วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

New Year's Resolution

วงรอบของการเริ่มต้นปีใหม่ในช่วงหลายปีมานี้ ไม่ได้มาพร้อมกับบรรยากาศของการรื่นเริง-เฉลิมฉลองเหมือนอย่างที่คาดหวัง หรือเคยเป็น ปีหนึ่งเราได้เผชิญกับความเกรี้ยวกราดของสึนามิ (26 ธันวาคม พ.ศ. 2547) อีกปีหนึ่งเราต้องปั่นป่วนไปกับการวางระเบิดกลางกรุงเทพฯ (วันสิ้นปี พ.ศ. 2549) และปีนี้เราก็สูญเสียพระพี่นาง (2 มกราคม พ.ศ. 2551)
            นอกจากเหตุการณ์เฉพาะเจาะจง เรายังถูกรุมเร้าด้วยความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งยืดเยื้อทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจและการเลี้ยงชีพที่ยากลำบากขึ้นทุกปี ขณะที่โลกทั้งใบแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ความหวัง
            แต่ปีใหม่ก็ยังคงเป็นการเริ่มต้นของวงรอบเวลาใหม่ เป็นวาระของการอวยพร ความระลึกถึง ความปรารถนาดี ที่ผู้คนยังคงมีให้กัน และยังคงเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งโลกยังคงยึดเอาเป็นหมุดหมายของการเริ่มต้น สิ่งใหม่ๆ ในชีวิต
            แม้สังคมและโลกรอบตัวจะไม่เอื้อให้คนเราวาดหวังอะไรได้มากนัก แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังสามารถมุ่งหวังกับตัวเราเอง

