วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Jobsless



Credit: Fortune Magazine
วันที่ สตีฟ จ็อบส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิ้ล นั่นหมายความว่าเขาได้พิสูจน์ตัวจนสาแก่ใจตัวเองแล้ว
            ผมเขียนอย่างนั้น เพราะโลกเทคโนโลยี โลกธุรกิจ รวมถึงโลกของผู้บริโภค ล้วนไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในความสามารถ – หรือที่บางคนยืนยันว่าเป็น “อัจฉริยภาพ” – ของ สตีฟ จ็อบส์ มานานแล้ว บ้างก็เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ กลับมาฟื้นชีวิตแอปเปิ้ลด้วย iMac ที่เปลี่ยนโฉมหน้าของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ บ้างก็เมื่อ สตีฟ จ็อบส์ ได้ส่ง iPod ออกมาเปลี่ยนวิธีการฟังเพลงของคนทั้งโลก และบ้างก็เมื่อได้สัมผัสและหลงใหลในโทรศัพท์ฉลาดๆ ที่มีชื่อว่า iPhone
            ปมเงื่อนใดๆ อันอาจจะเหลืออยู่หลังจากนั้น ก็คงมีแต่ปมในใจของเขาเองที่ต้องคลายให้แล้วใจตัวเองเท่านั้น
สตีฟ จ็อบส์ รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่ปี 2003 แต่เข้ารับการผ่าตัดในปีต่อมา เจ็ดปีนับจากนั้นมีข่าวลือเกี่ยวกับสุขภาพของเขาออกมามากมายถึงขั้นที่สำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่งเคยเตรียมข่าวการเสียชีวิตของเขารอไว้เสร็จสรรพ
            ช่วงที่สตีฟลาพักยาวๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2009 โดยมีคำอธิบายว่า ปัญหาสุขภาพของเขาซับซ้อนกว่าที่คิด และเข้ารับการปลูกถ่ายตับในช่วงเดียวกัน ก็เป็นช่วงที่คาดการณ์กันว่าเขาน่าจะวางมือจริงๆ เสียที แต่ก็ไม่ใช่ สตีฟกลับมาทำงานอีกปีครึ่ง ก่อนประกาศลาหยุดยาวอีกครั้งช่วงต้นปีนี้
            ถึงอย่างนั้น ทุกคนก็ยังได้เห็น สตีฟ จ็อบส์ ในงานเปิดตัว iPad 2 เมื่อเดือนมีนาคม และแนะนำบริการ iCloud ด้วยตัวเอง ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
            มองในแง่หนึ่ง สตีฟ จ็อบส์ ได้ดำรงตนเหมือนกับเรื่องที่เขาเล่าในการแสดงปาฐกถาเลื่องชื่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2005 ว่าคติที่เขาอ่านพบตอนอายุ 17 สอนให้เขาใช้ชีวิตแต่ละวันเหมือนกับเป็นวันสุดท้ายของชีวิต คตินี้ช่วยให้เขาเลือก ทำ และละวางสิ่งซึ่งจะไม่มีความหมายอะไร หากวันรุ่งขึ้นเราไม่มีชีวิตอีกต่อไป และเขาก็บอกกับบัณฑิตใหม่ในที่นั้นว่า เวลาของทุกคนมีจำกัด อย่ามีชีวิตเปลืองเปล่าไปกับความคิดคาดหวังของคนอื่น อย่าให้เสียงของคนอื่นมากลบเสียงภายในของเรา
            แต่ในอีกแง่หนึ่ง 24 สิงหาคม 2011 วันที่เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของแอปเปิ้ล อย่างเป็นทางการ เป็น 5 วันหลังจากที่มาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหุ้นตามราคาตลาดของแอปเปิ้ลพุ่งแตะหลัก 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ามูลค่ารวมของหุ้นกลุ่มธนาคารในยูโรโซนจำนวน 32 แห่ง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อสองเดือนก่อนนั้น มูลค่าของแอปเปิ้ลในตลาดหุ้นแซงมูลค่าของไมโครซอฟต์และอินเทลรวมกันไปเรียบร้อย
            ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สาสมใจ สตีฟ จ็อบส์ มากที่สุด
เมื่อปี 1997 ตอนที่ สตีฟ จ็อบส์ เพิ่งกลับมากอบกู้สถานะของแอปเปิ้ลใหม่ๆ และ iMac ยังไม่ได้แสดงอานุภาพ มีคนถาม ไมเคิล เดลล์ ซีอีโอของ เดลล์ คอมพิวเตอร์ ในที่ประชุมแห่งหนึ่งว่า เขาจะทำอะไรอย่างไรถ้าเป็นเจ้าของบริษัทที่กำลังดิ้นรนอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างแอปเปิ้ล
            ไมเคิลตอบว่า “ผมจะปิดบริษัทและคืนเงินให้ผู้ถือหุ้น”
            ที่จริง คำตอบของไมเคิล เดลล์ อาจถือได้ว่าเป็นเพียงการโต้ตอบคำวิจารณ์ของ สตีฟ จ็อบส์ ที่เป็นฝ่ายเปิดฉากวิวาทะก่อนว่า “เดลล์ทำเป็นแค่กล่องสีเบจที่ปราศจากนวัตกรรมโดยสิ้นเชิง” แต่ใครจะเชื่อว่า เมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี และมูลค่าในตลาดหุ้นของแอปเปิ้ลพุ่งขึ้นไปแซงเดลล์ได้สำเร็จ จะมีอีเมล์ลงชื่อ สตีฟ ส่งถึงพนักงานแอปเปิ้ล ใจความตอนหนึ่งว่า “เห็นได้ว่า ไมเคิล เดลล์ ใช้ไม่ได้ในเรื่องทำนายอนาคต ตามราคาหุ้นที่ปิดวันนี้ แอปเปิ้ลมีมูลค่ามากกว่าเดลล์ หุ้นอาจจะขึ้นหรือลงได้ตลอดเวลา และทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไปได้ในวันพรุ่งนี้ แต่ผมคิดว่ามันควรค่าที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้กันสักหน่อยในวันนี้”
            บนฐานคิดของกรณี ไมเคิล เดลล์ นี้เอง ที่น่าสนใจว่า สตีฟ จ็อบส์ รู้สึกอย่างไรกับ บิลล์ เกตส์ และไมโครซอฟต์?
ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้คำตอบนี้มากไปกว่าที่ได้เห็นจากฉากหน้าของการแข่งขันและท้าทายกันระหว่างสองบริษัท สองระบบปฏิบัติการ ซึ่งต่างได้ช่วยกันปฏิวัติยุคสมัยด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC)
            สตีฟ จ็อบส์ กับแอปเปิ้ลเริ่มต้นก่อนในปี 1977 ด้วยเครื่องรุ่น Apple II ที่น่าตื่นตาสำหรับยุคนั้น ตอนที่แอปเปิ้ลเปิดตัวเครื่องนี้ในงานคอมพ์ที่ซาน ฟรานซิสโก บิลล์ เกตส์ ซึ่งก่อตั้งไมโครซอฟต์แล้วและรับงานเขียนซอฟต์แวร์ให้หลายบริษัท แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้พยายามแนะนำตัวกับสตีฟ แต่ว่ากันว่า สตีฟไม่ได้แยแสสนใจเด็กหนุ่มท่าทางเนิร์ดๆ ที่เกิดร่วมปีกับเขา
            บิลล์ เกตส์ เริ่มก้าวที่ประสบความสำเร็จจริงๆ กับการเขียนระบบปฏิบัติการให้คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็ม ในปี 1980 เขาได้ค่าเขียนสิ่งที่เรียกกันว่า PC DOS มา 50,000 ดอลลาร์ แต่ที่สำคัญกว่าคือลิขสิทธิ์ของระบบปฏิบัติการอยู่ในมือบิลล์ เขาแน่ใจว่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นจะต้องเลียนแบบไอบีเอ็ม ซึ่งจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัย MS-DOS ของเขา จากนั้นไมโครซอฟต์ก็เติบโตมาเป็นลำดับ
            แอปเปิ้ลก้าวไกลไปอีกขั้นกับเครื่อง Macintosh ในปี 1984 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วย GUI (Graphic User Intereface) ที่ได้มาจากนวัตกรรมที่ถูกมองข้ามของ
