วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

Lawyers, Guns, Money & Media

เหมือนๆ จะแพ้ แต่ไม่แพ้
            กรณีเทคโอเวอร์หนังสือพิมพ์มติชน อาจจะยุติลง(ชั่วคราว) ตามที่สื่อส่วนใหญ่รายงานว่า กู๋” (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) ยอมถอย เพราะกระแสคัดค้านต่อต้านรุนแรงเกินกว่าที่คิดกันไว้ (ใครจะช่วยกันคิดบ้าง ถ้าอยากรู้ไปถามกู๋เอาเอง) แต่การคงหุ้นไว้ในสัดส่วน 20 เปอร์เซนต์ ไม่ได้แปลว่ากู๋ มาแว้ววว ไปแว้วววอย่างที่แปะไว้ตรงการ์ตูนมุมล่างปกมติชนสุดสัปดาห์
            ต่อให้กู๋เอาเงินมาซื้อหุ้นเก็บเอาไว้เฉยๆ ตามประสาคนที่อยากเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์มานาน แต่สัดส่วนหนึ่งในห้าก็ไม่น่าจะทำให้คนมติชนทำงานได้อย่างเป็นสุข และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วยังน่าจะทิ้งร่องรอยความคลางแคลง-ระแวง-สงสัยเอาไว้ให้คนมติชนด้วยกันเองพอสมควร
            อย่างน้อยๆ จากปากของวงในแกรมมี่บางคนที่บอกคล้ายๆ กันว่า กู๋คุยกับพี่ช้าง (ขรรค์ชัย บุนปาน) แล้ว ถึงได้นัดจะไปแถลงข่าวที่มติชน แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น” (แปลว่าถ้าอยากรู้ไปถามพี่ช้างเอาเอง) แล้วคำพูดแบบนี้ถ้าล่องลอยมาถึงหูคนอย่างผมที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ซุกตัวอยู่แต่ในถ้ำได้ มันก็คงเข้าหูใครๆ มาเยอะแล้วแหละ
            ข่าวที่ลือกันในตลาดหุ้นว่ามีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์แอบซื้อขายทำกำไร ก็ช่วยตอกย้ำความเคลือบแคลงอีกทาง จนสุุดท้ายแล้ว ถึงจะต่อต้านการยึดครองสื่อกันไป แต่เรื่องทำนองนี้ที่ยังเป็นติ่งคาใจคนไม่ได้ถูกเคลียร์ไปกับการแถลงข่าวร่วมของคนรุ่นลูกรุ่นหลานนามสกุลบุนปานกับดำรงชัยธรรมแต่อย่างใด
            งานนี้ จึงอาจสรุปได้ว่ามติชนเสียหายไม่น้อยกว่าแกรมมี่ หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ อย่างที่เพื่อนรักผมออกปากว่า กู๋นี่ร้ายจริงๆ  จับอะไร ship หายหมด” (คำว่า ร้ายในที่นี้หมายความตามคำ ส่วนคำว่า ‘ship’ เป็นคำสุภาพ) อย่างน้อยๆ พี่ช้างซึ่งควรจะอยู่สบายๆ ได้แล้ว ก็เดือดร้อนต้องหาเงินมาซื้อหุ้นคืนในราคาแพงอีกต่างหาก ถึงจะได้ใจได้แนวร่วมมาท่วมท้น แต่นั่นก็แค่การศึกเฉพาะหน้า นับจากนี้ไป บทบาทท่าทีของมติชนจะถูกจับตาอย่างระแวดระวัง มีคนบอกว่า ไม่ว่าใครจะให้เครดิตความน่าเชื่อถือของมติชนไว้ที่ระดับไหน จากนี้ไปมันจะไม่เท่าเดิม
            ข้างฝ่ายกู๋ อย่างมากก็แค่เสียฟอร์มไปบ้าง ส่วนเรื่องถูกถล่มด่านั้น คนที่(พยายามจะ)รู้ใจกู๋ เอาใจช่วยว่า แกคงชินน่ะ ก็โดนมาตั้งแต่ซื้อลิเวอร์พูล จนถึงเพลงชาติหกเวอร์ชั่นแล้วนี่
ระดับบรรณาธิการของมติชนเคยพูดถึงกู๋ว่า ไม่มีหัวนอนปลายเท้าในวงการนี้ (แล้วจะมาทำหนังสือพิมพ์ได้อย่างไร) ซึ่งถูกใจสะใจกองเชียร์เป็นอันมาก แล้วก็คงคิดกันแบบนี้กระมัง ถึงได้เชื่อว่าการเข้ามา กว้านซื้อหุ้นของกู๋ เป็นเพียงโนมินีของใครคนหนึ่ง-คนนั้น
