            การจัดรูปองค์กรของดอนเริ่มขึ้นในช่วงการค้าเหล้าเถื่อน เมื่ออารณาจักรของเขาเริ่มใหญ่ขึ้น เขาตั้งตำแหน่งคอนซีลโยรีขึ้นมาในตอนนี้ และมีคาโปเรจิเมสองคนคือเคลเมนซากับเตสซิโอ เพื่อนเก่าที่ร่วมธุรกิจกันมาแต่แรก สายงานของคาโปเรจิมาแต่ละคนคือการแยกกันออกไปทำงาน มีกิจการเฉพาะที่ต้องดูแล มีคนในบังคับบัญชาโดยตรง ในบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลาง คาโปเรจิเมอาจเปรียบได้กับผู้จัดการฝ่าย หรือในบริษัทขนาดใหญ่ คาโปเรจิเมก็เหมือนกับผู้บริหารบริษัทในเครือ คาโปเรจิเมจะรายงานโดยตรงต่อดอน เหตุผลหนึ่งที่มีการแยกส่วนของคาโปเรจิเมก็เพื่อกันการรวมตัวกันโค่นล้มดอน และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจที่แยกแยะความรับผิดชอบชัดเจน และมีอิสระการทำงานในขอบเขตที่แน่นอน ระบบนี้ได้ผลเป็นอย่างดี
            ลำดับชั้นต่อจากนั้น ในสายงานของคาโปเรจิเมจะมีคนระดับคาโปหรือปัตตอนแมน ซึ่งมีคนในบังคับบัญชาจำนวนหนึ่ง เปรียบได้กับหัวหน้าแผนขององค์กรธุรกิจ ถัดลงไปเป็นพนักงานทั่วไป ถ้าเปรียบเทียบกับจำนวนคนในข่ายงานที่ครอบครัวคอร์เลโอเนมีอยู่ จะเห็นว่านี่คือการจัดองค์กรขนาดใหญ่ที่มีลำดับชั้นค่อนข้างน้อยและไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็มีความชัดเจนอยู่ในตัว ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานระดับสูงจะมีอิสระในการกำหนดการทำงานในส่วนของตนได้ นอกจากนี้ ในแง่องค์กรอาชญากรรม นี่คือการป้องกันตัวที่รัดกุม เราะระหว่างดอนกับผู้ปฏิบัติงานระดับล่างจะมีตัวกลางคั่นอยู่ในแต่ละช่วง หากเกิดอะไรผิดพลาด จะไม่มีอะไรโยงใยไปถึงตัวดอนเลย เว้นเสียแต่ว่าคอนซีลโยรีจะกลายเป็นคนทรยศ
            ในการบริหารบุคคล ดอนมีหลักสำคัญที่ได้ผลดีเสมอ คือการทำให้คนของเขารู้สึกพอใจต่อการได้อยู่ในโลก “ซึ่งให้รางวัลอย่างเหมาะสมถูกต้องแก่คนที่ทำหน้าที่ของตน” ดอนแสดงความรักออกมาเท่าๆ กัน ไม่มีลำเอียงให้กับใคร
            มนุษย์เรามีธรรมชาติที่อาจนับเป็นจุดด้อยได้อย่างหนึ่งคือ ไม่รู้จักถนอมน้ำใจคนใกล้ชิด เรามักให้ความเกรงใจแก่คนแปลกหน้าหรือคนที่เราไม่คุ้นเคยด้วย แต่กับผู้ที่เราสนิทสนมรักใคร่ เรามักจะมองข้ามจุดนี้ไป ทั้งที่มันสำคัญมากกว่า เคล็ดลับของดอนในการบริหารบุคคลก็คือ เขาตระหนักในเรื่องนี้และควบคุมตัวเองได้เสมอ ตัวอย่างหนึ่งก็คือวิธีที่จะพูดคำว่า “ไม่” ดอนบอกกับลูกชายคนเล็กในช่วงที่จะขึ้นมามีอำนาจแทนเขาว่า “เอ็งพูดคำว่า ไม่กับคนที่เอ็งรักบ่อยไปไม่ได้ นั่นแหละคือเคล็ดลับ และเมื่อต้องพูด ก็ต้องให้มันฟังเหมือนกับ ได้หรือไม่ก็ต้องให้พวกนั้นพูดว่า ไม่เสียเอง
            ดอนจึงชนะใจสมาชิกในองค์กรของเขา สร้างความเคารพนับถืออย่างยินยอมพร้อมใจ เพราะเขามีวิธีการเลี้ยงคนของเขา ถนอมน้ำใจคนของเขา รักคนของเขาเท่าๆ กัน และให้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างเหมาะสม มันคือหลักการง่ายๆ แต่ทำได้ยาก คือสามัญสำนึก คือความจริงพื้นฐาน แต่คนเราหรือผู้บริหารมักละเลย คนของดอนภูมิใจที่ได้อยู่ในโลกแห่งนี้ โลกซึ่งแม้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ลูกน้องของดอนก็สามารถเดินหน้าเชิดไปตามถนน ในกระเป๋าเต็มไปด้วยธนบัตร ไม่ต้องกลัวตกงาน ดอนดูแลโลกของเขาและคนของเขาอย่างดี เขาไม่ได้ให้ความผิดหวังแก่คนที่พึ่งพาเขาและทำงานให้เขา เมื่อคนของเขาบางคนโชคร้ายถูกจับ ครอบครัวของคนนั้นจะได้เงินยังชีพเท่ากับที่คนนั้นได้ตอนอยู่นอกคุก เมื่อออกจากคุกมาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีงานปาร์ตี้ มีโอกาสได้ร่วมดื่มไวน์กับดอน และมีเงินอีกก้อนรับขวัญ
            กับคนที่ จัดการด้วยยากอย่างลูคา บราชี มือสังหารที่ขึ้นตรงต่อเขา ดอนก็ต้อนรับเขาอย่างพระราชาต้องรับข้าราชบริพารที่ทำงานอันยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ไม่ได้แสดงความสนิทสนม มีแต่ให้ความนับถือ ทุกท่าทางทุกคำพูดเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนให้ลูคารู้ว่าเขาเป็นคนมีค่าสำหรับดอน

วิสัยทัศน์นักบริหาร
            ครั้งแล้วครั้งเล่า ในสถานการณ์ต่างๆ ดอน วีโต คอร์เลโอเนได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นนักบริหารผู้ชาญฉลาดและมีสายตายาวไกลไปข้างหน้า มองไปถึงอนาคต เมื่อเขาขยายธุรกิจจากการค้าน้ำมันมะกอกไปสู่การค้าเหล้าเถื่อน เขาก็มองเห็นแล้วว่าความมั่นคงทางธุรกิจไม่อาจผูกติดไว้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการใดเพียงหนึ่งหรือสองอย่าง เพราะหากธุรกิจนั้นเกิดปัญหาขึ้น มันอาจจะไม่เหลือทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากความหายนะ
            การค้าเหล้าเถื่อนเป็นจังหวะที่ดียิ่งในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้อาณาจักรของดอน แต่เมื่อมีการยกเลิกกฎหมายห้ามขายเหล้า อาณาจักรของเขาก็ไมได้พังทลายลงมา เพราะดอนมองไปที่ธุรกิจการพนันเตรียมไว้แล้ว และเขาก็ทำได้สำเร็จ หลังจากนั้นดอนก็ขยายข่ายธุรกิจของเขากว้างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงว่าอาณาจักรของเขาก็มั่นคงมากขึ้นด้วย เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ดอนก็เตรียมการไว้อย่างดีสำหรับครอบครัวของเขา เขามองเห็นแล้วว่าในยุคที่เขาจะวางมือไปและให้ลูกชายคนเล็กก้าวขึ้นมาแทน ธุรกิจนอกกฎหมายจะถูกกระทบมากขึ้น ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายของดอนก็ถูกเสริมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น และเมื่อสภาพของนิวยอร์กไม่เอื้ออำนวยสำหรับความรุ่งโรจน์เหมือนแต่ก่อน ดอนก็ฉลาดพอที่จะมองไปถึงเมืองใหม่ที่ยังรกร้างและแห้งแล้งในช่วงบุกเบิกอย่างลาสเวกัส เขาไปสร้างฐานธุรกิจใหม่ด้านโรงแรมและบ่อนคาสิโนขึ้นมาก่อนเป็นคนแรกๆ เขาพิจารณาแล้วว่ามันจะมีอนาคต และเขาก็คิดถูก
            ในเรื่องมิตรภาพก็เช่นกัน การที่ดอนให้ความช่วยเหลือทุกคน เขาไม่คิดหวังจะเรียกอะไรตอบกลับมาโดยเร็ว เขาพร้อมที่จะให้มิตรภาพไปก่อน ให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้วสักวันเขาอาจต้องการความช่วยเหลือบางอย่างจากคนที่เป็นหนี้มิตรภาพเขาอยู่ เขามองไปไกล ไกลมาก เขาช่วยเด็กฉลาดจากครอบครัวอิตาเลียนยากจนให้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย เพื่อต่อไปเด็กเหล่านั้นจะเป็นทนายความ เป็นผู้ช่วยอัยการ เป็นผ้พิพากษา นั่นคือการสร้างเส้นสายทางกฎหมายและการเมืองในระยะยาว ขณะเดียวกันเขาก็หว่านมิตรภาพไปถึงนักกฎหมาย นักการเมือง วุฒิสมาชิกในเวลานั้นด้วย ทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรง หรือผลพวงทางอ้อมที่ว่าเขาเป็นคนที่ชาวอิตาเลียนต้องการคำแนะนำเมื่อรู้สึกสับสนว่าจะลงคะแนนให้ใครดีในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ซึ่งทำให้ดอนกลายเป็นผู้ที่หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องมาปรึกษา มาขอการสนับสนุนจากเขา
            สายตาอันยาวไกลที่มีผลสำคัญที่สุดต่อความยิ่งใหญ่และยั่งยืนของครอบครัวคอร์เลโอเนก็คือการเจรจาสันติภาพกับครอบครัวอื่นในนิวยอร์กเพื่อระงับการทำสงคราม มันเป็นการตั้งรับที่คนอื่นมองว่าอ่อนแอ แต่ดอนรู้ดีว่าเขากำลังทำอะไร ลูกชายคนโตของเขาถูกสังหาร ลูกชายคนกลางไม่มีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการรับช่วงงานของเขา เหลือเพียงลูกชายคนเล็กซึ่งหลบหนีอยู่ที่เกาะซิซิลีหลังจากฆ่าคนของครอบครัวเหล่านั้น ดอนต้องเจรจาเพื่อเปิดทางให้ลูกชายของเขากลับมา มันเป็นทางเดียวที่เขาจะมีหลักประกันในชีวิตของลูกชาย ซึ่งหมายถึงหลักประกันของครอบครัวคอร์เลโอเนต่อไปด้วย การสืบทอดอำนาจในครอบครัวนั้นไม่ได้ขึ้นกับสายเลือดก็จริง แต่คาโปเรจิเมของเขาแก่เกินไปเช่นเดียวกับเขา คอนซีลโยรีของเขาทำหน้าที่ได้ดีในยามสงบ แต่ไม่ใช่คอนซีลโยรีในสถานการณ์สู้รบ ไม่มีใครอีกแล้วนอกจากไมเคิล คอร์เลโอเน และเขาต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ไมเคิลกลับมา
            ระหว่างการเตรียมไมเคิลให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้นำครอบครัว ดอนยอมทนต่อการรุกล้ำอาณาเขตโดยครอบครัวอื่น เขาบอกุกคนเพียงว่า “ข้าทำสันติภาพไปแล้ว ข้ากลับคำไม่ได้หรอก” นั่นทำให้แม้แต่คาโปเรจิเมคู่ใจของเขายังคิดว่าครอบครัวคอร์เลโอเนอ่อนแอแล้วจริงๆ ดอนเองก็แก่เกินกว่าจะทำศึกได้เหมือนก่อน แต่ทุกอย่างอยู่ในใจของดอนหมดแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อม ไมเคิลก็รับช่วงสิ่งที่ดอนได้เตรียมไว้ โดยนำครอบครัวคอร์เลโอเนล้างบางครอบครัวบาร์ซินีและครอบครัวตาตตาเกลียคู่ปรับโดยที่ดอนไม่ได้ละเมิดสัญญาสันติภาพเลย เพราะเขาวางมือไปแล้ว
            ลูกเขยของดอนที่เป็นเหยื่อล่อให้ลูกชายคนโตของดอนไปติดกับ  และคาโปเรจิเมคนสนิทที่หันไปอยู่ข้างศัตรูเมื่อเห็นว่าครอบครัวคอร์เลโอเนไม่มีอนาคตอีกต่อไปและไม่ยอมรับให้ไมเคิลขึ้นมาเป็นดอน ก็ตกเป็นเป้าปฏิบัติการที่รวดเร็ว เฉียบขาด ไปด้วยพร้อมกัน ทุกอย่างลงเอยเหมือนคำพูดของดอนที่ว่า “การแก้แค้นเป็นอาหารที่มีรสชาติดีที่สุดเมื่อมันเย็นแล้ว ข้าจะไม่ทำสันติภาพนั้นหรอก แต่ข้ารู้ว่าถ้าไม่ทำ เอ็ง (ไมเคิล) ไม่มีทางรอดชวิตกลับมาบ้านได้” ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าดอนทำสงครามแทนการทำสันติภาพในช่วงนั้น ครอบครัวคอร์เลโอเนอาจไม่มีวันชนะ
