วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

พบกันที่ panithan-panithan.com

พูดกันตามจริง การเขียนบล็อกโดยอาศัยพื้นที่ blogger.com หนึ่งในบริการดีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ของ Google เป็นเรื่องง่ายดายและสะดวกอย่างยิ่ง

Google เตรียมทุกอย่างไว้ให้พร้อมสรรพ สิ่งที่เราต้องทำคือเลือกว่าจะเอาอะไร ไม่เอาอะไร แล้วก็ลงมือเขียน เขียน แล้วก็ อัปโหลดขึ้นไป -- เท่านั้น

WordPress อาจจะยุ่งยากขึ้นอีกเล็กน้อย แต่การเรียนรู้แลกกับความเป็นอิสระในการปรับแต่งที่เพิ่มขึ้น หลายคนบอกว่าคุ้ม และถ้าไม่อยากจะยุ่งยากเกินจำเป็น การใช้บริการของ wordpress.org หรือ wordpress.com ก็อำนวยความสะดวกได้เพียงพอ

แต่การอาศัยโครงสร้างของ WordPress มาสร้างเว็บบล็อกของตัวเอง ในชื่อโดเมนที่จดเลือกเอง หาเช่าพื้นที่เซิร์ฟเวอร์เอง นอกจากจะเพิ่มความยุ่งยากให้กับตัวเอง (และผู้ที่ช่วยทำ) แล้ว ยังเบียดเบียนเงินในกระเป๋าด้วย

แม้ผมจะไม่ได้ชมชอบความยุ่งยากอะไรแบบนั้น แต่นั้นก็คือทางที่ผมเลือก หลังจากหยุดพักการอัปเดตบล็อกนี้ไป เพราะบุคลิกภาพของบล็อก http://panithan-panithan.blogspot.com/ กลายเป็นพื้นที่สำหรับเผยแพร่ซ้ำข้อเขียนที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ตามกรรม ต่างวาระ และการทดลองช่วงสั้นๆ กับ http://panithan-view.blogspot.com/ เพื่ออัปเดตสิ่งละอันพันละน้อย ก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่โดนใจ (ตัวเอง) สักเท่าไหร่

ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่มั่นใจว่า การอาศัย blogger.com จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนแค่ไหน อย่างไร

จึงหลังจากที่ค่อยๆ คิดใคร่ครวญ มาเป็นลำดับ ผมก็เริ่มชัดเจนว่ามีเรื่องราวอะไร แบบไหน ที่ผมอยากบันทึกไว้และแบ่งปัน เริ่มชัดเจนว่าอยากจะให้โครงสร้างเว็บบล็อกเป็นแบบไหน ดีไซน์หน้าตาออกมาอย่างไร

ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่เริ่มเผยแสดงออกมาให้เห็นกันแล้วใน http://panithan-panithan.com/ 




โดยส่วนตัว ผมยึดถือปรัชญาในเพลง "Subterranean Homesick Blue" ที่ว่า "you don't  need a weatherman to know which way the wind blows" panithan-panithan.com จึงเป็นเว็บบล็อกที่บันทึก-แบ่งปันเรื่องราวอันหลากหลายเพื่อความรอบรู้และรื่นรมย์ ทั้งเจือไว้ด้วยมุมมอง-ความคิด-ความเห็น ต่อสรรพสิ่งที่ได้พบ ได้เห็น จากชีวิตจริง จากการทำงาน จากการอ่าน การดู การฟัง จากการดื่มกิน จากการเดินทางท่องเที่ยว และจากปฏิสัมพันธ์ต่อโลกรอบตัว

แต่ก็คงมีบาง-บางครั้งกับประสบการณ์ที่อาจจะไม่รื่นรมย์ และบางคราวกับเรื่องราวที่อาจจะไม่มีสาระอะไรให้เรียนรู้ ถึงอย่างนั้น ก็เป็นสิ่งที่อยากจะบอกกล่าวและแลกเปลี่ยน

ที่มา (ของหนึ่งบล็อกใหม่) ที่ไป (ของสองบล็อกเก่า) โดยสังเขปก็เป็นอย่างนี้แหละครับ

สุดท้ายนี้ขอเรียนเชิญทุกท่านไปพบปะกันอีกครั้ง (บ่อยครั้งยิ่งดี) ที่บ้านหลังใหม่ซึ่งเปิดประตูรออยู่แล้ว

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทย์เลอร์ สวิฟต์-ดิจิทัลดาวน์โหลด-การดำรงอยู่ของร้านซีดี


