วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Middle of Nowhere

ความเป็นกลางเคยเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์แห่งการ (เอาตัว) รอดปลอดภัยในสังคมไทยเสมอมา
            หนุ่มมอเตอร์ไซค์ส่งหนังสือพิมพ์ในหมู่บ้านพิบูลวัฒนา ตอบคำถามหญิงสูงวัยที่ออกมาขอเปลี่ยนหนังสือพิมพ์ฉบับที่เคยบอกรับเป็นฉบับอื่น ว่าเขาอยู่ข้างไหน ด้วยคำตอบที่ใครๆ ก็สามารถคาดเดาได้ว่าผมเป็นกลางครับแล้วก็เลี่ยงไปส่งหนังสือพิมพ์บ้านอื่นต่อ
            ความขัดแย้งในเชิงวัฒนธรรมของความเป็นไทยก็คือ เราเคยชินที่จะแบ่งพวกเลือกข้างกันก็เฉพาะแต่ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ ประเด็นปลีกๆย่อยๆ ที่ทั้งไม่ได้สะท้อนคุณค่าใดๆ  ทั้งแสดงถึงตรรกะความคิดแบบเหมารวม-แต่ว่างเปล่า
            เราจึงคุ้นเคยกับวิวาทะที่ถูกหลอมมาในเบ้าของ โค้กกับเป็ปซี่ไม่ว่าจะเป็น แกรมมี่-อาร์เอส (ศิลปิน-เพลง) อีซูซุ-โตโยต้า (รถกระบะ) โตโยต้า-ฮอนด้า (รถยนต์นั่ง) มาจนถึง ไทยรักไทย-ประชาธิปัตย์ ทักษิณ-สนธิ ซึ่งล้วนพัฒนาไปเป็นกระบวนคิดของการแบ่งฝ่าย ตีตรา และเอาชนะคะคานกันจนไม่มีที่ว่างสำหรับสารัตถะและเหตุผล
            เหมือนกับกรณีของคัทลียา แมคอินทอช ซึ่งสุดท้ายกลายเป็นความขัดหรือเห็นแย้งของคนที่เลือกที่จะชอบหรือจะชังเธอ อันได้กลบเลือนสาระประเด็นที่เป็นจุดตั้งต้นนั้นไป และในที่สุดก็ได้เปิดพื้นที่ให้กระบวนการชำระล้าง-สร้างความเห็นอกเห็นใจได้แทรกเข้ามาทำหน้าที่อย่างแนบเนียน เมื่อเวลาผ่านไป ไม่เพียงแต่เกิดภาวะอภัยแต่ไม่ลืมแต่คนจำนวนหนึ่งอาจจะลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าจะต้องอภัยในเรื่องไหน ประเด็นใด
            ในทางตรงข้าม วิถีแห่งความเป็นไทยก็เป็นเบ้าหลอมของความเป็นกลาง-วางเฉยต่อความคิดขัดแย้ง ระดับที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางสังคม ภายใต้กรอบคิด เพื่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ภายใต้คติ ไทยนี้รักสงบและยิ้มรับกับคุณลักษณ์แห่งความเป็นไทยซึ่ง สงสารเห็นใจผู้แพ้แม้จะรู้ดีว่า พ่วงมาด้วยถ้อยคำตามท้ายในวงเล็บ (แต่ขออยู่ข้างผู้ชนะ)
Credit: http://gardenspictures.net/Maze-garden.html

สภาวะเดิม เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติสากลของมนุษย์ที่ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นที่มาของการเปรียบเปรยว่า เราต่างพอใจที่จะอยู่กับปีศาจ (หรือความเลวร้าย/มืดมน) ที่เราคุ้นเคย มากกว่าที่จะเปิดรับความเปลี่ยนแปลง (แม้ในทางที่ดีกว่า/แสงสว่าง) ที่เรายังไม่รู้จัก
            การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ในโลกนี้ จึงมักจะจุดประกายโดยคนกลุ่มน้อยที่ด้อยค่าในเชิงปริมาณ หรือกระทั่งคนเพียงคนเดียวที่เปิดรูเล็กๆ ให้แสงสว่างได้ลอดเข้าไปในบ้านที่มืดมิด ความยากของการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ช่วงตอนของการรักษารูสว่างนั้นไว้ไม่ให้ถูกอุดยาไป และการเจาะช่องรับแสงเพิ่มจนกว่าลำแสงใหม่จะทำให้ความสว่างปรากฏขึ้นในระดับที่สามารถแสดงคุณค่า/ความหมายโดยเปรียบเทียบ และเป็นที่คุ้นเคย