            คนเรามีหัวนอนมีปลายเท้ากันทุกคน ยิ่งเป็นหัวนอนปลายเท้าของกู๋  ทั้งคนมติชนเอง และแฟนานุแฟนของเครือมติชน ยิ่งต้องทำความรู้จักโดยพลัน
            ผมคงไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกได้ว่ารู้จักหัวนอนปลายเท้ากู๋ แต่ถ้าเราออกไปให้พ้นกระแสข่าวบนสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา จะรู้ว่าหัวนอนปลายเท้าของกู๋นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ถูกมองข้ามหรือหมิ่นแคลน คนในวงการเงินยังมองยังเชื่อว่า ก็แค่ความพยายามแตกขยายธุรกิจธรรมดาๆ ของคนมีเงิน คนในธุรกิจดนตรีและอุตสาหกรรมบันเทิงซึ่งเป็นคู่แข่งแท้ๆ ก็ยังเห็นเป็นการซื้อหุ้นถือหุ้นธรรมดา ไม่น่าจะมีเบื้องหลังเบื้องหน้าอะไร ส่วนแฟนเพลงแกรมมี่ (ซึ่งคนในแกรมมี่เองเรียกว่า สาวก”) ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
            เหล่านี้ ถ้าจะเรียกกันตามภาษานิยมว่า ต้นทุนกู๋ก็มีอยู่พอสมควร อาจไม่เท่าคุณพี่ช้าง ไม่เท่าความเป็นสถาบันของมติชน แต่ก็ไม่น้อยกว่าหลายๆ คนที่ออกมาพูดจาว่ากู๋แรงๆ เป็นอันขาด
            แล้วกู๋เรียกคะแนนตีตื้นได้พอประมาณจากคนที่ไม่อยู่ในกระแส จากคนไม่ศรัทธาหนังสือพิมพ์ เมื่อยอมถอยและขายหุ้นส่วนที่เกิน 20% คืนในราคา(ที่บอกว่า)เท่ากับที่ซื้อมา
            สมมติว่า ถ้ากู๋ทำตัวนิ่งๆ  ไม่ข้องเกี่ยว ไม่แทรกแซง แต่อาจจะขออะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง เป็นการ ส่วนตัวกับใครสักคน บางคน ที่พูดจากันได้ สักพักสาธารณชนก็อาจจะคล้อยตามว่า เออ ไม่เห็นมีอะไรสักหน่อย ตื่นตูมกันไปเองแต่ในขณะเดียวกัน เมื่อราคาหุ้นมติชนถอยกลับไปอยู่ระดับก่อนภาวะ ตื่นตระหนกอาจจะมีคนแอบเก็บหุ้นมติชนในชื่อต่างๆ กัน และในปริมาณที่ไม่ชวนให้สังเกต ส่วนจะทำอะไรต่อไป ใครจะไปรู้?
            เท่าที่เรารู้ก็แค่ว่า เร็คคอร์ดของแกรมมี่นับจากวันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นต้นมา สะท้อนถึงการบริหารวิธีที่เรียกกันว่า ทุบโต๊ะจนคนสงสัยว่าไม่เจ็บมือบ้างหรือไร ตัวแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ในเวลานั้น จนถึงจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในเวลานี้ มีซีอีโอดาวรุ่งที่พุ่งแรงมากของวงการโดนเชือดไปแล้วสองราย จะเป็นเพราะความที่กู๋ไม่ยอม วางมือนิ่งๆ บนโต๊ะหรือเปล่า ก็ไม่อาจทราบได้ (ถ้าอยากรู้โปรดไปถามเลขาธิการ กบข. และผู้ว่าฯ กทม.) ส่วนเร็คคอร์ดการร่วมทุน ซึ่งมีแรงเฉื่อยที่ทำให้เกิดภาวะทุบโต๊ะไม่ลง ก็ไล่ย้อนหลังไปได้ตั้งแต่บะหมี่ยูมี ซึทาญ่า จนถึงต้นอ้อแกรมมี่
            คนที่ไม่อยากเห็นกู๋หรือแกรมมี่เข้ามายุ่มย่ามกับสื่อหนังสือพิมพ์ อาจจะบอกว่าถ้าเป็นอย่างหลังก็เข้าทาง หวังได้ ภาวนาให้เป็นอย่างนั้นได้ แต่ต้องไม่ลืมอีกเหมือนกันว่า กู๋มีทั้งวิธีชักจูง หว่านล้อม และมัดใจคน (ต้องยอมรับว่าคนทำงานกับกู๋ ในแต่ละชั้น แต่ละแขนง มีความสามารถสูงกว่าคู่แข่งในวงการเดียวกัน) แล้วก็อาจมีวิธีที่ทำให้คนเบื่อหน่ายไปเอง (เมื่อถามคุณพี่เขตต์อรัญไม่ได้แล้ว ลองถามเอาจากปรัชญา ปิ่นแก้ว และชาตรี คงสุวรรณดูแล้วกัน)
