วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

น้ำเน่า

จากปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงกลางเดือนมกราคม 2555
บนเส้นทางน้ำที่ค่อยๆ เคลื่อนจากปลายภาคเหนือ ลงมาถึงกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
พรากชีวิตคนไป 815 คน มีผู้ประสบภัย 13,600,000 คน
พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร
นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 แห่งจมอยู่ใต้น้ำ กระทบห่วงโซ่อุปทานไปทั้งโลก 
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และฮาร์ดดิสก์
ธนาคารโลกประเมินว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 1,425,000,000,000 บาท
เป็นหายนภัยที่เสียหายร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก 
เป็นรองก็แต่ แผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554, 
แผ่นดินไหวที่โกเบ พ.ศ. 2538 และ พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา พ.ศ. 2548 
สิ่งที่ต่างกันก็คือ ภัยพิบัติเหล่านั้นล้วนเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเฉียบพลันทันที
และไม่มีเวลาเหลือเฟือให้ "เอาอยู่" "โกงอยู่" หรือ "ช่วยพี่ชายอยู่"
หากเรายอมรับวาทกรรมที่ว่ารัฐบาลชุดที่แล้ว “ดีแต่พูด”
            ด้วยเกณฑ์ชี้วัดชุดเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้ “เลวทั้งการกระทำและคำพูด” และยังรวมไปถึง “การไม่กระทำ” ในสิ่งที่พึงกระทำด้วย
๐ 
Credit: www.dvidshub.net
น้ำท่วมใหญ่ปีนี้ (พ.ศ. 2554) สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ และคนของรัฐบาลชุดนี้ ทำมากที่สุด – และเลวที่สุด – ก็คือการยกโยนความผิดไปให้ผู้อื่นอย่างปราศจากความละอาย
            แรกๆ ก็อ้างกันส่งๆ ว่า รัฐบาลที่แล้ววางยาไม่ยอมระบายน้ำจากเขื่อน ซึ่งเด็กประถมฟังก็ยังสงสัยว่า รัฐบาลชุดที่แล้วเขาตั้งอกตั้งใจจะไปเป็นฝ่ายค้านถึงขนาดวางแผนแกล้งแพ้เลือกตั้งกันเลยหรือ? ส่วนเด็กมัธยมก็งงไปอีกแบบว่า แล้วรัฐมนตรีที่ดูแลเขื่อนและกรมชลประทานของรัฐบาลชุดก่อนกับชุดปัจจุบัน เป็นคนละคนแต่บังเอิญมีชื่อนามสกุลเหมือนกันหรืออย่างไร?
            แต่ที่เลวกว่าคือความพยายามอย่างเป็นขบวนการที่จะกล่าวโทษการกักน้ำและระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อย่างมีนัยสำคัญที่ชื่อเขื่อน ผู้ช่วยรัฐมนตรีคนหนึ่งถึงกับกล่าวโทษน้ำจาก..... และจาก..... โดยไม่มีคำว่าเขื่อน คนมีตำแหน่งขนาดนั้นพูดผ่านสื่อทางการอย่างนั้นแล้ว สื่อวิทยุชุมชนกับสื่อในโลกไซเบอร์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
            (ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การกล่าวหาโดยนัยทั้งหมดนี้ รัฐบาลไม่ได้แสดงความอนาทรร้อนใจใดๆ แม้สักเสี้ยวของการแฮ็คทวิตเตอร์นายกฯ หรือการบีบให้ลบเนื้อหาในบล็อกที่เขียนแฉการฉ้อฉลของบริจาคภายใน ศปภ.)