            โดยนัยนี้ ความเป็นกลางจึงไม่เคยมีความหมายของการไม่เลือกข้างอย่างแท้จริง แต่อิงแอบอยู่กับสภาวะเดิมเสมอ เช่นเดียวกัน คำถามและเสียงเรียกร้องของการเลือกข้างในประวัติศาสตร์มนุษย์ ล้วนเริ่มต้นอย่างแผ่วเบา
            ก่อนที่เพลง We Shall Overcome ที่ดัดแปลงมาจากเพลงกอสเพลจะกลายมาเป็นเพลงที่หลอมรวมความเชื่อมั่นศรัทธาในวิถีการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ของอเมริกา นับจากปี 1946 เป็นต้นมา เพลงคลาสสิคแห่งการต่อสู้เรียกร้องในยุคก่อนหน้านั้น เป็นเพลงที่ตั้งคำถามถึงการเลือกข้าง
            ปี 1931 คนงานเหมืองแร่ในฮาร์ลัน เคาน์ตี้, เคนทักกี้ นัดหยุดงานประท้วง สิ่งที่ได้รับการตอบสนองจากเจ้าของเหมืองคือการกวาดล้าง-จับกุม-เข่นฆ่า โดยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง คนงานเหมืองจึงจับอาวุธขึ้นต่อสู้ กลายเป็นสงครามชนชั้นขนาดย่อมๆ
            ฟลอเรนซ์ รีซ เขียนเพลง “Which Side Are You On?” จากชีวิตของเธอ สามีเธอ-แซม เป็นหนึ่งในผู้นำคนงานเหมืองที่เป็นเป้าของการกวาดล้าง แต่เขาหลบหนีขึ้นเขาไปต่อสู้ด้วยอาวุธ เธอกับลูกเจ็ดคนถูกปิดล้อมอยู่ในบ้านโดยเจ้าหน้าที่ติดอาวุธของนายอำเภอ-เจ.เอช. แบลร์ ซึ่งพร้อมที่จะสังหารสามีของเธอทุกเวลาหากเขาย้อนกลับมา
            วันหนึ่งในสถานการณ์ตึงเครียด ฟลอเรนซ์ฉีกปฏิทินข้างฝาลงมาเขียนคำถามที่กัดกินใจเธอมานาน “Which side are you on?” เป็นคำถามถึงเพื่อนคนงานร่วมเมืองที่รักษาตัวเป็นกลางและวางเฉย “They say in Harlan County / There are no neutral there / You either be a union man / Or a thug for J.H. Blair”
            อีกชุดหนึ่งของคำถามในเพลงคือ  “Oh workers can you stand it? / Oh tell me how you can? / Will you be a lousy scab / Or will you be a man?”
            เพลงนี้ถ่ายทอดต่อมาโดยศิลปินมวลชนอย่างวูดดี กูธรี และพีท ซีเกอร์ ในฐานะคำถามอมตะท่ามกลางการต่อสู้เพื่อสิทธิ-เสรีภาพ-เสมอภาค
ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ และบ่อยครั้งที่รวบรัดเสมือนหนึ่งชัยชนะการต่อสู้เปลี่ยนแปลงใดๆ ปะทุอานุภาพขึ้นทันทีทันใด โดยคลื่นมหาชนอันไพศาล
            ในแง่นั้น คงยากจะอธิบายว่าเพียงสามปีหลังการแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตยและขับไล่เผด็จการถนอม–ประภาสออกไปในปี 2516 เราเปิดประตูรับหรืออย่างน้อยก็สยบยอมอำนาจจากการรัฐประหารภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้อย่างไร
            ยากจะอธิบายถึงการนองเลือดเดือนพฤษภาเพื่อล้มล้างอำนาจ รสช. ที่เราเพิ่งแสดงความชื่นชมยินดีกับการเข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายไปเพียงไม่นานก่อนหน้านั้น ทั้งรัฐบาลชาติชายยังเป็นรัฐบาลที่เรารอคอยมาแสนนานภายใต้ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
            ตัวอย่างคำถามเหล่านี้คงต้องศึกษาอธิบายถึงรายละเอียดของสถานการณ์แต่ละช่วงตอนจากจุดเริ่มจนพัฒนาและปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากอคติ เพื่อให้เห็นถึงบริบทและคติชนที่แตกต่างในแต่ละสมัย กระแสโน้มน้าวชักนำที่ได้ผลและไม่ได้ผลในแต่ละแง่มุม อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่ไม่อาจละเลยคือการเลือกข้างหรือวางเฉย