ปณิธานปีใหม่ของคนเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องของการละเลิกจากสิ่งที่รู้มาตั้งนานแล้วว่าไม่มีอะไรดีกับชีวิต แต่ก็ยังทำไม่ได้เสียที (เช่น เลิกบุหรี่ ลดเหล้า ละอบายมุข) เพิ่มพูนสิ่งดีๆ ให้ตัวเอง (ศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ หางานใหม่ที่ดีกว่าเดิม) ดูแลตัวเองให้มากขึ้น (สุขภาพกาย สุขภาพจิต อาหารการกิน การออกกำลังกาย ลดน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน)
            แต่บางด้านบางเรื่องก็สะท้อน-สัมพันธ์กับคติ ค่านิยม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การสำรวจความมุ่งหวังในปีใหม่รอบปีหลังๆ แสดงให้เห็นแนวโน้มของการจัดสมดุลเวลาและแสวงหาความรื่นรมย์ของชีวิต (ลดชั่วโมงทำงานลง ไม่เอางานกลับไปทำที่บ้าน มีเวลาให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงมากขึ้น เดินทางท่องเที่ยว เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ) ซึ่งเข้ามาแทนที่คติบ้างานและมุ่งสำเร็จ ในขณะที่เป้าหมายทางวัตถุและการบริโภคก็ถูกเบียดแทรกด้วยความประหยัด-อดออม รู้ใช้-รู้จ่าย รู้พอ และลดล้างหนี้สิน (ซึ่งส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากเป้าหมายทางวัตถุและการบริโภคที่ผ่านมา) ไปจนถึงการแสวงหาความสุขสงบทางใจและทางธรรม
            คนจำนวนไม่น้อยยังมีความมุ่งหวังที่พ้นออกไปจากรอบวงเรื่องราวของตัวเอง ด้วยความคิดที่จะเบียดบังสังคมให้น้อยลง ช่วยเหลือผู้อื่นให้มากขึ้น เป็นอาสาสมัครเพื่อสาธารณประโยชน์
            ความมุ่งหวังบางอย่างทำได้ง่าย เพียงมีความตั้งใจสักนิด ใช้ความพยายามอีกหน่อย ก็ทำได้แล้ว ในแง่นี้ ที่เคยมีคนบอกว่า ถ้าผ่านปีใหม่ไปครึ่งเดือนก็แล้ว เดือนหนึ่งก็แล้ว ยังไม่ได้เริ่มไม่ได้เลิกอะไรๆ อย่างที่ตั้งใจไว้ ก็จงยอมรับเถอะว่า ปณิธานนั้นล้มเหลวก็คงจะไม่ผิด แต่ความมุ่งหวังบางอย่างต้องใช้เวลามากขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเอง ค่อยๆ ละลายพฤติกรรมและความเคยชินแบบเดิม ในขณะที่อีกบางเรื่องอาจต้องปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดทั้งต่อชีวิตและต่อโลก ซึ่งไม่อาจและไม่ควรใช้มาตรฐานเวลาเดียวกันมาวัดผลสำเร็จ/ล้มเหลว
            ที่สำคัญคือ เมื่อเวลาผ่านไป เรายังหมายมั่นและพยายามเพียงไรในสิ่งที่เรามุ่งหวัง
สำหรับโดโนแวน นิยามของปณิธานปีใหม่่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เขาเริ่มเพลง “New Year's Resolution”* ด้วยรูปคำง่ายๆ แต่สื่อความหมายได้ชัดเจน
            “Do what you've never done before / See what you've never seen / Feel what you've never felt before / Go where you've never been / Sing what you've never sung before / Say what you've never said / Bear what you've never borne before / Hear what you've never heard
            เพลงนี้อยู่ในอัลบัม “Open Road” ผลงานปี 1970 ซึ่งเป็นความตั้งใจของโดโนแวนที่จะสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งในผลงานชุดนี้ และของตัวเขาเอง ซึ่งการตั้งชื่ออัลบัมก็มีความหมายชี้ไปในทางเดียวกัน เขาบอกกับทุกคนและคงจะบอกกับตัวเองด้วยว่า ไม่มีอะไรดำรงคงเดิม การเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติของชีวิตสิ่งที่เราควรจะทำคือ ปลดพันธนาการ และทำในสิ่งที่อยากจะทำพันธนาการที่ว่านั้นบางครั้งเราก็เป็นคนผูกยึดเอาไว้เอง และถ้ามันยังไม่รัดแน่นพอ เราอาจทำได้แม้กระทั่ง ตัดปีกของตัวเอง
            อันที่จริงผลงานของโดโนแวนเปลี่ยนแปลงมาเสมอ อาจจะเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่าบ็อบ ดีแลน ผู้ประกาศสัจจะ “The Times They Are  A-Changin'” ทั้งยังเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายทศวรษ 1960 แต่ปัญหาคือ นับตั้งแต่โดโนแวนปรากฏตัวในวงการเพลงครั้งแรกกับเพลง “Catch the Wind” ตอนต้นปี 1965 ภาพของเขาคือศิลปินโฟล์กที่อยู่ภายใต้เงาของบ็อบ ดีแลน และภาพจำของ ผู้มาทีหลังก็ทำให้ความสามารถทางดนตรี ความละเอียดอ่อนเชิงกวี และการริเริ่มทดลองสิ่งใหม่ๆ ของโดโนแวนมักจะถูกประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง
