วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาจากน้ำ และ กลับสู่น้ำ


ผม “ส่ง” พี่ชาย ไปโดยเรียบร้อย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 พ.ย.)

หลังจากทำบุญ 7 วัน หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพ และหลังการจัด/เก็บอัฐิ

ภาคสุดท้ายของพิธีกรรม คือการ “ลอยอังคาร” ที่ปากน้ำ

การลอยอังคาร (ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ได้ลอยอัฐิไปด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพแบบไทย ที่มีรายละเอียดทางพิธีให้ถือปฏิบัติกันอย่างพิศดารพอสมควร แต่ข้อมูลเชิงที่มาของพิธีกรรมนี้ กลับมีเพียงข้อสังเกตสั้นๆ ที่อ้างอิงต่อๆ กันมาว่า (น่าจะ)รับมาจากศาสนาพราหมณ์/ฮินดู โดยโยงใยกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อความสงบเย็น

บางที ผมก็เคยสงสัยไปตามประสาผมว่า ในเมื่อเรามีแบบแผนทางพิธีละเอียดขนาดนี้ (คือที่ทำกันอยู่) แล้วเราเอาที่มาที่ไปและความหมายของพิธีกรรมนี้ไปทิ้งเสียที่ไหน ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งซึ่งบันทึกและยึดถือคู่เคียงกันมา

หรือว่า พิธีกรรมที่ประกอบกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นการสอดประสมกัน ระหว่างกระบวนการส่งเสริมธุรกิจออกเรือ และการสมานบรรเทาความรู้สึกของญาติผู้ยังอยู่ ในยุคที่มีคนอยากเก็บอัฐิไว้กับบ้านน้อยลง (เพราะกลัวถูกทิ้งขว้าง กลัวเป็นภาระ)

หรือว่า ความรู้น่ะมี แต่ผมไม่รู้เอง

แต่ สิ่งที่สงสัย ก็ไม่ได้แปลว่าคัดค้าน ผมมองว่าการลอยกระดูกและเถ้าถ่านลงสู่แม่น้ำ/ทะเล ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกที่ถูกทาง เพราะเราต่างเกิดมาจากน้ำ มีต้นทางชีวิตที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ และเติบโตมีชีวิตอยู่โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก

วัฒนธรรมชาวน้ำแท้ๆ ที่ไม่ผูกติด ยึดครอง ก็ดูจะโอบเอื้อกับพิธีกรรมการลอยอังคาร ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็เป็นสัญลักษณ์ของ การน้อมละวางปลายสุดของสังขาร คืนกลับสู่มหานที

ตอนเด็กๆ (แปลว่านานมากแล้ว) เคยดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง และจำฉากที่พระเอกขึ้นภูเขาไปโปรยเถ้าถ่านของนางเอกได้ติดตา ด้วยเหตุผลว่า มันดูโรแมนติกมาก ต่อมาเมื่อรู้จักเพลง Dust In The Wind ของวง แคนซัส ภาพนั้นกับเพลงนี้ก็คลิกกันพอดี ให้ความหมายที่สมบูรณ์ของ “ฝุ่น (ที่เคว้งคว้าง) กลางสายลม”

พอโตขึ้นมาอีกหน่อย และได้ร่วมอยู่ในพิธีกรรมลอยอังคารครั้งแรก ผมก็พบว่า อัฐิและอังคารในลุ้ง ที่ค่อยๆ จมลงสู่ห้วงน้ำ ดูจะเอิบอาบ ชุ่มเย็น และอาจเป็นวิถีที่เหมาะกับเรามากกว่า

แม้จะไม่มีองค์ความรู้ใดอธิบาย แต่ก็โดยสัญชาตญาณของเราเอง
#

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ระหว่างเวลาที่เรามาถึงและเวลาที่เราจากไป

