วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

วิญญาณผีเสื้อ

Credit: myperfectline.com

เพลง Kung Fu Fighting เป็นหนึ่งในเพลงประเภท one-hit wonder จากยุคแผ่นเสียงและเทป ที่หาซีดีฟังยาก เมื่อกลับมาให้ได้ยินกันบ่อยๆ อีกครั้งทางคลื่น 107 FM และรวมลงในซีดีที่คลื่นเดียวกันทำออกมาแล้วสองชุด จึงได้รับการตอบรับสูงเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นช่องว่างในตลาดเพลงย้อนยุคที่ค่าย เพลงมองข้าม และสุดท้ายก็มาแย่งกันขอสิทธิ์เป็นผู้ผลิตซีดีภายใต้ชื่อและคอนเส็ปต์คลื่นวิทยุ
            คนที่โตทันได้เห็นคาร์ล ดักลาส ออกท่ากังฟูร้องเพลง Kung Fu Fighting เมื่อ 31 ปีก่อน คงนึกถึงบรูซ ลี หรือเดวิด คาร์ราดีน ที่โด่งดังมาจากบทไคว เช็ง เคน ในซีรีส์ Kung Fu ทางช่อง 3  แต่ผมได้ยินทีไรกลับนึกอยากฟัง Black Superman*-เพลงฮิตยุคเดียวกัน และคิดถึงมูฮัมหมัด อาลี ทุกทีไป
            ต่างจาก Kung Fu Fighting ที่ฉายภาพกระแสวูบวาบของอาการ ตื่นกังฟูในซีกโลกตะวันตกสมัยนั้น Black Superman ให้ภาพจำที่ผนึกแน่นเป็นเนื้อเดียวกับตำนานมวยผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ผู้ที่ โบยบินเหมือนผีเสื้อ ต่อยเจ็บเหมือนผึ้งและเป็นผู้ที่โลกไม่มีวันลืม
โลกเคยมีนักมวยรุ่นเฮฟวีเวทที่เกรียงไกรอย่าง ร็อคกี มาร์เชียโน, โจ หลุยส์, อาร์ชี มัวร์, ซอนนี ลิสตัน ในยุคไล่ๆ กับอาลี ก็มี โจ ฟราเซียร์, จอร์จ โฟร์แมน หรือกระทั่งรุ่นหลังอย่าง ไมค์ ไทสัน, อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ แต่ไม่เคยมีนักมวยอย่างมูฮัมหมัด อาลี และยังไม่มีอีกเลย
            สไตล์การชกของอาลีไม่เหมือนใคร แทนที่จะตั้งการ์ดป้องกันตัวอย่างรัดกุม เขาปล่อยแขนตามสบาย ใช้จังหวะเท้าที่คล่องแคล่วราวนักเต้นรำ กับการโยกและเอนตัวอย่างว่องไวหลบหลีกหมัดคู่ต่อสู้ เป็นที่มาของวลี โบยบินเหมือนผีเสื้อซึ่งแม้กระทั่งนักมวยรุ่นเล็กอีกมากมายก็ทำไม่ได้เท่า ส่วนวลี ต่อยเจ็บเหมือนผึ้งเป็นเรื่องของน้ำหนักหมัดและวิธีออกอาวุธ อาลีตัวใหญ่แบบนักมวยรุ่นเฮฟวีเวทแท้ๆ ก็จริง แต่ไม่ใช่มวยหมัดหนักแบบ โป้งเดียวจอดเขาค่อยๆ เพิ่มความเจ็บปวดให้คู่ต่อสู้ด้วยจำนวนหมัดที่ชกออกไป และเป้าที่เขาเลือกคือใบหน้ากับศีรษะ ซึ่งเป็นเป้าที่เล็กและตัดกำลังได้น้อยกว่าการชกท้องและลำตัว แต่นี่เป็นสไตล์ของอาลีมาตั้งแต่หัดมวย เพราะมีช่วงชกที่ได้เปรียบ และเห็นว่าการเข้าคลุกวงในรังแต่จะเจ็บตัวโดยไม่จำเป็น
            อาลียังเป็นนักมวยคนแรกที่มีปากเป็นอาวุธ ก่อนหน้าเขา ภาพของนักมวยปรากฏออกมาเหมือนๆ กันหมดคือ เป็นพวกพูดน้อย ต่อยหนัก ผู้จัดการหรือพี่เลี้ยงจะเป็นคนพูดกับสื่อมวลชนแทนเสมอ แต่อาลีนอกจากไม่ต้องให้ใครพูดแทน เขายังคุยเขื่องได้ตลอดเวลาที่อยู่นอกเวที และบนเวทีเขาก็ชกไป พูดจายั่วโทสะคู่ต่อสู้ไป ประโยคอมตะของเขาว่า “I am the greatest” ประกาศออกมาตั้งแต่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นแชมป์โลกเสียอีก พยานหลักฐานชิ้นสำคัญคือแผ่นเสียงชื่อ I Am The Greatest** ซึ่งเป็นการด้นกลอนสดอวดโอ่ความเก่งกาจของตัวเอง และมีเพลงอย่าง Stand By Me เป็นของแถม
            เมื่อมองย้อนกลับไป ลีลาการคุยฟุ้งของอาลี ซึ่งบางครั้งก็เหมือนร่ายกวี เป็นสิ่งที่หลายคนบอกว่า นี่แหละแรปเปอร์คนแรก
นิสัยคุยโวของอาลีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 12 จักรยานของเด็กชายแคสเซียส มาร์เซลลัส เคลย์ จูเนียร์ ถูกขโมย ขณะแจ้งความ เจ้าหนูก็พล่ามว่าถ้าจับได้จะเล่นงานเจ้าหัวขโมยให้อยู่หมัด โจ มาร์ติน ผู้รับแจ้งซึ่งเป็นโค้ชมวยด้วย บอกให้เขาไปหัดชกมวยเสียก่อน แล้วเขาก็กลายเป็นครูมวยคนแรกของเคลย์
            นับจากนั้น ชีวิตของแคสเซียส เคลย์ ก็มีแต่มวยเท่านั้น เขาไต่อันดับมวยระดับเยาวชนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในช่วงเรียนไฮสคูล เขาเป็นแชมป์นวมทองของรัฐเคนทักกี 6 ปีซ้อน ได้แชมป์ระดับชาติ 4 ครั้ง เป็นความสำเร็จบนเวทีมวยนี่เองที่ช่วยให้เขาผ่านความล้มเหลวในการเรียนการสอบจนจบชั้นมัธยมมาได้ด้วยคำขอร้องของอาจารย์ใหญ่ในที่ประชุมครู ว่า วันหนึ่งเขาจะสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนของเรา” หลายปีต่อมา เคลย์พูดถึงเรื่องนี้ว่า ผมพูดเสมอว่าผมยิ่งใหญ่ที่สุดก็จริง แต่ไม่เคยบอกเลยว่าผมฉลาดที่สุด
            ตอนอายุ 18 เคลย์คว้าเหรียญทองมวยสมัครเล่นรุ่นไลท์เฮฟวีเวทจากโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม มาได้สำเร็จตามที่คุยไว้ล่วงหน้า แล้วเทอร์นโปรภายใต้การเทรนของแอนเจโล ดันดี ทำสถิติชนะมาตลอด และช่างโม้มากขึ้นตามครั้งที่ชนะ เขามักจะป่าวประกาศล่วงหน้าว่าจะน็อกคู่ต่อสู้ยกไหน และทำได้ตามนั้นหรือเร็วกว่านั้นหลายครั้ง รวมทั้งไฟต์ชิงแชมป์โลกจากซอนนี ลิสตัน ในปี 1964 เคลย์ประกาศจะน็อกลิสตันในยก 8 แต่ด้วยราคาเป็นรองถึง 1-7 คนส่วนใหญ่จึงเห็นเป็นเรื่องตลก และรอดูว่าลิสตันที่กำลังห้าวสุดขีดจะหุบปากเคลย์ได้สนิทในยกไหน พอเริ่มยก 7 พี่เลี้ยงลิสตันส่งสัญญาณยอมแพ้ เคลย์ก็ประกาศลั่นเวทีว่า ข้าคือผู้ยิ่งใหญ่ - I am the greatest” คราวนี้มันไม่ใช่ราคาคุยอีกแล้ว
