วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Bite the Bullet

ในวันเวลาที่แฟนฟุตบอลหมดความอดทน
กับผลงานของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย
ลองนึกทบทวนดู ความถดถอยและตกต่ำ ไม่ได้เพิ่งเริ่ม และไม่ได้มีแต่ฟุตบอล
ในบทความที่เขียนเมื่อสามปีก่อน-เรื่องนี้
เขียนถึงรถไฟไทย-ฟุตบอลไทย-สนามบินไทย
แน่นอนว่า... สิ่งที่ลงท้ายด้วย " ไทย"  ที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน 
มันไม่ได้มีเพียงแค่นี้

Bullet Trainphoto © 2008 Daniel Foster | more info (via: Wylio)


ประตูรถชินกันเซ็นขบวนที่มุ่งหน้าสู่โอซาก้ากำลังปิดลงตอนที่ผมขึ้นไปถึงชานชาลา แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลและรอคอย เพราะอีกสี่นาทีรถขบวนต่อไปก็เข้ามาเทียบตามกำหนด
            ความตื่นใจกับประสบการณ์ของการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงแบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อยี่สิบปีก่อนย่อมไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ความรู้สึกใหม่ที่มาแทนที่คือความทึ่งทึ่งกับความถี่ของตารางการเดินรถ และความรื่นรมย์รื่นรมย์กับความโปร่งสบายภายในตู้โดยสาร และทิวทัศน์สองข้างทาง
            ครั้งแรกที่ขึ้นชินกันเซ็นจากโตเกียวไปโอซาก้า นอกจากความเร็วที่ร่นเวลาลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ในยุคสมัยนั้น ผมจำได้แต่เพียงสองชั่วโมงเศษแห่งความเบียดเสียดอันชวนฉงนราวกับว่าระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรระหว่างสองเมืองใหญ่เป็นเส้นทางกิจวัตรของผู้คนเหล่านั้น คราวนี้ อาจเป็นเพราะช่วงเวลาที่ต่างกัน อาจเป็นเพราะขบวนรถต่างคลาสส์ซึ่งแบ่งตามจำนวนสถานีที่จอด และอาจเป็นเพราะขบวนรถที่เพิ่มความถี่ขึ้นพอๆ กับการเดินทางด้วยบีทีเอสจากสถานีอารีไปสยาม เวลาประมาณสิบห้านาทีบนเส้นทางเกียวโต-โอซาก้า จึงเป็นการเดินทางด้วยความปลอดโปร่ง สะดวกสบายที่น่าจดจำ
            เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ในหลายๆ ด้าน ที่ญี่ปุ่นในยุคเมจิเริ่มต้นไล่ๆ กันกับประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 รถไฟญี่ปุ่นออกแล่นบนรางก่อนรถไฟไทยขบวนแรกเพียง 20 กว่าปี แต่หลังจากนั้น ในขณะที่เขาพัฒนาระบบการเดินทาง/ขนส่งทางรถไฟด้วยอัตราความเร็วแบบกระสุนปืน เรายังคงเคลื่อนไปในจังหวะถึงก็ช่าง-ไม่ถึงก็ช่าง
รถไฟก็เหมือนกับฟุตบอล ตรงที่เป็นสิ่งที่สะท้อนความก้าวหน้าและศักยภาพของการพัฒนาประเทศในหลาย บริบท โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศแถบเอเชียด้วยกัน
            สมัยผมเด็กๆ ฟุตบอลไทยอยู่แถวหน้าของทวีป ทีมชาติรุ่น นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, สราวุธ ประทีปประกรชัย ดวลแข้งกับเกาหลี ญี่ปุ่น แม้แต่พวกแขกขาวตัวใหญ่ๆ จากตะวันออกกลาง ได้สนุกและได้ลุ้น คิงส์คัพเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับทวีป และแม้จะแพ้ย่อยยับกลับมาแต่ทีมฟุตบอลไทยสมัยนั้นก็เคยได้ไปแข่งในโอลิมปิก
            เวลาผ่านไป พอๆ กับที่ญี่ปุ่นเริ่มมีรถชินกันเซ็นใช้ ทีมฟุตบอลเกาหลี ญี่ปุ่น และชาติอาหรับ เป็นขาประจำของโอลิมปิกและฟุตบอลโลก คิงส์คัพเป็นรายการที่หลายประเทศยังส่งทีมมาแข่งด้วยความเกรงใจ แต่เป็นทีมสโมสรระดับรองๆ แต่เราต้องลุ้นกับทีมอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ ในระดับซีเกมส์ และไทเกอร์คัพ
            โดยมีพม่าและอินโดนีเซียเป็นข้อปลอบใจ ว่าเราก็ไม่ไร้เพื่อนเสียทีเดียว
โอซาก้ามีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่เฉพาะในฐานะศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม ไม่เฉพาะแต่จุดที่ขาดไม่ได้ในโปรแกรมท่องเที่ยว แต่รวมถึงขนบ-ความคิด-วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเปรียบกับเกียวโตเมืองหลวงเก่าที่วางตัวสงบอยู่ใกล้ๆ และโตเกียวเมืองหลวงปัจจุบันที่อยู่ในระดับเดียวกันของขีดวัดความเจริญในระบบทุนยุคใหม่
            ที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งคือสนามบิน โดยเฉพาะเมื่อผมออกเดินทางไปจากสุวรรณภูมิ และเดินทางกลับจากสนามบินคันไซ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งที่สองของโอซาก้าที่เปิดใช้มาได้สิบกว่าปี ปัจจุบันเมื่อพูดถึงสนามบินโอซาก้าในเส้นทางระหว่างประเทศก็หมายถึงสนามบินนี้ ส่วนสนามบินโอซาก้าเดิมที่ขยับขยายไม่ได้แล้วก็ยังคงใช้รองรับเที่ยวบินในประเทศแบบจำกัดเวลาขึ้น-ลงเพื่อไม่ให้มลภาวะทางเสียงรบกวนเวลาพักผ่อนหลับนอนของชาวเมือง แต่ไม่มีใครบอกว่าโอซาก้าต้องมีสนามบินเดียว ทั้งๆ ที่ในระยะไม่กี่สิบกิโลเมตรรอบโอซาก้ายังมีสนามบินอีกหลายแห่งอยู่รายรอบ
            เมื่อตอนที่โตเกียวสร้างสนามบินใหม่คือนาริตะ มีการประท้วงที่ยืดเยื้อและรุนแรงถึงขั้นที่อาจจะถือว่าเป็นที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แม้กระทั่งเมื่อเปิดใช้งานแล้ว ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและผู้ประท้วงก็ยังคุกรุ่นถึงขนาดที่ต้องรักษาความ ปลอดภัยอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี แผนขยายสนามบินโอซาก้า (รวมทั้งอีกหลายแห่งหลังจากนั้น) ก็มีการประท้วงเช่นกัน ทั้งยังมีคดีประวัติศาสตร์ซึ่งศาลสูงตัดสินให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ชุมชนรอบสนามบินโอซาก้า อันเนื่องมาจากมลภาวะทางเสียงที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบินขึ้น-ลงที่มากขึ้นและขนาดเครื่องบินที่ใหญ่ขึ้น
