วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2555

ในและนอกวงกลม

วงกลมหนึ่งวงสามารถแต่งแต้มต่อเติมเป็นอะไรได้บ้าง? เป็นโจทย์ที่บริษัท เอสซี แมทช์บอกซ์ ตั้งให้ ผู้บริหารและพนักงานช่วยกันตอบจากจินตนาการของแต่ละคน และรวมพิมพ์ไว้บนขอบหน้าสมุดบันทึกที่ใช้แจกเป็นของขวัญปีใหม่ (เมื่อ พ.ศ. 2548)

Credit: www.dreamstime.com

            ต่างคนก็ต่างความนึกคิด วงกลมจึงแปรรูปเป็นใบหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ กัน เป็นรูปสัตว์-ปีศาจ-ตัวการ์ตูน เป็นของกิน เป็นของเล่น เป็นสรรพสิ่งของ เป็นอักษรหนึ่งของคำ เป็นตราสินค้าและสัญลักษณ์ เป็นเงินตรา เป็นเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย และไม่เหนือความคาดหมาย (แต่ก็มีข้อยกเว้น อย่างเช่นรายหนึ่งเขียนออกมาเป็นสกอร์ 1 : 0 ซึ่งย้ำเย้ยแฟนปีศาจแดงอย่างเจาะจง ด้วยการกำกับลงไปเลยว่า เชลซี : แมนยู)
            ระหว่างที่พลิกผ่านเที่ยวแรก ผมลองตอบโจทย์แบบเร็วๆ แวบแรกของความคิด เป็นเลข 2 ขนาดเล็กกว่า วางอยู่ทางมุมขวาล่างของวงกลมซึ่งในที่นี้แทนค่าตัววาบต่อมา เป็นเส้นโค้งกึ่งตัว S แบ่งวงกลมเป็นสองข้างเท่ากัน เติมวงกลมเล็กสองวงลงไปทางซีกขวาด้านบนและซีกซ้ายด้านล่าง ลงหมึกสลับกัน ก็ได้เครื่องหมายหยิน-หยางที่คุ้นเคยกันดี และทั้งสองรูปก็ซ้ำกับคำตอบของคนอื่นที่ปรากฏในสมุดบันทึกเล่มนี้ด้วย
            ผมไม่แน่ใจว่าภาพวงกลมที่เราแต้มเติมไป สะท้อนเรื่องของจินตนาการได้มากแค่ไหน มีคนบอกว่าภาพเหล่านี้อาจอธิบายในเชิงจิตวิทยาได้ดีกว่า ในแง่ที่สะท้อนบุคลิกภาพบุคคล หรือแสดงถึงความหมกมุ่น-สนใจ ความสัมพันธ์กับหน้าที่การงาน กระทั่งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดขณะนั้น ขึ้นอยู่กับว่าภาพที่ออกมานั้น เป็นเส้นสายที่เกิดจากสัญชาตญาณ หรือผ่านกระบวนความคิดไตร่ตรอง
            ในแง่มุมนั้น วงกลมที่ผมเติมเลข 2 ลงไป อาจสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการมีชีวิต ในขณะที่วงของหยิน-หยางอาจบ่งบอกถึงความพยายามจัดสมดุลของชีวิต วงหนึ่งเป็นปัจจัยภายนอก อีกวงหนึ่งเป็นกระบวนการภายใน แต่ทั้งสองวงมีความเหมือนกันคือ เป็นวงกลมที่แทนค่าชีวิต
เส้นที่ลากโค้งขึ้นและม้วนลงมาบรรจบกันเป็นวงกลม ณ จุดเริ่มต้น เป็นเส้นกำหนดขอบเขต-รูปทรงที่เหมือนไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด วงกลมจึงถูกนำมาเทียบเคียงกับวงจรของชีวิตในหลายแง่มุม ทั้งวงจรของการเวียนว่ายตายเกิด วงรอบของพัฒนาการด้านต่างๆ ในชีวิต และวงล้อของประสบการณ์มากมายในชีวิตที่หมุนไปข้างหน้า แต่จุดสัมผัสหนึ่งๆ จะวนมาบรรจบยังจุดเริ่มต้นเสมอก่อนเวียนซ้ำต่อไปอีก
