วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศึกษาจากมาเฟีย

‘การจัดการด้วยข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้’ 
โดย วิวิธ วุฒิวีรวรรธน์*
หนังสือเกี่ยวกับการบริหาร-จัดการมากมาย แต่บ้างก็เป็นเพียงทฤษฎีทั้งแท่งที่น่าเบื่อหน่ายเกินกว่าจะอ่านสำหรับนักธุรกิจผู้เคยศึกษามาแล้วจากห้องเรียน บ้างก็เป็นเชิงประยุกต์ที่อิงประสบการณ์ของนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงบางคนที่แห้งแล้งเกินไป เป็นประสบการณ์ในสถานการณ์ที่พ้นสมัยไปแล้วหรือเป็นเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างที่ไร้ประโยชน์ บ้างเป็นการคิดสร้างสถานการณ์ขึ้นมาทดสอบวิจารณญาณของนักบริหารที่ชวนให้งุนงงและเสียเวลาเปล่าสำหรับการปรับใช้ในสถานการณ์จริง และบ้างก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสามัญสำนึก ถ้าเพียงแต่แต่ละคนจะไม่ละทิ้งมันไป
            ความต้องการหนังสือในแนวนี้ แต่ดีกว่านี้ มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ได้รับการเสนอออกมาเป็นเพียงแง่ของปริมาณ มีหนังสือเพียงไม่กี่เล่มที่สามารถเป็นกรณีศึกษาอันน่าตื่นเต้น ให้แนวคิดใหม่ๆ และสนุกที่จะอ่าน ซึ่งบรรจุเอาเนื้อหาแห่งศิลปะการจัดการที่เต็มไปด้วยไหวพริบและความชาญฉลาดมาถ่ายทอดให้ซึมซับรับเอาไว้ใช้ประโยชน์ได้ ในจำนวนหมื่นที่ออกมาอาจนับได้เพียงสิบ และบางเล่มก็ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย แม้ว่าจะเคยมีผู้ค้นพบคุณค่าของมันมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม
            The Godfather คือหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการฝึกอบรมด้านการบริหารบางคน แนะนำให้นักศึกษาของตนใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบ มันอาจจะเป็นหนังสือเล่มที่เนื้อหาเต็มไปด้วยเรื่องราวของการท้าทายกฎหมายและจริยธรรม แต่ในมุมมองของคนเหล่านี้ มันคือตำราทางการจัดการที่ทรงคุณค่ามากที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เขียนกันมา
            ทำไมนิยายอาชญากรรมชิ้นเยี่ยมของ มาริโอ พูโซ จึงกลายเป็น “หนังสือแนะนำ” จากผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร ทำไม เรดี จี บันน์ และ แอนโธนี เจ. ทัสคา จึงบอกว่านักบริหารควรศึกษาจากมาเฟีย รวมทั้งคำเยินยอว่ามันคือ “ธุรกิจที่มีการจัดการที่ดีที่สุดในโลก” คำตอบย่อมมีเหตุผล แม้งานของคนเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แม้วิธีการหลายอย่างที่ใช้เป็นสิ่งผิดศีลธรรม แต่ความจริงก็คือ องค์กรนอกกฎหมายของพวกซิซิเลียน (และอิตาเลียน) ที่เคยมีอยู่จริงในอเมริกา (และมาริโอ พูโซ ได้นำมาจำลองลงในเรื่องราวของเขาอีกต่อหนึ่งบนฐานความเป็นจริงนั้น) มีกิจการที่ทำเงินได้ปีละ 10-40 พันล้านเหรียญสหรัฐในยุคที่รุ่งโรจน์ที่สุดตอนทศวรรษ 1960 ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเจเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งได้รับการจัดเป็นอันดับที่หนึ่งใน 500 กิจการที่ใหญ่ที่สุดโดยนิตยสารฟอร์จูน ในเวลานั้นก็ยังทำเงินได้เพียงปีละ 2.8 พันล้านเหรียญ พวกมาเฟียซิซิเลียนทำอย่างนั้นได้อย่างไร จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจสำหรับคำตอบ
