วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ได้ยิน แต่ไม่ฟัง

น้องคนหนึ่งใช้คำว่า ได้ยินแต่ไม่ฟังเวลาที่สะท้อนถึงช่องว่างของการสื่อสารและความเข้าใจระหว่างกัน เมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามพูด อธิบาย ทำความเข้าใจ อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งก็ไม่ได้เอาหูทวนลม ได้ยินทุกถ้อยคำ แต่ไม่เข้าใจ หรือไม่พยายามจะเข้าใจ หรือไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องสำคัญอะไรตรงไหน ฟังเข้าหูซ้ายไปแล้ว อาจไม่ได้ทะลุออกหูขวา เพียงแต่อาจจะตกหล่นอยู่ตรงไหนสักแห่งในระบบประสาท สมอง หรือระบบทางเดินหายใจ    
Photo Credit: I’m Not Listening by Suwani
         บางคนมีธรรมชาติที่ไม่ฟังคนอื่น ซึ่งบ้างก็เชื่อมโยงกับบุคลิกภาพแบบที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล บ้างก็เป็นผลิตผลจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือจะฟังผู้พูดที่มีอำนาจมากกว่า แต่จะไม่ฟังผู้พูดที่ด้อยอำนาจ/สถานะ บ้างก็เกิดจากกรอบความคิดอันแข็งตึงที่ดักกั้นความคิดเห็นความเห็นที่แตกต่างกัน บ้างก็เกิดจากกลไกอัตโนมัติของการปกป้องตัวเอง ที่เอาแต่คิดหาเหตุผลมาแก้ต่างเมื่อเรื่องที่ได้ยินมีเค้าลางว่าจะชี้มาที่ความบกพร่อง/ผิดพลาดของตัวเอง และบางคนก็จะฟังเพียงสิ่งที่พอใจจะฟัง    
         ถ้าเป็นการสื่อสารเรื่องการงาน ก็อาจจะทำให้เราหงุดหงิด รำคาญใจ แต่สุดท้ายก็มักจะหาทางออก หลบเลี่ยง แก้ไข หรือจำยอมไปตามเงื่อนไขของสถานะและความจำเป็นของความสัมพันธ์
         แต่ในกรณีที่เป็นการสื่อสารในความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ใกล้ชิด ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่คาดหวัง (และควรจะเป็นเช่นนั้น) ถึงความอาทร ห่วงใย เข้าใจ และโอนอ่อนหากัน ระยะห่างระหว่างการได้ยินกับการฟัง อาจสะท้อนถึงช่องว่างความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ ถ่างออก  ซึ่งเมื่อถึงวันหนึ่งก็อาจจะกว้างเกินกว่าจะเหนี่ยวรั้ง ข้ามฟากฝั่งไปหากัน และครึ่งทางที่อาจจะพบกันได้ ก็อาจกลายเป็นหุบลึก
เคยมีโฆษณาโทรศัพท์มือถือบอกว่า คนเราพูดกันมากขึ้น ซึ่งเป็นความจริงทีเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะฟังกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น    
         บางคนให้ข้อสังเกตว่า การพูดกันมากขึ้นสร้างภูมิต้านทานความสามารถในการฟัง หรือแม้แต่การฟังในสิ่งที่ ต้องฟังมากเกินไป ก็ทำให้ความสามารถในการฟังบกพร่องได้เช่นกัน    
         วัฒนธรรมของเราเป็นวัฒนธรรมที่อำนาจกับการพูดทอเกลียวเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่น และการฟังก็กลายเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงอำนาจ/สถานะที่ด้อยกว่าไปโดยปริยาย แม้ในยุคที่พยายามจะสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม หลายหน่วยงานกำหนดให้มีการประชุมพนักงานเป็นวาระแน่นอน บางแห่งถึงขนาดประชุมทุกสัปดาห์ แต่ในความเป็นจริงของการประชุม พนักงานระดับปฏิบัติการก็ยังคงได้แต่ฟังสิ่งที่ผู้บริหารพูด    
         บางครั้งการพูดถูกสกัดกั้นโดยความเคยชินของตัวเองในความเป็นผู้น้อย แต่บางครั้งก็โดยหัวข้อ/วาระอันเป็นเรื่องที่ต้องฟังจากผู้บริหาร กับอีกบางครั้งที่ได้พูดได้แสดงการมีส่วนร่วมออกความเห็นไปแล้ว ก็ท้อใจที่ความเห็นนั้นมีค่าเป็นเพียงความไม่เข้าใจภาพรวม ไม่เข้าใจวิสัยทัศน์/พันธกิจของหน่วยงาน    
         ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือปรากฏการณ์ธรรมชาติของระบบการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อศึกษาหาแนวทางปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหาอะไรสักอย่าง หลังจากคณะอนุกรรมการซึ่งมักเป็นผู้บริหารระดับรองที่รับผิดชอบงานในแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการศึกษาแง่มุมประเด็นที่เกี่ยวข้องและเสนอความเห็น/แนวทางขึ้นไปแล้ว หากเป็นแนวที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริหารสูงสุดหรือคณะกรรมการบริหารองค์กร ก็ต้องเอากลับไปปรับใหม่ หรือถ้าไม่ยอมเปลี่ยนความเห็น/แนวทางนั้น ผู้บริหารหรือบอร์ดใหญ่ก็จะใช้อำนาจสุดท้ายของการเป็นผู้ตัดสินใจสรุป/กำหนดแนวทางไปอีกอย่าง    
         เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับคำชวนจากหน่วยงานหนึ่งที่สนิทสนมกันพอประมาณ ให้ไปช่วยคิดชื่อการประชุมวิชาการ ซึ่งแนวคิดหลักเป็นเรื่องของการใช้ความรู้สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาอะไรทำนองนั้น ตามกระแส “knowledge-based society” ที่กำลังอินเทรนด์สุดๆ ที่จริงชื่อเขาก็ตั้งกันไว้แล้ว แต่บอกว่าอยากจะฟังเสียงคนอื่นนอกหน่วยงานบ้าง    
         เสียงของผมเป็นเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับชื่อที่สะท้อนแนวคิดว่า ความคิดความเห็นเป็นความไม่รู้ หรือไม่ใช่ความรู้ และเป็นสิ่งที่ผิด เชื่อถือไม่ได้ เพราะผมเชื่อของผมว่า ความเห็นของคนเราผูกโยงกับระดับและวงรอบของความรู้ บวกกับระดับของความคิดและประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งมีระดับของความน่าคิด น่าฟัง น่าพิจารณาต่างกัน ในขณะที่ความรู้ แม้จะเป็นความรู้ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่สูง  ก็มีตัวอย่างให้เราได้เห็นกันเสมอว่า ไม่ได้ถูกต้องเที่ยงแท้ มีความจีรังยั่งยืน แต่ถูกหักล้าง เปลี่ยนแปลงโดยความรู้ที่ใหม่กว่า    
         แต่ไม่น่าแปลกใจหรอกที่เสียงของผมซึ่งได้ยินกันจะไม่มีคนฟัง เพราะว่า หนึ่ง-สิ่งที่เขาอยากฟังกันก็คือชื่อเดิมที่มีถ้อยคำสละสลวยขึ้น ไม่ใช่ชื่อใหม่ที่ไปลบคำว่า ความเห็นทิ้ง สอง-เสียงของผมก็เป็นเพียงเสียงของ ความเห็นนี่นะ
การฟังอาจจะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพหรือธรรมชาติที่ติดตัวคนมา เหมือนกับโมโม่ เด็กผู้หญิงที่วันหนึ่งก็มาอาศัยอยู่ใต้ถุนเวทีโรงละครโบราณย่านชานเมืองที่ทรุดโทรมของเมืองใหญ่แห่งหนึ่ง เธอไม่มีญาติ แต่เธอก็ไม่ขาดมิตร เพราะชาวบ้านย่านนั้นต่างแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนเธอเสมอ เธอไม่มีความรู้อะไรติดตัวมา ไม่รู้หนังสือ และไม่รู้กระทั่งอายุตัวเองด้วยซ้ำ แต่ใครๆ ก็ชอบไปคุยกับเธอ จนมีคำพูดติดปากว่า ไปหาโมโม่สิ!”    
         สิ่งที่โมโม่มีคือการฟัง ซึ่งมิฆาเอ็ล เอ็นเด-ผู้เขียน บอกว่า เป็นความสามารถพิเศษ”    
         พอได้พูดต่อหน้าโมโม่ คนโง่กลับมีความคิดดีๆ ขึ้นมาได้ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเธอพูดหรือถามไถ่จนเขาคิดขึ้นมาได้ เธอเพียงแต่นั่งฟังผู้นั้นพูดด้วยความตั้งใจและอย่างเอาใจใส่ ในขณะที่เธอมองเขาด้วยนัยน์ตาดำขลับ คนพูดก็จับความคิดขึ้นมาได้ ซึ่งเขาก็ไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ในหัวสมองของเขาเอง    
         เมื่อเธอฟังคนที่ดูเหมือนหมดปัญญาหรือว่าลังเลใจ เขาก็คิดขึ้นได้ว่าควรจะทำอย่างไร แล้วตัดสินใจได้ในทันที แม้แต่คนขี้อายก็กลายเป็นคนกล้า คนไหนเป็นทุกข์กลับรู้สึกสุขใจถ้าได้พูดให้เธอฟัง บางคนน้อยเนื้อต่ำใจว่าตัวไม่มีความหมาย ใครๆ ก็ไม่ให้ความสำคัญ ไม่เห็นจะต่างกันว่ามีเขาอยู่ในโลกนี้หรือไม่ แต่ในขณะที่เล่าให้โมโม่ฟังก็เกิดมีกำลังใจและรู้สึกขึ้นมาได้ว่าเขาเข้าใจผิด เพราะถ้าคิดให้ดี เขาก็มีเอกลักษณ์ มีความสลักสำคัญอันแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล    
         นั่นคือความสามารถในการฟังของโมโม่!
