วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

A Man and a Woman (…20 years later)


ผู้ชาย ผู้หญิง ความรู้สึก ชีวิต และความรัก

คล็อด เลอลูช พูดถึงการทำหนังของเขาว่า “ผมสนใจเพียงสิ่งเดียว – ผู้คน แล้วก็ความรู้สึก ชีวิต และความรัก”
         ปี 1966 เลอลูชถ่ายทอดความสนใจของเขาออกมาใน A Man and a Woman หนังโรแมนติค ที่สุดเรื่องหนึ่งของทศวรรษ 1960
ผู้ชายคนหนึ่ง พาลูกชายไปส่งที่โรงเรียนประจำในโดวิลล์ หลังจากสนุกสนานด้วยกันอย่างเต็มที่ในวันหยุดกับการขับรถบนหาดทราย ครูที่โรงเรียนแนะนำให้เขารู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอพาลูกสาวกลับมาส่งเข้าโรงเรียนเหมือนกัน และกำลังจะกลับปารีส
            เขาขับรถไปส่งเธอถึงที่พัก ระหว่างทางเขารู้จักเธอมากขึ้นจากเรื่องราวที่เธอเล่าให้ฟัง ความสนใจก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ และเมื่อถึงที่หมาย เขาก็ไม่ลืมจดจำที่อยู่ของเธอไว้
            เลอลูชวางโครงเรื่องเอาไว้ง่ายๆ คนสองคนพบกันและรักกัน ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เขาเป็นนักขับรถแข่ง เธอเป็นสคริปต์เกิร์ล ต่างเป็นม่าย สูญเสียคนรักให้กับความตายที่มาถึงก่อนกาลอันควร ทิ้งลูกหนึ่งคนไว้ในความดูแล และงานอาชีพทำให้ไม่อาจอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา ต้องเอาไปอยู่โรงเรียนประจำแทน
            ความรักในวัยผู้ใหญ่ ที่ผ่านการมีชีวิตคู่มาแล้ว และมีลูกเล็กๆ โดยที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของคนที่เป็นทั้งพ่อและแม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบนี้ ไม่อาจจะทำให้ออกมาดูบริสุทธ์ สดใส และประทับใจคนดูได้ง่ายๆ เหมือนกับเรื่องราวของวัยรักแรก แต่เลอลูชก็สามารถทำให้เรื่องของชาย-หญิงคู่นี้ประทับใจทุกคนได้ และลึกซึ้งมากกว่า
            ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นมาระหว่างคนทั้งสอง จากการพบกันครั้งแรกไปจนถึงความรักที่เกิดขึ้นในที่สุด พัฒนาลึกซึ้งเป็นลำดับในจังหวะที่งดงาม โน้มน้าวความรู้สึกคนดูให้คล้อยตามไปด้วยได้ตลอดเวลา ในแต่ละจังหวะเลอลูชไม่ลืมที่จะทำให้คนดูสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาตั้งใจให้มันเป็นภาพแทนความรู้สึกและลำดับความสัมพันธ์ที่ทั้งคู่มีต่อกัน: มือของเขาที่เอื้อมไปจะกุมมือของเธอ ขณะที่ต่างโอบกอดเด็กๆ ไว้ แล้วชะงักอย่างรู้สึกไม่มั่นใจ, ต่อมาบนรถของเขา เขาวางมือลงไปเกาะกุมเธอไว้ เธอไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใดๆ ออกมาให้เห็น แต่คำถามของเธอคือ “คุณไม่ได้เล่าเรื่องภรรยาของคุณให้ฉันฟังเลย”, เธอเริ่มสนใจหาหนังสือแข่งรถมาอ่าน และเมื่อเขาชนะในมอนติคาร์โล เธอก็ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีกับเขาทันที แม้จะไม่แน่ใจนักกับการกระทำของตัวเองและการใช้ถ้อยคำ แล้วก็มาถึงฉากในห้องอาหาร เธอและเขาได้ก้าวเข้าไปอยู่ในโลกส่วนตัวเพียงลำพัง โดยมีบริกรเป็นส่วนเกินไปทันที และหลังจากนั้นคนดูก็จะรู้สึกได้เองว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่ทั้งคู่จะได้แสดงความรักต่อกัน
