วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555

อีมี่ ดราม่า อากง

ผมคงเป็นคนใจร้ายแน่ๆ ถ้าจะบอกว่า ดราม่าไม่ใช่วิธีการสู้คดี และไม่รู้สึกว่าจำเลยในคดี “SMS 20 ปี น่าสงสารเห็นใจเท่าที่มีความพยายามปั้นแต่งกัน
           ที่จริง แรกที่ผมได้อ่านผ่านๆ คำพิพากษาจำคุกจำเลย 20 ปี ในคดีส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเขาเรียกกันเป็นการทั่วไปว่า “คดีอากง SMS” (แต่ผมไม่สะดวกใจจะเรียกตามนั้น ด้วยเหตุผลอะไรไว้ค่อยว่ากันตอนท้าย) ความรู้สึกของผมก็คงไม่ต่างจากคนอีกมาก ที่เห็นว่าเป็นการลงโทษที่หนักหนาสาหัสอยู่สักหน่อย แม้จะรู้ว่า 20 ปีเป็นผลรวมของฐานความผิดรวม 4 ครั้ง ก็ตาม


                    แต่เมื่ออ่านรายละเอียดช้าๆ ผมก็เริ่มสะดุดกับเรื่องของ IMEI (International Mobile Equipment Identity) ซึ่งเป็นเลขรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์มือถือของจำเลย ตามบันทึกสรุปคำพิพากษาและบันทึกการสืบพยานของฝ่ายทนายจำเลย (ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลฝั่งเดียวที่ผมหาได้เกี่ยวกับคดีนี้ เพื่อนทนายบอกว่าคำพิพากษาในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดจะยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ ส่วนการขอคัดคำพิพากษาในคดีจะทำได้เฉพาะคู่ความ) อ้างว่า ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ...” แต่ทนายจำเลยได้นำมาเป็นประเด็นแย้งหลังคำพิพากษาว่า เลขหลักสุดท้าย (หลักที่ 15) ของเลข IMEI ในเครื่องโทรศัพท์ของจำเลย ไม่ตรงกับเลข IMEI ในรายงานการใช้บริการโทรศัพท์ (log) ที่ได้จากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 2 ราย (ในที่นี้คือ DTAC และ True)
            ประเด็นนี้ถูกนำไปขยายความ (และหลงเชื่อ) กันอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องยากในการค้นหาความจริงว่า เลขหลักสุดท้าย (หลักที่ 15) เป็น check digit หรือเลขทดสอบความถูกต้องของเลข 14 ตัวแรก ถ้าเลขตัวสุดท้ายถูกต้องตามหลักการคำนวณอัลกอริทึมแบบลุน (Luhn algorithm) ก็จะระบุรายละเอียดยี่ห้อ-รุ่น-เลขลำดับของโทรศัพท์ได้ แต่ถ้าเลขหลักสุดท้ายผิด ก็จะไม่พบข้อมูลของโทรศัพท์ตามเลขอีมี่ที่ผิดนั้น
            ถ้ายังงงๆ อยู่ ลองนึกเลขรหัส ISBN ที่อยู่หลังปกหนังสือนะครับ เป็นเลขชุดคล้ายๆ กับเลข IMEI ของโทรศัพท์ ต่างกันเพียง 13 หลักกับ 15 หลัก โดยที่หลักสุดท้ายเป็น check digit เหมือนกัน ถ้าเราป้อนเลข ISBN 12 ตัวแรกของหนังสือเล่มหนึ่ง สมมติว่าเป็น ISBN 978974991617 ในระบบค้นหาของกูเกิ้ล ผลที่ได้ก็คือ การค้นหาของคุณ - ISBN 978974991617- ไม่ตรงกับเอกสารใดๆ” จากนั้นถ้าลองป้อนเลขชุดเดิมและเพิ่มเลขหลักสุดท้ายแบบสุ่มไปเรื่อย (สมมติว่าไม่รู้เลขหลักสุดท้าย) การลองตั้งแต่เลข 0 ถึงเลข 8 จะได้ผลลัพธ์เหมือนข้างต้น จนเมื่อป้อนเลข 9 เป็นหลักสุดท้าย ก็จะได้รายละเอียดเบื้องต้นว่าเป็นหนังสือแปลเรื่อง แผนลวงสะท้านโลก ซึ่งแปลจาก Deception Point ของ แดน บราวน์โดย อรดี สุวรรณโกมล ไม่มีเล่มอื่นซ้ำแน่นอน
            ในทำนองเดียวกัน เลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของเรา แม้ว่าจะไม่มีแหล่งให้ตรวจสอบได้ว่าเลขประจำตัวนั้นๆ เป็นของใคร (ซึ่งก็ไม่สมควรจะมีหรอก) แต่ก็มีโปรแกรม/เว็บไซต์ที่ใช้ตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่ามีเลขประจำตัวชุดนั้นๆ อยู่จริงหรือไม่ ทดลองกรอกเลขประจำตัวของเราลงไป ระบบจะยืนยันการมีอยู่ของเลขชุดดังกล่าว แต่ถ้าลองเปลี่ยนเลขหลักสุดท้าย ระบบก็จะแจ้งว่าเป็นเลขรหัสที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งช่วยยืนยันว่าจะไม่มีใครที่มีเลข 12 หลักแรกตรงกับเราทั้ง 12 หลักแน่ๆ
            หลักการของเลข ISBN และเลขประจำตัวประชาชน ก็เหมือนกับเลข IMEI คือ เลขหลักสุดท้ายไม่มีความสำคัญในแง่ที่ว่า จะมีเพียงเลขเดียว (จาก 0-9) เท่านั้นที่ถูกต้อง-ในฐานะ check digit และจะไม่มีเลขชุดแรก (12 หลักของเลข ISBN และเลขประจำตัวประชาชน, 14 หลักของเลข IMEI) ซ้ำกันเด็ดขาด
            ผมจึงขอสรุปไว้ตรงนี้ก่อนว่า “จะไม่มีโทรศัพท์มือถือสองเครื่องใดในโลกที่มีเลข IMEI ตรงกัน (No two mobile handsets in the world should have the same IMEI number) ตรงนี้สำคัญนะครับ และเขาก็มีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำหนดเลข IMEI ให้กับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ (เหมือนกับเลข ISBN ของเราที่ต้องขอจาก กลุ่มงานคัดเลือกและประเมินคุณภาพทรัพยากรห้องสมุด สำนักหอสมุดแห่งชาติ) ไม่ใช่ว่าผู้ผลิตยี่ห้อไหนจะกำหนดเอาเองอย่างไรก็ได้
            และยิ่งไม่ใช่เรื่องที่มาอ้างกันมั่วๆ แบบ “ผู้รู้” ใน มติชนออนไลน์ ว่า หมายเลข IMEI นั้น ไม่ใช่ Unique Number มีมือถือหลายเครื่องที่มี IMEI ซ้ำกันได้ โดยมีทั้งการที่ซ้ำกันมาตั้งแต่โรงงานผู้ผลิต และซ้ำกันเพราะมาแก้ไข IMEI เองในภายหลัง ซึ่งถ้าไม่รู้-แต่มั่วๆกันไป ก็พออภัย แต่ในเมื่ออ้างว่าเป็น “ผู้รู้” ก็ต้องถือว่าตั้งใจบิดเบือน
            คือ ถ้าจะพูดเรื่องปลอม IMEI ก็ต้องบอกว่าทำได้ เครื่องที่ใช้เลข IMEI ปลอม ก็ต้องบอกว่ามี แต่นั่นคือข้อยกเว้น และถ้าเป็นช่วงก่อนปี 2545 การพูดอย่างนั้นจะพอมีน้ำหนัก เพราะเป็นยุคที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือยังล็อครหัส IMEI ให้เครื่องที่ซื้อจากผู้ให้บริการ (ซึ่งขายในราคาแพงหลุดโลก) เท่านั้นที่นำมาใช้งานในระบบได้ แต่เมื่อเลิกล็อคและให้ผู้ผลิตโทรศัพท์ขายได้เองโดยเสรี กระทั่งราคาตัวเครื่องโทรศัพท์ลดลงมามากมาย ไม่เพียงแต่จะไม่มีใครสนใจเรื่องปลอม IMEI อีกต่อไป คนที่เพิ่งมาใช้โทรศัพท์มือถือในระยะหลังจำนวนมาก ไม่เคยได้ยินเรื่องเลข IMEI ด้วยซ้ำ
ก้าวข้ามประเด็นเรื่อง 14 หลัก/15 หลัก และอีมี่ปลอมมาได้ ก็มีคำถามต่อมาว่า ทำไมเลขหลักสุดท้ายในรายงาน (log) ของผู้ให้บริการ (DTAC กับ True) ไม่ตรงกับเลขหลักสุดท้ายที่ตัวเครื่องของกลางของจำเลย
            ตามบันทึกสังเกตการณ์การสืบพยานของฝ่ายทนายจำเลยเอง สรุปคำให้การของเจ้าหน้าที่สืบสวนว่า การตรวจสอบหมายเลขในเครือข่าย DTAC ที่ใช้ส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ไปยังโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นพยานโจทก์และผู้กล่าวโทษในคดีนี้) พบว่าเป็นหมายเลข xxx-xxx-3615  แบบเติมเงิน ที่ใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์ที่มีหมายเลข IMEI  358906000230110 เมื่อนำเลข IMEI ข้ามไปตรวจสอบกับ True พบว่าเลข IMEI ดังกล่าวใช้ร่วมกับซิมของโทรศัพท์หมายเลข  xxx-xxx-4627
            ทนายจำเลยอ้างว่า เลข IMEI ของจำเลยเป็นเลข 358906000230116 แต่ log ของDTAC ระบุเป็น 358906000230110 ประเด็นนี้สามารถอธิบายโดยหลักการได้ง่ายๆ ว่าเป็นแนวปฏิบัติของระบบ (ซึ่งเป็นมาตรฐานเดิมที่ใช้กันทั่วโลก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ check digit ที่ถูกต้องตามจริง แต่ประเทศไทยยังไม่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องจัดทำ log มาตรฐานใหม่) ที่แปลงเลขหลักสุดท้ายเป็น 0 ทั้งหมด จริงเท็จประการใด ผู้เกี่ยวข้องในคดี-โดยเฉพาะทนายจำเลย-สามารถใช้สิทธิ์ตรวจสอบได้ว่า log ของ DTAC แสดงเลข IMEI หลักสุดท้ายของเครื่องอื่นๆ แตกต่างไปจากเลข 0 หรือไม่
