วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ดอน วีโต คอร์เลโอเน ในฐานะนักบริหาร



โดย วิวิธ วุฒิวีรวรรธน์*
มาริโอ พูโซ แนะนำให้ผู้อ่านรู้จักมาเฟียผู้ยิ่งใหญ่ – ดอน วีโต คอร์เลโอเน ตัวละครเอกในนิยายของเขาเรื่อง The Godfather อย่างแนบเนียน โดยผ่านทางตัวละครสามคน อเมริโก โบนาเซรา สัปเหร่อ, จอห์นนี ฟอนเทน – นักร้องที่กำลังตกอับ, นาโซรีเน – คนทำขนมปัง ต่างคนต่างกำลังเผชิญปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งของชีวิต เป็นปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็แน่ใจว่า มีคนเดียวเท่านั้นที่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้ คนนั้นคือก็อดฟาเธอร์ – ดอน วีโต คอร์เลโอเน
            ในคำอธิบายของพูโซ: ดอน วีโต คอร์เลโอเน เป็นผู้ที่ทุกคนมาขอความช่วยเหลือ และไม่เคยผิดหวังกลับไป เขาไม่เคยให้สัญญาลมๆ แล้งๆ กับใคร ไม่เคยหาข้ออ้างว่ามีอำนาจอื่นใดในโลกที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขา ไม่จำเป็นหรอกว่าเขาจะต้องเป็นเพื่อนของผู้ที่มาหา ไม่สำคัญด้วยซ้ำไปว่า ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือจะไม่มีปัญญาตอบแทนบุญคุณได้ มีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นที่จำเป็น นั่นก็คือ ผู้ที่มาหานั่นแหละต้องประกาศมิตรภาพ
            ผู้ที่เคยอ่านคอลัมน์นี้ใน Man ฉบับที่แล้ว (เรื่อง “ศึกษาจากมาเฟีย”) คงทราบแล้วว่า ทำไม ดอน คอร์เลโอเน จึงเป็นบุคคลที่น่าศึกษาในฐานะนักบริหาร แต่ผู้ที่ยังไม่เคยอ่านอาจจะยังคลางแคลงใจอยู่บ้าง ขออนุญาตทบทวนสักเล็กน้อยในย่อหน้านีว่า แม้ดอน คอร์เลโอเน จะเป็นเพียงตัวละคร แต่ The Godfather เป็นหนังสือเล่มที่วงการบริหารยอมรับในฐานะ “หนังสือแนะนำ” และ “เป็นภาพสะท้อนของธุรกิจที่มีการจัดการดีที่สุดในโลก” มาริโอ พูโซไม่เพียงแต่นำเอาโลกเร้นลับอันน่าตื่นเต้นขององค์กรนอกกฎหมายมาตีแผ่ แต่เขายังให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้าง ข่ายงาน วิธีการทำงานขององค์กรแบบนี้ได้อย่างสมบูรณ์โดยผ่านทางครอบครัวคอร์เลโอเน ในทางการบริหารองค์กร เราสามารถศึกษาได้จากองค์กรมาเฟีย ในทางบุคลิกผู้นำและแนวคิดในการบริหารงาน เราสามาถศึกษาได้จากดอน คอร์เลโอเน

อาณาจักรของเดอะ บอสส์
            ในโลกนอกกฎหมาย ดอน คอร์เลโอเน คือ เจ้าพ่อคือ ก็อดฟาเธอร์ แต่ถ้าประเมินว่าองค์กร ของเขาเป็นองค์กรธุรกิจแบบหนึ่ง ดอน คอร์เลโอเน ก็คือ เดอะ บอสส์บางทีคำเดียวที่เหมาะสมกว่านี้ก็คือ บิ๊ก บอสส์
            ธุรกิจที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างแรกของวีโต คอร์เลโอเน ก็คือการค้าน้ำมันมะกอกจากอิตาลี เขาทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อสร้างธุรกิจของเขาให้ประสบความสำเร็จ จากนั้นอีกสองสามปีน้ำมันมะกอกของเขาก็ขายดีที่สุดในอเมริกา ก้าวถัดมาคือก้าวกระโดดสู่ความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง อเมริกาในยุคห้ามขายเหล้าคือโอกาสที่เปิดให้วีโต คอร์เลโอเนก้าวเข้าสู่อาณาจักรการค้าเหล้าเถื่อน อาณาจักของเขาเริ่มยิ่งใหญ่และแผ่กว้างออกไป หลังการยกเลิกการห้ามขายเหล้า วีโต คอร์เลโอเนซึ่งในเวลานั้นเป็นดอนไปแล้ว ไม่ยอมให้อาณาจักรของเขาปั่นป่วนด้วยสภาพตลาดของโพรดัคท์ไลน์อย่างใดอย่างเดียวที่ผันผวนไป งานของเขาเริ่มขยายไปสู่วงการพนัน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เครือข่ายธุรกิจของเขาก็พร้อมแล้วสำหรับการกอบโกยผลประโยชน์จากธุรกิจหลากแขนง ครอบครัวของเขามีส่วนในแสตมป์อาหาร แสตมป์น้ำมัน การค้าในตลาดมืด หาวัตถุดิบป้อนตลาดเครื่องแต่งกายที่กำลังขาดแคลน หลังจากนั้นไม่มีอะไรมาขวางทางการเติบโตของอาณาจักรคอร์เลโอเนได้อีกต่อไป และไม่เพียงแต่ในกิจการที่ผิดกฎหมายเท่านั้น
