วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (1)

Credit: www.bangkokbiznews.com
การทลายลงของโครงสร้างชานชาลาสถานีย่อยในโครงการโฮปเวลล์ บริเวณหน้าวัดเสมียนนารี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะเจาะพอดี 
            เหมาะเจาะพอดีในแง่ที่ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ทั้งฉายย้อนเหตุการณ์ในอดีต สะท้อนเหตุการณ์ในปัจจุบัน และอาจยังส่องผ่านไปยังเหตุการณ์ในอนาคตได้ด้วย
๐ 
โฮปเวลล์เป็นโครงการใหญ่ยักษ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ วาดฝันกันเอาไว้ว่าจะยกระดับทางรถไฟขึ้นไปวิ่งเหนือพื้นผิวถนน เพื่อแก้ปัญหาการจราจร โดยเฉพาะตามจุดตัดกับทางรถยนต์ โดยสร้างคร่อมแนวทางรถไฟสายหลักในกรุงเทพฯ รวมระยะทาง 60.1 กิโลเมตร
            บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) บริษัทในเครือโฮปเวลล์โฮลดิงส์ของกอร์ดอน วู เป็นผู้ได้สัมปทานที่ประเมินมูลค่าการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท (มูลค่าในขณะนั้น) และต้องจ่ายผลตอบแทนให้รัฐเป็นรายปี ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี รวมเป็นเงินกว่า 50,000 ล้านบาท แลกกับการเก็บค่าผ่านทางถนนยกระดับ สัมปทานการเดินรถไฟฟ้าบนทางรถไฟยกระดับ การใช้พื้นที่ใต้ทางรถไฟยกระดับ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่รถไฟตลอดสองข้างทาง รวมพื้นที่ประมาณ 600 ไร่
            ไม่ใช่ว่าโครงการยกระดับทางรถไฟจะไม่ดี แต่ปัญหาพื้นฐานของประเทศนี้ก็คือ หนึ่ง – ไม่มีการวางแผนแก้ปัญหา(ใดๆ)อย่างเป็นองค์รวม สอง – การผลักดันโครงการ(ใดๆ)เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า-เฉพาะเรื่อง-เฉพาะจุด ผล(ประโยชน์ตอบแทนที่คาดว่าจะได้)รับ สำคัญกว่าผลลัพธ์(ในการแก้ปัญหา)เสมอ
            ดังจะเห็นได้จากการแก้ปัญหาจราจร-หรือเพื่อหาเสียงก็ตาม ก่อนหน้านี้ก็คิดกันง่ายๆ แค่ว่า ถนนไหนแยกไหนรถติดมาก ก็สร้างสะพานลอยข้ามแยกไปเรื่อย (สร้างได้ไม่กี่ปีต้องรื้อทิ้งก็มีมาแล้ว) จนกระทั่งการสร้างสะพานลอยไม่น่าตื่นเต้น (เพราะใช้งบประมาณไม่มากพอ) การเจาะอุโมงค์ทางลอดก็กลายเป็นทางเลือกใหม่ โดยไม่คำนึงว่าสุดท้ายแล้ว ผิวจราจรที่เสียไปให้กับช่องอุโมงค์ได้สร้างปัญหาสาหัสสากรรจ์กับรถบนช่องทางที่เหลือขนาดไหน
            โครงการโฮปเวลล์ก็เหมือนกัน วาดฝันกันง่ายๆ แบบไปตายเอาดาบหน้า ให้ได้ค่าอนุมัติโครงการมาก่อนก็พอใจ หลายปีผ่านไป หลายรัฐบาลผ่านมา โครงการนี้กลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของนักการเมือง ทั้งที่จะผลักดัน สานต่อ หรือยกเลิก กระทั่งในที่สุดก็เหลือแต่เพียงแนวตอม่อขนาดใหญ่ เรียงกันเป็นอนุสาวรีย์แห่งความฉ้อฉลของนักการเมืองและระบบการเมืองไทย (ยาวที่สุดในโลกด้วย – เผื่อใครจะรู้สึกภูมิใจ) กับ “ค่าโง่” หมื่นกว่าล้านบาทที่คนไทยต้องจ่ายเป็นค่าชดเชยให้โฮปเวลล์โฮลดิงส์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
            รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมผู้ผลักดันโครงการผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จนกระทั่งมาเซ็นสัญญากับโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 เป็นรัฐมนตรีที่มีอายุครบ 47 ปีในวันเดียวกันนั้นเอง ชื่อ มนตรี พงษ์พานิช 
๐ 
รัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาเติมเต็มความหวังที่ว่า เราจะได้เริ่มต้นยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” กันเสียที
            จากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 เมื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธคำเชิญจากหัวหน้าพรรคการเมืองให้กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 พลเอกชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ชนะเลือกตั้ง มี ส.ส. มากที่สุด ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในรอบ 12 ปีที่มาจากการเลือกตั้ง