            สถานที่สร้างสนามบินโอซาก้าใหม่จึงต้องมองไปที่อ่าวโอซาก้า แต่แทนที่จะถมทะเลเพื่อต่อเพิ่มแผ่นดินเดิมอย่างที่เคยทำกันมาบ้างแล้ว ผู้สร้างเลือกที่จะตัดปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผู้คนและชุมชนในระยะยาว ด้วยการสร้างเกาะขึ้นมาเป็นสนามบิน เชื่อมต่อกับฝั่งด้วยสะพานยาว 3 กม. ที่ออกแบบให้เดินทางได้ทั้งรถยนต์และรถไฟ แล้วกำหนดรันเวย์เป็นแนวขนานกับแผ่นดินเพื่อตัดปัญหาเรื่องเสียง ผู้ที่ทำประมงในอ่าวเป็นกลุ่มเดียวที่ประท้วงแต่ก็พอใจกับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ทดแทนที่ได้รับ
            ในแง่เทคโนโลยีทางวิศวกรรมของช่วงกลางทศวรรษ 1980 อาจไม่มีอะไรท้าทายกว่าการสร้างเกาะยาว 4 กม. กว้าง 1 กม. สูงจากพื้นทะเลขึ้นมา 30 เมตร เพื่อใช้เป็นสนามบินอีกแล้ว มีผู้คำนวณความเป็นไปได้ว่าตัวเกาะจะค่อยๆ ทรุดลงไปด้วยหินและคอนกรีตจำนวนมหาศาลที่ทับถมน้ำหนักกันลงไป และเชื่อกันด้วยว่านี่คือโครงการแห่งความหายนะทางวิศวกรรมโครงสร้างของโลกในศตวรรษที่ 20
การคำนวณเป็นจริง จนถึงปัจจุบัน สนามบินคันไซมูลค่าราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์จมลงไปแล้ว 8 เมตร แต่(ผมเข้าใจว่า)เป็นการทรุดลงในระนาบเดียวกันของทั้งเกาะ โดยไม่สร้างปัญหาแก่รันเวย์ อาคารผู้โดยสาร และสรรพสิ่งที่ปลูกสร้างบนนั้น
            ระยะแรกที่เปิดใช้ อัตราการทรุดตัวเฉลี่ยปีละครึ่งเมตรชวนให้คิดถึงความหายนะ แต่ในระยะหลังค่าการทรุดลดลงเหลือเฉลี่ยปีละ 7 ซม. เมื่อบวกกับความมั่นใจว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เสริมแก้ปัญหานี้ได้ สนามบินคันไซก็ลงมือสร้างรันเวย์ที่ 2 ซึ่งพร้อมจะเปิดใช้ในปีนี้ (2550)
            จากโครงการที่เสี่ยงต่อความหายนะ เวลานี้สนามบินคันไซกลายเป็นความภาคภูมิใจของคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะชาวโอซาก้า เมื่อปี 2001 สมาคมวิศวกรโยธาแห่งสหรัฐ ยกให้เป็นหนึ่งในสิบสิ่งก่อสร้างแห่งสหัสวรรษ ทั้งยังคุยกันด้วยว่าเป็นสิ่งก่อสร้างจากฝีมือมนุษย์แห่งที่สองที่มองเห็นได้จากอวกาศ (ถัดจากกำแพงเมืองจีน) แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่สำคัญและน่าภูมิใจเท่ากับการที่สนามบินของเขายืนหยัดผ่านภัยธรรมชาติครั้งใหญ่มาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง
            ครั้งแรกตอนต้นปี 1995 หลังเปิดสนามบินได้ไม่กี่เดือน เกิดแผ่นดินไหวระดับ 6.9-7.3 ริกเตอร์ ในโกเบ เป็นแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน ประเมินความสูญเสียออกมามูลค่านับ 10 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.5% ของ GDP ปีนั้น ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากสนามบินคันไซไปเพียง 20 กม. แต่สนามบินและเกาะไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ว่ากันว่ากระจกร้าวสักแผ่นยังไม่มี ต่อมาในปี 1998 ก็ได้เผชิญกับไต้ฝุ่นความเร็ว 200 กม./ชม. อย่างไม่สะท้านสะเทือน
            สำหรับคนที่เดินทางออกนอกประเทศไปจากสนามบินที่โหมประโคมกันว่าเป็นความภูมิใจของคนทั้งชาติ แต่มากด้วยปัญหาตั้งแต่เริ่มเปิดใช้ ตั้งแต่ระบบลำเลียงกระเป๋า ระบบเช็คอิน ไปจนถึงรอยร้าวและน้ำขังบนรันเวย์ แท็กซี่เวย์ หลังคาอาคารผู้โดยสารรั่ว การออกแบบที่มุ่งเอื้อต่อการขายสินค้าปลอดภาษีมากกว่าอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง ฯลฯ โดยไม่ต้องพาดพิงไปถึงการทุจริตรายทางตลอดเวลาหลายสิบปี เมื่อได้ไปรู้ได้ไปเห็น ก็ทำได้เพียงทึ่งกับของเขา และปลงกับของเรา
รถไฟหัวกระสุนและการสร้างเกาะทำสนามบินไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกยุคนี้ ประเทศร่ำรวยอย่างดูไบสามารถเนรมิตเกาะใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นมาได้ด้วยเงินตัวเดียว จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไม่กี่ปีก็มีรถไฟความเร็วสูงของตัวเองใช้
            แต่เทคโนโลยีและความมั่งคั่งไม่ใช่เหตุผลหรือคำตอบสำหรับสิ่งที่ญี่ปุ่นมี หรือสิ่งที่ประเทศไทยเป็น
            ในความก้าวหน้า/ล้าหลังของฟุตบอลไทยอาจมีคำตอบที่อธิบายได้ดีกว่า เราได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่บ้าบอลอันดับต้นๆ ของโลก เรามีฟุตบอลลีกชั้นนำจากทุกประเทศถ่ายทอดสดให้ดูกันไม่ว่างเว้น เรามีหนังสือพิมพ์ฟุตบอลรายวัน(อาจจะ)มากหัวที่สุด แต่ดูเหมือนว่าเหตุและผลของสิ่งเหล่านั้นจะยึดโยงอยู่กับกระแสและการพนัน ไม่ใช่ตำแหน่งแห่งที่ของทีมฟุตบอลไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งถดถอยกลับไปกว่าสี่สิบปีเช่นเดียวกับรถไฟไทย ทั้งที่เรามีนักฟุตบอลความสามารถสูงพอให้สโมสรของประเทศอื่นซื้อตัวไปร่วมทีม
            ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากการมีสนามบินใหม่ที่มีหอบังคับการสูงที่สุดในโลก มีอาคารผู้โดยสารใหญ่เป็นที่สองของโลก มีจำนวนเครื่องซีทีเอ็กซ์ที่ซื้อเผื่อไว้สำหรับอนาคต แต่มีห้องน้ำไม่พอตั้งแต่ปัจจุบัน ผู้โดยสารต้องคอยเดินเลี่ยงหลบร้านค้า ยังต้องต่อชัทเทิลบัสจากประตูทางออกไปขึ้นเครื่อง และไม่รู้ว่าอีกกี่ปีถึงจะมีระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อเมือง-สนามบิน
            แต่เราก็ทานทนอยู่กับคำตอบนั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่  18 ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550)

