วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Half Full - Half Empty

หลังจากน้ำท่วมใหญ่-เพียงเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลว-เมื่อปีที่แล้ว 
ทำให้เราพะวงและหวาดผวากับปัญหาน้ำท่วมกันจนอาจจะลืมปัญหาคู่ขนานในด้านกลับ 
คือภัยแล้งและการขาดเแคลนน้ำ ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในการเสวนาของ สสส. เรื่อง
"ผสานพลังคนทำงานเพื่อพัฒนานักจัดการงานทางสังคม"
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงสถานการณ์แวดล้อมของโลก
ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า ขณะนี้ประชากรโลก 600 ล้านคนใน 21 ประเทศ กำลังขาดแคลนน้ำ
และพื้นที่เกษตร ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจกลายเป็น 1,400 ล้านคนใน 36 ประเทศ 
ที่ประสบภาวะขาดแคลน
และคาดการณ์ได้ว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งขั้วเก่าและขั้วใหม่อย่าง จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล นอกจากจะแย่งชิงแร่ธาตุ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติกันแล้วจะหันมาแย่งชิงน้ำด้วย 

อ่านข่าวการเสวนาแล้ว ผมก็นึกถึงต้นฉบับที่เคยเขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
และคิดว่าน่าจะยังมีประโยชน์ต่อการอ่านอยู่บ้าง-ตามควร