            เมื่อดอน คอร์เลโอเนเตรียมวางมือจากธุรกิจ ไมเคิล คอร์เลโอเน – ลูกชายคนเล็กซึ่งจะเป็นผู้สืบอำนาจของเขา ได้มีโอกาสศึกษาข่ายธุรกิจของครอบครัวอย่างละเอียดเพื่อเตรียมตัวเข้ารับตำแหน่ง ไมเคิลรู้สึกทึ่งในขอบข่ายงาน มันมากกว่าที่เขาเคยรู้หรือเคยคิด ครอบครัวคอร์เลโอเนเป็นเจ้าของที่ดินย่านมิดทาวน์อันมีค่าเหลือล้นของนิวยอร์ก อาคารสำนักงานทุกหลัง ยังเป็นหุ้นส่วนของบริษัทโบรกเกอร์ในวอลล์สตรีทบางแห่ง ธนาคารบางแห่งในลองไอส์แลนด์ กระทั่งบริษัทเครื่องแต่งกาย ทั้งหมดนี้ในนามของคนอื่น
            นอกจากธุรกิจ เส้นสายของดอน คอร์เลโอเนยังกระจายไปทั่วในแวดวงทางกฎหมายและทางการเมือง บางคนเคยคิดว่าดอนอาจจะยิ่งใหญ่แต่ในนิวยอร์ก แต่ปัญหาของจอห์นนี ฟอนเทน แสดงให้เห็นว่าเงื้อมมือของดอนสามารถยื่นออกไปไกลถึงฟากฝั่งตะวันตกอย่างแคลิฟอร์เนีย ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ในฮอลลีวูดผู้ทะนงในบารมีและเส้นสายของตน เป็นคนที่รู้ซึ้งถึงอิทธิพลของเขาดีที่สุด เมื่อม้าราคาหกแสนเหรียญของเขาตกเป็นเครื่องสังเวย และในที่สุด จอห์นนี ฟอนเทนก็ได้งานในหนังที่เขาอยากแสดง

เส้นทางสู่ความยิ่งใหญ่
            วีโต คอร์เลโอเน ถูกส่งจากเกาะซิซิลีมาอยู่ในอเมริกา หลังจากที่มาเฟียซิซิลีฆ่าพ่อของเขาตอนอายุสิบสอง และเขาเป็นเป้าต่อไปของการถอนรากพันธุ์การแก้แค้น วีโต คอร์เลโอเนอาจเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ชีวิตก็คือชีวิต มันเหมือนกับบทสรุปของเขาในเวลาต่อมาว่า “ทุกคนมีจุดหมายปลายทางในชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” และจุดหมายปลายทางของเขาก็คือ ดอนผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ที่ทุกคนเคารพนับถือ
            ความตายของพ่อผู้อารมณ์ร้อน ทำให้ดอนเยือกเย็นและเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่ม งานชิ้นแรกที่เขาสร้างความเคารพนับถือขึ้นมาคือการวางแผนอย่างรอบคอบ ชาญฉลาด และรัดกุม เพื่อสังหารนักเลงกระจอกชื่อฟานุคชี ที่มาเรียกเอาส่วนแบ่งจาก ธุรกิจที่เขาลงแรงไป ปีเตอร์ เคลเมนซา กับเตสซิโอ เพื่อนผู้ร่วมธุรกิจด้วยกัน เป็นสองคนแรกที่รู้และแสดงความนับถือในตัวเขา ต่อมาทั้งสองกลายเป็นคาโปเรจิเมคนสำคัญในอาณาจักรของดอน คอร์เลโอเน ในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ทุกคนในละแวกนั้นก็รับรู้กันหมด วีโตกลายเป็นผู้ที่คนอื่นเริ่มมาขอความช่วยเหลือ และเขาก็ช่วยได้จริงๆ เขาไม่ได้ช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยกำลังหรือการข่มขู่ แต่โดยคำพูดอย่างที่เขาพูดออกมาครั้งหนึ่งว่า “บริการข้าหน่อยนะ ข้าจะไม่ลืมเลย ถามเรื่องของข้าจากเพื่อนท่านในละแวกนี้ดูก็ได้ พวกนั้นจะบอกเองว่าข้าเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการตอบแทนบุญคุณคน”
