วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

องครักษ์พิทักษ์ปลวก

“ในทางจิตวิทยาของอาชญากรนั้น คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายใด แสดงว่าเขาอยากทำผิดกฎหมายนั้น เช่น คนที่ต้องการยกเลิกกฎหมายฆ่าคน แสดงว่าเขาอยากฆ่าคนโดยไม่มีกฎหมายห้าม”
         ข้อความ “โดนใจ” ข้างต้น ผมยกมาจากบทความเรื่อง “คณะนิติราษฎร์..ผลไม้พิษของฮิตเล่อร์??” ของ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่ออกมาโต้แย้งกับแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอให้ลบล้างผลพวงของการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ทั้งพ่วงเอาข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวญกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ไว้ด้วย และข้อความที่ผมยกมาก็คือการตีตรงเข้าประเด็นนั้น
Credit : http://www.flickr.com/photos/waterbug49307/5507017226/
         ที่ต้องใช้คำว่า “โดนใจ” ก็เพราะเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ตอนที่เขียนถึงกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... ในบทความเรื่อง “See Through” ลงคอลัมน์นี้ (“สีสัน” ปีที่ 22 ฉบับที่ 9) คนที่ไม่ได้เรียนมาทางกฎหมาย (อย่างผม) ก็ขมวดด้วยคำถามว่า “คนประเภทไหนกันที่ขยายความกฎหมายฉบับหนึ่งให้แลดูน่ากลัวเกินจริง คนประเภทไหนกันที่ปั่นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้คนกลัวเพื่อเป็นแนวร่วมคัดค้าน คนประเภทไหนกันที่ใช้ประโยชน์จากความไม่รู้ (และไม่อยากรู้) ทางกฎหมายของประชาชนทั่วไปในการบิดเบือนความจริง คนประเภทไหนกันที่แอบวาระซ่อนเร้นไว้ใต้เสื้อคลุมของสิทธิเสรีภาพ”         
         ซึ่งคำตอบที่ผมแน่ใจว่ารวมอยู่ด้วยแน่ๆ ก็คือ (กลุ่ม) คนที่รู้ว่ากำลังทำผิดตามมาตรา 24 (1) อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และผมเชื่อว่าเป็นประเด็นหลักของการคัดค้าน เพียงแต่ถูกคลุกเคล้าเอาไว้กับประเด็น “หาพวก” อื่นๆ
         ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ในความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกลุ่มคนที่เวียนหน้ากันออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไข และ/หรือ ยกเลิกมาตรา 112 เมื่อเรามองผ่านม่านมายาของวาทกรรมทั้งมวล มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญาได้แทงทะลุเข้าไปด้วย “จิตวิทยาอาชญากร” นั่นเอง
         ซึ่ง ดร.ทวีเกียรติ ได้ขยายความต่อว่า
         “คนที่อยากได้ทรัพย์บุคคลอื่น ก็คงต้องการให้ยกเลิกกฎหมายลักทรัพย์
         ผมเองยังอยากให้ยกเลิกกฎหมาย ข่มขืนกระทำชำเราเลย !!!
         อย่างไรก็ตาม กฎหมายถึงจะมีโทษแรงแค่ไหน  
         ผู้ที่ไม่คิดจะทำผิดกฎหมาย ย่อมไม่เดือดร้อน  
         พวกท่านทั้ง 7 เดือดร้อนมากใช่ไหม?  
         มาตรา 112  เป็นเรื่องของการใช้ถ้อยคำ แสดงว่าคนที่ขอให้ยกเลิก อยากใช้คำหยาบ จาบจ้วง จริงๆ ผมแนะให้ว่า ถ้าคันปากอยากด่านักใคร แต่กลัวผิดกฎหมาย ก็ให้ด่าคนที่อยู่ในบ้านของกลุ่มนิติราษฎร์นั่นแหละ ด่าเข้าไปเถอะ กฎหมายไม่เอาโทษ เพราะคนที่อยู่นอกบ้านของคุณไม่มีใครเขานับถือคนในบ้านของพวกคุณ 
         หากด่าตัวเองได้ยิ่งดีใหญ่ ไม่ผิดกฎหมาย  
         และจะให้ผมช่วยด่าหรือช่วยคิดหาคำด่าให้ก็ยินดี  
         ครบถ้วน ได้ใจความนะครับ
การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองไว้ดูใหญ่โตว่า “คณะนิติราษฎร์” นั้น ไม่ว่าจะใช้วาทกรรมอำพราง หรืออ้างหลักวิชาการจำแลง อย่างไร สุดท้ายก็สลัดไม่หลุดจากข้อเท็จจริงที่ว่า สุดปลายทางข้อเสนอของพวกเขานั้นเอื้อต่อประโยชน์สูงสุดของใคร?
