วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ด้วยใจฝันบินสู่ฟ้า

คนรอบข้างเขารู้กันว่า ผมไม่ชอบละคร ขนาดที่ว่าเคยหลงไปร่วมสังฆกรรมเขียนเรื่องเพื่อทำเป็นละครเรื่องหนึ่ง ก็ยังไม่ยอมไปดูเสียเฉยๆ
            ที่จริงก็ไม่ถึงกับปฏิเสธละคร บางเรื่องที่รู้สึกว่าน่าจะมีอะไรดีๆ ก็ไปดู บางครั้งก็มีแง่มุมดีๆ มาขบมาคิด แต่ก็เพียงดูได้ ไม่ได้ชื่นชอบมากมาย ซึ่งอาจจะด้วยความรู้สึกว่า ละครก็คือละคร มันอาจจะเป็นศิลปะการแสดงที่ยิ่งใหญ่ ต้องใช้ความสามารถอย่างสูง เพราะเมื่อขึ้นไปบนเวที ผิดพลาดอะไรไปก็ไม่มีโอกาสแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีกแล้ว ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ที่มีกระบวนการอีกมากมายช่วยแต่งเติมแก้ไขให้มันสมบูรณ์ขึ้นอีก ก่อนจะนำออกฉายให้ใครๆ ได้ดู แต่ละครทำให้ผมรู้สึกเสมอว่าเป็นการแสดง ขณะที่เทคนิคของภาพยนตร์ให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่า
            “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” เป็นละครเรื่องแรกที่ทำให้ผมชอบได้ โดยไม่ต้องพยายาม และเสียดายที่มีโอกาสได้เขียนถึงเมื่อละครลาโรงไปแล้ว
            นอกเหนือจากเรื่องราวของ ดอน กีโฮเต้ จากวรรณกรรมยิ่งใหญ่ของ มิเกล เด แซร์บานเตส แรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งที่ชักนำผมไปดูละครเรื่องนี้ก็คือ คำพูดของ ยุทธนา มุกดาสนิท ที่ให้สัมภาษณ์บางกอกโพสต์ ก่อนละครจะลงโรงว่า เขารู้สึกผิดหวังเพียงไรต่อภาพยนตร์เรื่อง Man of La Mancha ที่มี ปีเตอร์ โอทูล, โซเฟีย ลอเร็น แสดงนำ และอาร์เธอร์ ฮิลเลอร์ เป็นผู้กำกับ จากบทที่ยึดตามบทละครของ เดล วาสเซอร์มัน ยุทธนาบอกว่า ในความรู้สึกของเขา บทของวาสเซอร์มันเขียนขึ้นสำหรับละคร ไม่ใช่ภาพยนตร์ และความพยายามของหนังที่จะสร้างภาพให้ออกมาสมจริง ได้ไปวางกรอบจำกัดจินตนาการของคนดู
            นักดูหนังยอมรับกันว่า การคงรูปแบบของละครเพลงไว้ในฉากที่เป็นจริง (realism) ของหนังเรื่อง Man of La Mancha เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ และนั่นคือเหตุสำคัญที่นำไปสู่ผล... ความล้มเหลวของหนัง
            ผมจึงอยากได้เห็นเรื่องราวของ ดอน กีโฮเต้ โลดแล่นบนเวทีละครเมืองไทย จากการกำกับของคนที่ใฝ่ฝันจะทำละครเรื่องนี้มาแสนนาน คงไม่ผิด ถ้าจะมีใครบอกว่า “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” คือฝันอันยิ่งใหญ่ของคนหลายคนที่มีส่วนร่วมในละครเรื่องนี้
เสียงปรบมือกึกก้องครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับจะไม่รู้จบ ที่ผู้คนในโรงละครแห่งชาติมอบให้กับบรรดาผู้แสดง วงดุริยางค์สากลกรมศิลปากร และทุกๆ คนในคณะละคร “สองแปด” เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง เป็นเสียงที่บอกได้ว่า ฝันอันยิ่งใหญ่ของยุทธนา มุกดาสนิท ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ของรัศมี เผ่าเหลืองทอง และของทุกๆ คนที่ร่วมฝัน ได้รับการ “ต้อนรับ ประทับใจทุกคนได้...” เช่นเดียวกับท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงที่ชาลี อินทรวิจิตร เรียงร้อยขึ้นมาจากเพลง The Impossible Dream