            ในกรณี log ของ True ที่ฝ่ายทนายจำเลยอ้างว่า มีทั้งลงท้ายด้วย 0 และ 2 ก็น่าจะตรวจสอบได้แบบเดียวกัน เพื่อหาคำตอบว่าระบบรายงานของ True เป็นอย่างไรให้สิ้นสงสัย มากกว่าการอธิบายลับหลังคำพิพากษา
            นอกจากนั้น การที่ log ของผู้ให้บริการทั้ง DTAC และ True ได้แสดงข้อมูลทั้ง IMEI (เลขรหัสระบุตัวเครื่อง), IMSI (International Mobile Subscriber Identity-เลขรหัสของซิม), เซลล์ไซต์ที่ใช้เชื่อมต่อโทรศัพท์กับเน็ตเวิร์ค และเวลาที่เชื่อมต่อกับเน็ตเวิร์ค จึงแสดงรอยต่อของการใช้งานให้เห็นในลักษณะที่มีการใช้งานสลับกัน คือ หลังจากปิดการเชื่อมต่อกับโครงข่ายของ True (ใช้งานโทรศัพท์) แล้วจึงปรากฏการเชื่อมต่อกับโครงข่าย DTAC (ใช้ส่ง SMS) หลังจากนั้นจึงมีการเชื่อมต่อกับโครงข่าย True อีกครั้ง ทั้งหมดนี้ระบุตำแหน่งการใช้งานในเซลล์ไซต์เดียวกัน  คือย่านที่อยู่ของจำเลย โดยไม่มีการใช้งานทับเวลากันแต่อย่างใด
            โดยสรุปก็คือ ถ้าจำเลยไม่ได้ส่ง SMS จากโทรศัพท์ตัวเอง ที่บ้านของตัวเอง มันก็คงเป็นเรื่องบังเอิญมากที่มีคนปลอมเลข IMEI ของจำเลย (หรือแม้แต่ซ้ำกันโดยบังเอิญ มาตั้งแต่โรงงานผลิต-ขำขำนะครับ) แล้วมาส่ง SMS หมิ่นฯ ในพื้นที่เซลไซต์เดียวกัน โดยสอดแทรกเข้ามาในเวลาที่สอดคล้องกันอย่างน่าอัศจรรย์
            แต่ก็เอาละ ข้อมูลเชิงประจักษ์แบบนี้ ยังไม่ได้ทำให้ผมยังปักใจว่าจำเลยส่ง SMS เอง ทั้งยังมีหลายคนพูดถึงหลักยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย รวมไปถึงการยกตัวอย่างว่า เจ้าของรถคันที่ขับไปชนคนตายโดยที่จับผู้ขับขี่ไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องติดคุกเพียงเพราะเป็นเจ้าของรถ แต่ก็นั่นแหละ คงง่ายเกินไปที่เจ้าของรถจะบอกแต่เพียงว่าตัวเองไม่ใช่คนขับ ใครเอาไปขับก็ไม่รู้ อย่างน้อยเจ้าของรถก็ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ณ เวลาที่เกิดเหตุ ตัวเองอยู่ที่ไหน มีใครที่เอารถไปใช้โดยไม่ต้องบอกกล่าวได้บ้าง หรือถ้ารถหาย ก็ต้องมีการแจ้งความ ฯลฯ
            ในกรณีนี้ การที่จำเลยบอกแต่ว่าส่ง SMS ไม่เป็น บอกว่าเคยส่งเครื่องไปซ่อม แต่ซ่อมที่ร้านไหนก็จำไม่ได้ นอกจากไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว การให้หลานวัย 11 ปีขึ้นให้การในฐานะพยาน บอกว่า “จำเลยมักทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ่อยครั้งขณะไปส่งตนและน้องๆ ที่โรงเรียน” ก็มัดจำเลยแน่นเข้าไปอีก ว่าโอกาสที่โทรศัพท์เครื่องนี้จะไปตกในมือคนอื่นเพื่อใช้เปลี่ยนซิมส่ง SMS หรือปลอม IMEI ยิ่งน้อยลง
            หรือจะให้ศาลเข้าใจตามที่จำเลยให้การว่า “ทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ้าง พกติดตัวบ้าง บางครั้งเมื่ออยู่ที่บ้านก็ไม่ได้พกโทรศัพท์ติดตัว ซึ่งที่บ้านมีคนเข้าออกอยู่จำนวนหนึ่ง” จึงเป็นโอกาสให้ผู้อื่นเข้าไปในบ้านของจำเลยเพื่อใช้โทรศัพท์ส่ง SMS ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก???
ถึงที่สุดแล้ว ผมกลับมีคำถามในใจว่า แทนที่จะดราม่ากันใหญ่โต ทนายจำเลยได้สู้คดีให้ลูกความของตัวเองดีพอหรือยัง
            ถ้าดูจากคำแถลงปิดคดีของทนายจำเลย ใน 3 ประเด็น  คือ 1. การใช้หมายเลขเครื่อง (อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ 
            2. การสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานมุ่งไปที่ตัวจำเลยโดยตรง โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับหมายเลขอีมี่ และคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารฝ่ายโจทก์
            3. โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว
            จะเห็นได้ว่า เป็นแนวทางที่มุ่งปฏิเสธความน่าเชื่อถือของหลักฐานและฝ่ายโจทก์ โดยที่ฝ่ายจำเลยเองกลับไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากเท่ามาต่อสู้/หักล้าง ผมอาจไม่ได้เรียนมาทางกฎหมาย แต่เท่าที่คิดและตรวจสอบกับเพื่อนที่มีความรู้ทางเทคนิคการโทรคมนาคมบ้าง ทางกฎหมายบ้าง ถึงช่องทางความเป็นไปได้ต่างๆ ก็พบว่า อย่างน้อยที่สุด การขอข้อมูลจาก True มาพิสูจน์ว่า เครื่องของจำเลยที่ใช้ซิมของ True ไม่เคยใช้ส่ง SMS เลย ก็น่าจะมีน้ำหนักดีกว่าการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย
            แย่กว่านั้นคือความไม่อยู่กับร่องกับรอยของทีมทนาย ทนายจำเลยคนหนึ่งให้การเป็นพยานจำเลยด้วยท่าทีที่เหมือนกับเข้าใจเลขรหัส IMEI ดีพอสมควร ซึ่งขัดกับการสู้คดีแบบไม่ยอมรับรู้ไม่ยอมเข้าใจเรื่องเลขหลักสุดท้าย ทนายจำเลยอีกคนหนึ่งไป “หลุด” ในรายการคมชัดลึกหลายประเด็น เพราะมุ่งแต่จะดราม่าจนละเลยสิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” เช่น นาทีหนึ่งบอกว่าจำเลยส่ง SMS ไม่เป็น โทรศัพท์ที่ใช้ก็เป็นรุ่นเก่า มีแป้นพิมพ์ภาษาไทยหรือเปล่าก็ไม่รู้ (ถึงตอนนี้คนดูจำนวนมากตั้งคำถามแล้วละ ว่าเรื่องแค่นี้ไม่รู้จะไปสู้คดีอย่างไร) แต่อีกไม่กี่นาทีต่อมากลับบอกว่า โทรศัพท์ของจำเลยพิมพ์ยาก จะพิมพ์ตัว ง ทีต้องกดแป้มเดิมถึงสามครั้ง (คนดูก็จะรู้สึกว่า อ้าว แล้วอย่างนี้จะเชื่อถืออะไรกันได้อีกไหม)
            หรือเขาไม่ได้ต้องการชนะคดีกันจริงๆ
จำเลย – ที่เขาเรียกกันว่า “อากง” – อายุ 62 ในปีนี้ ก่อนจะมาเป็น “อากง” คดีนี้เคยเรียกกันว่า “คดีลุง SMS” มาก่อน แต่คง “ไม่โดน”
            เข้าใจได้ว่าคำ “อากง” เป็นคำเรียกในมุมของหลานอายุ 11 (ที่ขึ้นให้การเป็นพยานด้วย) และน้องๆ ที่เด็กกว่านั้นอีก และในยุคที่คนวัย 60 เวลาตกเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ มักจะถูกแทนด้วยคำว่า “ไอ้เฒ่า” ผมจึงไม่ติดใจกับคำเรียกอากงเท่าไรนัก ที่ติดใจก็คงเป็นเรื่องที่ทำเสมือนว่าคนวัย 60 ต้นๆ เป็นวัยที่หมดแล้วซึ่งสมรรถนะ จำอะไรไม่ค่อยได้ ทำอะไรไม่ค่อยเป็น
            ผมมีพี่ชายคนโตอายุเท่าๆ นี้ ซึ่งยังทำทุกอย่างได้เหมือนเมื่อสิบปีก่อน ผมมีแม่ซึ่งอายุ 83 แล้ว แต่ยังขับรถตะลอนๆ ออกไปช้อปปิ้งเองได้ทุกเวลาที่อยากออกจากบ้าน ตัวอย่างที่ยกมานี้อาจจะมีความจำเพาะสักหน่อย แต่ผมก็ยังไม่พบว่าคนวัย 60 ต้นๆ จะมีปัญหาความจำถึงขนาดจำร้านที่เอาโทรศัพท์ไปซ่อมและไปรับคืนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนไม่ได้ และผมไม่คิดว่าถ้าการส่ง SMS สำหรับคนวัยนี้เป็นเรื่องยากเกินหัด โดยเฉพาะคนที่เคยมีอาชีพเป็นพนักงานขับรถมาก่อน
            อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงตอนนี้ อากงจะทำหรือไม่ทำอะไร ทำได้หรือไม่ได้ ทำจริงหรือไม่จริง หรือกระทั่งว่าอากงจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เพราะทุกอย่างถูกขับเคลื่อนไปสู่อีกเป้าหมายหนึ่ง – ซึ่งไม่ทำให้ผมแปลกใจเท่าไหร่ – คือการรณรงค์แก้ไข/ยกเลิกมาตรา 112 (อีกครั้ง)
            ผมเคยสงสัยว่า มันจะมีความเป็นไปได้แค่ไหนกันที่จะวางพล็อตให้คนสูงอายุที่ดูน่าสงสารเห็นใจ ตกเป็น “เหยื่อ” ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยความยินยอมพร้อมใจของเจ้าตัว อาจจะเพื่อปกป้องลูกหลานใกล้ชิด หรือเพื่อผลตอบแทนบางประการ แต่เมื่อคิดมาถึงขั้นที่ว่า ถ้าจะเคลื่อนไหวแบบหวังผล ก็ต้องใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของคนๆ นั้นเป็นเดิมพัน ผมก็ไม่อยากคิดต่อ
            รอดูเขาแสดงกันไปเลยดีกว่า
#
6 ธันวาคม 2554

