วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

Helplessly Hoping (3)

ปีพ.ศ. 2549 เป็นอีกครั้งที่(แม้)ผมไม่ได้เขียนเรียกหารัฐประหาร แต่(ในที่สุด)ก็(เสมือนหนึ่งว่า)สนับสนุนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน อยู่ดี 
            นับตั้งแต่ปี 2548 ที่ข้อเขียนของผมบนพื้นที่ตรงนี้ [ภายใต้ชื่อคอลัมน์ “(I Can’t Get No) Satisfaction และยังอาจนับย้อนหลังไปถึงปลายๆ ยุคของ “ยิ้มทั้งน้ำตา”] โฟกัสอยู่ที่การต่อต้านทักษิณและระบอบทักษิณ ชิ้นที่ถือว่าเป็นการชักชูธงขึ้นมาให้เห็นกันชัดๆ เลยก็คือ “ฟักแม้ว” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 4/2548) ที่เขียนเปรียบเปรยและล้อกันไประหว่างชื่อพืชผักสวนครัว กับคำพ้องเสียงสองภาษา (อังกฤษ-ไทย, ตามลำดับ)
            โดยไม่จำเป็นต้องย้อนกลับถึงบทความเมื่อกลางปี 2539 เรื่อง “Look Who's Talking Too (Much)” (สีสัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 8/2539) ที่ผมเคยสาธยายเอาไว้ชัดๆว่า คนอย่างทักษิณลวงโลกอย่างไร โกหกรายวันกันหน้าด้านๆ ขนาดไหน ท้ายเรื่อง “ฟักแม้ว” ผมก็บอกท่าทีของผมไว้ชัดและตรงว่า การแก้ปัญหา “สารพิษในฟักแม้ว” ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้บริโภค คือวิธีที่เกษตรกรในบางพื้นที่ของจังหวัดพิจิตรและอุทัยธานีได้ทำเป็นแบบอย่าง-โดยการรื้อถอนทำลายทั้งรากทั้งโคนจนหมดแปลง
            แปลชัดๆ ก็คือ เราปลูกเองได้ เราก็(ควรจะ)รื้อถอนทำลายเองได้
            ต่อมา ในเรื่อง “We Shall Overcome” (สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 8/2549) ผมมองภาพที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินคล้องแขนกันไปเปิดพื้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมประกาศเจตนารมณ์ “ทักษิณออกไป” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 แล้วนึกย้อนไปถึงเพลงที่ พีต ซีเกอร์ เรียบเรียงขึ้นใหม่จากเพลงกอสเพลตอนต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งกลายมาเป็นเพลงแห่งการต่อสู้เรียกร้องของสหภาพแรงงานในรัฐทางใต้ และกลายเป็นเพลงเอกในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่โลกได้รู้จักจากการขับขานของ โจน บาเอซ ในการเดินขบวนครั้งประวัติศาสตร์ในวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ที่มี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำ
            ผมโยงต่อเหตุการณ์และเพลงนั้นมาถึงเพลง “The Times They Are A-Changin’” กับท่อนที่ขึ้นต้นว่า “The line it is drawn, the curse it is cast” เพื่อจะบอกว่า “เส้นที่ไม่อาจหลบเลี่ยงถูกขีดไว้แล้ว” 
            เพียงแต่ว่า เมื่อเส้นนั้นปรากฏแสดงขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 มันไม่ใช่อย่างที่ผมหรือใครๆหลายคนนึกหวัง แต่เราก็ยอมรับมัน
๐ 
Credit:  chorchangsinging.blogspot.com
ผมนึกหวังอะไร? ยอมรับอะไร?
            ใน “สีสัน” ฉบับเดือนตุลาคม ปีนั้น (ปีที่ 18 ฉบับที่ 3/2549) ผมเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง “Comes A Time” ว่า “สิ่งที่ปรากฏแสดงในรูปของรถถัง กองกำลัง และการยึดอำนาจ อาจไม่สวยงามเท่าความนึกฝันของคนที่ต่อสู้เรียกร้องเอาอนาคตของประเทศออกมาจากอุ้งมือทรราชจำแลง ที่วาดหวังว่าพลังมหาชนจะสามารถกำหนดลากเส้นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เอง แต่ในบริบทแคบๆ ของการทำรัฐประหาร ปฏิบัติการ 19/9/49 เป็นปฏิบัติการจริงที่งดงาม
            “ไม่ได้งดงามแต่ในเชิงประสิทธิภาพ ซึ่งปราศจากการต่อสู้ปะทะ และการสูญเสียเลือดเนื้อ ไม่ได้งดงามด้วยดอกไม้และความชื่นชมยินดีของผู้คนที่เปลี่ยนบรรยากาศภายใต้กฎอัยการศึกเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่ยังงดงามอย่างยิ่งในแง่ที่สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด”
            มีข้อโต้แย้งมากมายจากคนที่ปฏิเสธรัฐประหาร โดยเฉพาะฟากฝั่งของทักษิณ ว่าสถานการณ์นองเลือดเป็นแค่จินตนาการของคนที่กวักมือเรียกทหารออกมายึดอำนาจ แต่ผมก็ยืนกลับไปตามที่เขียนไว้ในบทความเดียวกันนั้นว่า “สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เกิด แต่ยังหมายความด้วยว่า เพราะมันไม่มีโอกาสได้เกิด”
            สองปีต่อมา เหตุการณ์เช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นเสมือน “ภาพจำลอง” ที่อาจพิสูจน์แสดงได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2549 ผมเขียนไว้ในเรื่อง “And a new day will dawn…” (สีสัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 3/2521) ว่า
            “7 ตุลาคม 2551 คือการฉายภาพต่อจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นภาพที่ผู้คัดค้านการทำรัฐประหารล้วนไม่คิดและไม่เชื่อว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 20 กันยายน เพียงเพราะว่ามันยังไม่เกิด
            “7 ตุลาคม 2551 คือภาพที่ฉายยืนยันการสถาปนาขึ้นมาของรัฐตำรวจ ที่ก่อร่างสร้างขึ้นอย่างมั่นคงนับจากการเถลิงอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นต้นมา
            “7 ตุลาคม 2551 ยังพิสูจน์ถึงธาตุความสามานย์สูงสุดของระบอบทักษิณที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อแสวง-รักษาอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะตน โดยปราศจากความรู้สึกผิดบาปโดยสิ้นเชิง”