            เลวร้ายหนักขึ้นไปอีก เมื่อนายกรัฐมนตรีมาแสดงตนประหนึ่งได้สมรู้ร่วมคิด ปิดเกมด้วยประโยคที่ว่า “เมื่อมารับตำแหน่ง น้ำก็เต็มเขื่อนแล้ว” ก็เป็นอันสิ้นสงสัยในความพยายามที่จะชูวาทกรรมว่ามีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลโดยผ่าน “รัฐประหารน้ำ” หรือ “วารีภิวัฒน์”
            เธอไม่ได้พูดประโยคนี้ตอนเพิ่งเข้ามาเป็นนายกฯ (8 ส.ค. 2554) หรือตอนประดิษฐ์คำว่า “บางระกำโมเดล” (20 ส.ค. 2554) แต่เธอพูดประโยคนี้ วันที่ 2 พ.ย. 2554 นี้เอง
๐ 
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า เรื่องโง่ๆ แบบนั้นหลอกได้แต่พวกเดียวกันเองที่ไม่รู้จักใช้ความคิด หรือพวกประสาทอ่อน
            อีกด้านหนึ่ง จึงมีความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะใช้ตัวเลขอันเกี่ยวกับน้ำทั้งหมดมาอ้างอิง ทั้งปริมาณน้ำฝน ปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อน ปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อน แรกๆ ก็แยกส่วนบ้าง ตัดตอนบ้าง หาค่าเฉลี่ยบ้าง จริงบ้าง มั่วบ้าง พอให้ขำบ้าง ให้สมเพชบ้าง 
            ที่น่าขำก็เช่น ความพยายามที่จะโพทนาว่าเป็นภัยธรรมชาติ เป็นปีที่มีฝนตกมากกว่าที่คิด มีน้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ พยายามกันมากจนไปขัดกันเองกับที่พยายามกล่าวโทษอีกฝ่ายไว้ในข้อหากักเก็บน้ำไว้ล้มรัฐบาล 
            หรืออย่างความพยายามที่จะหาค่าเฉลี่ย 3 ปี 5 ปี 10 ปี จนไม่รู้ว่าจะเฉลี่ยเพื่ออวดฉลาดหรืออวดอะไร เพราะในกรณีแบบนี้ เทียบปีต่อปีระหว่างปีที่มีปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้เห็นขนาดของปัญหาโดยเปรียบเทียบก็พอ จะเอาตัวเลขในปีที่มีปัญหาภัยแล้งมาเฉลี่ยเพื่อ.....? อันนี้ออกไปทางกึ่งขำกึ่งสมเพช 
            ส่วนที่น่าสมเพชล้วนๆ ก็เช่น ในบทความชิ้นเดียวกัน พยายามปกป้องรัฐบาลโดยการอ้างปริมาณน้ำฝนในที่ราบลุ่มภาคกลาง และอ้างการซ้ำเติมจากปริมาณน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนทางภาคเหนือ แต่กลับลืมอ้างปริมาณน้ำฝนเหนือเขื่อนทางภาคเหนือที่เป็นตัวแปรในการระบายน้ำจากเขื่อนไปเสียเฉยๆ 
            สุดท้ายก็พัฒนาพ้นจากความน่าขำ น่าสมเพช ไปเป็นความมดเท็จ จากจริงบ้าง มั่วบ้าง ไปเป็นการแต่งตัวเลข-ปั้นข้อมูลใหม่ให้ได้ดั่งใจไปเลย 
            ประเด็นนี้ ผมเคยบอกกับคนที่งุนงงกับตัวเลขที่อ้างกันไปมาแต่ไม่ตรงกันว่า เราไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันเรื่องข้อมูล ที่เราอาจจะเข้าไม่ถึงบ้าง ไม่รู้ว่าใครตกแต่ง-บิดเบือนอะไรบ้าง เรามาดูลำดับการเดินทางของน้ำ และดูการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลาเดียวกัน ก็พอแล้วที่จะสรุปได้ว่ารัฐบาลทำ-หรือไม่ทำ อะไร เมื่อไร อย่างไร และผลลัพธ์ของการกระทำ-หรือไม่กระทำนั้น เป็นอย่างไร
            เราหาความจริงกันได้ไม่ยากหรอกครับ แค่เปิดหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ค้นหาข่าวหน้า 1 ย้อนหลังก็รู้แล้ว 
๐ 
ถ้าไม่แน่ใจเรื่องฝักฝ่ายของสื่อ ผมแนะนำให้ค้นจากข่าวหน้า 1 ของไทยรัฐออนไลน์ก็ได้ แต่ต้องมีเทคนิคบ้าง