            ดอน วีโต คอร์เลโอเน อาจเป็นเพียงตัวละครในนิยายตัวหนึ่ง แต่มาริโอ พูโซก็เขียนนิยายเรื่องนี้และสร้างตัวละครอย่างนี้ขึ้นมาจากความจริงของยุคสมัยที่องค์กรนอกกฎหมายรุ่งโรจน์อยู่ในอเมริกา อาจมีการแต่งเติมบ้าง แต่จะอย่างไรก็ตาม นี่คือตัวอย่างที่น่าศึกษา
            ประโยคสุดท้ายของดอน วีโต คอร์เลโอเน ก่อนสิ้นชีวิตบอกอะไรได้หลายอย่าง “ชีวิตสวยงามมาก” ชีวิตของดอนไม่ใช่ชีวิตที่สุขสบาย เขาถูกตามล่ามาแต่เด็ก ต่อสู้ฝ่าฟันตลอดมา แต่ชีวิตของเขาสวยงาม เพราะเขาลิขิตชีวิตของเขาเอง
#
*ข้อความที่อ้างอิงจากหนังสือ The Godfather เป็นสำนวนแปลของ ธนิต ธรรมสุคติ 
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.. 2527
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร Man ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2529)

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศึกษาจากมาเฟีย

‘การจัดการด้วยข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้’ 
โดย วิวิธ วุฒิวีรวรรธน์*
หนังสือเกี่ยวกับการบริหาร-จัดการมากมาย แต่บ้างก็เป็นเพียงทฤษฎีทั้งแท่งที่น่าเบื่อหน่ายเกินกว่าจะอ่านสำหรับนักธุรกิจผู้เคยศึกษามาแล้วจากห้องเรียน บ้างก็เป็นเชิงประยุกต์ที่อิงประสบการณ์ของนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงบางคนที่แห้งแล้งเกินไป เป็นประสบการณ์ในสถานการณ์ที่พ้นสมัยไปแล้วหรือเป็นเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างที่ไร้ประโยชน์ บ้างเป็นการคิดสร้างสถานการณ์ขึ้นมาทดสอบวิจารณญาณของนักบริหารที่ชวนให้งุนงงและเสียเวลาเปล่าสำหรับการปรับใช้ในสถานการณ์จริง และบ้างก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสามัญสำนึก ถ้าเพียงแต่แต่ละคนจะไม่ละทิ้งมันไป
            ความต้องการหนังสือในแนวนี้ แต่ดีกว่านี้ มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ได้รับการเสนอออกมาเป็นเพียงแง่ของปริมาณ มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่สามารถเป็นกรณีศึกษาอันน่าตื่นเต้น ให้แนวคิดใหม่ๆ และสนุกที่จะอ่าน ซึ่งบรรจุเอาเนื้อหาแห่งศิลปะการจัดการที่เต็มไปด้วยไหวพริบและความชาญฉลาดมาถ่ายทอดให้ซึมซับรับเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ ในจำนวนหมื่นที่ออกมาอาจนับได้เพียงสิบ และบางเล่มก็ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าจะเคยมีผู้ค้นพบคุณค่าของมันมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม
            The Godfather คือหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการฝึกอบรมด้านการบริหารบางคน แนะนำให้นักศึกษาของตนใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบ มันอาจจะเป็นหนังสือเล่มที่เนื้อหาเต็มไปด้วยเรื่องราวของการท้าทายกฎหมายและจริยธรรม แต่ในมุมมองของคนเหล่านี้ มันคือตำราทางการจัดการที่ทรงคุณค่ามากที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เขียนกันมา
            ทำไมนิยายอาชญากรรมชิ้นเยี่ยมของ มาริโอ พูโซ จึงกลายเป็น “หนังสือแนะนำ” จากผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร ทำไม เรดี จี บันน์ และ แอนโธนี เจ. ทัสคา จึงบอกว่านักบริหารควรศึกษาจากมาเฟีย รวมทั้งคำเยินยอว่ามันคือ “ธุรกิจที่มีการจัดการที่ดีที่สุดในโลก” คำตอบย่อมมีเหตุผล แม้งานของคนเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้วิธีการหลายอย่างที่ใช้เป็นสิ่งผิดศีลธรรม แต่ความจริงก็คือ องค์กรนอกกฎหมายของพวกซิซิเลียน (และอิตาเลียน) ที่เคยมีอยู่จริงในอเมริกา (และมาริโอ พูโซ ได้นำมาจำลองลงในเรื่องราวของเขาอีกต่อหนึ่งบนฐานความเป็นจริงนั้น) มีกิจการที่ทำเงินได้ปีละ 10-40 พันล้านเหรียญสหรัฐในยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุดตอนทศวรรษ 1960 ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเจเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งได้รับการจัดเป็นอันดับที่หนึ่งใน 500 กิจการที่ใหญ่ที่สุดโดยนิตยสารฟอร์จูน ในเวลานั้นก็ยังทำเงินได้เพียงปีละ 2.8 พันล้านเหรียญ พวกมาเฟียซิซิเลียนทำอย่างนั้นได้อย่างไร จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับคำตอบ
            สำหรับคนทั่วไป The Godfather อาจเป็นเพียงนวนิยายที่ตื่นเต้นจนวางไม่ลง ให้รสชาติความบันเทิงได้อย่างถึงแก่น และสามารถแสดงภาพของขบวนการมาเฟียนอกกฎหมาย ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยมีการเขียนกันมา แต่นอกเหนือจากอรรถรสแบบนวนิยาย มาริโอ พูโซรู้ดีว่าประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอคืออะไร และจุดสำคัญก็คือวิธีการสร้างอาณาจักรของครอบครัวคอร์เลโอเนด้วยวิถีทางที่ไม่มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอื่นใดจะทำได้ โดยผ่านทางบุคลิกภาพผู้นำ โดยไหวพริบในเชิงธุรกิจ และการตัดสินใจอย่างรอบคอบและชาญฉลาด เขาคือ “ผู้ที่ทุกคนจะมาขอความช่วยเหลือ และไม่เคยผิดหวังกลับไป” เขาคือ ดอน วีโต คอร์เลโอเน