แม้การฟังจะเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ติดตัวคนอย่างโมโม่มา แต่การฟังก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถสร้าง ฝึกฝน เรียนรู้ และพัฒนาได้ด้วย ผมยังเคยคิดว่า เรามีหลักสูตรพัฒนาทักษะการพูดกันมามากแล้ว ก็น่าจะมีโรงเรียนสอนศิลปะการฟังบ้าง เพื่อความสมดุลของโลก ของชีวิต    
         หากการพูดหมายถึงอำนาจ การฟังก็เป็นพลังแห่งความงอกงาม ที่สามารถเพาะหว่านความเข้าใจ ความรู้สึกที่ดีต่อกันได้ สามารถขยับขยายโลกทัศน์ ความคิด จิตใจให้กว้างออกสู่ความรู้ ความคิด ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย
         เราอาจไม่สามารถเข้าถึงการฟังที่ยิ่งใหญ่เช่นที่สิทธารถะได้เรียนรู้จาก การฟังแม่น้ำจนแจ้งจบ กระทั่งสามารถ หยุดแล้วซึ่งการต่อสู้กับชะตาชีวิต ดับแล้วซึ่งความทุกข์ร้อนทั้งปวง ดวงหน้าของเขาเบิกบานด้วยความประจักษ์แจ้ง ไม่มีความปรารถนาแสวงหาใดบังเกิดขึ้นอีกแล้ว ด้วยว่าเขาได้บรรลุถึงซึ่งอุบัติการณ์แห่งแม่น้ำ อันเปรียบได้ดังสายธารแห่งชีวิตอันเต็มไปด้วยความทุกข์ และเปี่ยมไปด้วยความปรารถนานี้ เป็นกระแสรวมที่หลั่งไหลไปตามกฎ ไปสู่ความเป็นเอกภาพนั่นเอง”    
         แต่เราอาจเรียนรู้ท่าทีของการฟัง เช่นที่สิทธารถะเริ่มเรียนรู้จากการฟังของวสุเทวา-ชายแจวเรือข้ามฟาก ท่าทีที่วสุเทวาสดับฟังนั้นน่านิยมนัก สงบนิ่ง เปิดอารมณ์และคอยฟัง เขาปล่อยให้ถ้อยคำหลั่งไหลเข้าไป โดยไม่ให้มีหลุดรอดหายไป ไม่มีอาการกระวนกระวาย ไม่ยกย่องสรรเสริญ ไม่ติเตียนกล่าวว่าแต่อย่างใด เขาเพียงนิ่งรับฟังเท่านั้น สิทธารถะถือว่าเป็นโชคอย่างยิ่ง ที่ได้มีผู้รับฟังเช่นนี้ ที่เข้าลึกในจิตวิญญาณของเขา รู้ซึ้งถึงสิ่งที่เขาแสวงหา และรู้ในความทุกข์ทรมานใจของเขา ดุจเดียวกับในจิตวิญญาณแห่งตนเอง”    
         ถึงระดับหนึ่ง คนเราอาจสามารถลดละอัตตา การยึดถือตนเอง และเรียนรู้ที่จะ ย่อตัวเองให้เล็กลงตามสำนวนของเฮสเส หรือดังที่เด็กหนุ่มเลี้ยงแกะชื่อซานติเอโก ใน ขุมทรัพย์ที่ปลายฝันเรียนรู้ถึง เสียงลมในทะเลทราย และถ้อยคำของคนคุมขบวนอูฐที่บอกว่า
         ทะเลทรายกว้างไพศาลและขอบฟ้าก็อยู่ไกลเหลือเกิน มันทำให้คนรู้สึกว่าเขาตัวเล็กนิดเดียว และควรสงบปากสงบคำไว้”    
         การเรียนรู้ที่จะฟังกันมากขึ้น อาจจะทำให้เราพูดน้อยลง แต่เข้าใจกันมากขึ้น
#
Rhymes to learn
  • โมโม่” (Momo) เป็นวรรณกรรมเยาวชนเรื่องเยี่ยมอีกเรื่องของ มิฆาเอ็ล เอ็นเด ผู้เขียน The Neverending Story แม้เรื่องนี้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่า แต่ก็งดงามเหลือเกิน ฉบับภาษาไทย ชินนรงค์ เนียวกุลเป็นผู้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างราบรื่น น่าอ่าน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2529 โดยมูลนิธิสวิตา แต่มาแพร่หลายตั้งแต่ปี 2538 เมื่อสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนนำมาพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
  • สิทธารถะ” (Siddhartha) ของแฮร์มัน เฮสเส มี 3 สำนวนแปลต่างยุค ฉบับที่นำมาอ้างอิงเป็นสำนวนล่าสุดที่ สีมน แปลจากภาษาเยอรมันอย่างหมดจดงดงาม เมื่อปี 2540 และพิมพ์ใหม่เมื่อปี 2547 โดยสำนักพิมพ์วิริยะ    
  •  ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน” (The Alchemist) ของเปาโล โคเอโย ขุมทรัพย์ทางจิตวิญญาณของนักอ่านวรรณกรรมจำนวนมากทั่วโลก ถึงวันนี้สำนวนแปลของ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ฉบับจัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คบไฟ (ปี 2541) ที่นำมาใช้อ้างอิงในคอลัมน์นี้ กลายเป็นหนังสือหายากไปแล้ว ฉบับที่ยังมีจำหน่าย เป็นสำนวนแปลใหม่ของ กอบชลี และ กันเกรา ในชื่อที่ชวนอึ้ง ขุมทรัพย์สุดปลายฝัน
#