            สำหรับคนทั่วไป The Godfather อาจเป็นเพียงนวนิยายที่ตื่นเต้นจนวางไม่ลง ให้รสชาติความบันเทิงได้อย่างถึงแก่น และสามารถแสดงภาพของขบวนการมาเฟียนอกกฎหมาย ได้ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยมีการเขียนกันมา แต่นอกเหนือจากอรรถรสแบบนวนิยาย มาริโอ พูโซรู้ดีว่าประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอคืออะไร และจุดสำคัญก็คือวิธีการสร้างอาณาจักรของครอบครัวคอร์เลโอเนด้วยวิถีทางที่ไม่มีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอื่นใดจะทำได้ โดยผ่านทางบุคลิกภาพผู้นำ โดยไหวพริบในเชิงธุรกิจ และการตัดสินใจอย่างรอบคอบและชาญฉลาด เขาคือ “ผู้ที่ทุกคนจะมาขอความช่วยเหลือ และไม่เคยผิดหวังกลับไป” เขาคือ ดอน วีโต คอร์เลโอเน

มาเฟียไม่ใช่แก๊งโจร
            สำหรับดอน วีโต คอร์เลโอเน เขาจะชั่งน้ำหนักทางเลือกแต่ละทางก่อนเสมอ เขาสามารถที่จะแสวงหาโอกาสให้กับตัวเอง ไม่ใช่รอคอยให้โอกาสมาถึง แล้วจากนั้นเขาก็จะทำการชักชวนเกลี้ยกล่อมผู้อื่น “ด้วยข้อเสนอที่เอ็งปฏิเสธไม่ได้” เขาฉับไวเสมอในการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับคู่ปรับ แม้ว่ามันอาจจะหมายถึงสงครามระหว่างแก๊ง และในที่สุดเมื่อเวลาของเขากำลังจะหมดไป เขาก็นำเอาลูกชายที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดีขึ้นมาสืบทอดอำนาจแทน
            พูโซสร้างวีโต คอร์เลโอเนขึ้นมาจากชีวิตจริงของครอบครัวมาเฟียนิวยอร์ก ซึ่งอาณาจักรแห่งอำนาจอิทธิพลนั้นยั่งยืนอยู่กว่าครึ่งศตวรรษ แน่นอน มาเฟียเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแก๊งโจรธรรมดา การใช้อาวุธและความรุนแรงอาจเป็นวิถีทางหนึ่ง แต่วิธีการจัดองค์การ วิธีการจัดการ และหลักการทางธุรกิจของพวกเขานั่นต่างหากที่ทำอาณาจักรให้ยั่งยืนและทรงพลัง
            วิธีการของพวกมาเฟียในเชิงธุรกิจอยู่เหนือกาลเวลาในยุคสมัยนั้นไปไกลทีเดียว ดไวท์ สมิธ จูเนียร์ อดีตประธานกลุ่มวิเคราะห์องค์การแห่งแคมบริดจ์, แมสสาชูเส็ตต์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านองค์การอาชญากรรม บอกว่า “เมื่อเราเริ่มศึกษาเกี่ยวกับพวกมาเฟียในระหว่างการสืบสวนโดยสภาสูงช่วงต้นทศวรรษหกสิบ สังคมของเรายังคงหมกมุ่นอยู่กับความคิดเรื่องโครงสร้างบริษัท เรื่องนักจัดองค์การ แต่เรากลับพบว่าพวกองค์การนอกกฎหมายสามารถจัดองค์การได้โดยไม่ต้องมีโครงสร้างองค์การมาคอยถ่วง ด้านหนึ่งพวกมาเฟียอาจเป็นเหมือนเคาบอยตะวันตกสมัยก่อน ที่เพียงมีปืนแล้วออกแสวงโชค แต่พวกเขาสามารถจัดการกับธุรกิจในแบบ ตกลงกับข้า แล้วข้าจะสร้างตลาดให้เอ็ง หามาว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเราจะจัดการในเรื่องข้อตกลงทั้งหมดที่จะตรงตามความต้องการเหล่านั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จ”
            การตอบสนองความต้องการของตลาด คือสิ่งที่ทำให้พวกมาเฟียยิ่งใหญ่อยู่ในอเมริกา ความต้องการในเวลานั้นคือเหล้า เวลาคือช่วงที่มีกฎหมายห้ามสุรา บริการของมาเฟียคือการค้าเหล้าเถื่อน ด้วยการทำธุรกิจเช่นนี้ ทำให้อัล คาโปนกลายเป็นราชาแห่งเมืองชิคาโก ทำเงินได้กว่า 80 ล้านเหรียญต่อปี ต่อมาพวกมาเฟียก็ได้ปรับเอาหลักการนี้ไปใช้ในกิจการผิดกฎหมายอื่นๆ อีก ลัคกี ลูเชียโนเป็นตัวอย่างหนึ่ง มีกิจการซ่องโสเภณีกว่า 200 แห่งในนิวยอร์ก และเขาสามารถรวมมันเข้าด้วยกันเป็นคาร์เท็ลภายใต้ข้อตกลงที่จะไม่มีการแข่งขันกันเอง ในขณะที่ธุรกิจเหล่านี้ของตนเติบโต