            แต่ในเวลาเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาลพลเอกชาติชายไม่เพียงทำลายความหวังทั้งหมดที่ผู้คนวาดหวังไว้จาก “ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” แต่ยังทำลายรากฐานความเชื่อมั่นและโครงสร้างการพัฒนาประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่เพียรสร้างกันขึ้นมาใหม่บนความอดทนร่วมกันตลอดช่วงเวลา 8 ปี 5 เดือนในยุคที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี
            คำว่า “ความอดทนร่วมกัน” คำว่า “เพียรสร้างกันขึ้นมาใหม่” เป็นถ้อยคำซึ่งผู้ที่ไม่ทันได้มีประสบการณ์ร่วมในความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง-สังคมช่วงปี 2516 เป็นต้นมา อาจมองไม่เห็นความหมายและความจำเป็น แต่สำหรับผู้ที่เติบโตมาในระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย – โดยไม่ปิดกรอบความคิดของตัวเองไว้หลังกำแพงแห่งฝักฝ่าย – สามารถตระหนักแน่แก่ใจตัวเอง
            ประเทศไทยในพุทธศตวรรษใหม่ ปี 2500 เป็นต้นมา เริ่มต้นด้วยการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดฉากบทบาทและการช่วงชิงอำนาจในหมู่คณะราษฎรที่ดำรงมาตลอด 25 ปีนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ข้ออ้างสำคัญของจอมพลสฤษดิ์ก็คือการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมตามที่ประชาชนเรียกร้อง เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ได้ชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์
            แต่การเลือกตั้งในตอนปลายปีนั้น – ก็เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งต่อๆมา – ที่เป็นเพียงพิธีกรรมและกระบวนการรับรองความชอบธรรมให้กับผู้นำทหาร ซึ่งส่งต่อกันระหว่างจอมพลถนอม กิตติขจร ไปยังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และกลับมายังจอมพลถนอมอีกครั้ง ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ พ.ศ. 2501 มาจนกระทั่งถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
            ประชาธิปไตยที่ได้มาด้วยการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนมีอายุไม่เต็ม 3 ปีดี มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งสองคน (มรว.เสนีย์ ปราโมช, มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) คณะรัฐมนตรี 4 คณะ มีระยะเวลาบริหารประเทศรวมกันเพียง 1 ปี 8 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันเดียวกัน
            ช่วงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม ประเทศของเราไม่ได้มีปัญหาเพียงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ยังมีฝ่ายขวาที่สูญเสียอำนาจในเหตุการณ์ 14 ตุลา กับฝ่ายขวาที่เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายซ้ายต่างแนวทาง แม้กระทั่งฝักฝ่ายต่างๆ ในกองทัพ ซึ่งเห็นได้จากการยึดอำนาจซ้ำของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในปี 2520 และความพยายามก่อกบฏ 3 ครั้ง ในปี 2520, 2524, 2528 ทั้งยังถูกท้าทายจากทฤษฎีโดมิโนที่ล้มเรียงกันมาจากเวียดนาม-กัมพูชา-ลาว
            เวลา 8 ปี 5 เดือน (มีนาคม 2523-สิงหาคม 2531) ภายใต้การนำของพลเอกเปรม ด้านหนึ่งสะสม “ความน่าเบื่อ” ให้กับคนรุ่นๆ ผมที่ยังอยากจะเห็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นการพัฒนาทางการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคมที่ก้าวหน้า-เป็นธรรม-ฉับไวยิ่งขึ้น ก็จริง แต่อีกด้านหนึ่ง “ความน่าเบื่อ” ก็สะท้อนความสำเร็จในการนำประเทศของพลเอกเปรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ด้วย
            สภาวะ “น่าเบื่อ” ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากว่าพลเอกเปรมไม่สามารถกระชับอำนาจและสร้างเอกภาพขึ้นในกองทัพ ไม่มีนโยบาย 66/2523 ที่ใช้การเมืองนำหน้าการทหารเอาชนะการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สำเร็จ ไม่มีนโยบายใต้ร่มเย็นที่นำสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีกุศโลบายทางการต่างประเทศที่สามารถหยุดกองทัพเวียดนามเอาไว้ก่อนจะยกพลข้ามแม่น้ำโขง และลบทฤษฎีโดมิโนทิ้งไป