27 ตุลาคม 2547
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2548)

5 ความคิดเห็น:

  1. มีปัญหาเรื่อง "การได้ยิน" เหมือนกันค่ะ
    โดนคอมเมนท์บ่อยๆๆๆๆๆ ว่า "ไม่ deep listening"
    อาการน่าจะใกล้เคียงกับ การได้ยิน-แต่ไม่ได้ฟัง--ไหมนะ?

    ชอบ..... ที่คุณเห็นว่า
    ".. เพราะผมเชื่อของผมว่า ความเห็นของคนเราผูกโยงกับระดับและวงรอบของความรู้ บวกกับระดับของความคิดและประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งมีระดับของความน่าคิด น่าฟัง น่าพิจารณาต่างกัน ในขณะที่ความรู้ – แม้จะเป็นความรู้ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่สูง – ก็มีตัวอย่างให้เราได้เห็นกันเสมอว่า ไม่ได้ถูกต้องเที่ยงแท้ มีความจีรังยั่งยืน แต่ถูกหักล้าง เปลี่ยนแปลงโดยความรู้ที่ใหม่กว่า .." --อือ เป็นมุมที่น่าสนใจจริงๆ


    หุหุ--หนังสือที่คุณว่ามา เราหลงรัก Paulo Coelho ก็จาก ขุมทรัพย์ที่ปลายฝันนี้แล หลังจากนั้นก็จืดจาง เพราะไม่สนุกกับการอ่าน eleven minute , เมืองทดสอบบาป เลย --ทั้งๆ ที่มีคนเชียร์ให้อ่านและรับรองว่าสนุก !!!

    สิทธาระถะกับโมโมดูเป็นหนังสือที่ใครๆ (สมัยเรียน) ก็ "ต้องอ่าน"
    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. เมนท์ไปซะ ยาว.. หายไปไหนอะ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณค่ะ ..

    ตอบลบ