พวกมาเฟียมีสายตายาวไกลออกไปพอที่มองเห็นว่าในวิถีธุรกิจไม่สามารถวางใจในผลิตภัณฑ์ใดเพียงอย่างเดียวได้ และเขาก็มุ่งหน้าสู่ธุรกิจอื่น มีผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติม ในการศึกษาจากผู้นำมาเฟียที่เข้าร่วมในการประชุมอะปาลาชินที่อื้อฉาวเมื่อปี 1957 (ซึ่งตำรวจสามารถเข้ากวาดล้างและจับกุมตัวแทนมาเฟียจากหลายกลุ่มได้สำเร็จ) เปิดเผยว่าธุรกิจของมาเฟียมีมากมาย และส่วนใหญ่ถูกกฎหมาย นับตั้งแต่กิจการตู้ขายของแบบหยอดเหรียญ, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, การขนส่ง, ร้านขายของชำ, ภัตตาคาร, การนำเข้าน้ำมันมะกอก และอีกมากกว่ามาก
            กิจการเหล่านี้เป็นต้นแบบของความคิดในการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในอเมริกาในยุคต่อมา นั่นคือ “การให้สิทธิ” หรือ “License” โฮเวิร์ด อบาดินสกี ประธานสมาคมระหว่างประเทศเพื่อศึกษาองค์การอาชญากรรม ให้ความเห็นว่า “มันเหมือนแม็คโดนัลด์มากกว่าไอบีเอ็ม สมาชิกจะได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินกิจการของตัวเอง”
            บรรดาที่ปรึกษาของแม็คโดนัลด์จะคอยให้คำปรึกษาอย่างถี่ถ้วนแก่ลูกจ้างของตนในการออกไปเปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์โดยได้รับอนุญาตจากบริษัท ในกรณีของพวกมาเฟีย “เจ้านายใหญ่” จะเป็นคนกำหนดจำนวนร้านค้าที่จะมีได้ในกิจการแต่ละประเภท มีการกำหนดข้อห้ามที่แน่นอนในกิจการแต่ละอย่าง (เช่นการค้าฝิ่นเป็นข้อห้ามสำหรับครอบครัวมาเฟียชิคาโก) และให้การช่วยเหลือสมาชิกเป็นอย่างดี แม้ว่านายใหญ่จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจของสมาชิกแต่ละคน แต่เขาจะได้รับส่วนแบ่งเพื่อเป็นการแสดงถึงความเคารพและจงรักภักดี
            ในด้านกลับ นายใหญ่ก็จะให้บริการบางอย่างแบบเดียวกับที่บริษัทเจ้าของสิทธิทั้งหลายทำกัน เขาจะกำหนดพื้นที่ให้ธุรกิจอันนั้น ทำให้แน่ใจได้ว่าธุรกิจของสมาชิกสองคนจะไม่ต้องต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์กันเอง (ตรงนี้อบาดินสกีเคยตั้งคำถามว่า “แม็คโดนัลด์ก็เคยกำหนดไม่ใช่หรือว่าร้านแม็คโดนัลด์สองร้านต้องอยู่ห่างกันเท่าไร”) นายใหญ่ยังอาจจะติดต่อบางเรื่องให้เพื่ออำนวยความสะดวก จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นให้ และ “ให้ความคุ้มครอง” ที่เหลือเป็นสิ่งที่สมาชิกจะดำเนินการเอง

การวางรากธุรกิจ
            โจเซฟ วาลากี อดีตมาเฟียระดับนำเปิดเผยว่าเขาเริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจสล็อตแมชีนได้อย่างไร ภายใต้การบริหารของนายกเทศมนตรี เจมส์ วอล์คเกอร์ หัวหน้ามาเฟียท้องถิ่นชื่อแฟรงค์ คอสเทลโล ได้ทำให้นิวยอร์กเป็นดงสล็อตแมชีนได้สำเร็จ วาลากีอยากจะเป็นเจ้าของเครื่องสล็อตแมชีนบ้าง และเขาได้รับอนุญาตให้มีได้ 20 เครื่อง นั่นไม่ได้หมายความว่าวาลากีได้เครื่องไป 20 เครื่อง แต่เป็นสติกเกอร์ 20 ใบจากคอสเทลโล เพื่อเอาไปติดที่เครื่องซึ่งเขาต้องจัดหาเอง เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกว่าเครื่องเหล่านั้นอยู่ในความคุ้มครองของคอสเทลโล วาลากีต้องจัดการกับการเงินในกิจการของตัวเอง เลือกสถานที่ที่จะตั้ง และขออนุมัติ แล้วจ้างพนักงานเพื่อให้บริการ