            สิ่งที่เคยเป็นมาอาจบอกได้บางอย่าง แต่สิ่งที่จะเป็นไปกับมติชน (รวมทั้งบางกอกโพสต์) ต้องรอให้กู๋บอกเอง––คนที่กำหนดหมากเกมได้ ย่อมไม่ใช่คนแพ้แน่นอน
เขียนเข้าข้างกู๋มาตั้งหลายย่อหน้า ทั้งเชื่อด้วยว่าคนอย่างกู๋ไม่จำเป็นต้องซื้อหุ้นแทนใคร และกรณีนี้ไม่ควรเอาไปเทียบเคียงกับกรณีซื้อหุ้นลิเวอร์พูล ที่กู๋อาจจะแค่รับมุขเล่นเป็นเรื่องขำๆ ส่วนจะขำใคร คนที่สงสัยลองถามตัวเองดูจะดีที่สุด)
            กู๋คงตั้งใจซื้อหุ้นมติชนกับบางกอกโพสต์จริงๆ เหมือนที่แถลงปูทางมาก่อนหน้านี้ และเป็นไปได้ว่านี่เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการครอบครองและครอบงำสื่ออย่างที่มีหลายคนอธิบาย ซึ่งถ้ามองกันแต่ในแง่การเมืองและการรวบอำนาจ แล้วตัวกู๋เองก็หลุดปากออกมาว่า จะทำหนังสือพิมพ์ให้รัฐบาลอ่านบ้างไม่ได้หรือไง ก็พอมีน้ำหนักอยู่
            แต่เมื่อประเมินในเชิงธุรกิจและผลตอบแทน การกู้เงินธนาคารตั้งมากมายเพื่อเป็นผู้ถือหุ้นราย ใหญ่ในมติชนและบางกอกโพสต์ ที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่ามาตรฐานที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ และจีเอ็มเอ็มมีเดียทำได้ ไม่น่าจะใช่วิสัยของคนอย่างกู๋ซึ่งน่าจะมีเป้าหมายหรือประโยชน์ต่างตอบแทนมากกว่านั้น
            คนประเภทที่ใครคนหนึ่งกล่าวหาว่า ชอบจินตนาการได้ลองเอาชิ้นส่วนที่กระจายกันมาจากคนละทาง มาต่อรวมเป็นภาพ ซึ่งยังไม่ครบสมบูรณ์ แต่นึกเค้าลางเอาว่า ภาพอาจจะออกมาอย่างนี้:
            ข้าราชการประจำระดับสูงในสำนักนายกฯ พูดในที่ประชุมหน่วยงานในสังกัด ว่าอาจจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เพราะจะมีการปรับโครงสร้างโยกย้ายหลายหน่วยงานไปสังกัดอื่น ก่อนหน้านั้น มีข่าวหลายครั้งว่าจะรวมรัฐวิสาหกิจที่แยกกันขึ้นต่อกระทรวงต่างๆ มารวมกันภายใต้โฮลดิ้งรัฐวิสาหกิจที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งโดยนัยเท่ากับเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ การก่อตั้งรัฐวิสาหกิจทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบของการแสวงหาผลกำไร รัฐมนตรีดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ก็พูดถึงการแยกสถานีวิทยุโทรทัศน์กรมประชาฯ ออกจากโครงสร้างระบบราชการมาเป็นหน่วยงานพิเศษที่ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง หาเอกชนที่เป็นมืออาชีพมาร่วมทุนและ/หรือบริหาร แล้วกู๋ก็พูดชัดเจนว่าเป้าหมายต่อไปของจีเอ็มเอ็มมีเดียคือ มีทีวีเองสักช่อง
            ในจินตนาการของผม ปรากฏฉากทัศน์ที่ช่อง 11 ถูกแยกออกมาจากกรมประชาสัมพันธ์ แล้วจีเอ็มเอ็มมีเดียได้รับเลือกในฐานะผู้มีความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมที่จะมาร่วมทุนร่วมบริหาร
            โดยที่มติชนและบางกอกโพสต์เป็นชิ้นส่วนที่เข้ามาเติมให้แกรมมี่มีภาพความเป็นมืออาชีพ อย่างครบถ้วนรอบด้าน ไม่ใช่แค่สื่อบันเทิง
