วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Call It Democracy

บ็อบ ดีแลน น่าจะเป็นศิลปินรุ่นแรกๆ ที่ตั้งคำถามกับความเป็นประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์ ตั้งแต่คำว่า Globalization ยังไม่ทันจะแพร่หลาย
            ตอนนั้นเป็นปี 1983 ปีที่นโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนกำลังผลิดอกออกผลในนาม เรแกนโนมิคส์ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นความงอกงามที่เอื้อประโยชน์ต่อทุนขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานชาติเดียวกันพากันตกงานจากการย้ายฐานการผลิตขนานใหญ่ออกนอกประเทศไปยังประเทศโลกที่สามซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่ากันหลายเท่า
            เพลง “Union Sundown”* จากอัลบัม Infidels ในปีนั้น เมื่อดูจากชื่อเพลงและฟังเผินๆ ดูเหมือนว่าบ็อบกำลังกล่าวโทษผู้นำสหภาพแรงงานที่เอาแต่ตั้งเงื่อนไขค่าจ้าง ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และสวัสดิการต่างๆ จนกระทั่งเมื่อสบช่องเหมาะ นักลงทุนก็หนีไปลงทุนในประเทศอื่นที่พร้อมจะเปิดประเทศให้เข้าไปตักตวงเอาทุกอย่างในราคาถูกๆ ตั้งแต่ค่าแรง ทรัพยากร และโครงสร้างภาษี ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุน เริ่มตั้งแต่ประเทศใกล้บ้านทางตอนใต้ในแถบละตินอเมริกาก่อน ต่อมาไม่นานพวกที่ปีกแข็งบินไกลก็สยายปีกไกลมาถึงเอเชียตะวันออก จนเป็นที่มาของความหลงลำพองในความเป็นเสือแห่งเอเชียของหลายประเทศแถบนี้
            บ็อบใช้คำว่า สหภาพกลายเป็นธุรกิจใหญ่โต ซึ่งจะสูญพันธุ์ไปเหมือนไดโนเสาร์แค่นี้ก็ชัดแล้วว่าในมุมของเขา ผู้นำสหภาพเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่นำไปสู่ภาวะ สหภาพอัสดงแต่ประเด็นที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ ไม่มีอะไรที่ทำกันในอเมริกาอีกแล้วเพราะรองเท้าที่เขาใส่อยู่มาจากสิงคโปร์ ไฟฉายก็ส่งมาจากไต้หวัน ผ้าปูโต๊ะจากมาเลเซีย หัวเข็มขัดจากแถบอเมซอน เสื้อเชิ้ตจากฟิลิปปินส์ รถเชฟโรเล็ตที่เขาขับประกอบในอาร์เจนตินา ชุดผ้าไหมจากฮ่องกง ไข่มุกจากญี่ปุ่น ปลอกคอหมาจากอินเดีย แจกันจากปากีสถาน เครื่องเรือนทำในบราซิล ทั้งหมดนี้ด้วยค่าจ้างวันละสามสิบเซนต์
            เขาไม่ได้โทษผู้คนในประเทศทั้งที่ได้เอ่ยชื่อและไม่ได้เอ่ยถึง เพราะสามสิบเซนต์ที่แทบไม่มีความหมายแม้ในอัตราต่อชั่วโมงสำหรับคนงานอเมริกัน แต่ มันก็มากพอสำหรับแรงงานเหล่านั้นสำหรับการเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว บ็อบบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจาก ความโลภ” - ความโลภของระบบทุนนิยม
            จากศาสดาของเสรีชนเมื่อสองทศวรรษก่อน อาจดูเหมือนว่าบ็อบ ดีแลน ในต้นทศวรรษ 1980 กำลังกลายเป็นอนุรักษนิยมอย่างสมบูรณ์ หลังจากได้ละทิ้งเพลงโฟล์ก หันหลังให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม ดำรงตนเป็นร็อกสตาร์ผู้ลึกลับ และเป็นคริสเตียนเกิดใหม่ มาคราวนี้ เขากำลังทวนกระแสระบบเศรษฐกิจเสรีที่จะนำพาโอกาส รายได้ และความเจริญไปยังประเทศด้อยพัฒนา เพียงเพื่อปกป้อง อะไรๆ ที่ผลิตกันในอเมริกาและรวมถึงผู้ใช้แรงงานอเมริกันที่มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าผู้ใช้แรงงานอีกค่อนโลก