            แชมป์คนใหม่ช็อกโลกด้วยการประกาศตนเป็นมุสลิม ภายใต้ชื่อใหม่ - มูฮัมหมัด อาลี แต่ที่เขย่าสังคมอเมริกันยิ่งกว่านั้นคือเขาปฏิเสธหมายเรียกเกณฑ์ทหารในปี 1967 อาลีบอกว่า ผมไม่มีเรื่องบาดหมางอะไรกับพวกเวียดกงและที่สำคัญ ไม่มีเวียดนามคนไหนเรียกผมว่าไอ้มืดอาลีเสียแชมป์ในปีนั้นโดยที่ยังไม่เคยแพ้ใคร แต่ถูกปลดจากตำแหน่ง พร้อมๆ กับถูกเพิกถอนใบอนุญาตชกมวยอาชีพ ถูกยึดหนังสือเดินทาง และสุดท้ายศาลพิพากษาจำคุกอาลีห้าปีในข้อหาหนีทหาร
จอมโวอย่างอาลี เคยอึ้งกับคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าไม่ชกมวยเขาจะทำอะไร ก่อนจะตอบว่าเขาคิดไม่ออกเลย แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่อาลีทำนอกเวที ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นที่สุดของตำนานมวยโลกเสียอีก การหันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของอาลี ตอนที่ปฏิเสธหมายเรียกเกณฑ์ทหาร หลายคนบอกว่าอาลีขี้ขลาดและใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง แต่อาลีก็ยืนหยัดต่อสู้คดีจนศาลสูงพลิกคำพิพากษา ให้เขาเป็นฝ่ายชนะในปี 1971
            สามปีกว่าในช่วงสู้คดีและถูกห้ามชกมวย เวทีใหม่ของอาลีอยู่ที่รั้วมหาวิทยาลัยและการชุมนุมประท้วง เขากลายเป็นเสียงที่ทรงพลังของการคัดค้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านการเหยียดผิว และต่อสู้ เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเคลือบแคลงของสาธารณชนค่อยๆ ลดลงไปตามจุดยืนที่มั่นคง และความจริงที่เปิดเผยภายหลังว่า กองทัพมีข้อเสนอพิเศษสุดให้กับแชมป์โลก เพียงเข้าร่วมกับกองทัพ รักษาวินัยทหาร เลิกปากมาก ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับเพื่อนทหาร ประกันได้ว่าเขาจะไม่ถูกส่งไปใกล้สมรภูมิ และที่พิเศษสุดคือ ยังชกมวยป้องกันแชมป์ต่อไปได้
            จากภาพคนขลาดที่สู้เพื่อตัวเอง อาลีได้ความเคารพนับถือในฐานะของนักสู้ที่ยืนหยัดในศรัทธาและสำนึกแห่งความถูกต้องดีงาม แต่อาลีไม่ได้หยุดตัวเองไว้ตรงนั้น การศึกษาคัมภีร์กุรอ่านดึงเขาออกมาจากกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่เห็นคนขาวเป็นปีศาจร้าย สู่จารีตวิถีอิสลามดั้งเดิมที่ยึดมั่นในสันติ ภราดร ความรัก มิตรภาพ ความเข้าใจ และความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ หนังสือชื่อ The Soul of a Butterfly ของอาลี ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปลายปีก่อน (ค.ศ. 2004) สะท้อนชัดถึงความคิดความเชื่อเหล่านี้ที่ตกผลึกแล้ว
            ช่วงเปลี่ยนศตวรรษ อาลีได้รับการยกย่องจากสื่อกีฬาแทบทุกแขนงให้เป็นนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 ในขอบเขตที่กว้างกว่านั้น นิตยสาร Time ยกให้เขาเป็นหนึ่งใน ฮีโร่แห่งยุคสมัยของเรา และองค์การสหประชาชาติก็แต่งตั้งให้เขาเป็นทูตสันติภาพ ซึ่งไม่ได้มาจากงานสาธารณกุศลและการหาทุนช่วยเหลือประชาชนในประเทศยากจนเท่านั้น แต่ยังมาจากภารกิจที่อาจจะมีเพียงอาลีเท่านั้นที่ทำได้ คือการเจรจาปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันในเลบานอนเมื่อปี 1985 และในอิรักเมื่อปี 1990
อาลีประกาศแขวนนวมในวัย 36 หลังจากชนะคะแนนลีออน สปิงก์ส กลายเป็นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทสามสมัยคนแรก (สมัยที่สอง ได้มาด้้วยการน็อกจอร์จ โฟร์แมน ในไฟต์ลือลั่นแห่งปี 1974) สถิติการชกของเขาควรจบลงที่ 59 ครั้ง เป็นการชนะน็อก 37 ชนะคะแนน 19 แพ้ 3 ครั้ง (ต่อโจ ฟราเซียร์, เคน นอร์ตัน และ ลีออน สปิงก์ส แต่อาลีกลับมาแก้มือเอาชนะได้ทั้งหมด) แต่กลิ่นสาบนวมก็เรียกร้องให้อาลีกลับมาเพื่อพ่ายแพ้อีกสองครั้งตอนใกล้ 40 และไม่มีโอกาสแก้มืออีก
            คู่ปรับตัวจริงของอาลี ไม่ใช่ใครๆ ที่เคยชนะเขาบนเวที แต่เป็นโรคพาร์กินสันที่พรากความว่องไวทั้งมวลไปจากเขามานานกว่า 20 ปี อาลีเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Time ทางอี-เมล์ เมื่อปีที่แล้ว (ค.ศ. 2004) ว่า เรื่องง่ายๆ ที่ไม่เคยต้องใช้ความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว หรือกระทั่งการอ้าปากพูด กลายเป็นเรื่องยากไปหมด แต่ ผมตื่นขึ้นมาทุกวันด้วยความพยายามจะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยม เพราะแต่ละวันคือของขวัญที่พระเจ้าประทานมา มีคนที่ยังเชื่อมั่นในตัวผม และผมจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง
            อาลีจึงยังคงเดินทาง เมื่อการปรากฏตัวของเขาเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น เช่น การเจรจาเรื่องตัวประกันในตะวันออกกลาง จุดคบเพลิงเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนตา ร่วมรณรงค์ปลดหนี้ให้ ประเทศด้อยพัฒนา และเมื่ออยู่กับบ้าน เขายังคงเซ็นชื่อให้กับทุกคนที่เขียนจดหมายขอมา อาลีไม่เคยลืมความรู้สึกเมื่อนานมาแล้วที่ถูกฮีโร่ของตัวเอง-ชูการ์ เรย์ โรบินสัน ปฏิเสธว่า ฉันไม่ว่างว่ะ ไอ้หนู
            แม้ว่าการเซ็นชื่อจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับอาลีมานานมากแล้วก็ตาม    
#