ซิงเกิ้ลใหม่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ – “We Are Never Ever Getting Back Together” เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 13 (หรือ 14 สิงหาคม – ขึ้นอยู่กับไทม์โซนที่เราใช้นับ) และใช้เวลา 50 นาที ก็ขึ้นอันดับหนึ่งซิงเกิ้ลชาร์ตของ iTunes พร้อมกับลบสถิติเดิมหนึ่งชั่วโมงที่เลดี้ กาก้า เคยทำไว้กับเพลง “Born This Way” ไปได้ทันที
            จากจุดนั้น ซิงเกิ้ลเพลงชื่อยาวที่เรียกกันย่อๆว่า “WANEGBT” ก็สร้างสถิติใหม่รายทาง ด้วยการเป็นซิงเกิ้ลที่ขายเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงยุคดิจิทัล ขึ้นอันดับหนึ่ง iTunes รวม 32 ประเทศ และนอกจากสถิติอีกมากในชาร์ตเพลงแยกย่อย เพลงนี้ยังส่งเทย์เลอร์ สวิฟต์ ขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ต Billboard Hot 100 เป็นครั้งแรก นับเป็นเพลงท็อปเท็นเพลงที่ 11 ของเธอ ซึ่งเทียบเท่ากับสถิติสูงสุดในสายศิลปินเพลงคันทรี่ที่เคนนี รอเจอร์ส เคยทำไว้ ทั้งหมดนี้มาจากยอดขายดิจิทัลดาวน์โหลดล้วนๆ
            ใน Hot Digital Songs ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงดิจิทัลโดยเฉพาะ ตัวเลข 623,000 ดาวน์โหลด เป็นทั้งยอดขายสูงสุดในสัปดาห์แรก และยอดขายสูงสุดในสัปดาห์ใดๆ สัปดาห์เดียว สำหรับเพลงของศิลปินหญิง ลบสถิติเดิมของเลดี้ กาก้า (เพลง “Born This Way” สัปดาห์แรก 448,000 ดาวน์โหลด) กับ เคชา (เพลง “Tik Tok” ในสัปดาห์ที่ขายมากที่สุด 610,000 ดาวน์โหลด) สัปดาห์ถัดมา “WANEGBT” ยังทำยอดดาวน์โหลดได้กว่า 300,000 ครั้ง รวมเป็น 930,000 ดาวน์โหลด
            ที่ยกเอาสถิติใหม่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาเกริ่นเสียยาว จะถือว่าเป็นอารมณ์ติดพันจากการที่เลือกผลงานของเธอเป็นหนึ่งใน 5 ชอบ เมื่อฉบับที่แล้ว ก็คงจะได้ แต่วัตถุประสงค์จริงๆ ก็เพื่อนำทางไปสู่เรื่องของธุรกิจเพลง ดิจิทัลดาวน์โหลด และร้านขายแผ่นเสียง ที่ยังคงมีหลายแง่มุมน่าสนใจสำหรับคนรักเพลง-ฟังเพลงอย่างเราๆ
ช่วงปลายๆ เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา mashable.com เผยแพร่อินโฟกราฟิกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า How the internet has rockedthe music industry ซึ่งเป็นแผนภูมิข้อมูลที่สรุปทิศทางธุรกิจดนตรีในศตวรรษใหม่ได้อย่างรวบรัดหมดจดทีเดียว
            ประเด็นใหญ่คือการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์และการสตรีมมิงเพลงให้เราได้ฟังกันแบบทันทีทันใจในโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนวิธีซื้อ-ขายและฟังเพลงไปอย่างไร มีผลกระทบอะไร และใครได้-ใครเสีย แน่นอนที่สุดว่า ผู้ที่รับผลกระทบไปก่อนและรับไปเต็มๆ เลยก็คือร้านขายซีดี ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 2000-2010 มียอดขายลดลงไปกว่า 76% และคาดว่านับจากปี 2011 ไปจนถึง 2016 จะลดลงไปอีก 77.4% สอดคล้องกับยอดขายซีดีแบบอัลบั้มที่ลดลงไป 50% ในช่วงปี 2000-2009
            จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สำนักวิจัยธุรกิจไอบิสเวิร์ลด์ ยกให้ธุรกิจค้าปลีกซีดีเป็นหนึ่งในสิบธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ตายไปแล้วหรือกำลังจะตายไปอย่างรวดเร็ว
อินโฟกราฟิกสรุปทิศทางธุรกิจดนตรีในศตวรรษใหม่ที่สื่อ
ออกมาได้รวบรัดชัดเจนดีมาก (เข้าไปดูได้ที่
http://mashable.com/2012/07/24/music-sales-decline/)
            สัญญาณชัดเจนที่อินโฟกราฟิกชิ้นนี้หยิบมาแสดงก็คือ ลำดับเวลาการล้มละลายหายไปของเครือข่ายร้านซีดีใหญ่ๆ เช่น HMV ปิดร้านทั้งหมดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2004 สองปีต่อมา ทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ ก็ปิดร้านทั้ง 89 แห่งในสหรัฐฯ ตามไปอีกราย หลังจากที่บริษัทแม่ได้ยื่นขอล้มละลาย ตามหลังเครือข่ายร้านแซม กูดีส์ ที่ยื่นขอล้มละลายไปก่อนแล้ว และในปี 2009 อีกเช่นกันที่เวอร์จินปิดกิจการร้านเมกะสโตร์ทั้งหมดในอังกฤษ
            ตรงนี้ขอขยายภาพเพิ่มเติมอีกนิดว่า แม้จุดหลักของสัญญาณเหล่านั้นที่แสดงในอินโฟกราฟิกได้เน้นไปที่สหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งเป็นสองตลาดหลัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าตลาดอื่นจะแตกต่างกัน เช่น ในกรณีของ HMV ของอังกฤษ ได้ปิดร้านทั้งหมดในเยอรมันไปก่อนที่จะปิดร้านในสหรัฐฯ เสียอีก หลังจากนั้นก็ขายกิจการในออสเตรเลียเมื่อปี 2005 ส่วนในญี่ปุ่นที่ยังมีชื่อนี้อยู่ ก็ขายกิจการไปตั้งแต่ปี 2007 เช่นเดียวกับที่แคนาดาเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบัน ฐานที่มั่นที่หดเล็กลงเรื่อยๆ ของ HMV เหลืออยู่แต่ในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์
            ส่วนทางด้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ ของสหรัฐฯ หลังยื่นขอล้มละลายในส่วนร้านค้าปลีก ก็ได้ปรับรูปแบบไปเป็นร้านค้าออนไลน์ไปแล้ว ร้านที่เหลืออยู่ 5 แห่งในเม็กซิโก และ 2 แห่งในไอร์แลนด์ เป็นร้านที่ซื้อสิทธิ์เฉพาะการใช้ชื่อเดิมเอาไว้ ส่วนที่มีอยู่มากหน่อยในญี่ปุ่นนั้น กลุ่มผู้บริหารในญี่ปุ่นได้ซื้อกิจการและแยกเป็นอิสระมาตั้งแต่ปี 2002
            แซม กูดีส์ เป็นเครือข่ายร้านขายซีดีที่เราไม่คุ้นเคยด้วยเท่าไหร่ แต่เป็นเครือข่ายร้านขนาดใหญ่ของกลุ่มมิวสิคแลนด์ในสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่เฟื่องฟูที่สุดมีร้านค้าปลีกทุกแบรนด์รวมกันมากกว่า 1,300 ร้าน แต่เมื่อธุรกิจมีปัญหา ไม่เพียงแต่ร้านแซม กูดีส์เท่านั้นที่หายไป มิวสิคแลนด์ยังขายกิจการออกไปทั้งหมด
            ที่ยังดูดีบ้างอยู่ก็คือ เวอร์จินเมกะสโตร์ ซึ่งยังมีร้านค้าอยู่มากกว่า 100 สาขา ในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และในตะวันออกกลาง ทั้งยังมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ในพื้นที่ที่เวอร์จินเมกะสโตร์เคยเฟื่องฟู ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ และโซนเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนที่บริหารโดยเวอร์จินกรุ๊ปของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ทยอยปิดกันไปหมดแล้ว ในญี่ปุ่นก็แปลงโฉมเป็นสึทะยะ ส่วนที่เหลือก็แยกเจ้าของและผู้บริหารกันไปเป็นรายประเทศ
ในขณะที่ยอดขายแผ่นเสียงลดลง ยอดดาวน์โหลดเพลงแบบถูกกฎหมายก็โตขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุดของปี 2011 ยอดขายซีดีลดลง 5% แต่ยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 8.4% และเมื่อข้ามมาเดือนมกราคม 2012 ยอดขายแบบดิจิทัลดาวน์โหลดก็มีส่วนแบ่งในตลาดเพลงรวมเพิ่มขึ้นเป็น 50.3% เอาชนะยอดขายแผ่นเสียงทุกรูปแบบรวมกันได้เป็นครั้งแรก
            เมื่อย้อนกลับไปถึงวันที่โลกเริ่มรู้จักไฟล์เพลง MP3 และการแชร์ไฟล์เพลงผ่านแนปสเตอร์ ก็ใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าที่เพลงในรูปแบบดิจิทัลจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นความจริงที่ว่า ถ้านับเอาการดาวน์โหลดที่ละเมิดลิขสิทธิ์รวมด้วย เพลงในรูปแบบดิจิทัลชนะไปนานหลายปีแล้ว แต่การนับแบบนั้นก็ไม่ได้มีความหมายมากนักในแง่การศึกษารูปรอยธุรกิจดนตรี นอกไปจากการสะท้อนความพร้อมและความสามารถในการละเมิดลิขสิทธิ์ของเราเอง
            ต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนขึ้นศตวรรษใหม่ เครื่องเล่นไฟล์เพลง MP3 อย่าง Rio รวมทั้งเครื่องซีรี่ส์ต่างๆ ของบริษัทไอริเวอร์แห่งเกาหลี และครีเอทีฟของสิงคโปร์ มีผลต่อความนิยมในไฟล์เพลง MP3 ที่ขยายกว้างออกไปจากการฟังผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ และเปลี่ยนแบบแผนการฟังเพลงอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นเครื่องเล่น iPod และระบบนิเวศของการแปลงไฟล์-ริพแผ่น-ซื้อขายเพลงในชื่อ iTune ของแอปเปิ้ล ก็มาต่อยอดและปรับโครงสร้างให้คนฟังเพลง-ศิลปิน-บริษัทแผ่นเสียงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสมประโยชน์กันทุกฝ่าย
            แต่การซื้อขายเพลงในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากแผ่นซีดีเป็นดิจิทัลดาวน์โหลด ก็ได้เปลี่ยนแบบแผนการฟังและการซื้อขายเพลงไปด้วย กรณีของเพลง “WANEGBT” ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่าการขายซิงเกิ้ลกลับมามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
            จนถึงขณะนี้ ซิงเกิ้ลที่มียอดดาวน์โหลดเกิน 5 ล้าน มีมากกว่า 80 เพลง (เทียบกับซิงเกิ้ลในยุคแผ่นไวนิล 7 นิ้วและซีดีซิงเกิ้ล มีอยู่ประมาณ 110 เพลง) เฉพาะเพลงที่ดาวน์โหลดกันเกิน 10 ล้านครั้ง ก็เป็นเพลงที่ออกในช่วงปี 2010-2011 ไปแล้ว 4 เพลงจาก 9 เพลง ที่เหลือก็ไม่เก่าไปกว่าเพลงของปี 2006 สถิติและแนวโน้มเช่นนี้ แม้จะไม่ถึงขั้นย้อนยุคกลับไปสู่ยุคบุกเบิกร็อคแอนด์โรลล์ตอนกลางทศวรรษ 1950 ก็ตาม แต่ก็ท้าทายศิลปินที่มุ่งทำเพลงขายทั้งอัลบั้มมากขึ้นเรื่อยๆ
            การที่กรีนเดย์ประกาศออกอัลบั้มไตรภาค 3 แผ่น ในชื่อ ¡Uno!, ¡Dos!, และ ¡Tré! ซึ่งจะไล่เรียงกันมาตามลำดับในวันที่ 25 กันยายน, 13 พฤศจิกายน ปีนี้ และ 15 มกราคม ปีหน้า จึงถือว่าเป็นความทะเยอทะยานที่ท้าทายวงการดนตรีมากที่สุดในรอบหลายๆปี และน่าติดตามดูผลลัพธ์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเตร็ดเตร่อยู่ทางตอนบนของเกาะคิวชู ของแถมที่ได้มาจากการเดินทางคือการสำรวจร้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
            ผมเคยเข้าทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ซึ่งหาเจอได้ไม่ยากในโตเกียว ในโอซาก้า แต่ไม่คิดมาก่อนว่าในเมืองที่มีขนาดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 1,500,000 คน อย่างฟุกุโอกะ จะมีร้านทาวเวอร์ฯ กระจายอยู่อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เห็นก็ 3 แห่ง และเมืองที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคนอย่างนางาซากิ ก็ยังมีทาวเวอร์ฯ อย่างน้อย 1 สาขาเปิดรับผมอยู่ที่สถานีรถไฟ
แอบถ่าย (เพราะขอแล้วทางร้านไม่ยอมให้ถ่าย) ร้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
ในย่านเทนจิน ฟุกุโอกะ
            เท่าที่สำรวจดูในร้าน และกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ผมแน่ใจว่า นอกจากญี่ปุ่นจะกลายเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของร้านแผ่นเสียงในชื่อนี้แล้ว ยังน่าจะเป็นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับธุรกิจค้าปลีกซีดีด้วย เหตุผลไม่ได้มีเฉพาะแต่จำนวนสาขาของทาวเวอร์ฯ ประมาณ 80 แห่ง แต่ยังยึดโยงกับวิธีการฟังเพลง-ซื้อเพลง และน่าจะเลยรวมไปถึงวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนที่นั่นด้วย
            แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้ล้าหลังทางเทคโนโลยีแน่ๆ แต่สิ่งที่คนญี่ปุ่นมีคือวัฒนธรรมการฟังเพลงแบบจริงจัง ด้านหนึ่งนั้นอย่างที่เรารู้กันว่านี่คือประเทศที่มีนักฟังเพลงระดับออดิโอไฟล์ที่เอาจริงเอาจังกับคุณภาพเสียงมากที่สุดประเทศหนึ่ง อีกด้านหนึ่งคือการศึกษาทางดนตรี ซึ่งอย่างเป็นทางการนั้นเราเห็นได้จากเยาวชนของเขาที่มีพื้นฐานทางดนตรีและการเล่นดนตรีในระดับดีเยี่ยม และอย่างไม่เป็นทางการนั้น อาจเห็นได้จากร้านอย่างทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
            ร้านที่ผมเข้าไปสำรวจอยู่ในย่านเท็นจิน มีอยู่สองชั้น พื้นที่รวมกันน่าจะมากกว่าทาวเวอร์ฯ สยามเซ็นเตอร์  (ถ้าหากความจำผมยังพอใช้อ้างอิงได้) ชั้นล่างเป็นเพลงญี่ปุ่น ชั้นบนเป็นเพลงนานาชาติ จุดสนใจแรกสุดที่ดึงดูดผมเข้าไปก็คือแผนกหนังสือ นิตยสารและหนังสือดนตรีโดยเฉพาะดนตรีตะวันตก แต่พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น – มีเยอะมาก
            หากนั่นยังไม่พอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยฟังเพลงมากกว่าเพื่อความบันเทิง ลองเชื่อมโยงกับการดิสเพลย์แผ่นซีดีแนะนำดนตรีแขนงต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าที่ผมเคยเห็นหรือเคยคิด สมมติว่าผมอยากจะทำความรู้จักกับเพลงยุคบิ๊กแบนด์ ผมก็สามารถเริ่มต้นจากงานรวมเพลงของยุคนั้นที่คัดสรรค์ออกมาเป็นซีดีชุด 4 แผ่น ราคาประหยัดเหมาะกับผู้เริ่มต้น ถ้าเกิดชอบใจแล้วก็สามารถมาตามหางานของศิลปินคนที่ชอบเป็นพิเศษ ซึ่งจัดหมวดหมู่เอาไว้เป็นระเบียบและมีให้เลือกมากพอในเกือบทุกแนวเพลง
            คงเป็นด้วยเงื่อนไขและวิธีการเช่นนี้เอง ร้านซีดีในญี่ปุ่นจึงยังตั้งมั่นและคงอยู่อย่างมีชีวิตชีวา
#
7 กันยายน 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555)