            คงจำกันได้ว่า บ็อบไปไกลกว่านี้อีก บนเวทีคอนเสิร์ตไลฟ์เอด บ็อบเปรยขึ้นมาว่าน่าจะแบ่งรายได้ไปช่วยชาวไร่ชาวนาอเมริกันบ้าง แล้วก็ได้รับเสียงสวดส่งไปเยอะทีเดียว ทั้งในข้อหาไม่รู้จักกาละเทศะ และเป็นพวกชาตินิยมหลงยุค คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของคนชาติเดียวกัน       
            แต่บ็อบ ดีแลนไม่ใช่คนที่ตื้นเขินขนาดนั้น ถ้าเราไม่หลงประเด็นไปเสียก่อน ก็จะเห็นชัดว่าผลประโยชน์ของคนที่เขาปกป้องเป็นชนชั้นล่างที่เสียเปรียบในสังคมของเขา และเมื่อฟัง “Union Sundown” ซ้ำอีกหลายรอบก็จะพบว่าแกนกลางความคิดของบ็อบอยู่ตรงที่ เขาไม่ไว้ใจระบบทุน เขาอาจจะให้น้ำหนักส่วนใหญ่ของเพลงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วกับคนงานอเมริกัน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็บอกเป็นนัยว่าประเทศที่กลายเป็นฐานการผลิตใหม่ให้กับทุนข้ามชาติก็จะต้องเจอกับภาวะเดียวกัน เพราะเมื่อเริ่มต้นกันด้วยความคิดที่ว่า เมื่อการผลิตที่นี่มันแพงเกินไป ก็ไปหาที่อื่นซึ่งผลิตได้ถูกกว่าเสียแล้ว ทุนเหล่านี้ก็พร้อมจะย้ายไปทุกหนแห่งในโลก หรือกระทั่งนอกโลก
            ความเป็นปฏิปักษ์ต่อการเติบใหญ่ของระบบทุนยังเห็นได้ชัดในท่อนที่เขาบอกว่าระบบนายทุนอยู่เหนือกฎหมายและแดกดันให้ว่าวันหนึ่งสวนครัวของคุณก็จะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย” (ที่เขียนขึ้นมาภายใต้บงการของนายทุน) นั่นเองที่ทำให้บ็อบบอกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ปกครองโลก จำใส่หัวเอาไว้เลย โลกนี้ปกครองกันด้วยความรุนแรง
            แม้บ็อบไม่ได้อรรถาธิบายที่มาที่ไปของท่อนนั้น รวมทั้งนิยามของความรุนแรงเพราะเขาตัดบทเพียงแค่ว่า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่าแต่อย่างน้อยที่สุดมันก็สะท้อนมุมคิดของเขาต่อความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง ซึ่งพอจะประเมินได้ว่า การปกครองในนามของคนส่วนใหญ่ นอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังนักการเมืองเสมอมา บ็อบยังเห็นภาพที่คนอีกจำนวนมากยังมองไม่เห็น หรือเห็นไม่ชัด คือภาพที่ทุนบรรษัทสามารถยืมมืออำนาจรัฐที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกมาใช้จัดระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกเสียใหม่เพื่อขยายขอบเขตแห่งการแสวงประโยชน์ของตน ออกไปอย่างไร้พรมแดน
            ความรุนแรงในเพลง “Union Sundown” จึงอาจหมายถึงทั้งความไม่ใยดีต่อผู้ใช้แรงงานชาติเดียวกัน และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ ไปจนถึงการกอบโกยเอาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศอื่น
            ในแง่นี้เรแกนโนมิคส์ที่นำมาซึ่ง โลกาภิวัตน์ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาฝันหวานถึงการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการล่าอาณานิคมในนามของพระเจ้า และในนามของความอารยะ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น เพียงแต่แนบเนียนกว่า และชวนสมยอมมากกว่าในนามของการลงทุน ระบอบประชาธิปไตย และระบบการค้าเสรี
สิ่งที่บ็อบ ดีแลน ทิ้งค้างไว้ในสายลม บรูซ ค็อกเบิร์น เป็นคนนำมาทำให้ชัดเจนขึ้นในเพลงชื่อ “Call It Democracy”**