            ที่จริง ผมควรจะยกมาเพียงแค่นี้ สำหรับประเด็นการรัฐประหารในแง่ที่ว่า “สามารถหยุดยั้งภาวะเผชิญหน้าถึงนองเลือดได้ก่อนที่มันจะเกิด” แต่เมื่ออ่านอีกบางย่อหน้าถัดไป...
            “การซุกหุ้น หลบเลี่ยงภาษี แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ขัดแย้ง แลกเปลี่ยนประโยชน์ชาติให้ได้ประโยชน์ตน ข่มขู่คุกคามทุกเสียงคัดค้าน อุ้มฆ่าทุกผู้คนที่ขวางทางและเปิดโปง วิสามัญฆาตกรรมนับพันศพ จุดไฟหายนะในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือความเป็นไปในภาวะการณ์หยั่งรากลึกของระบอบทักษิณที่ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกับทุนนิยมสามานย์โลกในนามโลกาภิวัตน์
            “ภายใต้รัฐบาลหุ่นที่นิยามประชาธิปไตยไว้ในกรอบของการเลือกตั้ง มีความชอบธรรรมด้วยเสียงข้างมากในสภา ทางหนึ่ง-มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างทุกคดีความที่ก่อไว้ทั้งในอดีตและเกิดขึ้นใหม่ อีกทางหนึ่ง-เป็นความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะปล้นชาติขายแผ่นดินกันต่อไป ไม่เว้นกระทั่งอธิปไตยเหนือดินแดน
            “จากรัฐบาลทักษิณ ถึงสมัคร และสมชาย ไม่เคยเลยที่รัฐบาลจะเปิดทางให้กับการแสวงหาความจริง ไม่เคยเลยที่จะละวางการแสวงหาประโยชน์ ไม่เคยเลยที่จะเจรจากระทั่งนำพาต่อการคัดค้าน มีแต่กระบวนการปกปิดบิดเบือน มีแต่กระบวนการสร้างข่าวเบี่ยงเบนความสนใจ มีแต่กระบวนการข่มขู่คุกคาม มีแต่ถือเอาทุกคนทุกฝ่ายที่คัดค้านเป็นศัตรู
            “กระทั่งสามารถเข่นฆ่าปราบปรามทำลายล้างอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ”

