วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ซ.ต.พ.

ครูไพบูลย์ บุตรขัน เขียนเพลง น้ำท่วมไว้เป็นอมตะ น้ำท่วมทีไร เพลงนี้ก็ใช้สะท้อนแทนใจคนที่สูญเสียจากน้ำท่วมได้เสมอ ไม่เฉพาะแต่คนใต้เท่านั้น
            “น้ำท่วมไต้ฝุ่นกระหน่ำซ้ำสอง / เสียงพายุก้องเหมือนเสียงของมัจจุราชก่น / น้ำท่วมที่ไหนก็ต้องเสียใจด้วยกันทุกคน / เพราะต้องพบกับความยากจน เหมือนคนหมดเนื้อสิ้นตัว
            เสียงร้องของศรคีรี ศรีประจวบ-ศิษย์เอกคนสุดท้ายของครูไพบูลย์ ก็เป็นเสียงที่ไม่มีใครเทียบเทียม โดยเฉพาะลูกเอื้อนลูกคอ ยิ่งได้ร้องเพลงชั้นยอดของบรมครูก็ส่งเขาขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการทันที ด้วยเพลง บุพเพสันนิวาสกับ น้ำท่วมซึ่งเป็นเพลงรุ่นแรกสุดที่ศรคีรีได้บันทึกเสียง เข้าใจว่าเนื้อเพลงท่อนบ้านพี่ก็ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน ที่ประจวบคีรีขันธ์เหมือนกันไปทุกครอบครัวจะเชื่อมโยงกับชื่อที่ตั้งสำหรับการร้องเพลง เพราะศรคีรีไม่ใช่คนประจวบฯ
            น้ำท่วมเป็นสถานการณ์ที่ครูไพบูลย์วางให้ศรคีรีใช้ตัดพ้อสาวคนรักผู้ไม่อาทรถึงพี่สักครา ไม่มาช่วยพี่ซับน้ำตา ไม่มามองพี่บ้างเลยจนทำให้พี่คิดเช้าค่ำ ปล่อยให้น้ำท่วมตายดีกว่าเมื่อคาราบาวเอาเพลงนี้มาบันทึกเสียงเพิ่มลงในอัลบัม ทับหลังจึงเปลี่ยนบางถ้อยคำทำให้มีความหมายกว้างขึ้น เหมาะกับการใช้เป็นเพลงซับน้ำตาชาวใต้ในช่วงปลายปี 2531
            “น้ำท่วมสร้างความผิดหวังชอกช้ำ / ชีวิตเช้าค่ำอยู่กับน้ำท่วมมาจากป่า / คนอยู่เมืองดอนจงช่วยอาทรเมืองใต้สักครา / จงมาช่วยกันซับน้ำตา น้ำตาปักษ์ใต้บ้านเรา
เครดิตภาพ:ผู้จัดการออนไลน์
มองโลกในแง่ดี การที่รัฐบาลไม่รับเงินบริจาค (และสั่งระงับรายการขอรับบริจาค) ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ครั้งนี้ (ปลายปี 2548) ก็มีข้อดีหลายอย่าง
            ดีสำหรับรัฐบาลที่ได้โอกาสยืนยันให้รู้กันอีกครั้งว่า ถังยังไม่แตก (แต่ที่คลังยังไม่ได้จ่ายเงินตามแผนงานโครงการต่างๆ ที่อนุมัติแล้ว จัดทำกันเรียบร้อยไปแล้ว จะแค่หลักสิบล้านหรือร้อยล้าน แต่ยังไม่ได้ตามที่เบิก ก็เป็นเรื่องของคลัง ไม่เกี่ยวกับ ถัง”)
            ดีสำหรับเจ้าของ/ผู้บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ที่จะได้บริจาคเพื่อบุญกุศล (ไม่ใช่หน้าตาของผู้ให้ และหน่วยงานที่รับ) ตามอัตภาพและสมัครใจ (ไม่ใช่ถูกกะเกณฑ์)
            ดีสำหรับรัฐมนตรีคลังที่ได้โอกาสอธิบายให้คนไทยเข้าใจว่า ดัชนีวัดความสูญเสียและผลกระทบแบบ โมเดิร์นวัดกันที่ตัวเลขการท่องเที่ยว (“พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว จึงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”)
            ดีสำหรับนายกรัฐมนตรีของเรา (หรือเปล่า?) ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ท่านพูดจริง-ทำจริง (อย่างน้อย ก็เรื่องที่เคยพูดว่าจะดูแลแต่ประชาชนที่เลือกพรรคของท่านยกจังหวัดก่อน ก็ได้ทำอย่างที่พูด แล้วไง)
            ดีสำหรับคนภาคใต้ จะได้ซาบซึ้งถึงกฎแห่งกรรมว่า กรรม (ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแล) ย่อมเป็นผลจากการกระทำ (ที่ไม่รู้จักเลือกพรรคไทยรักไทย)
