วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

Down in the Flood


น้ำท่วม ชักพามาทั้งน้ำตา และน้ำใจ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นการเอาเท้าราน้ำ หรือกวนน้ำให้ขุ่น  
            คืนออกพรรษา (2553) ผมกดดูรายงานข่าวน้ำท่วมของสถานีโทรทัศน์หลายช่อง สิ่งที่เห็นก็คงเหมือนกับที่ทุกคนเห็น สายน้ำที่ท่วมท้น ผู้คนที่เดือดร้อน ความช่วยเหลือที่ทบทยอยไป การแก้ไขสถานการณ์อย่างแข็งขันของหลายฝ่าย ก่อนจะมารู้สึกแปลกๆ กับสกู๊ปข่าวทางทีวีไทย ที่ตบท้ายรายงานว่า “ตั้งแต่มีคลองชลประทานมา...ปี บริเวณนี้ น้ำท่วมมาแล้ว...ครั้ง”
            ครั้นเมื่อเปรยเป็นข้อสังเกต ก็ได้รู้ว่ามีคนอื่นที่รู้สึกแบบเดียวกัน จากช่วงข่าวกลางวันและรายการภาคบ่ายของสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวกัน วันเดียวกัน
            ปานประหนึ่งว่า คลองชลประทานเป็นสาเหตุของน้ำท่วมซ้ำซาก
เครดิตภาพ: ครอบครัวข่าว 3

หากอยากจะพูดกันแบบกำปั้นทุบดินโดยไม่กลัวเจ็บมือ ก็คงจะไปแย้งเขาไม่ได้ เพราะวิธีที่น้ำท่วมในโลกนี้มีอยู่แค่ไม่กี่วิธี และวิธีหนึ่งก็มาจากการที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเอ่อล้นท้นขึ้นมาในยามน้ำหลาก
            เมื่อมีคลองและมีน้ำ น้ำก็ย่อมจะมาตามคลอง ในยามน้ำนองก็ย่อมล้นคลองท่วมสองฟากฝั่ง เป็นธรรมดา แต่ที่เป็นปัญหาก็คือว่า ถ้าไม่มีคลอง น้ำจะไม่ท่วมหรืออย่างไร และใครที่เขาขุดคลองขึ้นมา มีเจตนาเพียงเพื่อจะปล่อยน้ำมาท่วมบริเวณนั้นหรือเปล่า
            คลองชลประทานคงไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับการตัดถนนไปขวางทางน้ำอันเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในบางพื้นที่ ต่างจากการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลจนเป็นสาเหตุให้แผ่นดินทรุด ไม่เหมือนการขยายตัวของเมืองและการรุกล้ำทำลายความสมดุลของธรรมชาติ แต่เป็นเครื่องมือเก่าแก่ในการกระจายน้ำไปสู่พื้นที่ทำการเกษตร
            โดยการลอกเลียนธรรมชาติ มนุษย์เริ่มรู้จักกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและเพาะปลูก คนโบราณรู้จักขุดสระ ขุดบึง สร้างอ่างเก็บน้ำ ต่อมาได้มีการขุดคูคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ซึ่งขาดแคลน เรียนรู้การลดความแรงของน้ำ และวิธีเปลี่ยนเส้นทางน้ำ จนกระทั่งสามารถพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเพื่อการชลประทาน เขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
            แต่ในระยะหลัง เขื่อน-โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่-ซึ่งสมัยหนึ่งเป็นมาตรวัดความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ ได้กลายเป็นเป้าหมายของการต่อต้านคัดค้าน โดยเฉพาะในแง่ “ต้นทุน” ของความสูญเสีย ทั้งทางธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากจะต้องประเมินผลกระทบในแต่ละด้านกันอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้ต้องมาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์กันใหม่ด้วย เมื่อสมการของต้นทุนมีองค์ประกอบมากขึ้น
            ดูจากผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายๆ แห่ง ผมค่อนข้างจะมีความโน้มเอียงไปทางเดียวกับฝ่ายที่คัดค้านเรื่องเขื่อน แต่ผมก็ยอมรับด้วยว่า การคัดค้านอะไรสักอย่าง หรือแม้แต่คัดค้านมันเสียทุกอย่าง เป็นเรื่องง่ายกว่าการแก้ปัญหาหรือการลงมือทำอะไร(แม้เพียงอย่างเดียว)มากนัก
            ดังนั้น ไม่ว่าจะมองเรื่องเขื่อนในแง่ของการเก็บกักน้ำและ/หรือบริหารจัดการน้ำ หรือในแง่ของการผลิตกระแสไฟฟ้า เราก็คงต้องมองไปให้ไกลกว่า “เอา/ไม่เอา”
ในแง่กระแสไฟฟ้า มันง่ายกว่าแน่ๆ ที่คนหนึ่งจะบอกว่า ไม่เอาเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ อีกคนหนึ่งบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอีกคนก็มาบอกว่า ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
            หรือการที่หลายๆ คน จะบอกว่า พวกเขาไม่เอาทุกอย่าง ก็ไม่ยากอะไรอีกเหมือนกัน
            การอยู่ในสถานะที่พูดอะไรก็ได้โดยไม่ผูกพันความรับผิด เป็นเรื่องง่ายเสมอ แต่ถ้าบุคคลเดียวกันนั้นไปอยู่ในจุดที่ต้องรับผิด-รับชอบต่อการทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่บุคคลนั้นจะทำในสิ่งที่ตรงข้าม/ขัดแย้งกับที่เขาเคยพูด ซึ่งอาจไม่ใช่เพราะเขาหรือเธอเปลี่ยนไป หรือเป็นคนไร้จุดยืน แต่เป็นเพราะเขาหรือเธอได้ไปอยู่ในจุดที่เข้าถึงข้อมูลอีกชุดหนึ่ง ตระหนักถึงผลกระทบอีกแบบหนึ่งจากการทำหรือไม่ทำสิ่งใดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาหรือเธอเคยพูดไว้
            รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในความหมายนี้-แม้จะในกรณีตัวอย่างต่างกัน-ก็คือ การลาออกของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยูกิโอะ ฮาโตยามะ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน หลังจากที่เขาไม่สามารถรักษาสัญญาที่จะย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาะโอกินาวา ตามที่ได้หาเสียงไว้
            แน่นอน ณ วันนี้เราอาจพูดได้เต็มปากเต็มคำกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ว่าพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นทางออกที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นสายลม แสงแดด แต่ ณ วันนี้อีกเช่นกัน ที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่สามารถแทนที่เทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมได้อย่างเบ็ดเสร็จ และไม่มีใครหยุดยั้งหรือแม้แต่ชะลอการเผาผลาญพลังงานของมนุษยชาติได้จริง เราก็คงต้องคุยกันและเลือกเอา เช่น ถ้าเราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแน่ๆ เราจะอยู่กับเขื่อนอย่างไร ในเงื่อนไขแบบไหน ตราบเท่าที่เราก็ไม่อยากเสี่ยงกับภัยพิบัติจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 
ในแง่การบริหารจัดการน้ำ ผมนึกถึงงานเขียนของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เรื่อง “น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรมไทย”
            หนังสือเล่มนี้เสนอแนวคิดเรื่องการอพยพและย้ายถิ่นฐาน รวมถึงการแพร่กระจายของวัฒนธรรม ว่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นการขยายจากทิศใต้ (จากน่านน้ำหรือทะเล) ไปทิศเหนือ (ทวีปและภูเขา) โดยระบุว่า ยิ่งอพยพลึกเข้าไปในพื้นทวีปหรือยิ่งมีภูเขามากขึ้นเท่าไร ความฉลาดของมนุษย์ในเรื่องการกักกันน้ำไว้เพาะปลูก (ซึ่งเริ่มจากการเลียนแบบธรรมชาติ) รวมทั้งการแก้ปัญหาความแรงของน้ำจากภูเขาที่มีความลาดเอียงสูง ก็ยิ่งมีมากขึ้น และเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมที่มีพื้นฐานมาจากการกักกันน้ำ