Rhymes to learn
  • ตำนานชีวิตของมูฮัมหมัด อาลี ฉบับรวบรัดแต่ยังได้อรรถรสและสีสัน มีอยู่ใน  http://en.wikipedia.org/wiki/Muhammad_Ali  อีกรูปแบบหนึ่งคือหนังเรื่อง Ali (ปี 2001) ของไมเคิล มานน์ ที่มีวิล สมิธ รับบทอาลี แม้จะยืดยาวและน่าเบื่ออยู่บ้าง แต่ก็ฉายภาพทศวรรษชีวิตอาลีในยุครุ่งโรจน์ (1964-1974) ในหลายด้านได้น่าสนใจ ส่วนเว็บไซต์ทางการของอาลี คือ http://www.ali.com/
  • เพลง Black Superman เป็นเพลงฮิตปี 1975 ของจอห์นนี เวคลิน ซึ่งทั้งชีวิตมีเพลงฮิต 2 เพลง (อีกเพลงชื่อ In Zaire เป็นการชกระหว่างอาลีกับจอร์จ โฟร์แมน) ยังพอจะหาฟังได้จากบรรดาแผ่นรวมเพลงฮิตจากยุค 1970 ส่วนอัลบั้ม I Am The Greatest (ปี 1963) ของอาลี เป็นงานหายากมานาน จนกระทั่งโซนี่เอามาปัดฝุ่นทำเป็นซีดีในปี 1999
  • หนังสือ The Soul Of A Butterfly: Reflections On Life’s Journey ไม่ใช่หนังสืออัตชีวประวัติโดยตรง แต่สะท้อนความคิด ความเชื่อ และศรัทธาของอาลี ผ่านประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง โดยมีลูกสาว-ฮานา อาลี ช่วยเขียน เป็นหนังสือที่คงไม่มีใครแปลเป็นไทยมาให้อ่าน

