วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เทย์เลอร์ สวิฟต์-ดิจิทัลดาวน์โหลด-การดำรงอยู่ของร้านซีดี


ซิงเกิ้ลใหม่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ – “We Are Never Ever Getting Back Together” เปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 13 (หรือ 14 สิงหาคม – ขึ้นอยู่กับไทม์โซนที่เราใช้นับ) และใช้เวลา 50 นาที ก็ขึ้นอันดับหนึ่งซิงเกิ้ลชาร์ตของ iTunes พร้อมกับลบสถิติเดิมหนึ่งชั่วโมงที่เลดี้ กาก้า เคยทำไว้กับเพลง “Born This Way” ไปได้ทันที
            จากจุดนั้น ซิงเกิ้ลเพลงชื่อยาวที่เรียกกันย่อๆว่า “WANEGBT” ก็สร้างสถิติใหม่รายทาง ด้วยการเป็นซิงเกิ้ลที่ขายเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงยุคดิจิทัล ขึ้นอันดับหนึ่ง iTunes รวม 32 ประเทศ และนอกจากสถิติอีกมากในชาร์ตเพลงแยกย่อย เพลงนี้ยังส่งเทย์เลอร์ สวิฟต์ ขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ต Billboard Hot 100 เป็นครั้งแรก นับเป็นเพลงท็อปเท็นเพลงที่ 11 ของเธอ ซึ่งเทียบเท่ากับสถิติสูงสุดในสายศิลปินเพลงคันทรี่ที่เคนนี รอเจอร์ส เคยทำไว้ ทั้งหมดนี้มาจากยอดขายดิจิทัลดาวน์โหลดล้วนๆ
            ใน Hot Digital Songs ซึ่งเป็นชาร์ตเพลงดิจิทัลโดยเฉพาะ ตัวเลข 623,000 ดาวน์โหลด เป็นทั้งยอดขายสูงสุดในสัปดาห์แรก และยอดขายสูงสุดในสัปดาห์ใดๆ สัปดาห์เดียว สำหรับเพลงของศิลปินหญิง ลบสถิติเดิมของเลดี้ กาก้า (เพลง “Born This Way” สัปดาห์แรก 448,000 ดาวน์โหลด) กับ เคชา (เพลง “Tik Tok” ในสัปดาห์ที่ขายมากที่สุด 610,000 ดาวน์โหลด) สัปดาห์ถัดมา “WANEGBT” ยังทำยอดดาวน์โหลดได้กว่า 300,000 ครั้ง รวมเป็น 930,000 ดาวน์โหลด
            ที่ยกเอาสถิติใหม่ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ มาเกริ่นเสียยาว จะถือว่าเป็นอารมณ์ติดพันจากการที่เลือกผลงานของเธอเป็นหนึ่งใน 5 ชอบ เมื่อฉบับที่แล้ว ก็คงจะได้ แต่วัตถุประสงค์จริงๆ ก็เพื่อนำทางไปสู่เรื่องของธุรกิจเพลง ดิจิทัลดาวน์โหลด และร้านขายแผ่นเสียง ที่ยังคงมีหลายแง่มุมน่าสนใจสำหรับคนรักเพลง-ฟังเพลงอย่างเราๆ
ช่วงปลายๆ เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา mashable.com เผยแพร่อินโฟกราฟิกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า How the internet has rockedthe music industry ซึ่งเป็นแผนภูมิข้อมูลที่สรุปทิศทางธุรกิจดนตรีในศตวรรษใหม่ได้อย่างรวบรัดหมดจดทีเดียว
            ประเด็นใหญ่คือการดาวน์โหลดเพลงออนไลน์และการสตรีมมิงเพลงให้เราได้ฟังกันแบบทันทีทันใจในโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ได้เปลี่ยนวิธีซื้อ-ขายและฟังเพลงไปอย่างไร มีผลกระทบอะไร และใครได้-ใครเสีย แน่นอนที่สุดว่า ผู้ที่รับผลกระทบไปก่อนและรับไปเต็มๆ เลยก็คือร้านขายซีดี ซึ่งในช่วงปี ค.ศ. 2000-2010 มียอดขายลดลงไปกว่า 76% และคาดว่านับจากปี 2011 ไปจนถึง 2016 จะลดลงไปอีก 77.4% สอดคล้องกับยอดขายซีดีแบบอัลบั้มที่ลดลงไป 50% ในช่วงปี 2000-2009
            จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สำนักวิจัยธุรกิจไอบิสเวิร์ลด์ ยกให้ธุรกิจค้าปลีกซีดีเป็นหนึ่งในสิบธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ตายไปแล้วหรือกำลังจะตายไปอย่างรวดเร็ว
อินโฟกราฟิกสรุปทิศทางธุรกิจดนตรีในศตวรรษใหม่ที่สื่อ
ออกมาได้รวบรัดชัดเจนดีมาก (เข้าไปดูได้ที่
http://mashable.com/2012/07/24/music-sales-decline/)
            สัญญาณชัดเจนที่อินโฟกราฟิกชิ้นนี้หยิบมาแสดงก็คือ ลำดับเวลาการล้มละลายหายไปของเครือข่ายร้านซีดีใหญ่ๆ เช่น HMV ปิดร้านทั้งหมดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2004 สองปีต่อมา ทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ ก็ปิดร้านทั้ง 89 แห่งในสหรัฐฯ ตามไปอีกราย หลังจากที่บริษัทแม่ได้ยื่นขอล้มละลาย ตามหลังเครือข่ายร้านแซม กูดีส์ ที่ยื่นขอล้มละลายไปก่อนแล้ว และในปี 2009 อีกเช่นกันที่เวอร์จินปิดกิจการร้านเมกะสโตร์ทั้งหมดในอังกฤษ
            ตรงนี้ขอขยายภาพเพิ่มเติมอีกนิดว่า แม้จุดหลักของสัญญาณเหล่านั้นที่แสดงในอินโฟกราฟิกได้เน้นไปที่สหรัฐฯ และอังกฤษ ซึ่งเป็นสองตลาดหลัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าตลาดอื่นจะแตกต่างกัน เช่น ในกรณีของ HMV ของอังกฤษ ได้ปิดร้านทั้งหมดในเยอรมันไปก่อนที่จะปิดร้านในสหรัฐฯ เสียอีก หลังจากนั้นก็ขายกิจการในออสเตรเลียเมื่อปี 2005 ส่วนในญี่ปุ่นที่ยังมีชื่อนี้อยู่ ก็ขายกิจการไปตั้งแต่ปี 2007 เช่นเดียวกับที่แคนาดาเมื่อปีที่แล้ว ปัจจุบัน ฐานที่มั่นที่หดเล็กลงเรื่อยๆ ของ HMV เหลืออยู่แต่ในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ฮ่องกง และสิงคโปร์
            ส่วนทางด้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ ของสหรัฐฯ หลังยื่นขอล้มละลายในส่วนร้านค้าปลีก ก็ได้ปรับรูปแบบไปเป็นร้านค้าออนไลน์ไปแล้ว ร้านที่เหลืออยู่ 5 แห่งในเม็กซิโก และ 2 แห่งในไอร์แลนด์ เป็นร้านที่ซื้อสิทธิ์เฉพาะการใช้ชื่อเดิมเอาไว้ ส่วนที่มีอยู่มากหน่อยในญี่ปุ่นนั้น กลุ่มผู้บริหารในญี่ปุ่นได้ซื้อกิจการและแยกเป็นอิสระมาตั้งแต่ปี 2002
            แซม กูดีส์ เป็นเครือข่ายร้านขายซีดีที่เราไม่คุ้นเคยด้วยเท่าไหร่ แต่เป็นเครือข่ายร้านขนาดใหญ่ของกลุ่มมิวสิคแลนด์ในสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่เฟื่องฟูที่สุดมีร้านค้าปลีกทุกแบรนด์รวมกันมากกว่า 1,300 ร้าน แต่เมื่อธุรกิจมีปัญหา ไม่เพียงแต่ร้านแซม กูดีส์เท่านั้นที่หายไป มิวสิคแลนด์ยังขายกิจการออกไปทั้งหมด
            ที่ยังดูดีบ้างอยู่ก็คือ เวอร์จินเมกะสโตร์ ซึ่งยังมีร้านค้าอยู่มากกว่า 100 สาขา ในฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และในตะวันออกกลาง ทั้งยังมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีกหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ในพื้นที่ที่เวอร์จินเมกะสโตร์เคยเฟื่องฟู ทั้งอังกฤษ สหรัฐฯ และโซนเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนที่บริหารโดยเวอร์จินกรุ๊ปของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ทยอยปิดกันไปหมดแล้ว ในญี่ปุ่นก็แปลงโฉมเป็นสึทะยะ ส่วนที่เหลือก็แยกเจ้าของและผู้บริหารกันไปเป็นรายประเทศ
ในขณะที่ยอดขายแผ่นเสียงลดลง ยอดดาวน์โหลดเพลงแบบถูกกฎหมายก็โตขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขล่าสุดของปี 2011 ยอดขายซีดีลดลง 5% แต่ยอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้น 8.4% และเมื่อข้ามมาเดือนมกราคม 2012 ยอดขายแบบดิจิทัลดาวน์โหลดก็มีส่วนแบ่งในตลาดเพลงรวมเพิ่มขึ้นเป็น 50.3% เอาชนะยอดขายแผ่นเสียงทุกรูปแบบรวมกันได้เป็นครั้งแรก
            เมื่อย้อนกลับไปถึงวันที่โลกเริ่มรู้จักไฟล์เพลง MP3 และการแชร์ไฟล์เพลงผ่านแนปสเตอร์ ก็ใช้เวลามากกว่า 10 ปีกว่าที่เพลงในรูปแบบดิจิทัลจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เป็นความจริงที่ว่า ถ้านับเอาการดาวน์โหลดที่ละเมิดลิขสิทธิ์รวมด้วย เพลงในรูปแบบดิจิทัลชนะไปนานหลายปีแล้ว แต่การนับแบบนั้นก็ไม่ได้มีความหมายมากนักในแง่การศึกษารูปรอยธุรกิจดนตรี นอกไปจากการสะท้อนความพร้อมและความสามารถในการละเมิดลิขสิทธิ์ของเราเอง
            ต้องยอมรับว่าในช่วงก่อนขึ้นศตวรรษใหม่ เครื่องเล่นไฟล์เพลง MP3 อย่าง Rio รวมทั้งเครื่องซีรี่ส์ต่างๆ ของบริษัทไอริเวอร์แห่งเกาหลี และครีเอทีฟของสิงคโปร์ มีผลต่อความนิยมในไฟล์เพลง MP3 ที่ขยายกว้างออกไปจากการฟังผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ และเปลี่ยนแบบแผนการฟังเพลงอย่างมีนัยสำคัญ จากนั้นเครื่องเล่น iPod และระบบนิเวศของการแปลงไฟล์-ริพแผ่น-ซื้อขายเพลงในชื่อ iTune ของแอปเปิ้ล ก็มาต่อยอดและปรับโครงสร้างให้คนฟังเพลง-ศิลปิน-บริษัทแผ่นเสียงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสมประโยชน์กันทุกฝ่าย
            แต่การซื้อขายเพลงในรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากแผ่นซีดีเป็นดิจิทัลดาวน์โหลด ก็ได้เปลี่ยนแบบแผนการฟังและการซื้อขายเพลงไปด้วย กรณีของเพลง “WANEGBT” ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนว่าการขายซิงเกิ้ลกลับมามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
            จนถึงขณะนี้ ซิงเกิ้ลที่มียอดดาวน์โหลดเกิน 5 ล้าน มีมากกว่า 80 เพลง (เทียบกับซิงเกิ้ลในยุคแผ่นไวนิล 7 นิ้วและซีดีซิงเกิ้ล มีอยู่ประมาณ 110 เพลง) เฉพาะเพลงที่ดาวน์โหลดกันเกิน 10 ล้านครั้ง ก็เป็นเพลงที่ออกในช่วงปี 2010-2011 ไปแล้ว 4 เพลงจาก 9 เพลง ที่เหลือก็ไม่เก่าไปกว่าเพลงของปี 2006 สถิติและแนวโน้มเช่นนี้ แม้จะไม่ถึงขั้นย้อนยุคกลับไปสู่ยุคบุกเบิกร็อคแอนด์โรลล์ตอนกลางทศวรรษ 1950 ก็ตาม แต่ก็ท้าทายศิลปินที่มุ่งทำเพลงขายทั้งอัลบั้มมากขึ้นเรื่อยๆ
            การที่กรีนเดย์ประกาศออกอัลบั้มไตรภาค 3 แผ่น ในชื่อ ¡Uno!, ¡Dos!, และ ¡Tré! ซึ่งจะไล่เรียงกันมาตามลำดับในวันที่ 25 กันยายน, 13 พฤศจิกายน ปีนี้ และ 15 มกราคม ปีหน้า จึงถือว่าเป็นความทะเยอทะยานที่ท้าทายวงการดนตรีมากที่สุดในรอบหลายๆปี และน่าติดตามดูผลลัพธ์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเตร็ดเตร่อยู่ทางตอนบนของเกาะคิวชู ของแถมที่ได้มาจากการเดินทางคือการสำรวจร้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
            ผมเคยเข้าทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์ซึ่งหาเจอได้ไม่ยากในโตเกียว ในโอซาก้า แต่ไม่คิดมาก่อนว่าในเมืองที่มีขนาดเป็นอันดับ 8 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 1,500,000 คน อย่างฟุกุโอกะ จะมีร้านทาวเวอร์ฯ กระจายอยู่อย่างน้อยที่สุดเท่าที่เห็นก็ 3 แห่ง และเมืองที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคนอย่างนางาซากิ ก็ยังมีทาวเวอร์ฯ อย่างน้อย 1 สาขาเปิดรับผมอยู่ที่สถานีรถไฟ
แอบถ่าย (เพราะขอแล้วทางร้านไม่ยอมให้ถ่าย) ร้านทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
ในย่านเทนจิน ฟุกุโอกะ
            เท่าที่สำรวจดูในร้าน และกลับมาค้นข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ผมแน่ใจว่า นอกจากญี่ปุ่นจะกลายเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของร้านแผ่นเสียงในชื่อนี้แล้ว ยังน่าจะเป็นฐานที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับธุรกิจค้าปลีกซีดีด้วย เหตุผลไม่ได้มีเฉพาะแต่จำนวนสาขาของทาวเวอร์ฯ ประมาณ 80 แห่ง แต่ยังยึดโยงกับวิธีการฟังเพลง-ซื้อเพลง และน่าจะเลยรวมไปถึงวัฒนธรรมการฟังเพลงของคนที่นั่นด้วย
            แน่นอนว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้ล้าหลังทางเทคโนโลยีแน่ๆ แต่สิ่งที่คนญี่ปุ่นมีคือวัฒนธรรมการฟังเพลงแบบจริงจัง ด้านหนึ่งนั้นอย่างที่เรารู้กันว่านี่คือประเทศที่มีนักฟังเพลงระดับออดิโอไฟล์ที่เอาจริงเอาจังกับคุณภาพเสียงมากที่สุดประเทศหนึ่ง อีกด้านหนึ่งคือการศึกษาทางดนตรี ซึ่งอย่างเป็นทางการนั้นเราเห็นได้จากเยาวชนของเขาที่มีพื้นฐานทางดนตรีและการเล่นดนตรีในระดับดีเยี่ยม และอย่างไม่เป็นทางการนั้น อาจเห็นได้จากร้านอย่างทาวเวอร์เร็คคอร์ดส์
            ร้านที่ผมเข้าไปสำรวจอยู่ในย่านเท็นจิน มีอยู่สองชั้น พื้นที่รวมกันน่าจะมากกว่าทาวเวอร์ฯ สยามเซ็นเตอร์  (ถ้าหากความจำผมยังพอใช้อ้างอิงได้) ชั้นล่างเป็นเพลงญี่ปุ่น ชั้นบนเป็นเพลงนานาชาติ จุดสนใจแรกสุดที่ดึงดูดผมเข้าไปก็คือแผนกหนังสือ นิตยสารและหนังสือดนตรีโดยเฉพาะดนตรีตะวันตก แต่พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น – มีเยอะมาก
            หากนั่นยังไม่พอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยฟังเพลงมากกว่าเพื่อความบันเทิง ลองเชื่อมโยงกับการดิสเพลย์แผ่นซีดีแนะนำดนตรีแขนงต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากกว่าที่ผมเคยเห็นหรือเคยคิด สมมติว่าผมอยากจะทำความรู้จักกับเพลงยุคบิ๊กแบนด์ ผมก็สามารถเริ่มต้นจากงานรวมเพลงของยุคนั้นที่คัดสรรค์ออกมาเป็นซีดีชุด 4 แผ่น ราคาประหยัดเหมาะกับผู้เริ่มต้น ถ้าเกิดชอบใจแล้วก็สามารถมาตามหางานของศิลปินคนที่ชอบเป็นพิเศษ ซึ่งจัดหมวดหมู่เอาไว้เป็นระเบียบและมีให้เลือกมากพอในเกือบทุกแนวเพลง
            คงเป็นด้วยเงื่อนไขและวิธีการเช่นนี้เอง ร้านซีดีในญี่ปุ่นจึงยังตั้งมั่นและคงอยู่อย่างมีชีวิตชีวา
#
7 กันยายน 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 24 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2555)

วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Half Full - Half Empty

หลังจากน้ำท่วมใหญ่-เพียงเพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลว-เมื่อปีที่แล้ว 
ทำให้เราพะวงและหวาดผวากับปัญหาน้ำท่วมกันจนอาจจะลืมปัญหาคู่ขนานในด้านกลับ 
คือภัยแล้งและการขาดเแคลนน้ำ ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในการเสวนาของ สสส. เรื่อง
"ผสานพลังคนทำงานเพื่อพัฒนานักจัดการงานทางสังคม"
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงสถานการณ์แวดล้อมของโลก
ในอีก 20 ปีข้างหน้าว่า ขณะนี้ประชากรโลก 600 ล้านคนใน 21 ประเทศ กำลังขาดแคลนน้ำ
และพื้นที่เกษตร ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจกลายเป็น 1,400 ล้านคนใน 36 ประเทศ 
ที่ประสบภาวะขาดแคลน
และคาดการณ์ได้ว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งขั้วเก่าและขั้วใหม่อย่าง จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล นอกจากจะแย่งชิงแร่ธาตุ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติกันแล้วจะหันมาแย่งชิงน้ำด้วย 

อ่านข่าวการเสวนาแล้ว ผมก็นึกถึงต้นฉบับที่เคยเขียนไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
และคิดว่าน่าจะยังมีประโยชน์ต่อการอ่านอยู่บ้าง-ตามควร

Photo Credit: http://www.guardian.co.uk
ทฤษฎีน้ำครึ่งแก้วใช้จำแนกคนมองโลกในแง่ดี กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย เป็นการอุปมาเพื่อสะท้อนว่าในสถานการณ์หนึ่งๆ คนเราอาจเห็นต่างกันไปได้คนละปลายขั้ว และในยุคสมัยหนึ่งก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่น่าตื่นเต้นในการสร้างแรงขับทางธุรกิจเพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส
            แต่ก็เหมือนกับเนยแข็งที่หายไปและก่อให้เกิดคำถามว่า “Who Moved My Cheese?” มาจนถึงการดั้นด้นไปกลางท้องทะเลลึกตามแนวกลยุทธ์ “Blue Ocean Strategy” และอีกมากกว่ามาก ซึ่งวูบวาบเจิดจ้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วแล้ววูบดับลับเลือนในเวลาไม่นานนัก ไม่ใช่ว่าทฤษฎีและกรอบคิดเหล่านี้ไม่ดีพอหรือไม่มีประโยชน์ แต่ความพยายามที่จะลดทอนเงื่อนไขปัจจัยเกี่ยวข้อง เพื่อให้ง่ายแก่การกระตุ้นจิตใจและอธิบายผลสัมฤทธิ์ตามกรอบความคิดนั้น ได้สร้างกรอบครอบการรับรู้เอาไว้อย่างจำกัด เมื่อสถานการณ์จริงของธุรกิจ ชีวิต และโลก เปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้นและซับซ้อนขึ้น กรอบคิดและทฤษฎีเดิมก็ดูจะด้อยค่าไปอย่างรวดเร็ว เปิดทางให้กับกรอบคิดและทฤษฎีที่ไม่มีอะไรใหม่มากไปกว่าการอุปมาด้วยภาษาและเงื่อนไข-สถานการณ์จำลองที่ร่วมสมัยกว่า
            ในแง่นี้ ข้อโต้แย้งเก่าแก่-หรือแม้กระทั่งการเสียดสีล้อเลียน-ต่อทฤษฎีน้ำครึ่งแก้ว จึงสามารถสะท้อนมูลเหตุแห่งความไม่ยั่งยืนของทฤษฎี ในขณะเดียวกันก็ชี้แสดงว่า หากเราไม่จำกัดกรอบคิดไปตามเงื่อนไขและอุปมา เราสามารถใช้กรอบคิดและทฤษฎีที่แม้ดูเหมือนไร้ประโยชน์ไปแล้ว ให้เป็นจุดตั้งต้นของการแตกขยายทางความคิดที่หลากหลาย และเอามาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ในบริบทที่แตกต่างกัน
ข้อโต้แย้งพื้นฐานต่อทฤษฎีน้ำครึ่งแก้ว ก็คือความคาดหวังคำตอบเพียงสองแบบเป็นการปฏิเสธการมีอยู่จริงของมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย และไปตีกรอบจำกัดศักยภาพการใช้ประโยชน์ของทฤษฎีนี้
            คนที่ปฏิเสธการมองโลกในแง่ดีและร้าย แต่พอใจจะนิยามตัวเองว่าเป็นคนที่มองโลกในแง่จริง บอกว่าไม่สำคัญหรอกว่า มีน้ำตั้งครึ่งแก้วหรือ เหลือน้ำอยู่ครึ่งเดียวเพราะความจริงง่ายๆ คือ ขณะนี้มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วบางคนขยายความต่อไปว่า ถ้ามันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องยืนยันความถูกผิดของสองคำตอบนั้น ก็ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าน้ำในแก้วเกิดจาก การรินใส่เข้าไป หรือเป็นน้ำหลังจาก การดื่มพวกเพอร์เฟคชันนิสต์ก็อาจจะถาม (แทนที่จะตอบ) ถึงความถูกต้องแม่นยำว่า  มันอาจจะขาดไป 5 ซีซี หรือเกินไป 8 ซีซี ก็ได้
            ยังมีคนที่มองดูน้ำมองดูแก้ว แล้วก็เห็นว่าแก้วน้ำใหญ่เกินจำเป็นสำหรับน้ำในปริมาณขนาดนั้น ฝ่ายเต๋ากลับมองเห็นส่วนที่ว่างเปล่าของแก้วซึ่งขับเน้นประโยชน์และโอกาส เหมือนกับหน้ากระดาษที่ยังว่างให้เราจดบันทึก แต่นักวิทยาศาสตร์แย้งว่ามีอากาศอยู่ในส่วนที่เห็นเป็นความว่างเปล่า และถ้าปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้นน้ำก็จะระเหยหายไปจนหมด มีคนเสริมว่า อาจไม่ต้องรอนานขนาดนั้น เดี๋ยวก็คงมีคนซุ่มซ่ามทำแก้วแตก หรือไม่ก็มีใครสักคนเดินเข้ามาบอกว่า ข้อถกเถียงทั้งหมดนั้นล้วนไม่เป็นแก่นสารและไม่เกิดประโยชน์ เพราะน้ำดื่มมีไว้เพื่อดื่มดับความกระหาย
            แล้วก็ยกขึ้นดื่มจนหมดแก้ว
โลกวันนี้ก็เหมือนแก้วที่มีน้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งการมองในแง่ดีว่ายังมีน้ำอีกตั้งครึ่ง หรือมองในแง่ร้ายว่าเหลือน้ำอยู่เพียงครึ่งเดียว ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ถ้าคติและมุมมองนั้นไม่นำไปสู่การแตกขยายความคิดและการกระทำ
            การมองในแง่ดีอาจให้ผลเชิงบวก ถ้าเรามองว่าปริมาณน้ำที่มีอีกตั้งครึ่งให้เวลาเรามากขึ้นสำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปริมาณการใช้น้ำ มีเวลามากขึ้นสำหรับการหาน้ำมาเพิ่ม การมองโลกในแง่ร้ายก็อาจให้ผลเชิงบวกยิ่งกว่า ถ้าทำให้เราเร่งกระตุ้นตัวเองถึงความจำเป็นในการจัดหาน้ำและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเดียวกัน การมองทั้งสองแง่ก็อาจให้ผลเชิงลบ ถ้าทำให้เราหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตเพราะคิดว่าจะไม่มีน้ำให้เรายังชีพไปได้นาน หรือทำให้เราคิดว่าน้ำในปริมาณขนาดนี้เพียงพอให้เราดื่มใช้ไปชั่วชีวิตเรา แต่ถ้ามันเกิดปัญหาขาดแคลนจริงๆ ก็ต้องมีคนอื่นที่เดือดร้อนก่อนเราและตายไปก่อนเรา แล้วเมื่อถึงตอนนั้นก็คงมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนคุณสมบัติน้ำทะเลมาเป็นน้ำดื่มน้ำใช้ หรือสามารถต่อท่อส่งน้ำมาจากดาวดวงอื่น ไม่เห็นจะต้องตีตนไปก่อนไข้
            คำถามของพวกเพอร์เฟคชันนิสต์หรือนักวิชาการเคร่งข้อมูล ก็มีประโยชน์ ถ้าหากว่ามันนำไปสู่การคำนวณปริมาณน้ำที่แม่นยำ และคาดประมาณให้คนทั้งโลกได้ตระหนักว่าเราจะเผชิญวิกฤตน้ำในระดับไหน ณ เวลาใด หรือแม้กระทั่งความเป็นไปได้ที่จะมีใครสักคนเดินเข้ามาคว้าแก้วน้ำไปดื่มคนเดียวจนหมด ก็สามารถนำไปสู่การบริหารจัดสรรน้ำเพื่อทุกคน
เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนที่น้ำดื่มบรรจุขวดในเมืองไทยเริ่มมีราคาแพงพอๆ กับน้ำมัน องค์การอนามัยโลกเคยฉายภาพอนาคตของสภาวะโลกในปี 2020 เอาไว้ 3 แบบ มีทั้งการคาดการณ์ทางบวก ทางลบ และกลางๆ แต่ทุกแบบระบุปัญหาพื้นฐานทางนิเวศวิทยา ภาวะแวดล้อม และการขาดแคลนทรัพยากร ไว้คล้ายๆ กัน ต่างกันตรงที่โอกาสในการแก้ปัญหา
            ในเรื่องของน้ำ ปี ค.ศ. 2020 จะเกิดวิกฤตอย่างรุนแรงใน 300 เมือง ก่อนจะถึงเวลานั้น เมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง ไคโร กัลกัตตา คาร์ดีฟ ดักกา ฮุสตัน จาการ์ตา การาจี ลอสแอนเจลิส เม็กซิโกซิตี้ มุมไบ เซี่ยงไฮ้ เซาเปาโล เทลอาวิฟ จะนำร่องไปสู่ภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2010
            สงครามและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชากร ผู้บริโภคกับกลุ่มทุน ประชาชนกับรัฐ และระหว่างประเทศต่อประเทศ ในช่วงต่อไปจะรวมศูนย์อยู่ที่การแย่งชิงน้ำ ซึ่งถ้าดูจากสถานการณ์ปัญหาเรื่องน้ำที่ทาง International Networks Archive ประมวลสรุปออกมาเป็นแผนที่ชื่อ “Glass Half Empty: The Coming Water Wars” ในปี 2003 ดูเหมือนว่าสงครามน้ำจะเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง เพราะข้อมูล ณ ปีนั้นระบุว่ามีคนมากถึง 1,300 ล้านคนเข้าไม่ถึงน้ำสะอาด คน 2.2 ล้านตายด้วยโรคเกี่ยวกับสุขอนามัยและน้ำที่ไม่สะอาด ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ทุกๆ นาทีที่ผ่านไป มีคนตาย 7 คนจากปัญหาน้ำสกปรกหรือขาดน้ำ
            เอเชียโดยเฉพาะตะวันออกกลาง กับแอฟริกา เป็นสองพื้นที่ที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำอย่างรุนแรง เพราะเอเชียมีประชากรถึง 60% ของประชากรโลก แต่มีแหล่งน้ำในปริมาณเพียง 36% ส่วนแอฟริกามีประชากร 13% น้ำ 11% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีกว่ายุโรป (ประชากร 13% น้ำ 8%) แต่แอฟริกามีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการกระจายและจัดสรร ในขณะที่ยุโรปทดแทนด้วยการจัดการและเทคโนโลยี
            สถานการณ์ความขาดแคลนและขัดแย้งจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อแต่ละประเทศ (หรือแม้แต่ชุมชน-พื้นที่) ที่อยู่ต้นน้ำจะตักตวงเอาประโยชน์จากแหล่งน้ำที่มีให้มากที่สุด ที่เกิดขึ้นแล้วและใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในจีน ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
น้ำเป็นหนึ่งในสิทธิพื้นฐานของมนุษยชน ซึ่งปฏิญญาที่เกิดขึ้นในยุคหลังได้รับรองความเข้าใจเก่าแก่ของคนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ว่าน้ำ แม้จะไม่ใช่ของฟรี แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกระบบการค้า เช่นเดียวกับอากาศ
            แต่โลกาภิวัตน์และระบบตลาดเสรีกำลังเปลี่ยนให้น้ำเป็นสินค้า ด้วยการสนับสนุนและสร้างเงื่อนไขให้อย่างแข็งขัน จากธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ข้ออ้างอิงที่ดีคือฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตกที่ภาคเอกชนมีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมานาน แต่ต้องไม่ลืมว่า ยุโรปมีเงื่อนไขของขนาดประเทศ ความเป็นเมือง ความหนาแน่น สัดส่วนประชากรต่อปริมาณน้ำ และการกระจายรายได้-ทรัพยากรที่แตกต่างไปจากภูมิภาคอื่นของโลก การบริหารจัดการน้ำซึ่งทางหนึ่งเป็นธุรกิจที่ก่อกำไร แต่อีกทางหนึ่งก็วางอยู่บนฐานของอรรถประโยชน์สูงสุด ทั่วถึง และรู้ค่า ซึ่งสะท้อนผ่านอัตราการใช้น้ำต่อคนต่อปีของคนยุโรปที่ต่ำกว่าอเมริกาและแคนาดาหลายเท่า (ปี 2003 คนอเมริกันใช้น้ำมากกว่าคนฝรั่งเศส 2 เท่า มากกว่าคนเยอรมัน 3 เท่า มากกว่าคนเดนมาร์ก 8 เท่า)
            เงื่อนไขของยุโรปจึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเอเชีย แอฟริกา และประเทศด้อย/กำลังพัฒนาทั้งหลาย นอกจากนี้ กระบวนการแปรรูปในยุคหลังก็ไม่ใช่ผลผลิตของโลกทัศน์ ระบบคิด และเงื่อนไข-บริบทเฉพาะที่สั่งสม-สังเคราะห์กันมาในสังคมหนึ่งๆ แต่เป็นเงื่อนไขที่กำหนดโดยองค์กรเจ้าหนี้ เพื่อทำการส่งมอบทรัพยากรร่วมของคนทั้งชาติให้แก่คนกลุ่มเดียว และในหลายกรณี เป็นกลุ่มคนชาติอื่น
            เมื่อหลายปีก่อน เคยมีการศึกษาพบว่า ทุกเหรียญที่ประเทศด้อยพัฒนากู้ไปเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามกระแสโลก ต้องจ่ายคืนถึง 3 เท่า แต่สิ่งที่ได้คือช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ถ่างออก ความลำบากยากแค้นของกลุ่มคนด้อยโอกาส แลกกับความมั่งคั่งของกลุ่มทุนกับบรรษัทข้ามชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่รายงานเรื่องผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน จัดทำโดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในวอชิงตัน ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ระบุชัดเจนว่าภาวะขาดแคลนน้ำ นอกจากจะเป็นสาเหตุการตาย  สาเหตุของโรคและปัญหาสุขภาพ สาเหตุการอพยพย้ายถิ่นฐานแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งในสังคมและระหว่างประเทศ หากยังมุ่งแก้ปัญหาน้ำโดยการแปรรูป ก็จะเร่งให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
            ถึงที่สุดแล้วปัญหาเรื่องน้ำและทรัพยากรอื่น รวมถึงผลกระทบต่างๆ จากปัญหาโลกร้อน จะเป็นจัดรูปความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่ และอาจเป็นจุดจบของโลกาภิวัตน์
#
20 พฤศจิกายน 2550
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2550)

