วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ยังเฟื้อ


สำหรับคนอ่าน “สีสัน” ชื่อของ “นรา” ไม่ควรต้องมีคำอธิบายอะไรอีก
            หลายคนยังรู้ด้วยว่า งาน “เขียน” ของเขา นอกจากการเขียนวิจารณ์หนังที่ได้รับการยอมรับในฐานะนักวิจารณ์แถวหน้ามานาน นรายังมีงานเขียนภาพที่ปรากฏต่อสายตา “เพื่อน” ของเขาในเฟซบุ๊ค อยู่สม่ำเสมอ เป็นภาพที่เขาบอกว่า “วาดเล่น” แต่สะท้อนความจริงจังในการฝึกปรือ และให้ผลเป็นงานที่น่าชื่นชม
            แต่คงมีคนจำนวนน้อยลงที่รู้ว่า นราสนใจงานจิตรกรรมฝาผนัง และศึกษาหาข้อมูลความรู้ด้านนี้จนถึงขั้นหลงใหล ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนถึงศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการคัดลอกและซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังไว้เป็นมรดกของชาติ – อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์
            ผมเห็นข้อเขียนชุดนี้ของนรา เริ่มเผยแพร่เป็นตอนๆ ในเว็บไซต์ Manager Online เมื่อราวๆ สองปีก่อน มีแง่มุมหลายอย่างที่เมื่ออ่านผ่านแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ แต่บุคลิกของสื่ออิเล็กทรอนิกส์กับการตามอ่านทีละตอน ดูจะไม่เหมาะกับงานที่ต้องเสพอย่างละเมียดละไม
            จนกระทั่งปลายๆ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานเขียนของนราชุดนี้ จึงปรากฏเป็นรูปเล่มหนังสือ ชื่อ “ยังเฟื้อ”
ความผิดหวังเบื้องต้นของผมต่อหนังสือเล่มนี้ คือ จำนวนภาพสีที่มีอยู่จำกัด ภาพหลายภาพที่เราควรจะได้เห็นฝีมือของศิลปินเอกเป็นสีที่ใกล้เคียงภาพจริง จึงกลายเป็นเพียงภาพขาวดำที่ยากจะทดแทน แม้จะเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนผลิตกับการตั้งราคาปก ซึ่งผกผันกับกำลังซื้อของผู้อ่าน ก็ตาม
            แต่ตัวอักษรของนราไม่ได้ทำให้คนอ่านผิดหวัง เขาบอกว่าที่มาของการเขียนงานชุดนี้เกิดจากความสนใจดูจิตรกรรมฝาผนัง และเขาก็เริ่มต้นด้วยการพาเราย้อนกลับไปสู่ยุคต้นรัตนโกสินทร์ แนะนำให้เรารู้จักกับพระอาจารย์นาค ผู้ได้รับการยกย่องเอาไว้สูงส่ง ตามบันทึกของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผลงานของพระอาจารย์นาคเกือบทั้งหมดไม่หลงเหลือให้เห็นมานานมากแล้ว ยกเว้นสองภาพสุดท้ายที่หอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม
            เป็นสองภาพสุดท้ายที่ดลใจให้อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มุ่งอนุรักษ์งานศิลปกรรมไทยไว้เป็นสมบัติของคนรุ่นหลัง อย่างไม่แยแสต่อลาภ-ยศ-ชื่อเสียงในฐานะศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลก
            นราใช้ชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อเป็นแกนในการเล่าเรื่อง แม้ว่าข้อมูลหลักที่นำมาใช้เป็นการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร-หนังสือต่างๆ แต่นราก็มีข้อสังเกต มุมมอง และความประทับใจของเขาแทรกวางลงไปในลีลาการเขียนที่ผมอยากจะเรียกว่า “แบบอิมเพรสชันนิสม์” ซึ่งสามารถนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับบุคลิก ทัศนคติ พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงตอนของชีวิตอาจารย์เฟื้อได้อย่างแยบยล และเพลิดเพลิน
