วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เ-พ-ลี-ย

แผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูดทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ไม่ใช่หายนภัยร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
         แต่เมื่อรวมกับสึนามิที่มียอดคลื่นสูงสุดถึง 37.9 เมตร และปัญหาต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะ ความสูญเสียในระดับที่นายกรัฐมนตรี นาโอตะ คัง บอกว่าเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดในรอบ 65 ปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสิ่งที่ไม่มีใครโต้แย้ง ธนาคารโลกประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่ 235,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เกิดจากภัยธรรมชาติราคาแพงที่สุดในโลก ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินไว้สูงกว่านั้น-ที่ 309,000 ล้านดอลลาร์
         เป็นความสูญเสียที่ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีในดิน-น้ำ-อากาศ ยังไม่รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันและปัญหาอันเนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ และอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ได้นึกถึง.....
ณ วันเกิดเหตุ เราต่างก็เห็นอานุภาพของสึนามิที่สาดซัดเข้ามาในแผ่นดินเกือบสิบกิโลเมตร และกวาดล้างเกือบทุกอย่างที่ขวางหน้า
         นาทีนั้น คนจำนวนมากคงรู้สึกไม่ต่างจากผม ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตมนุษย์เปราะบางเพียงไร และไร้ความสามารถขนาดไหนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
         บางวาบความคิด ผมรู้สึกชื่นชมกับความสามารถทางวิศวรกรรมของคนญี่ปุ่น ที่พิสูจน์ผ่านอาคารน้อยใหญ่ซึ่งรอดผ่านจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่าเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบมาได้ จนอดไม่ได้ที่จะคิดว่า ถ้าไม่มีสึนามิซ้ำด้วยความแรงและความสูงอย่างที่เกิด ภัยพิบัติรอบนี้จะถูกจำกัดความสูญเสียไว้แค่ไหน และ-ในทางตรงข้าม แผ่นดินไหวระดับนี้ หากเกิดในประเทศอื่น เศษซากตึกสูงคงเกลื่อนเมือง
         แต่ในอีกวูบความรู้สึกบอกว่า แม้มนุษย์จะพากเพียรเพียงไรในการเอาชนะธรรมชาติ สุดท้ายมนุษย์ก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ฝากชะตาไว้ภายใต้ความการุณของมวลพระแม่ธรรมชาติ ไม่ต่างจากตึกรามที่รอดพ้นจากภัยแผ่นดินไหว แต่ในที่สุดก็ต้องสยบใต้เกลียวคลื่น
         อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เปราะบาง ก็สามารถมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ และวินัยที่แข็งแกร่ง จากภาพข่าวที่พรั่งพรูมา เราได้เห็นสิ่งซึ่งอยู่เหนือภัยพิบัติและความสูญเสีย นั่นคือจิตใจและวินัยของคนญี่ปุ่น ซึ่งแม้ในยามตระหนกต่อมหันตภัยที่คุกคาม แต่ก็ไม่แตกตื่น และไม่แย่งชิง
         เป็นวิถีแห่งสติ แห่งการถือกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน แห่งการอดทนและสะกดกลั้น ที่ตราตรึงใจคนทั้งโลก และยิ่งไม่ต้องสงสัยว่ามันทั้งแปลกตาและน่าทึ่งสำหรับคนในประเทศที่เพียงการแย่งซื้อน้ำมันปาล์มก็ทำให้ตบตีกันได้แล้ว ลูกสาวผมคนหนึ่งซึ่งไปเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นและเดินทางกลับมาตั้งหลักที่บ้านเล่าเรื่องเชิงเปรียบเปรยว่า เพียงเจอคณะทัวร์คนไทยกลุ่มแรกที่สนามบินก็ “เพลีย” เลย กับการแซงคิวและจองคิว