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2554)



วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

วิญญาณผีเสื้อ

Credit: myperfectline.com

เพลง Kung Fu Fighting เป็นหนึ่งในเพลงประเภท one-hit wonder จากยุคแผ่นเสียงและเทป ที่หาซีดีฟังยาก เมื่อกลับมาให้ได้ยินกันบ่อยๆ อีกครั้งทางคลื่น 107 FM และรวมลงในซีดีที่คลื่นเดียวกันทำออกมาแล้วสองชุด จึงได้รับการตอบรับสูงเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นช่องว่างในตลาดเพลงย้อนยุคที่ค่าย เพลงมองข้าม และสุดท้ายก็มาแย่งกันขอสิทธิ์เป็นผู้ผลิตซีดีภายใต้ชื่อและคอนเส็ปต์คลื่นวิทยุ
            คนที่โตทันได้เห็นคาร์ล ดักลาส ออกท่ากังฟูร้องเพลง Kung Fu Fighting เมื่อ 31 ปีก่อน คงนึกถึงบรูซ ลี หรือเดวิด คาร์ราดีน ที่โด่งดังมาจากบทไคว เช็ง เคน ในซีรีส์ Kung Fu ทางช่อง 3  แต่ผมได้ยินทีไรกลับนึกอยากฟัง Black Superman*-เพลงฮิตยุคเดียวกัน และคิดถึงมูฮัมหมัด อาลี ทุกทีไป
            ต่างจาก Kung Fu Fighting ที่ฉายภาพกระแสวูบวาบของอาการ ตื่นกังฟูในซีกโลกตะวันตกสมัยนั้น Black Superman ให้ภาพจำที่ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกับตำนานมวยผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้ที่ โบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้งและเป็นผู้ที่โลกไม่มีวันลืม
โลกเคยมีนักมวยรุ่นเฮฟวีเวทที่เกรียงไกรอย่าง ร็อคกี มาร์เชียโน, โจ หลุยส์, อาร์ชี มัวร์, ซอนนี ลิสตัน ในยุคไล่ๆ กับอาลี ก็มี โจ ฟราเซียร์, จอร์จ โฟร์แมน หรือกระทั่งรุ่นหลังอย่าง ไมค์ ไทสัน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ แต่ไม่เคยมีนักมวยอย่างมูฮัมหมัด อาลี และยังไม่มีอีกเลย
            สไตล์การชกของอาลีไม่เหมือนใคร แทนที่จะตั้งการ์ดป้องกันตัวอย่างรัดกุม เขาปล่อยแขนตามสบาย ใช้จังหวะเท้าที่คล่องแคล่วราวนักเต้นรำ กับการโยกและเอนตัวอย่างว่องไวหลบหลีกหมัดคู่ต่อสู้ เป็นที่มาของวลี โบยบินเหมือนผีเสื้อซึ่งแม้กระทั่งนักมวยรุ่นเล็กอีกมากมายก็ทำไม่ได้เท่า ส่วนวลี ต่อยเจ็บเหมือนผึ้งเป็นเรื่องของน้ำหนักหมัดและวิธีออกอาวุธ อาลีตัวใหญ่แบบนักมวยรุ่นเฮฟวีเวทแท้ๆ ก็จริง แต่ไม่ใช่มวยหมัดหนักแบบ โป้งเดียวจอดเขาค่อยๆ เพิ่มความเจ็บปวดให้คู่ต่อสู้ด้วยจำนวนหมัดที่ชกออกไป และเป้าที่เขาเลือกคือใบหน้ากับศีรษะ ซึ่งเป็นเป้าที่เล็กและตัดกำลังได้น้อยกว่าการชกท้องและลำตัว แต่นี่เป็นสไตล์ของอาลีมาตั้งแต่หัดมวย เพราะมีช่วงชกที่ได้เปรียบ และเห็นว่าการเข้าคลุกวงในรังแต่จะเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น
            อาลียังเป็นนักมวยคนแรกที่มีปากเป็นอาวุธ ก่อนหน้าเขา ภาพของนักมวยปรากฏออกมาเหมือนๆ กันหมดคือ เป็นพวกพูดน้อย ต่อยหนัก ผู้จัดการหรือพี่เลี้ยงจะเป็นคนพูดกับสื่อมวลชนแทนเสมอ แต่อาลีนอกจากไม่ต้องให้ใครพูดแทน เขายังคุยเขื่องได้ตลอดเวลาที่อยู่นอกเวที และบนเวทีเขาก็ชกไป พูดจายั่วโทสะคู่ต่อสู้ไป ประโยคอมตะของเขาว่า “I am the greatest” ประกาศออกมาตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นแชมป์โลกเสียอีก พยานหลักฐานชิ้นสำคัญคือแผ่นเสียงชื่อ I Am The Greatest** ซึ่งเป็นการด้นกลอนสดอวดโอ่ความเก่งกาจของตัวเอง และมีเพลงอย่าง Stand By Me เป็นของแถม
            เมื่อมองย้อนกลับไป ลีลาการคุยฟุ้งของอาลี ซึ่งบางครั้งก็เหมือนร่ายกวี เป็นสิ่งที่หลายคนบอกว่า นี่แหละแรปเปอร์คนแรก
นิสัยคุยโวของอาลีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 12 จักรยานของเด็กชายแคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ จูเนียร์ ถูกขโมย ขณะแจ้งความ เจ้าหนูก็พล่ามว่าถ้าจับได้จะเล่นงานเจ้าหัวขโมยให้อยู่หมัด โจ มาร์ติน ผู้รับแจ้งซึ่งเป็นโค้ชมวยด้วย บอกให้เขาไปหัดชกมวยเสียก่อน แล้วเขาก็กลายเป็นครูมวยคนแรกของเคลย์
            นับจากนั้น ชีวิตของแคสเซียส เคลย์ ก็มีแต่มวยเท่านั้น เขาไต่อันดับมวยระดับเยาวชนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงเรียนไฮสคูล เขาเป็นแชมป์นวมทองของรัฐเคนทักกี 6 ปีซ้อน ได้แชมป์ระดับชาติ 4 ครั้ง เป็นความสำเร็จบนเวทีมวยนี่เองที่ช่วยให้เขาผ่านความล้มเหลวในการเรียนการสอบจนจบชั้นมัธยมมาได้ด้วยคำขอร้องของอาจารย์ใหญ่ในที่ประชุมครู ว่า วันหนึ่งเขาจะสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนของเรา” หลายปีต่อมา เคลย์พูดถึงเรื่องนี้ว่า ผมพูดเสมอว่าผมยิ่งใหญ่ที่สุดก็จริง แต่ไม่เคยบอกเลยว่าผมฉลาดที่สุด
            ตอนอายุ 18 เคลย์คว้าเหรียญทองมวยสมัครเล่นรุ่นไลท์เฮฟวีเวทจากโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม มาได้สำเร็จตามที่คุยไว้ล่วงหน้า แล้วเทอร์นโปรภายใต้การเทรนของแอนเจโล ดันดี ทำสถิติชนะมาตลอด และช่างโม้มากขึ้นตามครั้งที่ชนะ เขามักจะป่าวประกาศล่วงหน้าว่าจะน็อกคู่ต่อสู้ยกไหน และทำได้ตามนั้นหรือเร็วกว่านั้นหลายครั้ง รวมทั้งไฟต์ชิงแชมป์โลกจากซอนนี ลิสตัน ในปี 1964 เคลย์ประกาศจะน็อกลิสตันในยก 8 แต่ด้วยราคาเป็นรองถึง 1-7 คนส่วนใหญ่จึงเห็นเป็นเรื่องตลก และรอดูว่าลิสตันที่กำลังห้าวสุดขีดจะหุบปากเคลย์ได้สนิทในยกไหน พอเริ่มยก 7 พี่เลี้ยงลิสตันส่งสัญญาณยอมแพ้ เคลย์ก็ประกาศลั่นเวทีว่า ข้าคือผู้ยิ่งใหญ่ - I am the greatest” คราวนี้มันไม่ใช่ราคาคุยอีกแล้ว
            แชมป์คนใหม่ช็อกโลกด้วยการประกาศตนเป็นมุสลิม ภายใต้ชื่อใหม่ - มูฮัมหมัด อาลี แต่ที่เขย่าสังคมอเมริกันยิ่งกว่านั้นคือเขาปฏิเสธหมายเรียกเกณฑ์ทหารในปี 1967 อาลีบอกว่า ผมไม่มีเรื่องบาดหมางอะไรกับพวกเวียดกงและที่สำคัญ ไม่มีเวียดนามคนไหนเรียกผมว่าไอ้มืดอาลีเสียแชมป์ในปีนั้นโดยที่ยังไม่เคยแพ้ใคร แต่ถูกปลดจากตำแหน่ง พร้อมๆ กับถูกเพิกถอนใบอนุญาตชกมวยอาชีพ ถูกยึดหนังสือเดินทาง และสุดท้ายศาลพิพากษาจำคุกอาลีห้าปีในข้อหาหนีทหาร
จอมโวอย่างอาลี เคยอึ้งกับคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าไม่ชกมวยเขาจะทำอะไร ก่อนจะตอบว่าเขาคิดไม่ออกเลย แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่อาลีทำนอกเวที ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นที่สุดของตำนานมวยโลกเสียอีก การหันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของอาลี ตอนที่ปฏิเสธหมายเรียกเกณฑ์ทหาร หลายคนบอกว่าอาลีขี้ขลาดและใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง แต่อาลีก็ยืนหยัดต่อสู้คดีจนศาลสูงพลิกคำพิพากษา ให้เขาเป็นฝ่ายชนะในปี 1971
            สามปีกว่าในช่วงสู้คดีและถูกห้ามชกมวย เวทีใหม่ของอาลีอยู่ที่รั้วมหาวิทยาลัยและการชุมนุมประท้วง เขากลายเป็นเสียงที่ทรงพลังของการคัดค้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านการเหยียดผิว และต่อสู้ เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเคลือบแคลงของสาธารณชนค่อยๆ ลดลงไปตามจุดยืนที่มั่นคง และความจริงที่เปิดเผยภายหลังว่า กองทัพมีข้อเสนอพิเศษสุดให้กับแชมป์โลก เพียงเข้าร่วมกับกองทัพ รักษาวินัยทหาร เลิกปากมาก ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับเพื่อนทหาร ประกันได้ว่าเขาจะไม่ถูกส่งไปใกล้สมรภูมิ และที่พิเศษสุดคือ ยังชกมวยป้องกันแชมป์ต่อไปได้
            จากภาพคนขลาดที่สู้เพื่อตัวเอง อาลีได้ความเคารพนับถือในฐานะของนักสู้ที่ยืนหยัดในศรัทธาและสำนึกแห่งความถูกต้องดีงาม แต่อาลีไม่ได้หยุดตัวเองไว้ตรงนั้น การศึกษาคัมภีร์กุรอ่านดึงเขาออกมาจากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่เห็นคนขาวเป็นปีศาจร้าย สู่จารีตวิถีอิสลามดั้งเดิมที่ยึดมั่นในสันติ ภราดร ความรัก มิตรภาพ ความเข้าใจ และความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ หนังสือชื่อ The Soul of a Butterfly ของอาลี ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปลายปีก่อน (ค.ศ. 2004) สะท้อนชัดถึงความคิดความเชื่อเหล่านี้ที่ตกผลึกแล้ว
            ช่วงเปลี่ยนศตวรรษ อาลีได้รับการยกย่องจากสื่อกีฬาแทบทุกแขนงให้เป็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในขอบเขตที่กว้างกว่านั้น นิตยสาร Time ยกให้เขาเป็นหนึ่งใน ฮีโร่แห่งยุคสมัยของเรา และองค์การสหประชาชาติก็แต่งตั้งให้เขาเป็นทูตสันติภาพ ซึ่งไม่ได้มาจากงานสาธารณกุศลและการหาทุนช่วยเหลือประชาชนในประเทศยากจนเท่านั้น แต่ยังมาจากภารกิจที่อาจจะมีเพียงอาลีเท่านั้นที่ทำได้ คือการเจรจาปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันในเลบานอนเมื่อปี 1985 และในอิรักเมื่อปี 1990
อาลีประกาศแขวนนวมในวัย 36 หลังจากชนะคะแนนลีออน สปิงก์ส กลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทสามสมัยคนแรก (สมัยที่สอง ได้มาด้้วยการน็อกจอร์จ โฟร์แมน ในไฟต์ลือลั่นแห่งปี 1974) สถิติการชกของเขาควรจบลงที่ 59 ครั้ง เป็นการชนะน็อก 37 ชนะคะแนน 19 แพ้ 3 ครั้ง (ต่อโจ ฟราเซียร์, เคน นอร์ตัน และ ลีออน สปิงก์ส แต่อาลีกลับมาแก้มือเอาชนะได้ทั้งหมด) แต่กลิ่นสาบนวมก็เรียกร้องให้อาลีกลับมาเพื่อพ่ายแพ้อีกสองครั้งตอนใกล้ 40 และไม่มีโอกาสแก้มืออีก
            คู่ปรับตัวจริงของอาลี ไม่ใช่ใครๆ ที่เคยชนะเขาบนเวที แต่เป็นโรคพาร์กินสันที่พรากความว่องไวทั้งมวลไปจากเขามานานกว่า 20 ปี อาลีเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ทางอี-เมล์ เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2004) ว่า เรื่องง่ายๆ ที่ไม่เคยต้องใช้ความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว หรือกระทั่งการอ้าปากพูด กลายเป็นเรื่องยากไปหมด แต่ ผมตื่นขึ้นมาทุกวันด้วยความพยายามจะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยม เพราะแต่ละวันคือของขวัญที่พระเจ้าประทานมา มีคนที่ยังเชื่อมั่นในตัวผม และผมจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง
            อาลีจึงยังคงเดินทาง เมื่อการปรากฏตัวของเขาเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น เช่น การเจรจาเรื่องตัวประกันในตะวันออกกลาง จุดคบเพลิงเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนตา ร่วมรณรงค์ปลดหนี้ให้ ประเทศด้อยพัฒนา และเมื่ออยู่กับบ้าน เขายังคงเซ็นชื่อให้กับทุกคนที่เขียนจดหมายขอมา อาลีไม่เคยลืมความรู้สึกเมื่อนานมาแล้วที่ถูกฮีโร่ของตัวเอง-ชูการ์ เรย์ โรบินสัน ปฏิเสธว่า ฉันไม่ว่างว่ะ ไอ้หนู
            แม้ว่าการเซ็นชื่อจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอาลีมานานมากแล้วก็ตาม    
#