การได้ค้นพบว่า ศิลปินอินเดียสร้างศิลปะใหม่ๆ ขึ้นมาได้โดยผ่านการทำความรู้จักกับศิลปวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ้ง ในระหว่างที่อาจารย์เฟื้อไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิศวะภารติ – หนึ่ง
            การเขียนรูปพระธาตุหริภุญไชย ที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร – หนึ่ง
            การช่วยงานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี คัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง เพื่อจำลองฝีมือครูช่างโบราณมาใช้ในการสอนวิชาศิลปะไทย – อีกหนึ่ง
            ทั้งสามประการนั้นได้นำอาจารย์เฟื้อเดินทางข้ามฟากจากงานศิลปะร่วมสมัยไปสู่การคัดลอกและซ่อมแซมงานจิตรกรรมฝาผนังที่ลบเลือนไปตามกาลเวลา ช่วงนี้นราประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการทำให้คนอ่านตระหนักถึงคุณค่าของการตัดสินใจครั้งสำคัญของศิลปินหนุ่ม ผู้ซึ่งอาจารย์ศิลป์ พีระศรี มั่นใจว่ามีคุณสมบัติเพียบพร้อมจะก้าวไปสู่การเป็นศิลปินระดับโลก อันหมายถึงชีวิตที่เพียบพร้อมด้วยลาภยศทุกสิ่งอย่างเท่าที่ชื่อเสียงจะสามารถชักนำมา แต่กลับเลือกที่จะไปอุทิศตนทำงานคัดลอก ซึ่งในเวลานั้นยังมีความหมายเพียงการทำซ้ำที่ไม่สร้างสรรค์ และที่ยิ่งกว่านั้นคือชีวิตที่เหนื่อยยากกับผลตอบแทนเพียงน้อยนิด
            ถึงตอนนี้ ผมนึกถึงคำที่น้องสาวคนหนึ่งได้แบ่งปันความประทับใจของเธอต่อการเดินทางข้ามฟากฝั่งของอาจารย์เฟื้อ ก่อนที่ผมจะทันอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ว่า การละทิ้งอนาคตอันสดใสของศิลปินอย่างอาจารย์เฟื้อ ได้แสดงถึงภาวะที่ไร้อัตตา ยอมสละทุกอย่างเพื่อสิ่งที่เรารักและเราเชื่อ”
            เธอแสดงเหตุผลต่อมาว่า “ศิลปะและวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตกมีคติที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว งานของตะวันตกล้วนต้องมีชื่อ ต้องมีลายเซ็น เพื่อให้เราได้ชื่นชมตัวตนของศิลปินที่ปรากฏอยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์งาน แต่งานของไทย ศิลปินดำรงอยู่อย่างไร้ตัวตน ผลงานที่สร้างออกมาก็เพื่อให้คนได้รำลึกถึงศาสนา และศรัทธาในคุณงามความดี สิ่งที่ศิลปินฝากไว้มีเพียงความงามที่จะชักนำไปสู่ความสงบและลดละอัตตา ไม่ใช่ชื่อของตัวเอง”
            ผมถือว่านั่นคือคำคารวะของคนธรรมดาคนหนึ่งต่อคำประกาศอันเป็นสัจจะของอาจารย์เฟื้อเอง ที่ว่า “ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใส และจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นหาความจริง ในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้สภาวธรรม”
ช่วงหลังของหนังสือ “ยังเฟื้อ” นราได้นำเราไปสู่โลกของจิตรกรรมฝาผนัง และตามรอยอาจารย์เฟื้อไปในเส้นทางการคัดลอกและการอนุรักษ์ซ่อมแซมจิตรกรรมฝาผนังหลายแห่ง
            นับตั้งแต่วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพุทไธศวรรย์ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปถึงวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี วิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม และหอพระไตรปิฎก วัดระฆังโฆษิตาราม กรุงเทพฯ