            อันที่จริง เป็นการง่ายมากที่คนดูจะตั้งสมมุติฐานเอาเองในใจว่า พ่อม่ายนักขับรถแข่งที่มีชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยง กับแม่ม่ายที่มีชีวิตอยู่ในโลกมายาซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กับลูกได้มากพอ มาพบกันและรักกันบนพื้นฐานของความรู้สึกเปลี่ยวเหงา ซึ่งอาจต้องการเพียงใครสักคน
            แต่เลอลูชไม่เปิดโอกาสให้คนดูได้รู้สึกอย่างนั้น
            นอกจากการวางจังหวะของความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปได้อย่างเหมาะสม เลอลูชยังใช้เด็กทั้งสองเป็นสื่อให้คนดูได้เห็นภาพอีกด้านของคนเป็นพ่อแม่ ด้านที่อ่อนโยน มีความอาทรผูกพัน และความรู้สึกอันละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นด้านที่ไม่อาจเห็นได้ในช่วงเวลาที่อยู่กับงานอาชีพ
            ภาพด้านนี้แสดงให้เห็นจากการที่แต่ละคนแสดงต่อลูกของตัวเอง แล้วเคลื่อนไปสู่ลูกของอีกคนหนึ่ง และแสดงต่อกันและกันอย่างแนบเนียนในที่สุด โดยที่คนดูจะไม่นึกคลางแคลงใจในความรู้สึกอันแท้จริงของคนทั้งสอง
            ผู้แสดงมีส่วนอยู่มากในการทำให้เรื่องรักง่ายๆ แต่ให้ความรู้สึกลึกซึ้งอยู่ในตัว บรรลุผลสมบูรณ์ในความรู้สึกนึกคิดของคนดูหนัง ฌ็อง-หลุยส์ แตรงติญอง เคยสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมาแล้วจากการแสดงคู่กับบริจิตต์ บาร์โดต์ ในหนังของโรเจอร์ วาดิม เรื่อง And God Created Woman แต่ชีวิตทหารในสงครามแอลจีเรียหยุดความก้าวหน้าทางการแสดงของเขาไปหลายปี บทฌ็อง-หลุยส์ในเรื่องนี้ นำชื่อเสียงและความสำเร็จกลับคืนมาอีกครั้ง
            เขาไม่ใช่พระเอกหน้าตาดี แต่ชนะใจคนดูได้ด้วยความสามารถทางการแสดงอย่างแท้จริง ในสนามแข่งรถ เขามุ่งมั่นอยู่กับการเอาชนะความเร็ว ให้ภาพของลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งและกร้านชีวิต แต่อยู่นอกสนาม เขาเป็นพ่อผู้อ่อนโยน รักลูก และกลับกลายเป็นเด็กหนุ่มอีกครั้งเมื่อมีความรัก ความกระวนกระวายใจของเขาเมื่อต้องแวะเติมน้ำมันระหว่างทางขับรถข้ามคืนไปหาเธอ เป็นความจงใจของหนังที่จะบอกให้คนดูรู้ว่าเขารักเธอและปรารถนาจะได้พบเธอเพียงไร แต่แตรงติญองก็ทำให้มันออกมาเป็นธรรมชาติมาก
            อนูค แอมเม เป็นนักแสดงชั้นยอดอีกคนของฝรั่งเศส แม้ว่าจะมีผลงานออกมาไม่มากนัก แต่มันก็เป็นงานชั้นเยี่ยมอย่าง La Dolce Vita และ 8-1/2 บทแอนน์-สคริปต์เกิร์ลที่สูญเสียคนรักไปด้วยอุบัติเหตุระหว่างการถ่ายทำ เป็นจุดยอดแห่งงานแสดงของเธอเช่นเดียวกับแตรงติญอง แม้ว่าเธอจะเป็นสาวสวย ก็ไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกว่าเธอเป็นดารา แต่เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง มีงานต้องทำ มีลูกต้องดูแล และมีอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน
            เมื่อเธอรักฌ็อง-หลุยส์ ในขณะที่ยังคงนึกถึงสามีของเธอที่ตายไป คนดูสามารถยอมรับและเข้าใจได้ถึงความรู้สึกของเธอ มีการถ่วงดุลกันอยู่ตลอดเวลาระหว่างความรู้สึกที่เธอมีต่อฌ็อง-หลุยส์  และความรู้สึกไม่มั่นใจในความเหมาะควร ซึ่งอนูค แอมเม แสดงออกมาได้อย่างดีเยี่ยม หลังจากคืนแรกที่ได้อยู่ด้วยกัน เธอสารภาพกับเขาว่าสามีเธอยังไม่ตายไปจากความทรงจำของเธอ แล้วเมื่อเธอนั่งรถไฟกลับปารีสคนเดียว – โดยไม่ต้องแสดงออกมา คนดูก็รู้ได้เองถึงความยุ่งยากใจ ความรู้สึกสับสนที่ปนเปกันอยู่ในใจเธอ
            แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของหนังเป็นของคล็อด เลอลูช นอกจากการกำกับการแสดง เลอลูชเป็นคนวางเรื่องทั้งหมดขึ้นมา และร่วมกำกับภาพด้วย ตอนทำหนังเรื่องนี้ เลอลูชมีปัญหามากทีเดียวในเรื่องงบประมาณ เขาไม่มีเงินพอแม้แต่จะซื้อฟิล์มสีมาถ่ายได้ทั้งเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างงานที่ดีออกมา เขาเลือกช่วงที่จะถ่ายทำด้วยฟิล์มสีและขาวดำในหนังเรื่องเดียวกันได้อย่างฉลาด และแทนที่จะใช้ฟิล์มขาวดำในภาพแฟลชแบ็คอย่างที่ใช้กันทั่วไป เลอลูชสลับที่ทางกัน และใช้ฟิล์มขาวดำในส่วนที่สามารถสร้างสีสันได้เองด้วยความรู้สึกของคนดู
            การใช้กล้องและวิธีการตัดต่อของเลอลูชมีสไตล์ที่เด่นชัดของตัวเอง และมีส่วนอยู่มากในการสร้างผลทางอารมณ์ ทำให้หนังที่แสดงเรื่องรักง่ายๆ ของคนสองคนตรึงคนดูไว้ด้วยความประทับใจ ภาพที่คนดูจะจดจำได้ติดตาตลอดไปคือภาพที่ถ่ายจากด้านหน้าของรถยนต์ขณะฌ็อง-หลุยส์ขับไปกลางสายฝน ให้ความรู้สึกอันอ้างว้าง แต่ในขณะดียวกันที่ปัดน้ำฝนซึ่งทำงานเป็นจังหวะอย่างสม่ำเสมอ ก็เหมือนความแน่วแน่ของหัวใจที่จะไปให้ถึงปลายทาง
            ฌ็อง-หลุยส์ตัดสินใจขับรถตามขบวนรถไฟที่แอนน์นั่งไป และนั่งรอเธออยู่ที่สถานีปลายทาง เลอลูชปิดฉากสุดท้ายของหนังด้วยภาพคนทั้งสองสวมกอดกันไว้ และไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนั้น สิ่งต่างๆ จะดำเนินไปอย่างไร
ปี 1986 เลอลูชให้คำตอบของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ด้วยหนังเรื่อง A Man and a Woman: Twenty Years Later ด้วยทีมงานหลักและผู้แสดงนำชุดเดิม
ฉากที่สถานีรถไฟนั้นคือการลาจาก ตลอดระยะเวลายาวนาน ฌ็อง-หลุยส์และแอนน์ไม่ได้พบกันอีกเลย กระทั่งยี่สิบปีต่อมา ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ฌ็อง-หลุยส์ยังอยู่ในวงการแข่งรถ แต่ในฐานะผู้จัดการแข่งขัน ลูกชายเขาโตเป็นหนุ่มและเจริญรอยตามพ่อด้วยการเป็นนักแข่งเรือ แอนน์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ลูกสาวเธอเป็นนักแสดง
            แอนน์ขอพบฌ็อง-หลุยส์ ตอนนั้นหนังเรื่องล่าสุดของเธอล้มเหลว เธอคิดว่าช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความหมายระหว่างเธอกับเขาเมื่อยี่สิบปีก่อนจะสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นหนังที่ประทับใจคนดูได้    ฌ็อง-หลุยส์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของเธอในตอนแรก แต่ก็ยอมให้เธอเอาเรื่องของเขาไปใส่ไว้ในหนังได้