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Half Full - Half Empty

หลังจากน้ำท่วมใหญ่-เพียงเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลว-เมื่อปีที่แล้ว 
ทำให้เราพะวงและหวาดผวากับปัญหาน้ำท่วมกันจนอาจจะลืมปัญหาคู่ขนานในด้านกลับ 
คือภัยแล้งและการขาดเแคลนน้ำ ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในการเสวนาของ สสส. เรื่อง
"ผสานพลังคนทำงานเพื่อพัฒนานักจัดการงานทางสังคม"
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงสถานการณ์แวดล้อมของโลก
ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า ขณะนี้ประชากรโลก 600 ล้านคนใน 21 ประเทศ กำลังขาดแคลนน้ำ
และพื้นที่เกษตร ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจกลายเป็น 1,400 ล้านคนใน 36 ประเทศ 
ที่ประสบภาวะขาดแคลน
และคาดการณ์ได้ว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งขั้วเก่าและขั้วใหม่อย่าง จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล นอกจากจะแย่งชิงแร่ธาตุ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติกันแล้วจะหันมาแย่งชิงน้ำด้วย 

อ่านข่าวการเสวนาแล้ว ผมก็นึกถึงต้นฉบับที่เคยเขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
และคิดว่าน่าจะยังมีประโยชน์ต่อการอ่านอยู่บ้าง-ตามควร