            ริชี อุนเทอร์เบอร์เกอร์ นักเขียน/นักวิจารณ์ดนตรีที่ให้ความสนใจศึกษาดนตรีโฟล์คร็อคและประวัติศาสตร์ดนตรียุค 1960 เป็นพิเศษ เคยเสนอความเห็นไว้ว่า การแสดงของโดโนแวนกับวงแบ็คอัพ 3 ชิ้นในงานประกาศผลรางวัลประจำปีของนิตยสารนิว มิวสิคัล เอ็กซ์เพรสส์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 1965 น่าจะถือเป็นต้นกระแสของดนตรีโฟล์คร็อค คอนเสิร์ตครั้งนั้นเกิดขึ้นสามเดือนก่อนที่บ็อบ ดีแลนจะปรากฏตัวพร้อมกับวงพอล บัตเทอร์ฟิลด์ส บลูส์ แบนด์ ในคอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ที่นิวพอร์ต โฟล์ก เฟสติวัล และก่อนที่ซิงเกิล “Mr. Tambourine Man” เวอร์ชันเดอะ เบิร์ดส์ที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดเพลงโฟล์คร็อคออกจำหน่ายหนึ่งวัน
            โดโนแวนยังเปิดตัวเองรับดนตรีทั้งแจซซ์ บลูส์ ดนตรีตะวันออก และเอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับเลือดใหม่ของวงการเพลงอเมริกันแถบเวสต์โคสต์ ตั้งแต่ก่อนที่โลกจะรู้จักชื่อของ เดอะ เกรทฟูล เด้ด และ เจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน ผลงานชิ้นเอกของโดโนแวนคือ “Sunshine Superman” ในปี 1966 เปรียบได้กับนวัตกรรมที่หลอมสร้างดนตรีไซคีเดลิคขึ้นมาจากโฟล์ค-ร็อค-พ็อพ- แจซซ์ได้อย่างสวยงาม ก่อนจะถึงวันเวลาเบ่งบานของบุปผาชน
            ศิลปินในยุคกลางศวรรษ 1960 มีความเป็นชุมชนที่มีการดูดซับ-ถ่ายเทประสบการณ์ ความคิด การริเริ่มและทดลองระหว่างกัน โดโนแวนเป็นหนึ่งในเครือข่ายนั้น ความสามารถในการเขียนเพลงและเล่นดนตรีของเขาเป็นที่ยอมรับจากศิลปินร่วมยุค ทั้ง เดอะ บีเทิลส์, บ็อบ ดีแลน, โจน บาเอซ, ไบรอัน โจนส์-ผู้นำวงโรลลิง สโตนส์ยุคแรก มากกว่าข่าวสารข้อมูลที่ปรากฏสู่สาธารณชน และมากกว่าการยอมรับจากนักวิจารณ์ เขาเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ได้ร่วมแต่งเพลงกับเดอะ บีเทิลส์ (“Yellow Submarine”) สอนวิธีเล่นกีตาร์แบบฟิงเกอร์ พิคกิ้ง ให้กับจอห์น เลนนอน กับพอล แม็คคาร์ทนีย์ (ซึ่งจอห์นเอาไปใช้ในเพลง “Julia” ส่วนพอลใช้ในเพลง “Blackbird”) ในขณะที่นักดนตรีที่โดโนแวนเลือกมาร่วมงานก็ล้วนแล้วแต่เป็นสุดยอดฝีมือเซสชั่นแมน เช่น แจ็ค บรูซ (ก่อนวงครีม), จิมมี เพจ และ จอห์น พอล โจนส์ (ก่อนเล็ด เซ็พเพลิน) การถ่ายเททางดนตรีระหว่างโดโนแวนกับจิมมีและจอห์น ยังได้ผลออกมาเป็น “The Hurdy Gurdy Man” (1968) อัลบัมที่ให้ซาวด์แบบฮาร์ดร็อค และการฟอร์มวงเล็ด เซ็พก็เกิดขึ้นในช่วงนั้นเอง
            ความเปลี่ยนแปลงใน “Open Road” ไม่ได้วางไว้ที่การเปลี่ยนแปลงทางดนตรี แต่เป็นการปลดปล่อยตัวเองจากการถูกผูกยึดด้วยยอดขาย โดโนแวนทำอัลบัมนี้โดยไม่มีมิคกี โมสต์โพรดิวเซอร์ที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จมาตลอดตั้งแต่ปลายปี 1965 ศิลปิน-โพรดิวเซอร์คู่นี้น่าจะเข้ากันได้เหมาะเจาะ เพราะคนหนึ่งมีสัญชาติญาณดนตรีที่หลากหลาย อีกคนหนึ่งมีสัญชาติญาณในการกะเก็งอารมณ์ตลาดเพลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะจูนเข้าหากันได้ทุกครั้ง
            พันธนาการและตัดปีกตัวเองที่โดโนแวนเขียนไว้ในเพลง “New Year's Resolution” สะท้อนความตึงเครียด-ขัดแย้งทางความคิดและวิธีทำงาน ตัวอย่างที่อาจสะท้อนปัญหานี้ก็คือ ในช่วงกลางระหว่างงานเพลงไซคีเดลิคอย่าง “Sunshine Superman” กับฮาร์ดร็อคแบบ “Hurdy Gurdy Man” โดโนแวนเลือกที่จะทำอัลบัมเพลงสำหรับเด็กซึ่งไม่ใช่งานขาย และมิคกีก็คงไม่ชอบแน่ๆ แต่เป็นงานที่โดโนแวนต้องการทำ อย่างที่เขาเคยทำมาก่อนแล้ว และยังคงทำต่อมาอีกหลายชุดในช่วงทศวรรษ 1970
            “Open Road” ก็ไม่ใช่งานขาย เช่นเดียวกับอัลบัมหลังจากนั้นทั้งหมด โดโนแวนยังเสียความตั้งใจอย่างน้อยสองอย่างกับอัลบัมที่เป็นจุดเปลี่ยนของ เขา หนึ่ง-เขาตั้งใจให้ Open Road เป็นทั้งชื่ออัลบัมและชื่อวงที่มีเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะใครๆ ก็นับเป็นงานเดี่ยวของเขากันหมด สอง-เขาใช้ชื่อเพลง “New Year's Resovolution” แสดงความคิดรวบยอดของงานชุดนี้ แต่คำว่า “Revolution” ที่นำมาสนธิถูกตัดทิ้งไปในขั้นตอนพิสูจน์อักษร
            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โดโนแวนไม่ได้สูญเสียไปด้วยก็คือการออกเดินไปตามทางที่มุ่งหวัง และดูจะมีความสุขกับอิสรภาพบนเส้นทางที่โล่งกว้าง เหมือนกับภาพที่หลายคนเคยเห็นจากคอนเสิร์ต The Secret Policeman's Other Ball ปี 1981 มีผู้บันทึกไว้ด้วยว่า ตอนที่เขาขึ้นเวที มีเสียงคนดูตะโกนว่านึกว่าคุณตายไปแล้วเสียอีก
            โดโนแวนตอบกลับอย่างอารมณ์ดีว่า ยังหรอก
#
17 มกราคม 2551
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2551)