            บ่อยครั้งเราจึงรู้สึกเหมือนกับเพลง “Circles”* ของเดอะ นิว ซีเกอร์ส ว่า “It seems like I’ve been here before” เพราะว่า “No straight lines make up my life / And all my roads have bends / There’s no clear-cut beginnings / And so far no dead-ends”
            มีเพลงหลายเพลงเปรียบวันเวลาในชีวิตกับวงกลม เพลง “The Circle Game”** ของโจนิ มิตเชลล์ เขียนถึงกับดักของเวลาที่หมุนวนซึ่งเราทำได้เพียงย้อนมองกลับไปแต่ไม่อาจหวนคืน เพลง “Circle Of Life”*** ของเอลตัน จอห์น บรรยายวงจรชีวิตที่หมุนนำเราไปพบ-เห็น-เผชิญสิ่งต่างๆ มากมาย และย้อนไปไกลกว่านั้น เดอะ คาร์เตอร์ แฟมิลี เพรียกหาความสมบูรณ์ของวงชีวิต (ซึ่งอาจไม่ได้อยู่บนโลกใบนี้) ในเพลง “Will The Circle Be Unbroken”****
            จุดร่วมกันอย่างหนึ่งในเพลงเหล่านี้ก็คือ วงชีวิตที่หมุนไป ไม่ได้เคลื่อนและควบคุมโดยผู้เป็นเจ้าของชีวิตเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดโดยบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า อาจจะเป็นพลังของจักรวาล เจตจำนงของพระเจ้า วัฏจักรชีวิตและชะตากรรม หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราไม่รู้จะเรียกว่าอะไร
            ชีวิตจึงไม่เหมือนวงกลมสมบูรณ์แบบที่สามารถวัดรัศมีจากจุดศูนย์กลางไปถึงขอบโค้งทุกตำแหน่งได้ขนาดเท่ากันหมด
เพราะชีวิตไม่สมบูรณ์ เราจึงพยายามแต่งเติมสิ่งที่ขาดและแสวงหาส่วนที่หายไป
            สิ่งที่หายไปในสมัยนี้ดูจะระบุได้เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น บางคนอาจจะถามหาว่า ใครเอาเนยแข็งของฉันไปหรือถามถึงอาหารกลุ่ม ซุปไก่สกัดแต่สำหรับนักแสวงหาในช่วงปลายทศวรรษ 2520  อาจจะบอกได้เพียงว่าฉันกำลังตามหาส่วนที่หายไป
            คนอ่านหนังสือของ วรกมล เล่มนั้น อาจจะไม่พบสิ่งที่ตามหา และหนังสือก็ไม่ได้บอก วิธีทำแต่วิถีการแสวงหาชิ้นส่วนที่ขาดไปของตัวการ์ตูนรูปวงกลมคล้ายตัวแพ็คแมน ก็อาจทำให้หลายคนตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่มี ที่เป็น และสุดท้าย ชิ้นส่วนที่หายไปก็เป็นสิ่งที่อาจพบอาจสร้างขึ้นได้ในวงของชีวิตนั้นเอง
            ด้วยวิธีคิดที่คล้ายกัน แต่ต่างวิธีการ ลอรา เดย์ เสนอความคิดรวบยอดไว้ในหนังสือ “The Circle” ว่า โดยมีวงกลมเป็นเส้นกำหนดขอบเขตพื้นที่เอกภาพของความมุ่งหวัง ความคิด และการกระทำ เราสามารถทำความใฝ่ฝันให้เป็นจริง