            การพบกันครั้งนี้ ทั้งคู่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัว มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปมาก แอนน์แต่งงานแล้วหย่า และมีความสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่ด้วย เธอมีความรับผิดชอบกับงานมากขึ้นในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ความรู้สึกไม่มั่นใจที่เป็นบุคลิกของเธอยังมีให้เห็นเมื่อเธอพบกับฌ็อง-หลุยส์อีกครั้ง แต่บทบาทในงานที่ทำ ทำให้เธอมีการตัดสินใจที่ชัดเจน มั่นใจในตัวเองมากขึ้น และเมื่อถ่านไฟเก่าจะกลับคุโชนขึ้นมาอีกครั้ง เธอไม่ยุ่งยากกับการค้นหาความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองอีกแล้ว
            อนูค แอมเม รับบทเดิมของเธอด้วยขีดความสามารถเดียวกับที่เธอเคยแสดงให้ทุกคนเห็นและยอมรับมาแล้ว สิ่งที่น่าแปลกใจมากกว่าคือรูปร่างหน้าตาของเธอ เมื่อเอาหนังภาคแรกและภาคสองมาดูต่อกัน แทบไม่น่าเชื่อว่าเวลาได้ผ่านไปแล้วยี่สิบปี
            ฌ็อง-หลุยส์เป็นผู้ใหญ่ที่สุขุมขึ้นตามวัย ไม่มีการแสดงออกแบบเด็กหนุ่มอีกต่อไปแล้ว ฌ็อง-หลุยส์ แตรงติญองก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก อย่างที่บทฌ็อง-หลุยส์ซึ่งมีอายุมากขึ้นยี่สิบปีควรจะเป็น แต่ในความสุขุม-มั่นคงของบุคลิกภายนอก แตรงติญองก็ทำให้คนดูมองเห็นความรู้สึกที่อยู่ภายในได้ ความรู้สึกที่เขามีต่อแอนน์ยังไม่ลบเลือนไปด้วยระยะเวลา เราเห็นได้ตั้งแต่ตอนที่เขารู้ว่าแอนน์ติดต่อมา อตนที่เขาโทรกลับไปหาเธอ และไปพบเธอ เขายอมให้เธอทำหนังตามที่เธอต้องการ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นทางที่จะนำเขาไปใกล้ชิดกับเธออีกครั้ง และคราวนี้เขาจะไม่ยอมให้เธอจากไปอีก ฌ็อง-หลุยส์ไม่ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนในส่วนนี้ แต่ภรรยาสาวของเขา – ซึ่งเป็นพี่สาวของลูกสะใภ้ – เป็นบทเสริมขึ้นมาให้คนดูรู้สึกได้ เธอไวต่อความรู้สึกนี้ของเขามากกว่าทุกคน ขณะที่สิ่งกีดกั้นความรักของทั้งคู่ในภาคแรก คือภาพอดีตที่ยังไม่ตายไปจากความทรงจำของแอนน์ แต่ในคราวนี้ ขณะที่ภาพอดีตเมื่อยี่สิบปีก่อนกระจ่างชัดขึ้นมา สิ่งที่มาขวางทางคือปัจจุบันและความตายที่ภรรยาสาวของฌ็อง-หลุยส์ เกิอบจะหยิบยื่นให้เขาและตัวเธอเองพร้อมๆ กันกลางทะเลทราย
            เลอลูชสะท้อนอารมณ์รุนแรงอันเนื่องมาจากความรักได้อย่างน่ากลัว!
            ในภาคสองนี้ เลอลูชไม่ได้มุ่งแสดงอารมณ์ความรู้สึกของแอนน์และฌ็อง-หลุยส์ ออกมาอย่างชัดเจนเหมือนกับภาคแรก แต่ภาพอดีตที่ปรากฏขึ้นมาควบคู่ไปกับการถ่ายทำหนังที่แสดงความสัมพันธ์ครั้งนั้น ก็เพียงพอแล้วที่จะสะกิดเตือนคนดูถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่ทั้งคู่มีต่อกัน เลอลูชยังใส่ซับพล็อตเข้ามา ซึ่งดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสานต่อความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ทิ้งค้างไปนาน มันเป็นเรื่องของฆาตกรที่หนีออกมาจากโรงพยาบาลโรคจิตและนำไปสู่คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่วางแผนเอาไว้อย่างดี แอนน์ยอมรับความจริงว่าเรื่องรักของเธอกับฌ็อง-หลุยส์ไม่อาจเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จได้ และเธอก็ยอมรับข้อเสนอเอาเรื่องของฆาตกรคนนั้นมาทำหนังแทน ดูเหมือนว่าความเกี่ยวโยงของพล็อตและซับพล็อตจะมีอยู่เพียงเท่านี้เอง