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

5 ชอบ 2554-2555

เหมือนอย่างที่เคยๆ ฉบับครบรอบปีที่ 23 ของ "สีสัน" เมื่อเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา 
มีนักวิจารณ์และคอลัมนิสต์หลากหลายแขนงมาบอกเล่าเรื่องราว/ผลงาน
อันเป็น "5ชอบ 5 ไม่ชอบ" ในรอบปีของแต่ละคน
และนี่คือส่วนที่เป็น "5 ชอบ" ของผมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554-ครึ่งแรกของปี 2555

กิติกร มีทรัพย์ มีงานเขียน งานแปล มายาวนาน หลากหลาย และมีแง่มุมที่น่าอ่านเสมอ ฐานที่ยึดโยงผลงานส่วนใหญ่ของเขาไว้ด้วยกันคือความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ในระดับที่เรียกได้ว่าสนิทสนมกันดีกับซิกมันด์ ฟลอยด์ เมื่อชื่อของเขาปรากฏอยู่ในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง “วาสิฏฐี ฉบับจิตวิเคราะห์” (สนพ.ปราชญาพับลิชชิ่ง) ผมก็แน่ใจว่าจะได้รู้จักกับ “วาสิฏฐี” ในแง่มุมที่อาจจะไม่เคยคิดคาดมาก่อน

นอกจากการวิเคราะห์ชีวิตและความรักของวาสิฏฐี คุณพี่กิติกรยังวิเคราะห์และขยายความเรื่องราวและตัวละครที่เกี่ยวข้องไว้อย่างกระจ่าง ทั้งยังเชื่อมโยงทฤษฎีของจิตเข้ากับหลักพุทธธรรมได้อย่างน่าสนใจ

ในอีกโลกหนึ่ง วิถีของบริษัทอย่างเดนท์สุก็น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะความใหญ่และความเก่าแก่ในวงการโฆษณา แต่อยู่ที่การพัฒนาแนวคิดด้านสื่อสารการตลาดที่ครอบคลุมและทันกับสื่อ-ยุคสมัย-จิตใจของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ นำเสนออย่างมีศิลปะ และวัดผลสำเร็จได้

“The Dentsu Way” (สนพ.เนชั่นบุ๊คส์) ฉบับแปลไทยโดย Shuriken by Dentsu Plus ได้ถ่ายทอดแนวคิดด้าน Cross Communication และโมเดล (หรือกลยุทธ์) ที่เรียกว่า Cross Switch รวมถึงกรณีศึกษาที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญๆ ในตลาดไว้อย่างละเอียด แม้จะมีความไม่ราบรื่นในการอ่านอยู่บ้าง แต่ก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการได้ทำความเข้าใจกับวิถีอันซับซ้อนที่การตลาดเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจที่ยากจะหยั่งถึงของคนเรา ในยุคสมัยของการสื่อสารที่หลากหลายและกระจัดกระจาย จากบทเรียนและประสบการณ์จริง

วัย 77 ของศิลปินอย่าง เลียวนาร์ด โคเฮน ก็มีเรื่องเล่าและประสบการณ์มากมาย ดังที่เขาเคยบอกเล่าผ่านเสียงเพลงและบทกวีมากว่า 51 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ “Old Ideas” (Columbia) พิเศษขึ้น (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผม) คืออารมณ์รวมของการย้อนมองและใคร่ครวญชีวิต – ไม่ว่าจะในแง่มุมของความรักความปรารถนา ความศรัทธาและล่อลวง อารมณ์ห่วงหาและอาลัย – ที่นำเสนออย่างเรียบ-ง่าย แต่ลึก-งาม สมความเป็นศิลปินและสมวัย
อีกเกือบขั้วปลายหนึ่งของวัย เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในวัย 20 ต้นๆ ยังคงเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นเยาว์ที่เติบโตอย่างงดงามทุกย่าวก้าว ด้วยความสามารถที่ครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่ต้องอาศัยโนมเนื้อและเรื่องอื้อฉาว

นอกเหนือจากความสามารถที่แสดงไว้ในสามอัลบั้มโดยไม่มีข้อสงสัยอะไรอีก เทย์เลอร์ได้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีคอนเสิร์ตผ่าน “Speak Now: World Tour Live” (Universal) บันทึกการแสดงสดจากทัวร์คอนเสิร์ตชื่อเดียวกันที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2011 ที่สิงคโปร์ กับอีก 5 เมืองในเอเชีย (ไม่มีประเทศไทย) 12 เมืองในยุโรป กว่า 50 เมืองในอเมริกาเหนือ และไปจบที่ออสเตรเลียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ที่มากกว่ารายได้ 123 ล้านดอลลาร์ และจำนวนผู้ชมรวมกว่า 1,600,000 คน คือการที่เธอตรึงคนดูหลักหมื่นและหลายหมื่นในแต่ละรอบได้อยู่ และ-น่าดูมากจริงๆ 

ส่วนเล่มนี้ ก็เป็นหนังสือที่เข้าข่าย “น่าดู” อยู่เหมือนกัน “วันที่รู้สึกดีๆ” (สนพ.สารคดี comics) รวมสิบเรื่องสั้นในรูปแบบการ์ตูนที่นำเสนอออกมาด้วยลายเส้นง่ายๆ แต่ฉายความละเอียดอ่อนไว้ชัดทั้งเส้นสายลายมือและเรื่องราวที่บอกเล่าแง่มุมงดงามของชีวิต เป็นงานที่ GPEN สามารถส่งผ่านความประทับใจของผู้เขียนให้ออกมาเป็นความรู้สึกที่ดีของผู้อ่านได้อย่างสวยงาม 

แถมท้ายด้วยอีกหนึ่งความรู้สึกดีๆ ในการอ่าน “Flipboard” เป็นแอปพลิเคชัน (ในแอนดรอยด์และไอโฟน) สำหรับการอ่านข่าวสาร-บทความตามหมวดความสนใจที่เราเป็นผู้เลือก แต่ด้วยเนื้อหาที่ทีมงานเป็นผู้คัดสรรจากสื่อชั้นนำหลากหลายมานำเสนอ เป็นประสบการณ์การอ่านที่แปลกใหม่และมีเรื่อง(น่าอ่าน)ให้แปลกใจได้เสมอ
3 สิงหาคม 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555) 

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (4)

จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ประเทศไทยยังคงจมอยู่ในปลักของการลบล้างความผิดให้ทักษิณและแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาอำนาจที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ปักหลักหมุดสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านการลงประชามติ
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ ศาล และองค์กรอิสระจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่นั่นก็เพราะการออกแบบโครงสร้างอำนาจอธิปไตย และการตรวจสอบ-ถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงสร้างที่ล้มเหลว
            จริงอยู่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากการแต่งตั้ง แต่ ส.ส.ร. 2550 ก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจน-กว้างขวางยิ่งกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่มักจะอ้างกัน (บ่อยครั้งที่อ้างโดยผู้ร่างเอง) ว่า “ก้าวหน้าที่สุด” และ “ดีที่สุดโลก”
            จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็โดยวิถีทางที่ถูกต้อง ตามกระบวนการที่กำหนด และไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติตามมาตรา 291 ที่ว่า “ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้”
            จึงเป็นเรื่องน่าขัน ที่ได้เห็นนักประชาธิปไตยผู้ชูธงคัดค้านรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร ล้วนกระหายอยากจะร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญกันเอง และรับรองกันเอง ในขณะที่พรรคการเมืองซึ่งอวดอ้างชัยชนะจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ ก็ไม่กล้าเผชิญหน้าการทำประชามติ
            ได้แต่อวดตรรกะโง่ๆ ว่า ศาลจะให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ
            ตอบแบบเด็กมัธยมต้น ก็คือ “ถ้าคนอยากแก้ก็ยังไม่รู้ แล้วจะขอแก้ทำติ่งหูอะไร”
๐ 
Credit: Praphol Chattharakul
ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญไม่เคยใช้เป็นสิ่งชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ อย่าว่าแต่ประเด็นปลีกย่อยเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญ
            โดยไม่สำคัญเลยสักนิดว่าเรามีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากน้อยขนาดไหน เพียงแต่ในหัวของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสมอง และในใจของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสติ เราย่อมรู้ว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นแม่แบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
            รู้ว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ใช้มา 225 ปีแล้ว โดยไม่มีใครประทับตราว่าเป็นรัฐธรรมนูญยุคทาส และไม่เคยต้องยกร่างใหม่ เพียงแต่แก้ไขเฉพาะส่วนให้เหมาะสมกับกาลสมัยและบริบทความสัมพันธ์ทางอำนาจต่างๆ ในสังคม
            และรู้ว่าญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 โดยที่ประชาชนของเขาไม่คิดว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญของผู้แพ้สงคราม
            แล้วเราก็พอรู้ – แม้เพียงเลาๆ ว่า – สถานะของรัฐธรรมนูญคือ การเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบรัฐ รูปแบบการปกครอง โครงสร้างและขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์และการถ่วงดุลระหว่างสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตย การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่การนำมาใช้ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
            ตามดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ที่สำรวจและจัดอันดับโดยหน่วยงานชื่อ “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต” ของนิตยสารอีโคโนมิสต์ (อันเป็นที่เคารพสักการะของพวกแดงซ้าย) ใช้ตัวชี้วัด 5 อย่างในการประเมินและให้คะแนน คือ กระบวนการเลือกตั้ง, การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวอาจสะท้อน-สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่เกณฑ์การให้คะแนนจริงๆ น่าจะอยู่ที่วิถีปฏิบัติในหัวข้อนั้นๆ
            ลองมาดูกรณีประเทศไทยในปี 2011 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 58 ด้วยคะแนน 6.55 น่าสนใจว่าตัวชี้วัดที่ฉุดดึงคะแนนความเป็นประชาธิปไตยไทย กลับเป็นเรื่องของ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, วัฒนธรรมการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ใช่กระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เสรีภาพที่เรียกหากันไม่หยุดหย่อน และยิ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลไม้พิษที่ชื่อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” ที่ใช้มา 5 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง
            แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงยุโรป, อเมริกา, ออสเตรเลีย เพราะคะแนนประเทศไทยยังต่ำกว่า ประเทศในละตินอเมริกาอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา ไปจนถึง โคลอมเบีย, เปรู ด้วยซ้ำ ในเอเชีย ถึงไม่เทียบกับ ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน คะแนนของเราก็ยังต่ำกว่าศรีลังกา (อันดับ 57 คะแนน 6.58) อยู่เล็กน้อย แต่เมื่อมองหาประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน ก็จะพบว่าอยู่ใต้เราทั้งหมด ทั้งอินโดนีเซีย (60/6.53), มาเลเซีย (71/6.19), ฟิลิปปินส์ (75/6.12), สิงคโปร์ (81/5.89), กัมพูชา (101/4.87), เวียดนาม (143/2.96), ลาว (156/2.10), พม่า (161/1.77) ส่วนบรูไนตกสำรวจ
            ทั้งโดยชีวิตจริงที่เราต่างก็ประสบ-สัมผัส-รับรู้ได้ ทั้งโดยการประมวล-วัดผลจากหน่วยงานที่ขายความน่าเชื่อถือของข้อมูล (ข้อมูลนะครับ ไม่ใช่ทัศนะ และอยู่ในเครือดิ อีโคโนมิสต์ ด้วยนะครับ-อย่าลืม) ต่างสอดคล้องตรงกันว่าระดับเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยไทยไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ก็ไม่วายมีพวกเสียจริตผลิตวาทกรรมออกมาล้างสมองพวกที่หัวด้านในกลวงไปหมดแล้วว่า ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยเท่าๆ กับเกาหลีเหนือ
            เกาหลีเหนือนั่นอยู่ก้นตารางครับ อันดับที่ 167 คะแนน 1.08
            ถ้าใครจะแย้งเรื่อง “เสียจริต” และ/หรือ “หัวด้านในกลวง” ผมแก้ใหม่ให้ตรงนี้เลยก็ได้ว่า พวกนี้คงโตมาแบบเก็บกด ในบ้านที่เลี้ยงดูกันมาแบบอำนาจนิยม ขาดความอบอุ่น ไม่ถูกปลูกฝังทั้งสติและปัญญา ถึงได้เรียกหาประชาธิปไตยไป สรรเสริญฮุนเซ็นไป (โอ้ว อยู่สูงกว่าเกาหลีเหนือตั้ง 60 กว่าอันดับ คะแนนก็มากกว่าตั้ง 4 เท่า เลยนะนั่น)
๐ 
รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ดี
            ส่วนที่ดีในรัฐธรรมนูญ 2540 คือกระบวนทัศน์ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งถือได้ว่าก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับเจตนารมณ์ในการสถาปนาประชาธิปไตยที่มั่นคง บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
            ปัญหาพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ 2540 คือการขัดกันในเชิงแนวคิดและปรัชญา ด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งตอบโจทย์เก่าแก่ของการเมืองไทย คือความไม่ต่อเนื่อง-ไม่มั่นคงของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายที่ได้ก็คือ การสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นคำตอบเดียวกับที่เคยเสนอกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 โดยมีช่วง 8 ปีของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นข้อพิสูจน์ว่าความต่อเนื่องมั่นคงทางการเมืองสามารถนำพาประเทศไทยก้าวไกลไปในหลายทิศทาง ปัญหาคือคำตอบของทศวรรษ 2520 อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับทศวรรษ 2540 และพฤติกรรมนักการเมืองไทยตลอดทศวรรษ 2530 ไม่ได้บ่งชี้ถึงโอกาสที่พวกเขาจะเป็นแนวหน้าของการพัฒนาประชาธิปไตยได้เลย
            ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์-ความคิดและจิตสำนึกทางสังคมในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ได้ฉายให้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคม และโอกาสของการเสริมสร้างพลังชุมชนควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจเพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืนกว่าของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เลือกเอาเสถียรภาพรัฐบาลและเสริมสร้างพลังอำนาจผู้นำฝ่ายบริหาร การเสริมสร้างพลังชุมชนก็กลายเป็นเรื่องของระบอบอุปถัมภ์ใหม่ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมกลายเป็นเรื่องของโครงสร้างการปกครองที่ทับซ้อนและอีลุ่ยฉุยแฉก ประชาสังคมก็อ่อนแอลงด้วยประชานิยมที่หยิบยื่นให้ตั้งแต่ยังไม่แบมือขอ
            ทุกอย่างเริ่มต้นมาตั้งแต่คดีซุกหุ้นในปี 2544 เมื่อทั้งการหว่านล้อมและการกดดันสารพัดวิธีการ โดยเฉพาะการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อ “ให้โอกาสทักษิณทำงาน” ได้แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็เพื่อที่จะฉีกมันด้วยมือเราเอง
            เมื่อเปรียบเทียบกัน รัฐธรรมนูญ 2550 แม้ไม่มีจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อให้ได้มา ไม่มีกระบวนการของการมีส่วนร่วมแต่ต้นทาง ไม่มีเจตนารมณ์ยิ่งใหญ่หรือกระบวนทัศน์กว้างไกล แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นพันธสัญญาจากการทำรัฐประหารที่มีประชาชนเห็นด้วย 84 เปอร์เซนต์ ผ่านการเห็นชอบด้วยประชามติ 14.7 ล้านคน เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-ที่เคยถูกฉีกทึ้งทำลายมาก่อนหน้านั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองและขยายขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปกว้างขวางยิ่งกว่าฉบับเดิม และอุดชันทุกรูโหว่ที่เปิดช่องให้อำนาจของเสียงข้างมากในรัฐสภาล้ำเข้าไปแทรกแซงเขตแดนอำนาจของฝ่ายและองค์กรอื่นๆ
            ความพยายามใดๆก็ตามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้ที่ให้การรับรองรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงไม่ได้แตกต่างการทำรัฐประหารที่เริ่มด้วยการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แต่ที่แย่กว่าการทำรัฐประหารครั้งหลังสุดก็คือ เพื่อสร้างอำนาจสถาปนาใหม่ที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
๐ 
จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ทุกเหตุการณ์ที่อยู่ในปลักโคลนของการต่อสู้เพื่อทักษิณ ล้วนพิสูจน์ชัดเจนว่าเขาต้องการกลับมาอย่างผู้พิชิต และจะไม่มีวันรามือตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่
            รัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบได้กับธงผืนใหญ่ที่ถูกชักชูขึ้นประกาศเสรีภาพเหนือระบอบทักษิณ และนับจากนี้ไป ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะยังชักชูธงผืนนี้กันต่อไป หรือดูดายให้เขาปลดลง
7 สิงหาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555)