Photo Credit: http://www.guardian.co.uk
ทฤษฎีน้ำครึ่งแก้วใช้จำแนกคนมองโลกในแง่ดี กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย เป็นการอุปมาเพื่อสะท้อนว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ คนเราอาจเห็นต่างกันไปได้คนละปลายขั้ว และในยุคสมัยหนึ่งก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่น่าตื่นเต้นในการสร้างแรงขับทางธุรกิจเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
            แต่ก็เหมือนกับเนยแข็งที่หายไปและก่อให้เกิดคำถามว่า “Who Moved My Cheese?” มาจนถึงการดั้นด้นไปกลางท้องทะเลลึกตามแนวกลยุทธ์ “Blue Ocean Strategy” และอีกมากกว่ามาก ซึ่งวูบวาบเจิดจ้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วแล้ววูบดับลับเลือนในเวลาไม่นานนัก ไม่ใช่ว่าทฤษฎีและกรอบคิดเหล่านี้ไม่ดีพอหรือไม่มีประโยชน์ แต่ความพยายามที่จะลดทอนเงื่อนไขปัจจัยเกี่ยวข้อง เพื่อให้ง่ายแก่การกระตุ้นจิตใจและอธิบายผลสัมฤทธิ์ตามกรอบความคิดนั้น ได้สร้างกรอบครอบการรับรู้เอาไว้อย่างจำกัด เมื่อสถานการณ์จริงของธุรกิจ ชีวิต และโลก เปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นและซับซ้อนขึ้น กรอบคิดและทฤษฎีเดิมก็ดูจะด้อยค่าไปอย่างรวดเร็ว เปิดทางให้กับกรอบคิดและทฤษฎีที่ไม่มีอะไรใหม่มากไปกว่าการอุปมาด้วยภาษาและเงื่อนไข-สถานการณ์จำลองที่ร่วมสมัยกว่า
            ในแง่นี้ ข้อโต้แย้งเก่าแก่-หรือแม้กระทั่งการเสียดสีล้อเลียน-ต่อทฤษฎีน้ำครึ่งแก้ว จึงสามารถสะท้อนมูลเหตุแห่งความไม่ยั่งยืนของทฤษฎี ในขณะเดียวกันก็ชี้แสดงว่า หากเราไม่จำกัดกรอบคิดไปตามเงื่อนไขและอุปมา เราสามารถใช้กรอบคิดและทฤษฎีที่แม้ดูเหมือนไร้ประโยชน์ไปแล้ว ให้เป็นจุดตั้งต้นของการแตกขยายทางความคิดที่หลากหลาย และเอามาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในบริบทที่แตกต่างกัน
ข้อโต้แย้งพื้นฐานต่อทฤษฎีน้ำครึ่งแก้ว ก็คือความคาดหวังคำตอบเพียงสองแบบเป็นการปฏิเสธการมีอยู่จริงของมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และไปตีกรอบจำกัดศักยภาพการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีนี้
            คนที่ปฏิเสธการมองโลกในแง่ดีและร้าย แต่พอใจจะนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่มองโลกในแง่จริง บอกว่าไม่สำคัญหรอกว่า มีน้ำตั้งครึ่งแก้วหรือ เหลือน้ำอยู่ครึ่งเดียวเพราะความจริงง่ายๆ คือ ขณะนี้มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วบางคนขยายความต่อไปว่า ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยืนยันความถูกผิดของสองคำตอบนั้น ก็ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าน้ำในแก้วเกิดจาก การรินใส่เข้าไป หรือเป็นน้ำหลังจาก การดื่มพวกเพอร์เฟคชันนิสต์ก็อาจจะถาม (แทนที่จะตอบ) ถึงความถูกต้องแม่นยำว่า  มันอาจจะขาดไป 5 ซีซี หรือเกินไป 8 ซีซี ก็ได้
            ยังมีคนที่มองดูน้ำมองดูแก้ว แล้วก็เห็นว่าแก้วน้ำใหญ่เกินจำเป็นสำหรับน้ำในปริมาณขนาดนั้น ฝ่ายเต๋ากลับมองเห็นส่วนที่ว่างเปล่าของแก้วซึ่งขับเน้นประโยชน์และโอกาส เหมือนกับหน้ากระดาษที่ยังว่างให้เราจดบันทึก แต่นักวิทยาศาสตร์แย้งว่ามีอากาศอยู่ในส่วนที่เห็นเป็นความว่างเปล่า และถ้าปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นน้ำก็จะระเหยหายไปจนหมด มีคนเสริมว่า อาจไม่ต้องรอนานขนาดนั้น เดี๋ยวก็คงมีคนซุ่มซ่ามทำแก้วแตก หรือไม่ก็มีใครสักคนเดินเข้ามาบอกว่า ข้อถกเถียงทั้งหมดนั้นล้วนไม่เป็นแก่นสารและไม่เกิดประโยชน์ เพราะน้ำดื่มมีไว้เพื่อดื่มดับความกระหาย
            แล้วก็ยกขึ้นดื่มจนหมดแก้ว
โลกวันนี้ก็เหมือนแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งการมองในแง่ดีว่ายังมีน้ำอีกตั้งครึ่ง หรือมองในแง่ร้ายว่าเหลือน้ำอยู่เพียงครึ่งเดียว ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าคติและมุมมองนั้นไม่นำไปสู่การแตกขยายความคิดและการกระทำ
            การมองในแง่ดีอาจให้ผลเชิงบวก ถ้าเรามองว่าปริมาณน้ำที่มีอีกตั้งครึ่งให้เวลาเรามากขึ้นสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปริมาณการใช้น้ำ มีเวลามากขึ้นสำหรับการหาน้ำมาเพิ่ม การมองโลกในแง่ร้ายก็อาจให้ผลเชิงบวกยิ่งกว่า ถ้าทำให้เราเร่งกระตุ้นตัวเองถึงความจำเป็นในการจัดหาน้ำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกัน การมองทั้งสองแง่ก็อาจให้ผลเชิงลบ ถ้าทำให้เราหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตเพราะคิดว่าจะไม่มีน้ำให้เรายังชีพไปได้นาน หรือทำให้เราคิดว่าน้ำในปริมาณขนาดนี้เพียงพอให้เราดื่มใช้ไปชั่วชีวิตเรา แต่ถ้ามันเกิดปัญหาขาดแคลนจริงๆ ก็ต้องมีคนอื่นที่เดือดร้อนก่อนเราและตายไปก่อนเรา แล้วเมื่อถึงตอนนั้นก็คงมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนคุณสมบัติน้ำทะเลมาเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ หรือสามารถต่อท่อส่งน้ำมาจากดาวดวงอื่น ไม่เห็นจะต้องตีตนไปก่อนไข้
            คำถามของพวกเพอร์เฟคชันนิสต์หรือนักวิชาการเคร่งข้อมูล ก็มีประโยชน์ ถ้าหากว่ามันนำไปสู่การคำนวณปริมาณน้ำที่แม่นยำ และคาดประมาณให้คนทั้งโลกได้ตระหนักว่าเราจะเผชิญวิกฤตน้ำในระดับไหน ณ เวลาใด หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนเดินเข้ามาคว้าแก้วน้ำไปดื่มคนเดียวจนหมด ก็สามารถนำไปสู่การบริหารจัดสรรน้ำเพื่อทุกคน
เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนที่น้ำดื่มบรรจุขวดในเมืองไทยเริ่มมีราคาแพงพอๆ กับน้ำมัน องค์การอนามัยโลกเคยฉายภาพอนาคตของสภาวะโลกในปี 2020 เอาไว้ 3 แบบ มีทั้งการคาดการณ์ทางบวก ทางลบ และกลางๆ แต่ทุกแบบระบุปัญหาพื้นฐานทางนิเวศวิทยา ภาวะแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากร ไว้คล้ายๆ กัน ต่างกันตรงที่โอกาสในการแก้ปัญหา
            ในเรื่องของน้ำ ปี ค.ศ. 2020 จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงใน 300 เมือง ก่อนจะถึงเวลานั้น เมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง ไคโร กัลกัตตา คาร์ดีฟ ดักกา ฮุสตัน จาการ์ตา การาจี ลอสแอนเจลิส เม็กซิโกซิตี้ มุมไบ เซี่ยงไฮ้ เซาเปาโล เทลอาวิฟ จะนำร่องไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2010
            สงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชากร ผู้บริโภคกับกลุ่มทุน ประชาชนกับรัฐ และระหว่างประเทศต่อประเทศ ในช่วงต่อไปจะรวมศูนย์อยู่ที่การแย่งชิงน้ำ ซึ่งถ้าดูจากสถานการณ์ปัญหาเรื่องน้ำที่ทาง International Networks Archive ประมวลสรุปออกมาเป็นแผนที่ชื่อ “Glass Half Empty: The Coming Water Wars” ในปี 2003 ดูเหมือนว่าสงครามน้ำจะเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะข้อมูล ณ ปีนั้นระบุว่ามีคนมากถึง 1,300 ล้านคนเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด คน 2.2 ล้านตายด้วยโรคเกี่ยวกับสุขอนามัยและน้ำที่ไม่สะอาด ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ทุกๆ นาทีที่ผ่านไป มีคนตาย 7 คนจากปัญหาน้ำสกปรกหรือขาดน้ำ
            เอเชียโดยเฉพาะตะวันออกกลาง กับแอฟริกา เป็นสองพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำอย่างรุนแรง เพราะเอเชียมีประชากรถึง 60% ของประชากรโลก แต่มีแหล่งน้ำในปริมาณเพียง 36% ส่วนแอฟริกามีประชากร 13% น้ำ 11% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีกว่ายุโรป (ประชากร 13% น้ำ 8%) แต่แอฟริกามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการกระจายและจัดสรร ในขณะที่ยุโรปทดแทนด้วยการจัดการและเทคโนโลยี
            สถานการณ์ความขาดแคลนและขัดแย้งจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อแต่ละประเทศ (หรือแม้แต่ชุมชน-พื้นที่) ที่อยู่ต้นน้ำจะตักตวงเอาประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีให้มากที่สุด ที่เกิดขึ้นแล้วและใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในจีน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
น้ำเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษยชน ซึ่งปฏิญญาที่เกิดขึ้นในยุคหลังได้รับรองความเข้าใจเก่าแก่ของคนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ว่าน้ำ แม้จะไม่ใช่ของฟรี แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกระบบการค้า เช่นเดียวกับอากาศ
            แต่โลกาภิวัตน์และระบบตลาดเสรีกำลังเปลี่ยนให้น้ำเป็นสินค้า ด้วยการสนับสนุนและสร้างเงื่อนไขให้อย่างแข็งขัน จากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ข้ออ้างอิงที่ดีคือฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตกที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมานาน แต่ต้องไม่ลืมว่า ยุโรปมีเงื่อนไขของขนาดประเทศ ความเป็นเมือง ความหนาแน่น สัดส่วนประชากรต่อปริมาณน้ำ และการกระจายรายได้-ทรัพยากรที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นของโลก การบริหารจัดการน้ำซึ่งทางหนึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อกำไร แต่อีกทางหนึ่งก็วางอยู่บนฐานของอรรถประโยชน์สูงสุด ทั่วถึง และรู้ค่า ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราการใช้น้ำต่อคนต่อปีของคนยุโรปที่ต่ำกว่าอเมริกาและแคนาดาหลายเท่า (ปี 2003 คนอเมริกันใช้น้ำมากกว่าคนฝรั่งเศส 2 เท่า มากกว่าคนเยอรมัน 3 เท่า มากกว่าคนเดนมาร์ก 8 เท่า)
            เงื่อนไขของยุโรปจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเอเชีย แอฟริกา และประเทศด้อย/กำลังพัฒนาทั้งหลาย นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปในยุคหลังก็ไม่ใช่ผลผลิตของโลกทัศน์ ระบบคิด และเงื่อนไข-บริบทเฉพาะที่สั่งสม-สังเคราะห์กันมาในสังคมหนึ่งๆ แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยองค์กรเจ้าหนี้ เพื่อทำการส่งมอบทรัพยากรร่วมของคนทั้งชาติให้แก่คนกลุ่มเดียว และในหลายกรณี เป็นกลุ่มคนชาติอื่น
            เมื่อหลายปีก่อน เคยมีการศึกษาพบว่า ทุกเหรียญที่ประเทศด้อยพัฒนากู้ไปเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามกระแสโลก ต้องจ่ายคืนถึง 3 เท่า แต่สิ่งที่ได้คือช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถ่างออก ความลำบากยากแค้นของกลุ่มคนด้อยโอกาส แลกกับความมั่งคั่งของกลุ่มทุนกับบรรษัทข้ามชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานเรื่องผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน จัดทำโดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในวอชิงตัน ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ระบุชัดเจนว่าภาวะขาดแคลนน้ำ นอกจากจะเป็นสาเหตุการตาย  สาเหตุของโรคและปัญหาสุขภาพ สาเหตุการอพยพย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมและระหว่างประเทศ หากยังมุ่งแก้ปัญหาน้ำโดยการแปรรูป ก็จะเร่งให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
            ถึงที่สุดแล้วปัญหาเรื่องน้ำและทรัพยากรอื่น รวมถึงผลกระทบต่างๆ จากปัญหาโลกร้อน จะเป็นจัดรูปความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ และอาจเป็นจุดจบของโลกาภิวัตน์
#
20 พฤศจิกายน 2550
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2550)