            ผมให้ Google เสิร์ชคำว่า หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2554 – ข่าวไทยรัฐออนไลน์ ตัวเลือกแรกจะพาเราตรงไปที่หน้าเว็บของไทยรัฐฉบับที่ระบุ เป็นไฟล์รูปหน้า 1 ของนสพ.ฉบับวางขาย คลิกอ่านรายละเอียดทุกข่าวได้เหมือนฉบับพิมพ์ทุกประการ (แต่ต้องสมัครสมาชิกก่อน โดยกรอกข้อมูลตามที่กำหนด หรือใช้บัญชีผู้ใช้ facebook แทนก็ได้) แล้วผมก็ได้รู้ว่า ภารกิจแรกของรัฐบาลที่เพิ่งเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ (เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2554) ว่า “จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ“ ก็คือการขอให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นนักโทษหนีคดี (เลขา ครม.ญี่ปุ่นแจงเหตุออกวีซ่า “ทักษิณ ชินวัตร” ระบุไทยร้องขออนุญาตให้เข้าประเทศ “นายกฯยิ่งลักษณ์” ยันไม่มีนโยบายพิเศษช่วยพี่ชาย)
            เมื่อเปลี่ยนวันที่เป็น 21 สิงหาคม 2554 ก็จะเจอพาดหัวรอง บางระกำโมเดล แก้น้ำท่วม ตามมาด้วยข้อความ ยิ่งลักษณ์ตั้งวอร์รูม น้ำท่วม ‘อยุธยา’ แล้ว มาวันที่ 27 ส.ค. 2554 เตือนน้ำเหนือ 5 วันถึงอยุธยา ส่วนวันที่ 31 ส.ค. 2554 ก็เจอข่าว แดงได้เก้าอี้ทั่วหน้า อารีเลขามท.1-เจ๋งผู้ช่วย
            ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2554 ข่าวย่อยบอกว่า “สถานการณ์น้ำท่วมพิษณุโลก พิจิตร เข้าขั้นวิกฤติ” ส่วนพาดหัว บอก ‘วิเชียร’ น้ำตาคลอ! ยันถูกบีบ ทำลายองค์กรตำรวจ ถัดมา วันที่ 5 ก.ย. 2554 ล้างบางมหาดไทย เด้งปลัด พร้อมกับข่าว น้ำทะลักท่วมปทุมแล้ว
            มาฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2554 เฉลิมออกหน้าชน แจงฎีกาอภัยโทษ “ทักษิณ’ / อ่างทองอ่วมหนัก ระดับน้ำเจ้าพระยาเกินจุดวิกฤติ ส่วนข่าวน้ำท่วม ระบุว่า ‘ธีระ’ สั่งกรมชลฯ ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล และหน่วงน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้ชาวนาในเขตลุ่มเจ้าพระยาเก็บเกี่ยวข้าว
            ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการระบายและไม่ระบายน้ำจากเขื่อนที่โทษกันไปมา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่า การระบายน้ำจากเขื่อนอยู่ในความรับรู้และใต้อำนาจสั่งการของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นคนเดียวกันทั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ถ้าจะมีใครมีอำนาจเหนือ รมว. เกษตรฯ สั่งการเป็นอื่น โดยที่ รมว.ไม่กล้าเปิดเผยความจริง รมว.ก็สมควรที่จะเป็นแพะรับผิดไป ไม่ใช่ยกโยนให้คนอื่น
             ถ้ายังสนุกกับการค้นหาความจริงอยู่ก็เสิร์ชไปเรื่อยๆ นะครับ ก็จะเจอข่าว “ยิ่งลักษณ์” เดินทางเยือนกัมพูชา หารือ“ฮุน เซน” ฟื้นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ สุดปลื้มคุยโอ่เป็นการเปิดศักราชใหม่ (ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2554) ถ้าสงสัยว่าศักราชใหม่แบบไหน ก็ดูตรงนี้ “เมื่อถามว่ารัฐบาลคิดว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเราหรือไม่ นายกฯตอบว่า ตรงนี้เรายังพูดไม่ได้... เมื่อถามว่าแต่สมเด็จฮุน เซน บอกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ตอบว่า การยืนยันคนละประเภทกัน” (17 ก.ย. 2554) ในขณะที่ความเสียหายจากน้ำท่วมก็เพิ่มมากขึ้นและมากขึ้น