หมายเหตุ: ปัจจุบันเรามีแอร์พอร์ทลิงก์แล้ว แต่เท่าที่ฟังจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ผมไม่แน่ใจว่ามัน "น่าอาย" กว่าตอนที่ยังไม่มีหรือเปล่า

วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มากเกินไป–น้อยเกินไป

ในวันที่หนังสือแปลท่วมท้น 
วันที่ดูเหมือนนักแปลจะเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมากยิ่งกว่าคนรุ่นเก่า
และวันที่หนังสือถูกผลิตอย่างเป็นระบบ
มีทั้งบรรณาธิการเล่ม และบรรณาธิการสำนักพิมพ์
แต่ทำไม หนังสือแปลเล่มด่วนที่ให้รสฝาดเฝื่อนฝืดคอ
จึงมีจำนวนมากกว่าเล่มที่ให้ความรื่นรส
มากขึ้นและมากขึ้น


SFMoMA (final set) - Chairs, Typewriters & Twist
photo © 2010 Michael Wade | more info (via: Wylio)


ตัดไม้ทั้งป่ามาทำเก้าอี้ตัวเดียวคงเป็นประโยคแสลงหูนักอนุรักษ์ และตกสมัยในยุคของการรีดเอาอรรถประโยชน์สูงสุดจากทุกสิ่ง
            แต่นั่นคือคำคารวะของวงวรรณกรรมไทยต่องานชั้นครู ของประมูล อุณหธูป หรือครูมูลของคนรุ่นศิษย์ที่ใกล้ชิด รวมตลอดจนถึงคนที่ได้ชิดเชื้อกับรุ่นศิษย์เหล่านั้นอีกต่อ
            ในนาม อุษณา เพลิงธรรม ครูมูลได้เสกสรรค์ เรื่องของจัน ดาราอันลือเลื่อง กระทั่งเมื่อผู้อ่านนิตยสาร ชาวกรุงเพรียกหางานใต้นามปากกานั้นอีก ได้นิยามด้วยคำว่า เรื่องที่อ่านแล้วท้องได้ของ อุษณา เพลิงธรรม”           
            กับงานบรรณาธิการเรื่องสั้นโดยเฉพาะในยุคทองของ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์อันเข้มงวดและพิถีพิถัน ครูมูลช่วยขัดเงาเกลากลึงงานของนักเขียนรุ่นใหม่คนแล้วคนเล่า สุรชัย จันทิมาธรในวันก่อนที่จะมาเป็นหงา คาราวาน ไม่รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จกับการเขียนเรื่องสั้น จนกว่างานของเขาจะผ่านครูมูลได้ตีพิมพ์ และความภูมิใจสูงสุดในชีวิตการเขียนของเขาอาจยังไม่มีครั้งไหนเกินไปกว่าครั้งแรกที่เรื่องสั้นของเขาปรากฏในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์’––ไม่ใช่เรื่องเดียว แต่สองเรื่องพร้อมกัน
            และในนามจริงประมูล อุณหธูป กับบทบาทของนักแปลที่ไม่มีคนที่สอง อาจินต์ ปัญจพรรค์เคยกล่าวถึงไว้ว่า แต่ละบรรทัดของแกนี่ใช้เวลา ไม่ใช่เอาแต่ทิ่มพรวดๆ... คิดแล้วคิดอีกกว่าจะใช้คำอะไรสักคำ ถ้าเราดูในโลกียชนนะ เป็นตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการซึ่งลูกสาวของครู-ศิเรมอร อุณหธูป ได้ขยายความบุคลิกการแปลของพ่อว่าประณีตทุกตัวอักษร ปรานีปราศรัยกับภาษาถึงขั้นละเอียดลอออย่างแท้ จริง
            ‘โลกียชนที่ครูมูลแปลจาก ‘Tortilla Flat’ ของจอห์น สไตน์เบ็ค เป็นงานที่ได้รับการอ้างอิงเสมอเมื่อพูดกันถึงงานแปลที่เข้าถึงภาษาเดิมอย่างลึกซึ้ง และถ่ายทอดออกมาด้วยความเข้าถึงภาษาไทยในลักษณะเดียวกัน ภูมิประเทศของเมืองมอนเทอเรย์ที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมดเมื่อผ่านถ้อยคำของครูมูล อาจแทนภาพได้นับพันตอนเหนือขึ้นไปบนภูเขาอันเป็นบริเวณที่ป่ากับเมืองปนเปกันอยู่ ถนนหนทางยังไม่ประสีประสาต่อยางมะตอย และตามซอกตามมุมก็ยังเป็นเสรีจากแสงไฟถนนอยู่
            เมื่อแนะนำแดนนี่-ตัวละครเอก เพียงอ่านพบถ้อยคำเรียบสั้น (แต่เท่) ในประโยคเขาเกี่ยวพันเป็นสังคญาติกับชาวที่ราบนั้นแทบจะทั่วทุกคนก็ว่าได้ ไม่โดยเชื้อสายก็ในฉันชู้สาวคนเคยแปลหรืออยากแปลหนังสือทั้งหลายอาจได้แต่อึ้ง ตะลึงใจ เช่นเดียวกับครั้งที่ครูมูลถอดชื่อหนังสือที่เขียนขึ้นจากหนังคาวบอยเรื่อง ‘For A Few Dollars More’ ออกมาเป็นเก็บเบี้ยในรังโจร
อาจินต์ ปัญจพรรค์ยังพูดถึงความละเมียดในการทำงานของครูมูลว่า ไม่มากเกินไป (แต่) คนทำงานอย่างแกมีน้อยเกินไปแม้กระทั่งในยุคที่ธุรกิจหนังสือให้ผลงอกงาม วันที่หนังสือแปลเบียดกันอยู่เต็มร้านจนเลือกอ่านไม่หวาดไหว นักแปลที่ได้สักครึ่งของครูมูลก็ยังมีน้อยเกินไป และน้อยลงกว่าเดิมโดยสัดส่วน
            ว่าที่นักแปลคนหนึ่งพยายามเดินตามความสนใจที่ตัวเองมีต่อการแปลงานวรรณกรรม เขาเคยถามเคล็ดวิธีในการแปลจากนักแปลและบรรณาธิการหลายคน และมาติดใจในประเด็นการรักษาน้ำเสียงของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งก็คงสอดคล้องกับที่ครูมูลเคยกล่าวว่าการแปลที่ดีที่น่านับถือคือสามารถแปลได้ออกรสดีตามครรลองของต้นเรื่อง ซึ่งก็คือจะต้องรักษาสำบัดสำนวนของเขาเอาไว้ให้ถูกต้องตรงกัน อย่างน้อยก็ควรรักษาเอาไว้ให้มากที่สุด
            เขาเริ่มต้นได้ไม่เลวนักกับเรื่องสั้นๆ ลองมือ แต่ก็ยอมรับว่าในความยากและความงงงวยเหมือนมีเสียงตะโกนบอกว่า นี่เพิ่งตีนดอย... ไอ้น้องเอ๋ยอุปมาว่าผมจะขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพคนเคยแปลจึงบอกกับเขาโดยอุปไมยให้ก้าวขึ้นบันไดแต่ละขั้นไปให้ได้ท่า เพราะว่าการวิ่งตะบึงขึ้นไปโดยยังไม่คุ้นระยะขั้นและความชันของบันได กำลังขาอาจไม่เป็นใจพาให้พลาดพลิกขาแพลงได้สิ่งที่สำคัญและต้องมุ่งให้ได้ก่อนเข้าไปถึงน้ำเสียงสำนวนผู้เขียน ก็คือการแปลความที่ถูกต้อง และตีความหมายที่ซับซ้อนให้แตก
            ยี่สิบกว่าปีมาแล้วที่ครูมูลเอ่ยเตือนไว้ว่าอย่าเที่ยวได้ผันแปรของเขาไปดะแบบทำ ฟาสท์ ฟูดชนิดสุกเอาเผากินเป็นอาชีพนักแปลหลายคนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์หลายแห่งอาจไม่เคยได้อ่านไม่ได้ยิน หนังสือแปลเล่มด่วนที่ให้รสฝาดเฝื่อนฝืดคอจึงมีจำนวนมากกว่าเล่มที่ให้ความรื่นรส มากขึ้นและมากขึ้น แม้ในหนังสือที่เราไม่ได้คาดหวังรสเลิศทางวรรณศิลป์
            อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนัก หาก แบล็คเบอรีจะถูกตีความเสมือนหนึ่งผลิตภัณฑ์พันธุ์เดียวกับ เบอร์เบอร์รีเมื่อแรกปรากฏในนิยายกลุ่มชิค-ลิตเรื่องหนึ่ง แต่การใช้งานสิ่งนั้นในตอนต่อมา ก็น่าจะพอทำให้(ผู้แปล)เฉลียวใจได้(พอๆ กับผู้อ่าน)ว่านี่คืออุปกรณ์สื่อสารไร้สายชนิดแรกที่รับ-ส่งอีเมล์ได้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในอเมริกา กรณีที่แย่กว่านั้นคือ การถ่ายชื่อ ‘Subway’ ออกมาตรงๆ ในความหมาย รถไฟใต้ดินทั้งที่เป็นคำเฉพาะที่ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่และเนื้อหาในช่วงนั้นกำลังอธิบายถึง วิธีการติดป้ายโฆษณา/แนะนำสินค้าในร้านอาหารจานด่วน รวมทั้งการพิมพ์ข้อความบรรยายสรรพคุณอาหารบนแผ่นรองถาดและกระดาษเช็ดปาก ไม่พักต้องพูดถึงสาขาหลายแห่งของร้านแซนด์วิชชื่อเดียวกันนี้ที่มาเปิดอยู่ ริมถนนสุขุมวิท
            คนอ่านควรทำอย่างไร เมื่อในหนังสือทางการตลาดและโฆษณา เขียนลอยๆ ขึ้นมาถึงนักร้องโอเปร่า ร้องเพลงชื่อ Lucky Strike ’ แต่เรากลับนึกถึงหนังโฆษณาชวนสูบบุหรี่ยี่ห้อนั้นมากกว่าจะพึงเป็น ชื่อเพลงที่ร้อง อีกเล่มหนึ่งยกวิธีที่ร้านสะดวกซื้อใช้ไล่เด็กวัยรุ่นไม่ให้มาเตร็ดเตร่แถวร้านตอนกลางคืนอย่างได้ผลและประหยัด โดยการ เปิดเสียงแหลมแผ่วๆ ที่ฟังแล้วชวนขนลุกของตัวแมนโทวานีผ่านลำโพงแต่ทำให้เราสงสัยว่าเสียงนั้นจะไม่ไล่ลูกค้าทุกเพศทุกวัยไปด้วยหรือ ตัวแมนโทวานีจะมีหน้าตาอย่างไรหนอ แล้วเราก็หายสงสัยในประโยคต่อๆ มาว่าพวกเขา(แก๊งวัยรุ่น)จะรีบหนีไปให้ไกลจากเพลงอีซี่ลิสซึนนิ่งราวกับว่ามันเป็นโรคแอนแทร็กซ์และพลันนึกถึงแมนโทวานีผู้เป็นนายวงดนตรีแนวไลท์ออร์เคสตรา ส่วนอีกเล่มให้ความรู้ใหม่ว่าเจ้าหญิงไดอะน่าทรงทุ่มเทพระวรกายให้กับสาธารณกุศลเช่นการขจัดการลักลอบวางระเบิดแต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าพระองค์ทรงทำเรื่องนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ก่อนหรือหลังการรณรงค์กำจัดกับระเบิดตกค้าง
            ความสงสัยในเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ นำไปสู่ความคลางแคลงใจที่ใหญ่กว่า ว่าเราจะวางใจในความถูกต้องของส่วนที่ซับซ้อน เข้าใจได้ยากกว่า ได้แค่ไหนในหนังสือแปลเล่มที่เรากำลังอ่าน นักแปลและบรรณาธิการสาวคนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่เธอทำคือ วางเลย เลิกอ่านและบางกรณีเธอก็อาจจะโทรไปต่อว่าเพื่อนร่วมอาชีพที่ผลิตหนังสือเล่มนั้นว่าปล่อยออกมาได้ยังไง           
            ในยุคที่หนังสือแปลเป็นธุรกิจสมบูรณ์แบบ เงื่อนไขที่ต้องรีบแปล รีบพิมพ์ เพื่อให้ทันกับกระแส และรักษาอายุลิขสิทธิ์ที่ได้มาให้อยู่ในตลาดนานที่สุด เป็นที่เข้าใจได้ แต่นักแปลหน้าใหม่ซึ่งเป็นช่องทางจำเป็นในการผลิตงานก็ไม่ใช่ข้ออ้าง ภาวะตลาดที่เปิดให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ ย่อมหมายถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้นของบรรณาธิการเล่ม และ/หรือบรรณาธิการสำนักพิมพ์ด้วย
            คนเคยแปลจึงบอกกับคนอยากแปลว่า ถ้านักแปลถ่ายทอดได้ติดๆ ขัดๆ บก.ต้องช่วยทำให้มันราบรื่น ถ้านักแปลตีความผิด บก.ต้องทำให้มันถูก ถ้านักแปลรู้ไม่รอบไม่ทันกระแสโลกที่หมุนเร็วเหลือเกิน บก.ก็ต้องรู้ หรือหาคนมารู้แทนให้ได้แต่ในภาวะที่อาจจะพึ่งพาบรรณาธิการไม่ได้มากนัก นักแปลคงต้องกลับไปสู่พื้นฐานแรกสุด คือเริ่มจากแนวที่ชอบ เรื่องที่สนใจความสนใจเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผมถือว่า มันนำไปสู่การเติมความรู้ สร้างความหลงใหล ใฝ่ชอบ และส่งเสริมความเพียร
            แม้แต่ครูมูล เมื่อถามถึงปัญหาในการแปล ครูบอกว่าดูเหมือนจะมีอยู่ประการเดียวเท่าที่นึกออกในตอนนี้ นั่นก็คือศัพท์เฉพาะในวงการต่างๆ... เจอเข้าหน้ามืดทีไรก็เป็นต้องพล่านไปทั้งเมืองเพื่อหาความรู้
หากนักแปลชั้นครูทั้งหลายได้ตัดไม้ทั้งป่า เพื่อคัดเอาแต่ส่วนที่เหมาะงามมาทำเก้าอี้ตัวหนึ่ง หนังสือแปลแต่ละเล่มก็อาจเปรียบได้กับเก้าอี้ต่างแบบ ต่างวัตถุประสงค์การใช้สอย
            เมื่อเราอ่านหนังสือเชิงความรู้-ธุรกิจ เราคงต้องการเก้าอี้ที่ออกแบบถูกตามหลักสรีรศาสตร์และความคล่องตัวในแต่ละอิริยาบถของเก้าอี้ทำงาน เมื่อเราอ่านวรรณกรรมชิ้นเอก เราคงคาดหวังในเก้าอี้ ไม้เนื้อดี หุ้มบุด้วยวัสดุคัดสรร ผ่านการสลักเสลาเกลากลึงอย่างประณีตหมดจด เมื่อเราอ่านเพียงเพื่อความบันเทิงเริงรมย์แห่งสมัย เราอาจต้องการเก้าอี้นวมนุ่มเอน สบาย
            แต่ถ้าเลือกไม่ได้มากนัก เราอาจขอแค่เก้าอี้ที่นั่งแล้วไม่ปวดหลังไม่เจ็บก้น ก็ยังดี
#
Rhymes to learn
·       เท่าที่ทราบ ข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ ครูมูลมีอยู่ในประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1’ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2520 บางส่วนที่นำมาใช้อ้างอิงในคอลัมน์นี้ เป็นงานที่ คำรพ นวชน เรียบเรียงไว้ในนิตยสาร ถนนหนังสือ’ (ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 กันยายน 2528)
·       โลกียชนเป็นหนังสือ ต้องอ่านทั้งในฐานะงานเขียนคลาสสิกของจอห์น สไตน์เบ็ค และในฐานะงานแปลขึ้นหึ้งของประมูล อุณหธูป ไม่แน่ใจว่าหลังการพิมพ์ซ้ำเมื่อนานมากมาแล้ว (สมัยที่ยังมีนิตยสารชื่อลลนา’) โดยสำนักพิมพ์ ดวงตา ต่อมามีการพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์มติชน
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาจากน้ำ และ กลับสู่น้ำ