Rhymes to learn
  • ตำนานชีวิตของมูฮัมหมัด อาลี ฉบับรวบรัดแต่ยังได้อรรถรสและสีสัน มีอยู่ใน  http://en.wikipedia.org/wiki/Muhammad_Ali  อีกรูปแบบหนึ่งคือหนังเรื่อง Ali (ปี 2001) ของไมเคิล มานน์ ที่มีวิล สมิธ รับบทอาลี แม้จะยืดยาวและน่าเบื่ออยู่บ้าง แต่ก็ฉายภาพทศวรรษชีวิตอาลีในยุครุ่งโรจน์ (1964-1974) ในหลายด้านได้น่าสนใจ ส่วนเว็บไซต์ทางการของอาลี คือ http://www.ali.com/
  • เพลง Black Superman เป็นเพลงฮิตปี 1975 ของจอห์นนี เวคลิน ซึ่งทั้งชีวิตมีเพลงฮิต 2 เพลง (อีกเพลงชื่อ In Zaire เป็นการชกระหว่างอาลีกับจอร์จ โฟร์แมน) ยังพอจะหาฟังได้จากบรรดาแผ่นรวมเพลงฮิตจากยุค 1970 ส่วนอัลบั้ม I Am The Greatest (ปี 1963) ของอาลี เป็นงานหายากมานาน จนกระทั่งโซนี่เอามาปัดฝุ่นทำเป็นซีดีในปี 1999
  • หนังสือ The Soul Of A Butterfly: Reflections On Life’s Journey ไม่ใช่หนังสืออัตชีวประวัติโดยตรง แต่สะท้อนความคิด ความเชื่อ และศรัทธาของอาลี ผ่านประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง โดยมีลูกสาว-ฮานา อาลี ช่วยเขียน เป็นหนังสือที่คงไม่มีใครแปลเป็นไทยมาให้อ่าน

#
8 มีนาคม 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2548)

*ฟังเพลง  Black Superman ได้จากลิงก์นี้ >> http://www.youtube.com/watch?v=ws0MnVlQn8g&feature=BFa&list=PLE3270CEB44B92320&lf=mh_lolz
**ฟังเพลง  I Am The Greatest  ได้จากลิงก์นี้ >> http://www.youtube.com/watch?v=t9Rj58ZTUNc&feature=related


วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

องครักษ์พิทักษ์ปลวก

“ในทางจิตวิทยาของอาชญากรนั้น คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายใด แสดงว่าเขาอยากทำผิดกฎหมายนั้น เช่น คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายฆ่าคน แสดงว่าเขาอยากฆ่าคนโดยไม่มีกฎหมายห้าม”
         ข้อความ “โดนใจ” ข้างต้น ผมยกมาจากบทความเรื่อง “คณะนิติราษฎร์..ผลไม้พิษของฮิตเล่อร์??” ของ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่ออกมาโต้แย้งกับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้ลบล้างผลพวงของการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ทั้งพ่วงเอาข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวญกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ไว้ด้วย และข้อความที่ผมยกมาก็คือการตีตรงเข้าประเด็นนั้น
Credit : http://www.flickr.com/photos/waterbug49307/5507017226/
         ที่ต้องใช้คำว่า “โดนใจ” ก็เพราะเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ตอนที่เขียนถึงกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ในบทความเรื่อง “See Through” ลงคอลัมน์นี้ (“สีสัน” ปีที่ 22 ฉบับที่ 9) คนที่ไม่ได้เรียนมาทางกฎหมาย (อย่างผม) ก็ขมวดด้วยคำถามว่า “คนประเภทไหนกันที่ขยายความกฎหมายฉบับหนึ่งให้แลดูน่ากลัวเกินจริง คนประเภทไหนกันที่ปั่นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้คนกลัวเพื่อเป็นแนวร่วมคัดค้าน คนประเภทไหนกันที่ใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ (และไม่อยากรู้) ทางกฎหมายของประชาชนทั่วไปในการบิดเบือนความจริง คนประเภทไหนกันที่แอบวาระซ่อนเร้นไว้ใต้เสื้อคลุมของสิทธิเสรีภาพ”         
         ซึ่งคำตอบที่ผมแน่ใจว่ารวมอยู่ด้วยแน่ๆ ก็คือ (กลุ่ม) คนที่รู้ว่ากำลังทำผิดตามมาตรา 24 (1) อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และผมเชื่อว่าเป็นประเด็นหลักของการคัดค้าน เพียงแต่ถูกคลุกเคล้าเอาไว้กับประเด็น “หาพวก” อื่นๆ
         ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ในความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกลุ่มคนที่เวียนหน้ากันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไข และ/หรือ ยกเลิกมาตรา 112 เมื่อเรามองผ่านม่านมายาของวาทกรรมทั้งมวล มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาได้แทงทะลุเข้าไปด้วย “จิตวิทยาอาชญากร” นั่นเอง
         ซึ่ง ดร.ทวีเกียรติ ได้ขยายความต่อว่า
         “คนที่อยากได้ทรัพย์บุคคลอื่น ก็คงต้องการให้ยกเลิกกฎหมายลักทรัพย์
         ผมเองยังอยากให้ยกเลิกกฎหมาย ข่มขืนกระทำชำเราเลย !!!
         อย่างไรก็ตาม กฎหมายถึงจะมีโทษแรงแค่ไหน  
         ผู้ที่ไม่คิดจะทำผิดกฎหมาย ย่อมไม่เดือดร้อน  
         พวกท่านทั้ง 7 เดือดร้อนมากใช่ไหม?  
         มาตรา 112  เป็นเรื่องของการใช้ถ้อยคำ แสดงว่าคนที่ขอให้ยกเลิก อยากใช้คำหยาบ จาบจ้วง จริงๆ ผมแนะให้ว่า ถ้าคันปากอยากด่านักใคร แต่กลัวผิดกฎหมาย ก็ให้ด่าคนที่อยู่ในบ้านของกลุ่มนิติราษฎร์นั่นแหละ ด่าเข้าไปเถอะ กฎหมายไม่เอาโทษ เพราะคนที่อยู่นอกบ้านของคุณไม่มีใครเขานับถือคนในบ้านของพวกคุณ 
         หากด่าตัวเองได้ยิ่งดีใหญ่ ไม่ผิดกฎหมาย  
         และจะให้ผมช่วยด่าหรือช่วยคิดหาคำด่าให้ก็ยินดี  
         ครบถ้วน ได้ใจความนะครับ
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองไว้ดูใหญ่โตว่า “คณะนิติราษฎร์” นั้น ไม่ว่าจะใช้วาทกรรมอำพราง หรืออ้างหลักวิชาการจำแลง อย่างไร สุดท้ายก็สลัดไม่หลุดจากข้อเท็จจริงที่ว่า สุดปลายทางข้อเสนอของพวกเขานั้นเอื้อต่อประโยชน์สูงสุดของใคร?
         และต้องการโค่นล้ม-ทำลายอะไร?
         ในเชิงวิชาการและหลักกฎหมาย ผมเชื่อว่าทุกแง่มุมที่เสนอมา นักกฎหมายด้วยกันเขาโต้แย้งได้หมด เหมือนอย่างที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้ใช้บทความเรื่อง “สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน” หักล้างอย่างสุภาพต่อข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการ “นำสิ่งที่ไม่ควรเทียบกันมาเทียบกันประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เทียบกันได้ หรือแสดงความเห็นโดยไม่ชี้แจงให้ชัดว่าเป็นความเห็น แต่ทำให้คนเชื่อไปว่าเป็นความรู้โดยมิได้ตั้งแง่คิดให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรองอย่างแจ่มชัด”  ซึ่ง “อาจชวนให้เกิดความหลงทาง หรือเกิดไขว้เขวทางความคิดแก่คนหมู่มากจนยากจะแก้ไข เป็นสิ่งที่นักวิชาการพึงระวัง”
         แต่ก็นั่นแหละ เมื่อจะเอาชนะคะคานกันเสียอย่าง กระบวนการตอบโต้แบบแถไถไปมาก็ทำหน้าที่สร้างวาทกรรมของมันไป เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการ ไม่ใช่ความถูกต้องทางวิชาการ แต่เป็น “วาทกรรม” ที่จะให้เอาไปพูดถึงได้ ใช้อ้างได้ ไปขยายผลได้ โดยคนที่พร้อมจะเชื่อ คนที่พร้อมจะทำหน้าที่สื่อความต่อไป ซึ่งสุดท้ายเมื่อโต้แย้งอะไรไม่ได้แล้ว ก็จะกลับมาตรงจุดที่ว่า “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”
         แล้วผลักดันให้ทุกคนที่โต้แย้ง ทุกคนที่เห็นว่าการยึดอำนาจสามารถสถาปนาอำนาจรัฐาธิปัตย์ขึ้นมาได้ เป็นพวกสนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย โดยลืมไปว่า ด้วยหลักคิดแบบนี้ ทุกประเทศในโลกที่ให้การรับรอง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็จะกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนการทำรัฐประหารและต่อต้านระบอบประชาธิปไตยกันไปหมดทั้งโลกเลยทีเดียว
         แล้วยังไง?
         เพราะมุมคิดแบบนี้ก็เอาไปผลิต “วาทกรรม” ได้ ถ้าอยากทำ และวาทกรรมก็จะกลายเป็นกรรมที่ไม่มีวันจบ ตราบเท่าที่สมองของคนขาดแล้วซึ่งสำนึก
         ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเข้าใจได้ที่ ดร.ทวีเกียรติ เขียนบทความตอบโต้กับ “กลุ่มผู้ออกแถลงการณ์ทั้ง 7” ด้วยท่าทีที่ไม่ป็นวิชาการ และเหมือนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพูดจาด้วยหลักการและเหตุผลกับคนเหล่านี้อีก
         ลองดูความอีกตอนหนึ่ง
         “ก่อน 19 กันยา กลุ่มนิติราษฎร์ ไปอยู่ที่ไหนกัน ถึงไม่รู้ว่า ความขัดแย้งมีมาก่อน 19 กันยายน 2549 และก่อน 14 ตุลาคม 2516 ด้วยซ้ำ และประเด็นที่ขัดแย้งทั้งหลายมีประเด็นเดียวเท่านั้น คือ คนในรัฐบาลที่ทุจริต หรือสงสัยว่าทุจริต หรือแม้พิสูจน์แล้วว่าทุจริต แต่ยังมีอำนาจลอยนวล ลอยหน้าอยู่ได้ โดยไม่มีใครสามารถนำพวกเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ คือไปไม่ถึงศาล โดยเหตุที่ ถูกแทรกแซงในทุกๆ ทาง
         ฝ่ายบริหาร ตำรวจ อัยการ กกต.ถูกแทรกแซงตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหลายก็พึ่งไม่ได้ ลามปามไปถึงตุลาการเกือบทุกชั้นศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม  ถุงขนม ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ว่อนไปหมด คณะวรเจตน์ ไม่รับรู้ ไม่รับเห็นเลยหรือไร ?” 
         เป็นคำถามเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม ที่นิติราษฎร์ไม่มีวันตอบได้กระจ่างใจตัวเอง ถ้าในสมองยังมีสำนึกผิดชอบชั่วดีแม้เพียงสามัญธรรมดา
ดร.ทวีเกียรติ เป็นอาจารย์วิชากฎหมายร่วมสถาบันเดียวกันกับ “คณะวรเจตน์” เคยสวนทางความคิดกันมาหลายกรรมต่างวาระ
         สิ่งที่นิติราษฎร์นำมาขายใหม่ หลายแง่หลายมุมก็เคยผ่านการวิวาทะกันมาแล้ว ถูกหักล้างมาแล้วอย่างเช่นหลักนิติรัฐที่อ้างกันมาก อ้างกันเสมอ เช่นในคราวที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับพวก ออกมาโต้แย้งคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ดร.ทวีเกียรติก็เคยเขียนบทความเรื่อง “หลักนิติรัฐกับคนเนรคุณ” อรรถาธิบายเอาไว้อย่างหมดจด
         “การที่ยึดถือหลักนิติรัฐต้องทำโดยมีจิตวิญญาณที่จะปกป้องนิติรัฐด้วย โดยต้องมองให้รอบรู้ให้ทั่ว หากเห็นไม่รอบ กอดแต่หลักไว้อย่างเดียวไม่ดูว่ามดแทะ ปลวกทะลวงหลักจนปรุพรุนเป็นโพรงอยู่ข้างในไปหมดแล้วยังพร่ำเพ้อว่าหลักยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่รู้และโวยวายให้ใครก็ได้เข้ามาแก้ไข แต่พอมีคนจะไปช่วยพยุงซ่อมแซม โดยเอามด ปลวกออกจากหลัก โดยที่เขาก็เมตตาไม่ฆ่ามด ปลวกเท่านั้น เพียงแต่ขอกวาดออกจากหลักไม้ไปชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมหลักให้มั่นคงแล้วจะเชิญให้มด ปลวกเหล่านี้มากัดกินกันใหม่เท่านั้น
         คนที่อ้างว่าตนพิทักษ์หลักนิติรัฐเหล่านี้ก็ยังคงกอดหลักขวางกั้นออกหน้าปกป้องมด ปลวก ไม่ให้ใครไปแตะต้องมด ปลวกเหล่านั้น โดยคิดว่าเป็นการปกป้องสิทธิของมดและปลวกเหล่านั้นตามหลักนิติรัฐอยู่
         แทนที่จะเป็นการบำรุงรักษา กลับเป็นการช่วยทำลายหลักนิติรัฐทางอ้อม
         ไม่เห็นแม้กระทั่งพวกปลวกๆ ทั้งหลายกำลังนั่งหัวเราะเยาะพวกกำจัดปลวกที่ทะเลาะกันเอง
         เท่ากับเนรคุณหลักนิติรัฐเสียเอง
         ความเห็นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นการ "เห็นต้นไม้แต่ไม่เห็นป่า"
         ป่าไม้ถูกทำลายลงทุกวัน ท่านเหล่านี้ก็รู้อยู่ เรียกร้องให้ช่วยกันปราบพวกตัดไม้ทำลายป่า
         แต่พอเขาจะไปจับคนตัดต้นไม้ ท่านเหล่านี้ก็ออกขวางกั้น โดยอ้างว่า ชาวบ้านตัดต้นไม้ต้นสอง ต้น ไม่เสียหาย ต้องคุ้มครองให้เขาอยู่กินได้
         ท่านเหล่านี้จึงเห็นแต่คนตัดไม้ทีละต้น แต่ไม่เคยเห็นคนทำลายป่า
         หารู้ไม่ว่าคนเหล่านั้นตัดทีละต้น เป็นร้อย เป็นล้านต้นแล้ว
         ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงไม่สามารถดำเนินการกับคนทำลายหลักนิติรัฐได้เสียที ด้วยฝีมือของคนที่คิดว่าตนเป็นคนพิทักษ์อนุรักษ์หลักนิติรัฐ แต่มองไม่เห็นปลวกที่กำลังกัดกิน และทำลายหลักนิติรัฐที่เขาบูชาอยู่ตำหูตำตา
         ดังนี้ แทนที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์หลักนิติรัฐ
         กลับกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ปลวกไปเสียนี่!!!
         หลักนิติรัฐจึงถูกเนรคุณด้วยสายตาที่คับแคบเช่นนี้เอง”
จากตอนนั้นถึงวันนี้ ผมเริ่มสงสัยว่า องครักษ์พิทักษ์ปลวกกลายพันธุ์ไปเป็นปลวกเสียเอง ก็ได้ด้วย?
#
5  ตุลาคม  2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554)

