วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Float On

ผมสังเกตเห็นว่า คนที่เดินออกมาจากหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา (2553) ล้วนมีความสุข
            ต่างกับสามชั่วโมงก่อนหน้านั้น ที่ดูเหมือนคละเคล้ากันระหว่างคนที่รอเวลาอย่างหมายมั่น คาดหวัง และไม่แน่ใจ
            ตัวผมเองก็น่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มหลังสุด และความไม่แน่ใจที่ฉาบอยู่ คงไม่ได้อยู่ที่ว่า การแสดงโขน ชุด “นางลอย” จะงามจริงสมคำร่ำลือหรือไม่ เพียงแต่สงสัยในรสชาติว่าจะปรุงออกมาถูกลิ้นถูกปากขนาดไหน
            ความสงสัยนั้นค่อยๆ ละลายไปตั้งแต่องค์ที่ 1 และพอถึงองค์ที่ 3 ก็แน่ใจได้ว่า นี่คือรสชาติของศิลปการแสดงอันโอชะที่ถูกใจคนดูโดยถ้วนหน้า

(ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)
ผมมารู้ตัวว่าต้องหาบัตรไปดู “นางลอย” ที่กลับมาเปิดแสดงอีกครั้ง ก่อนที่จะพลาดไปเลย ก็ตอนที่เหลือเวลาแสดงอีกสองวัน และบัตรที่ยังมีเหลือให้ซื้อคือบัตรราคา 200 บาท-เท่านั้น
            หลังการแสดงจบลง ผมอาจจะพูดเล่นๆ ได้ว่า นี่คือการจ่ายค่าบัตร (ชมการแสดง) ที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต แต่ถึงยังไง ผมก็ยังอยากจะได้ที่นั่งแถวหน้าๆ ราคา 1,000 หรือ 800 บาท มากกว่าที่จะปีนบันไดผ่านชั้นสอง ชั้นสองครึ่ง ขึ้นไปจนถึงชั้นสาม แล้วก็นั่งตัวลีบๆ (แอบ) ดูอยู่สูงๆ ไกลๆ เหมือนปีนต้นไม้แอบดูการแสดงดนตรีในงานวัด
            โดยที่ยังจะพูดเหมือนเดิมด้วยว่า เป็นค่าบัตรที่คุ้มมาก
            เพราะต่อให้ไม่ต้องมีความรู้อะไรเลย แค่ดูเอาจากเครื่องเคราและอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหมด ใครๆ ก็รู้ว่า ราคาบัตรแทบไม่ได้ไปช่วยตัดต้นทุนการจัดแสดงสักเท่าไรเลย ถ้าจะตั้งราคากันจริงๆ ใบละหลายๆ พันตามมาตรฐานการแสดงบัลเล่ต์จากรัสเซียที่มีมาให้ดูกันทุกปี ก็ยังไม่รู้จะเอาอยู่แค่ไหน แถมยังจะไปตัดโอกาสคนอีกมากที่อยากดูแต่กำลังซื้อไม่พอ อีกต่างหาก
            เป็นโชคดีของคนไทย ที่การแสดงโขนนี้จัดโดย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตามพระราชเสาวนีย์ให้มีการจัดแสดงต่อเนื่องทุกปี หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจัดการแสดงชุด “พรหมาศ” เมื่อ พ.ศ. 2550 และ 2552 เพราะถ้าหากเกิดขึ้นและเป็นไปในวงจรธุรกิจการแสดงตามปกติ เราก็คงไม่สามารถคาดหวังอะไรแบบนี้ได้เลย
            พูดอีกอย่างก็คือ ถึงที่สุดแล้ว งานศิลปะทุกยุคสมัยมีชีวิตชีวาได้ก็ด้วยการ “อุปถัมภ์” และยังต้องการผู้อุปถัมภ์ที่เห็นคุณค่าของศิลปะนั้น
            ไม่อย่างนั้น เราก็คงจะได้เห็นแต่ภาพของหน่วยงานอย่าง สสส. เอาเงินจากภาษีของเราไปแย่งกัน “อุปถัมภ์” คอนเสิร์ตของซูเปอร์สตาร์สร้างใหม่จากเกาหลี ซึ่งแม้จะมีสปอน “เซ่อ” มากมาย ก็ยังตั้งราคาขายบัตรแบบตั้งใจรวยไปถึงลูกถึงหลานเลยทีเดียว
ผมไม่ได้ดู “พรหมาศ” และไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับโขนมากกว่าหรือมากเท่าที่ “คุณ” (ก็ คุณ ที่กำลังอ่าน นั่นแหละ) รู้ จึงน่าจะเป็นโชคดี ที่ผมได้เริ่มต้นกับชุด “นางลอย”