#
8 มีนาคม 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2548)

*ฟังเพลง  Black Superman ได้จากลิงก์นี้ >> http://www.youtube.com/watch?v=ws0MnVlQn8g&feature=BFa&list=PLE3270CEB44B92320&lf=mh_lolz
**ฟังเพลง  I Am The Greatest  ได้จากลิงก์นี้ >> http://www.youtube.com/watch?v=t9Rj58ZTUNc&feature=related


6 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 มกราคม 2555 เวลา 19:48

    ขอบคุณค่ะ
    ชอบๆค่ะ เขียนงานดีอะ

    ตอบลบ
  2. ผมเข้าสู่วงการเป็นแฟนมวยไม่ทันอาลี มาทันรุ่น หลังๆ ที่เน้นมวยหมัดหนัก โป้งเดียวจอด เลยไม่ค่อยทราบรายละเอียดของอาลีเท่าไรนัก ได้อ่านบทความนี้แล้วรู้สึกดีกับอาลีมากพอสมควรครับ คำว่าThe black super man อาจไม่ได้มาจากลีลามวยของอาลีอย่างเดียว แต่มาจากจุดยืนอันแน่วแน่มั่นคงในเรื่องที่เค้าศรัทธาและปฏิบัติตัวอย่างดีเพื่อสังคม ผมชอบตรงที่เค้าแจกลายเซ็นต์ให้แก่คนที่ขอลายเซ็นต์ทุกคนเพราะเจอคำว่า ไม่ว่างว่ะไอ้หนู มากับตัว และก็นึกขึ้นได้ วันหลังต้องขอลายเซ็นต์พี่ณิไว้บ้าง เผื่อต่อไปไม่ค่อยว่าง อิอิ

    ตอบลบ
  3. ครับ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงว่าเขาเซ็นอย่างยากลำบากเพราะเป็นโรคพาร์กินสัน

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ17 มกราคม 2555 เวลา 23:29

    อือๆๆ ใช่ๆๆ ค่ะ
    ไว้จะขอลายเซนต์บ้าง ^^

    ตอบลบ