ในวันต้นๆ ของการแต่งดำ
ผมนึกถึงงานที่เคยเขียนไว้ 
เกี่ยวกับ การดำรงอยู่และจากไป

royalty-free image from dreamstime.com

ท่าทีของมูฮัมหมัด อาลี ต่อวันเวลาของชีวิตที่ต้องเผชิญกับโรคพาร์กินสัน ไม่ต่างจากท่าทีของมอร์รี ชวาร์ตซ์ ต่อวันเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่โรค ALS (ภาวะการสลายตัวของเซลล์ประสาทที่สั่งการและควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ) จะพรากไป
         อาลีบอกว่าผมตื่นขึ้นมาทุกวันด้วยความพยายามจะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยม เพราะแต่ละวันคือของขวัญที่พระเจ้าประทานมามอร์รีก็เอ่ยถึงคติทางพุทธ ที่ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า วันนี้จะเป็นวันตายของเราหรือเปล่า เราพร้อมไหม เราได้ทำทุกสิ่งที่จำเป็นต้องทำหรือยัง เราได้เป็นคนแบบที่เราอยากจะเป็นหรือไม่
         อาลีจึงยังคงไปร่วมในงาน-พิธีการสำคัญ ที่เพียงการปรากฏตัวของเขาก็มีความหมายเหนือคำพูดและการแสดงออกใดๆ ยังคงเซ็นชื่อให้กับทุกคนที่ชื่นชมศรัทธา ด้วยมือที่ขยับได้ช้าและยากเย็น มอร์รีก็เลือกที่จะใช้ช่วงชีวิตที่เหลือด้วยเจตจำนงของคนที่เป็นครูจนวาระสุดท้าย ด้วยการสอนให้คนรอบข้าง และใครก็ตามที่พร้อมรับสารที่เขาสื่อ ได้เรียนรู้ความหมายของการมีชีวิตอยู่ โดยการเรียนรู้จากความตาย ผ่านชีวิตและมุมมองของคนที่กำลังจะตาย...ตัวเขาเอง