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (3)

ปีพ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งที่(แม้)ผมไม่ได้เขียนเรียกหารัฐประหาร แต่(ในที่สุด)ก็(เสมือนหนึ่งว่า)สนับสนุนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน อยู่ดี 
            นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ข้อเขียนของผมบนพื้นที่ตรงนี้ [ภายใต้ชื่อคอลัมน์ “(I Can’t Get No) Satisfaction และยังอาจนับย้อนหลังไปถึงปลายๆ ยุคของ “ยิ้มทั้งน้ำตา”] โฟกัสอยู่ที่การต่อต้านทักษิณและระบอบทักษิณ ชิ้นที่ถือว่าเป็นการชักชูธงขึ้นมาให้เห็นกันชัดๆ เลยก็คือ “ฟักแม้ว” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 4/2548) ที่เขียนเปรียบเปรยและล้อกันไประหว่างชื่อพืชผักสวนครัว กับคำพ้องเสียงสองภาษา (อังกฤษ-ไทย, ตามลำดับ)
            โดยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับถึงบทความเมื่อกลางปี 2539 เรื่อง “Look Who's Talking Too (Much)” (สีสัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 8/2539) ที่ผมเคยสาธยายเอาไว้ชัดๆว่า คนอย่างทักษิณลวงโลกอย่างไร โกหกรายวันกันหน้าด้านๆ ขนาดไหน ท้ายเรื่อง “ฟักแม้ว” ผมก็บอกท่าทีของผมไว้ชัดและตรงว่า การแก้ปัญหา “สารพิษในฟักแม้ว” ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือวิธีที่เกษตรกรในบางพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรและอุทัยธานีได้ทำเป็นแบบอย่าง-โดยการรื้อถอนทำลายทั้งรากทั้งโคนจนหมดแปลง
            แปลชัดๆ ก็คือ เราปลูกเองได้ เราก็(ควรจะ)รื้อถอนทำลายเองได้
            ต่อมา ในเรื่อง “We Shall Overcome” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 8/2549) ผมมองภาพที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินคล้องแขนกันไปเปิดพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมประกาศเจตนารมณ์ “ทักษิณออกไป” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 แล้วนึกย้อนไปถึงเพลงที่ พีต ซีเกอร์ เรียบเรียงขึ้นใหม่จากเพลงกอสเพลตอนต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งกลายมาเป็นเพลงแห่งการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ และกลายเป็นเพลงเอกในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่โลกได้รู้จักจากการขับขานของ โจน บาเอซ ในการเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ในวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ที่มี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำ
            ผมโยงต่อเหตุการณ์และเพลงนั้นมาถึงเพลง “The Times They Are A-Changin’” กับท่อนที่ขึ้นต้นว่า “The line it is drawn, the curse it is cast” เพื่อจะบอกว่า “เส้นที่ไม่อาจหลบเลี่ยงถูกขีดไว้แล้ว” 
            เพียงแต่ว่า เมื่อเส้นนั้นปรากฏแสดงขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 มันไม่ใช่อย่างที่ผมหรือใครๆหลายคนนึกหวัง แต่เราก็ยอมรับมัน
๐ 
Credit:  chorchangsinging.blogspot.com
ผมนึกหวังอะไร? ยอมรับอะไร?
            ใน “สีสัน” ฉบับเดือนตุลาคม ปีนั้น (ปีที่ 18 ฉบับที่ 3/2549) ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง “Comes A Time” ว่า “สิ่งที่ปรากฏแสดงในรูปของรถถัง กองกำลัง และการยึดอำนาจ อาจไม่สวยงามเท่าความนึกฝันของคนที่ต่อสู้เรียกร้องเอาอนาคตของประเทศออกมาจากอุ้งมือทรราชจำแลง ที่วาดหวังว่าพลังมหาชนจะสามารถกำหนดลากเส้นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เอง แต่ในบริบทแคบๆ ของการทำรัฐประหาร ปฏิบัติการ 19/9/49 เป็นปฏิบัติการจริงที่งดงาม
            “ไม่ได้งดงามแต่ในเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งปราศจากการต่อสู้ปะทะ และการสูญเสียเลือดเนื้อ ไม่ได้งดงามด้วยดอกไม้และความชื่นชมยินดีของผู้คนที่เปลี่ยนบรรยากาศภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ยังงดงามอย่างยิ่งในแง่ที่สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด”
            มีข้อโต้แย้งมากมายจากคนที่ปฏิเสธรัฐประหาร โดยเฉพาะฟากฝั่งของทักษิณ ว่าสถานการณ์นองเลือดเป็นแค่จินตนาการของคนที่กวักมือเรียกทหารออกมายึดอำนาจ แต่ผมก็ยืนกลับไปตามที่เขียนไว้ในบทความเดียวกันนั้นว่า “สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด แต่ยังหมายความด้วยว่า เพราะมันไม่มีโอกาสได้เกิด”
            สองปีต่อมา เหตุการณ์เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเสมือน “ภาพจำลอง” ที่อาจพิสูจน์แสดงได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2549 ผมเขียนไว้ในเรื่อง “And a new day will dawn…” (สีสัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 3/2521) ว่า
            “7 ตุลาคม 2551 คือการฉายภาพต่อจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นภาพที่ผู้คัดค้านการทำรัฐประหารล้วนไม่คิดและไม่เชื่อว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เพียงเพราะว่ามันยังไม่เกิด
            “7 ตุลาคม 2551 คือภาพที่ฉายยืนยันการสถาปนาขึ้นมาของรัฐตำรวจ ที่ก่อร่างสร้างขึ้นอย่างมั่นคงนับจากการเถลิงอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นต้นมา
            “7 ตุลาคม 2551 ยังพิสูจน์ถึงธาตุความสามานย์สูงสุดของระบอบทักษิณที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อแสวง-รักษาอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน โดยปราศจากความรู้สึกผิดบาปโดยสิ้นเชิง”

            ที่จริง ผมควรจะยกมาเพียงแค่นี้ สำหรับประเด็นการรัฐประหารในแง่ที่ว่า “สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด” แต่เมื่ออ่านอีกบางย่อหน้าถัดไป...
            “การซุกหุ้น หลบเลี่ยงภาษี แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ขัดแย้ง แลกเปลี่ยนประโยชน์ชาติให้ได้ประโยชน์ตน ข่มขู่คุกคามทุกเสียงคัดค้าน อุ้มฆ่าทุกผู้คนที่ขวางทางและเปิดโปง วิสามัญฆาตกรรมนับพันศพ จุดไฟหายนะในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือความเป็นไปในภาวะการณ์หยั่งรากลึกของระบอบทักษิณที่ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกับทุนนิยมสามานย์โลกในนามโลกาภิวัตน์
            “ภายใต้รัฐบาลหุ่นที่นิยามประชาธิปไตยไว้ในกรอบของการเลือกตั้ง มีความชอบธรรรมด้วยเสียงข้างมากในสภา ทางหนึ่ง-มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างทุกคดีความที่ก่อไว้ทั้งในอดีตและเกิดขึ้นใหม่ อีกทางหนึ่ง-เป็นความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะปล้นชาติขายแผ่นดินกันต่อไป ไม่เว้นกระทั่งอธิปไตยเหนือดินแดน
            “จากรัฐบาลทักษิณ ถึงสมัคร และสมชาย ไม่เคยเลยที่รัฐบาลจะเปิดทางให้กับการแสวงหาความจริง ไม่เคยเลยที่จะละวางการแสวงหาประโยชน์ ไม่เคยเลยที่จะเจรจากระทั่งนำพาต่อการคัดค้าน มีแต่กระบวนการปกปิดบิดเบือน มีแต่กระบวนการสร้างข่าวเบี่ยงเบนความสนใจ มีแต่กระบวนการข่มขู่คุกคาม มีแต่ถือเอาทุกคนทุกฝ่ายที่คัดค้านเป็นศัตรู
            “กระทั่งสามารถเข่นฆ่าปราบปรามทำลายล้างอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ”

            ผมก็ยิ่งแน่ใจว่า จาก 2549 ถึง 2551 และ 2555 หกปีผ่านไป เรายังไม่ได้พยายามหาทางออกจากห้วงเหวของความอับจนและสิ้นหวัง
๐ 
ที่จริง แม้ผมจะยอมรับ – เหมือนที่อาจารย์เสน่ห์ จามริกยอมรับ – ว่าการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่ (หากเราไม่ปรารถนาจะเห็นภาพคนไทยฆ่ากันเอง) และแอบหวังอยู่บ้างว่า “รัฐาธิปัตย์” ที่สถาปนาขึ้นมาหลังการยึดอำนาจ อย่างน้อยที่สุดจะสามารถทำให้สังคมแยกถูกออกจากผิด
            แต่ความรู้สึกที่ไม่แปลกปลอมเลยกลับเป็น “ความว่างเปล่า” ตามชื่อบทความที่ผมเขียนให้นิตยสาร Image ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้น (ตีพิมพ์ในฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
            “ระหว่างสิบเก้าล้านหรือสิบหกล้านเสียงที่เลือกพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมามีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ กับกว่าร้อยละแปดสิบของการสุ่มสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
            “ระหว่างความตึงเครียดแห่งการเผชิญหน้าทางการเมืองภายใต้บรรยากาศของประชาธิปไตย กับบรรยากาศราวกับงานเฉลิมฉลองภายใต้กฎอัยการศึก
            “ระหว่างการคัดค้านต่อต้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งถูกตอบโต้-ปิดกั้น-คุกตาม ถึงขั้นปะทะ-ทำร้าย กับการต่อต้านคัดค้านความไม่ชอบธรรมของคณะทหารที่มาด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งถูกควบคุมใต้กรอบของการขอความร่วมมือและเงื่อนไขที่จะไม่ลุกลามไปสู่การ เคลื่อนไหวต่อต้านที่หวังผลทางการเมือง
            “ระหว่างการบิดเบือน-ทำลายกลไกและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในนามประชาธิปไตย กับการฉีก-ยกเลิกรัฐธรรมนูญในนามการยึดอำนาจ
            “ระหว่างการทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่ประชาชนให้ความไว้วางใจสูงสุด กับคำมั่นสัญญาของการรื้อ-สร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสขึ้นมาใหม่ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ เพียงหยิบมือเชื่อมั่น
            “ระหว่างการนองเลือดในครรลองของประชาธิปไตย กับการยึดอำนาจที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ
            “ระหว่างการรัฐประหารที่นำประเทศไทยถอยหลังไปสิบห้าปี กับการใช้อำนาจของเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จที่นำประชาธิปไตยถอยหลังมาจนสุดทางไป
            “ระหว่างการรักษารูปแบบ-วิธี-กระบวนการของประชาธิปไตยด้วยทุกๆ ต้นทุนที่มีอยู่ กับการยอมจำนนต่อการยึดอำนาจในฐานะทางออกเดียวที่เหลืออยู่ของสังคม เพื่อเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่
            “ระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น มากด้วยคำถาม หลักการ ฐานคิด และคติที่ต่างกัน
            “และระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น สำหรับบางคน ยังแทรกคลุมด้วยความรู้สึกที่ว่างเปล่า”

๐ 
เกือบหกปีผ่านไป กับทุกๆ เหตุการณ์ที่อาจไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดจะมีในบ้านเมืองของเรา คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึก “ว่างเปล่า” ไม่แตกต่างกัน
            เป็น “ความรู้สึกว่างเปล่า(ที่)ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนความไม่มี หากบ่อยครั้งที่มักสั่งสมจนกระทั่งสามารถหยั่งถึง หรือผุดบังเกิดขึ้นในภาวะซึ่งคุณค่าเดิมที่เรามี ไม่สามารถยึดถือไว้ได้ ในภาวะซึ่งสิ่งที่เราสามารถยึดเหนี่ยว ไม่อาจใช้เกาะเกี่ยวอีกต่อไป”
            สิ่งนั้นมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ความถูกต้อง-ดีงาม”
6 กรกฎาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555)

วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (2)

