วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (2)

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่บางครั้งชื่อผม – หรือข้อเขียนของผม – ถูกนำไปมัดรวมกับการเรียกหาหรือสนับสนุนรัฐประหาร
            ซึ่งก็ไม่ได้ต่างอะไรจากสิ่งที่ผมเพิ่งเขียนลงคอลัมน์นี้ (ปีที่ 23 ฉบับที่ 6) ไปว่า “ในสายตาของเพื่อนที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันมาบางคน – ซึ่งบัดนี้ยืนอยู่อีกฟากฝั่งหนึ่ง – ผมคงกลายเป็นรอยัลลิสต์ไปแล้ว”
            แต่ไม่ว่าจะถูกประทับตรา/ตีความอย่างไร ผมก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไข/อธิบาย เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เขียน (และเผยแพร่-ตีพิมพ์) ไปนั้น ได้กลายเป็น “สิ่งที่พ้นจากมือเราไป” ซึ่งผมเคยขยายความเอาไว้ว่า...
            แต่เมื่องานหนึ่งๆ ผ่านจากมือผู้สร้างออกไปสู่สาธารณชน ก็เป็นอีกบทหนึ่งแล้ว อีกมิติหนึ่งแล้ว
เป็นบริบทของผู้บริโภคที่จะรับหรือไม่รับตามจริตและความต้องการ-พอใจที่จะเสพของตน เป็นมิติที่นักวิจารณ์จะประเมินคุณค่าเอาตามภูมิหลัง-การรับรู้-การตีความของตน ความคิดความเห็นเช่นนี้คือสัญชาติญาณมนุษย์ ซึ่งยกระดับเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสวงหาทางปัญญาผ่านการตั้งคำถามในทุกด้านและทุกเรื่อง มาตั้งแต่นครรัฐเอเธนส์ก่อนสมัยโสกราตีส ซึ่งสะท้อนความชอบธรรมผ่านการเปรียบเปรยว่า “โดยไม่ต้องเป็นช่างก่อสร้าง เราก็สามารถบอกได้ว่าบ้านหลังนี้ดีหรือไม่ดี เพราะเราเป็นผู้อยู่”
            ในท่วงทำนองคล้ายกันนี้ บ็อบ ดีแลน บอกเอาไว้ในเพลง Subterranean Homesick Blues ว่า “You don’t need a weather man to know which way the wind blows”
            งานชิ้นหนึ่งอาจเป็นที่ตอบรับหรือปฏิเสธ สำเร็จหรือล้มเหลว ตีความถูกต้องหรือเข้าใจผิดพลาด เป็นวิถีของการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งเป็นไปเช่นนั้นเอง เราอาจจะไม่ยอมรับ แต่ไม่จำเป็นต้องปกป้อง เราอาจไม่เห็นด้วยกับการตีความและประเมินค่า แต่ไม่จำเป็นต้องขยายความและชี้นำ
            สำหรับ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ งานที่พ้นมือเขาไปแล้วจะสื่อสารด้วยตัวของมันเอง เขาไม่เห็นด้วยกับนักวิจารณ์บางคนและการตีความบางด้านในนิยายของเขา แต่เขาก็ไม่ได้ถือเป็นภาระที่จะต้องอธิบายให้ใครๆ เข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการเสนอ เขาเคยบอกว่า “หลังจากที่ผมเขียน ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ เสร็จ ผมก็ทำลายบันทึกและเอกสารประกอบไปหมด เพื่อว่าจะได้ไม่มีร่องรอยของมันหลงเหลืออยู่เลย โดยวิธีนั้นนักวิจารณ์จะต้องตีค่าหนังสือตามคุณค่าของมันเองและไม่ต้องไปมองหากระดาษต้นร่าง” 
๐ 
Credit: http://sanskritresearchingujarat.org/gallery.html
แต่เมื่อได้รับการบอกกล่าวว่า ผมถูกพาดพิงย้อนหลังไปไกลถึงปี 2534 ด้วยข้อความว่า “คอลัมนิสต์บางคนของ "สีสัน" ถึงกับเชียร์ให้ทหารออกมาแทรกแซงการเมืองด้วยท่าทีแบบ "โอ้อรชุน ไยไม่ยิงศร" ซึ่งเป็นการตีความที่พอคุ้นอยู่ แต่ถ้าหากข้อเขียนไม่กี่บรรทัดฝังใจบางคนได้นานขนาดนั้น ผมก็น่าจะลองกลับไปอ่านดูสักครั้ง