ความตาย ในทัศนะของสังคมสมัยใหม่ ถูกแยกห่างออกจากการมีชีวิตมากขึ้นทุกที ห่างแม้กระทั่งคนที่อยากจะตายก็ไม่อาจตายได้ เช่นในกรณีของแวงซองต์ เอิงแบรต์ เด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้สูญเสียการมองเห็น ความสามารถในการพูด และการเคลื่อนไหวทั้งมวล หลังจากประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เหลือเพียงสติรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง กับแรงกดของนิ้วหัวแม่มือที่จะสื่อสารกับผู้อื่น เขาขอใช้สิทธิ์ที่จะตายไปจากความทุกข์ทรมาน แต่ไม่มีใครช่วยเขาได้ แม้กระทั่งประธานาธิบดีที่เขาเชื่อว่ามีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพราะความต้องการของเขาขัดต่อกฎหมาย
         ในที่สุด แม่คือผู้ที่ให้สิทธิ์นั้นแก่เขา ด้วยความรักที่มีต่อลูก และต้องแลกกับการถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตาย
         กรณีของคนอย่างแวงซองต์ กับคนอย่างอาลี อย่างมอร์รี อาจเป็นเหมือนคนละด้านของการเผชิญกับความตาย แต่มีจุดร่วมกันที่เจตจำนงของคนเป็นเจ้าของชีวิต แวงซองต์เรียกหาสิทธิ์ที่จะจบชีวิตตัวเองเมื่อการอยู่ต่อไปรังแต่จะเป็นภาระแก่ผู้อื่น มอร์รีเลือกที่จะใช้เวลาสองปีที่เหลืออย่างมีความหมายที่สุด เขาได้แสดงให้เห็นว่า กำลังจะตายต่างความหมายกับ ไร้ประโยชน์เพราะในขณะที่ความเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทค่อยๆ ทำลายชีวิตของเขาทางกายภาพ ความคิดจิตใจของเขายังคงแจ่มกระจ่างจวบจนลมหายใจสุดท้าย
         ศาสตราจารย์มอร์รียังคงไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยแบรนเดอิส เช่นเดียวกับที่เขาทำมาตลอดเวลาเกือบสี่สิบปี จนกระทั่งไม่สามารถเดินทางออกจากบ้านไปสอนได้อีกต่อไป ยังคงเชื้อเชิญญาติ มิตร และศิษย์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันที่บ้าน ตั้งกลุ่มสนทนาเรื่องความตายและความหมายของชีวิต ยังคงยินดีรับฟังปัญหาและให้คำปรึกษาแก่ทุกคนที่ต้องการ เขียนสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น คติพจน์ของการดำรงชีวิต เปิดบ้านให้รายการทีวีได้ถ่ายทอดทัศนะต่อชีวิตและท่าทีต่อความตายไปสู่การใคร่ครวญใหม่ ของคนนับล้าน
         ประโยคที่มีชื่อเสียงของมอร์รีคือ “once you learn how to die, you learn how to live” มอร์รีเชื่อว่า การได้เผชิญหน้าและเรียนรู้ความตายจะทำให้เราสามารถฉีกเปลือกนอกของการใช้ชีวิตแบบคนครึ่งหลับครึ่งตื่น มองเห็นแกนในที่เป็นความหมายแท้จริงของการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติสำนึก เขาจึงใช้ช่วงชีวิตตัวเองขณะที่เดินบนสะพานสุดท้ายที่ทอดข้ามไปสู่ความตาย เป็นตัวอย่างประกอบการเรียนรู้ พร้อมกับบรรยายทุกก้าวย่างของเขาด้วยตัวเอง
         มอร์รีบอกว่า ความตายเป็นธรรมชาติ ปัญหาคือคนเราในยุคนี้ไม่ได้มองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอีกต่อไปแล้ว เราคิดว่าเพราะเราเป็นมนุษย์ เราจึงอยู่เหนือธรรมชาติ และพยายามปฏิเสธกฎธรรมชาติแห่งการก่อเกิดและสิ้นสูญของสรรพสิ่ง เขาบอกว่าแม้ทุกคนรู้ว่าวันหนึ่งจะต้องตาย แต่ก็พยายามปฏิเสธมัน หากเรายอมรับความตายได้ เราจะทำสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำ
         กับอีกคติหนึ่งที่สั้นและตรงกว่า ถ้าเรายอมรับว่าเราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้ เราจะไม่ทะยานอยาก มากเท่าที่เราเป็นอยู่
วอร์เร็น ซีวอนก็ไม่มีความทะยานอยากอะไรนัก เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าอาการแน่นหน้าอกและหายใจไม่ออกเกิดจากมะเร็งในเซลล์บุผิวของเยื่อหุ้มปอด และบอกว่าเวลาของเขาเหลืออยู่ประมาณสามเดือน
         วอร์เร็นเพียงแต่อยากจะทำอัลบัมใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นให้เสร็จ ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับผู้คนที่เขารัก หวังว่าจะทันได้เห็นหลานตาคนแรก และแสวงหาความรื่นรมย์เล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นดูหนังเจมส์ บอนด์ตอนใหม่ เขาได้ทำทุกอย่าง และทำได้มากกว่าที่ต้องการ กับเวลาที่ได้เพิ่มมาจากที่หมอบอกอีกเก้าเดือน