            ผมก็ยิ่งแน่ใจว่า จาก 2549 ถึง 2551 และ 2555 หกปีผ่านไป เรายังไม่ได้พยายามหาทางออกจากห้วงเหวของความอับจนและสิ้นหวัง
๐ 
ที่จริง แม้ผมจะยอมรับ – เหมือนที่อาจารย์เสน่ห์ จามริกยอมรับ – ว่าการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นทางออกเดียวที่เหลืออยู่ (หากเราไม่ปรารถนาจะเห็นภาพคนไทยฆ่ากันเอง) และแอบหวังอยู่บ้างว่า “รัฐาธิปัตย์” ที่สถาปนาขึ้นมาหลังการยึดอำนาจ อย่างน้อยที่สุดจะสามารถทำให้สังคมแยกถูกออกจากผิด
            แต่ความรู้สึกที่ไม่แปลกปลอมเลยกลับเป็น “ความว่างเปล่า” ตามชื่อบทความที่ผมเขียนให้นิตยสาร Image ไม่ถึงเดือนหลังจากนั้น (ตีพิมพ์ในฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549)
            “ระหว่างสิบเก้าล้านหรือสิบหกล้านเสียงที่เลือกพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมามีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองประเทศ กับกว่าร้อยละแปดสิบของการสุ่มสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
            “ระหว่างความตึงเครียดแห่งการเผชิญหน้าทางการเมืองภายใต้บรรยากาศของประชาธิปไตย กับบรรยากาศราวกับงานเฉลิมฉลองภายใต้กฎอัยการศึก
            “ระหว่างการคัดค้านต่อต้านความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มาตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งถูกตอบโต้-ปิดกั้น-คุกตาม ถึงขั้นปะทะ-ทำร้าย กับการต่อต้านคัดค้านความไม่ชอบธรรมของคณะทหารที่มาด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งถูกควบคุมใต้กรอบของการขอความร่วมมือและเงื่อนไขที่จะไม่ลุกลามไปสู่การ เคลื่อนไหวต่อต้านที่หวังผลทางการเมือง
            “ระหว่างการบิดเบือน-ทำลายกลไกและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในนามประชาธิปไตย กับการฉีก-ยกเลิกรัฐธรรมนูญในนามการยึดอำนาจ
            “ระหว่างการทุจริตคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่ประชาชนให้ความไว้วางใจสูงสุด กับคำมั่นสัญญาของการรื้อ-สร้างระบบคุณธรรมและความโปร่งใสขึ้นมาใหม่ ของรัฐบาลภายใต้ผู้นำที่คณะปฏิรูปการปกครองฯ เพียงหยิบมือเชื่อมั่น
            “ระหว่างการนองเลือดในครรลองของประชาธิปไตย กับการยึดอำนาจที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ
            “ระหว่างการรัฐประหารที่นำประเทศไทยถอยหลังไปสิบห้าปี กับการใช้อำนาจของเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จที่นำประชาธิปไตยถอยหลังมาจนสุดทางไป
            “ระหว่างการรักษารูปแบบ-วิธี-กระบวนการของประชาธิปไตยด้วยทุกๆ ต้นทุนที่มีอยู่ กับการยอมจำนนต่อการยึดอำนาจในฐานะทางออกเดียวที่เหลืออยู่ของสังคม เพื่อเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่
            “ระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น มากด้วยคำถาม หลักการ ฐานคิด และคติที่ต่างกัน
            “และระหว่างทุกสิ่งเหล่านั้น สำหรับบางคน ยังแทรกคลุมด้วยความรู้สึกที่ว่างเปล่า”

๐ 
เกือบหกปีผ่านไป กับทุกๆ เหตุการณ์ที่อาจไม่เคยมีใครคิดว่าจะเกิดจะมีในบ้านเมืองของเรา คนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึก “ว่างเปล่า” ไม่แตกต่างกัน
            เป็น “ความรู้สึกว่างเปล่า(ที่)ไม่ได้ล่องลอยอยู่บนความไม่มี หากบ่อยครั้งที่มักสั่งสมจนกระทั่งสามารถหยั่งถึง หรือผุดบังเกิดขึ้นในภาวะซึ่งคุณค่าเดิมที่เรามี ไม่สามารถยึดถือไว้ได้ ในภาวะซึ่งสิ่งที่เราสามารถยึดเหนี่ยว ไม่อาจใช้เกาะเกี่ยวอีกต่อไป”
            สิ่งนั้นมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ความถูกต้อง-ดีงาม”
6 กรกฎาคม 2555 
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น