            ลอราได้ชื่อว่าเป็นคนที่มี ญาณพิเศษซึ่งอาจจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว แต่เธอพยายามพิสูจน์เสมอมาว่าญาณไม่ใช่สิ่งลี้ลับ แม้จะเป็นสิ่งที่มีติดตัวมาไม่เท่ากัน ก็สามารถฝึกฝนเพิ่มพูนได้ เธอสร้างชื่อเสียงและการยอมรับด้วยหนังสือในซีรีส์ “Practical Intuition” และการจัดอบรมที่มีลูกค้าเป็นชนชั้นนำในหลายแวดวงอาชีพ ใน “The Circle” อาจจะมีเรื่องของญาณไม่มากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มที่สำคัญของ วงกลมเธอแนะนำผู้อ่านให้ใช้ญาณเลือกความปรารถนาที่สำคัญในชีวิตขึ้นมาเพียงอย่างเดียว และใช้แรงขับของความมุ่งมาดปรารถนานั้นเคลื่อนเปลี่ยนชีวิตไปในทิศทางที่เราต้องการ
            เมื่อได้เป้าหมาย กระบวนการต่อไปในระดับเริ่มเรียนรู้ของ The Circle คือทำความปรารถนาให้ชัดเจน มีรายละเอียดมากขึ้น มุ่งความสนใจและสมาธิไปที่ความปรารถนานั้น โดยการปรับกิจกรรมชีวิตให้สอดคล้องสนับสนุนเป้าหมาย พร้อมกับละวางพฤติกรรมและความเคยชินเดิมที่เป็นอุปสรรค ระดับถัดไปเป็นการฝึกฝนอย่างจริงจังมากขึ้น จนกระทั่งถึงระดับที่เชี่ยวชาญ ซึ่งมีขั้นตอน-กระบวนการที่เวียนซ้ำคล้ายกับระดับเริ่มต้น แต่มีความชัดเจนของสิ่งที่ต้องทำให้บรรลุมากกว่า จนในที่สุด ความปรารถนา ความคิด การใช้ชีวิตและกิจกรรม ล้วนสอดคล้อง เชื่อมโยง และกลมกลืน
            เมื่อแรกอ่าน ผมรู้สึกเหมือนกับว่า วงกลมที่ใช้เป็นชื่อหนังสือและกระบวนการ สื่อถึงการเพ่งจิต-สมาธิ โดยที่วิธีการ ภาษา และความคิดบางอย่างของลอราก็สนับสนุนความเข้าใจนี้ อ่านๆ ไปจึงค่อยเข้าใจว่า เธอใช้ วงกลมสื่อความหมายได้ครอบคลุมและงดงาม
            ในแง่หนึ่ง น่าจะหมายถึงการบรรจบของเส้นเวลาในอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยการทบทวนวิถีที่เป็นมาในอดีต กำหนดสิ่งที่เราอยากเป็นในอนาคต และลงมือทำอย่างสอดคล้องกับภาวการณ์ของปัจจุบัน
            อีกแง่หนึ่ง กระบวนการในแต่ละระดับหรือช่วงตอน มีลักษณะการพัฒนาคลี่คลายอย่างต่อเนื่อง จากขั้นที่ 1-2-3 ในระดับแรก ไปสู่ลำดับขั้นที่คล้ายกันของระดับต่อไป ต่างที่ความชัดเจน และก้าวหน้า แม้กระทั่งเป้าหมายก็อาจมีการทบทวนปรับเปลี่ยนให้สะท้อนความปราถนาที่แท้จริงมากขึ้น
            วงกลมยังเปรียบเสมือนเส้นกำหนดขอบเขตความมุ่งหวังในชีวิต กันส่วนที่ไม่จำเป็นและความเคยชินที่ไม่เกิดประโยชน์ออกไป แล้วจัดดุลยภาพของเวลาและวิถีชีวิตที่ประสานสัมพันธ์กับความมุ่งหวัง
            แต่ลอราไม่ได้บอกให้เราใช้วงกลมเพื่อแยกตัวเองออกมาจากสรรพสิ่ง และมุ่งเติมเต็มแต่ความพึงพอใจส่วนตัว เธอบอกตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายแล้วว่าให้เป็นความปรารถนาเชิงบวก และเมื่อถึงขั้นที่ 3 ของระดับที่เชี่ยวชาญแล้ว ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของ The Circle ก็เป็นขั้นของการสร้างและขยายชุมชน-คนรอบข้างที่จะสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกัน และกัน