            บรูซอาจไม่ได้มีสายโยงทางความคิดกับบ็อบ ดีแลน เพลงสองเพลงนี้ก็มีที่มาและอยู่ในบริบทที่ต่างกันพอสมควร แต่สิ่งทั้งคู่น่าจะมองเห็นเหมือนกันก็คือพลังอำนาจที่ยากจะต้านทานของระบบทุนนิยมที่กำลังมีอำนาจเหนือระบบการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ
            บรูซ ค็อกเบิร์น เป็นศิลปินโฟล์ค/ร็อคชาวแคนาดา มีผลงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1970 และประสบความสำเร็จพอสมควรในประเทศตัวเอง เดิมแนวเพลงของบรูซเกาะเกี่ยวกับคติพื้นบ้านและความเชื่อทางศาสนา ปัญหาวิกฤตการเงิน/คลังในกลุ่มประเทศละตินตอนต้นทศวรรษ 1980 โดยมีเม็กซิโกเป็นโดมิโนตัวแรก เป็นจุดเปลี่ยนความสนใจของบรูซ เขาเดินทางไปสัมผัสรับรู้สภาพปัญหาและชีวิตความเป็นอยู่ของคนจนในประเทศแถบนั้น นับจากนั้นมาเขาก็กลายเป็นนักดนตรี/นักเคลื่อนไหวที่ผูกโยงตัวเองไปกับ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ตลอดมา
            บรูซแต่งเพลง “Call It Democracy” เมื่อปี 1985 การรับรู้และทำความเข้าใจกับสภาพปัญหาของละตินอเมริกาจากด้านของผู้คนที่เสียเปรียบและด้อยโอกาส ทำให้บรูซอยู่ในซีกของกลุ่มที่เห็นว่าบทบาทของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เข้าไปช่วยกู้วิกฤตถูกมองว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าจะช่วยแก้ไข
            เพลงนี้ของบรูซน่าจะเป็นเพลงแรกๆ ที่ออกมาโจมตีไอเอ็มเอฟว่าเป็นเพียงเครื่องมือของทุนบรรษัทข้ามชาติที่หิวกระหาย การปรับโครงสร้างและกลไกเศรษฐกิจของประเทศลูกหนี้ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอื้อให้บรรษัทได้ตักตวงผลประโยชน์จากประเทศเหล่านั้นได้สะดวกมือขึ้น เขาใช้คำแรงๆ อย่างไม่บันยะบันยัง ประณามกองทัพทุนว่ากระหายเลือดเนื้อของคนจน ผู้นำประเทศด้อยพัฒนาที่ทำตัวราวกับโสเภณีชั้นต่ำ การส่งเสริมการลงทุนและการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศกลายเป็นค่ายแรงงานทาสสมัยใหม่ภายใต้นามของเสรีภาพที่ผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์จากทรราชแห่งประเทศพัฒนาแล้ว
            และเมื่อพูดถึงไอเอ็มเอฟ บรูซก็มีสร้อยขยายความต่อให้ด้วย “IMF dirty MF” คำย่อสองตัวหลังจะยังมีความหมาย “Monetary Fund” หรือจะแผลงเป็นอื่น ก็แล้วแต่คนฟังจะนิยาม
            แล้วบรูซก็สรุปอย่างเยาะๆ ว่า นี่แหละที่พวกเขาเรียกมันว่าประชาธิปไตย”
กว่าสองทศวรรษหลังเพลงของบ็อบ ดีแลน และ บรูซ ค็อกเบิร์น สิ่งที่เคยสะท้อนแสดงในเพลงอาจเปลี่ยนไปบ้างในรายละเอียดตามพลวัตเศรษฐกิจโลก แต่การล่าอาณานิคมในยุคโลกาภิวัตน์ยังคงดำเนินต่อไป
            ความหมายของประชาธิปไตยแบบที่บ็อบถามหาก็ค่อยๆ เลือนลางลง จนอาจเป็นที่เข้าใจได้กระจ่างขึ้นว่า ทำไมเมื่อยี่สิบสามปีที่แล้วเขาถึงบอกว่า อย่าไปพูดถึงมันดีกว่าในขณะที่ประชาธิปไตยแบบที่บรูซเยาะหยันก็คืบครองพื้นที่เหนืออำนาจอธิปไตย ของแต่ละรัฐชาติที่ทั้งสมัครใจและจำยอม ผูกมัดตัวเองกับข้อตกลงการค้าเสรีจนต้องยอมรับกันไปโดยปริยายว่า
            นี่แหละที่เรียกกันว่าประชาธิปไตย
#
12 ธันวาคม 2549
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2549)

*ฟังเพลง Union Sundown ได้จากลิงก์นี้ >>  http://music.truelife.com/player/song/20060118095948345820 
**ฟังเพลง Call It Democracy ได้จากลิงก์นี้ >> 
http://www.youtube.com/watch?v=68zccrskOqQ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น