มาเฟียไม่ใช่แก๊งโจร
            สำหรับดอน วีโต คอร์เลโอเน เขาจะชั่งน้ำหนักทางเลือกแต่ละทางก่อนเสมอ เขาสามารถที่จะแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง ไม่ใช่รอคอยให้โอกาสมาถึง แล้วจากนั้นเขาก็จะทำการชักชวนเกลี้ยกล่อมผู้อื่น “ด้วยข้อเสนอที่เอ็งปฏิเสธไม่ได้” เขาฉับไวเสมอในการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับคู่ปรับ แม้ว่ามันอาจจะหมายถึงสงครามระหว่างแก๊ง และในที่สุดเมื่อเวลาของเขากำลังจะหมดไป เขาก็นำเอาลูกชายที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีขึ้นมาสืบทอดอำนาจแทน
            พูโซสร้างวีโต คอร์เลโอเนขึ้นมาจากชีวิตจริงของครอบครัวมาเฟียนิวยอร์ก ซึ่งอาณาจักรแห่งอำนาจอิทธิพลนั้นยั่งยืนอยู่กว่าครึ่งศตวรรษ แน่นอน มาเฟียเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแก๊งโจรธรรมดา การใช้อาวุธและความรุนแรงอาจเป็นวิถีทางหนึ่ง แต่วิธีการจัดองค์การ วิธีการจัดการ และหลักการทางธุรกิจของพวกเขานั่นต่างหากที่ทำอาณาจักรให้ยั่งยืนและทรงพลัง
            วิธีการของพวกมาเฟียในเชิงธุรกิจอยู่เหนือกาลเวลาในยุคสมัยนั้นไปไกลทีเดียว ดไวท์ สมิธ จูเนียร์ อดีตประธานกลุ่มวิเคราะห์องค์การแห่งแคมบริดจ์, แมสสาชูเส็ตต์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านองค์การอาชญากรรม บอกว่า “เมื่อเราเริ่มศึกษาเกี่ยวกับพวกมาเฟียในระหว่างการสืบสวนโดยสภาสูงช่วงต้นทศวรรษหกสิบ สังคมของเรายังคงหมกมุ่นอยู่กับความคิดเรื่องโครงสร้างบริษัท เรื่องนักจัดองค์การ แต่เรากลับพบว่าพวกองค์การนอกกฎหมายสามารถจัดองค์การได้โดยไม่ต้องมีโครงสร้างองค์การมาคอยถ่วง ด้านหนึ่งพวกมาเฟียอาจเป็นเหมือนเคาบอยตะวันตกสมัยก่อน ที่เพียงมีปืนแล้วออกแสวงโชค แต่พวกเขาสามารถจัดการกับธุรกิจในแบบ ตกลงกับข้า แล้วข้าจะสร้างตลาดให้เอ็ง หามาว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเราจะจัดการในเรื่องข้อตกลงทั้งหมดที่จะตรงตามความต้องการเหล่านั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จ”
            การตอบสนองความต้องการของตลาด คือสิ่งที่ทำให้พวกมาเฟียยิ่งใหญ่อยู่ในอเมริกา ความต้องการในเวลานั้นคือเหล้า เวลาคือช่วงที่มีกฎหมายห้ามสุรา บริการของมาเฟียคือการค้าเหล้าเถื่อน ด้วยการทำธุรกิจเช่นนี้ ทำให้อัล คาโปนกลายเป็นราชาแห่งเมืองชิคาโก ทำเงินได้กว่า 80 ล้านเหรียญต่อปี ต่อมาพวกมาเฟียก็ได้ปรับเอาหลักการนี้ไปใช้ในกิจการผิดกฎหมายอื่นๆ อีก ลัคกี ลูเชียโนเป็นตัวอย่างหนึ่ง มีกิจการซ่องโสเภณีกว่า 200 แห่งในนิวยอร์ก และเขาสามารถรวมมันเข้าด้วยกันเป็นคาร์เท็ลภายใต้ข้อตกลงที่จะไม่มีการแข่งขันกันเอง ในขณะที่ธุรกิจเหล่านี้ของตนเติบโต พวกมาเฟียมีสายตายาวไกลออกไปพอที่มองเห็นว่าในวิถีธุรกิจไม่สามารถวางใจในผลิตภัณฑ์ใดเพียงอย่างเดียวได้ และเขาก็มุ่งหน้าสู่ธุรกิจอื่น มีผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติม ในการศึกษาจากผู้นำมาเฟียที่เข้าร่วมในการประชุมอะปาลาชินที่อื้อฉาวเมื่อปี 1957 (ซึ่งตำรวจสามารถเข้ากวาดล้างและจับกุมตัวแทนมาเฟียจากหลายกลุ่มได้สำเร็จ) เปิดเผยว่าธุรกิจของมาเฟียมีมากมาย และส่วนใหญ่ถูกกฎหมาย นับตั้งแต่กิจการตู้ขายของแบบหยอดเหรียญ, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, การขนส่ง, ร้านขายของชำ, ภัตตาคาร, การนำเข้าน้ำมันมะกอก และอีกมากกว่ามาก
            กิจการเหล่านี้เป็นต้นแบบของความคิดในการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอเมริกาในยุคต่อมา นั่นคือ “การให้สิทธิ” หรือ “License” โฮเวิร์ด อบาดินสกี ประธานสมาคมระหว่างประเทศเพื่อศึกษาองค์การอาชญากรรม ให้ความเห็นว่า “มันเหมือนแม็คโดนัลด์มากกว่าไอบีเอ็ม สมาชิกจะได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินกิจการของตัวเอง”
            บรรดาที่ปรึกษาของแม็คโดนัลด์จะคอยให้คำปรึกษาอย่างถี่ถ้วนแก่ลูกจ้างของตนในการออกไปเปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์โดยได้รับอนุญาตจากบริษัท ในกรณีของพวกมาเฟีย “เจ้านายใหญ่” จะเป็นคนกำหนดจำนวนร้านค้าที่จะมีได้ในกิจการแต่ละประเภท มีการกำหนดข้อห้ามที่แน่นอนในกิจการแต่ละอย่าง (เช่นการค้าฝิ่นเป็นข้อห้ามสำหรับครอบครัวมาเฟียชิคาโก) และให้การช่วยเหลือสมาชิกเป็นอย่างดี แม้ว่านายใหญ่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจของสมาชิกแต่ละคน แต่เขาจะได้รับส่วนแบ่งเพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพและจงรักภักดี
            ในด้านกลับ นายใหญ่ก็จะให้บริการบางอย่างแบบเดียวกับที่บริษัทเจ้าของสิทธิทั้งหลายทำกัน เขาจะกำหนดพื้นที่ให้ธุรกิจอันนั้น ทำให้แน่ใจได้ว่าธุรกิจของสมาชิกสองคนจะไม่ต้องต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กันเอง (ตรงนี้อบาดินสกีเคยตั้งคำถามว่า “แม็คโดนัลด์ก็เคยกำหนดไม่ใช่หรือว่าร้านแม็คโดนัลด์สองร้านต้องอยู่ห่างกันเท่าไร”) นายใหญ่ยังอาจจะติดต่อบางเรื่องให้เพื่ออำนวยความสะดวก จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ และ “ให้ความคุ้มครอง” ที่เหลือเป็นสิ่งที่สมาชิกจะดำเนินการเอง

การวางรากธุรกิจ
            โจเซฟ วาลากี อดีตมาเฟียระดับนำเปิดเผยว่าเขาเริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจสล็อตแมชีนได้อย่างไร ภายใต้การบริหารของนายกเทศมนตรี เจมส์ วอล์คเกอร์ หัวหน้ามาเฟียท้องถิ่นชื่อแฟรงค์ คอสเทลโล ได้ทำให้นิวยอร์กเป็นดงสล็อตแมชีนได้สำเร็จ วาลากีอยากจะเป็นเจ้าของเครื่องสล็อตแมชีนบ้าง และเขาได้รับอนุญาตให้มีได้ 20 เครื่อง นั่นไม่ได้หมายความว่าวาลากีได้เครื่องไป 20 เครื่อง แต่เป็นสติกเกอร์ 20 ใบจากคอสเทลโล เพื่อเอาไปติดที่เครื่องซึ่งเขาต้องจัดหาเอง เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกว่าเครื่องเหล่านั้นอยู่ในความคุ้มครองของคอสเทลโล วาลากีต้องจัดการกับการเงินในกิจการของตัวเอง เลือกสถานที่ที่จะตั้ง และขออนุมัติ แล้วจ้างพนักงานเพื่อให้บริการ
            อะไรจะเกิดขึ้นถ้ากิจการเหล่านี้มีปัญหา ในกรณีของวาลากี งานของเขาล้มเหลวและขาดทุน ดังนั้นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งในเวลานั้นคือ ลัคกี ลูเชียโน ได้ส่ง “ผู้ควบคุม” มาช่วยดูแลและทำให้ฐานะการเงินสมดุล ผู้ควบคุมจะได้ 35 เปอร์เซนต์จากรายได้แต่ละวัน ธุรกิจของวาลากีดีขึ้น ผู้ควบคุมทำมันได้ดี และนายใหญ่ก็ได้ส่วนแบ่งมากขึ้น ทุกคนได้กำไร ไม่มีใครขาดทุน
            มีโอกาสสำคัญอยู่สองอย่างที่ “ครอบครัว” จะหยิบยื่นให้สมาชิก คือ การได้เข้าร่วมในกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในรูปคล้ายสหกรณ์ และได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจผูกขาดที่ครอบครัวมาเฟียได้สร้างขึ้นมา เนื่องจากครอบครัวมาเฟียมีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวาง สมาชิกที่ได้โอกาสนั้นจึงสามารถเลือกได้ว่าธุรกิจของเขานั้นจะเข้าร่วมในกลุ่มธุรกิจใดได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น สมาชิกของครอบครัวที่มีร้านขายเนื้อสัตว์ก็จะสามารถได้สิทธิในการส่งเนื้อให้กับภัตตาคารของสมาชิกคนอื่น พวกที่มีกิจการขนส่งก็จะทำหน้าที่ขนของให้พวกที่ค้าเหล้าเถื่อน แน่นอนว่า ธุรกิจของสมาชิกทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมให้สนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
            ครอบครัวยังช่วยสมาชิกในการสร้างการผูกขาดขึ้นมาอีกด้วย “ในวงจร จุดหมายอย่างหนึ่งของครอบครัวคือการสร้างการผูกขาดขึ้นมาเท่าที่มันจะสามารถเป็นไปได้” โจเซฟ โบนานโน อดีตหัวหน้าครอบครัวมาเฟียชั้นนำหนึ่งในห้าครอบครัวของนิวยอร์กเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ A Man of Honor “ถ้ามีคนนอกมาเปิดร้านเบเกอรี่อยู่ใกล้กับร้านเบเกอรี่ของสมาชิกครอบครัว คนของครอบครัวมีสิทธิที่จะพยายามขับไล่เจ้าของร้านคู่แข่งไปให้พ้นจากธุรกิจนั้น หรือไม่ก็พยายามทำความตกลงกันให้ได้ในบางเรื่อง สิ่งที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่ในสายตาคนนอก มันเป็นเพียงการปกป้องตัวเองเมื่อมองจากสายตาของคนใน
            การผูกขาดแบบนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงธุรกิจอื่นของสังคมเสรีอย่างอเมริกาในเวลานั้น ในปี 1952 จึงเริ่มปรากฏให้เห็นในธุรกิจที่ถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก โดยกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 29 บริษัท รวมทั้งบริษัทใหญ่อย่าง เจเนอรัล อีเล็คทริค และ เวสติงเฮาส์ ได้ร่วมกันกำหนดราคาสินค้าเป็นมาตรฐานขึ้นมา และรวมกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำความตกลงร่วมกันที่จะไม่แข่งขันและตัดราคา ในการให้การต่อสภาสูง ผู้บริหารของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งถูกอ้างถึงคำพูดของเขาว่า “เราแต่ละคนได้รับคำแนะนำให้กำหนดราคาโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในแต่ละบริษัท ซึ่งในจุดนี้เขาเห็นว่าการกำหนดราคามาตรฐานคือความรับผิดชอบของเขา” ดไวท์ สมิธ ตั้งข้อสังเกตว่า “คำให้การของพวกเขา แบบแผนความคิดและการกระทำเปรียบเทียบได้กับที่สมาชิกมาเฟียให้การกับเราเมื่อปีก่อน”