*ฟังเพลง  New Year's Resolution  ได้จากลิงก์นี้ >>
http://www.youtube.com/watch?v=7SxxjBNeauk

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ3 มกราคม 2555 เวลา 23:58

    มุ่งหวัง-ตั้งใจ มันเรียกร้องพลังเยอะเหมือนกันนะคะ บางที ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันชวนให้เหนื่อย
    อ่านแล้วชวนให้มีแรงเดินต่อ แต่รู้สึกว่า-มันชวนเศร้าๆ หงอยๆ ไง-ไม่รู้เหมือนกัน

    ตอบลบ
  2. เป็นเพราะอย่างนี้หรือเปล่าครับ ที่ว่ามันชวนเศร้าๆ หงอยๆ
    "วงรอบของการเริ่มต้นปีใหม่ในช่วงหลายปีมานี้ ไม่ได้มาพร้อมกับบรรยากาศของการรื่นเริง-เฉลิมฉลองเหมือนอย่างที่คาดหวัง หรือเคยเป็น..."

    หรือเป็นเพราะสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรามุ่งหวัง-ตั้งใจ

    จะอย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่เริ่มต้นเรียกร้องเอาจากตัวเอง เราจะเรียกร้องเอาจากใครล่ะครับ :)

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ5 มกราคม 2555 เวลา 08:27

    มันต้องแลกเปลี่ยนกับบางอย่าง เพื่อที่จะได้มา (ซึ่งกว่าจะได้มาก็ต้องออกแรงมิใช่น้อย)
    การลงมือทำ กับการเลือก ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง มันยากจริงๆอะค่ะ
    ขอบคุณค่าา สำหรับงานเขียนดีๆ

    ตอบลบ