         และต้องการโค่นล้ม-ทำลายอะไร?
         ในเชิงวิชาการและหลักกฎหมาย ผมเชื่อว่าทุกแง่มุมที่เสนอมา นักกฎหมายด้วยกันเขาโต้แย้งได้หมด เหมือนอย่างที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ได้ใช้บทความเรื่อง “สิ่งที่คล้ายกันพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่ไม่พึงปฏิบัติอย่างเดียวกันกับสิ่งที่ต่างกัน” หักล้างอย่างสุภาพต่อข้อเสนอให้ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นการ “นำสิ่งที่ไม่ควรเทียบกันมาเทียบกันประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เทียบกันได้ หรือแสดงความเห็นโดยไม่ชี้แจงให้ชัดว่าเป็นความเห็น แต่ทำให้คนเชื่อไปว่าเป็นความรู้โดยมิได้ตั้งแง่คิดให้ผู้อ่านได้ไตร่ตรองอย่างแจ่มชัด”  ซึ่ง “อาจชวนให้เกิดความหลงทาง หรือเกิดไขว้เขวทางความคิดแก่คนหมู่มากจนยากจะแก้ไข เป็นสิ่งที่นักวิชาการพึงระวัง”
         แต่ก็นั่นแหละ เมื่อจะเอาชนะคะคานกันเสียอย่าง กระบวนการตอบโต้แบบแถไถไปมาก็ทำหน้าที่สร้างวาทกรรมของมันไป เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการ ไม่ใช่ความถูกต้องทางวิชาการ แต่เป็น “วาทกรรม” ที่จะให้เอาไปพูดถึงได้ ใช้อ้างได้ ไปขยายผลได้ โดยคนที่พร้อมจะเชื่อ คนที่พร้อมจะทำหน้าที่สื่อความต่อไป ซึ่งสุดท้ายเมื่อโต้แย้งอะไรไม่ได้แล้ว ก็จะกลับมาตรงจุดที่ว่า “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”
         แล้วผลักดันให้ทุกคนที่โต้แย้ง ทุกคนที่เห็นว่าการยึดอำนาจสามารถสถาปนาอำนาจรัฐาธิปัตย์ขึ้นมาได้ เป็นพวกสนับสนุนรัฐประหาร ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย โดยลืมไปว่า ด้วยหลักคิดแบบนี้ ทุกประเทศในโลกที่ให้การรับรอง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็จะกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนการทำรัฐประหารและต่อต้านระบอบประชาธิปไตยกันไปหมดทั้งโลกเลยทีเดียว
         แล้วยังไง?
         เพราะมุมคิดแบบนี้ก็เอาไปผลิต “วาทกรรม” ได้ ถ้าอยากทำ และวาทกรรมก็จะกลายเป็นกรรมที่ไม่มีวันจบ ตราบเท่าที่สมองของคนขาดแล้วซึ่งสำนึก
         ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเข้าใจได้ที่ ดร.ทวีเกียรติ เขียนบทความตอบโต้กับ “กลุ่มผู้ออกแถลงการณ์ทั้ง 7” ด้วยท่าทีที่ไม่ป็นวิชาการ และเหมือนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพูดจาด้วยหลักการและเหตุผลกับคนเหล่านี้อีก
         ลองดูความอีกตอนหนึ่ง
         “ก่อน 19 กันยา กลุ่มนิติราษฎร์ ไปอยู่ที่ไหนกัน ถึงไม่รู้ว่า ความขัดแย้งมีมาก่อน 19 กันยายน 2549 และก่อน 14 ตุลาคม 2516 ด้วยซ้ำ และประเด็นที่ขัดแย้งทั้งหลายมีประเด็นเดียวเท่านั้น คือ คนในรัฐบาลที่ทุจริต หรือสงสัยว่าทุจริต หรือแม้พิสูจน์แล้วว่าทุจริต แต่ยังมีอำนาจลอยนวล ลอยหน้าอยู่ได้ โดยไม่มีใครสามารถนำพวกเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ คือไปไม่ถึงศาล โดยเหตุที่ ถูกแทรกแซงในทุกๆ ทาง
         ฝ่ายบริหาร ตำรวจ อัยการ กกต.ถูกแทรกแซงตั้งแต่กระบวนการแต่งตั้ง ฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหลายก็พึ่งไม่ได้ ลามปามไปถึงตุลาการเกือบทุกชั้นศาล ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม  ถุงขนม ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ว่อนไปหมด คณะวรเจตน์ ไม่รับรู้ ไม่รับเห็นเลยหรือไร ?” 