            ค้นไปเถอะครับ เราจะรู้ทั้งหมดนั่นแหละ ว่านิคมอุตสาหกรรมทยอยกันจมน้ำวันไหน รัฐบาลเพิ่งตื่นมาตั้ง ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม) เมื่อไร (ไม่ต้องพูดถึงว่าเพียงการตั้งชื่อศูนย์ก็สะท้อนวิสัยทัศน์ในการรับมือกับปัญหาอย่างไร) ศูนย์ที่ว่านี้ให้ข้อมูลที่ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง ของรัฐบาล และของประเทศชาติได้ขนาดไหน จัดการกับของบริจาคได้มีประสิทธิภาพเพียงไร อาสาสมัครต้องถอนตัวออกมาเพราะอะไร คนของรัฐบาลฉ้อฉลกันด้วยวิธีไหนบ้าง ทิ้งของบริจาคและผู้ที่มาพักพิงในศูนย์กันอย่างน่าอเน็จอนาถอย่างไร ในวันที่ต้องหนีน้ำอย่างฉุกละหุกเพียงเพราะผู้นำเห็นว่าการย้ายศูนย์เป็นความพ่ายแพ้และเสียหน้า
            รวมทั้งบทบาทการแก้ไขน้ำท่วมของรัฐมนตรีทั้งคณะ ซึ่งแม้ว่าจะหายากสักหน่อย แต่ก็ยังพอเห็นถึงความความกระตือรือร้นของแต่ละกระทรวงในการเตรียมตั้งงบประมาณเพื่อการฟื้นฟู ซึ่งในที่สุดก็สามารถ “บูรณาการ” เป็นงบ 800,000,000,000 บาท ภายใต้ชื่อ New Thailand ที่เราต่างก็เข้าใจตรงกันว่าหมายถึง “รัฐไทยใหม่”
๐ 
มีคนบอกว่า เราอาจวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็ไม่ควรไปด่าว่าเธอด้วยคำว่า “โง่”
            ซึ่งผมก็เห็นด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุดวุฒิการศึกษาของเธอก็สำเร็จปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้งการกล่าวหาว่าเธอโง่ ก็จะทำให้คนหลายสิบล้านที่เลือกเธอ และ/หรือ สนับสนุนเธอพลอยสะเทือนใจไปด้วย
            ผมยังมองข้ามความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เรือดันน้ำ/เรือดำน้ำ หญ้าแฝก/หญ้าแพ(ร)ก กระทั่ง เดือนพฤศจิกาคม ไป เพราะเข้าใจว่า บางครั้งนักบริหารที่ประสบความสำเร็จมาจากกิจการที่พี่ชายวางคนทำงานเก่งๆ ไว้ให้พร้อม ก็อาจพลาดในเรื่องที่ตัวเองไม่ค่อยเข้าใจได้เสมอ โดยเฉพาะถ้าเขาหรือเธอเป็นคนที่แสดงให้เห็นว่ามีความรู้ความสามารถค่อนข้างจำกัดมาตั้งแต่สมัยบริหารบริษัทขายสื่อโฆษณา
            แต่ผมก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่มองว่าเธอน่าสงสาร เป็นหุ่นเชิด เป็นโคลนนิ่ง เป็นอะไรก็ตามแต่ ที่คิดเองไม่ได้ ทำเองไม่เป็น เพราะถึงกระนั้น เธอก็ดูมีความสุขดีกับการใช้อำนาจตามตำแหน่ง การออกคำสั่ง การกล่าวโทษผู้อื่น และการทำในสิ่งที่คนไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่อาจกระทำ
            ดูตัวอย่างได้จากภาพที่เธอหัวเราะร่วนกับหลานสาวที่ ศปภ. คลิปที่เธอหนีนักข่าวเข้าไปหัวเราะในลิฟต์ ข่าวที่เธอภูมิใจนำเสนอให้การประปานครหลวงผลิตน้ำประปาเพิ่มเนื่องจากมีน้ำทะลักเข้าคลองประปา (คืนวันที่ 20 ต.ค. 2554) ฯลฯ
            เธอไม่ได้โง่ เธอไม่ได้น่าสงสาร เพียงแต่เธอมีปัญหาเล็กๆน้อยๆ ที่เรียกกันว่า “วุฒิภาวะ” และเธอไม่สามารถปิดบังมันไว้ได้ ก็เท่านั้นเอง
5 พฤศจิกายน 2554

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น