            การแสดงคราวนี้ ได้นำบทคอนเสิร์ตชุด “นางลอย” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาเป็นแนวทางในการดัดแปลง ผู้รู้บอกว่า เป็นการลดความยากในบางส่วน เพิ่มความร่วมสมัยในบางส่วน ซึ่งให้ผลลัพธ์เป็นงานแสดงที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และประทับใจได้มากขึ้น
            สิ่งที่เห็นชัดก็คือการออกแบบฉาก ซึ่งว่ากันว่าลดความอลังการลงจากชุดที่แล้ว แต่มีมุมมองและเพอร์สเปคทีฟใหม่ๆ โดยที่ยังคงความวิจิตรประณีตอยู่เต็มที่ การคิดใช้ประโยชน์จากสถานที่ได้เต็มๆ ก็เป็นอีกส่วนที่ต้องชม ที่เด่นมากคือฉากที่ สีดา(ปลอม) ลอยน้ำมาถึงพลับพลาของพระราม เขาใช้หลุมหน้าเวที-ซึ่งปกติเป็นที่สำหรับวงซิมโฟนี-ทำเป็นแม่น้ำ กับการใช้ลวดสลิงในฉากเหาะของเบญจกาย ซึ่งแม้จะไม่ใช่เทคนิคใหม่อะไร แต่ก็ถือเป็นการปรับใช้กับการแสดงแบบเทรดิชั่นได้ชวนตื่นตาตื่นใจทีเดียว
            ในภาพใหญ่หรือภาพรวมของ “รามเกียรติ์” เบญจกายอาจไม่ใช่ตัวละครที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ แต่เมื่อทอนมาเป็นโขนชุด “นางลอย” เบญจกายก็เป็นทั้งนางเอกและตัวเดินเรื่อง ซึ่งต้องใช้ผู้แสดงถึงสามคน คนหนึ่งเป็นเบญจกาย คนหนึ่งเป็นสีดาปลอม และอีกคนหนึ่งแสดงในฉากที่ต้องขึ้นรอกสลิง ระหว่างเบญจกายกับสีดา คนดูจะได้เห็นความต่างที่ชัดเจนของท่ารำระหว่างยักษ์กับมนุษย์ ซึ่งผู้ที่แสดงเป็นสีดาปลอม ก็ได้โชว์ฝีมือเต็มที่ในฉากรำฉุยฉาย ส่วนคนที่ขึ้นเหาะด้วยสลิง ถ้าไม่บอกและดูกันแต่ท่ารำ ก็จะไม่รู้ว่าเป็นผู้ชาย
            ตัวละครเอกอีกตัวในตอนนี้ คือ ทศกัณฑ์ ซึ่งเป็นฝ่ายยักษ์ฝ่ายมารก็จริง แต่เป็นตัวละครที่ชนะใจคนดูได้เด็ดขาด ในประเด็นนี้ อาจารย์ใหญ่ของเรา กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน เคยเขียนเอาไว้แล้วใน คอลัมน์ละคร เมื่อสามเล่มก่อน
            “คนที่ชนะใจคนดูได้อย่างเด็ดขาด และแสดงถึงความล้ำลึกในท่ารำของไทยก็คือ ทศกัณฑ์ โดยเฉพาะในฉากที่ เบญจกาย แปลงตัวเป็น สีดา แล้วขึ้นไปเฝ้า ทศกัณฑ์ คิดว่าเป็น สีดา จริง จึงเข้าไปเกี้ยว เมื่อรู้ความจริงว่านี่คือหลานของตนเอง ก็แสดงอาการเขินอายออกมาด้วยท่ารำ จนคนดูสามารถมองเห็นสีหน้าของ ทศกัณฑ์ ได้ทั้งๆ ที่สวมหัวโขนบังเอาไว้หมด แล้วยังพาลไปตบหัวนางกำนัลที่เฝ้าเรียงรายอยู่แก้เขิน ก่อนจะรำด้วยอาการวางก้ามใหญ่โตกลับไปนั่งบนบัลลังก์”
ภรรยาผมเป็นคนหนึ่งที่ติดใจทั้งลีลาเจ้าชู้ยักษ์และอาการขวยอายของทศกัณฑ์
            เธอบอกว่าเทียบกับลีลาไล่ล่าพลางวอแวพลางของหนุมานตอนตามจับเบญจกาย ซึ่งเป็นไฮไลท์อีกช่วง “มาด” ของทศกัณฑ์ภาคพื้นดิน ก็ยังเหนือชั้นกว่าหนุมานภาคเหาะเหินเดินอากาศเยอะเลย แต่ที่ “จืด” สนิท ก็คือ พระราม และพระลักษณ์ ซึ่งทั้งบทน้อยและไม่มีอะไรให้จดจำ
            แล้วเธอก็เลยแสดงความเห็นเลยเถิดไปถึงประดา “พระเอก” ในวรรณคดี จนผมต้องเย้าว่า พูดจาอย่างกับฝ่ายซ้ายเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ตอนที่ออกมาชักชวนให้เรา “เผาวรรณคดี”