            นั่นคือวิธีการที่เขาสร้างความเคารพนับถือขึ้นมา และคือการเริ่มต้นในการทำธุรกิจด้วย มิตรภาพบ่อนการพนันเต็มใจจ่ายเงินให้เขาสำหรับมิตรภาพที่เขาจะให้โดยการไปเยี่ยมบ่อนบ้างเป็นครั้งคราว เจ้าของกิจการร้านค้าต่างๆ เต็มใจให้เงินตอบแทนเขาสำหรับมิตรภาพที่เขายื่นมือไปจัดการกับพวกอันธพาลวัยรุ่นที่มาเกะกะระราน เมื่อวีโตเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบด้วยการค้าน้ำมันมะกอก มิตรภาพและความเคารพนับถือที่เขาได้รับกลายเป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จทางธุรกิจ
            เมื่ออาณาจักรของเขายิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา ดอน วีโต คอร์เลโอเน ก็ได้พูดถึงความหมายและความสำคัญของมิตรภาพเอาไว้ว่า “มิตรภาพคือทุกสิ่งทุกอย่าง มิตรภาพสำคัญกว่าพรสวรรค์ สำคัญกว่ารัฐบาล มันเกือบจะเท่าครอบครัว (หมายถึงองค์กรมาเฟีย)”
            และเขาก็มีวิธีการที่ดีในการแสดงออกถึงมิตรภาพที่จะทำให้ผู้รับซาบซึ้ง เมื่อใครมาหาเขาพร้อมกับมิตรภาพ และต้องการความช่วยเหลือจากเขา ดอนจะไม่ปฏิเสธ ไม่เคยให้สัญญาลมๆ แล้งๆ หรืออ้างว่ามีอำนาจอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่าเขาซึ่งทำให้เขาไม่อาจช่วยเหลือได้ ดอนทำได้เสมอเพื่อมิตรภาพ พูโซเขียนถึงวิธีการของดอนเอาไว้ว่า: ดอนมักจะสอนว่าเมื่อใครจะใจกว้าง ก็ต้องแสดงความใจกว้างนั้นออกมาว่าเป็นความใจกว้างส่วนตัว เป็นการแสดงให้เห็นว่า คนอย่างดอนเองก็ต้องยืมเงินคนอื่นมาให้เขายืม ไม่ใช่ว่าเขาไม่รู้ว่าดอนเป็นเศรษฐี แต่มีเศรษฐีกี่คนที่ยอมลำบากเพื่อช่วยเหลือเพื่อที่ทุกข์ยากอย่างนี้
            อาจกล่าวได้ว่า รากฐานแห่งความยิ่งใหญ่ของเขาก็คือมิตรภาพ เขาเป็นดอนที่ได้รับการยอมรับด้วยความนับถือ ไม่ใช่เพราะความเกรงกลัวและอำนาจเพียงอย่างเดียว งานของดอนเป็นไปด้วยดีเพราะมีคนมากมายเป็น “หนี้มิตรภาพ” ของเขาอยู่ และมันได้ผลดีเป็นพิเศษในที่ที่ความรุนแรงไม่อาจใช้ได้ผล การข่มขู่ไม่มีความหมาย
            ในเชิงธุรกิจแล้ว ด้วยวิธีการแห่งมิตรภาพและความเคารพนับถือที่ดอน วีโต คอร์เลโอเนได้รับ ก็คือการสร้างภาพพจน์ของผู้นำ ของนักบริหารที่ดีที่สุดทางหนึ่งที่ทำได้

ชั้นเชิงธุรกิจของดอน
            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในโลกของมาเฟีย อำนาจและอิทธิพลมีบทบาทอยู่อย่างสำคัญ วีโต คอร์เลโอเนยิ่งใหญ่ขึ้นมาก็โดยการสั่งสมอำนาจและอิทธิพลด้วย แต่วีโต คอร์เลโอเนยิ่งใหญ่กว่ามาเฟียคนอื่นเพราะเขารู้ว่าเมื่อไรคือเวลาของมิตรภาพ เมื่อไรคือเวลาสำหรับการพูดกันด้วยเหตุผล และเมื่อไรที่เขาจะใช้กำลังอำนาจของเขาออกมา
            วีโตเริ่มต้นธุรกิจน้ำมันมะกอกบนพื้นฐานมิตรภาพและความเคารพนับถือ แต่ธุรกิจของเขาจะไม่สามารถยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้เลยถ้าปราศจากชั้นเชิงทางธุรกิจ ในเวลาไม่นาน เขาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องนี้ เขาเริ่มเข้าใจผลดีของการตัดราคาสินค้าคู่แข่ง สกัดกั้นช่องทางจำหน่ายของคู่แข่งโดยการชักจูงเจ้าของร้านให้สั่งน้ำมันของพวกนั้นมาสต็อกไม่เพียงจำนวนน้อย และในที่สุดเป้าหมายของเขาก็คือการบีบคู่แข่งให้เลิกกิจการไป หรือไม่ก็มารวมกับบริษัทของเขา จะมีใครปฏิเสธได้ว่าวิธีการเหล่านี้ไม่มีอยู่จริงในเกมธุรกิจของสังคม การค้าเสรี ซึ่งเป็นแค่ชื่อ วิธีการของดอนก็เหมือนกับสิ่งที่เรียกกันว่า ทุนนิยมผูกขาด
            การเจรจาเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในเชิงธุรกิจ ดอน คอร์เลโอเนก็เปรียบเสมือนนักบริหารที่ใช้อาวุธนี้ได้เต็มประสิทธภาพของมัน “ข้าจะพูดเหตุผลกับมัน” คือคำพูดที่มีชื่อเสียงประโยคหนึ่งของเขา มันเป็นเหมือนคำเตือนให้รู้ตัวก่อนลงมือเล่นงานกันถึงตาย เมื่อเขากลายเป็นดอนคนหนึ่งไปแล้วและขอให้คู่แข่งมานั่งคุยกันด้วยเหตุผลกับเขา พวกนั้นจะเข้าใจทันทีว่ามันเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะแก้ปัญหาโดยไม่มีการนองเลือดและฆ่าฟันกัน ก่อนจะมีการเจรจา ดอน คอร์เลโอเนจะไตร่ตรองทุกอย่างอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด ประเมินผลได้ผลเสียของมันในทุกๆ ทาง จนได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุด และข้อสรุปนั้นก็กลายเป็นคำพูดอีกประโยคหนึ่งที่มีชื่อเสียงของเขา “ข้ามีข้อเสนอที่มันปฏิเสธไม่ได้”
            คนหนึ่งที่เรียนรู้ศิลปะของการเจรจามาจากดอน คอร์เลโอเนดีที่สุด ก็คือ ทอม เฮเจน ผู้มีตำแหน่งเป็นคอนซีลโยรีของดอน “อย่าโกรธ อย่าขู่ จงพูดโดยใช้เหตุผล” นั่นคือประโยคที่ดอนสั่งมา คำว่า ใช้เหตุผลนั้นฟังเป็นภาษาอิตาเลียนได้ดีกว่าด้วยคำว่า ราจูนาห์ หรือการโต้แย้ง ศิลปะของการเจรจานี้อยู่ที่ว่า ไม่สนใจกับคำสบประมาท คำข่มขู่ต่างๆ ไม่สนใจมันทั้งหมด เฮเจนเคยเห็นดอนนั่งเจรจามาแปดชั่วโมง รับฟังคำสบประมาทต่างๆ พยายามชักจูงไอ้คนบ้าอำนาจให้เออออกับวิธีการของเขา เมื่อหมดเวลาแปดชั่วโมงนั้น ดอน คอร์เลโอเนก็ชูมือขึ้นอย่างหมดหวังและบอกคนที่นั่งเจรจาด้วยว่า “แต่ไม่มีใครจะใช้เหตุผลกับหมอนี่ได้” แล้วก็เดินออกมาจากการเจรจา สองเดือนหลังจากนั้นไอ้หมอนั่นก็ถูกยิงตาย
            สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการเจรจาก็คือกฎแห่งความเงียบ หรือโอเมอร์ตาของชาวซิซิเลียน มันเป็นเช่นเดียวกับการรักษาความลับในทางธุรกิจ การเจรจาครั้งหนึ่งของดอน คอร์เลโอเนพลาดไป และเกือบจะทำให้เขาเอาชีวิตไม่รอด ดอนไม่สนใจข้อเสนอร่วมค้ายาเสพติดกับมาเฟียอีกแก๊งหนึ่ง แต่ซันนี – ลูกชายของเขาแสดงท่าทีสนใจขึ้นมาระหว่างการเจรจา ทำให้ผู้มาเจรจาด้วยเกิดความคิดจะเก็บดอน ด้วยหวังว่าเมื่อไม่มีดอน มันจะเจรจากับซันนีได้ ประโยคสำคัญประโยคหนึ่งในเรื่องนี้ของดอนก็คือ “ซันตีโน อย่าให้ใครรู้ว่ามีอะไรอยู่ในอุ้งเล็บเอ็ง”
            ถ้าเปรียบดอนเป็นนักบริหาร เขาคือนักบริหารที่ชาญฉลาด รู้จังหวะ รู้เวลา รู้สถานการณ์ จังหวะไหนที่เขาควรจะรุก จังหวะไหนที่เขาควรจะรับ ดอนเป็นคนที่ทำอะไรผิดพลาดไม่กี่อย่าง และก็เรียนรู้ทุกอย่างจากความผิดพลาดนั้น
            การ รุกครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของดอนก็คือการขยายอาณาจักรเข้าสู่วงการพนัน ซึ่งทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับเพื่อนของอัล คาโปน ผู้เป็นมาเฟียที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนั้น ดอนโค่นเพื่อนของคาโปนลงได้ และสามารถยับยั้งให้อัล คาโปนต้องคิดทบทวนใหม่ในการที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อนเก่าทำสงครามกับดอน เป็นการรุกที่ใช้กำลังอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ หลังจากครั้งนั้นดอนก็ได้รับความนับถือจากวงการใต้ดินทั้งสหรัฐ