         วอร์เร็นไปออกรายการโทรทัศน์ของเดวิด เล็ตเทอร์แมน เล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาและความตายที่กรายใกล้  ทำให้การตายเป็นสิ่งสามัญประจำวันด้วยการเปิดบ้านให้สถานีเคเบิลทีวี VH1 ตั้งกล้องถ่ายทอดภาพชีวิตของเขาไปจนกว่าวันสุดท้ายจะมาถึง และทันได้เห็นอัลบัมสุดท้ายในชีวิตเสร็จออกมาวางขาย
         ‘The Wind’ อาจจะไม่ใช่ผลงานที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่อัลบัมที่ดีที่สุดของวอร์เร็น แต่เป็นการ กล่าวคำร่่ำลากับทุกคนอย่างงดงาม เขาทบทวนถึงช่วงชีวิตที่เหลวไหลของตัวเองในเพลง ‘Dirty Life And Times’ เล่าถึงเวลานาทีที่เหลือสั้นและมืดหม่นลงทุกทีในเพลง ‘Knockin’ On Heaven’s Door’ และได้แสดงความปรารถนาสุดท้ายด้วยความหวังเล็กๆ ว่าเขาจะยังอยู่ในใจใครบางคนแม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม ก็ยังดี ด้วยเพลง Keep Me In You Heart
ในแง่หนึ่ง คนอย่างวอร์เร็น คนอย่างมอร์รี อาจจะโชคดีกว่าคนอีกมากที่ได้รู้ล่วงหน้าว่าวันเวลาในชีวิตเหลืออยู่ไม่มากแล้ว และสามารถกำหนดท่าทีต่อความตาย ต่อการใช้เวลาที่เหลือได้ดังใจปรารถนา
         เช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่ชีวิตเคยพลัดเฉียดกับสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าความตายมาครั้งหนึ่ง และยังคงรำลึกได้ว่าในเสี้ยวนาทีที่ห้อยแขวนอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย มีเพียงชะตากรรมเท่านั้นที่ตัดสินว่าจะส่งเราไปยังฝั่งไหน ก็อาจมีมุมมองต่อชีวิต ต่อโลก ที่เปลี่ยนไป และทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
         แต่เราคงไม่จำเป็นต้องรอให้ได้แตะเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการมีชีวิตและสิ้นสุด ด้วยตัวเองเสียก่อนจึงตระหนักได้ว่าเวลาแต่ละวันที่ทอดต่อมานับจากนั้น ล้วนเป็นกำไรชีวิตที่ควรใช้ให้สมคุณค่าและเต็มความหมายอย่างไร
         ในวันเวลาที่ร้าวรานกับชีวิตที่มัวหม่น แจ็คสัน บราวน์เคยเขียนถึงความหมายของการมีชีวิตไว้อย่างงดงามในเพลง ‘For A Dancer’ ที่เปรียบย่างก้าวของชีวิตกับจังหวะการเต้นรำ ไม่ว่าชะตากรรมจะเลือกเล่นเพลงอะไร คนเราก็ยังสามารถเริงรำเพื่อลบล้างความโศกศัลย์และขับขานเพลงนั้นด้วยเสียงอันเบิกบาน
         แจ็คสันบอกว่าเราอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเต้นรำ แต่เราสามารถเรียนรู้จากจังหวะและท่วงท่าของทุกคนที่เราได้เห็น จนกระทั่งกลายเป็นจังหวะและท่วงท่าของเราเอง อีกนัยหนึ่ง แจ็คสันบอกว่าเราต่าง เติบโตมาจากเมล็ดพันธุ์ที่ผู้อื่นได้หว่านไว้ / มุ่งไปข้างหน้าและหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ของคุณเอง / และระหว่างเวลาที่คุณมาถึง / กับเวลาที่คุณจากไป / ก็จะวางไว้ซึ่งเหตุผลของการมีชีวิต / แม้คุณอาจจะไม่รู้
         มอร์รีอาจจะเคยฟังหรือไม่เคยฟังเพลงนี้ แต่ถ้าถามเขาว่าเมล็ดพันธุ์อะไรที่คนเราควรเพาะหว่านไว้ให้คนอื่นต่อไป เขาคงตอบได้ทันทีว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความปรารถนาดี และการสนับสนุนพึ่งพากัน เพราะชีวิตของคนเราไม่เคยอยู่รอดได้ด้วยตัวเองลำพัง นับจากวันแรกที่เกิดมาจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต
         เมล็ดพันธุ์เช่นนี้ยังทำให้ความตายของมนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น มอร์รีบอกว่า ตราบเท่าที่เรามีความรักต่อกัน และยังคงจดจำความรู้สึกแห่งรักที่เรามี เราจะตายไปโดยไม่ได้ตายจากกัน ความรักที่เราสร้างไว้จะยังคงอยู่ ความทรงจำจะยังคงอยู่ เรายังมีชีวิตอยู่ในใจคนทุกคนที่เราเคยสัมผัสเคยเอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน
         ความตายยุติชีวิต แต่ไม่อาจยุติความสัมพันธ์
#

