วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

5 ชอบ 2554-2555

เหมือนอย่างที่เคยๆ ฉบับครบรอบปีที่ 23 ของ "สีสัน" เมื่อเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมา 
มีนักวิจารณ์และคอลัมนิสต์หลากหลายแขนงมาบอกเล่าเรื่องราว/ผลงาน
อันเป็น "5ชอบ 5 ไม่ชอบ" ในรอบปีของแต่ละคน
และนี่คือส่วนที่เป็น "5 ชอบ" ของผมในช่วงครึ่งหลังของปี 2554-ครึ่งแรกของปี 2555

กิติกร มีทรัพย์ มีงานเขียน งานแปล มายาวนาน หลากหลาย และมีแง่มุมที่น่าอ่านเสมอ ฐานที่ยึดโยงผลงานส่วนใหญ่ของเขาไว้ด้วยกันคือความรู้ความเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ในระดับที่เรียกได้ว่าสนิทสนมกันดีกับซิกมันด์ ฟลอยด์ เมื่อชื่อของเขาปรากฏอยู่ในฐานะผู้เขียนหนังสือเรื่อง “วาสิฏฐี ฉบับจิตวิเคราะห์” (สนพ.ปราชญาพับลิชชิ่ง) ผมก็แน่ใจว่าจะได้รู้จักกับ “วาสิฏฐี” ในแง่มุมที่อาจจะไม่เคยคิดคาดมาก่อน

นอกจากการวิเคราะห์ชีวิตและความรักของวาสิฏฐี คุณพี่กิติกรยังวิเคราะห์และขยายความเรื่องราวและตัวละครที่เกี่ยวข้องไว้อย่างกระจ่าง ทั้งยังเชื่อมโยงทฤษฎีของจิตเข้ากับหลักพุทธธรรมได้อย่างน่าสนใจ

ในอีกโลกหนึ่ง วิถีของบริษัทอย่างเดนท์สุก็น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะความใหญ่และความเก่าแก่ในวงการโฆษณา แต่อยู่ที่การพัฒนาแนวคิดด้านสื่อสารการตลาดที่ครอบคลุมและทันกับสื่อ-ยุคสมัย-จิตใจของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ นำเสนออย่างมีศิลปะ และวัดผลสำเร็จได้

“The Dentsu Way” (สนพ.เนชั่นบุ๊คส์) ฉบับแปลไทยโดย Shuriken by Dentsu Plus ได้ถ่ายทอดแนวคิดด้าน Cross Communication และโมเดล (หรือกลยุทธ์) ที่เรียกว่า Cross Switch รวมถึงกรณีศึกษาที่สร้างปรากฏการณ์สำคัญๆ ในตลาดไว้อย่างละเอียด แม้จะมีความไม่ราบรื่นในการอ่านอยู่บ้าง แต่ก็เล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการได้ทำความเข้าใจกับวิถีอันซับซ้อนที่การตลาดเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจที่ยากจะหยั่งถึงของคนเรา ในยุคสมัยของการสื่อสารที่หลากหลายและกระจัดกระจาย จากบทเรียนและประสบการณ์จริง

วัย 77 ของศิลปินอย่าง เลียวนาร์ด โคเฮน ก็มีเรื่องเล่าและประสบการณ์มากมาย ดังที่เขาเคยบอกเล่าผ่านเสียงเพลงและบทกวีมากว่า 51 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ “Old Ideas” (Columbia) พิเศษขึ้น (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผม) คืออารมณ์รวมของการย้อนมองและใคร่ครวญชีวิต – ไม่ว่าจะในแง่มุมของความรักความปรารถนา ความศรัทธาและล่อลวง อารมณ์ห่วงหาและอาลัย – ที่นำเสนออย่างเรียบ-ง่าย แต่ลึก-งาม สมความเป็นศิลปินและสมวัย
อีกเกือบขั้วปลายหนึ่งของวัย เทย์เลอร์ สวิฟต์ ในวัย 20 ต้นๆ ยังคงเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นเยาว์ที่เติบโตอย่างงดงามทุกย่าวก้าว ด้วยความสามารถที่ครบถ้วนและรอบด้าน โดยไม่ต้องอาศัยโนมเนื้อและเรื่องอื้อฉาว

นอกเหนือจากความสามารถที่แสดงไว้ในสามอัลบั้มโดยไม่มีข้อสงสัยอะไรอีก เทย์เลอร์ได้พิสูจน์ความสามารถบนเวทีคอนเสิร์ตผ่าน “Speak Now: World Tour Live” (Universal) บันทึกการแสดงสดจากทัวร์คอนเสิร์ตชื่อเดียวกันที่ลากยาวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2011 ที่สิงคโปร์ กับอีก 5 เมืองในเอเชีย (ไม่มีประเทศไทย) 12 เมืองในยุโรป กว่า 50 เมืองในอเมริกาเหนือ และไปจบที่ออสเตรเลียเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ที่มากกว่ารายได้ 123 ล้านดอลลาร์ และจำนวนผู้ชมรวมกว่า 1,600,000 คน คือการที่เธอตรึงคนดูหลักหมื่นและหลายหมื่นในแต่ละรอบได้อยู่ และ-น่าดูมากจริงๆ 

ส่วนเล่มนี้ ก็เป็นหนังสือที่เข้าข่าย “น่าดู” อยู่เหมือนกัน “วันที่รู้สึกดีๆ” (สนพ.สารคดี comics) รวมสิบเรื่องสั้นในรูปแบบการ์ตูนที่นำเสนอออกมาด้วยลายเส้นง่ายๆ แต่ฉายความละเอียดอ่อนไว้ชัดทั้งเส้นสายลายมือและเรื่องราวที่บอกเล่าแง่มุมงดงามของชีวิต เป็นงานที่ GPEN สามารถส่งผ่านความประทับใจของผู้เขียนให้ออกมาเป็นความรู้สึกที่ดีของผู้อ่านได้อย่างสวยงาม 

แถมท้ายด้วยอีกหนึ่งความรู้สึกดีๆ ในการอ่าน “Flipboard” เป็นแอปพลิเคชัน (ในแอนดรอยด์และไอโฟน) สำหรับการอ่านข่าวสาร-บทความตามหมวดความสนใจที่เราเป็นผู้เลือก แต่ด้วยเนื้อหาที่ทีมงานเป็นผู้คัดสรรจากสื่อชั้นนำหลากหลายมานำเสนอ เป็นประสบการณ์การอ่านที่แปลกใหม่และมีเรื่อง(น่าอ่าน)ให้แปลกใจได้เสมอ
3 สิงหาคม 2555
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2555) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น