         ฟังดูเหมือนดัดจริตอยู่บ้าง สำหรับคนที่เพิ่งจากเมืองไทยไปเรียนที่นั่นเพียงเทอมเดียว แต่เมื่อคิดถึงว่า ณ ที่ที่เธอไปอยู่ เพียงการข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางม้าลายก็ทำให้ถูกตัดทุนการศึกษาได้ เราก็จะเข้าใจวิถีที่สังคมหนึ่งๆ ได้หล่อหลอมผู้คน
ข่าวสารที่ออกมา ยังน่าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สื่อสารมวลชนทุกวันนี้ “ป่วย” ไปถึงไหนแล้ว
         อาจจะเป็นเพราะภาพของผู้คนที่ได้รับผลกระทบไม่ “ดราม่า” เพียงพอต่อการขายและ “ขยาย” ข่าว จึงมีนักข่าวหลายสำนักตั้งคำถามนำในทำนองว่า “รัฐบาลเตือนภัยสึกนามิช้าเกินไปไหม” ในวันแรกๆ และ “ความช่วยเหลือของรัฐบาลช้าเกินไปหรือเปล่า” ในวันถัดๆมา น่าเสียดายที่คำถามเหล่านี้ไม่อาจจุดติดในหมู่คนที่ยังครองสติอยู่ได้
         หากนั่นเป็นอากัปของ “สื่อเสี้ยม” เราก็ได้เห็นกิริยาอีกแบบของ “สื่อแช่ง” ผ่านการเสนอข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิจิ ประหนึ่งจะภาวนาให้เหตุการณ์ที่เชอร์โนบีลเกิดขึ้นซ้ำสอง แน่นอนว่าเหตุใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่การล้ำหน้าสถานการณ์และละเลยข้อมูลข้อเท็จจริงที่เข้าถึงได้ไม่ยากจากนักวิทยาศาสตร์สายนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ทำให้ยากจะเห็นบทบาทสื่อบางส่วนเป็นอื่นไปได้ ถ้าไม่ใช่นักค้าความแตกตื่นและปั่นป่วน
         ยังมีนักข่าวของรอยเตอร์คนหนึ่ง เขียนบล็อกบอกชาวโลกว่า ไม่ควรบริจาคเงินช่วยญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รวยอยู่แล้ว และการที่คนเราพากันบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆ ก็มักกระทบต่อทุนสนับสนุนกิจวัตรประจำของเอ็นจีโอองค์กรต่างๆ
         ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชวน “เพลีย” อย่างยิ่ง
เรื่องเพลียๆ ของผู้คน ยังมีอีกมาก
         ในอเมริกา มีคนจุดประกายผ่านทวิตเตอร์ว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น เป็นผลกรรมที่ญี่ปุ่นทำไว้ในสงครามโลกครั้งที่สอง บ้างก็ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้เทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ เมื่อปี 1941 แล้วก็มีคนรีทวีตต่อๆ กันไป จนเกิดกระแสต้านขนานใหญ่แม้ในกลุ่มคนชาติเดียวกันที่มีจิตใจเป็นธรรมพอ มีบางคนบอก(และทวีตต่ออย่างกว้างขวาง)ว่า ถ้ารู้จักเพิร์ลฮาเบอร์แค่จากหนังบิดเบือนประวัติศาสตร์เมื่อสิบปีก่อน ก็ควรจะลองเสิร์ชคำว่า Hiroshima กับ Nagasaki ดูบ้าง ว่าอเมริกาสร้างบาปหนาไว้ขนาดไหน
         เพราะในขณะที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์โดยมีเป้าหมายที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ แต่วิธีที่อเมริกาเอาคืนโดยการปูพรมทิ้งระเบิดโตเกียวช่วงปี 1942-1945 และการใช้ระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มฮิโรชิมากับนางาซากิในปี 1945 ล้วนเป็นการทำลายล้างที่ไม่เลือกเป้าหมาย ยังไม่นับว่าอเมริกา “สู้รบอย่างไร” ในสงครามอินโดจีนเป็นต้นมา จนถึงสงครามกับผู้ก่อการร้าย สงครามปลดปล่อยอิรัก และสงครามเพื่อลิเบีย
