วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

องศาเดือด

Credit: http://www.redstar5.com
เพื่อนบางคนที่ไม่ได้เจอกันนานมาก ดูจะแปลกใจกับท่าทีความคิดบางอย่างของผม-ที่เขาคิดว่าเปลี่ยนไป แต่ก็เป็นความแปลกใจเชิงบวก
            สั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
            เพื่อนบางคนที่ว่า เป็นเพื่อนที่คบที่เจอกันสมัยเรียน และยังมีภาพผมในบทบาทนักกิจกรรม(เล็กๆ น้อยๆ) ที่ทำงานคลุกคลีอยู่กับนักศึกษากลุ่มที่เรียกกันว่า “หัวก้าวหน้า” บ้าง “ฝ่ายซ้าย” บ้าง ตามอัธยาศัย บางคนได้อ่านคอลัมน์ของผมใน “สีสัน” บางคนได้อ่านบทความที่ผมโพสต์ขึ้นบล็อก และคนหนึ่งเย้าว่าในสายตาของเพื่อนที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันมาบางคน – ซึ่งบัดนี้ยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง – ผมคงกลายเป็นรอยัลลิสต์ไปแล้ว
            แต่เราก็เห็นพ้องกันว่า “ต่อให้เป็นซูเปอร์หรืออัลตรารอยัลลิสต์ ก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่เราเชื่อมั่นในจุดที่เรายืน ในมโนสำนึกที่เรามี” 
สำหรับคนรุ่นผม ถ้าจะบอกว่าขบวนการล้มเจ้าพ.ศ.นี้ ไม่ได้มีอยู่จริง ก็โกหกพอๆ กับไม่มีการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในขบวนการนักศึกษา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
            และตัวละครจำนวนหนึ่งในยุคนั้น ก็คือคนที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างหลังการปลุกปั่นกระแสแก้ไข/ยกเลิกมาตรา 112 อย่างต่อเนื่องในวันนี้ แม้ปลายทางจะไม่ใช่ระบอบสังคมนิยมอีกต่อไป แต่เป้าหมายของการเปลี่ยนระบอบการปกครองไปสู่ระบอบที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเลย
            ช่วงปี 2518 สายงานจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือขบวนการนักเรียนนักศึกษาค่อนข้างสมบูรณ์ และงานจัดตั้งในระดับโรงเรียนก็เข้าถึงตัวคนรุ่นผมด้วย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “ผู้ปฏิบัติงาน” ระดับแกนนำในโรงเรียนได้ยึดชมรม/ชมนุมต่างๆ ที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมก้าวหน้าไว้ได้หมด และมีกระบวนการประเมินเพื่อนนักเรียนเป้าหมายเพื่อเข้าไปทำงานความคิดผ่านทาง “กลุ่มศึกษา” อย่างเป็นระบบ
            สิ่งที่เรียนรู้กันในกลุ่มศึกษานั้น ไล่กันมาตั้งแต่หนังสือที่ถือเป็นคัมภีร์อย่าง “ชีวทัศน์เยาวชน” ไปจนถึง “คติพจน์เหมาเจ๋อตุง และ “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง” มีกระบวนการวิจารณ์และวิจารณ์ตนเองในเชิงความคิด-ท่าที-การทำงาน และแนวทางการทำกิจกรรม การทำงานมวลชนเพื่อขยายแนวร่วมในส่วนของนักเรียนที่มีแนวคิดเสรีนิยม แต่ไม่ถึงระดับที่จะวางใจให้เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ปฏิบัติงาน
            เท่าที่ถามไถ่จากรุ่นพี่ระดับแกนนำ การแทรกซึมเข้ามาเคลื่อนไหวในเมืองของ พคท. มีมาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จริง แต่ก็ยังไม่สามารถเข้ามามีบทบาทในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาได้จริงจัง ผู้นำนักศึกษาที่มีบทบาทจริงๆ ในกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม-สังคม-การเมืองช่วงปี 2512 เป็นต้นมา จนถึงช่วงเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การเดินขบวนใหญ่ขับไล่ผู้นำเผด็จการในที่สุด ล้วนเป็นนักแสวงหาที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดแนวเสรีนิยมตะวันตกมากกว่า