Photo Credit: http://www.guardian.co.uk
ทฤษฎีน้ำครึ่งแก้วใช้จำแนกคนมองโลกในแง่ดี กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย เป็นการอุปมาเพื่อสะท้อนว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ คนเราอาจเห็นต่างกันไปได้คนละปลายขั้ว และในยุคสมัยหนึ่งก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่น่าตื่นเต้นในการสร้างแรงขับทางธุรกิจเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
            แต่ก็เหมือนกับเนยแข็งที่หายไปและก่อให้เกิดคำถามว่า “Who Moved My Cheese?” มาจนถึงการดั้นด้นไปกลางท้องทะเลลึกตามแนวกลยุทธ์ “Blue Ocean Strategy” และอีกมากกว่ามาก ซึ่งวูบวาบเจิดจ้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วแล้ววูบดับลับเลือนในเวลาไม่นานนัก ไม่ใช่ว่าทฤษฎีและกรอบคิดเหล่านี้ไม่ดีพอหรือไม่มีประโยชน์ แต่ความพยายามที่จะลดทอนเงื่อนไขปัจจัยเกี่ยวข้อง เพื่อให้ง่ายแก่การกระตุ้นจิตใจและอธิบายผลสัมฤทธิ์ตามกรอบความคิดนั้น ได้สร้างกรอบครอบการรับรู้เอาไว้อย่างจำกัด เมื่อสถานการณ์จริงของธุรกิจ ชีวิต และโลก เปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นและซับซ้อนขึ้น กรอบคิดและทฤษฎีเดิมก็ดูจะด้อยค่าไปอย่างรวดเร็ว เปิดทางให้กับกรอบคิดและทฤษฎีที่ไม่มีอะไรใหม่มากไปกว่าการอุปมาด้วยภาษาและเงื่อนไข-สถานการณ์จำลองที่ร่วมสมัยกว่า
            ในแง่นี้ ข้อโต้แย้งเก่าแก่-หรือแม้กระทั่งการเสียดสีล้อเลียน-ต่อทฤษฎีน้ำครึ่งแก้ว จึงสามารถสะท้อนมูลเหตุแห่งความไม่ยั่งยืนของทฤษฎี ในขณะเดียวกันก็ชี้แสดงว่า หากเราไม่จำกัดกรอบคิดไปตามเงื่อนไขและอุปมา เราสามารถใช้กรอบคิดและทฤษฎีที่แม้ดูเหมือนไร้ประโยชน์ไปแล้ว ให้เป็นจุดตั้งต้นของการแตกขยายทางความคิดที่หลากหลาย และเอามาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในบริบทที่แตกต่างกัน
ข้อโต้แย้งพื้นฐานต่อทฤษฎีน้ำครึ่งแก้ว ก็คือความคาดหวังคำตอบเพียงสองแบบเป็นการปฏิเสธการมีอยู่จริงของมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และไปตีกรอบจำกัดศักยภาพการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีนี้
            คนที่ปฏิเสธการมองโลกในแง่ดีและร้าย แต่พอใจจะนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่มองโลกในแง่จริง บอกว่าไม่สำคัญหรอกว่า มีน้ำตั้งครึ่งแก้วหรือ เหลือน้ำอยู่ครึ่งเดียวเพราะความจริงง่ายๆ คือ ขณะนี้มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วบางคนขยายความต่อไปว่า ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยืนยันความถูกผิดของสองคำตอบนั้น ก็ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าน้ำในแก้วเกิดจาก การรินใส่เข้าไป หรือเป็นน้ำหลังจาก การดื่มพวกเพอร์เฟคชันนิสต์ก็อาจจะถาม (แทนที่จะตอบ) ถึงความถูกต้องแม่นยำว่า  มันอาจจะขาดไป 5 ซีซี หรือเกินไป 8 ซีซี ก็ได้
            ยังมีคนที่มองดูน้ำมองดูแก้ว แล้วก็เห็นว่าแก้วน้ำใหญ่เกินจำเป็นสำหรับน้ำในปริมาณขนาดนั้น ฝ่ายเต๋ากลับมองเห็นส่วนที่ว่างเปล่าของแก้วซึ่งขับเน้นประโยชน์และโอกาส เหมือนกับหน้ากระดาษที่ยังว่างให้เราจดบันทึก แต่นักวิทยาศาสตร์แย้งว่ามีอากาศอยู่ในส่วนที่เห็นเป็นความว่างเปล่า และถ้าปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นน้ำก็จะระเหยหายไปจนหมด มีคนเสริมว่า อาจไม่ต้องรอนานขนาดนั้น เดี๋ยวก็คงมีคนซุ่มซ่ามทำแก้วแตก หรือไม่ก็มีใครสักคนเดินเข้ามาบอกว่า ข้อถกเถียงทั้งหมดนั้นล้วนไม่เป็นแก่นสารและไม่เกิดประโยชน์ เพราะน้ำดื่มมีไว้เพื่อดื่มดับความกระหาย
            แล้วก็ยกขึ้นดื่มจนหมดแก้ว
โลกวันนี้ก็เหมือนแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งการมองในแง่ดีว่ายังมีน้ำอีกตั้งครึ่ง หรือมองในแง่ร้ายว่าเหลือน้ำอยู่เพียงครึ่งเดียว ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าคติและมุมมองนั้นไม่นำไปสู่การแตกขยายความคิดและการกระทำ
            การมองในแง่ดีอาจให้ผลเชิงบวก ถ้าเรามองว่าปริมาณน้ำที่มีอีกตั้งครึ่งให้เวลาเรามากขึ้นสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปริมาณการใช้น้ำ มีเวลามากขึ้นสำหรับการหาน้ำมาเพิ่ม การมองโลกในแง่ร้ายก็อาจให้ผลเชิงบวกยิ่งกว่า ถ้าทำให้เราเร่งกระตุ้นตัวเองถึงความจำเป็นในการจัดหาน้ำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกัน การมองทั้งสองแง่ก็อาจให้ผลเชิงลบ ถ้าทำให้เราหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตเพราะคิดว่าจะไม่มีน้ำให้เรายังชีพไปได้นาน หรือทำให้เราคิดว่าน้ำในปริมาณขนาดนี้เพียงพอให้เราดื่มใช้ไปชั่วชีวิตเรา แต่ถ้ามันเกิดปัญหาขาดแคลนจริงๆ ก็ต้องมีคนอื่นที่เดือดร้อนก่อนเราและตายไปก่อนเรา แล้วเมื่อถึงตอนนั้นก็คงมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนคุณสมบัติน้ำทะเลมาเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ หรือสามารถต่อท่อส่งน้ำมาจากดาวดวงอื่น ไม่เห็นจะต้องตีตนไปก่อนไข้
            คำถามของพวกเพอร์เฟคชันนิสต์หรือนักวิชาการเคร่งข้อมูล ก็มีประโยชน์ ถ้าหากว่ามันนำไปสู่การคำนวณปริมาณน้ำที่แม่นยำ และคาดประมาณให้คนทั้งโลกได้ตระหนักว่าเราจะเผชิญวิกฤตน้ำในระดับไหน ณ เวลาใด หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนเดินเข้ามาคว้าแก้วน้ำไปดื่มคนเดียวจนหมด ก็สามารถนำไปสู่การบริหารจัดสรรน้ำเพื่อทุกคน
เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนที่น้ำดื่มบรรจุขวดในเมืองไทยเริ่มมีราคาแพงพอๆ กับน้ำมัน องค์การอนามัยโลกเคยฉายภาพอนาคตของสภาวะโลกในปี 2020 เอาไว้ 3 แบบ มีทั้งการคาดการณ์ทางบวก ทางลบ และกลางๆ แต่ทุกแบบระบุปัญหาพื้นฐานทางนิเวศวิทยา ภาวะแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากร ไว้คล้ายๆ กัน ต่างกันตรงที่โอกาสในการแก้ปัญหา