Rhymes to learn

  • เวลาในชีวิตและความคิดของมอร์รี ชวาร์ตช์ บันทึกไว้อย่างน่าประทับใจโดยลูกศิษย์ของเขามิตช์ อัลบอม ในหนังสือ ‘Tuesdays With Morrie’ (1997) ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทยไว้ในชื่อวันอังคารกับครูมอร์รีแต่หลายคนแนะนำตรงกันว่า การอ่านจากต้นฉบับ (ซึ่งอ่านไม่ยาก) จะดูดซับความรู้สึกดีๆ ได้ชุ่มเต็มมากกว่า ส่วนงานเขียนของมอร์รีเองคือ ‘Morrie In His Own Words’ (1996) เป็นคติพจน์ที่จัดหมวดหมู่และมีคำอธิบายเพิ่มเติมไว้สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาความคิดของเขาให้ลึกขึ้น
  • เรื่องของแวงซองต์ เอิงแบรต์ เรียบเรียงผ่านการสื่อสารด้วยนิ้วหัวแม่มือกดเลือกพยัญชนะทีละตัว ผสมเป็นคำ และต่อกันเป็นประโยค โดยเฟรเดริก แวยล์ ในชื่อ ‘Je vous demande le droit de mourir’ (I Ask For The Right To Die) แปลเป็นไทยโดยวาสนา สุนทรปุระ ในชื่อ ผมขอใช้สิทธิ์ที่จะตาย’ (2547)
  • งานเพลงของวอร์เร็น ซีวอนเป็นงานที่ขายอยู่ในวงจำกัด และค่อนข้างหายากในประเทศของเรา รวมทั้งอัลบัม ‘The Wind’ (2003) นี้ด้วย แต่แนวเพลงเฉพาะตัวของวอร์เร็นเป็นที่ยอมรับของศิลปินแถวหน้าอย่างบ็อบ ดีแลน, นีล ยัง, แจ็คสัน บราวน์, บรูซ สปริงสทีน และอยู่ในใจแฟนเพลงที่เหนียวแน่นของเขาเสมอมา
  • เพลง ‘For A Dancer’ อยู่ในอัลบัม ‘Late For The Sky’ (1974) ที่ได้รับการยกย่องให้้เป็นอัลบัมยอดเยี่ยมและงดงามที่สุดในยุคแรกของแจ็ค สัน บราวน์ ส่งให้เขากลายเป็นกวีร็อคแถวหน้าของวงการดนตรียุค 1970

#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548)

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชีวิต ..... อนิจจัง



เมื่อวานนี้ (ศุกร์ 12 พ.ย.) ทั้งวัน ผมวุ่นๆ อยู่กับเรื่อง ศพ


ตอนสายๆ เคลียร์งานเบื้องต้นได้ ก็ออกไปสั่งทำกรอบรูปที่จะใช้วางหน้าศพ รูปที่ใช้­­ – ซึ่งเป็นรูปที่ทุกคนเห็นชอบ – น่าจะใหญ่ได้อีก แต่ดูตารางเวลากับสิ่งที่ต้องทำ ผมเลือกดิ่งไปร้านทำกรอบรูป ให้เขาทำเมาท์สองชั้น ช่วยให้ได้กรอบขนาดใหญ่ขึ้น และจะได้มีพื้นที่สำหรับจัดวางดอกไม้โดยไม่มาบังรูป

จากนั้น ไปรอคิวรับผลการตรวจชันสูตร จากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ แล้วเอาเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไปด้วย ให้ทางเจ้าหน้าที่เขาช่วยกันอาบน้ำแต่งตัว (ต้องฉีดยารักษาสภาพศพด้วย) ก่อนบรรจุลงในหีบศพที่เตรียมไป นำไปส่งที่วัดโสมนัสราชวรมหาวิหาร ซึ่งมีญาติช่วยจองศาลาและจัดเตรียมเรื่องดอกไม้ อาหารไว้ให้แล้ว

