วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (4)

จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ประเทศไทยยังคงจมอยู่ในปลักของการลบล้างความผิดให้ทักษิณและแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสถาปนาอำนาจที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ปักหลักหมุดสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านการลงประชามติ
            จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ ศาล และองค์กรอิสระจนเป็นอุปสรรคต่อการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่นั่นก็เพราะการออกแบบโครงสร้างอำนาจอธิปไตย และการตรวจสอบ-ถ่วงดุลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงสร้างที่ล้มเหลว
            จริงอยู่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาจากการแต่งตั้ง แต่ ส.ส.ร. 2550 ก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจน-กว้างขวางยิ่งกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่มักจะอ้างกัน (บ่อยครั้งที่อ้างโดยผู้ร่างเอง) ว่า “ก้าวหน้าที่สุด” และ “ดีที่สุดโลก”
            จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็โดยวิถีทางที่ถูกต้อง ตามกระบวนการที่กำหนด และไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติตามมาตรา 291 ที่ว่า “ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้”
            จึงเป็นเรื่องน่าขัน ที่ได้เห็นนักประชาธิปไตยผู้ชูธงคัดค้านรัฐธรรมนูญที่เป็นมรดกของคณะรัฐประหาร ล้วนกระหายอยากจะร่าง/แก้ไขรัฐธรรมนูญกันเอง และรับรองกันเอง ในขณะที่พรรคการเมืองซึ่งอวดอ้างชัยชนะจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ ก็ไม่กล้าเผชิญหน้าการทำประชามติ
            ได้แต่อวดตรรกะโง่ๆ ว่า ศาลจะให้ทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ในเมื่อหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่มีใครทราบ
            ตอบแบบเด็กมัธยมต้น ก็คือ “ถ้าคนอยากแก้ก็ยังไม่รู้ แล้วจะขอแก้ทำติ่งหูอะไร”
๐ 
Credit: Praphol Chattharakul
ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญไม่เคยใช้เป็นสิ่งชี้วัดระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ อย่าว่าแต่ประเด็นปลีกย่อยเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญ
            โดยไม่สำคัญเลยสักนิดว่าเรามีจิตวิญญาณประชาธิปไตยมากน้อยขนาดไหน เพียงแต่ในหัวของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสมอง และในใจของเรายังมีสิ่งที่เรียกว่าสติ เราย่อมรู้ว่าอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นแม่แบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
            รู้ว่ารัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ใช้มา 225 ปีแล้ว โดยไม่มีใครประทับตราว่าเป็นรัฐธรรมนูญยุคทาส และไม่เคยต้องยกร่างใหม่ เพียงแต่แก้ไขเฉพาะส่วนให้เหมาะสมกับกาลสมัยและบริบทความสัมพันธ์ทางอำนาจต่างๆ ในสังคม
            และรู้ว่าญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ พ.ศ. 2490 โดยที่ประชาชนของเขาไม่คิดว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญของผู้แพ้สงคราม
            แล้วเราก็พอรู้ – แม้เพียงเลาๆ ว่า – สถานะของรัฐธรรมนูญคือ การเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบรัฐ รูปแบบการปกครอง โครงสร้างและขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ของสถาบันการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์และการถ่วงดุลระหว่างสถาบันผู้ใช้อำนาจอธิปไตย การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่การนำมาใช้ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