ผม “ส่ง” พี่ชาย ไปโดยเรียบร้อย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 พ.ย.)

หลังจากทำบุญ 7 วัน หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพ และหลังการจัด/เก็บอัฐิ

ภาคสุดท้ายของพิธีกรรม คือการ “ลอยอังคาร” ที่ปากน้ำ

การลอยอังคาร (ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ได้ลอยอัฐิไปด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพแบบไทย ที่มีรายละเอียดทางพิธีให้ถือปฏิบัติกันอย่างพิศดารพอสมควร แต่ข้อมูลเชิงที่มาของพิธีกรรมนี้ กลับมีเพียงข้อสังเกตสั้นๆ ที่อ้างอิงต่อๆ กันมาว่า (น่าจะ)รับมาจากศาสนาพราหมณ์/ฮินดู โดยโยงใยกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อความสงบเย็น

บางที ผมก็เคยสงสัยไปตามประสาผมว่า ในเมื่อเรามีแบบแผนทางพิธีละเอียดขนาดนี้ (คือที่ทำกันอยู่) แล้วเราเอาที่มาที่ไปและความหมายของพิธีกรรมนี้ไปทิ้งเสียที่ไหน ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งซึ่งบันทึกและยึดถือคู่เคียงกันมา

หรือว่า พิธีกรรมที่ประกอบกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นการสอดประสมกัน ระหว่างกระบวนการส่งเสริมธุรกิจออกเรือ และการสมานบรรเทาความรู้สึกของญาติผู้ยังอยู่ ในยุคที่มีคนอยากเก็บอัฐิไว้กับบ้านน้อยลง (เพราะกลัวถูกทิ้งขว้าง กลัวเป็นภาระ)

หรือว่า ความรู้น่ะมี แต่ผมไม่รู้เอง

แต่ สิ่งที่สงสัย ก็ไม่ได้แปลว่าคัดค้าน ผมมองว่าการลอยกระดูกและเถ้าถ่านลงสู่แม่น้ำ/ทะเล ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกที่ถูกทาง เพราะเราต่างเกิดมาจากน้ำ มีต้นทางชีวิตที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ และเติบโตมีชีวิตอยู่โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก

วัฒนธรรมชาวน้ำแท้ๆ ที่ไม่ผูกติด ยึดครอง ก็ดูจะโอบเอื้อกับพิธีกรรมการลอยอังคาร ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็เป็นสัญลักษณ์ของ การน้อมละวางปลายสุดของสังขาร คืนกลับสู่มหานที

ตอนเด็กๆ (แปลว่านานมากแล้ว) เคยดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง และจำฉากที่พระเอกขึ้นภูเขาไปโปรยเถ้าถ่านของนางเอกได้ติดตา ด้วยเหตุผลว่า มันดูโรแมนติกมาก ต่อมาเมื่อรู้จักเพลง Dust In The Wind ของวง แคนซัส ภาพนั้นกับเพลงนี้ก็คลิกกันพอดี ให้ความหมายที่สมบูรณ์ของ “ฝุ่น (ที่เคว้งคว้าง) กลางสายลม”

พอโตขึ้นมาอีกหน่อย และได้ร่วมอยู่ในพิธีกรรมลอยอังคารครั้งแรก ผมก็พบว่า อัฐิและอังคารในลุ้ง ที่ค่อยๆ จมลงสู่ห้วงน้ำ ดูจะเอิบอาบ ชุ่มเย็น และอาจเป็นวิถีที่เหมาะกับเรามากกว่า

แม้จะไม่มีองค์ความรู้ใดอธิบาย แต่ก็โดยสัญชาตญาณของเราเอง
#

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ระหว่างเวลาที่เรามาถึงและเวลาที่เราจากไป

ในวันต้นๆ ของการแต่งดำ
ผมนึกถึงงานที่เคยเขียนไว้ 
เกี่ยวกับ การดำรงอยู่และจากไป

royalty-free image from dreamstime.com

ท่าทีของมูฮัมหมัด อาลี ต่อวันเวลาของชีวิตที่ต้องเผชิญกับโรคพาร์กินสัน ไม่ต่างจากท่าทีของมอร์รี ชวาร์ตซ์ ต่อวันเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่โรค ALS (ภาวะการสลายตัวของเซลล์ประสาทที่สั่งการและควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ) จะพรากไป
         อาลีบอกว่าผมตื่นขึ้นมาทุกวันด้วยความพยายามจะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยม เพราะแต่ละวันคือของขวัญที่พระเจ้าประทานมามอร์รีก็เอ่ยถึงคติทางพุทธ ที่ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า วันนี้จะเป็นวันตายของเราหรือเปล่า เราพร้อมไหม เราได้ทำทุกสิ่งที่จำเป็นต้องทำหรือยัง เราได้เป็นคนแบบที่เราอยากจะเป็นหรือไม่
         อาลีจึงยังคงไปร่วมในงาน-พิธีการสำคัญ ที่เพียงการปรากฏตัวของเขาก็มีความหมายเหนือคำพูดและการแสดงออกใดๆ ยังคงเซ็นชื่อให้กับทุกคนที่ชื่นชมศรัทธา ด้วยมือที่ขยับได้ช้าและยากเย็น มอร์รีก็เลือกที่จะใช้ช่วงชีวิตที่เหลือด้วยเจตจำนงของคนที่เป็นครูจนวาระสุดท้าย ด้วยการสอนให้คนรอบข้าง และใครก็ตามที่พร้อมรับสารที่เขาสื่อ ได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ โดยการเรียนรู้จากความตาย ผ่านชีวิตและมุมมองของคนที่กำลังจะตาย...ตัวเขาเอง