            สมัยนั้น สำหรับฝ่ายซ้ายกลุ่มหนึ่ง กลุ่มที่เราเรียกกันอย่างรักใคร่ว่าเป็นพวกปีกซ้ายที่ไร้เดียงสา งานศิลปวรรณกรรมที่อยู่นอกกระแสศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน ดูจะเป็นสิ่งที่น่าทำเชื้อไฟเสียทั้งนั้น ที่จริงการวิพากษ์วรรณคดีและวรรณกรรมตามกรอบคิดแบบมาร์กซิสม์ ก็มีหลายมุมที่น่าสนใจ ผมเองก็รับเอามาหลายอย่าง แต่ผมและหลายๆ คนไม่เห็นความจำเป็นที่เราจะต้องไปทำลายล้างอะไร ซึ่งที่สุดแล้วก็เป็นเพียงสิ่งซึ่งได้สะท้อนคติ ขนบ กระบวนคิด และลีลา ของแต่ละชนชั้น จากแต่ละยุคสมัย ให้เราได้ศึกษาเรียนรู้
            เมื่อถึงจุดหนึ่ง คติ ขนบ กระบวนคิด และลีลาเหล่านั้น ก็ล้วนคลี่คลายไปตามสภาวะแห่งยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในขณะที่ส่วนซึ่งเป็นคุณค่า ก็จะยังคงเป็นคุณค่าอยู่อย่างนั้น
            คติเรื่องของ “พระเอก” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด มาถึงทุกวันนี้ ตัวพระในวรรณคดีที่เรารู้จักกันดี ไม่ใช่พิมพ์ที่ใช้ได้มานานแล้ว ไม่ว่าในงานศิลปะหรือวรรณกรรมแขนงใด และยิ่งไม่ใช่พระเอกในฝันหรือไอดอลของใครในยุคสมัยแบบนี้ แต่คุณค่าทางศิลปการประพันธ์ ความงามทางวรรณศิลป์ และคมคายเชิงฉันทลักษณ์ คือคุณค่าที่อยู่เหนือกาลเวลาและเหนือคติ-กรอบคิดใดๆ
            การแสดงโขนคราวนี้ก็เหมือนกัน เป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมให้คนจำนวนมากมายหลายรุ่นได้ดื่มด่ำกับการแสดงชั้นสูง ที่งดงาม อลังการ ซึ่งคุณค่าที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ระดับความสูงทางชนชั้น-สถานะ หรือการการปีนกระไดดู แต่เป็นความสูงส่งด้านความวิจิตร ประณีต ในทุกองค์ประกอบ ที่ต้องอาศัยความพากเพียรอันสูงส่งพอกัน ในการดำรงรักษาและเผยแพร่คุณค่าของศิลปการแสดงแขนงนี้ สู่คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นต่อๆไป
            ซึ่งผมแน่ใจว่า เกือบจะร้อยทั้งร้อยที่ได้มาดู “นางลอย” ไม่ว่าจะเคยดูโขนมาก่อนหรือไม่ ต่างก็ได้ซึมซับรับเอาคุณค่าทั้งหมดของการแสดงแขนงนี้ไว้แล้วอย่างเต็มเปี่ยม และต่างเฝ้ารอการแสดงครั้งต่อไป ในเดือนกรกฎาคม ปีหน้า ซึ่งประกาศออกมาแล้วว่าจะเป็นตอน “ศึกไมยราพ”   
            ผมก็จดลงปฏิทินไว้แล้วเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องทรมานสังขารกับการแอบดูอยู่สูงๆ ไกลๆ อีก
#
30 พฤศจิกายน 2553
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2553)

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2 มกราคม 2555 เวลา 00:38

    ไว้จะลองไปดูบ้างล่ะ ^^

    ตอบลบ
  2. น่าดูจริงๆ ครับ
    หวังว่าปีนี้ น่าจะมีแสดงอีก
    ส่วนของเก่า มีดีวีดีบันทึกการแสดงจำหน่าย
    ทั้งเรื่องนี้-นางลอย ก่อนหน้านี้-พรหมาศ
    และล่าสุด-ศึกมัยราพณ์ ก็น่าจะมีเหมือนกัน
    ถ้าสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามมาทางอีเมล์ก็ได้ครับ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ3 มกราคม 2555 เวลา 01:26

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