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

Lawyers, Guns, Money & Media

เหมือนๆ จะแพ้ แต่ไม่แพ้
            กรณีเทคโอเวอร์หนังสือพิมพ์มติชน อาจจะยุติลง(ชั่วคราว) ตามที่สื่อส่วนใหญ่รายงานว่า กู๋” (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ยอมถอย เพราะกระแสคัดค้านต่อต้านรุนแรงเกินกว่าที่คิดกันไว้ (ใครจะช่วยกันคิดบ้าง ถ้าอยากรู้ไปถามกู๋เอาเอง) แต่การคงหุ้นไว้ในสัดส่วน 20 เปอร์เซนต์ ไม่ได้แปลว่ากู๋ มาแว้ววว ไปแว้วววอย่างที่แปะไว้ตรงการ์ตูนมุมล่างปกมติชนสุดสัปดาห์
            ต่อให้กู๋เอาเงินมาซื้อหุ้นเก็บเอาไว้เฉยๆ ตามประสาคนที่อยากเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์มานาน แต่สัดส่วนหนึ่งในห้าก็ไม่น่าจะทำให้คนมติชนทำงานได้อย่างเป็นสุข และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วยังน่าจะทิ้งร่องรอยความคลางแคลง-ระแวง-สงสัยเอาไว้ให้คนมติชนด้วยกันเองพอสมควร
            อย่างน้อยๆ จากปากของวงในแกรมมี่บางคนที่บอกคล้ายๆ กันว่า กู๋คุยกับพี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) แล้ว ถึงได้นัดจะไปแถลงข่าวที่มติชน แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” (แปลว่าถ้าอยากรู้ไปถามพี่ช้างเอาเอง) แล้วคำพูดแบบนี้ถ้าล่องลอยมาถึงหูคนอย่างผมที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ซุกตัวอยู่แต่ในถ้ำได้ มันก็คงเข้าหูใครๆ มาเยอะแล้วแหละ
            ข่าวที่ลือกันในตลาดหุ้นว่ามีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์แอบซื้อขายทำกำไร ก็ช่วยตอกย้ำความเคลือบแคลงอีกทาง จนสุุดท้ายแล้ว ถึงจะต่อต้านการยึดครองสื่อกันไป แต่เรื่องทำนองนี้ที่ยังเป็นติ่งคาใจคนไม่ได้ถูกเคลียร์ไปกับการแถลงข่าวร่วมของคนรุ่นลูกรุ่นหลานนามสกุลบุนปานกับดำรงชัยธรรมแต่อย่างใด
            งานนี้ จึงอาจสรุปได้ว่ามติชนเสียหายไม่น้อยกว่าแกรมมี่ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ อย่างที่เพื่อนรักผมออกปากว่า กู๋นี่ร้ายจริงๆ  จับอะไร ship หายหมด” (คำว่า ร้ายในที่นี้หมายความตามคำ ส่วนคำว่า ‘ship’ เป็นคำสุภาพ) อย่างน้อยๆ พี่ช้างซึ่งควรจะอยู่สบายๆ ได้แล้ว ก็เดือดร้อนต้องหาเงินมาซื้อหุ้นคืนในราคาแพงอีกต่างหาก ถึงจะได้ใจได้แนวร่วมมาท่วมท้น แต่นั่นก็แค่การศึกเฉพาะหน้า นับจากนี้ไป บทบาทท่าทีของมติชนจะถูกจับตาอย่างระแวดระวัง มีคนบอกว่า ไม่ว่าใครจะให้เครดิตความน่าเชื่อถือของมติชนไว้ที่ระดับไหน จากนี้ไปมันจะไม่เท่าเดิม
            ข้างฝ่ายกู๋ อย่างมากก็แค่เสียฟอร์มไปบ้าง ส่วนเรื่องถูกถล่มด่านั้น คนที่(พยายามจะ)รู้ใจกู๋ เอาใจช่วยว่า แกคงชินน่ะ ก็โดนมาตั้งแต่ซื้อลิเวอร์พูล จนถึงเพลงชาติหกเวอร์ชั่นแล้วนี่
ระดับบรรณาธิการของมติชนเคยพูดถึงกู๋ว่า ไม่มีหัวนอนปลายเท้าในวงการนี้ (แล้วจะมาทำหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร) ซึ่งถูกใจสะใจกองเชียร์เป็นอันมาก แล้วก็คงคิดกันแบบนี้กระมัง ถึงได้เชื่อว่าการเข้ามา กว้านซื้อหุ้นของกู๋ เป็นเพียงโนมินีของใครคนหนึ่ง-คนนั้น
            คนเรามีหัวนอนมีปลายเท้ากันทุกคน ยิ่งเป็นหัวนอนปลายเท้าของกู๋  ทั้งคนมติชนเอง และแฟนานุแฟนของเครือมติชน ยิ่งต้องทำความรู้จักโดยพลัน
            ผมคงไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกได้ว่ารู้จักหัวนอนปลายเท้ากู๋ แต่ถ้าเราออกไปให้พ้นกระแสข่าวบนสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา จะรู้ว่าหัวนอนปลายเท้าของกู๋นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกมองข้ามหรือหมิ่นแคลน คนในวงการเงินยังมองยังเชื่อว่า ก็แค่ความพยายามแตกขยายธุรกิจธรรมดาๆ ของคนมีเงิน คนในธุรกิจดนตรีและอุตสาหกรรมบันเทิงซึ่งเป็นคู่แข่งแท้ๆ ก็ยังเห็นเป็นการซื้อหุ้นถือหุ้นธรรมดา ไม่น่าจะมีเบื้องหลังเบื้องหน้าอะไร ส่วนแฟนเพลงแกรมมี่ (ซึ่งคนในแกรมมี่เองเรียกว่า สาวก”) ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
            เหล่านี้ ถ้าจะเรียกกันตามภาษานิยมว่า ต้นทุนกู๋ก็มีอยู่พอสมควร อาจไม่เท่าคุณพี่ช้าง ไม่เท่าความเป็นสถาบันของมติชน แต่ก็ไม่น้อยกว่าหลายๆ คนที่ออกมาพูดจาว่ากู๋แรงๆ เป็นอันขาด
            แล้วกู๋เรียกคะแนนตีตื้นได้พอประมาณจากคนที่ไม่อยู่ในกระแส จากคนไม่ศรัทธาหนังสือพิมพ์ เมื่อยอมถอยและขายหุ้นส่วนที่เกิน 20% คืนในราคา(ที่บอกว่า)เท่ากับที่ซื้อมา
            สมมติว่า ถ้ากู๋ทำตัวนิ่งๆ  ไม่ข้องเกี่ยว ไม่แทรกแซง แต่อาจจะขออะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง เป็นการ ส่วนตัวกับใครสักคน บางคน ที่พูดจากันได้ สักพักสาธารณชนก็อาจจะคล้อยตามว่า เออ ไม่เห็นมีอะไรสักหน่อย ตื่นตูมกันไปเองแต่ในขณะเดียวกัน เมื่อราคาหุ้นมติชนถอยกลับไปอยู่ระดับก่อนภาวะ ตื่นตระหนกอาจจะมีคนแอบเก็บหุ้นมติชนในชื่อต่างๆ กัน และในปริมาณที่ไม่ชวนให้สังเกต ส่วนจะทำอะไรต่อไป ใครจะไปรู้?
            เท่าที่เรารู้ก็แค่ว่า เร็คคอร์ดของแกรมมี่นับจากวันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นต้นมา สะท้อนถึงการบริหารวิธีที่เรียกกันว่า ทุบโต๊ะจนคนสงสัยว่าไม่เจ็บมือบ้างหรือไร ตัวแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ในเวลานั้น จนถึงจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในเวลานี้ มีซีอีโอดาวรุ่งที่พุ่งแรงมากของวงการโดนเชือดไปแล้วสองราย จะเป็นเพราะความที่กู๋ไม่ยอม วางมือนิ่งๆ บนโต๊ะหรือเปล่า ก็ไม่อาจทราบได้ (ถ้าอยากรู้โปรดไปถามเลขาธิการ กบข. และผู้ว่าฯ กทม.) ส่วนเร็คคอร์ดการร่วมทุน ซึ่งมีแรงเฉื่อยที่ทำให้เกิดภาวะทุบโต๊ะไม่ลง ก็ไล่ย้อนหลังไปได้ตั้งแต่บะหมี่ยูมี ซึทาญ่า จนถึงต้นอ้อแกรมมี่
            คนที่ไม่อยากเห็นกู๋หรือแกรมมี่เข้ามายุ่มย่ามกับสื่อหนังสือพิมพ์ อาจจะบอกว่าถ้าเป็นอย่างหลังก็เข้าทาง หวังได้ ภาวนาให้เป็นอย่างนั้นได้ แต่ต้องไม่ลืมอีกเหมือนกันว่า กู๋มีทั้งวิธีชักจูง หว่านล้อม และมัดใจคน (ต้องยอมรับว่าคนทำงานกับกู๋ ในแต่ละชั้น แต่ละแขนง มีความสามารถสูงกว่าคู่แข่งในวงการเดียวกัน) แล้วก็อาจมีวิธีที่ทำให้คนเบื่อหน่ายไปเอง (เมื่อถามคุณพี่เขตต์อรัญไม่ได้แล้ว ลองถามเอาจากปรัชญา ปิ่นแก้ว และชาตรี คงสุวรรณดูแล้วกัน)
            สิ่งที่เคยเป็นมาอาจบอกได้บางอย่าง แต่สิ่งที่จะเป็นไปกับมติชน (รวมทั้งบางกอกโพสต์) ต้องรอให้กู๋บอกเอง––คนที่กำหนดหมากเกมได้ ย่อมไม่ใช่คนแพ้แน่นอน
เขียนเข้าข้างกู๋มาตั้งหลายย่อหน้า ทั้งเชื่อด้วยว่าคนอย่างกู๋ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นแทนใคร และกรณีนี้ไม่ควรเอาไปเทียบเคียงกับกรณีซื้อหุ้นลิเวอร์พูล ที่กู๋อาจจะแค่รับมุขเล่นเป็นเรื่องขำๆ ส่วนจะขำใคร คนที่สงสัยลองถามตัวเองดูจะดีที่สุด)
            กู๋คงตั้งใจซื้อหุ้นมติชนกับบางกอกโพสต์จริงๆ เหมือนที่แถลงปูทางมาก่อนหน้านี้ และเป็นไปได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการครอบครองและครอบงำสื่ออย่างที่มีหลายคนอธิบาย ซึ่งถ้ามองกันแต่ในแง่การเมืองและการรวบอำนาจ แล้วตัวกู๋เองก็หลุดปากออกมาว่า จะทำหนังสือพิมพ์ให้รัฐบาลอ่านบ้างไม่ได้หรือไง ก็พอมีน้ำหนักอยู่
            แต่เมื่อประเมินในเชิงธุรกิจและผลตอบแทน การกู้เงินธนาคารตั้งมากมายเพื่อเป็นผู้ถือหุ้นราย ใหญ่ในมติชนและบางกอกโพสต์ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามาตรฐานที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และจีเอ็มเอ็มมีเดียทำได้ ไม่น่าจะใช่วิสัยของคนอย่างกู๋ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายหรือประโยชน์ต่างตอบแทนมากกว่านั้น
            คนประเภทที่ใครคนหนึ่งกล่าวหาว่า ชอบจินตนาการได้ลองเอาชิ้นส่วนที่กระจายกันมาจากคนละทาง มาต่อรวมเป็นภาพ ซึ่งยังไม่ครบสมบูรณ์ แต่นึกเค้าลางเอาว่า ภาพอาจจะออกมาอย่างนี้:
            ข้าราชการประจำระดับสูงในสำนักนายกฯ พูดในที่ประชุมหน่วยงานในสังกัด ว่าอาจจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เพราะจะมีการปรับโครงสร้างโยกย้ายหลายหน่วยงานไปสังกัดอื่น ก่อนหน้านั้น มีข่าวหลายครั้งว่าจะรวมรัฐวิสาหกิจที่แยกกันขึ้นต่อกระทรวงต่างๆ มารวมกันภายใต้โฮลดิ้งรัฐวิสาหกิจที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งโดยนัยเท่ากับเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบของการแสวงหาผลกำไร รัฐมนตรีดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ก็พูดถึงการแยกสถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาฯ ออกจากโครงสร้างระบบราชการมาเป็นหน่วยงานพิเศษที่ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง หาเอกชนที่เป็นมืออาชีพมาร่วมทุนและ/หรือบริหาร แล้วกู๋ก็พูดชัดเจนว่าเป้าหมายต่อไปของจีเอ็มเอ็มมีเดียคือ มีทีวีเองสักช่อง
            ในจินตนาการของผม ปรากฏฉากทัศน์ที่ช่อง 11 ถูกแยกออกมาจากกรมประชาสัมพันธ์ แล้วจีเอ็มเอ็มมีเดียได้รับเลือกในฐานะผู้มีความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมที่จะมาร่วมทุนร่วมบริหาร
            โดยที่มติชนและบางกอกโพสต์เป็นชิ้นส่วนที่เข้ามาเติมให้แกรมมี่มีภาพความเป็นมืออาชีพ อย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง
มีคนไม่กี่ประเภทที่ต้องการยึดกุมและครอบงำทุกสิ่งทุกอย่าง ประเภทแรกคือกลุ่มคนบ้า คนวิกลจริต คนป่วย(ทางจิต) ประเภทที่สองคือกลุ่มที่มีความทะยานอยากเกินเกณฑ์ความมักใหญ่ใฝ่สูงและทะเยอทะยานในคนปกติ ซึ่งทิวานิยามกลุ่มอาการนี้ว่าเป็น คนโลภ”* (ตามชื่อเพลงที่คนอ่าน "สีสัน" น่าจะได้ฟังกันแล้ว) แต่ยังไม่ได้แยกแยะว่า เป็นเพราะพ่อแม่สั่งสอนชี้วิธีการ หรือเป็นสันดานที่ติดตัวเฉพาะตน
            คนโลภยึดกุมและครอบงำสรรพสิ่งด้วยการใช้อำนาจ แสดงอำนาจ และนำไปสู่อำนาจที่มากขึ้น อำนาจในภาษาการเมืองอาจพูดกันถึงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในทางธุรกิจอาจหมายถึงอำนาจทุน อำนาจครอบงำตลาด รวมไปถึงอำนาจของเครือข่ายพันธมิตรและสายสัมพันธ์ทางการเมือง ฯลฯ แต่ภาษาเพลงแบบวอร์เร็น ซีวอน รวบยอดเอาไว้ในสามคำที่ประกอบกันเป็นชื่อเพลง “Lawyers, Guns And Money”** ––สามอย่างนี้ก็พอแล้วที่จะยึดกุมสภาพทุกอย่างได้
            วอร์เร็นไม่ได้นึกถึงมีเดีย เพราะในสังคมของเขา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะไปครอบงำบงการสื่อ และสื่อเองก็ไม่สามารถแสดงอิทธิพลครอบงำสังคมได้ง่ายๆ ถ้าไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นักข่าวเล็กๆ สองคนของวอชิงตันโพสต์อาจจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ประธาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จำใจเดินออกจากทำเนียบขาว แต่คนดังแห่งวงการทีวีอย่างแดน ราเธอร์ ต้องเกษียณตัวเองก่อนกำหนดเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการรายงานเรื่องที่ไม่มีมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีบุชสมัยรับราชการทหาร
            การยึดครองสื่อจึงอาจจะไม่ได้อยู่ในแผนการของคนบางคนมาก่อนก็จริง แต่เมื่อคุณสมบัติพิเศษในการล่อลวงและจูงใจคนเริ่มขาดความน่าเชื่อถือ สื่อวิทยุโทรทัศน์ที่มีในมือและในกำมือไม่พอที่จะช่วย กลบเกลื่อนความเน่าเหม็นจากของเสียที่มีปริมาณเป็นสัดส่วนกับความตะกละตะกลามประสาคนโลภ อำนาจของสื่อหนังสือพิมพ์ที่พยายามรายงานลึกลงไปให้มากกว่าภาพที่ได้เห็นทางจอทีวีและเสียงที่ได้ยินทางวิทยุ จึงเป็นอีกเป้าหมายที่ต้องถูกรวบเอาไว้ให้เบ็ดเสร็จ
            ในเพลงของวอร์เร็น เขาเปรียบเปรยสถานการณ์ที่ต้องเรียกให้ส่งทนาย อาวุธ(หรือทหาร) และเงิน เข้าไปเคลียร์ ด้วยประโยคที่ว่า “The shit has hit the fan” แล้วถ้าต้องเพิ่ม Media เข้าไปช่วยกลบปิดข่าวอีกอย่าง ลองนึกภาพดูกันเองแล้วกันว่ามันจะ เละขนาดไหน
            ปล่อยไว้นานไปจะ กวาดล้างกันไหวหรือเปล่า
#
29 กันยายน 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548)