ความตาย ในทัศนะของสังคมสมัยใหม่ ถูกแยกห่างออกจากการมีชีวิตมากขึ้นทุกที ห่างแม้กระทั่งคนที่อยากจะตายก็ไม่อาจตายได้ เช่นในกรณีของแวงซองต์ เอิงแบรต์ เด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้สูญเสียการมองเห็น ความสามารถในการพูด และการเคลื่อนไหวทั้งมวล หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหลือเพียงสติรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง กับแรงกดของนิ้วหัวแม่มือที่จะสื่อสารกับผู้อื่น เขาขอใช้สิทธิ์ที่จะตายไปจากความทุกข์ทรมาน แต่ไม่มีใครช่วยเขาได้ แม้กระทั่งประธานาธิบดีที่เขาเชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพราะความต้องการของเขาขัดต่อกฎหมาย
         ในที่สุด แม่คือผู้ที่ให้สิทธิ์นั้นแก่เขา ด้วยความรักที่มีต่อลูก และต้องแลกกับการถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย
         กรณีของคนอย่างแวงซองต์ กับคนอย่างอาลี อย่างมอร์รี อาจเป็นเหมือนคนละด้านของการเผชิญกับความตาย แต่มีจุดร่วมกันที่เจตจำนงของคนเป็นเจ้าของชีวิต แวงซองต์เรียกหาสิทธิ์ที่จะจบชีวิตตัวเองเมื่อการอยู่ต่อไปรังแต่จะเป็นภาระแก่ผู้อื่น มอร์รีเลือกที่จะใช้เวลาสองปีที่เหลืออย่างมีความหมายที่สุด เขาได้แสดงให้เห็นว่า กำลังจะตายต่างความหมายกับ ไร้ประโยชน์เพราะในขณะที่ความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทค่อยๆ ทำลายชีวิตของเขาทางกายภาพ ความคิดจิตใจของเขายังคงแจ่มกระจ่างจวบจนลมหายใจสุดท้าย
         ศาสตราจารย์มอร์รียังคงไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแบรนเดอิส เช่นเดียวกับที่เขาทำมาตลอดเวลาเกือบสี่สิบปี จนกระทั่งไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านไปสอนได้อีกต่อไป ยังคงเชื้อเชิญญาติ มิตร และศิษย์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่บ้าน ตั้งกลุ่มสนทนาเรื่องความตายและความหมายของชีวิต ยังคงยินดีรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาแก่ทุกคนที่ต้องการ เขียนสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น คติพจน์ของการดำรงชีวิต เปิดบ้านให้รายการทีวีได้ถ่ายทอดทัศนะต่อชีวิตและท่าทีต่อความตายไปสู่การใคร่ครวญใหม่ ของคนนับล้าน
         ประโยคที่มีชื่อเสียงของมอร์รีคือ “once you learn how to die, you learn how to live” มอร์รีเชื่อว่า การได้เผชิญหน้าและเรียนรู้ความตายจะทำให้เราสามารถฉีกเปลือกนอกของการใช้ชีวิตแบบคนครึ่งหลับครึ่งตื่น มองเห็นแกนในที่เป็นความหมายแท้จริงของการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติสำนึก เขาจึงใช้ช่วงชีวิตตัวเองขณะที่เดินบนสะพานสุดท้ายที่ทอดข้ามไปสู่ความตาย เป็นตัวอย่างประกอบการเรียนรู้ พร้อมกับบรรยายทุกก้าวย่างของเขาด้วยตัวเอง
         มอร์รีบอกว่า ความตายเป็นธรรมชาติ ปัญหาคือคนเราในยุคนี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว เราคิดว่าเพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงอยู่เหนือธรรมชาติ และพยายามปฏิเสธกฎธรรมชาติแห่งการก่อเกิดและสิ้นสูญของสรรพสิ่ง เขาบอกว่าแม้ทุกคนรู้ว่าวันหนึ่งจะต้องตาย แต่ก็พยายามปฏิเสธมัน หากเรายอมรับความตายได้ เราจะทำสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำ
         กับอีกคติหนึ่งที่สั้นและตรงกว่า ถ้าเรายอมรับว่าเราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะไม่ทะยานอยาก มากเท่าที่เราเป็นอยู่
วอร์เร็น ซีวอนก็ไม่มีความทะยานอยากอะไรนัก เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าอาการแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออกเกิดจากมะเร็งในเซลล์บุผิวของเยื่อหุ้มปอด และบอกว่าเวลาของเขาเหลืออยู่ประมาณสามเดือน
         วอร์เร็นเพียงแต่อยากจะทำอัลบัมใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นให้เสร็จ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับผู้คนที่เขารัก หวังว่าจะทันได้เห็นหลานตาคนแรก และแสวงหาความรื่นรมย์เล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นดูหนังเจมส์ บอนด์ตอนใหม่ เขาได้ทำทุกอย่าง และทำได้มากกว่าที่ต้องการ กับเวลาที่ได้เพิ่มมาจากที่หมอบอกอีกเก้าเดือน
         วอร์เร็นไปออกรายการโทรทัศน์ของเดวิด เล็ตเทอร์แมน เล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาและความตายที่กรายใกล้  ทำให้การตายเป็นสิ่งสามัญประจำวันด้วยการเปิดบ้านให้สถานีเคเบิลทีวี VH1 ตั้งกล้องถ่ายทอดภาพชีวิตของเขาไปจนกว่าวันสุดท้ายจะมาถึง และทันได้เห็นอัลบัมสุดท้ายในชีวิตเสร็จออกมาวางขาย
         ‘The Wind’ อาจจะไม่ใช่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่อัลบัมที่ดีที่สุดของวอร์เร็น แต่เป็นการ กล่าวคำร่่ำลากับทุกคนอย่างงดงาม เขาทบทวนถึงช่วงชีวิตที่เหลวไหลของตัวเองในเพลง ‘Dirty Life And Times’ เล่าถึงเวลานาทีที่เหลือสั้นและมืดหม่นลงทุกทีในเพลง ‘Knockin’ On Heaven’s Door’ และได้แสดงความปรารถนาสุดท้ายด้วยความหวังเล็กๆ ว่าเขาจะยังอยู่ในใจใครบางคนแม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ก็ยังดี ด้วยเพลง Keep Me In You Heart
ในแง่หนึ่ง คนอย่างวอร์เร็น คนอย่างมอร์รี อาจจะโชคดีกว่าคนอีกมากที่ได้รู้ล่วงหน้าว่าวันเวลาในชีวิตเหลืออยู่ไม่มากแล้ว และสามารถกำหนดท่าทีต่อความตาย ต่อการใช้เวลาที่เหลือได้ดังใจปรารถนา
         เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ชีวิตเคยพลัดเฉียดกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าความตายมาครั้งหนึ่ง และยังคงรำลึกได้ว่าในเสี้ยวนาทีที่ห้อยแขวนอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย มีเพียงชะตากรรมเท่านั้นที่ตัดสินว่าจะส่งเราไปยังฝั่งไหน ก็อาจมีมุมมองต่อชีวิต ต่อโลก ที่เปลี่ยนไป และทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
         แต่เราคงไม่จำเป็นต้องรอให้ได้แตะเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการมีชีวิตและสิ้นสุด ด้วยตัวเองเสียก่อนจึงตระหนักได้ว่าเวลาแต่ละวันที่ทอดต่อมานับจากนั้น ล้วนเป็นกำไรชีวิตที่ควรใช้ให้สมคุณค่าและเต็มความหมายอย่างไร
         ในวันเวลาที่ร้าวรานกับชีวิตที่มัวหม่น แจ็คสัน บราวน์เคยเขียนถึงความหมายของการมีชีวิตไว้อย่างงดงามในเพลง ‘For A Dancer’ ที่เปรียบย่างก้าวของชีวิตกับจังหวะการเต้นรำ ไม่ว่าชะตากรรมจะเลือกเล่นเพลงอะไร คนเราก็ยังสามารถเริงรำเพื่อลบล้างความโศกศัลย์และขับขานเพลงนั้นด้วยเสียงอันเบิกบาน
         แจ็คสันบอกว่าเราอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเต้นรำ แต่เราสามารถเรียนรู้จากจังหวะและท่วงท่าของทุกคนที่เราได้เห็น จนกระทั่งกลายเป็นจังหวะและท่วงท่าของเราเอง อีกนัยหนึ่ง แจ็คสันบอกว่าเราต่าง เติบโตมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ผู้อื่นได้หว่านไว้ / มุ่งไปข้างหน้าและหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ของคุณเอง / และระหว่างเวลาที่คุณมาถึง / กับเวลาที่คุณจากไป / ก็จะวางไว้ซึ่งเหตุผลของการมีชีวิต / แม้คุณอาจจะไม่รู้
         มอร์รีอาจจะเคยฟังหรือไม่เคยฟังเพลงนี้ แต่ถ้าถามเขาว่าเมล็ดพันธุ์อะไรที่คนเราควรเพาะหว่านไว้ให้คนอื่นต่อไป เขาคงตอบได้ทันทีว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความปรารถนาดี และการสนับสนุนพึ่งพากัน เพราะชีวิตของคนเราไม่เคยอยู่รอดได้ด้วยตัวเองลำพัง นับจากวันแรกที่เกิดมาจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
         เมล็ดพันธุ์เช่นนี้ยังทำให้ความตายของมนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น มอร์รีบอกว่า ตราบเท่าที่เรามีความรักต่อกัน และยังคงจดจำความรู้สึกแห่งรักที่เรามี เราจะตายไปโดยไม่ได้ตายจากกัน ความรักที่เราสร้างไว้จะยังคงอยู่ ความทรงจำจะยังคงอยู่ เรายังมีชีวิตอยู่ในใจคนทุกคนที่เราเคยสัมผัสเคยเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน
         ความตายยุติชีวิต แต่ไม่อาจยุติความสัมพันธ์
#