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

5 ชอบ 2554-2555

เหมือนอย่างที่เคยๆ ฉบับครบรอบปีที่ 23 ของ "สีสัน" เมื่อเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา 
มีนักวิจารณ์และคอลัมนิสต์หลากหลายแขนงมาบอกเล่าเรื่องราว/ผลงาน
อันเป็น "5ชอบ 5 ไม่ชอบ" ในรอบปีของแต่ละคน
และนี่คือส่วนที่เป็น "5 ชอบ" ของผมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554-ครึ่งแรกของปี 2555

กิติกร มีทรัพย์ มีงานเขียน งานแปล มายาวนาน หลากหลาย และมีแง่มุมที่น่าอ่านเสมอ ฐานที่ยึดโยงผลงานส่วนใหญ่ของเขาไว้ด้วยกันคือความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ในระดับที่เรียกได้ว่าสนิทสนมกันดีกับซิกมันด์ ฟลอยด์ เมื่อชื่อของเขาปรากฏอยู่ในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง “วาสิฏฐี ฉบับจิตวิเคราะห์” (สนพ.ปราชญาพับลิชชิ่ง) ผมก็แน่ใจว่าจะได้รู้จักกับ “วาสิฏฐี” ในแง่มุมที่อาจจะไม่เคยคิดคาดมาก่อน

นอกจากการวิเคราะห์ชีวิตและความรักของวาสิฏฐี คุณพี่กิติกรยังวิเคราะห์และขยายความเรื่องราวและตัวละครที่เกี่ยวข้องไว้อย่างกระจ่าง ทั้งยังเชื่อมโยงทฤษฎีของจิตเข้ากับหลักพุทธธรรมได้อย่างน่าสนใจ

ในอีกโลกหนึ่ง วิถีของบริษัทอย่างเดนท์สุก็น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะความใหญ่และความเก่าแก่ในวงการโฆษณา แต่อยู่ที่การพัฒนาแนวคิดด้านสื่อสารการตลาดที่ครอบคลุมและทันกับสื่อ-ยุคสมัย-จิตใจของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ นำเสนออย่างมีศิลปะ และวัดผลสำเร็จได้

“The Dentsu Way” (สนพ.เนชั่นบุ๊คส์) ฉบับแปลไทยโดย Shuriken by Dentsu Plus ได้ถ่ายทอดแนวคิดด้าน Cross Communication และโมเดล (หรือกลยุทธ์) ที่เรียกว่า Cross Switch รวมถึงกรณีศึกษาที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญๆ ในตลาดไว้อย่างละเอียด แม้จะมีความไม่ราบรื่นในการอ่านอยู่บ้าง แต่ก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการได้ทำความเข้าใจกับวิถีอันซับซ้อนที่การตลาดเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจที่ยากจะหยั่งถึงของคนเรา ในยุคสมัยของการสื่อสารที่หลากหลายและกระจัดกระจาย จากบทเรียนและประสบการณ์จริง

วัย 77 ของศิลปินอย่าง เลียวนาร์ด โคเฮน ก็มีเรื่องเล่าและประสบการณ์มากมาย ดังที่เขาเคยบอกเล่าผ่านเสียงเพลงและบทกวีมากว่า 51 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ “Old Ideas” (Columbia) พิเศษขึ้น (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผม) คืออารมณ์รวมของการย้อนมองและใคร่ครวญชีวิต – ไม่ว่าจะในแง่มุมของความรักความปรารถนา ความศรัทธาและล่อลวง อารมณ์ห่วงหาและอาลัย – ที่นำเสนออย่างเรียบ-ง่าย แต่ลึก-งาม สมความเป็นศิลปินและสมวัย
อีกเกือบขั้วปลายหนึ่งของวัย เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในวัย 20 ต้นๆ ยังคงเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นเยาว์ที่เติบโตอย่างงดงามทุกย่าวก้าว ด้วยความสามารถที่ครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่ต้องอาศัยโนมเนื้อและเรื่องอื้อฉาว

นอกเหนือจากความสามารถที่แสดงไว้ในสามอัลบั้มโดยไม่มีข้อสงสัยอะไรอีก เทย์เลอร์ได้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีคอนเสิร์ตผ่าน “Speak Now: World Tour Live” (Universal) บันทึกการแสดงสดจากทัวร์คอนเสิร์ตชื่อเดียวกันที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2011 ที่สิงคโปร์ กับอีก 5 เมืองในเอเชีย (ไม่มีประเทศไทย) 12 เมืองในยุโรป กว่า 50 เมืองในอเมริกาเหนือ และไปจบที่ออสเตรเลียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ที่มากกว่ารายได้ 123 ล้านดอลลาร์ และจำนวนผู้ชมรวมกว่า 1,600,000 คน คือการที่เธอตรึงคนดูหลักหมื่นและหลายหมื่นในแต่ละรอบได้อยู่ และ-น่าดูมากจริงๆ 