            ในการ รับครั้งสำคัญ ก็คือการเจรจากับห้าครอบครัวของนิวยอร์กเพื่อทำสันติภาพ ทั้งๆ ที่พวกนั้นเพิ่งสังหารลูกชายคนโตของเขาไป มันเป็นการรับที่ทำให้ครอบครัวคอร์เลโอเนถูกประเมินว่าอ่อนแอลง ดอนแสดงให้เห็นว่าเขาเก่งกาจในเชิงการทูตการเจรจา การทำสันติภาพครั้งนั้นลุล่วงไปด้วยดีตามที่เขาวางเป้าไว้ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกประเมินว่าครอบครัวเขากำลังอ่อนแอ เพราะไม่ได้แก้แค้นให้ลูกชาย แต่ดอนมีแผนการยาวไกลไปกว่านั้น
            ยุทธศาสตร์ของดอนก็คือ แม้จะต้องรับ แต่ก็ต้องรัดกุม และไม่ใช่การรับในเรื่องที่จะแสดงถึงความพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง “ถ้าเราเคยยอมให้มันปั่นหัวในเรื่องเล็กๆ ได้ ต่อไปมันก็ต้องการครอบครองเราหมดทุกอย่าง เอ็งจะต้องหยุดยั้งมันตั้งแต่ต้นมือเหมือนกับที่พวกนั้นควรจะหยุดยั้งฮิตเลอร์ที่มิวนิคนั่นแหละ ไม่น่าให้มันรอดไปได้ พวกมันเรียกหาความยุ่งยากตอนที่ปล่อยให้มันรอดไปได้” ดอนเคยพูดอย่างนี้เมื่อปี 1939 ก่อนหน้าที่สงครามจะเกิดขึ้นจริงๆ เขาคิดด้วยว่าถ้าครอบครัวต่างๆ เป็นดำเนินงานกระทรวงการต่างประเทศ สงครามโลกครั้งที่สองจะไม่มีวันเกิดขึ้น    
            ทุกอย่างดูจะผสมผสานกันอย่างเหมาะเจาะในการทำงานและการคิดวางแผนของดอน คอร์เลโอเน เขาเลือกใช้กำลังหรือการเจรจาอย่างเหมาะสมและชาญฉลาด กฎโอเมอร์ตาไม่เพียงแต่มีบทบาทในการเจรจา แต่รวมถึงการใช้กำลังด้วย เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ไม่ควรทำให้ศัตรูไหวตัวก่อน เมื่อเขาจะลงมือ มันจะต้องเฉียบขาด รวดเร็ว ได้ผล ชั้นเชิงของดอนอันนี้เหมือนกับที่ต่อมา ทอม เฮเกน ผู้เป็นคอนซีลโยรีบอกกับไมเคิล คอร์เลโอเนว่า “มีอย่างหนึ่งซึ่งเอ็งยังไม่ได้เรียนจากดอน นั่นก็คือการพูดอย่างที่เอ็งกำลังพูดอยู่นี่ มีหลายอย่างที่จะต้องทำ เอ็งทำมันไปเลย และอย่าพูดถึงมันเด็ดขาด อย่าพยายามพูดว่าสมเหตุสมผลทั้งนั้น เอ็งเพียงแต่ลงมือไปเลย แล้วก็ลืมมันเสีย”
            การใช้กำลังอำนาจกับการข่มขู่คุกคามในทัศนะของดอนเป็นคนละเรื่องกัน การคุกคามข่มขู่นั้นเป็นสิ่งที่โง่ที่สุด อีกนัยหนึ่งมันเป็นเพียงวิธีการของนักเลงสวะ ดอนสุขุมในทุกเรื่อง และในเรื่องเช่นนี้ยิ่งสำคัญ ไม่เคยมีใครได้ยินดอนพูดขู่ ไม่มีใครเคยเห็นดอนโกรธมากจนลืมตัว เพราะมันน่ารังเกียจ เขาบอกว่าไม่มีผลประโยชน์ใดทางธรรมชาติในชีวิตจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการให้ศัตรูประเมินความผิดพลาดของเราเองสูงกว่าที่เป็นจริง เว้นแต่ว่าจะมีเพื่อนที่ดีตีค่าความดีของเราต่ำต้อยกว่าความเป็นจริง – นั่นคือปรัชญาของดอน

การบริหารองค์กร การบริหารคน
            แม้ว่าดอนจะมีความสามารถในเชิงธุรกิจ เป็นผู้นำที่ดี แต่พื้นฐานความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือวิธีที่เขาจัดองค์กร วิธีที่เขาบริหารคน
            ข่ายงานของครอบครัวคอร์เลโอเน ถ้าเปรียบกับองค์กรธุรกิจ ดอน วีโต คอร์เลโอเนก็คือซีอีโอ เขามีคอนซีลโยรีคนหนึ่งเป็นเหมือนมือขวาของเขา ตามความหมายของตำแหน่งนี้คือที่ปรึกษา แต่โดยการทำงานของคอนซีลโยรีเป็นเหมือนซีโอโอ ที่คอยดูแลงานภาคปฏิบัติทั้งหมด ทำตามนโยบายที่ดอนกำหนด ให้ความคิดเห็นเมื่อต้องการ เป็นสมองอีกส่วนหนึ่งของดอน