            อะไรจะเกิดขึ้นถ้ากิจการเหล่านี้มีปัญหา ในกรณีของวาลากี งานของเขาล้มเหลวและขาดทุน ดังนั้นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งในเวลานั้นคือ ลัคกี ลูเชียโน ได้ส่ง “ผู้ควบคุม” มาช่วยดูแลและทำให้ฐานะการเงินสมดุล ผู้ควบคุมจะได้ 35 เปอร์เซนต์จากรายได้แต่ละวัน ธุรกิจของวาลากีดีขึ้น ผู้ควบคุมทำมันได้ดี และนายใหญ่ก็ได้ส่วนแบ่งมากขึ้น ทุกคนได้กำไร ไม่มีใครขาดทุน
            มีโอกาสสำคัญอยู่สองอย่างที่ “ครอบครัว” จะหยิบยื่นให้สมาชิก คือ การได้เข้าร่วมในกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในรูปคล้ายสหกรณ์ และได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจผูกขาดที่ครอบครัวมาเฟียได้สร้างขึ้นมา เนื่องจากครอบครัวมาเฟียมีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวาง สมาชิกที่ได้โอกาสนั้นจึงสามารถเลือกได้ว่าธุรกิจของเขานั้นจะเข้าร่วมในกลุ่มธุรกิจใดได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างเช่น สมาชิกของครอบครัวที่มีร้านขายเนื้อสัตว์ก็จะสามารถได้สิทธิในการส่งเนื้อให้กับภัตตาคารของสมาชิกคนอื่น พวกที่มีกิจการขนส่งก็จะทำหน้าที่ขนของให้พวกที่ค้าเหล้าเถื่อน แน่นอนว่า ธุรกิจของสมาชิกทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมให้สนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี
            ครอบครัวยังช่วยสมาชิกในการสร้างการผูกขาดขึ้นมาอีกด้วย “ในวงจร จุดหมายอย่างหนึ่งของครอบครัวคือการสร้างการผูกขาดขึ้นมาเท่าที่มันจะสามารถเป็นไปได้” โจเซฟ โบนานโน อดีตหัวหน้าครอบครัวมาเฟียชั้นนำหนึ่งในห้าครอบครัวของนิวยอร์กเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ A Man of Honor “ถ้ามีคนนอกมาเปิดร้านเบเกอรี่อยู่ใกล้กับร้านเบเกอรี่ของสมาชิกครอบครัว คนของครอบครัวมีสิทธิที่จะพยายามขับไล่เจ้าของร้านคู่แข่งไปให้พ้นจากธุรกิจนั้น หรือไม่ก็พยายามทำความตกลงกันให้ได้ในบางเรื่อง สิ่งที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่ในสายตาคนนอก มันเป็นเพียงการปกป้องตัวเองเมื่อมองจากสายตาของคนใน
            การผูกขาดแบบนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงธุรกิจอื่นของสังคมเสรีอย่างอเมริกาในเวลานั้น ในปี 1952 จึงเริ่มปรากฏให้เห็นในธุรกิจที่ถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก โดยกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 29 บริษัท รวมทั้งบริษัทใหญ่อย่าง เจเนอรัล อีเล็คทริค และ เวสติงเฮาส์ ได้ร่วมกันกำหนดราคาสินค้าเป็นมาตรฐานขึ้นมา และรวมกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำความตกลงร่วมกันที่จะไม่แข่งขันและตัดราคา ในการให้การต่อสภาสูง ผู้บริหารของบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งถูกอ้างถึงคำพูดของเขาว่า “เราแต่ละคนได้รับคำแนะนำให้กำหนดราคาโดยผู้มีอำนาจสูงสุดในแต่ละบริษัท ซึ่งในจุดนี้เขาเห็นว่าการกำหนดราคามาตรฐานคือความรับผิดชอบของเขา” ดไวท์ สมิธ ตั้งข้อสังเกตว่า “คำให้การของพวกเขา แบบแผนความคิดและการกระทำเปรียบเทียบได้กับที่สมาชิกมาเฟียให้การกับเราเมื่อปีก่อน”

ลำดับชั้นในองค์กร
