วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์



โดย กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน

ลีโอ ตอลสตอย เคยเขียนถึงนักวิจารณ์เอาไว้ในหนังสือ “ศิลปะคืออะไร” ว่า “นักวิจารณ์ก็คือคนโง่ที่มาถกเถียงกันถึงเรื่องของคนฉลาด”
            เป็นเรื่องธรรมดามาก ที่ศิลปิน ผู้สร้างงานศิลปะ จะพากันมีความคิดความเห็นเช่นนี้ต่อนักวิจารณ์และการวิจารณ์ เหมือนๆ กันมาทุกยุคทุกสมัย เคยมีคำพูดคล้ายกันในวงการดนตรี กระทบกระเทียบนักวิจารณ์ว่าเป็น “คนหูหนวกที่ทะลึ่งมาตั้งเสียงเปียโน” และที่โด่งดังมากในวงการหนังไทย คือคำท้าทายจากผู้กำกับมาถึงนักวิจารณ์ว่า “แน่จริง (มึง) ก็มาสร้างหนังเองสิวะ”
            แต่ไม่ว่าศิลปินจะคิดอย่างไร การวิจารณ์ก็มีบทบาทอยู่คู่ศิลปะทุกแขนงตลอดมา ในแง่หนึ่ง การวิจารณ์เป็นธรรมชาติของคนเรา ซึ่งมีความคิดความเห็นเป็นของตัวเอง เมื่อมารวมเข้ากับความรู้ความเข้าใจในศิลปะแขนงต่างๆ ก็ได้ก่อให้เกิดการวิจารณ์ขึ้นมา
            ในขณะที่ตอลสตอยมีความเห็นต่อนักวิจารณ์และการวิจารณ์ว่าเป็นเรื่องของคนโง่ที่มาถกเถียงกันในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ไม่เข้าใจ สิ่งที่ตอลสตอยทำไปในหลายๆ บทของหนังสือ “ศิลปะคืออะไร” ก็คือการวิจารณ์และการวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์
            ศิลปินอาจจะไม่ชอบใจที่มีผู้มาประเมินค่าผลงานของเขา แต่ผู้รับสื่อศิลปะแต่ละแขนงต้องการ งานวิจารณ์เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการกลั่นกรอง-ตัดสินใจของผู้รับสื่อ ก่อนที่จะเลือกรับหรือไม่รับงานชิ้นใดๆ โดยไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเห็นตามไปกับนักวิจารณ์ ยิ่งในงานศิลปะที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพาณิชย์ศิลป์ เช่น ภาพยนตร์ หรือดนตรี บทบาทและความต้องการงานวิจารณ์ยิ่งมีสูง เพราะมีจำนวนผลงานหลั่งไหลออกมามากมาย ในขณะที่ผู้รับสื่อมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังซื้อและเวลา
            พอล แกมบาคชินี ซึ่งเป็นผู้รวบรวมนักวิจารณ์ดนตรีและนักจัดรายการวิทยุมาช่วยกันคัดเลือกแผ่นเสียงยอดเยี่ยมตลอดการของวงการเพลงร็อคเมื่อปี 1977 และมีการทบทวนผลกันใหม่อีกครั้งในปีนี้ (1987) อาจจะเป็นคนที่เขียนถึงบทบาทของนักวิจารณ์ในงานพาณิชย์ศิลป์ยุคใหม่ได้อย่างชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง เขาบอกว่า “ไม่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับนักวิจารณ์อย่างรุนแรงหรือมากครั้งเพียงไร เราก็ยังคงอ่านงานของเขา เพราะเราเป็นเพียงปุถุชนคนหนึ่ง ความคิดเห็นของเราอาจผิดพลาดได้ และเราก็ต้องการการชี้นำสิ่งซึ่งจะตรงตามรสนิยมและงบประมาณของเรา นักวิจารณ์ก็เป็นปุถุชนเช่นเดียวกับเรา ความคิดเห็นของเขาอาจผิดพลาดได้เหมือนกัน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ถ้าหากไม่มีนักวิจารณ์ เราก็จะตกอยู่ภายใต้ระบอบอนาธิปไตยของการโหมโฆษณาชวนเชื่อจากบริษัทแผ่นเสียง”