            ตามดัชนีประชาธิปไตย (Democracy Index) ที่สำรวจและจัดอันดับโดยหน่วยงานชื่อ “อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต” ของนิตยสารอีโคโนมิสต์ (อันเป็นที่เคารพสักการะของพวกแดงซ้าย) ใช้ตัวชี้วัด 5 อย่างในการประเมินและให้คะแนน คือ กระบวนการเลือกตั้ง, การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง, วัฒนธรรมการเมือง และเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตัวชี้วัดบางตัวอาจสะท้อน-สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญอยู่บ้าง แต่เกณฑ์การให้คะแนนจริงๆ น่าจะอยู่ที่วิถีปฏิบัติในหัวข้อนั้นๆ
            ลองมาดูกรณีประเทศไทยในปี 2011 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 58 ด้วยคะแนน 6.55 น่าสนใจว่าตัวชี้วัดที่ฉุดดึงคะแนนความเป็นประชาธิปไตยไทย กลับเป็นเรื่องของ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล, วัฒนธรรมการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ใช่กระบวนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เสรีภาพที่เรียกหากันไม่หยุดหย่อน และยิ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลไม้พิษที่ชื่อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” ที่ใช้มา 5 ปี มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปแล้ว 2 ครั้ง
            แน่นอนว่าไม่ต้องพูดถึงยุโรป, อเมริกา, ออสเตรเลีย เพราะคะแนนประเทศไทยยังต่ำกว่า ประเทศในละตินอเมริกาอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา ไปจนถึง โคลอมเบีย, เปรู ด้วยซ้ำ ในเอเชีย ถึงไม่เทียบกับ ญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน คะแนนของเราก็ยังต่ำกว่าศรีลังกา (อันดับ 57 คะแนน 6.58) อยู่เล็กน้อย แต่เมื่อมองหาประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียน ก็จะพบว่าอยู่ใต้เราทั้งหมด ทั้งอินโดนีเซีย (60/6.53), มาเลเซีย (71/6.19), ฟิลิปปินส์ (75/6.12), สิงคโปร์ (81/5.89), กัมพูชา (101/4.87), เวียดนาม (143/2.96), ลาว (156/2.10), พม่า (161/1.77) ส่วนบรูไนตกสำรวจ
            ทั้งโดยชีวิตจริงที่เราต่างก็ประสบ-สัมผัส-รับรู้ได้ ทั้งโดยการประมวล-วัดผลจากหน่วยงานที่ขายความน่าเชื่อถือของข้อมูล (ข้อมูลนะครับ ไม่ใช่ทัศนะ และอยู่ในเครือดิ อีโคโนมิสต์ ด้วยนะครับ-อย่าลืม) ต่างสอดคล้องตรงกันว่าระดับเสรีภาพและความเป็นประชาธิปไตยไทยไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ก็ไม่วายมีพวกเสียจริตผลิตวาทกรรมออกมาล้างสมองพวกที่หัวด้านในกลวงไปหมดแล้วว่า ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยเท่าๆ กับเกาหลีเหนือ
            เกาหลีเหนือนั่นอยู่ก้นตารางครับ อันดับที่ 167 คะแนน 1.08
            ถ้าใครจะแย้งเรื่อง “เสียจริต” และ/หรือ “หัวด้านในกลวง” ผมแก้ใหม่ให้ตรงนี้เลยก็ได้ว่า พวกนี้คงโตมาแบบเก็บกด ในบ้านที่เลี้ยงดูกันมาแบบอำนาจนิยม ขาดความอบอุ่น ไม่ถูกปลูกฝังทั้งสติและปัญญา ถึงได้เรียกหาประชาธิปไตยไป สรรเสริญฮุนเซ็นไป (โอ้ว อยู่สูงกว่าเกาหลีเหนือตั้ง 60 กว่าอันดับ คะแนนก็มากกว่าตั้ง 4 เท่า เลยนะนั่น)
๐ 
รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ดี รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ดี
            ส่วนที่ดีในรัฐธรรมนูญ 2540 คือกระบวนทัศน์ด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งถือได้ว่าก้าวหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับเจตนารมณ์ในการสถาปนาประชาธิปไตยที่มั่นคง บนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน
            ปัญหาพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ 2540 คือการขัดกันในเชิงแนวคิดและปรัชญา ด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งตอบโจทย์เก่าแก่ของการเมืองไทย คือความไม่ต่อเนื่อง-ไม่มั่นคงของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย คำตอบสุดท้ายที่ได้ก็คือ การสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง ซึ่งก็เป็นคำตอบเดียวกับที่เคยเสนอกันมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2520 โดยมีช่วง 8 ปีของ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นข้อพิสูจน์ว่าความต่อเนื่องมั่นคงทางการเมืองสามารถนำพาประเทศไทยก้าวไกลไปในหลายทิศทาง ปัญหาคือคำตอบของทศวรรษ 2520 อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับทศวรรษ 2540 และพฤติกรรมนักการเมืองไทยตลอดทศวรรษ 2530 ไม่ได้บ่งชี้ถึงโอกาสที่พวกเขาจะเป็นแนวหน้าของการพัฒนาประชาธิปไตยได้เลย
            ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์-ความคิดและจิตสำนึกทางสังคมในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ได้ฉายให้เห็นบทบาทของภาคประชาสังคม และโอกาสของการเสริมสร้างพลังชุมชนควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจเพื่อเป็นรากฐานที่ยั่งยืนกว่าของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เลือกเอาเสถียรภาพรัฐบาลและเสริมสร้างพลังอำนาจผู้นำฝ่ายบริหาร การเสริมสร้างพลังชุมชนก็กลายเป็นเรื่องของระบอบอุปถัมภ์ใหม่ การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมกลายเป็นเรื่องของโครงสร้างการปกครองที่ทับซ้อนและอีลุ่ยฉุยแฉก ประชาสังคมก็อ่อนแอลงด้วยประชานิยมที่หยิบยื่นให้ตั้งแต่ยังไม่แบมือขอ
            ทุกอย่างเริ่มต้นมาตั้งแต่คดีซุกหุ้นในปี 2544 เมื่อทั้งการหว่านล้อมและการกดดันสารพัดวิธีการ โดยเฉพาะการรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อ “ให้โอกาสทักษิณทำงาน” ได้แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุด ก็เพื่อที่จะฉีกมันด้วยมือเราเอง
            เมื่อเปรียบเทียบกัน รัฐธรรมนูญ 2550 แม้ไม่มีจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อให้ได้มา ไม่มีกระบวนการของการมีส่วนร่วมแต่ต้นทาง ไม่มีเจตนารมณ์ยิ่งใหญ่หรือกระบวนทัศน์กว้างไกล แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นพันธสัญญาจากการทำรัฐประหารที่มีประชาชนเห็นด้วย 84 เปอร์เซนต์ ผ่านการเห็นชอบด้วยประชามติ 14.7 ล้านคน เป็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ-ที่เคยถูกฉีกทึ้งทำลายมาก่อนหน้านั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองและขยายขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปกว้างขวางยิ่งกว่าฉบับเดิม และอุดชันทุกรูโหว่ที่เปิดช่องให้อำนาจของเสียงข้างมากในรัฐสภาล้ำเข้าไปแทรกแซงเขตแดนอำนาจของฝ่ายและองค์กรอื่นๆ
            ความพยายามใดๆก็ตามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของผู้ที่ให้การรับรองรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จึงไม่ได้แตกต่างการทำรัฐประหารที่เริ่มด้วยการฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แต่ที่แย่กว่าการทำรัฐประหารครั้งหลังสุดก็คือ เพื่อสร้างอำนาจสถาปนาใหม่ที่ไร้การต้านทาน-ถ่วงดุล
๐ 
จาก พ.ศ. 2551 ถึง 2555 ทุกเหตุการณ์ที่อยู่ในปลักโคลนของการต่อสู้เพื่อทักษิณ ล้วนพิสูจน์ชัดเจนว่าเขาต้องการกลับมาอย่างผู้พิชิต และจะไม่มีวันรามือตราบเท่าที่เขายังมีชีวิตอยู่
            รัฐธรรมนูญ 2550 เปรียบได้กับธงผืนใหญ่ที่ถูกชักชูขึ้นประกาศเสรีภาพเหนือระบอบทักษิณ และนับจากนี้ไป ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่าจะยังชักชูธงผืนนี้กันต่อไป หรือดูดายให้เขาปลดลง
7 สิงหาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น