            การจัดรูปองค์กรของดอนเริ่มขึ้นในช่วงการค้าเหล้าเถื่อน เมื่ออารณาจักรของเขาเริ่มใหญ่ขึ้น เขาตั้งตำแหน่งคอนซีลโยรีขึ้นมาในตอนนี้ และมีคาโปเรจิเมสองคนคือเคลเมนซากับเตสซิโอ เพื่อนเก่าที่ร่วมธุรกิจกันมาแต่แรก สายงานของคาโปเรจิมาแต่ละคนคือการแยกกันออกไปทำงาน มีกิจการเฉพาะที่ต้องดูแล มีคนในบังคับบัญชาโดยตรง ในบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลาง คาโปเรจิเมอาจเปรียบได้กับผู้จัดการฝ่าย หรือในบริษัทขนาดใหญ่ คาโปเรจิเมก็เหมือนกับผู้บริหารบริษัทในเครือ คาโปเรจิเมจะรายงานโดยตรงต่อดอน เหตุผลหนึ่งที่มีการแยกส่วนของคาโปเรจิเมก็เพื่อกันการรวมตัวกันโค่นล้มดอน และอีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจที่แยกแยะความรับผิดชอบชัดเจน และมีอิสระการทำงานในขอบเขตที่แน่นอน ระบบนี้ได้ผลเป็นอย่างดี
            ลำดับชั้นต่อจากนั้น ในสายงานของคาโปเรจิเมจะมีคนระดับคาโปหรือปัตตอนแมน ซึ่งมีคนในบังคับบัญชาจำนวนหนึ่ง เปรียบได้กับหัวหน้าแผนขององค์กรธุรกิจ ถัดลงไปเป็นพนักงานทั่วไป ถ้าเปรียบเทียบกับจำนวนคนในข่ายงานที่ครอบครัวคอร์เลโอเนมีอยู่ จะเห็นว่านี่คือการจัดองค์กรขนาดใหญ่ที่มีลำดับชั้นค่อนข้างน้อยและไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็มีความชัดเจนอยู่ในตัว ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติงานระดับสูงจะมีอิสระในการกำหนดการทำงานในส่วนของตนได้ นอกจากนี้ ในแง่องค์กรอาชญากรรม นี่คือการป้องกันตัวที่รัดกุม เราะระหว่างดอนกับผู้ปฏิบัติงานระดับล่างจะมีตัวกลางคั่นอยู่ในแต่ละช่วง หากเกิดอะไรผิดพลาด จะไม่มีอะไรโยงใยไปถึงตัวดอนเลย เว้นเสียแต่ว่าคอนซีลโยรีจะกลายเป็นคนทรยศ
            ในการบริหารบุคคล ดอนมีหลักสำคัญที่ได้ผลดีเสมอ คือการทำให้คนของเขารู้สึกพอใจต่อการได้อยู่ในโลก “ซึ่งให้รางวัลอย่างเหมาะสมถูกต้องแก่คนที่ทำหน้าที่ของตน” ดอนแสดงความรักออกมาเท่าๆ กัน ไม่มีลำเอียงให้กับใคร
            มนุษย์เรามีธรรมชาติที่อาจนับเป็นจุดด้อยได้อย่างหนึ่งคือ ไม่รู้จักถนอมน้ำใจคนใกล้ชิด เรามักให้ความเกรงใจแก่คนแปลกหน้าหรือคนที่เราไม่คุ้นเคยด้วย แต่กับผู้ที่เราสนิทสนมรักใคร่ เรามักจะมองข้ามจุดนี้ไป ทั้งที่มันสำคัญมากกว่า เคล็ดลับของดอนในการบริหารบุคคลก็คือ เขาตระหนักในเรื่องนี้และควบคุมตัวเองได้เสมอ ตัวอย่างหนึ่งก็คือวิธีที่จะพูดคำว่า “ไม่” ดอนบอกกับลูกชายคนเล็กในช่วงที่จะขึ้นมามีอำนาจแทนเขาว่า “เอ็งพูดคำว่า ไม่กับคนที่เอ็งรักบ่อยไปไม่ได้ นั่นแหละคือเคล็ดลับ และเมื่อต้องพูด ก็ต้องให้มันฟังเหมือนกับ ได้หรือไม่ก็ต้องให้พวกนั้นพูดว่า ไม่เสียเอง
            ดอนจึงชนะใจสมาชิกในองค์กรของเขา สร้างความเคารพนับถืออย่างยินยอมพร้อมใจ เพราะเขามีวิธีการเลี้ยงคนของเขา ถนอมน้ำใจคนของเขา รักคนของเขาเท่าๆ กัน และให้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างเหมาะสม มันคือหลักการง่ายๆ แต่ทำได้ยาก คือสามัญสำนึก คือความจริงพื้นฐาน แต่คนเราหรือผู้บริหารมักละเลย คนของดอนภูมิใจที่ได้อยู่ในโลกแห่งนี้ โลกซึ่งแม้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ลูกน้องของดอนก็สามารถเดินหน้าเชิดไปตามถนน ในกระเป๋าเต็มไปด้วยธนบัตร ไม่ต้องกลัวตกงาน ดอนดูแลโลกของเขาและคนของเขาอย่างดี เขาไม่ได้ให้ความผิดหวังแก่คนที่พึ่งพาเขาและทำงานให้เขา เมื่อคนของเขาบางคนโชคร้ายถูกจับ ครอบครัวของคนนั้นจะได้เงินยังชีพเท่ากับที่คนนั้นได้ตอนอยู่นอกคุก เมื่อออกจากคุกมาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีงานปาร์ตี้ มีโอกาสได้ร่วมดื่มไวน์กับดอน และมีเงินอีกก้อนรับขวัญ