            เธอบอกว่า มอบให้ในสิ่งที่เรามี ร้องขอในสิ่งที่เราต้องการ
#
Rhymes to learn
  • “Circles” เป็นเพลงของ แฮร์รี แชพิน ผู้แต่ง “Cats In The Cradle” แต่เป็นเพลงฮิตด้วยเสียงของเดอะ นิว ซีเกอร์ส เมื่อปี 1972 อัลบั้มเดิมชื่อเดียวกับเพลงหาไม่ได้แล้ว ที่ยังมีขายอยู่คือซีดีรวมเพลงฮิตของวง เช่นเดียวกับ  “The Circle Game” (1970) ของโจนิ มิตเชลล์ หาฟังได้ง่ายกว่าจากอัลบั้ม Hits ของเธอ
  • “Circle Of Life” (1994) ที่ทิม ไรซ์เขียนคำร้อง มีทั้งในซาวด์แทร็คหนัง The Lion King และอัลบั้ม Love Songs ของเอลตัน จอห์น ส่วน Will The Circle Be Unbroken เป็นเพลงคันทรี อมตะที่ เอ.พี. คาร์เตอร์ แต่งไว้ตั้งแต่ปี 1935 เวอร์ชันที่รู้จักกันดีน่าจะเป็นของวง เดอะ นิตตี กริตตี เดิร์ต แบนด์ ซึ่งทำอัลบั้มชื่อเดียวกับเพลงนี้มา 3 ชุด กับศิลปินสามเจเนอเรชัน Vol. Two ในปี 1989 เหมาะที่สุดสำหรับคนที่ไม่ใช่คอคันทรีแท้ๆ
  •  ฉันกำลังตามหาส่วนที่หายไปพิมพ์ครั้งแรกปี 2527 เป็นหนังสือที่ วรกมล เขียนจากเค้าโครงเรื่อง “The Missing Piece” ของ เชล ซิลเวอร์สไตน์ ต้นแบบภาษาอังกฤษเพิ่งมีฉบับ 30th Anniversary Edition เมื่อไม่นานนี้
  •  “The Circle” ของลอรา เดย์ มีชื่อรองว่า How the Power of a Single Wish Can Change Your Life เป็นหนังสือที่จมหายไปในตอนแรกจำหน่ายเพราะเป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิร์ลด์เทรด เมื่อปี 2001 แต่กลับมาเป็นที่สนใจโดยการบอกต่อและแลกเปลี่ยนของคนที่ได้อ่าน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลอย่างเจมส์ วัตสัน (ผู้ร่วมค้นพบ DNA) ก็ยังสนับสนุนวิธีของเธอในเรื่องของญาณทัศน์ และกระบวนการ The Circle

#
4 กุมภาพันธ์ 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548)

*ฟังเพลง Circle ของ เดอะ นิว ซีเกอร์ส ได้จากลิงก์นี้ >>  
http://www.youtube.com/watch?v=BNJcRWEA5bM&feature=related 
**ฟังเพลงThe Circle Game ของ โจนิ มิตเชลล์ ได้จากลิงก์นี้ >>  
http://www.youtube.com/watch?v=CW9jIVrhhT0&feature=related
***ฟังเพลง Circle of Life ของเอลตัน จอห์น ได้จากลิงก์นี้ >>  http://www.youtube.com/watch?v=o8ZnCT14nRc
****ฟังเพลง Will The Circle of Life เวอร์ชั่นของ นิตตี กริตตี เดิร์ต แบนด์ ได้จากลิงก์นี้ >> http://www.youtube.com/watch?v=7bRJLkNqNXI