            ในยุคพลเอกเปรมอีกเช่นกัน ที่ประเทศไทยฝ่าข้ามปัญหาเศรษฐกิจโลกและวิกฤตค่าเงินบาทมาได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก (และไม่มีใครได้ประโยชน์บนความทุกข์ของคนทั้งประเทศ) ทั้งยังสามารถปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม-การลงทุน-การส่งออกให้รองรับกับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ จนกลายเป็นแบบอย่างการพัฒนาให้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ในขณะเดียวกันการสร้างเสถียรภาพและรักษาความต่อเนื่องของวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ก็ได้ปูทางความหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนบนแผ่นดินนี้ หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาตลอดเวลาเกือบ 50 ปี
            แต่ความน่าเบื่อในปีท้ายๆ ของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เทียบไม่ได้เลยกับความเหลืออดเหลือทนที่คนจำนวนมากมีต่อความฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในยุคประชาธิปไตยเต็มใบของรัฐบาล “บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ต” ที่มีพลเอกชาติชายเป็นนายกรัฐมนตรี
            ซึ่งอาจเปรียบเปรยให้เห็นภาพอีกแบบได้จากบทเพลง “ประชาธิปไตย” ที่วงคาราบาวร้องหา “ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง” เอาไว้เมื่อปี 2529 กับเพลง “ภควัทคีตา” ที่แอ๊ด คาราบาวเรียกร้องว่า “รบเถิดอรชุน” ในปี 2533
            และแล้ว วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 “อรชุน” ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ปิดฉากประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาลงไปอีกวาระ 
๐ 
ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนักในความฉ้อฉลและเหิมเกริมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น 2 ปี 6 เดือนในยุคพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หรือ 5 ปี 7 เดือนในยุคพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร 
            ทั้งไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันมากนักในการขานรับการยึดอำนาจของ รสช. เมื่อปี 2534 กับการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อปี 2549 
            แต่สุดท้ายเราก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรอุบาทว์ของการฉ้อฉลทุจริต ที่นำไปสู่การรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเพื่อให้นักเลือกตั้งกลุ่ม-ตระกูลเดิมๆ กลับเข้ามาตักตวงแสวงหาผลประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง 
            ครึ่งปีเศษของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยมาสู่จุดนั้นซ้ำอีก จุดแห่งความเหลืออดเหลือทนต่อความฉ้อฉลและเหิมเกริม โดยมีความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุดเป็นตัวเร่ง แต่ก่อนที่จะด่วนเรียกหาหรือกระทั่งขานรับการรัฐประหารที่อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความผิดหวังซ้ำซาก เราอาจจะต้องถามตัวเองกันจริงๆอีกสักครั้งว่า
            เราไม่อาจทำอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว ใช่ไหม?
3 มีนาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2555)







1 ความคิดเห็น:

  1. Lucky 777 Casino and Hotel - Mapyro
    › › Laughlin, NV Hotels › 시흥 출장안마김해 출장샵 Laughlin, NV Hotels Hotels Laughlin 광주광역 출장마사지 (Laughlin, NV). Laughlin, NV Hotels. 1 Mohegan Sun Blvd, Laughlin, NV 89109. Find reviews and 태백 출장마사지 discounts 서울특별 출장마사지 for AAA/AARP members, seniors,

    ตอบลบ