วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Golden Mermaid


บางทีสิ่งที่เราคุ้นเคยมานาน ก็กลายเป็นสิ่งที่เรามีความรู้น้อยมาก
            ผมคุ้นเคยกับสงขลา คุ้นเคยกับหาดสมิหลา คุ้นเคยกับรูปปั้นนางเงือก มาตั้งแต่เด็ก อาจจะก่อนได้รู้จักนางเงือกในเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ด้วยซ้ำ ประมาณว่าไปสงขลาครั้งแรกก็ได้เห็นนางเงือกแล้ว ได้ปีนขึ้นไปนั่งตักถ่ายรูปด้วยแล้ว

เงือกทองเปรียบเสมือนตัวแทนคนสงขลาคอยต้อนรับผู้มาเยือนหาดสมิหลา
อย่างโอบอ้อมและเป็นมิตรตลอดมา

            แต่ถ้าใครจะมาถามผมว่าเงือกสาวนางนี้ไปสิงสถิตย์อยู่บนหาดทรายสวยแห่งนี้ได้อย่างไร ผมก็คงได้แค่งึมงำตอบส่งๆ ไปว่า “ทางจังหวัดเขาคงสร้างขึ้นมามั้ง”
แผ่นจารึกประวัติการสร้างนางเงือก
            จนเมื่อไปสงขลาครั้งล่าสุด และมีเวลาเอ้อระเหยอยู่ริมหาดเนิ่นนาน ผมจึงได้หยุดอ่านแผ่นประวัตินางเงือก (ซึ่งทำขึ้นมาภายหลัง) อย่างละเอียดอีกครั้ง (และถือโอกาสถ่ายรูปไว้เป็นบันทึกช่วยจำ) แผ่นหินนั้นจารึกข้อความว่า “รูปปั้นนางเงือกนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้อาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่างเป็นผู้ปั้นหล่อจากบรอนซ์รมดำ โดยใช้งบประมาณของเทศบาล 60,000 บาท ตั้งชื่อว่า "เงือกทอง" (Golden Mermaid) เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลามาจนทุกวันนี้
            แผ่นประวัติยังได้อธิบายเรื่องนางเงือกต่อไปว่า “นางเงือกเป็นนางในวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ของ สุนทรภู่ เอกกวีสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352 - 2367) ตามคำบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นั้น นิทานปรัมปราไทยเรื่องหนึ่งมีว่า ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ คืนหนึ่งมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจหนีลงน้ำไป ทิ้งหวีทองคำไว้ ชาวประมงผู้นั้นเฝ้าแต่รอคอย แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย”
ลองนึกภาพว่า ถ้าผมได้อ่านแผ่นจารึกก่อนหน้านี้เมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีก่อน ผมอาจจะอยากรู้ว่าปลัดจังหวัด/นายกเทศมนตรีคนนี้ คิดอย่างไร มีความประทับใจใดกับนางเงือก เป็นเพียงนางเงือกในนิทานปรัมปรา หรือว่ายังโยงใยไปถึงนางเงือกใน “พระอภัยมณี” ดังที่สุนทรภู่ได้รจนาไว้
            “พงศ์กษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย                     
         ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม 
         ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม           
         ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง
         ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด 
         ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง 
         พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง                 
         แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป” 
         แต่กับวัยวันที่เป็นจริง กับภาพเบื้องหน้าที่ผู้คนทุกเพศวัยทยอยกันขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือกแทบไม่ได้ว่างเว้น ทำให้ผมนึกอยากรู้คำตอบว่าตลอด 45 ปีที่ผ่านมา มีคนมาถ่ายรูปกับเงือกทองไปแล้วกี่ล้านหรือกี่สิบล้านคน
            แน่ละว่าเราคงเอา “เงือกทอง” ไปเปรียบกับ Little Mermaid ของเดนมาร์ก ที่กำลังจะมีอายุครบหนึ่งศตวรรษไม่ได้ ทั้งในแง่ของชื่อเสียง สถานะของสิ่งที่มาทีหลัง หรือแม้กระทั่งว่าการแปรเรื่องราวของเงือกสาวในตำนานออกมาเป็นงานประติมากรรมก็ยังอาจได้รับแรงบรรดาลใจมาจากรูปปั้นเงือกน้อยแห่งอ่าวโคเปนเฮเกน แต่ในขณะที่เงือกน้อยดูหม่นหมองและโดดเดี่ยว เงือกทองของเราดูโอบอ้อมและเป็นมิตร