            ถ้านำเอาโครงสร้างขององค์กรมาเฟียมาเปรียบเทียบกับโครงสร้างองค์กรธุรกิจ จะเห็นข้อแตกต่างอะไรบ้าง อย่างแรกก็คือ มันมีความซับซ้อนน้อยกว่า และไม่มีขั้นตอน-ความล่าช้าแบบระบบราชการหรือองค์การธุรกิจใหญ่ๆ บนยอดสุดคือนายใหญ่ รองลงมาจากเขาคือหัวหน้าระดับรอง หรือ “คาโปเรจิเม” ซึ่งมีหน้าที่คล้ายเป็นผู้จัดการในแต่ละส่วนงาน ต่ำลงไปอีกชั้นหนึ่งคือพวก “คาโป” ซึ่งอาจเปรียบได้กับทหารระดับนายร้อยซึ่งคุมกำลังแต่ละหน่วย นอกจากนั้นเป็นพวกทหารธรรมดา นี้เป็นการจัดลำดับชั้นตามสถานะและอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ใช่ฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะอันที่จริงแล้วพวกทหารระดับล่างสุดอาจจะทำเงินได้มากกว่าพวกคาโปที่อยู่เหนือพวกเขาขึ้นไปก็ได้ ถ้าธุรกิจส่วนตัวของเขาประสบความสำเร็จอย่างดี
            แต่ละคนในทุกลำดับชั้นมักมีสองบทบาท ส่วนใหญ่ดูเหมือนกับนักธุรกิจอิสระ แต่เมื่อนายใหญ่เรียกพวกเขามา พวกเขาจะทำหน้าที่รับใช้ครอบครัวอย่างเต็มกำลัง บางตอนจากหนังสือ The Godfather แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบนี้ได้อย่างดีว่ามันดำเนินไปอย่างไร “ระหว่างหัวหน้าครอบครัว คือ ดอน คอร์เลโอเน ผู้กำหนดนโยบาย กับผู้ปฏิบัติงานในระดับต่างๆ ตามคำสั่งของดอน แบ่งออกเป็นสามระดับ โดยวิธีนี้จะไม่มีอะไรโยงใยไปถึงหัวหน้าได้เลย เว้นเสียแต่คอนซีลโยรี (หมายถึงตำแหน่งที่ปรึกษาของดอนจะทรยศ) ในเช้าวันอาทิตย์นั้น ดอน คอร์เลโอเนออกคำสั่งไปอย่างชัดเจนว่าควรจะทำอย่างไรกับเจ้าหนุ่มสองคนที่ทำร้ายลูกสาวของอเมริโก โบนาเซรา แต่เขาออกคำสั่งนั้นเป็นการส่วนตัวกับทอม เฮเจน ต่อมาในวันเดียวกัน เฮเจนก็สั่งต่อกับคลีเมนซา เป็นการส่วนตัวเหมือนกัน จากนั้นคลีเมนซาบอกให้เปาลี กัตโตลงมือปฏิบัติการ เปาลี กัตโตกับคนของเขาจะไม่รู้เลยว่าทำไมจะต้องทำงานชิ้นนี้ หรือว่าใครคือคนสั่งตั้งแต่แรก การเชื่อมโยงกันแต่ละจุดในสายงานแบบนี้จะทำให้ดอนรู้ได้ว่าใครคือคนทรยศ และถึงแม้ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้น แต่มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ ทางแก้สำหรับเหตุการณ์ทุกอย่างนั้นก็เป็นที่รู้กัน ตัวเชื่อมที่จุดนั้นเท่านั้นที่จะต้องหายไป”
            ไม่เหมือนกับผู้บริหารสูงสุดในหน่วยงานธุรกิจอื่น นายใหญ่ของมาเฟียเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ เขาสามารถกระทำการใดๆ ได้ทันที และตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่ได้รับผิดชอบหรือผูกพันกับใครในทางการงาน ไม่มีคณะกรรมการมาพิจารณาอนุมัติ ไม่มีการประชุมกรรมการบริหาร ไม่มีความล่าช้าเฉื่อยชาตามธรรมชาติขององค์กรใหญ่ เขาคือผู้กุมอำนาจสูงสุด เป็นจุดรวมของข่ายงานชั้นยอดในตัวเอง แต่อำนาจที่แท้จริงของเขานั้นไม่ได้มาจากโครงสร้างองค์กรของเขา หากมาจากความยินยอมพร้อมใจและการยอมรับนับถือของสมาชิก และการสร้างใยแห่งหนี้บุญคุณขึ้นมา ดอน วีโต คอร์เลโอเน ของมาริโอ พูโซ เป็นดอนที่ “สะสมการกระทำดีๆ เฉกเช่นที่นายธนาคารสะสมพันธบัตร” และเป็นคนที่มองไกลไปถึงอนาคตข้างหน้าเสมอ
            “ดอน วีโต คอร์เลโอเน ช่วยเหลือทุกคน... และมันเป็นไปโดยธรรมชาติเมื่อคนอิตาเลียนเหล่านี้รู้สึกงุนงงและสับสนว่าจะเลือกใครเป็นตัวแทนพวกเขาในสภาของรัฐ เทศบาล รัฐสภา พวกเขาจะมาขอคำแนะนำจากเพื่อนของพวกเขา-ดอน คอร์เลโอเน ผู้เป็ก็อดฟาเธอร์ของพวกเขา ดังนั้นเขาจึงกลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองที่หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องมาขอคำปรึกษา เขารวบรวมอำนาจเหล่านี้ไว้ด้วยความเฉลียวฉลาดอย่างรัฐบุรุษผู้เห็นการณ์ไกล โดยการช่วยเด็กฉลาดจากครอบครัวอิตาเลียนที่ยากจนให้เข้าวิทยาลัย เด็กเหล่านั้นซึ่งต่อมาจะได้กลายเป็นทนายความ เป็นผู้ช่วยอัยการ หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษา เขาเตรียมการสำหรับอนาคตแห่อาณาจักรของเขาด้วยการมองการณ์ไกลเช่นเดียวกับบรรดาผู้นำประเทศผู้ยิ่งใหญ่”