         เป็นคำถามเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม ที่นิติราษฎร์ไม่มีวันตอบได้กระจ่างใจตัวเอง ถ้าในสมองยังมีสำนึกผิดชอบชั่วดีแม้เพียงสามัญธรรมดา
ดร.ทวีเกียรติ เป็นอาจารย์วิชากฎหมายร่วมสถาบันเดียวกันกับ “คณะวรเจตน์” เคยสวนทางความคิดกันมาหลายกรรมต่างวาระ
         สิ่งที่นิติราษฎร์นำมาขายใหม่ หลายแง่หลายมุมก็เคยผ่านการวิวาทะกันมาแล้ว ถูกหักล้างมาแล้วอย่างเช่นหลักนิติรัฐที่อ้างกันมาก อ้างกันเสมอ เช่นในคราวที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับพวก ออกมาโต้แย้งคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค ดร.ทวีเกียรติก็เคยเขียนบทความเรื่อง “หลักนิติรัฐกับคนเนรคุณ” อรรถาธิบายเอาไว้อย่างหมดจด
         “การที่ยึดถือหลักนิติรัฐต้องทำโดยมีจิตวิญญาณที่จะปกป้องนิติรัฐด้วย โดยต้องมองให้รอบรู้ให้ทั่ว หากเห็นไม่รอบ กอดแต่หลักไว้อย่างเดียวไม่ดูว่ามดแทะ ปลวกทะลวงหลักจนปรุพรุนเป็นโพรงอยู่ข้างในไปหมดแล้วยังพร่ำเพ้อว่าหลักยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่รู้และโวยวายให้ใครก็ได้เข้ามาแก้ไข แต่พอมีคนจะไปช่วยพยุงซ่อมแซม โดยเอามด ปลวกออกจากหลัก โดยที่เขาก็เมตตาไม่ฆ่ามด ปลวกเท่านั้น เพียงแต่ขอกวาดออกจากหลักไม้ไปชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมหลักให้มั่นคงแล้วจะเชิญให้มด ปลวกเหล่านี้มากัดกินกันใหม่เท่านั้น
         คนที่อ้างว่าตนพิทักษ์หลักนิติรัฐเหล่านี้ก็ยังคงกอดหลักขวางกั้นออกหน้าปกป้องมด ปลวก ไม่ให้ใครไปแตะต้องมด ปลวกเหล่านั้น โดยคิดว่าเป็นการปกป้องสิทธิของมดและปลวกเหล่านั้นตามหลักนิติรัฐอยู่
         แทนที่จะเป็นการบำรุงรักษา กลับเป็นการช่วยทำลายหลักนิติรัฐทางอ้อม
         ไม่เห็นแม้กระทั่งพวกปลวกๆ ทั้งหลายกำลังนั่งหัวเราะเยาะพวกกำจัดปลวกที่ทะเลาะกันเอง
         เท่ากับเนรคุณหลักนิติรัฐเสียเอง
         ความเห็นของพวกเขาเหล่านี้ จึงเป็นการ "เห็นต้นไม้แต่ไม่เห็นป่า"
         ป่าไม้ถูกทำลายลงทุกวัน ท่านเหล่านี้ก็รู้อยู่ เรียกร้องให้ช่วยกันปราบพวกตัดไม้ทำลายป่า
         แต่พอเขาจะไปจับคนตัดต้นไม้ ท่านเหล่านี้ก็ออกขวางกั้น โดยอ้างว่า ชาวบ้านตัดต้นไม้ต้นสอง ต้น ไม่เสียหาย ต้องคุ้มครองให้เขาอยู่กินได้
         ท่านเหล่านี้จึงเห็นแต่คนตัดไม้ทีละต้น แต่ไม่เคยเห็นคนทำลายป่า
         หารู้ไม่ว่าคนเหล่านั้นตัดทีละต้น เป็นร้อย เป็นล้านต้นแล้ว
         ฉันใดก็ฉันนั้น เราจึงไม่สามารถดำเนินการกับคนทำลายหลักนิติรัฐได้เสียที ด้วยฝีมือของคนที่คิดว่าตนเป็นคนพิทักษ์อนุรักษ์หลักนิติรัฐ แต่มองไม่เห็นปลวกที่กำลังกัดกิน และทำลายหลักนิติรัฐที่เขาบูชาอยู่ตำหูตำตา
         ดังนี้ แทนที่จะเป็นองครักษ์พิทักษ์หลักนิติรัฐ
         กลับกลายเป็นองครักษ์พิทักษ์ปลวกไปเสียนี่!!!
         หลักนิติรัฐจึงถูกเนรคุณด้วยสายตาที่คับแคบเช่นนี้เอง”
จากตอนนั้นถึงวันนี้ ผมเริ่มสงสัยว่า องครักษ์พิทักษ์ปลวกกลายพันธุ์ไปเป็นปลวกเสียเอง ก็ได้ด้วย?
#
5  ตุลาคม  2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น