            เราไม่จำเป็นต้องเลือกข้างเสมอไปก็จริง และความเป็นกลางอาจไม่ได้สะท้อนแสดงถึงฐานคิดแห่งการเอาตัวรอดหรือปฏิเสธความรับผิดชอบ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง/เผชิญหน้าระหว่างแนวคิด-ลัทธิ-ผลประโยชน์ทางการเมืองที่ต่างกันก็จริง
            แต่ในทางแยกใหญ่ที่การไม่เลือกข้างเท่ากับการเลือกเดินไปตามทางสายหนึ่งที่มีผลลัพธ์-ปลายทางต่างจากอีกสายหนึ่งเกือบจะสิ้นเชิง ความเป็นกลาง-วางเฉยจึงเป็นการเลือกโดยปฏิเสธความรับผิดชอบของการเลือก
            หากคนอินเดียเฉยชาต่อแนวทางอหิงสาของคานธี สภาวะเดิมของการครอบครองอาณานิคมโดยชอบธรรมของจักรภาพที่ทรงพลังอำนาจย่อม ไม่ถูกสั่นคลอน หากคนอังกฤษและยุโรปที่อพยพไปยังดินแดนใหม่ยังยอมตนให้สิทธิเหนือเขตแดนและการเก็บภาษีเป็นอำนาจชอบธรรมของพระเจ้าจอร์จที่สาม ประเทศเอกราชชื่อสหรัฐอเมริกาคงจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี
            การต่อต้านระบอบทักษิณอาจไม่ได้มีความหมายสูงส่งเท่ากับการกู้ชาติ แต่ก็ไม่ได้เป็นเพียงการเรียกร้องของกุ๊ยข้างถนนหรือวิธีการนอกกรอบกติกาของพรรคฝ่ายค้าน ไม่ใช่เพียงการดิ้นรนของเหล่าขาประจำ-นักเคลื่อนไหว-เอ็นจีโอ ไม่ใช่เพียงความแค้นเคืองของผู้เสียประโยชน์ที่มีสนธิ-จำลองเป็นตัวแทน หากเป็นผลรวมสะสมของผู้คนที่ได้ตระหนักว่าไม่อาจปล่อยให้ชะตากรรมของประเทศถูกขยี้ขยำอยู่ในกำมือทักษิณอีกต่อไป
            พฤติกรรมที่ประจักษ์ชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับตลอดช่วงเวลาห้าปีแห่งการเสวยอำนาจของทักษิณ นับจากวันที่ชนะคดีซุกหุ้นในศาลรัฐธรรมนูญ จนถึงวันที่ยุบสภาและวันเลือกตั้งใหม่ โดยตัวของมันเองล้วนลดทอนน้ำหนักของวาทกรรมทุกรูปแบบที่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นการต่อต้านคัดค้าน ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างความชอบธรรมที่มี 19 ล้านเสียงรองรับ การรักษาระบบ การเคารพกฎกติกา เจตนารมณ์ประชาธิปไตย อย่างได้ผลยิ่งกว่าทุกเสียงที่วิพากษ์ คัดค้าน ต่อต้าน
            ถึงที่สุดแล้ว ความเป็นกลางจึงเป็นสิ่งผิดที่ผิดทางในสถานการณ์ประเทศไทย พ.ศ. 2549 อย่างที่เรียกกันว่า กลางตกขอบซึ่งอาจจะชัดเจนมากกว่าถ้าเปลี่ยนเป็น กลางตกเหว
            เพราะเมื่อผ่าทะลุมายาคติทั้งมวล เนื้อในของสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ไม่อาจถูกบิดเบือนไปเป็นเรื่องของผล ประโยชน์-แนวคิด-อุดมการณ์ ที่อาจจะพอมีที่ว่างพอให้ความเป็นกลางได้วางตัว แต่เป็นสถานการณ์ระหว่างความจริง-ลวง ถูก-ผิด ดี-เลว ความเป็นกลางจึงมีความหมายเป็นอื่นใดไม่ได้มากไปกว่าการสยบยอมต่อความเลว ความผิด ความลวง
            เป็นความเป็นกลางที่ดิ่งลงไปในหุบเหวของอวิชชาและอุปาทาน
            เป็นความเป็นกลางที่เกื้อหนุนให้คนเลวปกครองบ้านเมืองต่อไป
#
3 เมษายน 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2549)

*ฟังเพลง  Which Side Are You On? ได้จากลิงก์นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น