*ฟังเพลง   คนโลภ ได้จากลิงก์นี้ >>
**ฟังเพลง   Lawyers, Guns And Money ได้จากลิงก์นี้ >>

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

New Year's Resolution

วงรอบของการเริ่มต้นปีใหม่ในช่วงหลายปีมานี้ ไม่ได้มาพร้อมกับบรรยากาศของการรื่นเริง-เฉลิมฉลองเหมือนอย่างที่คาดหวัง หรือเคยเป็น ปีหนึ่งเราได้เผชิญกับความเกรี้ยวกราดของสึนามิ (26 ธันวาคม พ.ศ. 2547) อีกปีหนึ่งเราต้องปั่นป่วนไปกับการวางระเบิดกลางกรุงเทพฯ (วันสิ้นปี พ.ศ. 2549) และปีนี้เราก็สูญเสียพระพี่นาง (2 มกราคม พ.ศ. 2551)
            นอกจากเหตุการณ์เฉพาะเจาะจง เรายังถูกรุมเร้าด้วยความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งยืดเยื้อทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจและการเลี้ยงชีพที่ยากลำบากขึ้นทุกปี ขณะที่โลกทั้งใบแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ความหวัง
            แต่ปีใหม่ก็ยังคงเป็นการเริ่มต้นของวงรอบเวลาใหม่ เป็นวาระของการอวยพร ความระลึกถึง ความปรารถนาดี ที่ผู้คนยังคงมีให้กัน และยังคงเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งโลกยังคงยึดเอาเป็นหมุดหมายของการเริ่มต้น สิ่งใหม่ๆ ในชีวิต
            แม้สังคมและโลกรอบตัวจะไม่เอื้อให้คนเราวาดหวังอะไรได้มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังสามารถมุ่งหวังกับตัวเราเอง