            กับคนที่ จัดการด้วยยากอย่างลูคา บราชี มือสังหารที่ขึ้นตรงต่อเขา ดอนก็ต้อนรับเขาอย่างพระราชาต้องรับข้าราชบริพารที่ทำงานอันยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ ไม่ได้แสดงความสนิทสนม มีแต่ให้ความนับถือ ทุกท่าทางทุกคำพูดเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนให้ลูคารู้ว่าเขาเป็นคนมีค่าสำหรับดอน

วิสัยทัศน์นักบริหาร
            ครั้งแล้วครั้งเล่า ในสถานการณ์ต่างๆ ดอน วีโต คอร์เลโอเนได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นนักบริหารผู้ชาญฉลาดและมีสายตายาวไกลไปข้างหน้า มองไปถึงอนาคต เมื่อเขาขยายธุรกิจจากการค้าน้ำมันมะกอกไปสู่การค้าเหล้าเถื่อน เขาก็มองเห็นแล้วว่าความมั่นคงทางธุรกิจไม่อาจผูกติดไว้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการใดเพียงหนึ่งหรือสองอย่าง เพราะหากธุรกิจนั้นเกิดปัญหาขึ้น มันอาจจะไม่เหลือทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากความหายนะ
            การค้าเหล้าเถื่อนเป็นจังหวะที่ดียิ่งในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้อาณาจักรของดอน แต่เมื่อมีการยกเลิกกฎหมายห้ามขายเหล้า อาณาจักรของเขาก็ไมได้พังทลายลงมา เพราะดอนมองไปที่ธุรกิจการพนันเตรียมไว้แล้ว และเขาก็ทำได้สำเร็จ หลังจากนั้นดอนก็ขยายข่ายธุรกิจของเขากว้างออกไปเรื่อยๆ ซึ่งหมายถึงว่าอาณาจักรของเขาก็มั่นคงมากขึ้นด้วย เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ดอนก็เตรียมการไว้อย่างดีสำหรับครอบครัวของเขา เขามองเห็นแล้วว่าในยุคที่เขาจะวางมือไปและให้ลูกชายคนเล็กก้าวขึ้นมาแทน ธุรกิจนอกกฎหมายจะถูกกระทบมากขึ้น ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมายของดอนก็ถูกเสริมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับเพื่อเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงนั้น และเมื่อสภาพของนิวยอร์กไม่เอื้ออำนวยสำหรับความรุ่งโรจน์เหมือนแต่ก่อน ดอนก็ฉลาดพอที่จะมองไปถึงเมืองใหม่ที่ยังรกร้างและแห้งแล้งในช่วงบุกเบิกอย่างลาสเวกัส เขาไปสร้างฐานธุรกิจใหม่ด้านโรงแรมและบ่อนคาสิโนขึ้นมาก่อนเป็นคนแรกๆ เขาพิจารณาแล้วว่ามันจะมีอนาคต และเขาก็คิดถูก
            ในเรื่องมิตรภาพก็เช่นกัน การที่ดอนให้ความช่วยเหลือทุกคน เขาไม่คิดหวังจะเรียกอะไรตอบกลับมาโดยเร็ว เขาพร้อมที่จะให้มิตรภาพไปก่อน ให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้วสักวันเขาอาจต้องการความช่วยเหลือบางอย่างจากคนที่เป็นหนี้มิตรภาพเขาอยู่ เขามองไปไกล ไกลมาก เขาช่วยเด็กฉลาดจากครอบครัวอิตาเลียนยากจนให้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย เพื่อต่อไปเด็กเหล่านั้นจะเป็นทนายความ เป็นผู้ช่วยอัยการ เป็นผ้พิพากษา นั่นคือการสร้างเส้นสายทางกฎหมายและการเมืองในระยะยาว ขณะเดียวกันเขาก็หว่านมิตรภาพไปถึงนักกฎหมาย นักการเมือง วุฒิสมาชิกในเวลานั้นด้วย ทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรง หรือผลพวงทางอ้อมที่ว่าเขาเป็นคนที่ชาวอิตาเลียนต้องการคำแนะนำเมื่อรู้สึกสับสนว่าจะลงคะแนนให้ใครดีในการเลือกตั้งระดับต่างๆ ซึ่งทำให้ดอนกลายเป็นผู้ที่หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ต้องมาปรึกษา มาขอการสนับสนุนจากเขา