            ในเรื่องของน้ำ ปี ค.ศ. 2020 จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงใน 300 เมือง ก่อนจะถึงเวลานั้น เมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง ไคโร กัลกัตตา คาร์ดีฟ ดักกา ฮุสตัน จาการ์ตา การาจี ลอสแอนเจลิส เม็กซิโกซิตี้ มุมไบ เซี่ยงไฮ้ เซาเปาโล เทลอาวิฟ จะนำร่องไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2010
            สงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชากร ผู้บริโภคกับกลุ่มทุน ประชาชนกับรัฐ และระหว่างประเทศต่อประเทศ ในช่วงต่อไปจะรวมศูนย์อยู่ที่การแย่งชิงน้ำ ซึ่งถ้าดูจากสถานการณ์ปัญหาเรื่องน้ำที่ทาง International Networks Archive ประมวลสรุปออกมาเป็นแผนที่ชื่อ “Glass Half Empty: The Coming Water Wars” ในปี 2003 ดูเหมือนว่าสงครามน้ำจะเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะข้อมูล ณ ปีนั้นระบุว่ามีคนมากถึง 1,300 ล้านคนเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด คน 2.2 ล้านตายด้วยโรคเกี่ยวกับสุขอนามัยและน้ำที่ไม่สะอาด ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ทุกๆ นาทีที่ผ่านไป มีคนตาย 7 คนจากปัญหาน้ำสกปรกหรือขาดน้ำ
            เอเชียโดยเฉพาะตะวันออกกลาง กับแอฟริกา เป็นสองพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำอย่างรุนแรง เพราะเอเชียมีประชากรถึง 60% ของประชากรโลก แต่มีแหล่งน้ำในปริมาณเพียง 36% ส่วนแอฟริกามีประชากร 13% น้ำ 11% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีกว่ายุโรป (ประชากร 13% น้ำ 8%) แต่แอฟริกามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการกระจายและจัดสรร ในขณะที่ยุโรปทดแทนด้วยการจัดการและเทคโนโลยี
            สถานการณ์ความขาดแคลนและขัดแย้งจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อแต่ละประเทศ (หรือแม้แต่ชุมชน-พื้นที่) ที่อยู่ต้นน้ำจะตักตวงเอาประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีให้มากที่สุด ที่เกิดขึ้นแล้วและใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในจีน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
น้ำเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษยชน ซึ่งปฏิญญาที่เกิดขึ้นในยุคหลังได้รับรองความเข้าใจเก่าแก่ของคนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ว่าน้ำ แม้จะไม่ใช่ของฟรี แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกระบบการค้า เช่นเดียวกับอากาศ
            แต่โลกาภิวัตน์และระบบตลาดเสรีกำลังเปลี่ยนให้น้ำเป็นสินค้า ด้วยการสนับสนุนและสร้างเงื่อนไขให้อย่างแข็งขัน จากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ข้ออ้างอิงที่ดีคือฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตกที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมานาน แต่ต้องไม่ลืมว่า ยุโรปมีเงื่อนไขของขนาดประเทศ ความเป็นเมือง ความหนาแน่น สัดส่วนประชากรต่อปริมาณน้ำ และการกระจายรายได้-ทรัพยากรที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นของโลก การบริหารจัดการน้ำซึ่งทางหนึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อกำไร แต่อีกทางหนึ่งก็วางอยู่บนฐานของอรรถประโยชน์สูงสุด ทั่วถึง และรู้ค่า ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราการใช้น้ำต่อคนต่อปีของคนยุโรปที่ต่ำกว่าอเมริกาและแคนาดาหลายเท่า (ปี 2003 คนอเมริกันใช้น้ำมากกว่าคนฝรั่งเศส 2 เท่า มากกว่าคนเยอรมัน 3 เท่า มากกว่าคนเดนมาร์ก 8 เท่า)
            เงื่อนไขของยุโรปจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเอเชีย แอฟริกา และประเทศด้อย/กำลังพัฒนาทั้งหลาย นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปในยุคหลังก็ไม่ใช่ผลผลิตของโลกทัศน์ ระบบคิด และเงื่อนไข-บริบทเฉพาะที่สั่งสม-สังเคราะห์กันมาในสังคมหนึ่งๆ แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยองค์กรเจ้าหนี้ เพื่อทำการส่งมอบทรัพยากรร่วมของคนทั้งชาติให้แก่คนกลุ่มเดียว และในหลายกรณี เป็นกลุ่มคนชาติอื่น
            เมื่อหลายปีก่อน เคยมีการศึกษาพบว่า ทุกเหรียญที่ประเทศด้อยพัฒนากู้ไปเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามกระแสโลก ต้องจ่ายคืนถึง 3 เท่า แต่สิ่งที่ได้คือช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถ่างออก ความลำบากยากแค้นของกลุ่มคนด้อยโอกาส แลกกับความมั่งคั่งของกลุ่มทุนกับบรรษัทข้ามชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานเรื่องผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน จัดทำโดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในวอชิงตัน ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ระบุชัดเจนว่าภาวะขาดแคลนน้ำ นอกจากจะเป็นสาเหตุการตาย  สาเหตุของโรคและปัญหาสุขภาพ สาเหตุการอพยพย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมและระหว่างประเทศ หากยังมุ่งแก้ปัญหาน้ำโดยการแปรรูป ก็จะเร่งให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
            ถึงที่สุดแล้วปัญหาเรื่องน้ำและทรัพยากรอื่น รวมถึงผลกระทบต่างๆ จากปัญหาโลกร้อน จะเป็นจัดรูปความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ และอาจเป็นจุดจบของโลกาภิวัตน์
#
20 พฤศจิกายน 2550
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2550)