            ระหว่างที่นั่งดูผู้คนมีความสุขกับการเวียนกันขึ้นไปถ่ายรูปคู่กับนางเงือก ผมก็นึกต่อไปว่า อาจารย์จิตร บัวบุศย์ คงปลาบปลื้มที่ผลงานประติมากรรมชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ใกล้ชิดสาธารณชนมากที่สุด เช่นเดียวกับที่คุณชาญ กาญจนาคพันธุ์ คงจะภูมิใจที่มรดกจากความคิดฝันของเขาได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสงขลา เป็นหมุดหมายสำคัญทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย มาตลอดระยะเวลายาวนาน และหวังว่าจะยังคงเป็นเช่นนั้นสืบไป
            ที่ต้องใช้คำว่า “หวัง” ก็เพราะเมื่อปีที่แล้ว เคยมีข่าวว่ามีชาวบ้านนำผ้าสไบไปห่มรูปปั้นนางเงือก เอาพวงมาลัยไปคล้อง แถมยังมีการทาปากสีแดงและเจิมหน้าผากด้วยทองคำเปลวอีกต่างหาก เข้าใจว่าเป็นการแก้บนที่รอดพ้นภัยพายุและน้ำท่วม ยังดีที่ทางเทศบาลนครสงขลาไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ความเชื่อของคนบางกลุ่มแปรสถานะเงือกทองให้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป
            ไม่อย่างนั้นภาพความน่าประทับใจที่เราได้เห็นจากอากัปกิริยาของผู้คนที่ไปถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นนางเงือก ก็อาจจะกลายเป็นภาพความคลั่งไคล้ของผู้คนที่ไปขูดเลขขอหวยและบนบานศาลกล่าว ซึ่งน่าจะมีมากเกินไปแล้วในประเทศนี้
ผมเคยคิดค้างไว้นานเกี่ยวกับเรื่องของนางเงือก ว่าผู้คิดมีแรงบันดาลใจอะไร และมุ่งหวังอะไร แม้จะไม่รู้อะไรมากขึ้นจากการสืบค้นได้เพียงผิวเผินผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่ทุกครั้งที่ผมไปถึงแหลมสมิหลา ผมก็ยิ่งแน่ใจในพลังความคิดที่ยิ่งใหญ่ของนักปกครองคนหนึ่ง
            หากเส้นทางความสำเร็จของนักปกครองหมายถึงความก้าวหน้าจากตำแหน่งปลัดอำเภอ ไปเป็นนายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จนกระทั่งถึงอธิบดี โดยมีตำแหน่งปลัดกระทรวงเป็นปลายทางของความใฝ่ฝัน บุตรชายของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ผู้นี้ก็เดินไปไกลเกือบถึงสุดทางความสำเร็จ ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ที่สุดแล้วผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาและจะอยู่คู่กับเขาไปตลอดกาล ก็คือผลงานที่เขาได้ทำไว้ในขณะดำรงตำแหน่งปลัดจังหวัดสงขลานี้เอง
            ผมนึกภาพข้าราชการหนุ่มวัย 40 เดินทางมารับตำแหน่งปลัดจังหวัดสงขลา และคงจะมีวันใดสักวันหนึ่งในยามที่เขามองดูหาดทรายขาวเนียน ทะเลสาบสีคราม ใคร่ครวญเรื่องเล่าเก่าแก่ของเกาะหนูเกาะแมว แล้วความคิดคำนึงก็ประหวัดถึงเงือกสาวในนิทานปรัมปราที่พ่อเคยเล่าให้ฟัง...
            จากความคิดที่ล่องลอยดั่งปุยเมฆ เกิดกลายมารูปปั้นนางเงือกนั่งแปรงผมยาวสลวยอยู่บนโขดหิน ได้อย่างเหมาะเจาะพอดีกับทุกสิ่งทุกอย่างในบริบทนั้น บนหาดสวย ริมทะเลงาม มีเกาะที่โลดไล่กันในจินตนาการเป็นฉากหลัง ด้วยฝีมือการออกแบบ-ปั้นของศิลปินชั้นครูผู้เคยฝากฝืมือไว้กับพานรัฐธรรมนูญบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวได้ว่าล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากการที่ปลัดหนุ่มได้สร้างโอกาสขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง
            ในปีพ.ศ. 2509 ปลัดจังหวัดคนหนึ่งคงสร้างอะไรแบบนั้นขึ้นมาไม่ได้ในโครงสร้างการบังคับบัญชาของระบบราชการ ภายใต้กรอบการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลกลาง ในขณะที่ขนบปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ปกครองต้องออกไปขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาคธุรกิจเอกชนมาใช้ในโครงงานนอกงบประมาณก็ยังไม่เกิดมี
            แต่ในยุคสมัยเดียวกันนั้น โครงสร้างการปกครองส่วนภูมิภาคเหลื่อมทับอยู่กับการปกครองท้องถิ่น การที่ปลัดจังหวัดหนุ่มได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอีกสถานะ ทำให้เขามีโอกาสได้ขายความคิดฝัน และเงินงบประมาณจำนวน 60,000 บาทที่อนุมัติโดยสภาเทศบาลเมืองสงขลานั้นเองที่ทำให้นางเงือกในความฝันของชาญ กาญจนาคพันธุ์ เป็นความจริงขึ้นมา
            เป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของเราแต่ละคน
#
3 สิงหาคม 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น