ส่วนเล่มนี้ ก็เป็นหนังสือที่เข้าข่าย “น่าดู” อยู่เหมือนกัน “วันที่รู้สึกดีๆ” (สนพ.สารคดี comics) รวมสิบเรื่องสั้นในรูปแบบการ์ตูนที่นำเสนอออกมาด้วยลายเส้นง่ายๆ แต่ฉายความละเอียดอ่อนไว้ชัดทั้งเส้นสายลายมือและเรื่องราวที่บอกเล่าแง่มุมงดงามของชีวิต เป็นงานที่ GPEN สามารถส่งผ่านความประทับใจของผู้เขียนให้ออกมาเป็นความรู้สึกที่ดีของผู้อ่านได้อย่างสวยงาม 

แถมท้ายด้วยอีกหนึ่งความรู้สึกดีๆ ในการอ่าน “Flipboard” เป็นแอปพลิเคชัน (ในแอนดรอยด์และไอโฟน) สำหรับการอ่านข่าวสาร-บทความตามหมวดความสนใจที่เราเป็นผู้เลือก แต่ด้วยเนื้อหาที่ทีมงานเป็นผู้คัดสรรจากสื่อชั้นนำหลากหลายมานำเสนอ เป็นประสบการณ์การอ่านที่แปลกใหม่และมีเรื่อง(น่าอ่าน)ให้แปลกใจได้เสมอ
3 สิงหาคม 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555) 

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (4)

จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ประเทศไทยยังคงจมอยู่ในปลักของการลบล้างความผิดให้ทักษิณและแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาอำนาจที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ปักหลักหมุดสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านการลงประชามติ
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ ศาล และองค์กรอิสระจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่นั่นก็เพราะการออกแบบโครงสร้างอำนาจอธิปไตย และการตรวจสอบ-ถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงสร้างที่ล้มเหลว
            จริงอยู่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากการแต่งตั้ง แต่ ส.ส.ร. 2550 ก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจน-กว้างขวางยิ่งกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่มักจะอ้างกัน (บ่อยครั้งที่อ้างโดยผู้ร่างเอง) ว่า “ก้าวหน้าที่สุด” และ “ดีที่สุดโลก”
            จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็โดยวิถีทางที่ถูกต้อง ตามกระบวนการที่กำหนด และไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติตามมาตรา 291 ที่ว่า “ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้”
            จึงเป็นเรื่องน่าขัน ที่ได้เห็นนักประชาธิปไตยผู้ชูธงคัดค้านรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร ล้วนกระหายอยากจะร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญกันเอง และรับรองกันเอง ในขณะที่พรรคการเมืองซึ่งอวดอ้างชัยชนะจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ ก็ไม่กล้าเผชิญหน้าการทำประชามติ
            ได้แต่อวดตรรกะโง่ๆ ว่า ศาลจะให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ
            ตอบแบบเด็กมัธยมต้น ก็คือ “ถ้าคนอยากแก้ก็ยังไม่รู้ แล้วจะขอแก้ทำติ่งหูอะไร”
๐ 
Credit: Praphol Chattharakul
ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญไม่เคยใช้เป็นสิ่งชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ อย่าว่าแต่ประเด็นปลีกย่อยเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญ
            โดยไม่สำคัญเลยสักนิดว่าเรามีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากน้อยขนาดไหน เพียงแต่ในหัวของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสมอง และในใจของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสติ เราย่อมรู้ว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นแม่แบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
            รู้ว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ใช้มา 225 ปีแล้ว โดยไม่มีใครประทับตราว่าเป็นรัฐธรรมนูญยุคทาส และไม่เคยต้องยกร่างใหม่ เพียงแต่แก้ไขเฉพาะส่วนให้เหมาะสมกับกาลสมัยและบริบทความสัมพันธ์ทางอำนาจต่างๆ ในสังคม
            และรู้ว่าญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 โดยที่ประชาชนของเขาไม่คิดว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญของผู้แพ้สงคราม
            แล้วเราก็พอรู้ – แม้เพียงเลาๆ ว่า – สถานะของรัฐธรรมนูญคือ การเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบรัฐ รูปแบบการปกครอง โครงสร้างและขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์และการถ่วงดุลระหว่างสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตย การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่การนำมาใช้ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
            ตามดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ที่สำรวจและจัดอันดับโดยหน่วยงานชื่อ “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต” ของนิตยสารอีโคโนมิสต์ (อันเป็นที่เคารพสักการะของพวกแดงซ้าย) ใช้ตัวชี้วัด 5 อย่างในการประเมินและให้คะแนน คือ กระบวนการเลือกตั้ง, การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวอาจสะท้อน-สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่เกณฑ์การให้คะแนนจริงๆ น่าจะอยู่ที่วิถีปฏิบัติในหัวข้อนั้นๆ
            ลองมาดูกรณีประเทศไทยในปี 2011 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 58 ด้วยคะแนน 6.55 น่าสนใจว่าตัวชี้วัดที่ฉุดดึงคะแนนความเป็นประชาธิปไตยไทย กลับเป็นเรื่องของ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, วัฒนธรรมการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ใช่กระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เสรีภาพที่เรียกหากันไม่หยุดหย่อน และยิ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลไม้พิษที่ชื่อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” ที่ใช้มา 5 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง
            แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงยุโรป, อเมริกา, ออสเตรเลีย เพราะคะแนนประเทศไทยยังต่ำกว่า ประเทศในละตินอเมริกาอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา ไปจนถึง โคลอมเบีย, เปรู ด้วยซ้ำ ในเอเชีย ถึงไม่เทียบกับ ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน คะแนนของเราก็ยังต่ำกว่าศรีลังกา (อันดับ 57 คะแนน 6.58) อยู่เล็กน้อย แต่เมื่อมองหาประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน ก็จะพบว่าอยู่ใต้เราทั้งหมด ทั้งอินโดนีเซีย (60/6.53), มาเลเซีย (71/6.19), ฟิลิปปินส์ (75/6.12), สิงคโปร์ (81/5.89), กัมพูชา (101/4.87), เวียดนาม (143/2.96), ลาว (156/2.10), พม่า (161/1.77) ส่วนบรูไนตกสำรวจ
            ทั้งโดยชีวิตจริงที่เราต่างก็ประสบ-สัมผัส-รับรู้ได้ ทั้งโดยการประมวล-วัดผลจากหน่วยงานที่ขายความน่าเชื่อถือของข้อมูล (ข้อมูลนะครับ ไม่ใช่ทัศนะ และอยู่ในเครือดิ อีโคโนมิสต์ ด้วยนะครับ-อย่าลืม) ต่างสอดคล้องตรงกันว่าระดับเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยไทยไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ก็ไม่วายมีพวกเสียจริตผลิตวาทกรรมออกมาล้างสมองพวกที่หัวด้านในกลวงไปหมดแล้วว่า ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยเท่าๆ กับเกาหลีเหนือ
            เกาหลีเหนือนั่นอยู่ก้นตารางครับ อันดับที่ 167 คะแนน 1.08
            ถ้าใครจะแย้งเรื่อง “เสียจริต” และ/หรือ “หัวด้านในกลวง” ผมแก้ใหม่ให้ตรงนี้เลยก็ได้ว่า พวกนี้คงโตมาแบบเก็บกด ในบ้านที่เลี้ยงดูกันมาแบบอำนาจนิยม ขาดความอบอุ่น ไม่ถูกปลูกฝังทั้งสติและปัญญา ถึงได้เรียกหาประชาธิปไตยไป สรรเสริญฮุนเซ็นไป (โอ้ว อยู่สูงกว่าเกาหลีเหนือตั้ง 60 กว่าอันดับ คะแนนก็มากกว่าตั้ง 4 เท่า เลยนะนั่น)
๐ 
รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ดี
            ส่วนที่ดีในรัฐธรรมนูญ 2540 คือกระบวนทัศน์ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งถือได้ว่าก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับเจตนารมณ์ในการสถาปนาประชาธิปไตยที่มั่นคง บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
            ปัญหาพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ 2540 คือการขัดกันในเชิงแนวคิดและปรัชญา ด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งตอบโจทย์เก่าแก่ของการเมืองไทย คือความไม่ต่อเนื่อง-ไม่มั่นคงของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายที่ได้ก็คือ การสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นคำตอบเดียวกับที่เคยเสนอกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 โดยมีช่วง 8 ปีของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นข้อพิสูจน์ว่าความต่อเนื่องมั่นคงทางการเมืองสามารถนำพาประเทศไทยก้าวไกลไปในหลายทิศทาง ปัญหาคือคำตอบของทศวรรษ 2520 อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับทศวรรษ 2540 และพฤติกรรมนักการเมืองไทยตลอดทศวรรษ 2530 ไม่ได้บ่งชี้ถึงโอกาสที่พวกเขาจะเป็นแนวหน้าของการพัฒนาประชาธิปไตยได้เลย
            ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์-ความคิดและจิตสำนึกทางสังคมในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ได้ฉายให้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคม และโอกาสของการเสริมสร้างพลังชุมชนควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจเพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืนกว่าของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เลือกเอาเสถียรภาพรัฐบาลและเสริมสร้างพลังอำนาจผู้นำฝ่ายบริหาร การเสริมสร้างพลังชุมชนก็กลายเป็นเรื่องของระบอบอุปถัมภ์ใหม่ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมกลายเป็นเรื่องของโครงสร้างการปกครองที่ทับซ้อนและอีลุ่ยฉุยแฉก ประชาสังคมก็อ่อนแอลงด้วยประชานิยมที่หยิบยื่นให้ตั้งแต่ยังไม่แบมือขอ
            ทุกอย่างเริ่มต้นมาตั้งแต่คดีซุกหุ้นในปี 2544 เมื่อทั้งการหว่านล้อมและการกดดันสารพัดวิธีการ โดยเฉพาะการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อ “ให้โอกาสทักษิณทำงาน” ได้แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็เพื่อที่จะฉีกมันด้วยมือเราเอง
            เมื่อเปรียบเทียบกัน รัฐธรรมนูญ 2550 แม้ไม่มีจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อให้ได้มา ไม่มีกระบวนการของการมีส่วนร่วมแต่ต้นทาง ไม่มีเจตนารมณ์ยิ่งใหญ่หรือกระบวนทัศน์กว้างไกล แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นพันธสัญญาจากการทำรัฐประหารที่มีประชาชนเห็นด้วย 84 เปอร์เซนต์ ผ่านการเห็นชอบด้วยประชามติ 14.7 ล้านคน เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-ที่เคยถูกฉีกทึ้งทำลายมาก่อนหน้านั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองและขยายขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปกว้างขวางยิ่งกว่าฉบับเดิม และอุดชันทุกรูโหว่ที่เปิดช่องให้อำนาจของเสียงข้างมากในรัฐสภาล้ำเข้าไปแทรกแซงเขตแดนอำนาจของฝ่ายและองค์กรอื่นๆ
            ความพยายามใดๆก็ตามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้ที่ให้การรับรองรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงไม่ได้แตกต่างการทำรัฐประหารที่เริ่มด้วยการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แต่ที่แย่กว่าการทำรัฐประหารครั้งหลังสุดก็คือ เพื่อสร้างอำนาจสถาปนาใหม่ที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
๐ 
จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ทุกเหตุการณ์ที่อยู่ในปลักโคลนของการต่อสู้เพื่อทักษิณ ล้วนพิสูจน์ชัดเจนว่าเขาต้องการกลับมาอย่างผู้พิชิต และจะไม่มีวันรามือตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่
            รัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบได้กับธงผืนใหญ่ที่ถูกชักชูขึ้นประกาศเสรีภาพเหนือระบอบทักษิณ และนับจากนี้ไป ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะยังชักชูธงผืนนี้กันต่อไป หรือดูดายให้เขาปลดลง
7 สิงหาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555)