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

5 ชอบ 2554-2555

เหมือนอย่างที่เคยๆ ฉบับครบรอบปีที่ 23 ของ "สีสัน" เมื่อเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา 
มีนักวิจารณ์และคอลัมนิสต์หลากหลายแขนงมาบอกเล่าเรื่องราว/ผลงาน
อันเป็น "5ชอบ 5 ไม่ชอบ" ในรอบปีของแต่ละคน
และนี่คือส่วนที่เป็น "5 ชอบ" ของผมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554-ครึ่งแรกของปี 2555

กิติกร มีทรัพย์ มีงานเขียน งานแปล มายาวนาน หลากหลาย และมีแง่มุมที่น่าอ่านเสมอ ฐานที่ยึดโยงผลงานส่วนใหญ่ของเขาไว้ด้วยกันคือความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ในระดับที่เรียกได้ว่าสนิทสนมกันดีกับซิกมันด์ ฟลอยด์ เมื่อชื่อของเขาปรากฏอยู่ในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง “วาสิฏฐี ฉบับจิตวิเคราะห์” (สนพ.ปราชญาพับลิชชิ่ง) ผมก็แน่ใจว่าจะได้รู้จักกับ “วาสิฏฐี” ในแง่มุมที่อาจจะไม่เคยคิดคาดมาก่อน

นอกจากการวิเคราะห์ชีวิตและความรักของวาสิฏฐี คุณพี่กิติกรยังวิเคราะห์และขยายความเรื่องราวและตัวละครที่เกี่ยวข้องไว้อย่างกระจ่าง ทั้งยังเชื่อมโยงทฤษฎีของจิตเข้ากับหลักพุทธธรรมได้อย่างน่าสนใจ

ในอีกโลกหนึ่ง วิถีของบริษัทอย่างเดนท์สุก็น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะความใหญ่และความเก่าแก่ในวงการโฆษณา แต่อยู่ที่การพัฒนาแนวคิดด้านสื่อสารการตลาดที่ครอบคลุมและทันกับสื่อ-ยุคสมัย-จิตใจของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ นำเสนออย่างมีศิลปะ และวัดผลสำเร็จได้