            บุคคลที่จะขึ้นไปได้ถึงตำแหน่งสูงสุดในลำดับชั้นขององค์การมาเฟียไม่ใช่คนที่ร่ำรวยที่สุด แต่เป็นคนที่ข่ายงานกว้างขวางที่สุด นั่นคือวิธีที่อัล คาโปนขึ้นไปถึงจุดที่เขาเป็นอยู่ได้ ในหนังสือชื่อ Honor Thy Father เกย์ ทาลีส เขียนไว้ว่า ไม่มีซิซิเลียนคนไหนที่เปรียบความสามารถด้านการจัดองค์กรกับคาโปนได้ สายงานทางการเมืองของเขามีทั่วอิลลินอยส์ และความคุ้นเคยส่วนตัวของเขากับหัวหน้ามาเฟียอื่นๆ ก็มีอยู่ทั่วประเทศ”
            “เราสามารถสรุปโครงสร้างขององค์กรอาชญากรรมแบบนี้ได้ว่าเป็นโครงข่ายของความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์” โฮเวิร์ด อบาดินสกีให้ความเห็น “นายใหญ่จะทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์แก่ลูกน้องของเขา และลูกน้องของเขาก็จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป มันเป็นสถานการณ์เดียวกับในหน่วยงานใหญ่ๆ ของอเมริกาขณะนี้ แม้ว่าจะต่ำระดับลงมา ผู้บริหารองค์การต่างๆ จะให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ตกลงกันในเวลาที่พวกเขาออกไปเล่นกอล์ฟ และสามารถขอความช่วยเหลือกันได้ในเวลาที่เขาต้องการ”
            ผู้นำมาเฟียไม่ต้องการให้ตัวเขาถูกเปรียบเทียบกับบรรดานายใหญ่หรือผู้บริหารขององค์กรธุรกิจทั่วไป หรือให้งานของพวกเขาถูกเปรียบกับงานของบริษัทต่างๆ พวกเขาชอบใช้คำว่า “ครอบครัว” และตัวเขาคือ “ฟาเธอร์” หรือ “ก็อดฟาเธอร์” และเช่นเดียวกับพ่อทุกคน ก็อดฟาเธอร์ต้องการความจงรักภักดี “ผมไม่ได้เงินจากการเป็นฟาเธอร์” โจเซฟ โบนานโนบอก “แต่ที่ผมได้ชดเชยก็คืออิทธิพล และความเคารพ – ซึ่งมันช่วยให้หลายสิ่งหลายอย่างเป็นไปได้สำหรับผม สิ่งสำคัญก็คือเกียรติยศอันนี้ ไม่ใช่การใช้กำลังบังคับ ที่ช่วยให้ผมสามารถสั่งการต่างๆ ได้”
            คนเป็นฟาเธอร์ได้จะต้องเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ดี “เขาจะต้องเป็นคนที่รู้ครอบจักรวาล” โบนานโนอธิบาย “เขาต้องตกลงกับคนทุกประเภท ทั้งในครอบครัวและและข้างนอก ทั้งกับคนที่รู้เหตุผลและคนที่เข้าใจเพียงการใช้กำลัง เหมือนประมุขแห่งรัฐ ฟาเธอร์จะต้องช่ำชองในการใช้วิธีการทูตมากเท่าๆ กับการใช้กำลัง”
            ฟาเธอร์ใช้อำนาจของเขาโดยอาศัยความกลัว ความเคารพ และประเพณี ประเพณีของคนเหล่านี้สร้างรูปแบบความจงรักภักดีสูงสุดอย่างที่ทุกหน่วยงานธุรกิจไม่มีวันจะได้มา นิค ชิอาร์คาส รองหัวหน้าคณะที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการด้านการสืบสวนของสภาสูงให้คำอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “ยกตัวอย่างว่ามีนักจัดองค์กรคนหนึ่งมาบอกผมว่า เฮ้ นิค เราต้องการให้แกไปพัวพันกับสหภาพนี้ และเราพร้อมจะจ่ายเงินก้อนใหญ่สนับสนุนแก มีการประชาสัมพันธ์ให้แก และเรายังพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้แกเข้าไปในนั้นแล้วถ้าเกิดมีใครสักคนบอกว่า ทำไมต้องนิค ทำไมไม่ใช่ข้านั่นมันจบเลยทันที แต่สำหรับพวกมาเฟียจะไม่เป็นอย่างนี้ เพราะพวกเขารู้ว่าครอบครัวต้องมาก่อน”