            แต่เลอลูชอาจจะอยากบอกกับเราว่า ในวันเวลาและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หนักรักเรียบง่ายที่เขาเคยทำเมื่อทศวรรษ 1960 ไม่อาจนำเสนอออกมาด้วยรูปแบบเดิมได้อีกในทศวรรษ 1980 แนวของหนังที่ประสบความสำเร็จใหญ่โตในยุคนี้ที่เราเห็นๆ กัน ไม่ใช่หนังที่คนดูจะสามารถร่วมซึมซับความละเอียดอ่อน อารมณ์อันลึกซึ้งของชีวิตตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนจอ เพราะสังคมรอบข้างและความจริงที่รายล้อมชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน
            ความรักของแอนน์และฌ็อง-หลุยส์ อาจจะยิ่งใหญ่ก็แต่ในความรู้สึกของคนทั้งสอง แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับคนอื่น และอาจจะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อด้วยซ้ำที่คนสองคนจะรักกันและลาจากกันโดยเก็บรักษาความรู้สึกที่ดีให้ยั่งยืนตลอดมา ในเมื่อทางออกของสังคมปัจจุบันแก้ปัญหากันด้วยความรุนแรง ชีวิตลดความหมายลงไปพร้อมกับที่ความรู้สึกอันอ่อนโยนถูกแทนที่ด้วยความหยาบกระด้าง ความอ่อนไหวถูกแทนที่ด้วยความเปราะบาง ซับพล็อตที่เลอลูชใส่เข้ามาได้แสดงถึงจุดนี้ มันเป็นภาพตัวอย่างของสังคมทศวรรษ 1980 คนไข้โรคจิตถูกหมอใช้เป็นเครื่องมืออย่างแนบเนียนเพื่อฆ่าเมียตัวเอง และเพื่อให้แผนการรัดกุมเต็มที่โดยความผิดจะไปตกอยู่กับคนไข้ของเขา สี่ชีวิตต้องสังเวลยไป – เมียหมอ, คนไข้, ลูกและเมียคนไข้ – แลกกับการที่เขาจะมีเมียใหม่คนหนึ่ง
            เห็นได้ชัดว่าเลอลูชไม่ได้พยายามจะทำให้ภาคสองของ A Man and a Woman ออกมาเป็นหนังโรแมนติคที่จะประทับใจคนดูได้เหมือนกับภาคแรก แต่ในแง่ของหนังดรามาที่แสดงถึงชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก เลอลูชยังประสบความสำเร็จใจการนำเสนอสิ่งที่เขาสนใจออกมาเป็นหนัง และเด่นด้วยการลำดับภาพ-ดำเนินเรื่องตามแบบเฉพาะตัวของเขา     
            คนที่ดู A Man and a Woman ภาคสอง โดยไม่ได้ดูภาคแรกมาก่อน อาจจะไม่เข้าใจเลยว่า มันเป็นตอนต่อของหนังที่ได้ชื่อว่าโรแมนติคที่สุดของเมื่อสองทศวรรษก่อนได้อย่างไร เพราะหลังจากมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกและความรักในภาคแรก เลอลูชกลับมามุ่งเสนอแง่มุมต่างๆ ของชีวิตแทนในภาคสอง แต่คนที่ยังจดจำความประทับใจของเมื่อยี่สิบปีก่อนจะสามารถรับรู้สิ่งที่เลอลูชต้องการจะบอกได้ว่า ชีวิตมีความหมายอยู่ด้วยความรู้สึกอันงดงาม และความรู้สึกที่แท้จริงจะยั่งยืนเหนือกาลเวลา
            ไม่ว่ามันจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงไร
#
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530)


3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ29 ธันวาคม 2554 เวลา 00:03

    อยากดูบ้างแล้วสิ

    ตอบลบ
  2. อาจจะหายากหน่อย สำหรับภาคแรก
    แต่คงหายากมาก สำหรัลภาคสอง :)

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ29 ธันวาคม 2554 เวลา 14:13

    เหลือเกินจริงๆ ค่ะ สำนวนตอบ ^ ^

    ตอบลบ