“The Dentsu Way” (สนพ.เนชั่นบุ๊คส์) ฉบับแปลไทยโดย Shuriken by Dentsu Plus ได้ถ่ายทอดแนวคิดด้าน Cross Communication และโมเดล (หรือกลยุทธ์) ที่เรียกว่า Cross Switch รวมถึงกรณีศึกษาที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญๆ ในตลาดไว้อย่างละเอียด แม้จะมีความไม่ราบรื่นในการอ่านอยู่บ้าง แต่ก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการได้ทำความเข้าใจกับวิถีอันซับซ้อนที่การตลาดเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจที่ยากจะหยั่งถึงของคนเรา ในยุคสมัยของการสื่อสารที่หลากหลายและกระจัดกระจาย จากบทเรียนและประสบการณ์จริง

วัย 77 ของศิลปินอย่าง เลียวนาร์ด โคเฮน ก็มีเรื่องเล่าและประสบการณ์มากมาย ดังที่เขาเคยบอกเล่าผ่านเสียงเพลงและบทกวีมากว่า 51 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ “Old Ideas” (Columbia) พิเศษขึ้น (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผม) คืออารมณ์รวมของการย้อนมองและใคร่ครวญชีวิต – ไม่ว่าจะในแง่มุมของความรักความปรารถนา ความศรัทธาและล่อลวง อารมณ์ห่วงหาและอาลัย – ที่นำเสนออย่างเรียบ-ง่าย แต่ลึก-งาม สมความเป็นศิลปินและสมวัย
อีกเกือบขั้วปลายหนึ่งของวัย เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในวัย 20 ต้นๆ ยังคงเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นเยาว์ที่เติบโตอย่างงดงามทุกย่าวก้าว ด้วยความสามารถที่ครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่ต้องอาศัยโนมเนื้อและเรื่องอื้อฉาว

นอกเหนือจากความสามารถที่แสดงไว้ในสามอัลบั้มโดยไม่มีข้อสงสัยอะไรอีก เทย์เลอร์ได้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีคอนเสิร์ตผ่าน “Speak Now: World Tour Live” (Universal) บันทึกการแสดงสดจากทัวร์คอนเสิร์ตชื่อเดียวกันที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2011 ที่สิงคโปร์ กับอีก 5 เมืองในเอเชีย (ไม่มีประเทศไทย) 12 เมืองในยุโรป กว่า 50 เมืองในอเมริกาเหนือ และไปจบที่ออสเตรเลียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ที่มากกว่ารายได้ 123 ล้านดอลลาร์ และจำนวนผู้ชมรวมกว่า 1,600,000 คน คือการที่เธอตรึงคนดูหลักหมื่นและหลายหมื่นในแต่ละรอบได้อยู่ และ-น่าดูมากจริงๆ 

ส่วนเล่มนี้ ก็เป็นหนังสือที่เข้าข่าย “น่าดู” อยู่เหมือนกัน “วันที่รู้สึกดีๆ” (สนพ.สารคดี comics) รวมสิบเรื่องสั้นในรูปแบบการ์ตูนที่นำเสนอออกมาด้วยลายเส้นง่ายๆ แต่ฉายความละเอียดอ่อนไว้ชัดทั้งเส้นสายลายมือและเรื่องราวที่บอกเล่าแง่มุมงดงามของชีวิต เป็นงานที่ GPEN สามารถส่งผ่านความประทับใจของผู้เขียนให้ออกมาเป็นความรู้สึกที่ดีของผู้อ่านได้อย่างสวยงาม 

แถมท้ายด้วยอีกหนึ่งความรู้สึกดีๆ ในการอ่าน “Flipboard” เป็นแอปพลิเคชัน (ในแอนดรอยด์และไอโฟน) สำหรับการอ่านข่าวสาร-บทความตามหมวดความสนใจที่เราเป็นผู้เลือก แต่ด้วยเนื้อหาที่ทีมงานเป็นผู้คัดสรรจากสื่อชั้นนำหลากหลายมานำเสนอ เป็นประสบการณ์การอ่านที่แปลกใหม่และมีเรื่อง(น่าอ่าน)ให้แปลกใจได้เสมอ
3 สิงหาคม 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555)