            ดีสำหรับคนภาคอื่น จังหวัดอื่น จะได้ตัดสินใจกันตั้งแต่ตอนนี้เลยว่า เลือกตั้งครั้งต่อไป ควรจะเลือกใคร พรรคไหน คะแนนจึงจะไม่สูญเปล่า (เช่น ถ้าไม่เน่ใจว่าเลือกคนของพรรคไทยรักไทยแล้วจะได้คะแนนพอเป็น สส. หรือเปล่า ก็อย่าไปเลือกมันเลย)
            ดีสำหรับมูลนิธิ/องค์กรการกุศล ภาคเอกชน จะได้ระดมความช่วยเหลือจากสาธารณชน และแสดงศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ โดยไม่ถูกแข่งขัน/ขัดขวางจากภาคที่มีพลังอำนาจในการระดมเงินบริจาคมากกว่า (แต่ประสิทธิภาพในการจัดสรร/กระจายความช่วยเหลือต่ำกว่า)
            และดีสำหรับประชาชน ที่ไม่ต้องมาถามไถ่กันในภายหลังว่า เงินทองที่บริจาคไปอยู่ที่ไหนเสีย
หนึ่งปีหลังจากสึนามิ แสดงให้เห็นว่า การพูดอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ทำให้การเริ่มต้นด้วยท่วงท่าที่แข็งขัน จริงจังที่สุด อย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนจากผู้นำประเทศไม่ว่ายุคสมัยใด ลงเอยด้วยทีท่าที่เหลวเป๋ว เละเทะที่สุด อย่างที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน เหมือนกัน
            จากวันที่ความอาทรห่วงใยจากรัฐมนตรีที่ผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากันไป ปรากฏอยู่เฉพาะเวลาไม่กี่นาทีที่ได้โอกาสเฉิดฉายหน้ากล้องข่าวโทรทัศน์ จากสัปดาห์/เดือนที่คนทำงานอย่างทุ่มเททั้งระดับเซเลบ อย่างคุณหญิงหมอพรทิพย์ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานทุกฝ่าย และอาสาสมัครไร้ชื่อ ได้รับการหนุนช่วยจากภาครัฐช้าและน้อยกว่าที่ควรได้ และยิ่งช้ายิ่งน้อยกว่านั้นอีกเมื่อเทียบกับที่บางคนอวดโอ้
            จนถึงครบปีที่ความช่วยเหลือจากศูนย์กลางของการระดมทุนยังไปถึงคนที่ควรจะได้ไม่ทั่ว บ้านสำหรับคนที่สูญเสียบ้านไปยังไม่เสร็จ หรือที่เสร็จก็เป็นบ้านต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด ในขณะที่ความช่วยเหลือของภาคเอกชน บ้านจากองค์กรสาธารณกุศล และบ้านฝีมือทหารช่าง ล้วนเบ็ดเสร็จและเรียบร้อย
            ในระหว่างนั้น คนที่รับทำงานให้หน่วยราชการ ได้งานที่บอกกล่าวกันว่าเป็น งบสึนามิโดยไม่รู้สึกคลางแคลงอะไร เพราะเข้าใจ (เอาเอง) ว่า คงเป็นการจัดสรรงบประมาณปกติมาใช้ แม้ว่าเนื้องานนั้นจะไม่มีนัยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการช่วยผู้ประสบภัยเลยก็ตาม เพราะเป็นกระบวนการปกติ (อีกเหมือนกัน) ของหน่วยราชการที่จะทำงานที่ง่ายและถนัดในเวลาที่ต้องเร่งใช้งบประมาณให้หมด ในเวลาที่กำหนด
            จนกระทั่งวันได้รับเช็คค่าจ้าง––เป็นเช็คบัญชีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ
พายุแคทรินาที่อเมริกา ในแง่หนึ่งเหมือนเป็น แม่แบบแห่งความเฉยเมยของผู้นำประเทศบางสายพันธุ์ หลายวันผ่านไป ประธานาธิบดีบุชยังไม่รู้ร้อนรู้หนาวอยู่ในอาณาจักรส่วนตัว
            คานเย เวสต์ แรปเพอร์ที่มาแรงที่สุดแห่งยุค เคยเอ่ยประโยคซึ่งต่อมาเป็นหนึ่งในวาทะแห่งปี 2005 ว่า จอร์จ บุชไม่แยแสคนดำลองเปลี่ยนประธานและกรรมตามบริบทที่ต้องการก็จะได้ความหมายที่ไม่ต่างกันเลย
            กลางกระแสเสียงวิพากษ์รัฐบาลกลางและประธานาธิบดี นิตยสาร Fortune ฉบับแรกที่ออกหลังแคทรินาจมนิวออร์ลีนส์ (ฉบับ 19  ก.ย. 2005) จอห์น ฮิวอี้ อดีตบรรณาธิการบริหารและยังคงเป็นบรรณาธิการดูแลเนื้อหาในภาพรวม เขียนบทบรรณาธิการไว้อย่างน่าใคร่ครวญ