ซีร็อกซ์ ปีถัดมา–ด้วยไลเซนส์จากแอปเปิ้ล ไมโครซอฟต์ปรับโฉม MS-DOS เข้าสู่ยุค GUI บ้าง ภายใต้ชื่อ Windows 1.0 ในขณะที่ซอฟท์แวร์ชุดใช้งานในชื่อ Microsoft Works ซึ่งประกอบด้วยเวิร์ดโพรเซสเซอร์ สเปรดชีต และดาต้าเบส ก็เริ่มแนะนำตัวสู่ตลาดผู้ใช้ผ่านทางเครื่อง Macintosh
            ยุคถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างแอปเปิ้ลกับไมโครซอฟต์ยุติลงด้วยคดีความในปี 1988 เมื่อไมโครซอฟต์พัฒนา Windows 2.0 ออกมาเขย่าความล้ำหน้าในเชิงกราฟิคของ Macintosh ซึ่งทำให้แอปเปิ้ลยื่นฟ้องว่าไมโครซอฟต์ละเมิดลิขสิทธิ์ คดียืดเยื้ออยู่ 4 ปี ก่อนจบลงด้วยศาลสั่งยกฟ้อง แต่นั่นก็เป็นช่วงหลังจากที่สตีฟ จ็อบส์ ถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง (ปี 1985) และแอปเปิ้ลกำลังดิ้นรนหาทางอยู่รอดในยุคที่ไมโครซอฟต์กำลังเติบโตขึ้นมาสวนทางกัน
            แม้จะไม่ใช่คู่ความกันโดยตรง แต่ไมโครซอฟต์ –  เช่นเดียวกับคู่แข่งอื่น – ถูกสตีฟวิจารณ์เสมอว่า “ขาดความคิดสร้างสรรค์” ครั้งหนึ่งเขาให้สัมภาษณ์ทางรายการทีวีว่า “ปัญหาเดียวของไมโครซอฟต์คือพวกเขาไม่มีรสนิยม พวกเขาไร้รสนิยมโดยสิ้นเชิง และผมไม่ได้หมายถึงเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรอกนะ ผมหมายถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างเช่น พวกเขาไม่เคยมีความคิดที่แท้จริงเป็นของตัวเอง ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาขาดคุณค่าทางวัฒนธรรม” แต่หลังจากนั้นก็เป็นที่รู้กันว่าสตีฟโทรไปขอโทษบิลล์ เขาบอกว่าแม้เขาจะเชื่อในทุกคำที่พูด แต่เขาก็รู้สึกตัวว่าไม่ควรพูดต่อสาธารณชน
            อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สตีฟ จ็อบส์ต้องไปบุกเบิกใหม่กับเน็กซ์ท และพิกซาร์ ไมโครซอฟต์ก็เติบโตแซงหน้าแอปเปิ้ลไปอย่างรวดเร็ว ปี 1987 บิลล์ เกตส์ ในวัย 32 ได้ชื่อว่าเป็น “Youngest self-made billionaire” และไต่อันดับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งกลายเป็นคนรวยที่สุดในโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ 13 ปีซ้อน ในช่วงปี 1995-2007
            ถ้าสตีฟจะรู้สึกริษยาในความมั่งคั่งและความสำเร็จของบิลล์ เกตส์ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เขาคงไม่เห็นบิลล์ เกตส์ เป็นศัตรู ปีที่สตีฟกลับไปกอบกู้แอปเปิ้ล และยังไม่มีใครคิดว่าเขาจะทำอะไรได้ (หลายคนคิดเหมือนไมเคิล เดลล์) แต่บิลล์ เกตส์ อนุมัติให้ไมโครซอฟต์ซื้อหุ้นแอปเปิ้ลแบบไม่มีสิทธิ์โหวต มูลค่า 150 ล้านเหรียญ พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาซอฟต์แวร์ชุด Microsoft Office สำหรับผู้ใช้แม็คต่อไป ในขณะที่ข้อแลกเปลี่ยนมีเพียงแค่ Internet Explorer จะเป็นบราวเซอร์ที่ติดมากับเครื่องแม็ค การสนับสนุนของบิลล์ แม้ว่าในเวลาอีกไม่นานนักจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ายิ่งสำหรับไมโครซอฟต์ แต่ ณ เวลานั้น ความเชื่อมั่นมีค่าเหนือทุกอย่าง และเป็นความเชื่อมั่นของบิลล์ เกตส์นั่นเองที่ช่วยให้สตีฟ จ็อบส์ได้ผาดโผนไปกับแนวคิด Think Different โดยไม่ต้องห่วงหลัง