            ตัวอย่างสภาวะที่ต้องเผชิญกับทั้งความอดอยากแห้งแล้งและอุทกภัย กับประวัติศาสตร์เก่าแก่ของการสร้างเขื่อนและการทดน้ำ/ผันน้ำในเมืองจีน เป็นสภาวะที่ต่างจากมนุษย์บริเวณชายฝั่งทะเล ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งน้ำค่อยๆ ไหลผ่านลงสู่ทะเล และมีน้ำจืดค้างอยู่ทั่วไปตามที่ลุ่มต่ำ การควบคุมน้ำและการเก็บกักน้ำจึงแทบไม่มีความจำเป็น “แต่อาศัยอยู่กับน้ำที่ไหลผ่านไปมาอย่างง่ายๆ เหมือนกับต้นข้าวซึ่งมีชีวิตอยู่กับน้ำ” วัฒนธรรมชาวน้ำแถบนี้จึงต่างไปมากจากวัฒนธรรมของการเก็บกักน้ำ ซึ่งอาจจะเรียกในเชิงเปรียบเทียบว่าเป็น วัฒนธรรมชาวบก
            การคลี่คลายของสังคมมนุษย์ได้เปลี่ยนประเทศไทย-เช่นเดียวกับประเทศแถบที่ลุ่มชายฝั่งอื่นๆ-ไปเป็นสังคมชาวบก แม้สัญชาติญาณแบบเลื่อนไหลไปกับกระแสน้ำจะยังฝังแฝงอยู่มาก แต่มันก็เหมือนกับที่ ดร.สุเมธเสนอไว้ว่า ในสมัยประวัติศาสตร์ คลื่นวัฒนธรรมกลับไหลวนจากทวีปและภูเขากลับมายังย่านทะเล
            ในเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำ ชาวน้ำที่กลายมาเป็นชาวบก ก็เรียนรู้และรับเอาอารยธรรมการกักกันน้ำและจัดการน้ำของชาวบกมาด้วย ยิ่งในยุคที่โลกเสียสมดุล แล้งก็มาก น้ำก็มาก เช่นนี้ เขื่อนหรือสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำย่อมไม่ใช่สิ่งที่เราจะด่วนตัดออกไป โดยที่ยังไม่มีสิ่งทดแทนที่สมเหตุสมผลพอ
            หรือเราจะคิดกันจริงๆ ว่า เขื่อนและคลองชลประทานเป็นตัวการปล่อยน้ำออกมาท่วมทั้งไร่นาและบ้านเรือน
            และมันคงจะดีกว่านี้ ถ้าเราไม่มีเขื่อน ไม่มีคลองชลประทาน?
ในกลุ่มคนที่ไม่เอาเขื่อน มีทั้งที่คัดค้านด้วยหลักวิชาการ มีทั้งที่ต่อต้านโดยบทเรียนจากหลายๆ เขื่อนในอดีต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการคัดค้าน/ต่อต้านโดยสุจริต ด้วยจุดยืน/มุมมองที่แตกต่าง
            ส่วนคนที่คัดค้าน/ต่อต้านโดยไม่สุจริต จะมีหรือไม่ อย่างไร ด้วยผลประโยชน์หรือเหตุผลอื่นใด ผมไม่ทราบ เพราะอย่างน้อยที่สุด คนในภาคองค์กรพัฒนาเอกชนที่ผมพอจะรู้จักมักคุ้นอยู่บ้าง ไม่ว่าจะคิดเหมือนหรือต่างอย่างไร ก็ไม่ใช่คนแบบนั้น
            แต่ถ้าถามว่าผู้ที่ต่อต้านเขื่อนโดยไม่ได้สนใจในปัญหาเรื่องน้ำท่าหรือว่าพลังงาน หากแต่มีนัยแอบแฝงหรือวาระซ่อนเร้น มีไหม ตอบได้ว่ามี
            แต่ก่อนนี้ ผมยังนึกว่าคงมีแต่คนรุ่นๆ ผม ที่จะมองเห็นนัยของคนรุ่นไล่ๆกัน ซึ่งออกมาผสมโรงต่อต้านเขื่อนไปกับเอ็นจีโอสายอนุรักษ์ ว่าเป็นการแสดงออกแบบ “ตีวัว” เพื่อให้ “กระทบ(ไปถึง)คราด” อันเป็นเป้าหมายจริงที่พวกเขาต่อต้านและหาทางจะล้มล้าง
            มาถึงวันนี้ คนรุ่นอายุยี่สิบกว่าๆ ก็เริ่มมาสะกิดถามผมแล้วว่า การต่อต้านเขื่อนนี่เป็นการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์..... ด้วยหรือเปล่า
            ผมบอกว่า ถ้าคนรุ่นๆ เขายังรู้สึกได้ คำตอบของผมก็คงไม่จำเป็น แต่เมื่อนึกถึงระยะทางจากเขื่อน เลื่อนไหลมาจนถึงคลองชลประทาน ผมก็ต้องบอกไปว่า “มันมาไกลมากแล้วด้วย”
#
30 ตุลาคม 2553
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น