ถึงที่นั่น ก็ต้องนำศพออกจากหีบ ขึ้นมาวางรอทำพิธีรดน้ำศพ ระหว่างนั้นก็นัดแนะ-ส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ ให้กับผู้ที่มาช่วยงาน เพื่อไปปิดเคสกับ สน.สุทธิสาร ที่แจ้งเหตุการเสียชีวิตเอาไว้ และเดินเรื่องขอใบมรณบัตรจากสำนักงานเขตดินแดง

ตัวผมกลับไปรับกรอบรูป แวะเคลียร์งานที่บริษัท ระหว่างนั้นก็ให้เมสเซนเจอร์ส่งรูปไปที่วัดก่อน จะได้ไม่มีใครร้อนใจ โทรสั่งหรีดจากร้านที่เคย(โทร)สั่งกันอยู่ (ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ วัดโสมฯ นั่นแหละ) ถามเขาว่าไม่ว่างไปโอนเงินให้ ทำไงดี? หรือว่าจะไปส่งค่ำๆ ตอนที่ผมถึงวัดแล้วแน่ๆ ร้านเขาก็ดี บอกว่าจะส่งหรีดให้ก่อน ผมไปถึงวัดเมื่อไหร่ ก็ช่วยโทรบอก จะได้ไปรับเงิน

ผมกลับไปทันได้รดน้ำศพ หลังจากต้องลุ้นกับการจราจรเล็กน้อย การสวดพระอภิธรรมที่นี่เริ่มตั้งแต่ 18.30 น. เมื่อเริ่มสวดเร็ว และสวดก็เร็ว จึงสวดเสร็จเร็วไปด้วย-เป็นธรรมดา การที่ญาติหลายคนมาถึงตอนที่พระสวดเสร็จกลับกุฎิไปแล้ว ก็น่าจะถือเป็นเรื่องธรรมดาอีกเหมือนกัน


แต่ตามความจำของผม เท่าที่เคยไปงานศพที่วัดโสมฯ มาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมฯ โน่น ผมไม่ยักรู้สึกว่าที่นี่สวดเร็ว เสร็จเร็ว ที่จำขึ้นใจจริงๆ ในเรื่อง “เร็ว” ก็คือ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน (เพราะผมเคยไปไม่ทัน)

ที่จริง ผมเริ่มวุ่นกับเรื่อง ศพ มาตั้งแต่ค่ำวันพฤหัสที่ 11 และเกือบๆ จะถอดใจล้มเลิกแผนเปิดบล็อกตามรหัส 12-11-10 ไปด้วยซ้ำ

ผู้ตายเป็นพี่ชายแท้ๆ คนถัดจากผมขึ้นไป เขากลับเข้าบ้านตอนบ่ายๆ และขลุกอยู่ในห้องนอนของเขาตามปกติ ที่ไม่ปกติก็คือเขาไม่ขานรับและเปิดประตูตอนไปเรียกให้กินอาหารมื้อเย็น


สุดท้ายจึงต้องปีนเข้าทางหน้าต่าง แล้วก็พบร่างที่นอนนิ่งและเย็นชืด อยู่หน้าห้องน้ำ

ผมไปถึงตอนที่ภรรยาเขาไปแจ้ง สน.ท้องที่แล้ว แต่ก็ใช้เวลาอีกนานเหมือนกัน กว่าจะมีตำรวจมาสอบรายละเอียดและบันทึกภาพ แล้วก็อีกสองนาน กว่าจะมีรถอาสาของมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มาช่วยรับศพส่งไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวชฯ

ระหว่างที่ แม่ และ เมีย กำลังโศกเศร้า และญาติๆ ที่ทยอยกันมา ดูเหมือนจะมีระยะความสัมพันธ์ห่างกว่าผม ผม – ซึ่งดูจะไม่ค่อยเศร้าเสียใจ และดูจะใกล้ชิดกว่า – จึงมีหน้าที่ให้ข้อมูล เจรจา ประสานงานต่างๆ ซึ่งสืบเนื่องมาเป็นสิ่งที่ต้องทำในวันศุกร์