ลำดับชั้นในองค์กร
            ถ้านำเอาโครงสร้างขององค์กรมาเฟียมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างองค์กรธุรกิจ จะเห็นข้อแตกต่างอะไรบ้าง อย่างแรกก็คือ มันมีความซับซ้อนน้อยกว่า และไม่มีขั้นตอน-ความล่าช้าแบบระบบราชการหรือองค์การธุรกิจใหญ่ๆ บนยอดสุดคือนายใหญ่ รองลงมาจากเขาคือหัวหน้าระดับรอง หรือ “คาโปเรจิเม” ซึ่งมีหน้าที่คล้ายเป็นผู้จัดการในแต่ละส่วนงาน ต่ำลงไปอีกชั้นหนึ่งคือพวก “คาโป” ซึ่งอาจเปรียบได้กับทหารระดับนายร้อยซึ่งคุมกำลังแต่ละหน่วย นอกจากนั้นเป็นพวกทหารธรรมดา นี้เป็นการจัดลำดับชั้นตามสถานะและอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะอันที่จริงแล้วพวกทหารระดับล่างสุดอาจจะทำเงินได้มากกว่าพวกคาโปที่อยู่เหนือพวกเขาขึ้นไปก็ได้ ถ้าธุรกิจส่วนตัวของเขาประสบความสำเร็จอย่างดี
            แต่ละคนในทุกลำดับชั้นมักมีสองบทบาท ส่วนใหญ่ดูเหมือนกับนักธุรกิจอิสระ แต่เมื่อนายใหญ่เรียกพวกเขามา พวกเขาจะทำหน้าที่รับใช้ครอบครัวอย่างเต็มกำลัง บางตอนจากหนังสือ The Godfather แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบนี้ได้อย่างดีว่ามันดำเนินไปอย่างไร “ระหว่างหัวหน้าครอบครัว คือ ดอน คอร์เลโอเน ผู้กำหนดนโยบาย กับผู้ปฏิบัติงานในระดับต่างๆ ตามคำสั่งของดอน แบ่งออกเป็นสามระดับ โดยวิธีนี้จะไม่มีอะไรโยงใยไปถึงหัวหน้าได้เลย เว้นเสียแต่คอนซีลโยรี (หมายถึงตำแหน่งที่ปรึกษาของดอนจะทรยศ) ในเช้าวันอาทิตย์นั้น ดอน คอร์เลโอเนออกคำสั่งไปอย่างชัดเจนว่าควรจะทำอย่างไรกับเจ้าหนุ่มสองคนที่ทำร้ายลูกสาวของอเมริโก โบนาเซรา แต่เขาออกคำสั่งนั้นเป็นการส่วนตัวกับทอม เฮเจน ต่อมาในวันเดียวกัน เฮเจนก็สั่งต่อกับคลีเมนซา เป็นการส่วนตัวเหมือนกัน จากนั้นคลีเมนซาบอกให้เปาลี กัตโตลงมือปฏิบัติการ เปาลี กัตโตกับคนของเขาจะไม่รู้เลยว่าทำไมจะต้องทำงานชิ้นนี้ หรือว่าใครคือคนสั่งตั้งแต่แรก การเชื่อมโยงกันแต่ละจุดในสายงานแบบนี้จะทำให้ดอนรู้ได้ว่าใครคือคนทรยศ และถึงแม้ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น แต่มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ ทางแก้สำหรับเหตุการณ์ทุกอย่างนั้นก็เป็นที่รู้กัน ตัวเชื่อมที่จุดนั้นเท่านั้นที่จะต้องหายไป”
            ไม่เหมือนกับผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานธุรกิจอื่น นายใหญ่ของมาเฟียเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ เขาสามารถกระทำการใดๆ ได้ทันที และตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่ได้รับผิดชอบหรือผูกพันกับใครในทางการงาน ไม่มีคณะกรรมการมาพิจารณาอนุมัติ ไม่มีการประชุมกรรมการบริหาร ไม่มีความล่าช้าเฉื่อยชาตามธรรมชาติขององค์กรใหญ่ เขาคือผู้กุมอำนาจสูงสุด เป็นจุดรวมของข่ายงานชั้นยอดในตัวเอง แต่อำนาจที่แท้จริงของเขานั้นไม่ได้มาจากโครงสร้างองค์กรของเขา หากมาจากความยินยอมพร้อมใจและการยอมรับนับถือของสมาชิก และการสร้างใยแห่งหนี้บุญคุณขึ้นมา ดอน วีโต คอร์เลโอเน ของมาริโอ พูโซ เป็นดอนที่ “สะสมการกระทำดีๆ เฉกเช่นที่นายธนาคารสะสมพันธบัตร” และเป็นคนที่มองไกลไปถึงอนาคตข้างหน้าเสมอ
            “ดอน วีโต คอร์เลโอเน ช่วยเหลือทุกคน... และมันเป็นไปโดยธรรมชาติเมื่อคนอิตาเลียนเหล่านี้รู้สึกงุนงงและสับสนว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนพวกเขาในสภาของรัฐ เทศบาล รัฐสภา พวกเขาจะมาขอคำแนะนำจากเพื่อนของพวกเขา-ดอน คอร์เลโอเน ผู้เป็ก็อดฟาเธอร์ของพวกเขา ดังนั้นเขาจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องมาขอคำปรึกษา เขารวบรวมอำนาจเหล่านี้ไว้ด้วยความเฉลียวฉลาดอย่างรัฐบุรุษผู้เห็นการณ์ไกล โดยการช่วยเด็กฉลาดจากครอบครัวอิตาเลียนที่ยากจนให้เข้าวิทยาลัย เด็กเหล่านั้นซึ่งต่อมาจะได้กลายเป็นทนายความ เป็นผู้ช่วยอัยการ หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษา เขาเตรียมการสำหรับอนาคตแห่อาณาจักรของเขาด้วยการมองการณ์ไกลเช่นเดียวกับบรรดาผู้นำประเทศผู้ยิ่งใหญ่”
            บุคคลที่จะขึ้นไปได้ถึงตำแหน่งสูงสุดในลำดับชั้นขององค์การมาเฟียไม่ใช่คนที่ร่ำรวยที่สุด แต่เป็นคนที่ข่ายงานกว้างขวางที่สุด นั่นคือวิธีที่อัล คาโปนขึ้นไปถึงจุดที่เขาเป็นอยู่ได้ ในหนังสือชื่อ Honor Thy Father เกย์ ทาลีส เขียนไว้ว่า ไม่มีซิซิเลียนคนไหนที่เปรียบความสามารถด้านการจัดองค์กรกับคาโปนได้ สายงานทางการเมืองของเขามีทั่วอิลลินอยส์ และความคุ้นเคยส่วนตัวของเขากับหัวหน้ามาเฟียอื่นๆ ก็มีอยู่ทั่วประเทศ”