มีคนไม่กี่ประเภทที่ต้องการยึดกุมและครอบงำทุกสิ่งทุกอย่าง ประเภทแรกคือกลุ่มคนบ้า คนวิกลจริต คนป่วย(ทางจิต) ประเภทที่สองคือกลุ่มที่มีความทะยานอยากเกินเกณฑ์ความมักใหญ่ใฝ่สูงและทะเยอทะยานในคนปกติ ซึ่งทิวานิยามกลุ่มอาการนี้ว่าเป็น คนโลภ”* (ตามชื่อเพลงที่คนอ่าน "สีสัน" น่าจะได้ฟังกันแล้ว) แต่ยังไม่ได้แยกแยะว่า เป็นเพราะพ่อแม่สั่งสอนชี้วิธีการ หรือเป็นสันดานที่ติดตัวเฉพาะตน
            คนโลภยึดกุมและครอบงำสรรพสิ่งด้วยการใช้อำนาจ แสดงอำนาจ และนำไปสู่อำนาจที่มากขึ้น อำนาจในภาษาการเมืองอาจพูดกันถึงอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ในทางธุรกิจอาจหมายถึงอำนาจทุน อำนาจครอบงำตลาด รวมไปถึงอำนาจของเครือข่ายพันธมิตรและสายสัมพันธ์ทางการเมือง ฯลฯ แต่ภาษาเพลงแบบวอร์เร็น ซีวอน รวบยอดเอาไว้ในสามคำที่ประกอบกันเป็นชื่อเพลง “Lawyers, Guns And Money”** ––สามอย่างนี้ก็พอแล้วที่จะยึดกุมสภาพทุกอย่างได้
            วอร์เร็นไม่ได้นึกถึงมีเดีย เพราะในสังคมของเขา ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะไปครอบงำบงการสื่อ และสื่อเองก็ไม่สามารถแสดงอิทธิพลครอบงำสังคมได้ง่ายๆ ถ้าไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นักข่าวเล็กๆ สองคนของวอชิงตันโพสต์อาจจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ประธาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จำใจเดินออกจากทำเนียบขาว แต่คนดังแห่งวงการทีวีอย่างแดน ราเธอร์ ต้องเกษียณตัวเองก่อนกำหนดเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการรายงานเรื่องที่ไม่มีมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดีบุชสมัยรับราชการทหาร
            การยึดครองสื่อจึงอาจจะไม่ได้อยู่ในแผนการของคนบางคนมาก่อนก็จริง แต่เมื่อคุณสมบัติพิเศษในการล่อลวงและจูงใจคนเริ่มขาดความน่าเชื่อถือ สื่อวิทยุโทรทัศน์ที่มีในมือและในกำมือไม่พอที่จะช่วย กลบเกลื่อนความเน่าเหม็นจากของเสียที่มีปริมาณเป็นสัดส่วนกับความตะกละตะกลามประสาคนโลภ อำนาจของสื่อหนังสือพิมพ์ที่พยายามรายงานลึกลงไปให้มากกว่าภาพที่ได้เห็นทางจอทีวีและเสียงที่ได้ยินทางวิทยุ จึงเป็นอีกเป้าหมายที่ต้องถูกรวบเอาไว้ให้เบ็ดเสร็จ
            ในเพลงของวอร์เร็น เขาเปรียบเปรยสถานการณ์ที่ต้องเรียกให้ส่งทนาย อาวุธ(หรือทหาร) และเงิน เข้าไปเคลียร์ ด้วยประโยคที่ว่า “The shit has hit the fan” แล้วถ้าต้องเพิ่ม Media เข้าไปช่วยกลบปิดข่าวอีกอย่าง ลองนึกภาพดูกันเองแล้วกันว่ามันจะ เละขนาดไหน
            ปล่อยไว้นานไปจะ กวาดล้างกันไหวหรือเปล่า
#
29 กันยายน 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548)

*ฟังเพลง   คนโลภ ได้จากลิงก์นี้ >>
**ฟังเพลง   Lawyers, Guns And Money ได้จากลิงก์นี้ >>

2 ความคิดเห็น:

  1. เมื่อไหร่พวกแดงบริหารกันเอง
    อยากให้แบ่งพวกมันออกไปเลยเราก็อยู่ส่วนเรา
    บูชากันดีนักนี่

    หากเป็นเช่นนั้น
    พวกมันคงจะฆ่ากันตายเพราะไม่มีการชื้อใจคน
    มีแต่ใช้เงินคุยอย่าวเดียว
    ไผ่ค่ะ

    ตอบลบ