            ภัยพิบัติระดับชาติที่เราเรียกว่า แคทรินาเป็นโอกาสที่ธุรกิจอเมริกันต้องการเพื่อปะซ่อมสัมพันธภาพที่เลวร้ายกับสาธารณชน ทั้งยังเป็นการพิสูจน์ตัวพวกเราที่มักจะอ้างว่าภาคธุรกิจมีประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาต่างๆ มากกว่าภาครัฐ และยังอาจเป็นโอกาสให้ได้แสดงถึงพลังอำนาจของตลาดเสรีที่สามารถแปรเป็นปฏิบัติการเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากผลกำไรระยะสั้น เมื่อเดิมพันหมายถึงสุขภาพของประเทศในระยะยาวและอาจจะรวมไปถึงอนาคตของระบบทุนนิยม
            จอห์นบอกว่า ศักยภาพอันน่าทึ่งของธุรกิจอเมริกันอย่าง วอล-มาร์ต, จีอี, โคคา-โคลา และ เป๊ปซี่โค, ไมโครซอฟต์, เอ็กซอน, แม็คโดนัลด์, ซิตีกรุป และ โฮมดีโปต์ ได้รับการกล่าวถึงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน-รวมทั้งในนิตยสารนี้ บริษัทเหล่านี้บรรลุความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์และการกระตุ้นทีมขนาดมหึมา ให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่รัฐบาลกลางเป็นองค์กรราชการขนาดใหญ่ที่มุ่งแต่ในเรื่องของงบประมาณ แต่ไร้ขีดความสามารถในเรื่องเหล่านี้  “ประธานาธิบดีมาแล้วก็ไป แทบจะไม่มีใครทำให้ระบบราชการทำงานได้เหมือนกับวอล-มาร์ต
            แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา จอห์นบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่องค์กรธุรกิจมีภาพลักษณ์เลวร้ายที่สุด เพราะการฉ้อฉลครั้งใหญ่ของเอ็นรอน, เวิร์ลด์คอม, ไทโค, อะเดลเฟีย, เฮลธ์เซาธ์ ในขณะที่วอล-มาร์ตใหญ่เกินไปและมีอำนาจเกินไป ส่วนโค้กและแม็คโดนัลด์ส ก็ทำให้เราอ้วน ธนาคารและโบรกเกอร์ ทั้งหลายล้วนมีพฤติกรรมหลอกลวง บริษัทน้ำมันสูบเอาจากเรา บริษัทยาใหญ่ๆ วางยาเราสิ่งเหล่านี้ลดทอนความเชื่อมั่นที่เคยมีต่อพลังของระบบทุนนิยมแบบอเมริกัน และบริษัทที่เป็นผลิตผลของระบบนี้
            เมื่อเกิดภัยธรรมชาติที่จมเมืองใหญ่ลงไว้ใต้น้ำ ระบบต่างๆ ล้มเหลว ไร้ความสามารถในการอพยพโยกย้ายและช่วยเหลือผู้คนซึ่งขาดทั้งน้ำดื่ม อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และความปลอดภัย จอห์นชี้ให้เห็นว่าสายใยสังคมได้ฉีกขาดอย่างน่าตระหนกสำหรับประชาชาติทั้งมวล... นี่ไม่ได้เป็นเพียงโศกนาฏกรรมสำหรับผู้ประสบภัย ยังเป็นเรื่องน่าละอายสำหรับประเทศของเรา ระบบของเรา และคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของเรา
            ทั้งหมดนี้ทำให้เวลานี้เป็นเวลาอันเหมาะควรที่วิสาหกิจใหญ่จะได้ลงมือทำในสิ่งที่ปากเคยพูดมานานนับปี แน่นอน เราต้องช่วยกันกดดันรัฐบาล ช่วยกันเรียกร้องให้พิทักษ์รักษาความปลอดภัยของสาธารณชนและปกป้องผู้ช่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่วิสาหกิจอเมริกามีโอกาสดีหากทำอย่างฉับพลันทันทีที่จะแสดงบทบาทผู้นำ และฉุดดึงประเทศของเราออกมาจากความล้มเหลว พูดอย่างเป็นธรรม เกือบทุกบริษัทใหญ่ได้พยายามทำอะไรบางอย่าง และแต่ละบริษัทได้ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับ FEMA (สำนักงานกลางจัดการอุบัติภัยสหรัฐ) เป็นรายการเหยียดยาวเขาบอกว่า วอล-มาร์ตบริจาคไปแล้ว 17 ล้านดอลลาร์ เงินบางส่วนได้นำไปสนับสนุนให้เปิดร้านขนาดเล็กแจกเสื้อผ้าอาหารและของใช้จำ เป็น โฮมดีโปต์ส่งเครื่องปั่นไฟ 200 เครื่องไปยังบริเวณลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี จีอีแคปิตัลสัญญาจะสร้างบ้านพัก ชั่วคราวขึ้นมาให้ผู้ไร้ที่อยู่ โค้กบริจาคเงิน 5 ล้านดอลลาร์และจัดส่งนำดื่มไปให้