            สายตาอันยาวไกลที่มีผลสำคัญที่สุดต่อความยิ่งใหญ่และยั่งยืนของครอบครัวคอร์เลโอเนก็คือการเจรจาสันติภาพกับครอบครัวอื่นในนิวยอร์กเพื่อระงับการทำสงคราม มันเป็นการตั้งรับที่คนอื่นมองว่าอ่อนแอ แต่ดอนรู้ดีว่าเขากำลังทำอะไร ลูกชายคนโตของเขาถูกสังหาร ลูกชายคนกลางไม่มีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการรับช่วงงานของเขา เหลือเพียงลูกชายคนเล็กซึ่งหลบหนีอยู่ที่เกาะซิซิลีหลังจากฆ่าคนของครอบครัวเหล่านั้น ดอนต้องเจรจาเพื่อเปิดทางให้ลูกชายของเขากลับมา มันเป็นทางเดียวที่เขาจะมีหลักประกันในชีวิตของลูกชาย ซึ่งหมายถึงหลักประกันของครอบครัวคอร์เลโอเนต่อไปด้วย การสืบทอดอำนาจในครอบครัวนั้นไม่ได้ขึ้นกับสายเลือดก็จริง แต่คาโปเรจิเมของเขาแก่เกินไปเช่นเดียวกับเขา คอนซีลโยรีของเขาทำหน้าที่ได้ดีในยามสงบ แต่ไม่ใช่คอนซีลโยรีในสถานการณ์สู้รบ ไม่มีใครอีกแล้วนอกจากไมเคิล คอร์เลโอเน และเขาต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ไมเคิลกลับมา
            ระหว่างการเตรียมไมเคิลให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้นำครอบครัว ดอนยอมทนต่อการรุกล้ำอาณาเขตโดยครอบครัวอื่น เขาบอกุกคนเพียงว่า “ข้าทำสันติภาพไปแล้ว ข้ากลับคำไม่ได้หรอก” นั่นทำให้แม้แต่คาโปเรจิเมคู่ใจของเขายังคิดว่าครอบครัวคอร์เลโอเนอ่อนแอแล้วจริงๆ ดอนเองก็แก่เกินกว่าจะทำศึกได้เหมือนก่อน แต่ทุกอย่างอยู่ในใจของดอนหมดแล้ว เมื่อทุกอย่างพร้อม ไมเคิลก็รับช่วงสิ่งที่ดอนได้เตรียมไว้ โดยนำครอบครัวคอร์เลโอเนล้างบางครอบครัวบาร์ซินีและครอบครัวตาตตาเกลียคู่ปรับโดยที่ดอนไม่ได้ละเมิดสัญญาสันติภาพเลย เพราะเขาวางมือไปแล้ว
            ลูกเขยของดอนที่เป็นเหยื่อล่อให้ลูกชายคนโตของดอนไปติดกับ  และคาโปเรจิเมคนสนิทที่หันไปอยู่ข้างศัตรูเมื่อเห็นว่าครอบครัวคอร์เลโอเนไม่มีอนาคตอีกต่อไปและไม่ยอมรับให้ไมเคิลขึ้นมาเป็นดอน ก็ตกเป็นเป้าปฏิบัติการที่รวดเร็ว เฉียบขาด ไปด้วยพร้อมกัน ทุกอย่างลงเอยเหมือนคำพูดของดอนที่ว่า “การแก้แค้นเป็นอาหารที่มีรสชาติดีที่สุดเมื่อมันเย็นแล้ว ข้าจะไม่ทำสันติภาพนั้นหรอก แต่ข้ารู้ว่าถ้าไม่ทำ เอ็ง (ไมเคิล) ไม่มีทางรอดชวิตกลับมาบ้านได้” ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าดอนทำสงครามแทนการทำสันติภาพในช่วงนั้น ครอบครัวคอร์เลโอเนอาจไม่มีวันชนะ
            ดอน วีโต คอร์เลโอเน อาจเป็นเพียงตัวละครในนิยายตัวหนึ่ง แต่มาริโอ พูโซก็เขียนนิยายเรื่องนี้และสร้างตัวละครอย่างนี้ขึ้นมาจากความจริงของยุคสมัยที่องค์กรนอกกฎหมายรุ่งโรจน์อยู่ในอเมริกา อาจมีการแต่งเติมบ้าง แต่จะอย่างไรก็ตาม นี่คือตัวอย่างที่น่าศึกษา
            ประโยคสุดท้ายของดอน วีโต คอร์เลโอเน ก่อนสิ้นชีวิตบอกอะไรได้หลายอย่าง “ชีวิตสวยงามมาก” ชีวิตของดอนไม่ใช่ชีวิตที่สุขสบาย เขาถูกตามล่ามาแต่เด็ก ต่อสู้ฝ่าฟันตลอดมา แต่ชีวิตของเขาสวยงาม เพราะเขาลิขิตชีวิตของเขาเอง
#
*ข้อความที่อ้างอิงจากหนังสือ The Godfather เป็นสำนวนแปลของ ธนิต ธรรมสุคติ 
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.. 2527
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร Man ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2529)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น