ปณิธานปีใหม่ของคนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของการละเลิกจากสิ่งที่รู้มาตั้งนานแล้วว่าไม่มีอะไรดีกับชีวิต แต่ก็ยังทำไม่ได้เสียที (เช่น เลิกบุหรี่ ลดเหล้า ละอบายมุข) เพิ่มพูนสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง (ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ หางานใหม่ที่ดีกว่าเดิม) ดูแลตัวเองให้มากขึ้น (สุขภาพกาย สุขภาพจิต อาหารการกิน การออกกำลังกาย ลดน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน)
            แต่บางด้านบางเรื่องก็สะท้อน-สัมพันธ์กับคติ ค่านิยม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การสำรวจความมุ่งหวังในปีใหม่รอบปีหลังๆ แสดงให้เห็นแนวโน้มของการจัดสมดุลเวลาและแสวงหาความรื่นรมย์ของชีวิต (ลดชั่วโมงทำงานลง ไม่เอางานกลับไปทำที่บ้าน มีเวลาให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้น เดินทางท่องเที่ยว เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ) ซึ่งเข้ามาแทนที่คติบ้างานและมุ่งสำเร็จ ในขณะที่เป้าหมายทางวัตถุและการบริโภคก็ถูกเบียดแทรกด้วยความประหยัด-อดออม รู้ใช้-รู้จ่าย รู้พอ และลดล้างหนี้สิน (ซึ่งส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากเป้าหมายทางวัตถุและการบริโภคที่ผ่านมา) ไปจนถึงการแสวงหาความสุขสงบทางใจและทางธรรม
            คนจำนวนไม่น้อยยังมีความมุ่งหวังที่พ้นออกไปจากรอบวงเรื่องราวของตัวเอง ด้วยความคิดที่จะเบียดบังสังคมให้น้อยลง ช่วยเหลือผู้อื่นให้มากขึ้น เป็นอาสาสมัครเพื่อสาธารณประโยชน์
            ความมุ่งหวังบางอย่างทำได้ง่าย เพียงมีความตั้งใจสักนิด ใช้ความพยายามอีกหน่อย ก็ทำได้แล้ว ในแง่นี้ ที่เคยมีคนบอกว่า ถ้าผ่านปีใหม่ไปครึ่งเดือนก็แล้ว เดือนหนึ่งก็แล้ว ยังไม่ได้เริ่มไม่ได้เลิกอะไรๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ ก็จงยอมรับเถอะว่า ปณิธานนั้นล้มเหลวก็คงจะไม่ผิด แต่ความมุ่งหวังบางอย่างต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเอง ค่อยๆ ละลายพฤติกรรมและความเคยชินแบบเดิม ในขณะที่อีกบางเรื่องอาจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดทั้งต่อชีวิตและต่อโลก ซึ่งไม่อาจและไม่ควรใช้มาตรฐานเวลาเดียวกันมาวัดผลสำเร็จ/ล้มเหลว
            ที่สำคัญคือ เมื่อเวลาผ่านไป เรายังหมายมั่นและพยายามเพียงไรในสิ่งที่เรามุ่งหวัง
สำหรับโดโนแวน นิยามของปณิธานปีใหม่่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาเริ่มเพลง “New Year's Resolution”* ด้วยรูปคำง่ายๆ แต่สื่อความหมายได้ชัดเจน
            “Do what you've never done before / See what you've never seen / Feel what you've never felt before / Go where you've never been / Sing what you've never sung before / Say what you've never said / Bear what you've never borne before / Hear what you've never heard
            เพลงนี้อยู่ในอัลบัม “Open Road” ผลงานปี 1970 ซึ่งเป็นความตั้งใจของโดโนแวนที่จะสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งในผลงานชุดนี้ และของตัวเขาเอง ซึ่งการตั้งชื่ออัลบัมก็มีความหมายชี้ไปในทางเดียวกัน เขาบอกกับทุกคนและคงจะบอกกับตัวเองด้วยว่า ไม่มีอะไรดำรงคงเดิม การเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติของชีวิตสิ่งที่เราควรจะทำคือ ปลดพันธนาการ และทำในสิ่งที่อยากจะทำพันธนาการที่ว่านั้นบางครั้งเราก็เป็นคนผูกยึดเอาไว้เอง และถ้ามันยังไม่รัดแน่นพอ เราอาจทำได้แม้กระทั่ง ตัดปีกของตัวเอง
            อันที่จริงผลงานของโดโนแวนเปลี่ยนแปลงมาเสมอ อาจจะเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่าบ็อบ ดีแลน ผู้ประกาศสัจจะ “The Times They Are  A-Changin'” ทั้งยังเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายทศวรษ 1960 แต่ปัญหาคือ นับตั้งแต่โดโนแวนปรากฏตัวในวงการเพลงครั้งแรกกับเพลง “Catch the Wind” ตอนต้นปี 1965 ภาพของเขาคือศิลปินโฟล์กที่อยู่ภายใต้เงาของบ็อบ ดีแลน และภาพจำของ ผู้มาทีหลังก็ทำให้ความสามารถทางดนตรี ความละเอียดอ่อนเชิงกวี และการริเริ่มทดลองสิ่งใหม่ๆ ของโดโนแวนมักจะถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง
            ริชี อุนเทอร์เบอร์เกอร์ นักเขียน/นักวิจารณ์ดนตรีที่ให้ความสนใจศึกษาดนตรีโฟล์คร็อคและประวัติศาสตร์ดนตรียุค 1960 เป็นพิเศษ เคยเสนอความเห็นไว้ว่า การแสดงของโดโนแวนกับวงแบ็คอัพ 3 ชิ้นในงานประกาศผลรางวัลประจำปีของนิตยสารนิว มิวสิคัล เอ็กซ์เพรสส์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 1965 น่าจะถือเป็นต้นกระแสของดนตรีโฟล์คร็อค คอนเสิร์ตครั้งนั้นเกิดขึ้นสามเดือนก่อนที่บ็อบ ดีแลนจะปรากฏตัวพร้อมกับวงพอล บัตเทอร์ฟิลด์ส บลูส์ แบนด์ ในคอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ที่นิวพอร์ต โฟล์ก เฟสติวัล และก่อนที่ซิงเกิล “Mr. Tambourine Man” เวอร์ชันเดอะ เบิร์ดส์ที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดเพลงโฟล์คร็อคออกจำหน่ายหนึ่งวัน
            โดโนแวนยังเปิดตัวเองรับดนตรีทั้งแจซซ์ บลูส์ ดนตรีตะวันออก และเอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับเลือดใหม่ของวงการเพลงอเมริกันแถบเวสต์โคสต์ ตั้งแต่ก่อนที่โลกจะรู้จักชื่อของ เดอะ เกรทฟูล เด้ด และ เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน ผลงานชิ้นเอกของโดโนแวนคือ “Sunshine Superman” ในปี 1966 เปรียบได้กับนวัตกรรมที่หลอมสร้างดนตรีไซคีเดลิคขึ้นมาจากโฟล์ค-ร็อค-พ็อพ- แจซซ์ได้อย่างสวยงาม ก่อนจะถึงวันเวลาเบ่งบานของบุปผาชน
            ศิลปินในยุคกลางศวรรษ 1960 มีความเป็นชุมชนที่มีการดูดซับ-ถ่ายเทประสบการณ์ ความคิด การริเริ่มและทดลองระหว่างกัน โดโนแวนเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้น ความสามารถในการเขียนเพลงและเล่นดนตรีของเขาเป็นที่ยอมรับจากศิลปินร่วมยุค ทั้ง เดอะ บีเทิลส์, บ็อบ ดีแลน, โจน บาเอซ, ไบรอัน โจนส์-ผู้นำวงโรลลิง สโตนส์ยุคแรก มากกว่าข่าวสารข้อมูลที่ปรากฏสู่สาธารณชน และมากกว่าการยอมรับจากนักวิจารณ์ เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ร่วมแต่งเพลงกับเดอะ บีเทิลส์ (“Yellow Submarine”) สอนวิธีเล่นกีตาร์แบบฟิงเกอร์ พิคกิ้ง ให้กับจอห์น เลนนอน กับพอล แม็คคาร์ทนีย์ (ซึ่งจอห์นเอาไปใช้ในเพลง “Julia” ส่วนพอลใช้ในเพลง “Blackbird”) ในขณะที่นักดนตรีที่โดโนแวนเลือกมาร่วมงานก็ล้วนแล้วแต่เป็นสุดยอดฝีมือเซสชั่นแมน เช่น แจ็ค บรูซ (ก่อนวงครีม), จิมมี เพจ และ จอห์น พอล โจนส์ (ก่อนเล็ด เซ็พเพลิน) การถ่ายเททางดนตรีระหว่างโดโนแวนกับจิมมีและจอห์น ยังได้ผลออกมาเป็น “The Hurdy Gurdy Man” (1968) อัลบัมที่ให้ซาวด์แบบฮาร์ดร็อค และการฟอร์มวงเล็ด เซ็พก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นเอง
            ความเปลี่ยนแปลงใน “Open Road” ไม่ได้วางไว้ที่การเปลี่ยนแปลงทางดนตรี แต่เป็นการปลดปล่อยตัวเองจากการถูกผูกยึดด้วยยอดขาย โดโนแวนทำอัลบัมนี้โดยไม่มีมิคกี โมสต์โพรดิวเซอร์ที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จมาตลอดตั้งแต่ปลายปี 1965 ศิลปิน-โพรดิวเซอร์คู่นี้น่าจะเข้ากันได้เหมาะเจาะ เพราะคนหนึ่งมีสัญชาติญาณดนตรีที่หลากหลาย อีกคนหนึ่งมีสัญชาติญาณในการกะเก็งอารมณ์ตลาดเพลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะจูนเข้าหากันได้ทุกครั้ง
            พันธนาการและตัดปีกตัวเองที่โดโนแวนเขียนไว้ในเพลง “New Year's Resolution” สะท้อนความตึงเครียด-ขัดแย้งทางความคิดและวิธีทำงาน ตัวอย่างที่อาจสะท้อนปัญหานี้ก็คือ ในช่วงกลางระหว่างงานเพลงไซคีเดลิคอย่าง “Sunshine Superman” กับฮาร์ดร็อคแบบ “Hurdy Gurdy Man” โดโนแวนเลือกที่จะทำอัลบัมเพลงสำหรับเด็กซึ่งไม่ใช่งานขาย และมิคกีก็คงไม่ชอบแน่ๆ แต่เป็นงานที่โดโนแวนต้องการทำ อย่างที่เขาเคยทำมาก่อนแล้ว และยังคงทำต่อมาอีกหลายชุดในช่วงทศวรรษ 1970
            “Open Road” ก็ไม่ใช่งานขาย เช่นเดียวกับอัลบัมหลังจากนั้นทั้งหมด โดโนแวนยังเสียความตั้งใจอย่างน้อยสองอย่างกับอัลบัมที่เป็นจุดเปลี่ยนของ เขา หนึ่ง-เขาตั้งใจให้ Open Road เป็นทั้งชื่ออัลบัมและชื่อวงที่มีเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะใครๆ ก็นับเป็นงานเดี่ยวของเขากันหมด สอง-เขาใช้ชื่อเพลง “New Year's Resovolution” แสดงความคิดรวบยอดของงานชุดนี้ แต่คำว่า “Revolution” ที่นำมาสนธิถูกตัดทิ้งไปในขั้นตอนพิสูจน์อักษร
            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โดโนแวนไม่ได้สูญเสียไปด้วยก็คือการออกเดินไปตามทางที่มุ่งหวัง และดูจะมีความสุขกับอิสรภาพบนเส้นทางที่โล่งกว้าง เหมือนกับภาพที่หลายคนเคยเห็นจากคอนเสิร์ต The Secret Policeman's Other Ball ปี 1981 มีผู้บันทึกไว้ด้วยว่า ตอนที่เขาขึ้นเวที มีเสียงคนดูตะโกนว่านึกว่าคุณตายไปแล้วเสียอีก
            โดโนแวนตอบกลับอย่างอารมณ์ดีว่า ยังหรอก
#
17 มกราคม 2551
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2551)

*ฟังเพลง  New Year's Resolution  ได้จากลิงก์นี้ >>
http://www.youtube.com/watch?v=7SxxjBNeauk