         ถ้ามองในแง่นี้-ที่เอาภัยธรรมชาติไปผูกโยงกับผลกรรม ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับสหรัฐอเมริกา คงเป็นเรื่องน่าห่วงสุดๆ
คนละไม้คนละมือ-งานเล็กๆ ที่มีความหมายของ “อาสาดุสิต”
ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรมดุสิตธานี (ภาพจาก www.arsadusit.com)
ในแง่มุมเดียวกัน กรรมเก่าของประเทศไทยเราคงมีอยู่ไม่มาก ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจึง(ยัง)ไม่รุนแรงเท่าไหร่
         แต่เราก็มีกรรมปัจจุบันของเราที่ถือว่าหนักหนาสาหัส ทั้งในแง่ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติของหน่วยงาน-องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งในแง่ศักยภาพของผู้บริหารประเทศอย่างที่เห็นกันมาทุกยุคทุกสมัย และในแง่การฉ้อฉลบนความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมแผ่นดินได้อย่างไม่ลดละของข้าราชการและนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ
สิ่งที่พอจะช่วยให้ไม่รู้สึกเพลียกันจนเกินไป เห็นจะเป็นเรื่องของน้ำใจคน (ซึ่งน่าเสียดายที่เอาไปถัวเฉลี่ยกับวินัยไม่ได้) เราระดมความช่วยเหลือให้กับญี่ปุ่นกันอย่างแข็งขันมากมายจนคนญี่ปุ่นซาบซึ้งในน้ำใจไทยไปตามๆ กัน แล้วเราก็ยังมีน้ำใจอีกเหลือเฟือเพื่อผู้ประสบภัยทางภาคใต้ของเราเองในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายเดือนมีนา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสัญญาณเตือนว่า สิ่งที่ไม่คาดคิด ภัยที่ไม่คาดฝัน ยังจะทยอยกันมาท้าทายเรา
เมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่เกิดสึนามิ เราเริ่มเห็นกลุ่มคนที่อาสาออกไปทำงานบรรเทาทุกข์ให้กับเพื่อนร่วมชาติทางฟากฝั่งอันดามันกันอย่างกระตือร้น เมื่อปีที่ผ่านมา การจุดไฟเผาบ้านเผาเมืองตัวเองของคนกลุ่มหนึ่ง ได้ปลุกจิตอาสาของคนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทยในนามและกิจกรรมต่างๆกันอย่างมีชีวิตชีวา และภัยพิบัติใหญ่ในปีนี้ ก็ได้นำคนกลุ่มนี้ออกมารวมกันเพื่อภารกิจเฉพาะหน้าซึ่งบางงานแม้จะดูเล็กย่อยแต่เปี่ยมเต็มคุณค่าของความอาทร-อีกครั้ง
คนหลายคนอาจรู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรมากนัก แต่เวลาสอง-สามชั่วโมงต่อวันหลังเลิกงานที่พวกเขาไปช่วยบรรจุข้าวของที่มีคนบริจาคมาให้ ที่ลานหน้าโรงแรมดุสิตธานี เพื่อจัดส่งออกไปให้ถึงพื้นที่ที่กำลังต้องการ ก็มีคุณค่ามากแล้วสำหรับสังคมที่กำลังเรียนรู้สำนึกสาธารณะ และแพร่เมล็ดพันธุ์ของการกระทำเพื่อส่วนรวม
         ผมยังพบว่าทัศนคติของบางคนในกลุ่มที่ออกมาทำงานแบบนี้ น่าสนใจ นอกจากเขาจะไม่รู้สึกใหญ่โตกับการทำงานเพื่อคนอื่น เขายังเข้าใจข้อจำกัดของคนอื่น หน่วยงานอื่น โดยไม่กล่าวโทษใคร บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนต่างพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อทุกคน
         อาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีไปบ้าง แต่ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าประเทศไทยยังมีความหวัง ต่างจากคนรุ่นผม ที่บ้างก็เห็นทุกอย่างเลวร้ายไปหมด บ้างก็ฝังหัวอยู่ในความเคียดแค้นชิงชังโดยที่ไม่ยอมรู้และไม่ยอมรับเลยว่าตัวเองก็เป็นผู้ร่วมก่อ บ้างก็งมงายอยู่ในความกระหายอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศและสังคมโดยไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงความคิดพฤติกรรมตัวเอง และบ้างก็ได้แต่ก่นด่าผู้อื่นไปพร้อมกับอวดภูมิรู้ของตัวเอง ซึ่งชวนให้เพลียและสิ้นหวังกว่ากันเยอะเลย
         ดูเหมือนว่าตัวผมเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
#
4 เมษายน 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2554)

วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

You Better Not Touch

ถ้าอยากแก้ไขอะไรละก็ นั่นคือการไม่ทำอะไรเลย
            ประธานของโอโซระ อีเล็คทริคส์ บอกกับ มาซาฮิโกะ วาชิสึ แห่ง ฮอไรซัน อินเวสท์เมนท์ ไว้อย่างนั้นในมินิซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง เกมล่าธุรกิจ” (The Vultures)
            โอโซระ เป็นความภูมิใจของญี่ปุ่นในยุคสร้างชาติใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก แต่วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ทำให้ทุกอาณาจักรธุรกิจที่เคยฟ่องฟูอยู่ในมายาภาพของการเติบโตที่ไม่สิ้นสุดต้องร่วงดิ่งลงมาสู่โลกความจริงที่ไม่มีทางให้เลือกมากนัก... ลดขนาดองค์กร ปรับโครงสร้างหนี้ และยอมรับการเข้าควบคุมกิจการ        
            มาซาฮิโกะ วาชิสึ เป็นผู้จัดการกองทุนของอเมริกาที่ได้รับมอบหมายให้กลับมากว้านซื้อกิจการในบ้านเกิดเพื่อตัดขายทำกำไรให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด โอโซระเป็นดีลใหญ่ที่สุด และเป้าหมายที่ฮอไรซันต้องการจริงๆ ก็คือแผนกเลนส์ที่มีทักษะและเทคโนโลยีดีที่สุดในโลก
            ถ้อยคำของประธานโอโซระค่อนข้างคลุมเครือ (ตามแบบแผนหนังญี่ปุ่น หรืออาจจะโดยวัฒนธรรมญี่ปุ่น) ด้านหนึ่ง เขาก็คือตัวแทนของอนุรักษนิยมที่พยายามประคับประคองทุกส่วนของอาณาจักรที่เขาก่อร่างสร้างขึ้นมาเอาไว้จนถึงที่สุด ซึ่งดูเหมือนกับ การไม่ทำอะไรเลยแต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อไม่อาจฝืนต่อความเปลี่ยนแปลง/ความเป็นจริงอีกต่อไป เขาก็ยอมรับแผนปฏิรูปและลงมือแก้ไขแผนด้วยตัวเอง
            เพราะอาจไม่มีใครรู้ดีกว่าเขาว่า ส่วนไหนที่ควรทำอะไรกับมัน และส่วนไหนที่ไม่ควรทำอะไรเลย
แวบแรกที่ได้ยินประโยคนั้น ผมนึกถึงความพ้องพอดีกันระหว่างสำนวนไทยที่ว่า ดูแต่ตา มืออย่าต้องกับเพลง “You Can Look (But You Better Not Touch)” ของบรูซ สปริงสทีน (อัลบัม The River, 1980)
            ที่จริงเพลงของบรูซก็เป็นแค่เพลงสนุกๆ เพลงหนึ่ง แต่ท่อนคอรัสที่ย้ำชื่อเพลงซ้ำไปซ้ำมาก็ช่วยให้น้ำเสียงการเตือนจริงจังขึ้น เช่นเดียวกับวิธีเล่นคำสำนวนของเรา ซึ่งให้น้ำหนักต่างกันมากกับการบอกตรงๆ ว่า ห้ามจับจนเมื่อต่อสร้อยลงไปว่า ของจะเสียจึงค่อยสะกิดใจกันได้บ้าง
            คำแนะนำของประธานโอโซระไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม แต่เป็นการสะกิดปมอดีตของวาชิสึ ซึ่งเคยเป็นพนักงานธนาคารใหญ่ของญี่ปุ่นมาก่อน ความตายของลูกค้าที่เขาดูแลอยู่เพราะถูกกดดันจากการเร่งรัดหนี้ ทำให้เขาหันหลังให้กับอาชีพเดิมไปเริ่มต้นใหม่ในอเมริกา เขากลับมาพร้อมกับความรู้สึกเยาะหยันต่อขนบโบราณที่ทำให้ธุรกิจ-อุตสาหกรรมญี่ปุ่นก้าวไม่ทันอัตราเร่งของกระแสทุนโลก เขามีคำอธิบายที่รวบรัดต่อทุกการกระทำว่านี่คือวิถีของทุนนิยม แล้วญี่ปุ่นก็เลือกเองที่จะอยู่บนเส้นทางนี้ตลอดมาหลังสงคราม และหากมีใครถามถึงความเข้าใจเห็นใจ เขาก็จะบอกได้ทันทีว่ามันคือสิ่งที่ธนาคารญี่ปุ่นนี่แหละที่สอนให้เขาลบล้างมันออกไปจนหมดตั้งแต่วันที่ลูกค้าของเขาจบชีวิต
            ประธานโอโซระย่อมต้องการให้วาชิสึและฮอไรซันรามือจากการเทคโอเวอร์ เพราะอย่างน้อยการสละอวัยวะโดยปฏิรูปเสียเองยังมีโอกาสรักษาชีวิตเอาไว้ ในขณะที่เหยื่อของ อีแร้งคือซากศพ แต่คำพูดของเขาก็เจาะจงเฉพาะตัววาชิสึด้วย หากอดีตคือบาดแผล เกมล่าธุรกิจในแบบที่วาชิสึทำอยู่นอกจากไม่อาจสมานเยียวยา ยังจะเปิดแผลใหม่ที่ใหญ่-ลึกกว่าเดิม

Preah Vihearphoto © 2011 Jeff McNeill | more info (via: Wylio)

หลายสิ่ง หลายเรื่อง ก็ไม่สมควรที่ใครจะไป แตะต้องจริงๆ
            เขาพระวิหารตั้งอยู่บนสภาวะคลุมเครือมาสี่สิบกว่าปี นับตั้งแต่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ไม่ได้ตัดสินชี้ชัดลงไปว่า พื้นที่เขานอกตัวปราสาทที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ สมควรเป็นของใคร
            ไทยจึงยังคงอ้างสิทธิ์ตามแผนที่ของเรา ในขณะที่กัมพูชาก็ถือสิทธิ์ตามแผนที่ฝรั่งเศส ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายถ้าจะปล่อยให้มันคลุมเครืออยู่อย่างนั้น จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมหรือเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
            แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2551 ไม่ได้มาจากเงื่อนไขของเวลาหรือประเด็นอะไรเลย นอกเสียจากความกระเหี้ยนกระหือรือของรัฐบาลไทยที่จะส่งมอบเขาพระวิหารเป็นบรรณาการแก่รัฐบาลกัมพูชา เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของคนที่ชักเชิดอยู่ข้างหลังรัฐบาลหุ่นชุดนี้ ดังที่ กวีซีไรต์-เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รจนาเอาไว้ว่า ลุกลี้ไปรับรอง แลลุกลนมีลับลม ซ่อนเล่ห์อันโสมม ด้วยสามานย์สันดานเดิม
            เป็นมือโสมมของคนสามานย์ไม่กี่คนเท่านั้นจริงๆ ที่เปิดแผลการสูญเสียดินแดนขึ้นมาใหม่ ใหญ่และลึกกว่าเดิม คราวนี้ไม่ใช่แค่ปราสาท แต่ทั้งเขาพระวิหาร และอาจจะลามรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปที่ประเมินกันว่าเป็นขุมทรัพยากรมหาศาล
ด้านหนึ่งของ The Vultures ชูธงการปกป้องผลประโยชน์และความพยายามที่จะรักษาวิถีธุรกิจแบบญี่ปุ่นเอาไว้ แม้ว่าในสายตาคนไทยหรือคนทั้งโลกก็ตามมองญี่ปุ่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่คนญี่ปุ่นเองเชื่อว่าวิถีธุรกิจของพวกเขาไม่ได้มีความหมายเพียงเงินตราและกำไร
            ขนานไปกับการฉายภาพพฤติกรรมแทะทึ้งของทุนต่างชาติที่พวกเขาเรียกว่า ฮาเกตากะ” (แร้ง) The Vultures ได้ฉายแสดงความอ่อนแอ ไร้ความสามารถ ขาดวินัย และไม่เป็นมืออาชีพในการบริหารธุรกิจของญี่ปุ่นออกมาด้วย สิ่งเหล่านั้นเคยถูกปิดซ่อนเอาไว้หลังความรุ่งเรือง แต่เมื่อฟองสบู่แตก ทุกอย่างก็เป็นที่ประจักษ์ว่าจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นในยุคสร้างชาติเป็นเพียงอดีตที่รางเลือน