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่บางครั้งชื่อผม – หรือข้อเขียนของผม – ถูกนำไปมัดรวมกับการเรียกหาหรือสนับสนุนรัฐประหาร
            ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสิ่งที่ผมเพิ่งเขียนลงคอลัมน์นี้ (ปีที่ 23 ฉบับที่ 6) ไปว่า “ในสายตาของเพื่อนที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันมาบางคน – ซึ่งบัดนี้ยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง – ผมคงกลายเป็นรอยัลลิสต์ไปแล้ว”
            แต่ไม่ว่าจะถูกประทับตรา/ตีความอย่างไร ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไข/อธิบาย เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เขียน (และเผยแพร่-ตีพิมพ์) ไปนั้น ได้กลายเป็น “สิ่งที่พ้นจากมือเราไป” ซึ่งผมเคยขยายความเอาไว้ว่า...
            แต่เมื่องานหนึ่งๆ ผ่านจากมือผู้สร้างออกไปสู่สาธารณชน ก็เป็นอีกบทหนึ่งแล้ว อีกมิติหนึ่งแล้ว
เป็นบริบทของผู้บริโภคที่จะรับหรือไม่รับตามจริตและความต้องการ-พอใจที่จะเสพของตน เป็นมิติที่นักวิจารณ์จะประเมินคุณค่าเอาตามภูมิหลัง-การรับรู้-การตีความของตน ความคิดความเห็นเช่นนี้คือสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งยกระดับเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสวงหาทางปัญญาผ่านการตั้งคำถามในทุกด้านและทุกเรื่อง มาตั้งแต่นครรัฐเอเธนส์ก่อนสมัยโสกราตีส ซึ่งสะท้อนความชอบธรรมผ่านการเปรียบเปรยว่า “โดยไม่ต้องเป็นช่างก่อสร้าง เราก็สามารถบอกได้ว่าบ้านหลังนี้ดีหรือไม่ดี เพราะเราเป็นผู้อยู่”
            ในท่วงทำนองคล้ายกันนี้ บ็อบ ดีแลน บอกเอาไว้ในเพลง Subterranean Homesick Blues ว่า “You don’t need a weather man to know which way the wind blows”
            งานชิ้นหนึ่งอาจเป็นที่ตอบรับหรือปฏิเสธ สำเร็จหรือล้มเหลว ตีความถูกต้องหรือเข้าใจผิดพลาด เป็นวิถีของการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นไปเช่นนั้นเอง เราอาจจะไม่ยอมรับ แต่ไม่จำเป็นต้องปกป้อง เราอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความและประเมินค่า แต่ไม่จำเป็นต้องขยายความและชี้นำ
            สำหรับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ งานที่พ้นมือเขาไปแล้วจะสื่อสารด้วยตัวของมันเอง เขาไม่เห็นด้วยกับนักวิจารณ์บางคนและการตีความบางด้านในนิยายของเขา แต่เขาก็ไม่ได้ถือเป็นภาระที่จะต้องอธิบายให้ใครๆ เข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการเสนอ เขาเคยบอกว่า “หลังจากที่ผมเขียน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ เสร็จ ผมก็ทำลายบันทึกและเอกสารประกอบไปหมด เพื่อว่าจะได้ไม่มีร่องรอยของมันหลงเหลืออยู่เลย โดยวิธีนั้นนักวิจารณ์จะต้องตีค่าหนังสือตามคุณค่าของมันเองและไม่ต้องไปมองหากระดาษต้นร่าง” 
๐ 
Credit: http://sanskritresearchingujarat.org/gallery.html
แต่เมื่อได้รับการบอกกล่าวว่า ผมถูกพาดพิงย้อนหลังไปไกลถึงปี 2534 ด้วยข้อความว่า “คอลัมนิสต์บางคนของ "สีสัน" ถึงกับเชียร์ให้ทหารออกมาแทรกแซงการเมืองด้วยท่าทีแบบ "โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร" ซึ่งเป็นการตีความที่พอคุ้นอยู่ แต่ถ้าหากข้อเขียนไม่กี่บรรทัดฝังใจบางคนได้นานขนาดนั้น ผมก็น่าจะลองกลับไปอ่านดูสักครั้ง
            “สีสัน” ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 (ธันวาคม 2533) คือที่มาของข้อความข้างบน ผมเลือกอัลบั้ม “โนพลอมแพลม” ของ ยืนยง โอภากุล เป็น 1 ใน “5 ชอบ” ประจำปีนั้น ด้วยคำอธิบายเต็มๆ ดังนี้
            สิ้นศรัทธาที่เคยมีเคยฝากไว้กับ “น้า” เมื่อครั้งเทป “ทับหลัง” เสียแล้ว งานเดี่ยวชุดที่สี่-แต่เป็นชุดแรกในชื่อจริงของ แอ๊ด คาราบาว จึงตีเข้าแสกหน้ารัฐบาลชาติชายและปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบเนื้อๆ งานดนตรีใช้ได้ เนื้อหาชัด ตรง สะใจ นับได้ว่าเป็นเพลงการเมืองที่มีพลังเด่นชัดที่สุดในรอบหลายปี เพลงที่แฝงนัยไว้ได้แรงที่สุด คือ “ภควัทคีตา” ฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง
            ไม่ตัดไม่ทอนอะไรเลยนะครับ ถ่ายทอดต่อมาเต็มๆ ให้ตีความกันตามอัธยาศัย
            ช่วงนั้นผมไม่ได้เขียนเรื่องดนตรีให้กับ “สีสัน” นานแล้ว (เพราะข้ามฝั่งไปเขียนเรื่องโฆษณา) แต่ยังมีงานเขียนเกี่ยวกับดนตรีอยู่ใน “สารคดี” และคลับคล้ายคลับคลาว่าผมไม่น่าพลาดวิจารณ์งานของแอ๊ดชุดนี้
            ไปค้นเจอในฉบับที่ 73 ปีที่ 7 (มีนาคม 2534) ขอตัดตอนมาเฉพาะที่เขียนถึงเพลง “ภควัทคีตา” ก็แล้วกัน...
            เพลงที่แฝงนัยการเมืองเอาไว้อย่างน่ากลัวก็คือ “ภควัทคีตา” ที่จับใจความตอนหนึ่งมาจากมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” เพลงนี้ต้องมีเจตนาแน่นอน และยากที่จะให้เข้าใจเป็นอื่นไปได้ นอกจากเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง และวิถีทางที่ต้องใช้กำลังก็อาจเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรมได้ “รบเถิดอรชุน หากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ยังรอท่านอยู่ ยังเปิดประตูรอผู้ปราชัย แม้หากว่าท่านชนะ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ ทุกพงพื้นปฐพี รอให้ท่านเข้าไปครอบครอง” ไม่สำคัญหรอกว่าแอ๊ดจะชี้ชวนให้ใครรบ และไม่สำคัญว่าด้วยว่าแอ๊ดจะมองการเมืองอย่างไร สนับสนุนวิถีทางไหน สิ่งที่ผมหมายความเอาไว้ในคำว่า “น่ากลัว” ก็คือ ภายใต้รัฐบาลที่มีพลเอกชาติชายเป็นผู้นำ ได้ทำให้คนระอากับการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที และทหารกับการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจและใช้อำนาจทางการเมือง ก็จะเป็นทางเลือกแรกเสมอ
            คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก่อนที่ “สารคดี” ฉบับนั้นจะวางจำหน่าย แต่ต้นฉบับน่าจะเขียนเสร็จและส่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์
            เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความ ผมไปค้น “ลลนา” ในช่วงเดือน-ปีใกล้ๆ กัน ด้วยคลับคล้ายคลับคลาว่าได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ หลังเกิดเหตุการณ์ รสช และพบในฉบับที่ 438 (ปักษ์แรก เมษายน 2534) เฉพาะที่เกี่ยวกับเพลง “ภควัทคีตา” ผมเขียนเอาไว้ว่า...
            ถึงที่สุดแล้ว แอ๊ดก็ไปพลิกเอาเรื่องราวในมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” ตอนหนึ่งมาเขียนเป็นเพลง “ภควัทคีตา” เรื่องราวตอนที่กฤษณะหว่านล้อมให้อรชุนทำศึกย่อมมีความนัยแน่นอน ผมเคยเขียนลงใน “สีสัน” ว่าฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง
            (แล้วผมก็เขียนต่อไป-อีกหลายย่อหน้า-ว่า) ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีใครเสียอกเสียใจกับการล้มลงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกันเท่าไรนัก ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผมเขียนลง (ใน “สารคดี”) ไปว่า แอ๊ดสามารถสะท้อนอารมณ์ร่วมทางการเมืองของคนไทยจำนวนมากใต้รัฐบาลชุดก่อนได้ดี ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผมจับฉวยมาได้จากงานเพลงของแอ๊ดนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวแอ๊ดเองจะมองการเมืองอย่างไร สนับสนุนวิถีทางไหน จุดยืนเขาเคลื่อนไปแค่ไหน นับจากที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนครั้งแรกในงานเพลงกับเทปชุดที่หกของคาราบาว ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์วันที่ 9 กันยาฯ อยู่มาก ตั้งแต่ชื่อเทป vol.6 ซึ่งอ่านกลับหัวได้ว่า 9 กย. ผ่านมาถึงการเรียกร้องหา “ผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง” ในเทปชุด 7 “ประชาธิปไตย” และ “น้าคือความหวัง” ในเทปชุดที่ 9 กระทั่งถึงคราวนี้กับยุคสมัยของ “รัฐบาลตัวแสบ” ซี่งการตัดสินใจแผลงศรของอรชุนมีความชอบธรรมอยู่เต็มเปี่ยม ประเด็นสำคัญที่ว่านั้นก็คือ รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้คนระอากับธุรกิจการเมืองที่แอบแฝงมาในความเป็นประชาธิปไตย จนพาลมองไม่เห็นความหมายของประชาธิปไตยไปเลย และทหารกับการใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะเป็นทางเลือกเดียวที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง 
            อาจจะสรุปลงไปได้ด้วยซ้ำว่า ประชาชนคนไทยมีความผูกพันกับสถาบันกองทัพแนบแน่นและลึกซึ้งกว่าสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ คือการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
            แม้แต่คนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อน และยังคงยืนหยัดในหลักการบนจุดยืนเดิมอย่างเหนียวแน่น หลายคนก็จะมีความรู้สึกใกล้เคียงกับที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนเอาไว้ใน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “กับการถอยหลังกลับไปเตรียมนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งของระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นเรื่องที่ทำได้แค่เฝ้าดูเท่านั้น ถ้าจะถามว่าทำไมไม่ต่อสู้คัดค้าน ก็ตอบได้ว่าไม่รู้ว่าจะสู้เพื่ออะไร เพื่อใคร ถ้าจะถามว่าสิ้นหวังหรือ อาจจะตอบได้ว่าไม่ แต่ถ้าถามต่อไปว่ายังจะมีหนทางออกอื่นหรือไม่ แทนที่จะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ กลับไปกลับมาระหว่างการเลือกตั้งกับการยึดอำนาจ ก็ตอบได้แค่ว่าไม่รู้เหมือนกัน”

๐ 
ที่มาที่ไปของการย้อนกลับไปอ่านงานเขียนของตัวเอง มีคำตอบอยู่แล้วตอนต้นเรื่อง
            แต่เหตุผลของการเอากลับมานำเสนออีกครั้ง นอกเหนือจากคำตอบแบบฮาๆว่า “เอาของเก่ามาขอรับค่าเรื่องใหม่” แล้ว ก็คงเป็นเพราะว่า มันไปสอดคล้องกับตอนท้ายบทความชื่อ Helplessly Hoping (1) ที่ผมเขียนไว้เมื่อเร็วๆนี้ (“สีสัน” ปีที่ 23 ฉบับที่ 7) ว่า... 
            สุดท้ายเราก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรอุบาทว์ของฉ้อฉลทุจริต ที่นำไปสู่การรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเพื่อให้นักเลือกตั้งกลุ่ม-ตระกูลเดิมๆ กลับเข้ามาตักตวงแสวงหาผลประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง 
            ครึ่งปีเศษของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยมาสู่จุดนั้นซ้ำอีก จุดแห่งความเหลืออดเหลือทนต่อความฉ้อฉลและเหิมเกริม โดยมีความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุดเป็นตัวเร่ง แต่ก่อนที่จะด่วนเรียกหาหรือกระทั่งขานรับการรัฐประหารที่อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความผิดหวังซ้ำซาก เราอาจจะต้องถามตัวเองกันจริงๆอีกสักครั้งว่า
            เราไม่อาจทำอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว ใช่ไหม?

            ขอย้ำไว้ตรงนี้ครับว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตอบ
4 มิถุนายน 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2555)







วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (1)