            งานวิจารณ์ซึ่งจะแสดงบทบาทอย่างนั้นได้ อย่างน้อยที่สุดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความคิดอิสระของนักวิจารณ์ ไม่ใช่งานเขียนซึ่งอาศัยรูปแบบการวิจารณ์บังหน้าเพื่อหวังผลประโยชน์ทั้งที่แอบแฝงและชัดเจน ซึ่งเห็นกันได้มากมาย คงไม่จำเป็นที่จะต้องยกตัวอย่างในที่นี้
            แต่ตรงจุดของความคิดอิสระ ก็อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เหมือนกัน ขอบเขตของความคิดอิสระน่าจะอยู่ที่ การมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้กินความกว้างไปถึงการใช้รสนิยม-ความชอบส่วนตัวเป็นบรรทัดฐานในการประเมินค่างานศิลปะ หรือใช้งานวิจารณ์เป็นเครื่องระบายอารมณ์ส่วนตัว ความชอบ-ไม่ชอบของตัวนักวิจารณ์
            การวิจารณ์งานศิลปะแขนงต่างๆ จะมีหลักกว้างๆ ในการพิจารณาใกล้เคียงกัน คือ ในเรื่องของรูปแบบหรือสไตล์ เนื้อหา อารมณ์ จุดมุ่งหมาย และเทคนิค งานศิลปะหรือพาณิชย์ศิลป์แต่ละชิ้นที่ออกมา อาจจะเด่นหรือด้อยในบางด้าน เป็นสิ่งที่นักวิจารณ์ต้องพิจารณาแยกแยะ ถ้านักวิจารณ์ดนตรีจะไม่ชอบอัลบั้ม Thriller ของไมเคิล แจ็คสัน เพราะเขาไม่ชอบเพลงเต้นรำ และเห็นว่าเพลงอย่างนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าทางศิลปะขึ้นมาเลย สิ่งที่น่าคำนึงถึงก็คือ งานชิ้นนี้ออกมาด้วยจุดมุ่งหมายอย่างไร ตอบสนองจุดมุ่งหมายเหล่านั้นได้หรือไม่ องค์ประกอบของงานสอดคล้องกับจุดหมายนั้นและได้ผลเพียงไร ถ้าคนเกือบ 40 ล้านซื้อแผ่นเสียงชุดนี้ไปและสนุกกับมันได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าผลงานชิ้นนี้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายของมัน และคุณค่าทางความบันเทิงต่อคนหลายสิบล้าน – หรืออาจจะมากกว่านั้น – ก็ไม่อาจมองข้ามไปได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงความบันเทิงชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม
            นักวิจารณ์ไม่ใช่พระเจ้าที่จะยกรสนิยมตัวเองขึ้นมาสูง และกดรสนิยมความคิดเห็นของคน 40 ล้านลงไปจมดิน ความสำเร็จของงานในเชิงพาณิชย์ศิลป์อาจมีกลวิธีทางธุรกิจเกื้อหนุนอยู่มาก แต่มันก็ไม่ถึงกับช่วยให้สินค้าที่หาค่าอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นสินค้าที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งในตลาดไปได้แน่ๆ
            นอกเหนือไปจากการประเมินค่า บทบาทสำคัญอีกทางหนึ่งของงานวิจารณ์ ซึ่งบางครั้งมักจะถูกมองข้ามกันไป ก็คืองานวิจารณ์มีฐานะเป็นสื่อถ่ายทอดความเข้าใจด้วย งานศิลปะอาจจะเป็นสื่อแสดงความคิด เจตนา และสิ่งต่างๆ ที่ผู้สร้างงานต้องการนำเสนอออกมาสู่ผู้รับสื่อของเขาในตัวเองอยู่แล้ว แต่โดยกลวิธี-เทคนิคทางศิลปะ โดยข้อจำกัดทางการรับรู้ของผู้รับที่มีพื้นฐานทางศิลปะแขนงนั้นๆ แตกต่างกันอยู่ งานวิจารณ์สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อเชื่อมได้อีกทอดหนึ่ง เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ในฐาะนี้เองที่งานวิจารณ์สามารถเป็นงานสร้างสรรค์ได้ในตัวของมันเองเช่นเดียวกัน