            นอกจากการเขียนถึงผลงานการคัดลอกและซ่อมแซม ที่นราให้รายละเอียดและแง่มุมต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ มุมมองของนราต่อภาพและบรรยากาศที่ไปเห็น ตลอดจนวิธีบรรยายภาพที่ดูมาก็ช่วยให้คนอ่านเห็นภาพได้ชัด-ลึกยิ่งขึ้น เช่น ภาพพระลักษณ์รบกันอินทรชิต ในตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ “ความยอดเยี่ยมของภาพดังกล่าวอยู่ที่ภาพอินทรชิตกำลังเงื้อคันศรฟาดฟันด้วยท่วงทีขึงขัง เต็มไปด้วยพละกำลัง และสีหน้าดุดัน”
            หรือ “ลีลาท่วงท่าของตัวละครซึ่งกำลังแสดงความโศกเศร้าเสียใจ (ผ่านการยกมือกรีดเช็ดน้ำตา แทนการแสดงอารมณ์ผ่านทางใบหน้า) ดูอ่อนช้อย เต็มไปด้วยความสะเทือนใจ และขานรับกับคดโค้งของกิ่งก้านไม้และโขดหินที่อยู่รายรอบ”
             นรายังได้ฉายภาพที่จับใจของอาจารย์เฟื้อไว้เป็นระยะ เช่น “เมื่อหันมองย้อนหลัง อาจารย์ไม่เคยปริปากตัดพ้อ ไม่เคยนึกเสียดายอาลัยอาวรณ์ต่อชีวิตอีกรูปโฉมตรงข้าม
            “ถ้าจะมีถ้อยรำพึงรำพันอันใดหลุดหล่นออกมาจากปากคำของอาจารย์เฟื้ออยู่บ้าง นั้นก็เพียงแค่ว่า ยังมีศิลปะไทยล้ำค่าอีกมากที่ท่าไม่ได้กอบกู้บูรณะหรืออนุรักษ์ไว้ให้ทันท่วงที”
            และ “เมื่อมีผู้ถามถึงเหตุผลว่าทำไมอาจารย์จึงมาใฝ่ใจกับงานคัดลอกจิตรกรรมฝาผนัง บรมครูก็มักจะตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเป็นเพราะ ไม่มีคนทำ
            การตามรอยอาจารย์เฟื้อไปยังหลายแหล่งแห่งที่ แม้จะยังไม่สามารถครอบคลุมผลงานมากมายที่อาจารย์เฟื้อฝากไว้ได้หมด แต่ก็เป็นงานที่ใช้เวลา ใช้ความวิริยะ ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยความรักชอบหลงใหลแบบที่นราได้แสดงให้เราเห็นผ่านหนังสือเล่มนี้ ในขณะเดียวกัน ก็ยิ่งขับเน้นให้เห็นว่ามรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของอาจารย์เฟื้อเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าเพียงใด ทั้งยังอาจกระตุ้นให้ใครหลายคน – เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง – ได้ลุกขึ้นมาทำความรู้จักกับอาจารย์เฟื้อ กับงานศิลปกรรมไทย มากขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
            เป็นแรงบันดาลใจที่ส่งต่อแรงบันดาลใจ แบบเดียวกับที่นราได้จากการดูจิตรกรรมและตามรอยผลงานของอาจารย์เฟื้อ แบบเดียวกับที่อาจารย์เฟื้อได้รับจากภาพฝีมือพระอาจารย์นาค ซึ่งในแง่นี้ นราได้เขียนเอาไว้อย่างจับใจว่า
            “ผมเชื่อว่าอาจารย์เฟื้อเห็น บางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่ไพศาลเกินบรรยายในภาพเขียนนั้น (ภาพสุครีพถอนต้นรัง และภาพศึกอินทรชิต ในหอไตร วัดระฆังฯ) และหยั่งรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าตัวท่านเอง
            “อาจารย์เฟื้อจึงบรรจุการฝึกปรือทางศิลปะทั้งชีวิตของคนเอง เพื่อเป็นเพียงแค่เงาในภาพเขียนของพระอาจารย์นาค
            “พูดได้ว่าทุกครั้งที่ดูภาพเขียนฝีมือพระอาจารย์นาค ผมเห็นภาพอาจารย์เฟื้อเหลื่อมซ้อนซ่อนอยู่ในนั้น”
#
5 กรกฎาคม 2554
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น