            แอปเปิ้ลประสบความสำเร็จมาเป็นลำดับ นับจาก iMac ในปี 1998 ซึ่งเป็นเครื่องแม็คที่ขายเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ แอปเปิ้ลฟื้นและเติบโตอย่างน่าทึ่ง แม้ในโลกของ PC เครื่อง Macintosh จะยังไม่สามารถโจมตีป้อมปราการอันแข็งแรงของพันธมิตร Wintel – ซึ่งหมายถึงคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟต์และบนไมโครโพรเซสเซอร์ของอินเทล แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของสตีฟอยู่ที่นวัตกรรมในรูปของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ที่สร้างระบบนิเวศใหม่ของตัวเองขึ้นมารองรับ และครอบครองเป็นอาณาจักรของตัวเองอย่างเบ็ดเสร็จ
            iPod เป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบ ก่อนหน้านั้นโลกรู้จักไฟล์เพลงสกุล mp3 ธุรกิจดนตรีปวดเศียรเวียนเกล้ากับการละเมิด แอปเปิ้ลสร้าง iPod เครื่องเล่นเพลงคุณภาพดีออกมาพร้อมซอฟท์แวร์ iTune ที่ใช้ในจัดการไฟล์เพลงเบ็ดเสร็จ และเปิดไปสู่การซื้อขายเพลงที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องจากต้นสังกัด
หลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรหยุด สตีฟ จ็อบส์ และแอปเปิ้ล ได้อีกต่อไป ในยุคสมัยที่เริ่มเรียกกันว่า “ยุคหลัง PC”
แม้สตีฟ จ็อบส์จะเริ่มปี 2011 ด้วยการลาพักยาวอีกครั้งเพื่อดูแลสุขภาพ แต่นี่ก็เป็นปีที่ดีที่สุดของเขา
            ตามข้อมูลของ Fortune 500 ปีล่าสุด แอปเปิ้ลติดอันดับที่ 35 มีรายได้ 65,225 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากปี 2009 ถึง 78.5% แซงไมโครซอฟต์ซึ่งอยู่ที่อันดับ 38 แม้รายได้จะไม่ห่างกันมากนัก แต่มูลค่าหุ้นของแอปเปิ้ลในตลาดสูงกว่าไมโครซอฟต์ไปตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อน และในขณะที่มูลค่าของไมโครซอฟต์ยังมีแนวโน้มลดลง มูลค่าของแอปเปิ้ลกลับร้อนแรงไม่หยุด จนในที่สุดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเอ็กซอนเท่านั้น
            ภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนก็คือ ภายใต้การเสริมทัพของผลิตภัณฑ์อย่าง iPhone และ iPad แอปเปิ้ลเป็นบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นสูงกว่าไมโครซอฟต์ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับมูลค่าไมโครซอฟต์รวมกับอินเทล หรือไมโครซอฟต์รวมกับเอชพีและเดลล์ ก็ยังน้อยกว่าแอปเปิ้ลบริษัทเดียว
            ดังนั้นเอง นอกเหนือไปจากเหตุผลที่ว่าเขาสามารถวางใจให้คนอย่างทิมโอธี คุก เป็นผู้นำแอปเปิ้ลในยุคต่อไป นอกเหนือไปจากเหตุผลที่เขามีคนอย่าง โจเอล โพโดลนี จากเยล มาดูแลโครงการ Apple University ที่พร้อมจะถ่ายทอดแนวคิด-บทเรียน-ประสบการณ์ของเขาทั้งหมดให้กับคนของแอปเปิ้ลรุ่นต่อไปได้เรียนรู้ และนอกเหนือไปจากเหตุผลเขามีคนกลุ่มที่เรียกกันว่า Top 100 ที่พร้อมจะทำงานเป็นทีมเดียว
            อีกเหตุผลที่สตีฟ จ็อบส์ สามารถวางมือได้อย่างปลอดโปร่งจริงๆ ก็เพราะเขาได้นำแอปเปิ้ลมาสู่จุดสูงสุด โดยไม่เหลืออะไรให้ต้องพิสูจน์ ไม่มีเงื่อนปมใดให้ต้องคลาย   
#
5 กันยายน 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2554)