            งานวิจารณ์จึงไม่ใช่เพียงข้อเขียนบอกเล่าเรื่องราวที่ปรากฎในงานศิลปะ แสดงความคิดเห็น ติชม หรือแสดงความเก่งกาจของนักวิจารณ์โดยการจ้องจับผิด หาข้อบกพร่อง แต่เป็นงานเชิงสร้างสรรค์ที่จะช่วยขยับขยาย สร้างความเข้าใจของผู้อ่านงานวิจารณ์ที่จะมีต่องานศิลปะ ให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายและสิ่งแอบแฝงที่ศิลปินต้องการจะสื่อแสดงออกมาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมองทะลุเทคนิค วิธีการ และองค์ประกอบทางศิลปะต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้รองรับสิ่งที่ต้องการเสนอ งานวิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ยังจะมีส่วนช่วยพัฒนางานศิลปะต่อไปได้ด้วยตัวมันเอง เพราะงานวิจารณ์ที่ดีสามารถปูพื้นฐานความเข้าใจให้กับผู้รับสื่อ และเมื่อผู้รับพัฒนาความรับรู้ ความเข้าใจในงานศิลปะ งานศิลปะก็สามารถพัฒนาต่อไปได้โดยที่ผู้รับสามารถตามทันและเข้าใจ
            เมื่อเดือนกันยายน (2530) มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับบรรยากาศการวิจารณ์งานศิลปะในบ้านเรา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้จัดสัมมนาการวิจารณ์งานศิลปะ ไล่ๆ กับที่ภาควิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดงานการวิจารณ์งานศิลปะขึ้นมาเหมือนกัน ทั้งสองงานนี้ทั้งศิลปินและนักวิจารณ์ต่างก็ได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานวิจารณ์จากจุดที่แต่ละฝ่ายยืนอยู่ ให้ผู้สนใจได้ฟังกัน ทั้งสองงานนี้อาจจะยังไม่ได้ก่อผลให้เห็นกันได้ชัดเจนเดี๋ยวนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายขอบข่ายความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับงานวิจารณ์ ซึ่งอาจจะมีส่วนพัฒนาการวิจารณ์งานศิลปะในบ้านเราต่อไป ทั้งในส่วนของคนทำงานวิจารณ์เอง และอาจกระตุ้นให้เกิดนักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาในโอกาสต่อไป
            คนเราทุกคนมีพื้นฐานของการเป็นนักวิจารณ์ในตัวเองอยู่แล้ว เหมือนกับที่ปรัชญาการเมืองสมัยกรีกเคยมีคำเปรียบเปรยเอาไว้ว่า “โดยไม่ต้องเป็นช่างก่อสร้าง เราก็สามารถบอกได้ว่าบ้านหลังนี้ดีหรือไม่ดี เพราะเราเป็นคนอยู่” จุดประสงค์เดิมของเขาใช้ในความหมายเชิงวิจารณ์สังคม แต่ในแวดวงศิลปะ คำนี้ก็สามารถใช้ได้ดี เพราะเราทุกคนเป็นคนรับสื่อศิลปะนั้นๆ ถึงตรงนี้อาจจะมีคนแย้งว่า การวิจารณ์งานศิลปะต้องมีความรู้ในศิลปะแต่ละแขนงด้วย ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ผมก็ยังเห็นว่าความรู้เป็นสิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนกันได้ตามความสนใจเฉพาะตัว แต่ความคิดเห็น วิจารณญาณของตัวเอง คือพื้นฐานแรกสุดที่จะนำไปสู่การวิจารณ์งานศิลปะ เป็นสิ่งที่สร้างที่สอนกันไม่ได้ แต่จะต้องพัฒนากันเองในแต่ละคนจากพื้นฐานที่มีอยู่
            เคยมีนิตยสารฉบับหนึ่งมาสัมภาษณ์ ถามความรู้สึกของผมเกี่ยวกับการเป็น “เอ็นไซโคลปีเดียภาพยนตร์” ซึ่งผมไม่ยอมรับ เพราะเอ็นไซโคลปีเดียนั้นมีก็แต่ความรู้ ไม่มีความคิด แต่นักวิจารณ์จำเป็นต้องมีความคิด และเป็นความคิดในทางสร้างสรรค์ด้วย
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2530)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น