Credit: www.bangkokbiznews.com
การทลายลงของโครงสร้างชานชาลาสถานีย่อยในโครงการโฮปเวลล์ บริเวณหน้าวัดเสมียนนารี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะเจาะพอดี 
            เหมาะเจาะพอดีในแง่ที่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ทั้งฉายย้อนเหตุการณ์ในอดีต สะท้อนเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอาจยังส่องผ่านไปยังเหตุการณ์ในอนาคตได้ด้วย
๐ 
โฮปเวลล์เป็นโครงการใหญ่ยักษ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ วาดฝันกันเอาไว้ว่าจะยกระดับทางรถไฟขึ้นไปวิ่งเหนือพื้นผิวถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะตามจุดตัดกับทางรถยนต์ โดยสร้างคร่อมแนวทางรถไฟสายหลักในกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 60.1 กิโลเมตร
            บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) บริษัทในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ของกอร์ดอน วู เป็นผู้ได้สัมปทานที่ประเมินมูลค่าการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท (มูลค่าในขณะนั้น) และต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐเป็นรายปี ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี รวมเป็นเงินกว่า 50,000 ล้านบาท แลกกับการเก็บค่าผ่านทางถนนยกระดับ สัมปทานการเดินรถไฟฟ้าบนทางรถไฟยกระดับ การใช้พื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่รถไฟตลอดสองข้างทาง รวมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่
            ไม่ใช่ว่าโครงการยกระดับทางรถไฟจะไม่ดี แต่ปัญหาพื้นฐานของประเทศนี้ก็คือ หนึ่ง – ไม่มีการวางแผนแก้ปัญหา(ใดๆ)อย่างเป็นองค์รวม สอง – การผลักดันโครงการ(ใดๆ)เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-เฉพาะเรื่อง-เฉพาะจุด ผล(ประโยชน์ตอบแทนที่คาดว่าจะได้)รับ สำคัญกว่าผลลัพธ์(ในการแก้ปัญหา)เสมอ
            ดังจะเห็นได้จากการแก้ปัญหาจราจร-หรือเพื่อหาเสียงก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็คิดกันง่ายๆ แค่ว่า ถนนไหนแยกไหนรถติดมาก ก็สร้างสะพานลอยข้ามแยกไปเรื่อย (สร้างได้ไม่กี่ปีต้องรื้อทิ้งก็มีมาแล้ว) จนกระทั่งการสร้างสะพานลอยไม่น่าตื่นเต้น (เพราะใช้งบประมาณไม่มากพอ) การเจาะอุโมงค์ทางลอดก็กลายเป็นทางเลือกใหม่ โดยไม่คำนึงว่าสุดท้ายแล้ว ผิวจราจรที่เสียไปให้กับช่องอุโมงค์ได้สร้างปัญหาสาหัสสากรรจ์กับรถบนช่องทางที่เหลือขนาดไหน
            โครงการโฮปเวลล์ก็เหมือนกัน วาดฝันกันง่ายๆ แบบไปตายเอาดาบหน้า ให้ได้ค่าอนุมัติโครงการมาก่อนก็พอใจ หลายปีผ่านไป หลายรัฐบาลผ่านมา โครงการนี้กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของนักการเมือง ทั้งที่จะผลักดัน สานต่อ หรือยกเลิก กระทั่งในที่สุดก็เหลือแต่เพียงแนวตอม่อขนาดใหญ่ เรียงกันเป็นอนุสาวรีย์แห่งความฉ้อฉลของนักการเมืองและระบบการเมืองไทย (ยาวที่สุดในโลกด้วย – เผื่อใครจะรู้สึกภูมิใจ) กับ “ค่าโง่” หมื่นกว่าล้านบาทที่คนไทยต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
            รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมผู้ผลักดันโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งมาเซ็นสัญญากับโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุครบ 47 ปีในวันเดียวกันนั้นเอง ชื่อ มนตรี พงษ์พานิช 
๐ 
รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาเติมเต็มความหวังที่ว่า เราจะได้เริ่มต้นยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” กันเสียที
            จากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธคำเชิญจากหัวหน้าพรรคการเมืองให้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 พลเอกชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ชนะเลือกตั้ง มี ส.ส. มากที่สุด ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบ 12 ปีที่มาจากการเลือกตั้ง
            แต่ในเวลาเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาลพลเอกชาติชายไม่เพียงทำลายความหวังทั้งหมดที่ผู้คนวาดหวังไว้จาก “ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” แต่ยังทำลายรากฐานความเชื่อมั่นและโครงสร้างการพัฒนาประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่เพียรสร้างกันขึ้นมาใหม่บนความอดทนร่วมกันตลอดช่วงเวลา 8 ปี 5 เดือนในยุคที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี
            คำว่า “ความอดทนร่วมกัน” คำว่า “เพียรสร้างกันขึ้นมาใหม่” เป็นถ้อยคำซึ่งผู้ที่ไม่ทันได้มีประสบการณ์ร่วมในความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง-สังคมช่วงปี 2516 เป็นต้นมา อาจมองไม่เห็นความหมายและความจำเป็น แต่สำหรับผู้ที่เติบโตมาในระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย – โดยไม่ปิดกรอบความคิดของตัวเองไว้หลังกำแพงแห่งฝักฝ่าย – สามารถตระหนักแน่แก่ใจตัวเอง
            ประเทศไทยในพุทธศตวรรษใหม่ ปี 2500 เป็นต้นมา เริ่มต้นด้วยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดฉากบทบาทและการช่วงชิงอำนาจในหมู่คณะราษฎรที่ดำรงมาตลอด 25 ปีนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ข้ออ้างสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ก็คือการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามที่ประชาชนเรียกร้อง เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์
            แต่การเลือกตั้งในตอนปลายปีนั้น – ก็เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งต่อๆมา – ที่เป็นเพียงพิธีกรรมและกระบวนการรับรองความชอบธรรมให้กับผู้นำทหาร ซึ่งส่งต่อกันระหว่างจอมพลถนอม กิตติขจร ไปยังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลับมายังจอมพลถนอมอีกครั้ง ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ พ.ศ. 2501 มาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
            ประชาธิปไตยที่ได้มาด้วยการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนมีอายุไม่เต็ม 3 ปีดี มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งสองคน (มรว.เสนีย์ ปราโมช, มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) คณะรัฐมนตรี 4 คณะ มีระยะเวลาบริหารประเทศรวมกันเพียง 1 ปี 8 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันเดียวกัน
            ช่วงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม ประเทศของเราไม่ได้มีปัญหาเพียงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ยังมีฝ่ายขวาที่สูญเสียอำนาจในเหตุการณ์ 14 ตุลา กับฝ่ายขวาที่เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายซ้ายต่างแนวทาง แม้กระทั่งฝักฝ่ายต่างๆ ในกองทัพ ซึ่งเห็นได้จากการยึดอำนาจซ้ำของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปี 2520 และความพยายามก่อกบฏ 3 ครั้ง ในปี 2520, 2524, 2528 ทั้งยังถูกท้าทายจากทฤษฎีโดมิโนที่ล้มเรียงกันมาจากเวียดนาม-กัมพูชา-ลาว
            เวลา 8 ปี 5 เดือน (มีนาคม 2523-สิงหาคม 2531) ภายใต้การนำของพลเอกเปรม ด้านหนึ่งสะสม “ความน่าเบื่อ” ให้กับคนรุ่นๆ ผมที่ยังอยากจะเห็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นการพัฒนาทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่ก้าวหน้า-เป็นธรรม-ฉับไวยิ่งขึ้น ก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง “ความน่าเบื่อ” ก็สะท้อนความสำเร็จในการนำประเทศของพลเอกเปรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ด้วย
            สภาวะ “น่าเบื่อ” ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากว่าพลเอกเปรมไม่สามารถกระชับอำนาจและสร้างเอกภาพขึ้นในกองทัพ ไม่มีนโยบาย 66/2523 ที่ใช้การเมืองนำหน้าการทหารเอาชนะการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ ไม่มีนโยบายใต้ร่มเย็นที่นำสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีกุศโลบายทางการต่างประเทศที่สามารถหยุดกองทัพเวียดนามเอาไว้ก่อนจะยกพลข้ามแม่น้ำโขง และลบทฤษฎีโดมิโนทิ้งไป
            ในยุคพลเอกเปรมอีกเช่นกัน ที่ประเทศไทยฝ่าข้ามปัญหาเศรษฐกิจโลกและวิกฤตค่าเงินบาทมาได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก (และไม่มีใครได้ประโยชน์บนความทุกข์ของคนทั้งประเทศ) ทั้งยังสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม-การลงทุน-การส่งออกให้รองรับกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ จนกลายเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ในขณะเดียวกันการสร้างเสถียรภาพและรักษาความต่อเนื่องของวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ก็ได้ปูทางความหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนบนแผ่นดินนี้ หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาเกือบ 50 ปี
            แต่ความน่าเบื่อในปีท้ายๆ ของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เทียบไม่ได้เลยกับความเหลืออดเหลือทนที่คนจำนวนมากมีต่อความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเต็มใบของรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” ที่มีพลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี
            ซึ่งอาจเปรียบเปรยให้เห็นภาพอีกแบบได้จากบทเพลง “ประชาธิปไตย” ที่วงคาราบาวร้องหา “ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” เอาไว้เมื่อปี 2529 กับเพลง “ภควัทคีตา” ที่แอ๊ด คาราบาวเรียกร้องว่า “รบเถิดอรชุน” ในปี 2533
            และแล้ว วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 “อรชุน” ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ปิดฉากประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาลงไปอีกวาระ 
๐ 
ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนักในความฉ้อฉลและเหิมเกริมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น 2 ปี 6 เดือนในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หรือ 5 ปี 7 เดือนในยุคพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร 
            ทั้งไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนักในการขานรับการยึดอำนาจของ รสช. เมื่อปี 2534 กับการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อปี 2549 
            แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรอุบาทว์ของการฉ้อฉลทุจริต ที่นำไปสู่การรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเพื่อให้นักเลือกตั้งกลุ่ม-ตระกูลเดิมๆ กลับเข้ามาตักตวงแสวงหาผลประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง 
            ครึ่งปีเศษของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยมาสู่จุดนั้นซ้ำอีก จุดแห่งความเหลืออดเหลือทนต่อความฉ้อฉลและเหิมเกริม โดยมีความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุดเป็นตัวเร่ง แต่ก่อนที่จะด่วนเรียกหาหรือกระทั่งขานรับการรัฐประหารที่อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความผิดหวังซ้ำซาก เราอาจจะต้องถามตัวเองกันจริงๆอีกสักครั้งว่า
            เราไม่อาจทำอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว ใช่ไหม?
3 มีนาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2555)







วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำเน่า

จากปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงกลางเดือนมกราคม 2555
บนเส้นทางน้ำที่ค่อยๆ เคลื่อนจากปลายภาคเหนือ ลงมาถึงกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
พรากชีวิตคนไป 815 คน มีผู้ประสบภัย 13,600,000 คน
พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร
นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 แห่งจมอยู่ใต้น้ำ กระทบห่วงโซ่อุปทานไปทั้งโลก 
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และฮาร์ดดิสก์
ธนาคารโลกประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 1,425,000,000,000 บาท
เป็นหายนภัยที่เสียหายร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก 
เป็นรองก็แต่ แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554, 
แผ่นดินไหวที่โกเบ พ.ศ. 2538 และ พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา พ.ศ. 2548 
สิ่งที่ต่างกันก็คือ ภัยพิบัติเหล่านั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเฉียบพลันทันที
และไม่มีเวลาเหลือเฟือให้ "เอาอยู่" "โกงอยู่" หรือ "ช่วยพี่ชายอยู่"
หากเรายอมรับวาทกรรมที่ว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว “ดีแต่พูด”
            ด้วยเกณฑ์ชี้วัดชุดเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ “เลวทั้งการกระทำและคำพูด” และยังรวมไปถึง “การไม่กระทำ” ในสิ่งที่พึงกระทำด้วย
๐ 
Credit: www.dvidshub.net
น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ (พ.ศ. 2554) สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ และคนของรัฐบาลชุดนี้ ทำมากที่สุด – และเลวที่สุด – ก็คือการยกโยนความผิดไปให้ผู้อื่นอย่างปราศจากความละอาย
            แรกๆ ก็อ้างกันส่งๆ ว่า รัฐบาลที่แล้ววางยาไม่ยอมระบายน้ำจากเขื่อน ซึ่งเด็กประถมฟังก็ยังสงสัยว่า รัฐบาลชุดที่แล้วเขาตั้งอกตั้งใจจะไปเป็นฝ่ายค้านถึงขนาดวางแผนแกล้งแพ้เลือกตั้งกันเลยหรือ? ส่วนเด็กมัธยมก็งงไปอีกแบบว่า แล้วรัฐมนตรีที่ดูแลเขื่อนและกรมชลประทานของรัฐบาลชุดก่อนกับชุดปัจจุบัน เป็นคนละคนแต่บังเอิญมีชื่อนามสกุลเหมือนกันหรืออย่างไร?
            แต่ที่เลวกว่าคือความพยายามอย่างเป็นขบวนการที่จะกล่าวโทษการกักน้ำและระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อย่างมีนัยสำคัญที่ชื่อเขื่อน ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งถึงกับกล่าวโทษน้ำจาก..... และจาก..... โดยไม่มีคำว่าเขื่อน คนมีตำแหน่งขนาดนั้นพูดผ่านสื่อทางการอย่างนั้นแล้ว สื่อวิทยุชุมชนกับสื่อในโลกไซเบอร์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
            (ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การกล่าวหาโดยนัยทั้งหมดนี้ รัฐบาลไม่ได้แสดงความอนาทรร้อนใจใดๆ แม้สักเสี้ยวของการแฮ็คทวิตเตอร์นายกฯ หรือการบีบให้ลบเนื้อหาในบล็อกที่เขียนแฉการฉ้อฉลของบริจาคภายใน ศปภ.)
            เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก เมื่อนายกรัฐมนตรีมาแสดงตนประหนึ่งได้สมรู้ร่วมคิด ปิดเกมด้วยประโยคที่ว่า “เมื่อมารับตำแหน่ง น้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว” ก็เป็นอันสิ้นสงสัยในความพยายามที่จะชูวาทกรรมว่ามีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลโดยผ่าน “รัฐประหารน้ำ” หรือ “วารีภิวัฒน์”
            เธอไม่ได้พูดประโยคนี้ตอนเพิ่งเข้ามาเป็นนายกฯ (8 ส.ค. 2554) หรือตอนประดิษฐ์คำว่า “บางระกำโมเดล” (20 ส.ค. 2554) แต่เธอพูดประโยคนี้ วันที่ 2 พ.ย. 2554 นี้เอง
๐ 
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เรื่องโง่ๆ แบบนั้นหลอกได้แต่พวกเดียวกันเองที่ไม่รู้จักใช้ความคิด หรือพวกประสาทอ่อน
            อีกด้านหนึ่ง จึงมีความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะใช้ตัวเลขอันเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดมาอ้างอิง ทั้งปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อน ปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อน แรกๆ ก็แยกส่วนบ้าง ตัดตอนบ้าง หาค่าเฉลี่ยบ้าง จริงบ้าง มั่วบ้าง พอให้ขำบ้าง ให้สมเพชบ้าง 
            ที่น่าขำก็เช่น ความพยายามที่จะโพทนาว่าเป็นภัยธรรมชาติ เป็นปีที่มีฝนตกมากกว่าที่คิด มีน้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ พยายามกันมากจนไปขัดกันเองกับที่พยายามกล่าวโทษอีกฝ่ายไว้ในข้อหากักเก็บน้ำไว้ล้มรัฐบาล 
            หรืออย่างความพยายามที่จะหาค่าเฉลี่ย 3 ปี 5 ปี 10 ปี จนไม่รู้ว่าจะเฉลี่ยเพื่ออวดฉลาดหรืออวดอะไร เพราะในกรณีแบบนี้ เทียบปีต่อปีระหว่างปีที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้เห็นขนาดของปัญหาโดยเปรียบเทียบก็พอ จะเอาตัวเลขในปีที่มีปัญหาภัยแล้งมาเฉลี่ยเพื่อ.....? อันนี้ออกไปทางกึ่งขำกึ่งสมเพช 
            ส่วนที่น่าสมเพชล้วนๆ ก็เช่น ในบทความชิ้นเดียวกัน พยายามปกป้องรัฐบาลโดยการอ้างปริมาณน้ำฝนในที่ราบลุ่มภาคกลาง และอ้างการซ้ำเติมจากปริมาณน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนทางภาคเหนือ แต่กลับลืมอ้างปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนทางภาคเหนือที่เป็นตัวแปรในการระบายน้ำจากเขื่อนไปเสียเฉยๆ 
            สุดท้ายก็พัฒนาพ้นจากความน่าขำ น่าสมเพช ไปเป็นความมดเท็จ จากจริงบ้าง มั่วบ้าง ไปเป็นการแต่งตัวเลข-ปั้นข้อมูลใหม่ให้ได้ดั่งใจไปเลย 
            ประเด็นนี้ ผมเคยบอกกับคนที่งุนงงกับตัวเลขที่อ้างกันไปมาแต่ไม่ตรงกันว่า เราไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันเรื่องข้อมูล ที่เราอาจจะเข้าไม่ถึงบ้าง ไม่รู้ว่าใครตกแต่ง-บิดเบือนอะไรบ้าง เรามาดูลำดับการเดินทางของน้ำ และดูการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกัน ก็พอแล้วที่จะสรุปได้ว่ารัฐบาลทำ-หรือไม่ทำ อะไร เมื่อไร อย่างไร และผลลัพธ์ของการกระทำ-หรือไม่กระทำนั้น เป็นอย่างไร
            เราหาความจริงกันได้ไม่ยากหรอกครับ แค่เปิดหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ค้นหาข่าวหน้า 1 ย้อนหลังก็รู้แล้ว 
๐ 
ถ้าไม่แน่ใจเรื่องฝักฝ่ายของสื่อ ผมแนะนำให้ค้นจากข่าวหน้า 1 ของไทยรัฐออนไลน์ก็ได้ แต่ต้องมีเทคนิคบ้าง
            ผมให้ Google เสิร์ชคำว่า หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2554 – ข่าวไทยรัฐออนไลน์ ตัวเลือกแรกจะพาเราตรงไปที่หน้าเว็บของไทยรัฐฉบับที่ระบุ เป็นไฟล์รูปหน้า 1 ของนสพ.ฉบับวางขาย คลิกอ่านรายละเอียดทุกข่าวได้เหมือนฉบับพิมพ์ทุกประการ (แต่ต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยกรอกข้อมูลตามที่กำหนด หรือใช้บัญชีผู้ใช้ facebook แทนก็ได้) แล้วผมก็ได้รู้ว่า ภารกิจแรกของรัฐบาลที่เพิ่งเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ (เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2554) ว่า “จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ“ ก็คือการขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดี (เลขา ครม.ญี่ปุ่นแจงเหตุออกวีซ่า “ทักษิณ ชินวัตร” ระบุไทยร้องขออนุญาตให้เข้าประเทศ “นายกฯยิ่งลักษณ์” ยันไม่มีนโยบายพิเศษช่วยพี่ชาย)
            เมื่อเปลี่ยนวันที่เป็น 21 สิงหาคม 2554 ก็จะเจอพาดหัวรอง บางระกำโมเดล แก้น้ำท่วม ตามมาด้วยข้อความ ยิ่งลักษณ์ตั้งวอร์รูม น้ำท่วม ‘อยุธยา’ แล้ว มาวันที่ 27 ส.ค. 2554 เตือนน้ำเหนือ 5 วันถึงอยุธยา ส่วนวันที่ 31 ส.ค. 2554 ก็เจอข่าว แดงได้เก้าอี้ทั่วหน้า อารีเลขามท.1-เจ๋งผู้ช่วย
            ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2554 ข่าวย่อยบอกว่า “สถานการณ์น้ำท่วมพิษณุโลก พิจิตร เข้าขั้นวิกฤติ” ส่วนพาดหัว บอก ‘วิเชียร’ น้ำตาคลอ! ยันถูกบีบ ทำลายองค์กรตำรวจ ถัดมา วันที่ 5 ก.ย. 2554 ล้างบางมหาดไทย เด้งปลัด พร้อมกับข่าว น้ำทะลักท่วมปทุมแล้ว
            มาฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2554 เฉลิมออกหน้าชน แจงฎีกาอภัยโทษ “ทักษิณ’ / อ่างทองอ่วมหนัก ระดับน้ำเจ้าพระยาเกินจุดวิกฤติ ส่วนข่าวน้ำท่วม ระบุว่า ‘ธีระ’ สั่งกรมชลฯ ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และหน่วงน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้ชาวนาในเขตลุ่มเจ้าพระยาเก็บเกี่ยวข้าว
            ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการระบายและไม่ระบายน้ำจากเขื่อนที่โทษกันไปมา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่า การระบายน้ำจากเขื่อนอยู่ในความรับรู้และใต้อำนาจสั่งการของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันทั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ถ้าจะมีใครมีอำนาจเหนือ รมว. เกษตรฯ สั่งการเป็นอื่น โดยที่ รมว.ไม่กล้าเปิดเผยความจริง รมว.ก็สมควรที่จะเป็นแพะรับผิดไป ไม่ใช่ยกโยนให้คนอื่น
             ถ้ายังสนุกกับการค้นหาความจริงอยู่ก็เสิร์ชไปเรื่อยๆ นะครับ ก็จะเจอข่าว “ยิ่งลักษณ์” เดินทางเยือนกัมพูชา หารือ“ฮุน เซน” ฟื้นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ สุดปลื้มคุยโอ่เป็นการเปิดศักราชใหม่ (ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2554) ถ้าสงสัยว่าศักราชใหม่แบบไหน ก็ดูตรงนี้ “เมื่อถามว่ารัฐบาลคิดว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเราหรือไม่ นายกฯตอบว่า ตรงนี้เรายังพูดไม่ได้... เมื่อถามว่าแต่สมเด็จฮุน เซน บอกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า การยืนยันคนละประเภทกัน” (17 ก.ย. 2554) ในขณะที่ความเสียหายจากน้ำท่วมก็เพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น
            ค้นไปเถอะครับ เราจะรู้ทั้งหมดนั่นแหละ ว่านิคมอุตสาหกรรมทยอยกันจมน้ำวันไหน รัฐบาลเพิ่งตื่นมาตั้ง ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม) เมื่อไร (ไม่ต้องพูดถึงว่าเพียงการตั้งชื่อศูนย์ก็สะท้อนวิสัยทัศน์ในการรับมือกับปัญหาอย่างไร) ศูนย์ที่ว่านี้ให้ข้อมูลที่ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง ของรัฐบาล และของประเทศชาติได้ขนาดไหน จัดการกับของบริจาคได้มีประสิทธิภาพเพียงไร อาสาสมัครต้องถอนตัวออกมาเพราะอะไร คนของรัฐบาลฉ้อฉลกันด้วยวิธีไหนบ้าง ทิ้งของบริจาคและผู้ที่มาพักพิงในศูนย์กันอย่างน่าอเน็จอนาถอย่างไร ในวันที่ต้องหนีน้ำอย่างฉุกละหุกเพียงเพราะผู้นำเห็นว่าการย้ายศูนย์เป็นความพ่ายแพ้และเสียหน้า
            รวมทั้งบทบาทการแก้ไขน้ำท่วมของรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งแม้ว่าจะหายากสักหน่อย แต่ก็ยังพอเห็นถึงความความกระตือรือร้นของแต่ละกระทรวงในการเตรียมตั้งงบประมาณเพื่อการฟื้นฟู ซึ่งในที่สุดก็สามารถ “บูรณาการ” เป็นงบ 800,000,000,000 บาท ภายใต้ชื่อ New Thailand ที่เราต่างก็เข้าใจตรงกันว่าหมายถึง “รัฐไทยใหม่”
๐ 
มีคนบอกว่า เราอาจวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็ไม่ควรไปด่าว่าเธอด้วยคำว่า “โง่”
            ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุดวุฒิการศึกษาของเธอก็สำเร็จปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการกล่าวหาว่าเธอโง่ ก็จะทำให้คนหลายสิบล้านที่เลือกเธอ และ/หรือ สนับสนุนเธอพลอยสะเทือนใจไปด้วย
            ผมยังมองข้ามความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรือดันน้ำ/เรือดำน้ำ หญ้าแฝก/หญ้าแพ(ร)ก กระทั่ง เดือนพฤศจิกาคม ไป เพราะเข้าใจว่า บางครั้งนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมาจากกิจการที่พี่ชายวางคนทำงานเก่งๆ ไว้ให้พร้อม ก็อาจพลาดในเรื่องที่ตัวเองไม่ค่อยเข้าใจได้เสมอ โดยเฉพาะถ้าเขาหรือเธอเป็นคนที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความสามารถค่อนข้างจำกัดมาตั้งแต่สมัยบริหารบริษัทขายสื่อโฆษณา
            แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่มองว่าเธอน่าสงสาร เป็นหุ่นเชิด เป็นโคลนนิ่ง เป็นอะไรก็ตามแต่ ที่คิดเองไม่ได้ ทำเองไม่เป็น เพราะถึงกระนั้น เธอก็ดูมีความสุขดีกับการใช้อำนาจตามตำแหน่ง การออกคำสั่ง การกล่าวโทษผู้อื่น และการทำในสิ่งที่คนไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่อาจกระทำ
            ดูตัวอย่างได้จากภาพที่เธอหัวเราะร่วนกับหลานสาวที่ ศปภ. คลิปที่เธอหนีนักข่าวเข้าไปหัวเราะในลิฟต์ ข่าวที่เธอภูมิใจนำเสนอให้การประปานครหลวงผลิตน้ำประปาเพิ่มเนื่องจากมีน้ำทะลักเข้าคลองประปา (คืนวันที่ 20 ต.ค. 2554) ฯลฯ
            เธอไม่ได้โง่ เธอไม่ได้น่าสงสาร เพียงแต่เธอมีปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่เรียกกันว่า “วุฒิภาวะ” และเธอไม่สามารถปิดบังมันไว้ได้ ก็เท่านั้นเอง
5 พฤศจิกายน 2554