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (3)

ปีพ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งที่(แม้)ผมไม่ได้เขียนเรียกหารัฐประหาร แต่(ในที่สุด)ก็(เสมือนหนึ่งว่า)สนับสนุนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน อยู่ดี 
            นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ข้อเขียนของผมบนพื้นที่ตรงนี้ [ภายใต้ชื่อคอลัมน์ “(I Can’t Get No) Satisfaction และยังอาจนับย้อนหลังไปถึงปลายๆ ยุคของ “ยิ้มทั้งน้ำตา”] โฟกัสอยู่ที่การต่อต้านทักษิณและระบอบทักษิณ ชิ้นที่ถือว่าเป็นการชักชูธงขึ้นมาให้เห็นกันชัดๆ เลยก็คือ “ฟักแม้ว” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 4/2548) ที่เขียนเปรียบเปรยและล้อกันไประหว่างชื่อพืชผักสวนครัว กับคำพ้องเสียงสองภาษา (อังกฤษ-ไทย, ตามลำดับ)
            โดยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับถึงบทความเมื่อกลางปี 2539 เรื่อง “Look Who's Talking Too (Much)” (สีสัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 8/2539) ที่ผมเคยสาธยายเอาไว้ชัดๆว่า คนอย่างทักษิณลวงโลกอย่างไร โกหกรายวันกันหน้าด้านๆ ขนาดไหน ท้ายเรื่อง “ฟักแม้ว” ผมก็บอกท่าทีของผมไว้ชัดและตรงว่า การแก้ปัญหา “สารพิษในฟักแม้ว” ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือวิธีที่เกษตรกรในบางพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรและอุทัยธานีได้ทำเป็นแบบอย่าง-โดยการรื้อถอนทำลายทั้งรากทั้งโคนจนหมดแปลง
            แปลชัดๆ ก็คือ เราปลูกเองได้ เราก็(ควรจะ)รื้อถอนทำลายเองได้
            ต่อมา ในเรื่อง “We Shall Overcome” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 8/2549) ผมมองภาพที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินคล้องแขนกันไปเปิดพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมประกาศเจตนารมณ์ “ทักษิณออกไป” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 แล้วนึกย้อนไปถึงเพลงที่ พีต ซีเกอร์ เรียบเรียงขึ้นใหม่จากเพลงกอสเพลตอนต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งกลายมาเป็นเพลงแห่งการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ และกลายเป็นเพลงเอกในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่โลกได้รู้จักจากการขับขานของ โจน บาเอซ ในการเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ในวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ที่มี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำ
            ผมโยงต่อเหตุการณ์และเพลงนั้นมาถึงเพลง “The Times They Are A-Changin’” กับท่อนที่ขึ้นต้นว่า “The line it is drawn, the curse it is cast” เพื่อจะบอกว่า “เส้นที่ไม่อาจหลบเลี่ยงถูกขีดไว้แล้ว” 
            เพียงแต่ว่า เมื่อเส้นนั้นปรากฏแสดงขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 มันไม่ใช่อย่างที่ผมหรือใครๆหลายคนนึกหวัง แต่เราก็ยอมรับมัน
๐ 
Credit:  chorchangsinging.blogspot.com
ผมนึกหวังอะไร? ยอมรับอะไร?
            ใน “สีสัน” ฉบับเดือนตุลาคม ปีนั้น (ปีที่ 18 ฉบับที่ 3/2549) ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง “Comes A Time” ว่า “สิ่งที่ปรากฏแสดงในรูปของรถถัง กองกำลัง และการยึดอำนาจ อาจไม่สวยงามเท่าความนึกฝันของคนที่ต่อสู้เรียกร้องเอาอนาคตของประเทศออกมาจากอุ้งมือทรราชจำแลง ที่วาดหวังว่าพลังมหาชนจะสามารถกำหนดลากเส้นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เอง แต่ในบริบทแคบๆ ของการทำรัฐประหาร ปฏิบัติการ 19/9/49 เป็นปฏิบัติการจริงที่งดงาม
            “ไม่ได้งดงามแต่ในเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งปราศจากการต่อสู้ปะทะ และการสูญเสียเลือดเนื้อ ไม่ได้งดงามด้วยดอกไม้และความชื่นชมยินดีของผู้คนที่เปลี่ยนบรรยากาศภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ยังงดงามอย่างยิ่งในแง่ที่สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด”
            มีข้อโต้แย้งมากมายจากคนที่ปฏิเสธรัฐประหาร โดยเฉพาะฟากฝั่งของทักษิณ ว่าสถานการณ์นองเลือดเป็นแค่จินตนาการของคนที่กวักมือเรียกทหารออกมายึดอำนาจ แต่ผมก็ยืนกลับไปตามที่เขียนไว้ในบทความเดียวกันนั้นว่า “สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด แต่ยังหมายความด้วยว่า เพราะมันไม่มีโอกาสได้เกิด”
            สองปีต่อมา เหตุการณ์เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเสมือน “ภาพจำลอง” ที่อาจพิสูจน์แสดงได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2549 ผมเขียนไว้ในเรื่อง “And a new day will dawn…” (สีสัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 3/2521) ว่า
            “7 ตุลาคม 2551 คือการฉายภาพต่อจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นภาพที่ผู้คัดค้านการทำรัฐประหารล้วนไม่คิดและไม่เชื่อว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เพียงเพราะว่ามันยังไม่เกิด
            “7 ตุลาคม 2551 คือภาพที่ฉายยืนยันการสถาปนาขึ้นมาของรัฐตำรวจ ที่ก่อร่างสร้างขึ้นอย่างมั่นคงนับจากการเถลิงอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นต้นมา
            “7 ตุลาคม 2551 ยังพิสูจน์ถึงธาตุความสามานย์สูงสุดของระบอบทักษิณที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อแสวง-รักษาอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน โดยปราศจากความรู้สึกผิดบาปโดยสิ้นเชิง”