            คณะละครสองแปดคงจะรู้เหมือนกับที่คนดูรู้ ว่านี่ยังไม่ใช่ผลงานที่หมดจดสมบูรณ์ คนดูในรอบแรกๆ หลายคนบ่นถึงเสียงร้องและเสียงดนตรีที่ไม่ไปด้วยกัน สุชาติ สวัสดิ์ศรียอมรับว่า มีเวลาซ้อมร่วมกันระหว่างผู้แสดงกับวงดนตรีเพียงสามวันก่อนที่จะเปิดแสดงวันแรก นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะไปลบล้างความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการแสดงได้ แต่มันก็ทำให้เรารับรู้-เข้าใจสถานะของคณะละครอย่างสองแปด สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำก็คือ แก้ไขข้อบกพร่องในรอบต่อๆ มา ซึ่งทั้งนักแสดงและวงดนตรีภายใต้การอำนวยเพลงของ ประทักษ์ ประทีปะเสน ช่วยกันทำได้สำเร็จ สิ่งที่แก้ไม่ได้ก็คือทิศทางของเสียง ซึ่งขาดมิติของเสียงที่จะออกมาทางด้านหน้าเวที ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนจำนวนหนึ่งจะเกิดสงสัยขึ้นมาเมื่อถึงฉากที่ดอน กีโฮเต้ ร้องเพลงแรก ว่าร้องสดหรือเปิดเทป นักแสดงบางคนไม่สามารถทำให้คนดูจับถ้อยคำได้ – แม้จะพอเข้าถึงใจความ – เมื่อเขาหรือเธอร้องเพลง แต่สิ่งเหล่านี้ก็พอจะมองข้ามไปได้เมื่อเทียบกับการออกแบบฉากแนวอิมเพรสชันนิสม์อย่างชาญฉลาด และผลรวมของการแสดง
            จรัล มโนเพ็ชร น่าจะได้เปรียบ ศรัณยู วงศ์กระจ่าง อย่างน้อยสองทาง สำหรับบทดอน กีโฮเต้ ทางหนึ่ง-เขาเป็นนักร้องอาชีพ ละครเพลงต้องการความสามารถทางด้านนี้ อีกทางหนึ่งคือประสบการณ์การแสดง ซึ่งแม้จะเป็นข้อเสียเปรียบในเบื้องต้น แต่ในขณะที่คนดูยังมีภาพของศรัณยู – จากงานการแสดงที่ผ่านมา - ชัดเจนอยู่ในความรู้สึก แม้ว่าศรัณยูจะแสดงได้ดีเพียงไร แต่เขายังเป็นศรัณยูในความรู้สึกของคนดู จรัลไม่มีภาพที่ติดตาแบบนั้น เมื่อเขาหันหลังให้คนดู และกลับออกมาในรูปลักษณ์ของดอน กีโฮเต้ ผมก็ลืมไปสนิทเลยว่าเขาคือจรัล มโนเพ็ชร
            สาธิต ชีวะประเสริฐ ทำให้คนดูประทับใจได้ง่ายๆ กับบท ซันโช ปานซ่า ผู้คอยติดตามดอน กีโฮเต้ ไปทุกหนแห่ง ด้วยเหตุผลเพียงแค่ “ผมชอบเขา” และบทก็ส่งเขาเด่นออกมาเต็มที่ในฉากเพลงนี้ แม้จะมีปัญหาอยู่ไม่น้อยในการร้องเพลงไปพร้อมๆ กับการกลิ้งหมุนไปรอบๆ บทพระซึ่งแสดงโดย ศรัณย์ ทองปาน เป็นธรรมชาติมาก แม้ในขณะที่ร้องเพลงออกมา ดูเหมือนเขาไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย แต่ก็ฟังและดูดี
            ดาราที่แท้จริงบนเวทีคือ นรินทร ณ บางช้าง กับบทอัลดอนซา ที่ชนะใจทุกคน ไม่เฉพาะแต่พลังเสียงซึ่งนักแสดงละครเพลงทุกคนต้องการ การแสดงของเธออาจบอกได้ด้วยคำว่า “เหลือเชื่อ” จากนักร้องเพลงร็อคที่ถูกปลุกปั้นขึ้นมาให้เป็น “มาดอนน่าเมืองไทย” ซึ่งในความรู้สึกของผม – ไม่ใช่ เธอกลายเป็นโสเภณีหยาบกร้านที่ถูกปลุกปล้ำด้วยน้ำมือชายกักขฬะมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสตรีผู้สูงศักดิ์สำหรับดอน กีโฮเต้ นรินทรสวมบทนี้ได้อย่างไม่มีที่ติ ช.อ้น ณ บางช้าง อาจผิดหวังที่ลูกสาวไม่ประสบความสำเร็จในฐานะดาราร็อค แต่ไม่มีอะไรต้องเสียใจในเมื่อเธอได้ “เปล่งประกาย” อย่างสมบูรณ์ในฐานะดาราละคร
ถ้า ดอน กีโฮเต้ คือตัวแทนของผู้ที่มองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่อย่างที่มันเป็นจริงๆ คณะละครสองแปดก็ได้พยายามทำสิ่งเดียวกันนั้นสำหรับวงการละครเมืองไทย อย่างน้อยที่สุด “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” คือประจักษ์พยาน
            เหมือนกับท่อนสุดท้ายของเพลงก่อนไฟเวทีจะหรี่ดับลง “ด้วยความฝัน สู่ดวงดาวพราวพร่าง...ฟ้า” ในความพยายามที่จะทำละครเวทีอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่อย่างที่มันเป็นอยู่บนเวทีละครหลายๆ เรื่องตามโรงแรมหรู คณะละครสองแปดได้นำใจฝันของคนดูบินสู่ฟ้า
            ไม่ใช่ดำดิ่งลงไปท่ามกลางถ้อยคำด่าทอเกลื่อนกล่นเวทีอย่างที่ละครบางเรื่องทำอยู่ตอนนี้
#
 (ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ตาดูหูฟัง" นสพ.สยามรัฐ-ฉบับวันอาทิตย์ พ.ศ. 2530)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น