            แต่การแสดงเจตนาดีและรอให้ FEMA จำแนกความช่วยเหลือต่างๆ ที่ต้องการจำเป็น ไม่อาจมีชัยได้ในวันนี้ วิสาหกิจอเมริกันจะต้องดันตัวเองไปสู่แนวหน้าของการให้ความช่วยเหลือเสมือนว่าผลกำไรของบริษัทขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ ฮัลลิเบอร์ตันจำเป็นต้องนำเอาความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และเครื่องไม้ เครื่องมือทุกอย่างที่มี ไปซ่อมเขื่อนและสูบน้ำที่ท่วมคลุมนิวออร์ลีนส์ออกมา โค้กและเป๊ปซี่จำเป็นต้องจัดส่งน้ำดื่มบรรจุขวดนับล้านแกลลอนเข้าไป วอล-มาร์ตเป็นเจ้าของระบบขนส่งภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดเหตุใดจะไม่สามารถบอกให้ซัพพลายเออร์ทุกรายบริจาคเสื้อผ้า ยา และสิ่งอุปโภคบริโภคมาให้เพื่อรวบรวมจัดส่งต่อไป (ใครจะกล้าปฏิเสธวอล-มาร์ต?) เอ็กซอนโมบิลมีอำนาจในตลาดที่จะยับยั้งการขึ้นราคาน้ำมัน จงแสดงมันออกมา ลืมไปได้เลยที่จะเข้าแถวรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก เราต้องการให้ธนาคารแห่งอเมริกาปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจรายย่อยที่เสียหายโดยเร็ว มีขั้นตอนน้อยที่สุด และในอัตราดอกเบี้ยที่รับได้เช่นเดียวกับที่ธนาคารแห่งอิตาลีของ เอ.พี. จานนินี เคยทำในครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวในซานฟรานซิสโก ปี 1906”
            “ผู้ทรงอิทธิพลทางธุรกิจอาจพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวว่าไร้เดียงสา เพราะคุณมีผู้ถือหุ้นและลูกค้าที่ต้องตอบสนอง มีผลกำไรที่ต้องบรรลุ และก็ถูกถ้าคุณจะบอกว่า พูดน่ะง่าย แต่โปรดจำคำนี้ไว้เมื่อคุณเริ่มเทศนาถึงคุณงามความดีของธุรกิจและความชั่วร้ายของรัฐบาลในครั้งต่อไป หรือไม่เช่นนั้นจงเลือกเล่นเกมยาว แล้วเมื่อคุณกดดันให้รัฐเปิดที่ทางให้เอกชนได้มีบทบาทมากขึ้นในด้านต่างๆ ทุกคนก็จะอยู่ข้างคุณ ทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องทำเพื่อกลับมาเป็นวีรบุรุษอีกครั้งก็คือทำในสิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุด จงส่งมอบสิ่งต่างๆ ออกไป เดี๋ยวนี้เลย
ใจความทุกอย่างครบสมบูรณ์อยู่ในนั้น หากวิถีแห่งทุนนิยมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นี่ก็นับเป็นการแสดงทัศนะต่อระบบทุนนิยมที่ชัด ตรง คมคาย และหนักแน่นที่สุดครั้งหนึ่ง
            หลายปีมาแล้ว ที่กระแสโลกคือกระแสซึ่งภาคธุรกิจเรียกร้องต้องการแสดงบทบาทที่ (เชื่อกันว่า) มีประสิทธิภาพมากกว่าแทนที่บทบาทหลายด้านที่เคยเป็นของภาครัฐ คู่ขนานมากับกระแสซึ่งภาคประชาชนแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมในการมีส่วนร่วมทาง การเมืองและการปกครองตนเองที่ (เชื่อกันว่า) สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตัวเองได้ดีกว่า
            บนเส้นทางแห่งการพิสูจน์ตัวเองของทุนนิยมก้าวหน้าและประชาสังคมยุคใหม่ รัฐบาลเข้มแข็ง ผู้นำอำนาจเด็ดขาด เป็นเพียงกับดัก ที่ทั้งพ้นสมัยและไม่พึงปรารถนา
#
29 ธันวาคม 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2549)