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2554)

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ประเทศไทยไม่โชคดีเหมือนเซียวฮื้อยี้

โชคดีของยิ่งลักษณ์ที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจำนวนสิบห้าล้านคนเลือกเธอมา
โชคร้ายของประเทศไทยที่ได้ผู้ที่มีปัญหาวุฒิภาวะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
โชคดีของยิ่งลักษณ์ที่ผลกรุงเทพโพลล์ในวันครบรอบ 1 ปีของรัฐบาล (5 สิงหาคม 2555)
ระบุว่าประชาชนร้อยละ 70.4 ต้องการให้เธอทำงานต่อ
โชคร้ายของของประเทศไทยที่ "ความหายนะมวลรวมประชาชาติ" จะยังดำเนินต่อไป
หลายปีก่อน มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งขอให้ผมเขียนถึง “ผู้หญิงของจอมยุทธ์” สักคนหนึ่ง และผมก็นึกถึงหญิงผู้เป็นร่างแหที่คลุมรัดลูกปลาน้อย-เซียวฮื้อยี้
            โชคดี-ที่นักเขียนคนอื่น(ยัง)ไม่มีใครเลือกโซวเอ็ง โชคร้าย-ที่เมื่อผมเขียนเสร็จ สำนักพิมพ์ที่ขอไว้และรับไป ก็หายสาบสูญไปจากโลกของผม – เช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีอยู่ก่อนหน้านั้น
            แต่ผมก็รักข้อเขียนชิ้นนี้เสมอมา และหวังอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่ง จะมีโอกาสนำเสนอต่อผู้อ่านจำนวนมากกว่านิ้วบนมือ
ในห้วงยามที่มีผู้นำเป็นสตรี จากการเลือกแล้วของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนสิบห้าล้าน
            ทั้งยังคงเป็นที่เชิดชูบูชาเสมอมา ของสื่อคุณภาพ และนักวิชาการฉลาดเฉลียว แม้จะเป็นที่ตระหนักแน่ในความไร้ซึ่งสติปัญญาและวุฒิภาวะของเธอ อันนำมาทั้งความน่าอับอายในระดับนานาชาติ และความหายนะมวลรวมประชาชาติ
            ถือว่าเป็นโชคดีของเธอ แต่ปัญหาคือ เธอเป็นโชคร้ายของประเทศไทย
            ในทางกลับกัน เธอยิ่งทำให้ผมนึกถึงโซวเอ็ง ผู้หญิงที่เฉลียวฉลาด เด็ดเดี่ยว เชื่อมั่นในสติปัญญาตนเอง รู้กาละ รู้เทศะ และรู้เท่าทันเสมอ เป็นผู้หญิงที่โก้วเล้งสร้างขึ้นมาเอง แล้วในที่สุดก็เขียนถึงเองว่า เซียวฮื้อยี้โชคดียิ่ง ...
กว่าที่โซวเอ็งจะปรากฏตัว การผจญภัยของเซียวฮื้อยี้ก็ดำเนินไปค่อนเรื่องแล้ว
            นอกจากเรื่องราว/เหตุการณ์มากหลาย ผู้คนมากมาย เซียวฮื้อยี้ยังผ่านพบและเกี่ยวข้องกับสตรีมากหน้า ซึ่งหลายคนไม่อาจพบผ่านเพื่อลืมเลือน
            ทิซิมลั้ง หนึ่ง, เทพธิดาน้อย-เตียแซ หนึ่ง, ม่อย้งเก้า อีกหนึ่ง ล้วนเป็นสาวงามที่ดึงดูดใจ ทั้งมีวิชาฝีมือที่สูงส่งสูงกว่าเซียวฮื้อยี้เมื่อแรกที่เพิ่งออกจากหุบเขาคนโหด และต่างมีคุณสมบัติที่อาจสามารถครองใจเขาได้ทั้งสิ้น
            ในจำนวนนี้ ทิซิมลั้งมีบทบาทอยู่ในชะตาของเซียวฮื้อยี้มากที่สุด ไม่อาจบอกได้ว่านางไม่ได้รักเซียวฮื้อยี้ หรือว่าเซียวฮื้อยี้ไม่ได้รักนาง เพียงแต่ความในใจยังไม่ได้เปิดออก และยิ่งคลุมเครือเมื่อมีฮวยบ้อข่วยเข้ามาเกี่ยวข้อง
            เป็นโซวเอ็งที่มาจัดแปรความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสามให้กระจ่างชัดเจนขึ้น ทำให้ทุกคนค่อยๆ หยั่งถึงความรู้สึกจริงแท้ระหว่างกัน ด้วยความตั้งใจแน่วแน่/เปิดเผยเพียงประการเดียวของเธอ ซึ่งอาจสรุปด้วยประโยคที่เธอบอกกับพวกเจ้าจอมโหดที่เลี้ยงดูเซียวฮื้อยี้มา ข้าพเจ้ามิใช่เพียงแต่คิด (แต่งงานกับเซียวฮื้อยี้) ข้าพเจ้ามิอาจไม่แต่งงานกับเขา
            ตั้งแต่วันแรกที่ถือกำเนิด เซียวฮื้อยี้ก็เป็นเช่นลูกปลาน้อยที่เล็ดลอดจากร่างแหแห่งภยันตรายถึงชีวิตมาได้นับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งด้วยโชคชะตา บางคราวด้วยสติปัญญา แต่ภายใต้ร่างแหอันถี่ถ้วนของโซวเอ็ง เซียวฮื้อยี้ไม่อาจหนีพ้น
โก้วเล้งแนะนำโซวเอ็งต่อผู้อ่านครั้งแรก ผ่านแป๊ะฮูหยินเมื่อลวงให้ฮวยบ้อข่วยไปขอการรักษาจากนาง ลับหลังฮวยบ้อข่วย แป๊ะซัวกุนบอกกับกังเง็กนึ้งว่า ไม่ถึงสามวันรับรองต้องบ่งบอกเคล็ดลับของวิชาตอนต่อบุปผาเชื่อมโยงหยกออกมา
            โซวเอ็งไม่ได้มีวิชาฝีมือสูงส่งที่จะเค้นคั้นผู้คน โก้วเล้งถึงกับจงใจให้โซวเอ็งไม่มีวิชาฝีมือใดๆ เพื่อจะขับเน้นไหวพริบสติปัญญาของเธอให้โดดเด่น ซึ่งประจักษ์ชัดในอีกไม่นานหลังจากนั้น จากทั้งหลุมพรางที่เธอขุดล่อให้ฮวยบ้อข่วยคายเคล็ดลับวิชาที่ไม่อาจแพร่งพราย ทั้งวิธีที่เธอจัดการกับสองสามีภรรยาแซ่แป๊ะ และกับกังเง็กนึ้งผู้มากเล่ห์เพทุบายถึงขนาดเคยทำให้เซียวฮื้อยี้เสียทีมาแล้ว
            ฉากแรกที่โซวเอ็งปรากฏตัว อยู่ในหุบเขาลับที่เธอพำนัก จากสายตาของฮวยบ้อข่วย ผู้อ่านได้เห็นภาพจากระยะไกลเป็นเงาร่างอ้อนแอ้นริมธารน้ำ นางนิ่งก้มศีรษะอยู่ที่นั้น คล้ายครุ่นคิดคำนึงและคล้ายพร่ำพรรณนาถึงวัยสาวที่เลือนลับ ความอ้างว้างในป่าเขา ต่อมัจฉาที่แหวกว่ายในสายธาร
            นั่นคือการเผยแสดงบุคลิกด้านที่โดดเดี่ยวของเด็กกำพร้าที่งุ่ยบ้อแง้รับมาเลี้ยงดู และให้แยกอยู่ตามลำพังโดยไม่มีใครกล้าตอแยสิ่งที่ถือเป็น ของวิเศษของหนึ่งในสิบสองนักษัตรที่ร้ายกาจที่สุด
            ภาพต่อมา เมื่อโซวเอ็งเหลียวมามอง เราก็ได้พบกับสาวงามที่สามารถกลบข่มสีสันของดอกไม้ในหุบเขา แต่โก้วเล้งก็ระมัดระวังไม่ให้โซวเอ็งงดงามหมดจดจนเกินไป อาจบางทีนางไม่สดใสสะคราญเช่นทิซิมลั้ง ไม่งามซึ้งตรึงตราเช่นม่อย้งเก้า และไม่งดงามเฉิดฉายเช่นเทพธิดาน้อย...เพราะเขามุ่งจะขับเน้นบุคลิกด้านอื่นของโซวเอ็งที่สะกดตรึงผู้คนยิ่งกว่าความงาม
            เทพธิดาน้อยเป็นตัวละครหนึ่งที่โก้วเล้งใช้เพื่อการนี้ เธอกล่าวถึงโซวเอ็งเมื่อแรกเห็นว่าเป็นเพียง ทารกหญิงที่มีศีรษะใหญ่โต ไม่งดงามแม้แต่น้อยเมื่อคำนึงถึงความงามดั่งเทพธิดาของเตียแซ กับเยื่อใยที่เคยมีระหว่างเธอกับเซียวฮื้อยี้ ใครก็ไม่อาจตำหนิที่เธอนึกหัวเราะเยาะลูกปลาน้อยว่าเลือกไปเลือกมาก็ได้แค่นี้เอง แต่ ภายหลังข้าพเจ้ายิ่งมายิ่งรู้สึกว่า ทารกหญิงนั้นประเสริฐยิ่ง ทุกยิ้มแย้ม ทุกความเคลื่อนไหว ไม่อาจค้นหาข้อบกพร่องได้ แม้แต่ข้าพเจ้าเห็นแล้วยังหวั่นใจ
            บุคลิกภาพของโซวเอ็งมีทั้งด้านที่สูงสง่าจนบางครั้งดูยโส เย็นชา ตามที่งุ่ยบ้อแง้เลี้ยงมาด้วยจงใจให้เป็นภาพแทนของสองประมุขวังตอนต่อบุปผา  ด้านที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในสติปัญญาและความสามารถในการอ่านความคิดผู้คน ด้านที่เด็ดเดี่ยวของผู้ที่หยั่งถึงความต้องการที่แท้จริงของตน ในขณะเดียวกันก็มีต้านที่เปิดเผยมีชีวิตชีวา และด้านที่พลิกแพลงยากโต้แย้งยากปฏิเสธ
            แม้แต่ชื่อโซวเอ็ง ก็มีนัยที่โก้วเล้งเลือกมาอย่างมีความหมาย คำว่า เอ็งความหมายหนึ่งคือความองอาจ อย่างที่ฮวยบ้อข่วยเข้าใจเมื่อแรกได้ยินชื่อ แต่ความหมายที่แท้จริงคือเชอรี่จีนอันหอมหวาน
ด้วยบุคลิกเหล่านั้นที่ประกอบรวมเป็นโซวเอ็ง ทำให้โก้วเล้งสามารถสร้างแบบฉบับของผู้หญิงก่อนกาลสมัย ที่กล้ารัก กล้าเปิดเผย โดยไม่ทำให้ผู้อ่านเดียดฉันท์ หรือทำให้ตัวละครดูด้อยค่า
            ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เซียวฮื้อยี้เป็นที่ต้องตาของโซวเอ็งตั้งแต่แรกเห็นเขาเข้าไปเผชิญกับงุ่ยบ้อแง้ในถ้ำมุสิก เพราะลูกปลาน้อยมีความสามารถในการดึงดูดใจผู้คนเสมอมา การที่โซวเอ็งลอบช่วยเหลือรักษาเขาก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทิเพี้ยโกวก็เคยช่วยเซียวฮื้อยี้หลบหนีจากประมุขวังตอนต่อบุปผา สิ่งที่โซวเอ็งแตกต่างจากผู้หญิงทุกคนที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางของเซียวฮื้อยี้ก็คือ เธอเอ่ยบอกความในใจของตัวเองโดยไม่เห็นเป็นเรื่องน่าอับอาย
            ขอเพียงข้าพเจ้าชมชอบเขา ไม่ว่าเขาชมชอบข้าพเจ้าหรือไม่ ล้วนไม่เป็นไรโซวเอ็งยังไปไกลกว่านั้นอีก เมื่อเธอบอกว่า อย่าว่าแต่ต่อให้ตอนนี้เขาไม่ชมชอบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็มีวิธีทำให้เขาชมชอบ”
            รักแรกพบของโซวเอ็งอาจดูคล้ายความลุ่มหลงงมงายอย่างไร้เดียงสาที่อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กกำพร้าคนใดก็ตามที่เติบโตอย่างโดดเดี่ยวในหุบเขา แล้วพลันได้พบกับบุรุษที่แตกต่างและน่าดูกว่าบรรดาศิษย์บริวารของงุ่ยบ้อแง้ การเปิดเผยความรู้สึกและหาวิธีที่ทำให้เซียวฮื้อยี้ชมชอบก็อาจทำให้นึกถึงธิดาทิเบตตอนต้นเรื่อง แต่ก็ไม่ใช่อีก เพราะเส้นที่ขีดแบ่งระหว่างโซวเอ็งกับ เอียเท้าไร้เดียงสาหรือ โกวเนี้ยมากรักก็คือ มีแต่คนอย่างเซียวฮื้อยี้เท่านั้นที่สามารถเกาะกุมใจเธอ ในขณะที่ความสง่างาม สุภาพอ่อนโยนของฮวยบ้อข่วยไม่มีความหมายใดๆ และความสามารถในการล่อลวงสตรีจนลุ่มหลงของกังเง็กนึ้งก็ยิ่งล้มเหลว เพราะเมื่อเธอพึงตาต้องใจเซียวฮื้อยี้อแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินต่อไปก็คือสิ่งที่โก้วเล้งบรรยายไว้ว่า ไม่ว่าผู้ใด ไม่ว่าเรื่องราวใด อย่าคิดหมายให้นางเปลี่ยนความตั้งใจ
            โซวเอ็งมีทั้งความชาญฉลาด มีทั้งความตั้งใจที่ไม่แปรเปลี่ยน และยังมีวิธีมากมายที่จะทำให้ความชมชอบของเธอบรรลุผล เธอติดตามเซียวฮื้อยี้แทบไม่ได้คลาดคลา อยู่เคียงข้างเขาในทุกสถานการณ์ กีดกั้นคนอื่นออกห่างจากผู้ชายของเธอด้วยท่าทีสนิทสนมกับเขาอย่างไม่ปิดบัง 
            ยิ่งไปกว่านั้น ครั้งหนึ่งโซวเอ็งถึงกับส่งทิซิมลั้งไปหางุ่ยบ้อแง้ตั้งแต่แรกรู้จัก เพื่อกันศัตรูความรักของเธอออกไป สตรีที่ดีงามอาจไม่ใช่เล่ห์กลเช่นนั้น และไม่แน่ว่าทุกคนจะยอมรับเหตุผลที่เธอบอกอธิบายว่า สตรีนางหนึ่งกระทำเพื่อคนที่นางรัก ไม่ว่าทำอะไรล้วนไม่เสื่อมเสียหน้าแต่เมื่อ ไม่ว่าทำอะไรของโซวเอ็งรวมไปถึงการโดดโพรงถ้ำหมายตายตามเซียวฮื้อยี้ไปจริงๆ และรวมถึงการเดิมพันชีวิตกับฮวยบ้อข่วยด้วยสุราผสมยาพิษก่อนที่การประลองถึงชีวิตระหว่างเขากับเซียวฮื้อยี้จะเริ่มขึ้น ทุกคนก็ได้แต่ยอมรับจิตใจอันแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยนของเธอ
            โซวเอ็งจึงต่างจากทิซิมลั้งอย่างสุดขั้ว เธอไม่อ่อนไหว ไม่เจ้าทุกข์ ไม่ซุกซ่อนความในใจจนสับสน และไม่ยอมให้ชีวิตถูกพัดพาไปตามชะตาเช่นทิซิมลั้ง เมื่อรู้ว่าการประลองฝีมือระหว่างเซียวฮื้อยี้กับฮวยบ้อข่วยไม่อาจหลีกเลี่ยง และทั้งทิซิมลั้ง ทั้งโซวเอ็งต่างก็รู้ว่า เซียวฮื้อยี้ไม่อาจต้านทานฮวยบ้อข่วยได้ ทิซิมลั้งไปหาฮวยบ้อข่วย ขอร้องให้เขาไม่ฆ่าเซียวฮื้อยี้ ทั้งที่รู้ว่าเมื่อฮวยบ้อข่วยไม่ฆ่าก็ย่อมถูกฆ่า ทั้งที่ทิซิมลั้งก็ไม่ได้อยากให้ฮวยบ้อข่วยตาย ทั้งที่ถึงขณะนั้นฮวยบ้อข่วยได้กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของเธอ โซวเอ็งก็ไปหาฮวยบ้อข่วย แต่เพื่อใช้ชีวิตตัวเองเดิมพันไม่ใช่ร้องขอ ถ้าเธอแพ้ เธอก็ตาย และหลังจากนั้นเซียวฮื้อยี้ก็คงตายตาม
            แต่ถ้าเธอชนะ เซียวฮื้อยี้ก็จะมีชีวิตอยู่
เซียวฮื้อยี้มักอวดอ้างว่าเขาเป็น คนชาญฉลาดอันดับหนึ่งของแผ่นดินโซวเอ็งก็ไม่ต่างกันนัก ครั้งหนึ่งเธอบอกกับฮวยบ้อข่วยว่า ทั่วทั้งแผ่นดินไม่มีผู้ใดสะกดข่มข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าอยู่สูงเลิศลอยตลอดกาล
            เมื่อพบเซียวฮื้อยี้ โซวเอ็งรำพึงว่าเซียวฮื้อยี้เป็น ดาวอสูรในชีวิตของเรา เหตุใดเราพอพบพานเขาก็สูญเสียความคิดอ่านไปแต่ในสายตาหลายคนที่รู้จักเซียวฮื้อยี้  เคยลิ้มรสความเจ้าเล่ห์แสนกลหรืออย่างน้อยก็รับรู้ความสามารถของเขาในการก่อกวนผู้คนจนอาจคลั่งใจตายได้ ครั้นเมื่อได้เห็นโซวเอ็งอยู่ข้าง ต่างพูดจาคล้ายกันว่าเธอเป็น ดาวข่มของลูกปลาน้อย
            ทั้งคู่ต่างเป็นดาวข่มซึ่งกันและกัน ยามเมื่อต่อปากต่อคำจึงมีรสชาติ มีสีสัน ตอนที่โซวเอ็งกระโดดลงไปในโพรงถ้ำ เซียวฮื้อยี้ช่วยรักษาชีวิตเธอไว้ แต่คำถามของเขาไม่หมายรักษาน้ำใจเธอเลย ข้าพเจ้ากับท่านไม่มีความสัมพันธ์อุบาทว์แม้แต่น้อย ท่านไฉนต้องตายเพื่อข้าพเจ้า? หรือท่านต้องการให้ข้าพเจ้าสำนึกขอบคุณท่าน? เป็นข้าทาสของท่านไปชั่วชีวิต?”
            โซวเอ็งกลับตอบอย่างปลอดโปร่งว่า ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการให้ท่านเป็นข้าทาสของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเพียงต้องการให้ท่านเป็นสามีข้าพเจ้า
            อีกครั้งหนึ่ง ก่อนวาระสุดท้ายของลี้ตั่วฉุ่ย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศรันทดหดหู่ เซียวฮื้อยี้ห้ามทุกคนร้องไห้ หากผู้ใดหลั่งน้ำตาอีก ข้าพเจ้าจะบีบบังคับนางเป็นภรรยาข้าพเจ้า ให้นางล้างเท้าโสโครกให้แก่ข้าพเจ้าทุกวันลูกสาวลี้ตั่วฉุ่ยพยายามปาดเช็ดน้ำตา แต่โซวเอ็งกลับร้องไห้ออกมา ก่อนจะถามว่า ท่านไฉนไม่บีบบังคับข้าพเจ้าแต่งงานกับท่าน?”
            ในแง่นี้โซวเอ็งจึงต่างจากเทพธิดาน้อยที่ดื้อรั้นอย่างไม่ลดราวาศอก เธอรู้เวลาที่จะทุ่มเถียงกับเขา รู้เวลาที่จะเก็บคำ รู้เวลาที่จะช่วยคิดอ่าน รู้เวลาที่จะปลอบโยน รู้เวลาที่จะใช้เล่ห์กล รู้เวลาที่จะใช้มารยาอุบาย รู้เวลาที่จะยืนเคียงข้าง และรู้เวลาที่จะอยู่ข้างหลังหนึ่งก้าว เมื่อโก้วเล้งบรรยายตอนที่ทั้งสองทั้งขู่ทั้งปลอบเพื่อเค้นเอาความจริงจากผู้อื่นว่า คนหนึ่งรับบทหน้าดำ (ตัวร้ายบนเวทีงิ้ว) คนหนึ่งสวมบทหน้าขาว (ตัวเอก)ไม่เพียงทำให้ผู้อ่านเห็นด้วยว่า หากพวกเขายังไม่อาจคาดคั้นความจริงจากผู้อื่น ยังมีผู้ใดคาดคั้นได้แต่ยังคล้อยตามไปด้วยว่า นับเป็นคู่ที่สวรรค์สร้างมาจริงๆ
            ผู้ชายหลายคนเลือกผู้หญิงจากหน้าตา-ความงาม บางคนเลือกจากความคู่ควรทางสถานะ แต่บางคนกลับต้องการผู้หญิงที่เท่าทัน เซียวฮื้อยี้เป็นคนประเภทหลัง และโซวเอ็งก็ทั้งเท่าทันทั้งรู้ใจ
            นับจากรอดชีวิตจากงุ่ยบ้อแง้ เซียวฮื้อยี้ทั้งไม่แสดงความขอบคุณ ทั้งยังว่าร้าย ระราน และพยายามสลัดหลุด เราไม่รู้แน่ว่าโซวเอ็งอ่านเซียวฮื้อยี้ปรุโปร่ง หรือเพียงปลอบใจตัวเอง เมื่อเธอบอกว่าพฤติกรรมและวาจาทั้งหมดของเซียวฮื้อยี้เป็นเพียงเพราะในใจเขากลัวว่าจะสยบยอมต่อเธอ หลงรักเธอ เพราะอย่างน้อยในเวลานั้น ในใจเซียวฮื้อยี้ยังคงมีทิซิมลั้ง
            แต่ภายใต้ร่างแหอันถี่ถ้วนของโซวเอ็งที่ดูเหมือนยิ่งแผ่คลุมและโอบรัด เซียวฮื้อยี้ก็ดูเหมือนยิ่งพยายามน้อยลงที่จะสลัดหลุด ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ซึมซับรับรสชาติที่ไม่เคยได้ลิ้มลองมาก่อนในชีวิต ... รสชาติอันอบอุ่น นุ่มนวล หวานชื่น ที่สามารถพลิกกลับร่างแหในจินตนาการของเขาให้กลายเป็นตาข่ายรองรับที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจ มั่นคง
            สุดท้าย เราก็ได้แต่คล้อยตามโก้วเล้งอีกครั้งว่า เซียวฮื้อยี้โชคดียิ่ง
#
หมายเหตุ
- เซียวฮื้อยี้เป็นหนึ่งในเรื่องเอกของโก้วเล้ง ฉบับภาษาไทยดั้งเดิมเป็นฝีมือแปลของ ว. ณ เมืองลุง แต่การอ้างอิงในที่นี้ ใช้ตามฉบับที่ น.นพรัตน์ ได้แปลซ้ำอีกครั้งจากต้นฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่ ที่โก้วเล้งบอกว่าได้ตัดทอนส่วนที่เขาเห็นว่า ไม่จำเป็น ไม่เจริญวัย และไม่พอใจทิ้งไป สำนวนนี้ใช้ชื่อว่า ลูกปลาน้อย เซียวฮื้อยี้พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2535 โดยสยามสปอร์ตพริ้นติ้ง ในรูปแบบหนังสือปกอ่อนขนาดบาง  36 เล่มจบ
#
ปรับปรุงเมื่อ 6 เมษายน 2555
จากต้นฉบับที่เขียนเมื่อปี 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2555)