Rhymes to learn

  • เวลาในชีวิตและความคิดของมอร์รี ชวาร์ตช์ บันทึกไว้อย่างน่าประทับใจโดยลูกศิษย์ของเขามิตช์ อัลบอม ในหนังสือ ‘Tuesdays With Morrie’ (1997) ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยไว้ในชื่อวันอังคารกับครูมอร์รีแต่หลายคนแนะนำตรงกันว่า การอ่านจากต้นฉบับ (ซึ่งอ่านไม่ยาก) จะดูดซับความรู้สึกดีๆ ได้ชุ่มเต็มมากกว่า ส่วนงานเขียนของมอร์รีเองคือ ‘Morrie In His Own Words’ (1996) เป็นคติพจน์ที่จัดหมวดหมู่และมีคำอธิบายเพิ่มเติมไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาความคิดของเขาให้ลึกขึ้น
  • เรื่องของแวงซองต์ เอิงแบรต์ เรียบเรียงผ่านการสื่อสารด้วยนิ้วหัวแม่มือกดเลือกพยัญชนะทีละตัว ผสมเป็นคำ และต่อกันเป็นประโยค โดยเฟรเดริก แวยล์ ในชื่อ ‘Je vous demande le droit de mourir’ (I Ask For The Right To Die) แปลเป็นไทยโดยวาสนา สุนทรปุระ ในชื่อ ผมขอใช้สิทธิ์ที่จะตาย’ (2547)
  • งานเพลงของวอร์เร็น ซีวอนเป็นงานที่ขายอยู่ในวงจำกัด และค่อนข้างหายากในประเทศของเรา รวมทั้งอัลบัม ‘The Wind’ (2003) นี้ด้วย แต่แนวเพลงเฉพาะตัวของวอร์เร็นเป็นที่ยอมรับของศิลปินแถวหน้าอย่างบ็อบ ดีแลน, นีล ยัง, แจ็คสัน บราวน์, บรูซ สปริงสทีน และอยู่ในใจแฟนเพลงที่เหนียวแน่นของเขาเสมอมา
  • เพลง ‘For A Dancer’ อยู่ในอัลบัม ‘Late For The Sky’ (1974) ที่ได้รับการยกย่องให้้เป็นอัลบัมยอดเยี่ยมและงดงามที่สุดในยุคแรกของแจ็ค สัน บราวน์ ส่งให้เขากลายเป็นกวีร็อคแถวหน้าของวงการดนตรียุค 1970

#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548)

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชีวิต ..... อนิจจัง



เมื่อวานนี้ (ศุกร์ 12 พ.ย.) ทั้งวัน ผมวุ่นๆ อยู่กับเรื่อง ศพ


ตอนสายๆ เคลียร์งานเบื้องต้นได้ ก็ออกไปสั่งทำกรอบรูปที่จะใช้วางหน้าศพ รูปที่ใช้­­ – ซึ่งเป็นรูปที่ทุกคนเห็นชอบ – น่าจะใหญ่ได้อีก แต่ดูตารางเวลากับสิ่งที่ต้องทำ ผมเลือกดิ่งไปร้านทำกรอบรูป ให้เขาทำเมาท์สองชั้น ช่วยให้ได้กรอบขนาดใหญ่ขึ้น และจะได้มีพื้นที่สำหรับจัดวางดอกไม้โดยไม่มาบังรูป

จากนั้น ไปรอคิวรับผลการตรวจชันสูตร จากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ แล้วเอาเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไปด้วย ให้ทางเจ้าหน้าที่เขาช่วยกันอาบน้ำแต่งตัว (ต้องฉีดยารักษาสภาพศพด้วย) ก่อนบรรจุลงในหีบศพที่เตรียมไป นำไปส่งที่วัดโสมนัสราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีญาติช่วยจองศาลาและจัดเตรียมเรื่องดอกไม้ อาหารไว้ให้แล้ว

ถึงที่นั่น ก็ต้องนำศพออกจากหีบ ขึ้นมาวางรอทำพิธีรดน้ำศพ ระหว่างนั้นก็นัดแนะ-ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ ให้กับผู้ที่มาช่วยงาน เพื่อไปปิดเคสกับ สน.สุทธิสาร ที่แจ้งเหตุการเสียชีวิตเอาไว้ และเดินเรื่องขอใบมรณบัตรจากสำนักงานเขตดินแดง