            แผนกเลนส์ของโอโซระเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นแบบนั้น เทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐฯ เป็นต้นแบบของการเรียนรู้และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันก็สั่งสมทักษะจนสามารถพัฒนาไปไกลกว่าผู้ต้นคิด แต่หากอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นี้จะต้องล่มสลายลง และต้นกำเนิดของทุกสิ่งส่วนในอาณาจักรนี้กำลังจะตกอยู่ในมือคนต่างชาติ พวกเขาจะเผชิญกับมันอย่างไร?
            คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องชาตินิยม แต่หลังจากสงครามโลกกับการสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่า ดูเหมือนคนญี่ปุ่นจะน้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่โยกคลอนคติของพวกเขาได้มากขึ้น และสามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างความรักชาติกับคลั่งชาติเอาไว้ชัด คนญี่ปุ่นดู The Vultures อย่างยอมรับในปัญหาของตัวเอง เช่นเดียวกับที่พวกเขาเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่ดิ่งลึก ภาวะซบเซาอันยาวนาน และการเข้าถือครองกิจการของทุนต่างชาติ ด้วยความอดทน และไม่สิ้นหวัง
            ในความมืดมน ช่างฝีมือดีที่สุดและมองเห็นทุกสิ่งทุกที่เกิดขึ้น-เป็นไปในโอโซระนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้น ยืดอกประกาศว่า คนมีฝีมืออยู่ที่ไหนก็อยู่ได้”          
            อหังการของช่างอาวุโสแตกต่างจากอหังการของวาชิสึ แผนกเลนส์ของโอโซระและสายโยงกับปมอดีตของเขา ทำให้วาชิสึอยากแก้มือ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นแค่ตัวเบี้ยที่ถูกจับวางลงตรงไหนก็ได้อีกแล้ว หากอยู่ในสถานะที่สามารถกำหนดเกมได้ อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสติสำนึกในความเป็นชาติ ในฐานะคนของฮอไรซัน เขาไม่อาจวางมือตามที่ประธานโอโซระแนะนำ แต่ในฐานะมาซาฮิโกะ วาชิสึ วาระส่วนตัวของเขาคือการรักษาแผนกเลนส์เอาไว้จากอุ้งมือฮอไรซัน
            ชื่อภาษาอังกฤษอีกชื่อหนึ่งของมินิซีรีส์เรื่องนี้คือ Road To Rebirth
ไม่ใช่เรื่องคลั่งชาติ และไม่ใช่เรื่องไมตรี เป็นเรื่องเราเสียที ก็เพราะคนของเราเอง เป็นอีกคำตอบที่หมดจดจากเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
            ปฏิกิริยาของคนไทยต่อการที่รัฐบาลหุ่นไปลงนามรับรองให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ย่อมไม่ใช่อาการคลั่งชาติแบบที่คนเขมรลุกขึ้นมาเผาสถานทูตไทย แต่เป็นสติสำนึกสามัญที่คนทั่วไปมีให้แผ่นดินเกิด เป็นความรักชาติที่ถูกปลุกขึ้นมาเองเมื่อเราต้องเผชิญกับการสูญเสียเขตแดนแผ่นดิน
            ปัญหาเขาพระวิหารอาจจะดูซับซ้อนจริง ด้วยเงื่อนปมมากมายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กฎหมาย และการเมือง ที่ต้องศึกษาอย่างใคร่ครวญ แต่โดยนัยนี้เอง ที่นักประวัติศาสตร์ผู้ยังมีความเคารพตัวเองเหลืออยู่บ้างย่อมจะไม่ตัดตอนประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้เอาไว้เพียงแค่การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสกับคำตัดสินของศาลโลกในส่วนของปราสาทพระวิหาร แล้วข้ามบริบทอื่นทั้งหมด เพื่อจะสรุปเอาว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาแต่ไหนแต่ไรมา