            “เราสามารถสรุปโครงสร้างขององค์กรอาชญากรรมแบบนี้ได้ว่าเป็นโครงข่ายของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์” โฮเวิร์ด อบาดินสกีให้ความเห็น “นายใหญ่จะทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์แก่ลูกน้องของเขา และลูกน้องของเขาก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป มันเป็นสถานการณ์เดียวกับในหน่วยงานใหญ่ๆ ของอเมริกาขณะนี้ แม้ว่าจะต่ำระดับลงมา ผู้บริหารองค์การต่างๆ จะให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตกลงกันในเวลาที่พวกเขาออกไปเล่นกอล์ฟ และสามารถขอความช่วยเหลือกันได้ในเวลาที่เขาต้องการ”
            ผู้นำมาเฟียไม่ต้องการให้ตัวเขาถูกเปรียบเทียบกับบรรดานายใหญ่หรือผู้บริหารขององค์กรธุรกิจทั่วไป หรือให้งานของพวกเขาถูกเปรียบกับงานของบริษัทต่างๆ พวกเขาชอบใช้คำว่า “ครอบครัว” และตัวเขาคือ “ฟาเธอร์” หรือ “ก็อดฟาเธอร์” และเช่นเดียวกับพ่อทุกคน ก็อดฟาเธอร์ต้องการความจงรักภักดี “ผมไม่ได้เงินจากการเป็นฟาเธอร์” โจเซฟ โบนานโนบอก “แต่ที่ผมได้ชดเชยก็คืออิทธิพล และความเคารพ – ซึ่งมันช่วยให้หลายสิ่งหลายอย่างเป็นไปได้สำหรับผม สิ่งสำคัญก็คือเกียรติยศอันนี้ ไม่ใช่การใช้กำลังบังคับ ที่ช่วยให้ผมสามารถสั่งการต่างๆ ได้”
            คนเป็นฟาเธอร์ได้จะต้องเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ดี “เขาจะต้องเป็นคนที่รู้ครอบจักรวาล” โบนานโนอธิบาย “เขาต้องตกลงกับคนทุกประเภท ทั้งในครอบครัวและและข้างนอก ทั้งกับคนที่รู้เหตุผลและคนที่เข้าใจเพียงการใช้กำลัง เหมือนประมุขแห่งรัฐ ฟาเธอร์จะต้องช่ำชองในการใช้วิธีการทูตมากเท่าๆ กับการใช้กำลัง”
            ฟาเธอร์ใช้อำนาจของเขาโดยอาศัยความกลัว ความเคารพ และประเพณี ประเพณีของคนเหล่านี้สร้างรูปแบบความจงรักภักดีสูงสุดอย่างที่ทุกหน่วยงานธุรกิจไม่มีวันจะได้มา นิค ชิอาร์คาส รองหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการด้านการสืบสวนของสภาสูงให้คำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “ยกตัวอย่างว่ามีนักจัดองค์กรคนหนึ่งมาบอกผมว่า เฮ้ นิค เราต้องการให้แกไปพัวพันกับสหภาพนี้ และเราพร้อมจะจ่ายเงินก้อนใหญ่สนับสนุนแก มีการประชาสัมพันธ์ให้แก และเรายังพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้แกเข้าไปในนั้นแล้วถ้าเกิดมีใครสักคนบอกว่า ทำไมต้องนิค ทำไมไม่ใช่ข้านั่นมันจบเลยทันที แต่สำหรับพวกมาเฟียจะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าครอบครัวต้องมาก่อน”
            ตอนที่อัลเฟรด พี. สโลน จูเนียร์ ได้เป็นประธานของเจเนอรัล มอเตอร์ส มีคำถามว่าต้องอาศัยอะไรบ้างในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของจีเอ็ม เขาตอบว่า “โดยธรรมชาติแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงสุด มีพลังผลักดัน และพร้อมที่จะทำงานหนัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เขาต้องพร้อมที่จะจ่ายไปให้กับการเป็นนักบริหารในตำแหน่งสูงสุด นั่นก็คือทำให้ผลประโยชน์ของบริษัทเป็นสิ่งที่จะต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด แม้แต่ความสุขในชีวิตครอบครัวของตัวเอง”
            สิ่งที่สโลนบอกไว้ คือสิ่งเดียวกับที่พวกมาเฟียยึดถือ ไม่ใช่เฉพาะระดับนำเท่านั้น แต่ในทุกๆ ระดับ “พวกเขายึดมั่นในเป้าหมายอย่างถึงที่สุด” ชิอาร์คาส บอก “นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมคนเหล่านี้จึงอยู่เหนือกฎหมายได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกังวลว่าถึงเวลาเลิกงานหรือยัง คิดเรื่องวันหยุด แต่ในขณะที่พวกนั้นคิดจะปล้นธนาคาร เขาไม่พูดกันหรอกว่า เฮ้  ข้าต้องกลับบ้านตอนห้าโมงนะ’”

โอกาสที่สอง – ไม่มี
            ผู้เชี่ยวชาญทางการจัดการบางคนนำเอาความจงรักภักดีของมาเฟียไปเปรียบกับหน่วยงานญี่ปุ่น “มันเหมือนปรัชญากรรมสิทธิ์ร่วมของคนญี่ปุ่น” บีน แบรดี นักเขียนผู้เป็นเจ้าของหนังสือทางการจัดการหลายเล่มให้ความเห็น “คุณต้องอุทิศตัวให้กับบริษัท และถ้าคุณทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนบริษัท คุณต้องออก ไม่มีโอกาสเป็นครั้งที่สอง”
            สำหรับสมาชิกในครอบครัวมาเฟียเป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาจะต้องเรียนรู้การปฏิบัติตามกฎแห่งพฤติกรรมที่สมาชิกพึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และหนึ่งในนั้นก็คือวินัยของตัวเอง บิลล์ โบนานโน บอกถึงวิธีที่พ่อของเขาตอกย้ำกฎข้อนี้ไว้ในตัวเขาว่า พ่อของเขาขับรถไปยังที่แห่งหนึ่ง แล้วสั่งให้เขารออยู่ในรถ สิบสองชั่วโมงต่อมาพ่อของเขาจึงกลับมาโดยไม่มีคำอธิบายสักคำ “ผมมารู้ในเวลาต่อมาว่าพ่อต้องการทดสอบความอดทนและวินัยของผม”