            “สีสัน” ปีที่ 3 ฉบับที่ 12 (ธันวาคม 2533) คือที่มาของข้อความข้างบน ผมเลือกอัลบั้ม “โนพลอมแพลม” ของ ยืนยง โอภากุล เป็น 1 ใน “5 ชอบ” ประจำปีนั้น ด้วยคำอธิบายเต็มๆ ดังนี้
            สิ้นศรัทธาที่เคยมีเคยฝากไว้กับ “น้า” เมื่อครั้งเทป “ทับหลัง” เสียแล้ว งานเดี่ยวชุดที่สี่-แต่เป็นชุดแรกในชื่อจริงของ แอ๊ด คาราบาว จึงตีเข้าแสกหน้ารัฐบาลชาติชายและปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมแบบเนื้อๆ งานดนตรีใช้ได้ เนื้อหาชัด ตรง สะใจ นับได้ว่าเป็นเพลงการเมืองที่มีพลังเด่นชัดที่สุดในรอบหลายปี เพลงที่แฝงนัยไว้ได้แรงที่สุด คือ “ภควัทคีตา” ฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง
            ไม่ตัดไม่ทอนอะไรเลยนะครับ ถ่ายทอดต่อมาเต็มๆ ให้ตีความกันตามอัธยาศัย
            ช่วงนั้นผมไม่ได้เขียนเรื่องดนตรีให้กับ “สีสัน” นานแล้ว (เพราะข้ามฝั่งไปเขียนเรื่องโฆษณา) แต่ยังมีงานเขียนเกี่ยวกับดนตรีอยู่ใน “สารคดี” และคลับคล้ายคลับคลาว่าผมไม่น่าพลาดวิจารณ์งานของแอ๊ดชุดนี้
            ไปค้นเจอในฉบับที่ 73 ปีที่ 7 (มีนาคม 2534) ขอตัดตอนมาเฉพาะที่เขียนถึงเพลง “ภควัทคีตา” ก็แล้วกัน...
            เพลงที่แฝงนัยการเมืองเอาไว้อย่างน่ากลัวก็คือ “ภควัทคีตา” ที่จับใจความตอนหนึ่งมาจากมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” เพลงนี้ต้องมีเจตนาแน่นอน และยากที่จะให้เข้าใจเป็นอื่นไปได้ นอกจากเรื่องของการต่อสู้ทางการเมือง และวิถีทางที่ต้องใช้กำลังก็อาจเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ชอบธรรมได้ “รบเถิดอรชุน หากท่านตายในสนามรบ สวรรค์ยังรอท่านอยู่ ยังเปิดประตูรอผู้ปราชัย แม้หากว่าท่านชนะ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดินนี้ ทุกพงพื้นปฐพี รอให้ท่านเข้าไปครอบครอง” ไม่สำคัญหรอกว่าแอ๊ดจะชี้ชวนให้ใครรบ และไม่สำคัญว่าด้วยว่าแอ๊ดจะมองการเมืองอย่างไร สนับสนุนวิถีทางไหน สิ่งที่ผมหมายความเอาไว้ในคำว่า “น่ากลัว” ก็คือ ภายใต้รัฐบาลที่มีพลเอกชาติชายเป็นผู้นำ ได้ทำให้คนระอากับการเมืองในวิถีทางประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที และทหารกับการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจและใช้อำนาจทางการเมือง ก็จะเป็นทางเลือกแรกเสมอ
            คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก่อนที่ “สารคดี” ฉบับนั้นจะวางจำหน่าย แต่ต้นฉบับน่าจะเขียนเสร็จและส่งก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์
            เพื่อให้ครบถ้วนกระบวนความ ผมไปค้น “ลลนา” ในช่วงเดือน-ปีใกล้ๆ กัน ด้วยคลับคล้ายคลับคลาว่าได้เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ หลังเกิดเหตุการณ์ รสช และพบในฉบับที่ 438 (ปักษ์แรก เมษายน 2534) เฉพาะที่เกี่ยวกับเพลง “ภควัทคีตา” ผมเขียนเอาไว้ว่า...