            ตอนที่อัลเฟรด พี. สโลน จูเนียร์ ได้เป็นประธานของเจเนอรัล มอเตอร์ส มีคำถามว่าต้องอาศัยอะไรบ้างในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดของจีเอ็ม เขาตอบว่า “โดยธรรมชาติแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงสุด มีพลังผลักดัน และพร้อมที่จะทำงานหนัก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เขาต้องพร้อมที่จะจ่ายไปให้กับการเป็นนักบริหารในตำแหน่งสูงสุด นั่นก็คือทำให้ผลประโยชน์ของบริษัทเป็นสิ่งที่จะต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด แม้แต่ความสุขในชีวิตครอบครัวของตัวเอง”
            สิ่งที่สโลนบอกไว้ คือสิ่งเดียวกับที่พวกมาเฟียยึดถือ ไม่ใช่เฉพาะระดับนำเท่านั้น แต่ในทุกๆ ระดับ “พวกเขายึดมั่นในเป้าหมายอย่างถึงที่สุด” ชิอาร์คาส บอก “นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมคนเหล่านี้จึงอยู่เหนือกฎหมายได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกังวลว่าถึงเวลาเลิกงานหรือยัง คิดเรื่องวันหยุด แต่ในขณะที่พวกนั้นคิดจะปล้นธนาคาร เขาไม่พูดกันหรอกว่า เฮ้  ข้าต้องกลับบ้านตอนห้าโมงนะ’”

โอกาสที่สอง – ไม่มี
            ผู้เชี่ยวชาญทางการจัดการบางคนนำเอาความจงรักภักดีของมาเฟียไปเปรียบกับหน่วยงานญี่ปุ่น “มันเหมือนปรัชญากรรมสิทธิ์ร่วมของคนญี่ปุ่น” บีน แบรดี นักเขียนผู้เป็นเจ้าของหนังสือทางการจัดการหลายเล่มให้ความเห็น “คุณต้องอุทิศตัวให้กับบริษัท และถ้าคุณทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนบริษัท คุณต้องออก ไม่มีโอกาสเป็นครั้งที่สอง”
            สำหรับสมาชิกในครอบครัวมาเฟียเป็นเช่นนั้นจริงๆ เขาจะต้องเรียนรู้การปฏิบัติตามกฎแห่งพฤติกรรมที่สมาชิกพึงปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และหนึ่งในนั้นก็คือวินัยของตัวเอง บิลล์ โบนานโน บอกถึงวิธีที่พ่อของเขาตอกย้ำกฎข้อนี้ไว้ในตัวเขาว่า พ่อของเขาขับรถไปยังที่แห่งหนึ่ง แล้วสั่งให้เขารออยู่ในรถ สิบสองชั่วโมงต่อมาพ่อของเขาจึงกลับมาโดยไม่มีคำอธิบายสักคำ “ผมมารู้ในเวลาต่อมาว่าพ่อต้องการทดสอบความอดทนและวินัยของผม”
            เช่นเดียวกับนักธุรกิจในวอลล์สตรีท ครอบครัวมาเฟียมีกฎที่เรียกว่า “โอเมอร์ตา” มันคือ “กฎแห่งความเงียบ” ซึ่งเป็นของชาวซิซิเลียน มีเหตุผลที่ดีสำหรับการมีกฎอย่างนี้ ในด้านหนึ่งมันสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ และอีกด้านหนึ่งมันคือเครื่องมือในการเจรจาที่มีประสิทธิภาพ “อย่าให้ใครข้างนอกครอบครัวรู้ว่าเอ็งกำลังคิดอะไร อย่าให้พวกมันรู้ว่ามีอะไรในอุ้งเล็บเอ็ง” ดอน คอร์เลโอเนเคยสอนลูกชายไว้อย่างนั้น กฎนี้ยังช่วยกำจัดความจำเป็นในการที่ต้องมีการบันทึกข้อตกลงไว้อย่างเปิดเผย และการที่ต้องมานั่งแยกแยะเอกสารต่างๆ
            แน่นอน มาเฟียไม่ได้ทำงานเอกสาร ไม่ได้ทำงานบนกระดาษ ซึ่งในหลายๆ ทาง นี่เป็นวิธีที่เร็วกว่า มีประสิทธิภาพกว่า แต่การที่ธุรกิจที่ทำกำหนดให้พวกเขาอยู่นอกกฎหมาย มันก็มีบางด้านที่ทำให้ชีวิตและการทำงานยุ่งยาก “องค์กรนอกกฎหมายจะต้องมีการพิสูจน์ยืนยันข้อเท็จจริงซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลาเพื่อความมั่นใจในความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือแม้แต่กับสมาชิก” ดไวท์ สมิธ ชี้ถึงจุดอ่อน “ในขณะที่องค์กรในรูปแบบสามารถพูดได้เลยว่า “เราอยู่นี่ ถ้าคุณไม่ชอบที่เรากำลังทำกัน