ไม่ใช่แค่ “ดูจะไม่ค่อยเศร้าเสียใจ” แต่ผมรู้สึกจริงๆ ว่า ในกรณีนี้ การจากไปเป็นทุกข์น้อยกว่าการอยู่ต่อ เขาเป็นเบาหวานอยู่ก่อน และเห็นว่าการตรวจหัวใจก็ให้ผลไม่ค่อยดีนัก ประมาณสองเดือนก่อนหน้านี้ ก็พบมะเร็งในคอระยะลุกลาม เขาตัดสินใจไม่ผ่าตัด (ซึ่งในกรณีที่ได้ผลดี เขาอาจจะมีชีวิตต่อไปได้ประมาณสิบปี โดยที่ต้อง “ฝึกพูด” ใหม่) และลองบำบัดรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ

สองสัปดาห์มานี้ เขากินได้น้อยลงกว่าที่เคยน้อย และสาเหตุตามที่แพทย์สถาบันนิติเวชระบุว่า “ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเฉียบพลัน” ก็ยุติวันเวลาในชีวิตของเขาลงสองวันก่อนครบ 55 ปีเต็ม

วันนี้ – 13 พฤศจิกายน เป็นวันครบรอบวันเกิดของเขา
#

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

12-11-10

photo © 2008 vittis m. | more info (via: Wylio)


เมื่อเดือนที่แล้ว มีคนเห่อทำโน่นบ้าง นี่บ้าง อะไรบ้าง เนื่องในวันที่ 10 เดือน 10 ปี 2010 กันเยอะทีเดียว เพราะเลขชุดแบบนี้ ร้อยปีจึงจะมีมาสักครั้ง

ผมคิดเรื่องบล็อกมาได้ระยะหนึ่ง แต่คิด คิด เท่าไร ก็คิดไม่เสร็จเสียที ฤกษ์เปิดบล็อก 10-10-10 จึงเชิดผ่านหน้าผมไปแบบไม่ปลายตามองด้วยซ้ำ ครั้นจะรอวันที่ 11 เดือน 11 ปี 2011 ก็ออกจะนานเกินไป ไฟที่พอจะมีอยู่บ้างคงจะมอดไปเสียก่อน

จนเมื่อ “คิดได้” และพอจะทำความเข้าใจกับกระบวนการต่างๆ นานา ได้มากขึ้นอีกนิด ปรับโน่นทำนี่ได้ดังใจขึ้นอีกหน่อย ปฏิทินก็เป็นวันที่ 11 เดือน 11 แต่ผมคิดว่าอีกหนึ่งวันให้หลัง - วันที่ 12 เดือน 11 ปี (20)10 หรือ 2010-11-12 แลดูสวยงามกว่า

จึงได้ฤกษ์เปิดหน้าบล็อกออกมาวันนี้

แม้จะคิดนาน แต่ก็เป็นเพราะผมเป็นคนคิดช้า ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรใหญ่โตมหาศาล ความตั้งใจในเบื้องต้น ก็เพียงเพื่อเป็นที่เก็บรวมงานเขียนสารพัดสารพัน ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง แต่ระหว่างกระบวนการที่ (น่าจะ) ต้องใช้เวลามากทีเดียว และเพื่อไม่ให้บล็อกเป็นตู้เก็บเอกสาร หรือ “สุสานต้นฉบับเก่า” ผมก็จะใช้พื้นที่บล็อกนี้บันทึกเรื่องราว-มุมมอง-ความคิด ที่ผ่านเข้ามาใน “หน้าต่างชีวิต” เท่าที่คิดว่าน่าจะพอมีความหมายอยู่บ้าง สำหรับผู้ที่เข้ามาอ่าน

และจะยิ่งยินดีสำหรับการแลกเปลี่ยน-ทักทายกัน