            ถึงที่สุดแล้ว แอ๊ดก็ไปพลิกเอาเรื่องราวในมหากาพย์ “มหาภารตยุทธ” ตอนหนึ่งมาเขียนเป็นเพลง “ภควัทคีตา” เรื่องราวตอนที่กฤษณะหว่านล้อมให้อรชุนทำศึกย่อมมีความนัยแน่นอน ผมเคยเขียนลงใน “สีสัน” ว่าฟังเสียงชี้ชวนอรชุนให้แผลงศรแล้วอาจมีคนนึกเรียกหา สุจินดา ขึ้นมาบ้าง
            (แล้วผมก็เขียนต่อไป-อีกหลายย่อหน้า-ว่า) ดูเหมือนว่าจะไม่ได้มีใครเสียอกเสียใจกับการล้มลงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกันเท่าไรนัก ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ผมเขียนลง (ใน “สารคดี”) ไปว่า แอ๊ดสามารถสะท้อนอารมณ์ร่วมทางการเมืองของคนไทยจำนวนมากใต้รัฐบาลชุดก่อนได้ดี ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผมจับฉวยมาได้จากงานเพลงของแอ๊ดนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าตัวแอ๊ดเองจะมองการเมืองอย่างไร สนับสนุนวิถีทางไหน จุดยืนเขาเคลื่อนไปแค่ไหน นับจากที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนครั้งแรกในงานเพลงกับเทปชุดที่หกของคาราบาว ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์วันที่ 9 กันยาฯ อยู่มาก ตั้งแต่ชื่อเทป vol.6 ซึ่งอ่านกลับหัวได้ว่า 9 กย. ผ่านมาถึงการเรียกร้องหา “ผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้ง” ในเทปชุด 7 “ประชาธิปไตย” และ “น้าคือความหวัง” ในเทปชุดที่ 9 กระทั่งถึงคราวนี้กับยุคสมัยของ “รัฐบาลตัวแสบ” ซี่งการตัดสินใจแผลงศรของอรชุนมีความชอบธรรมอยู่เต็มเปี่ยม ประเด็นสำคัญที่ว่านั้นก็คือ รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ทำให้คนระอากับธุรกิจการเมืองที่แอบแฝงมาในความเป็นประชาธิปไตย จนพาลมองไม่เห็นความหมายของประชาธิปไตยไปเลย และทหารกับการใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะเป็นทางเลือกเดียวที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง 
            อาจจะสรุปลงไปได้ด้วยซ้ำว่า ประชาชนคนไทยมีความผูกพันกับสถาบันกองทัพแนบแน่นและลึกซึ้งกว่าสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เหตุการณ์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ คือการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง
            แม้แต่คนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อน และยังคงยืนหยัดในหลักการบนจุดยืนเดิมอย่างเหนียวแน่น หลายคนก็จะมีความรู้สึกใกล้เคียงกับที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนเอาไว้ใน “ผู้จัดการรายสัปดาห์” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า “กับการถอยหลังกลับไปเตรียมนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งของระบอบประชาธิปไตยไทย เป็นเรื่องที่ทำได้แค่เฝ้าดูเท่านั้น ถ้าจะถามว่าทำไมไม่ต่อสู้คัดค้าน ก็ตอบได้ว่าไม่รู้ว่าจะสู้เพื่ออะไร เพื่อใคร ถ้าจะถามว่าสิ้นหวังหรือ อาจจะตอบได้ว่าไม่ แต่ถ้าถามต่อไปว่ายังจะมีหนทางออกอื่นหรือไม่ แทนที่จะต้องกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ กลับไปกลับมาระหว่างการเลือกตั้งกับการยึดอำนาจ ก็ตอบได้แค่ว่าไม่รู้เหมือนกัน”

๐ 
ที่มาที่ไปของการย้อนกลับไปอ่านงานเขียนของตัวเอง มีคำตอบอยู่แล้วตอนต้นเรื่อง
            แต่เหตุผลของการเอากลับมานำเสนออีกครั้ง นอกเหนือจากคำตอบแบบฮาๆว่า “เอาของเก่ามาขอรับค่าเรื่องใหม่” แล้ว ก็คงเป็นเพราะว่า มันไปสอดคล้องกับตอนท้ายบทความชื่อ Helplessly Hoping (1) ที่ผมเขียนไว้เมื่อเร็วๆนี้ (“สีสัน” ปีที่ 23 ฉบับที่ 7) ว่า... 
            สุดท้ายเราก็ไม่สามารถหนีพ้นวงจรอุบาทว์ของฉ้อฉลทุจริต ที่นำไปสู่การรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพียงเพื่อให้นักเลือกตั้งกลุ่ม-ตระกูลเดิมๆ กลับเข้ามาตักตวงแสวงหาผลประโยชน์อีกครั้งและอีกครั้ง 
            ครึ่งปีเศษของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้นำประเทศไทยมาสู่จุดนั้นซ้ำอีก จุดแห่งความเหลืออดเหลือทนต่อความฉ้อฉลและเหิมเกริม โดยมีความไร้ประสิทธิภาพอย่างที่สุดเป็นตัวเร่ง แต่ก่อนที่จะด่วนเรียกหาหรือกระทั่งขานรับการรัฐประหารที่อาจนำไปสู่วงจรอุบาทว์แห่งความผิดหวังซ้ำซาก เราอาจจะต้องถามตัวเองกันจริงๆอีกสักครั้งว่า
            เราไม่อาจทำอะไรได้ดีกว่านี้แล้ว ใช่ไหม?

            ขอย้ำไว้ตรงนี้ครับว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตอบ
4 มิถุนายน 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2555)







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น