            เช่นเดียวกับนักธุรกิจในวอลล์สตรีท ครอบครัวมาเฟียมีกฎที่เรียกว่า “โอเมอร์ตา” มันคือ “กฎแห่งความเงียบ” ซึ่งเป็นของชาวซิซิเลียน มีเหตุผลที่ดีสำหรับการมีกฎอย่างนี้ ในด้านหนึ่งมันสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ และอีกด้านหนึ่งมันคือเครื่องมือในการเจรจาที่มีประสิทธิภาพ “อย่าให้ใครข้างนอกครอบครัวรู้ว่าเอ็งกำลังคิดอะไร อย่าให้พวกมันรู้ว่ามีอะไรในอุ้งเล็บเอ็ง” ดอน คอร์เลโอเนเคยสอนลูกชายไว้อย่างนั้น กฎนี้ยังช่วยกำจัดความจำเป็นในการที่ต้องมีการบันทึกข้อตกลงไว้อย่างเปิดเผย และการที่ต้องมานั่งแยกแยะเอกสารต่างๆ
            แน่นอน มาเฟียไม่ได้ทำงานเอกสาร ไม่ได้ทำงานบนกระดาษ ซึ่งในหลายๆ ทาง นี่เป็นวิธีที่เร็วกว่า มีประสิทธิภาพกว่า แต่การที่ธุรกิจที่ทำกำหนดให้พวกเขาอยู่นอกกฎหมาย มันก็มีบางด้านที่ทำให้ชีวิตและการทำงานยุ่งยาก “องค์กรนอกกฎหมายจะต้องมีการพิสูจน์ยืนยันข้อเท็จจริงซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลาเพื่อความมั่นใจในความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือแม้แต่กับสมาชิก” ดไวท์ สมิธ ชี้ถึงจุดอ่อน “ในขณะที่องค์กรในรูปแบบสามารถพูดได้เลยว่า “เราอยู่นี่ ถ้าคุณไม่ชอบที่เรากำลังทำกัน กลับไปหาเอกสารเกี่ยวกับบริษัทของเราอ่านได้เลย หรือจะฟ้องศาลก็ได้” แต่องค์กรนอกกฎหมายต้องอยู่บนรากฐานของความวางใจ จงรักภักดี และพิสูจน์ถึงความสามารถก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ลงไป” และเมื่อหัวหน้ามาเฟียคนใดไม่สามารถพิสูจน์ความสามารถและคุณสมบัติเหล่านั้นได้ดีพอ หัวหน้าคนใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่เขา ในแวดวงมาเฟียถ้าใครไม่สามารถพอ เขาจะไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนั้นได้ตลอดกาล

ศึกสืบทอดตำแหน่ง
            ตำแหน่งฟาเธอร์หรือนายใหญ่ของมาเฟียแต่ละครอบครัว ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะสืบทอดกันโดยสายเลือด ขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณสมบัติ ซึ่งบางครั้งก็เกิดการย่งชิงอำนาจกันเมื่อฟาเธอร์คนเดิมอ่อนแอลงหรือเสียชีวิตไป สเตฟาโน มาญาดิโน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป้นหัวหน้ามาเฟียในบัฟฟาโล เคยมีเรื่องไม่พอใจกับโจเซฟ โบนานโน เมื่อเขาเห็นว่าอำนาจของโบนานโนอ่อนลงโดยการปราบปรามของรัฐบาล เขาจึงฉวยโอกาสหาทางขับโบนานโนออกไปได้สำเร็จ
            สิ่งที่คล้ายๆ กันแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับบริษัทการเงินย่านวอลล์สตรีทในเวลาต่อมาด้วย ในบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ผู้บริหารคนหนึ่งไม่พอใจผู้บริหารอีกคนหนึ่ง และสามารถหาวิธีไลเขาออกไปได้ แต่ผลที่ตามมาหลังจากนั้นมันแตกต่างกัน ในเวลาไม่กี่เดือน เลห์แมน บราเธอร์สจมลงสู่สถานการณ์ยุ่งยากและต้องขายกิจการให้กับบริษัทอื่นไป ส่วนครอบครัวโบนานโนยังคงอยู่ และอันที่จริง ครอบครัวมาเฟียทั้งห้าแห่งนิวยอร์กซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีก็ยังเป็นห้าครอบครัวเดียวกับที่เคยปกครองเมืองนี้มาตลอดหลายทศวรรษ
            มีเหตุผลที่ว่า ถึงแม้การจัดการของพวกมาเฟียที่ได้รับการยกย่องว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในวิถีทางธุรกิจ แต่ในที่สุดก็ยังล้มลง นิค ชาร์อาร์คาส อธิบายว่า “พวกยังเตอร์กที่เข้ามาสู่องค์กรอาชญากรรมในยุคหลังๆ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเกินไป และความจงรักภักดีต่อครอบครัวก็ไม่มั่นคงเท่าเก่า ผลก็คือประสิทธิภาพขององค์กรอาชญากรรมเริ่มถดถอย โครงสร้างประเพณีดั้งเดิมก็พังทลายลง”
            ทั้งประสิทธิภาพตลอดมาจนถึงความล้มเหลวของมาเฟียในอเมริกา เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในเชิงการบริหารจัดการทางธุรกิจ มันให้ข้อคิด มันเป็นบทเรียนที่ดี และหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการนำไปใช้ต่อมาโดยองค์กรธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นการยืนยันถึง “ค่า” ของมันอีกทางหนึ่ง และนี่เองคือคำตอบทั้งหมดต่อการที่ The Godfather กลายเป็น หนังสือแนะนำ” สำหรับนักบริหาร ทำไมบันน์และทัสคาจึงบอกว่านักบริหารควรศึกษาจากมาเฟีย”
#
*เรียบเรียงจากบทความเรื่อง The Mafia as a Business 
โดย เรดี จี. บันน์ และ แอนโธนี เจ. ทัสคา จากวารสาร World Executive’s Digest
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร Man ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2529)