            แต่ประตูเสรีภาพหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็เปิดพื้นที่ให้ข่ายงาน พคท. ได้เผยแพร่ความคิดปฏิวัติ และแนวคิดสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ได้อย่างกว้างขวาง ยิ่งภาวะการต่อสู้ขัดแย้งในสังคมไทยได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปี 2517-2518 ทั้งระหว่างฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาที่สูญเสียอำนาจกับฝ่ายขวาที่เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ตลอดจนฝ่ายซ้ายต่างแนวทาง ก็เป็นปัจจัยหนุนให้แนวทางปฏิวัติของ พคท. น่าสนใจมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อถืงปลายปี 2518 การเคลื่อนไหวของขบวนการนักเรียนนักศึกษาไทยได้สอดประสานกันไปกับ พคท. อย่างกลมกลืน ในแนวทางปฏิวัติแบบชนบทล้อมเมือง ตามโมเดลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และแนวทางของประธานเหมา
            ทั้งยังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมผู้นำนักศึกษาบางคนเลือกที่จะเดินทางเข้าป่าไปตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
๐ 
ระบบงานจัดตั้งและการทำงานมวลชนในขบวนการนักเรียน/นักศึกษาช่วงปี 2518 เป็นต้นมา เป็นเรื่องน่าสนใจมาก
            จากโรงเรียนไปมหาวิทยาลัย นิสิตรุ่นพี่ใช้เวลาจับตาดูแนวคิด-พฤติกรรมของผมได้ระยะหนึ่ง ก็ส่งเพื่อนรุ่นเดียวกันเข้ามาทาบทามให้ผมเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมในฐานะผู้ปฏิบัติงานอีกครั้ง นั่นหมายความว่าข้อมูลของข่ายงานจัดตั้งระดับโรงเรียนมีการรวมศูนย์และกระจายไว้อย่างเป็นระบบ และเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเคลื่อนไหวในเมืองโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องปิดลับมากขึ้น ระแวดระวังมากขึ้น
            อย่างไรก็ตาม การ “ตรวจสอบ” ก่อน “รับใหม่” ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะได้ผู้ปฏิบัติงานที่ว่าง่ายและเห็นพ้องต้องกันไปเสียทั้งหมด มันมีปัญหาอยู่เสมอระหว่างคนที่เชื่อการนำของ พคท. อย่างสุดจิตสุดใจ ไม่ว่าจะเป็นแกนนำผู้อุทิศตน หรือคนที่กระโจนจากความไม่รู้ทางการเมือง-สังคมเข้ามารับความคิดปฏิวัติอย่างเร่าร้อนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา กับคนที่มีฐานคิดแบบเสรีนิยมมาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา
            ผมกับเพื่อนหลายคนอยู่กลุ่มหลัง และเราก็คิดต่างกับพวกเขาหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องย่อยๆ เช่น “เอาละ ยอมรับว่าแนวทางปฏิวัติแบบจีน อาจเหมาะกับสภาพสังคมไทย แต่ทำไม (กรู) จะต้องมาฟังเพลงชาติจีน เพลงปฏิวัติจีน (ตามพวกมึง) ด้วย (ฟระ)” ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เมื่อพวกเขา (เอาหัว) ยืนยัน (ต่างเท้า) ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้การปกครองของเขมรแดง เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของจักรพรรดินิยมอเมริกาเท่านั้น (เหอะๆ)
            เรื่องพระเจ้าอยู่หัวและสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็เป็นประเด็นมาตั้งแต่ตอนนั้น ปีกซ้ายในขบวนการนักเรียนนักศึกษาพยายามครอบงำเด็กรุ่นน้องด้วย “เรื่องเล่า” มากมาย – ซึ่งยังคงเล่าต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ – ตั้งแต่เหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2489 มาจนถึง พ.ศ. 2519 เรื่องเล่าทุกเรื่องล้วนแต่นำไปสู่จุดหมายเดียว คือบ่มเพาะความรู้สึกเกลียดชังสืบต่อกันมา
            แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ปีกซ้ายของขบวนการ เราฟัง เราอ่าน และเราก็ไม่เห็นว่าแต่ละเรื่องเล่ามีหลักฐานพิสูจน์แสดงมากไปกว่าสมมติฐานและความเห็น ในขณะที่เมื่อเราย้อนมองกลับไปยังเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปไม่ทันนาน เราได้เห็นสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และกรรมการศูนย์ฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อกราบบังคมทูลถึงเป้าหมายในการต่อสู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 เช้าวันถัดมา เราได้เห็นประชาชนหนีตำรวจหน่วยปราบจลาจลเข้าไปพึ่งพระบารมีในพระตำหนักจิตรลดาฯ
            และค่ำวันเดียวกัน เราก็เห็นพระองค์พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นถือเป็นวันมหาวิปโยค และเปิดเผยว่ารัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ลาออกแล้ว ทั้งทรงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
            เขาเลือกที่จะเชื่อในเรื่องเล่า แต่เราขอเชื่อในสิ่งที่เราเห็น
            มิพักต้องพูดถึงพระราชกรณียกิจอีกนานัปการ “เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม”
๐ 
ภายหลังความขัดแย้ง วิกฤตศรัทธาต่อการนำ ป่าแตก กระทั่งนำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย “สหาย” จำนวนหนึ่งยังไม่ได้ลดละความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้
            สิ่งที่หายไปคืออุดมการณ์ สิ่งที่คงเดิมคือความกระหายอำนาจ สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือความคลั่งแค้น ที่ผกผันกับความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แม้ในครั้งที่ดูเหมือนจะเข้าใกล้ชัยชนะมากที่สุดในยุคของทักษิณ ชินวัตร
            ภายใต้ตรรกะป่วยๆ กับหลักกฎหมายแบบตัดตอน ที่อ้างเสรีภาพทางวิชาการคลุมทับ เห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอหลายระลอกของนิติราษฎร์ในคราวนี้ ไม่ได้เร้นบังการท้าทายสถานะพระมหากษัตริย์ “ผู้ทรงเป็นประมุข” “ผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตย” และ “ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” โดยตรง ขณะที่การเคลื่อนของ ครก. 112 ก็มีเจตนาลากยาวประเด็นการเคลื่อนไหวออกไปสู่การวิวาทะในวงกว้าง มากกว่าจะมุ่งล่ารายชื่อผู้สนับสนุนการแก้ไข ม.112 จริงๆ
            มองในมุมของคนคุ้นเคย อาจกล่าวได้สิ่งเหล่านี้ล้วนจงใจ “ออกแบบ” มาเพื่อจี้จุดเดือดของคนไทยผู้จงรักภักดีโดยตรง และปฏิกิริยาย้อนกลับก็เดือดแรงสมใจ ปัญหาคือ เมื่อลากยาวกันมาจนถึงจุดนี้แล้ว จะไปต่อที่ไหน อย่างไร เพราะกลายเป็นเรื่องยากแล้วที่จะหยุดให้คาราคาซังอยู่อย่างนี้
            หลายคนเริ่มมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา แน่นอนเหลือเกินว่า คนจำนวนมากไม่อยากเห็นภาพการล้อมปราบ ภาพความทารุณโหดร้ายที่คนไทยจำนวนหนึ่งถูกปลุกขึ้นมากระทำต่อคนไทยด้วยกัน ย้อนย้ำมาสู่วงจรการต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองซ้ำอีก แต่ประเด็นสำคัญกว่าที่ไม่ควรมองข้ามไปเด็ดขาดก็คือ ณ วันเวลานี้ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการปลุกระดม ป้ายสี หลอกลวง เพื่อสร้างความโกรธแค้นชิงชัง เหมือนอย่างที่คนรุ่นผมเคยเผชิญ
            หากเป็นการยั่วยุอย่างจงใจให้เกิดขึ้น โดยฝ่ายที่ยังผูกใจเจ็บและกระหายอยากจะ "แก้มือ" โดยมีนิติราษฎร์ และ ครก. 112 เป็นเชื้อไฟ
#
10 กุมภาพันธ์ 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2555)