            ที่จริง ผมควรจะยกมาเพียงแค่นี้ สำหรับประเด็นการรัฐประหารในแง่ที่ว่า “สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด” แต่เมื่ออ่านอีกบางย่อหน้าถัดไป...
            “การซุกหุ้น หลบเลี่ยงภาษี แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ขัดแย้ง แลกเปลี่ยนประโยชน์ชาติให้ได้ประโยชน์ตน ข่มขู่คุกคามทุกเสียงคัดค้าน อุ้มฆ่าทุกผู้คนที่ขวางทางและเปิดโปง วิสามัญฆาตกรรมนับพันศพ จุดไฟหายนะในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือความเป็นไปในภาวะการณ์หยั่งรากลึกของระบอบทักษิณที่ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกับทุนนิยมสามานย์โลกในนามโลกาภิวัตน์
            “ภายใต้รัฐบาลหุ่นที่นิยามประชาธิปไตยไว้ในกรอบของการเลือกตั้ง มีความชอบธรรรมด้วยเสียงข้างมากในสภา ทางหนึ่ง-มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างทุกคดีความที่ก่อไว้ทั้งในอดีตและเกิดขึ้นใหม่ อีกทางหนึ่ง-เป็นความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะปล้นชาติขายแผ่นดินกันต่อไป ไม่เว้นกระทั่งอธิปไตยเหนือดินแดน
            “จากรัฐบาลทักษิณ ถึงสมัคร และสมชาย ไม่เคยเลยที่รัฐบาลจะเปิดทางให้กับการแสวงหาความจริง ไม่เคยเลยที่จะละวางการแสวงหาประโยชน์ ไม่เคยเลยที่จะเจรจากระทั่งนำพาต่อการคัดค้าน มีแต่กระบวนการปกปิดบิดเบือน มีแต่กระบวนการสร้างข่าวเบี่ยงเบนความสนใจ มีแต่กระบวนการข่มขู่คุกคาม มีแต่ถือเอาทุกคนทุกฝ่ายที่คัดค้านเป็นศัตรู
            “กระทั่งสามารถเข่นฆ่าปราบปรามทำลายล้างอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ”

            ผมก็ยิ่งแน่ใจว่า จาก 2549 ถึง 2551 และ 2555 หกปีผ่านไป เรายังไม่ได้พยายามหาทางออกจากห้วงเหวของความอับจนและสิ้นหวัง
๐ 
ที่จริง แม้ผมจะยอมรับ – เหมือนที่อาจารย์เสน่ห์ จามริกยอมรับ – ว่าการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่ (หากเราไม่ปรารถนาจะเห็นภาพคนไทยฆ่ากันเอง) และแอบหวังอยู่บ้างว่า “รัฐาธิปัตย์” ที่สถาปนาขึ้นมาหลังการยึดอำนาจ อย่างน้อยที่สุดจะสามารถทำให้สังคมแยกถูกออกจากผิด
            แต่ความรู้สึกที่ไม่แปลกปลอมเลยกลับเป็น “ความว่างเปล่า” ตามชื่อบทความที่ผมเขียนให้นิตยสาร Image ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้น (ตีพิมพ์ในฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
            “ระหว่างสิบเก้าล้านหรือสิบหกล้านเสียงที่เลือกพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมามีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ กับกว่าร้อยละแปดสิบของการสุ่มสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
            “ระหว่างความตึงเครียดแห่งการเผชิญหน้าทางการเมืองภายใต้บรรยากาศของประชาธิปไตย กับบรรยากาศราวกับงานเฉลิมฉลองภายใต้กฎอัยการศึก
            “ระหว่างการคัดค้านต่อต้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งถูกตอบโต้-ปิดกั้น-คุกตาม ถึงขั้นปะทะ-ทำร้าย กับการต่อต้านคัดค้านความไม่ชอบธรรมของคณะทหารที่มาด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งถูกควบคุมใต้กรอบของการขอความร่วมมือและเงื่อนไขที่จะไม่ลุกลามไปสู่การ เคลื่อนไหวต่อต้านที่หวังผลทางการเมือง
            “ระหว่างการบิดเบือน-ทำลายกลไกและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในนามประชาธิปไตย กับการฉีก-ยกเลิกรัฐธรรมนูญในนามการยึดอำนาจ
            “ระหว่างการทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่ประชาชนให้ความไว้วางใจสูงสุด กับคำมั่นสัญญาของการรื้อ-สร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสขึ้นมาใหม่ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ เพียงหยิบมือเชื่อมั่น
            “ระหว่างการนองเลือดในครรลองของประชาธิปไตย กับการยึดอำนาจที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ
            “ระหว่างการรัฐประหารที่นำประเทศไทยถอยหลังไปสิบห้าปี กับการใช้อำนาจของเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จที่นำประชาธิปไตยถอยหลังมาจนสุดทางไป
            “ระหว่างการรักษารูปแบบ-วิธี-กระบวนการของประชาธิปไตยด้วยทุกๆ ต้นทุนที่มีอยู่ กับการยอมจำนนต่อการยึดอำนาจในฐานะทางออกเดียวที่เหลืออยู่ของสังคม เพื่อเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่
            “ระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น มากด้วยคำถาม หลักการ ฐานคิด และคติที่ต่างกัน
            “และระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น สำหรับบางคน ยังแทรกคลุมด้วยความรู้สึกที่ว่างเปล่า”

๐ 
เกือบหกปีผ่านไป กับทุกๆ เหตุการณ์ที่อาจไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดจะมีในบ้านเมืองของเรา คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึก “ว่างเปล่า” ไม่แตกต่างกัน
            เป็น “ความรู้สึกว่างเปล่า(ที่)ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนความไม่มี หากบ่อยครั้งที่มักสั่งสมจนกระทั่งสามารถหยั่งถึง หรือผุดบังเกิดขึ้นในภาวะซึ่งคุณค่าเดิมที่เรามี ไม่สามารถยึดถือไว้ได้ ในภาวะซึ่งสิ่งที่เราสามารถยึดเหนี่ยว ไม่อาจใช้เกาะเกี่ยวอีกต่อไป”
            สิ่งนั้นมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ความถูกต้อง-ดีงาม”
6 กรกฎาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555)