ตัวผมกลับไปรับกรอบรูป แวะเคลียร์งานที่บริษัท ระหว่างนั้นก็ให้เมสเซนเจอร์ส่งรูปไปที่วัดก่อน จะได้ไม่มีใครร้อนใจ โทรสั่งหรีดจากร้านที่เคย(โทร)สั่งกันอยู่ (ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ วัดโสมฯ นั่นแหละ) ถามเขาว่าไม่ว่างไปโอนเงินให้ ทำไงดี? หรือว่าจะไปส่งค่ำๆ ตอนที่ผมถึงวัดแล้วแน่ๆ ร้านเขาก็ดี บอกว่าจะส่งหรีดให้ก่อน ผมไปถึงวัดเมื่อไหร่ ก็ช่วยโทรบอก จะได้ไปรับเงิน

ผมกลับไปทันได้รดน้ำศพ หลังจากต้องลุ้นกับการจราจรเล็กน้อย การสวดพระอภิธรรมที่นี่เริ่มตั้งแต่ 18.30 น. เมื่อเริ่มสวดเร็ว และสวดก็เร็ว จึงสวดเสร็จเร็วไปด้วย-เป็นธรรมดา การที่ญาติหลายคนมาถึงตอนที่พระสวดเสร็จกลับกุฎิไปแล้ว ก็น่าจะถือเป็นเรื่องธรรมดาอีกเหมือนกัน


แต่ตามความจำของผม เท่าที่เคยไปงานศพที่วัดโสมฯ มาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมฯ โน่น ผมไม่ยักรู้สึกว่าที่นี่สวดเร็ว เสร็จเร็ว ที่จำขึ้นใจจริงๆ ในเรื่อง “เร็ว” ก็คือ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (เพราะผมเคยไปไม่ทัน)

ที่จริง ผมเริ่มวุ่นกับเรื่อง ศพ มาตั้งแต่ค่ำวันพฤหัสที่ 11 และเกือบๆ จะถอดใจล้มเลิกแผนเปิดบล็อกตามรหัส 12-11-10 ไปด้วยซ้ำ

ผู้ตายเป็นพี่ชายแท้ๆ คนถัดจากผมขึ้นไป เขากลับเข้าบ้านตอนบ่ายๆ และขลุกอยู่ในห้องนอนของเขาตามปกติ ที่ไม่ปกติก็คือเขาไม่ขานรับและเปิดประตูตอนไปเรียกให้กินอาหารมื้อเย็น


สุดท้ายจึงต้องปีนเข้าทางหน้าต่าง แล้วก็พบร่างที่นอนนิ่งและเย็นชืด อยู่หน้าห้องน้ำ

ผมไปถึงตอนที่ภรรยาเขาไปแจ้ง สน.ท้องที่แล้ว แต่ก็ใช้เวลาอีกนานเหมือนกัน กว่าจะมีตำรวจมาสอบรายละเอียดและบันทึกภาพ แล้วก็อีกสองนาน กว่าจะมีรถอาสาของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มาช่วยรับศพส่งไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชฯ

ระหว่างที่ แม่ และ เมีย กำลังโศกเศร้า และญาติๆ ที่ทยอยกันมา ดูเหมือนจะมีระยะความสัมพันธ์ห่างกว่าผม ผม – ซึ่งดูจะไม่ค่อยเศร้าเสียใจ และดูจะใกล้ชิดกว่า – จึงมีหน้าที่ให้ข้อมูล เจรจา ประสานงานต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นสิ่งที่ต้องทำในวันศุกร์

ไม่ใช่แค่ “ดูจะไม่ค่อยเศร้าเสียใจ” แต่ผมรู้สึกจริงๆ ว่า ในกรณีนี้ การจากไปเป็นทุกข์น้อยกว่าการอยู่ต่อ เขาเป็นเบาหวานอยู่ก่อน และเห็นว่าการตรวจหัวใจก็ให้ผลไม่ค่อยดีนัก ประมาณสองเดือนก่อนหน้านี้ ก็พบมะเร็งในคอระยะลุกลาม เขาตัดสินใจไม่ผ่าตัด (ซึ่งในกรณีที่ได้ผลดี เขาอาจจะมีชีวิตต่อไปได้ประมาณสิบปี โดยที่ต้อง “ฝึกพูด” ใหม่) และลองบำบัดรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ

สองสัปดาห์มานี้ เขากินได้น้อยลงกว่าที่เคยน้อย และสาเหตุตามที่แพทย์สถาบันนิติเวชระบุว่า “ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเฉียบพลัน” ก็ยุติวันเวลาในชีวิตของเขาลงสองวันก่อนครบ 55 ปีเต็ม

วันนี้ – 13 พฤศจิกายน เป็นวันครบรอบวันเกิดของเขา
#

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

12-11-10

photo © 2008 vittis m. | more info (via: Wylio)


เมื่อเดือนที่แล้ว มีคนเห่อทำโน่นบ้าง นี่บ้าง อะไรบ้าง เนื่องในวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 กันเยอะทีเดียว เพราะเลขชุดแบบนี้ ร้อยปีจึงจะมีมาสักครั้ง

ผมคิดเรื่องบล็อกมาได้ระยะหนึ่ง แต่คิด คิด เท่าไร ก็คิดไม่เสร็จเสียที ฤกษ์เปิดบล็อก 10-10-10 จึงเชิดผ่านหน้าผมไปแบบไม่ปลายตามองด้วยซ้ำ ครั้นจะรอวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 ก็ออกจะนานเกินไป ไฟที่พอจะมีอยู่บ้างคงจะมอดไปเสียก่อน

จนเมื่อ “คิดได้” และพอจะทำความเข้าใจกับกระบวนการต่างๆ นานา ได้มากขึ้นอีกนิด ปรับโน่นทำนี่ได้ดังใจขึ้นอีกหน่อย ปฏิทินก็เป็นวันที่ 11 เดือน 11 แต่ผมคิดว่าอีกหนึ่งวันให้หลัง - วันที่ 12 เดือน 11 ปี (20)10 หรือ 2010-11-12 แลดูสวยงามกว่า

จึงได้ฤกษ์เปิดหน้าบล็อกออกมาวันนี้

แม้จะคิดนาน แต่ก็เป็นเพราะผมเป็นคนคิดช้า ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรใหญ่โตมหาศาล ความตั้งใจในเบื้องต้น ก็เพียงเพื่อเป็นที่เก็บรวมงานเขียนสารพัดสารพัน ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง แต่ระหว่างกระบวนการที่ (น่าจะ) ต้องใช้เวลามากทีเดียว และเพื่อไม่ให้บล็อกเป็นตู้เก็บเอกสาร หรือ “สุสานต้นฉบับเก่า” ผมก็จะใช้พื้นที่บล็อกนี้บันทึกเรื่องราว-มุมมอง-ความคิด ที่ผ่านเข้ามาใน “หน้าต่างชีวิต” เท่าที่คิดว่าน่าจะพอมีความหมายอยู่บ้าง สำหรับผู้ที่เข้ามาอ่าน

และจะยิ่งยินดีสำหรับการแลกเปลี่ยน-ทักทายกัน