กลับไปหาเอกสารเกี่ยวกับบริษัทของเราอ่านได้เลย หรือจะฟ้องศาลก็ได้” แต่องค์กรนอกกฎหมายต้องอยู่บนรากฐานของความวางใจ จงรักภักดี และพิสูจน์ถึงความสามารถก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ลงไป” และเมื่อหัวหน้ามาเฟียคนใดไม่สามารถพิสูจน์ความสามารถและคุณสมบัติเหล่านั้นได้ดีพอ หัวหน้าคนใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่เขา ในแวดวงมาเฟียถ้าใครไม่สามารถพอ เขาจะไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนั้นได้ตลอดกาล

ศึกสืบทอดตำแหน่ง
            ตำแหน่งฟาเธอร์หรือนายใหญ่ของมาเฟียแต่ละครอบครัว ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะสืบทอดกันโดยสายเลือด ขึ้นอยู่กับความสามารถและคุณสมบัติ ซึ่งบางครั้งก็เกิดการย่งชิงอำนาจกันเมื่อฟาเธอร์คนเดิมอ่อนแอลงหรือเสียชีวิตไป สเตฟาโน มาญาดิโน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป้นหัวหน้ามาเฟียในบัฟฟาโล เคยมีเรื่องไม่พอใจกับโจเซฟ โบนานโน เมื่อเขาเห็นว่าอำนาจของโบนานโนอ่อนลงโดยการปราบปรามของรัฐบาล เขาจึงฉวยโอกาสหาทางขับโบนานโนออกไปได้สำเร็จ
            สิ่งที่คล้ายๆ กันแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับบริษัทการเงินย่านวอลล์สตรีทในเวลาต่อมาด้วย ในบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส ผู้บริหารคนหนึ่งไม่พอใจผู้บริหารอีกคนหนึ่ง และสามารถหาวิธีไลเขาออกไปได้ แต่ผลที่ตามมาหลังจากนั้นมันแตกต่างกัน ในเวลาไม่กี่เดือน เลห์แมน บราเธอร์สจมลงสู่สถานการณ์ยุ่งยากและต้องขายกิจการให้กับบริษัทอื่นไป ส่วนครอบครัวโบนานโนยังคงอยู่ และอันที่จริง ครอบครัวมาเฟียทั้งห้าแห่งนิวยอร์กซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีก็ยังเป็นห้าครอบครัวเดียวกับที่เคยปกครองเมืองนี้มาตลอดหลายทศวรรษ
            มีเหตุผลที่ว่า ถึงแม้การจัดการของพวกมาเฟียที่ได้รับการยกย่องว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดในวิถีทางธุรกิจ แต่ในที่สุดก็ยังล้มลง นิค ชาร์อาร์คาส อธิบายว่า “พวกยังเตอร์กที่เข้ามาสู่องค์กรอาชญากรรมในยุคหลังๆ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเกินไป และความจงรักภักดีต่อครอบครัวก็ไม่มั่นคงเท่าเก่า ผลก็คือประสิทธิภาพขององค์กรอาชญากรรมเริ่มถดถอย โครงสร้างประเพณีดั้งเดิมก็พังทลายลง”
            ทั้งประสิทธิภาพตลอดมาจนถึงความล้มเหลวของมาเฟียในอเมริกา เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในเชิงการบริหารจัดการทางธุรกิจ มันให้ข้อคิด มันเป็นบทเรียนที่ดี และหลายสิ่งหลายอย่างได้รับการนำไปใช้ต่อมาโดยองค์กรธุรกิจที่ถูกกฎหมาย ซึ่งเป็นการยืนยันถึง “ค่า” ของมันอีกทางหนึ่ง และนี่เองคือคำตอบทั้งหมดต่อการที่ The Godfather กลายเป็น หนังสือแนะนำ” สำหรับนักบริหาร ทำไมบันน์และทัสคาจึงบอกว่านักบริหารควรศึกษาจากมาเฟีย”
#
*เรียบเรียงจากบทความเรื่อง The Mafia as a Business 
โดย เรดี จี. บันน์ และ แอนโธนี เจ. ทัสคา จากวารสาร World Executive’s Digest
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร Man ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 พ.ศ.2529)

2 ความคิดเห็น:

  1. เก่ามากทีเดียวเชียว บทความชิ้นนี้ ^^

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. เก่า แต่ก็ยัง(พอ)มีประโยชน์อยู่ :)

      ลบ