            และนักวิชาการที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริงย่อมจะไม่เข้าร่วมขบวนแห่ผ้าป่าแผ่นดินไทยไปส่งมอบให้กัมพูชา พลางกล่าวประณามคนชาติเดียวกันที่ทักท้วงคัดค้านว่าเป็นพวกคลั่งชาติ
            ในทางตรงข้าม สถานการณ์ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ยากเกินจะทำความเข้าใจว่า
            หนึ่ง-คำตัดสินของศาลโลกจำกัดขอบเขตอยู่ที่ตัวปราสาท
            สอง-แผนที่ฝรั่งเศสที่กัมพูชาอ้างตลอดมาเป็นมรดกของนักล่าอาณานิคม
            สาม-แนวพรมแดนตามแผนที่ดังกล่าวขัดต่อหลักการสากล
            สี่-เขาพระวิหาร หากใครจะไม่ยอมรับว่าเป็นเขตแดนไทย ก็ต้องถือเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่สองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์
            ห้า-การรับรองให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกจึงเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร
            หก-เอกสารที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกระบุชัดว่า ในขั้นนี้ขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทไปก่อน
            เจ็ด-แผนที่แนบเอกสารเป็นแผนที่ตามข้อสอง เพียงแต่มีการขีดเส้นแสดงส่วนพื้นที่ปราสาทที่ขอขึ้นทะเบียนก่อน
            แปด-การรับขึ้นทะเบียนมรดกโลกขัดต่อหลักเกณฑ์ความสมบรณ์ี่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดเอง
            เก้า-องค์ประกอบความสมบูรณ์ที่ว่านั้น อยู่นอกขอบเขตคำตัดสินศาลโลก
            สิบ-คณะกรรมการมรดกโลกถือสิทธิ์เหนืออธิปไตยไทยด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วม 7 ชาติเข้ามาบริหารพื้นที่รอบปราสาท
            นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และนี่คือฉากทัศน์ที่จะเกิดต่อไป
            สิบเอ็ด-การยอมรับบทบาท/อำนาจของคณะกรรมการร่วมดังกล่าว มีนัยที่ตีความได้ว่าไทยปฏิเสธแผนที่ตัวเอง และยอมรับที่จะสละอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้น
            สิบสอง-ในที่สุดปราสาทและเขาพระวิหารในฐานะมรดกโลกที่สมบูรณ์จะเป็นของกัมพูชาฝ่ายเดียว
            สิบสาม-คดีพิพาทเรื่องเขตแดนกับกัมพูชาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ไทยจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และสูญเสียทุกกรณี
            สิบสี่-รวมถึงไปถึงเขตน่านน้ำไหล่ทวีปและทรัพยากรในบริเวณนั้น
            เราไม่จำเป็นต้องยกโยนความผิดไปให้ประเทศมหาอำนาจที่แสดงชัดว่าล้วนเฝ้ารอจะฉกฉวยผลประโยชน์ต่อจากกัมพูชา เราอาจจะแกล้งปิดตามองไม่เห็นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับดินแดนที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งผลักดันเรื่องนี้จะได้รับ แต่เราจะยอมทนอย่างสิ้นหวังกับอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล กระบวนการปล้นชาติขายแผ่นดินอย่างไร้สำนึกเช่นนี้กันต่อไป
            หรือเราจะลุกขึ้นมาชำระล้างสิ่งปฏิกูลเพื่อ เกิดใหม่
#
23 กรกฎาคม 2551
(ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "The Circle" นิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2551)