วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Look Who’s Talking Too (Much)

“เรื่องการเมืองไม่อยากพูดมาก เพราะดาวพุธไม่ดี เดี๋ยวพูดไปแล้วมันมีเรื่อง ดาวพุธไม่ดีเขาบอกว่าห้ามพูดมาก... ดาวพุธไม่ดีไม่พูดแล้ว” คุณทักษิณ (ชินวัตร - ของผม ในฐานะที่ผมเป็นคนอยู่กรุงเทพฯ และท่านเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ในกรุงเทพฯ มากที่สุด) เคยปรารภเอาไว้อย่างน่าเห็นใจ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม (พ.ศ. 2539)
            ก็ต้องเห็นใจกันแหละครับ สำหรับคนรุ่นใหม่ระดับอภิมหาเศรษฐีที่เอาเงินกองเก็บไว้ เสียสละตัวเองมารับใช้ประชาชน แต่กลับต้องมามีปัญหากระทบกระทั่งกับนักการเมืองหน้าเดิมๆ ขนาดที่มีข่าวว่าต้องขอโทษคุณสมัคร (สุนทรเวช – ไม่ใช่ของผม) ในเรื่องทำนองว่านินทากันในบ้าน แล้วไปให้คนอื่นเขาได้ยิน ต้องสัญญิงสัญญากับนายกฯ ว่าจะไม่พูดเรื่องนั้นเรื่องนี้อีก แล้วยังต้องขออภัยที่ทำให้คุณชวลิต (ยงใจยุทธ – ไม่ใช่ของผมอีกเหมือนกัน) เข้าใจผิดเรื่อง “ทหารพาณิชย์” ทั้งที่แค่พูดไม่กี่คำ จะอะไรกันนักหนา
            ล่าสุด กับการคัดเลือกตัวแทนพรรคพลังธรรมลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ลงเอยด้วย ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าฯคนปัจจุบันของพรรคพลังธรรม ไปสมัครอิสระโดยการอุปถัมภ์ของพรรคประชากรไทย ก็ไม่วายที่จะมีคนออกมาพูดว่า ระหว่างคุณทักษิณ กับคุณกฤษฎา ไม่ใครก็ใครสักคนต้องโกหก นั่นยังไม่เท่าไหร่ คนที่พูดเหล่านั้นยังหยอดท้ายอีกว่า ที่จริงคุณกฤษฎาก็พูดชัดเจนมาตลอดว่าจะลงสมัครอีกสมัย
            อย่างนี้ เห็นคุณทักษิณของผมเป็นอะไร?
เพื่อแก้ข้อสงสัย ผมจะลำดับเหตุการณ์การคัดเลือกผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ในนามพรรคพลังธรรมให้เห็นกันชัดๆ
            วันที่ 1 กุมภาพันธ์ (2539) คุณกฤษฎาบอกว่า การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.สมัยหน้า คงต้องรอการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรคพลังธรรมก่อน ซึ่งการพิจารณาของพรรคจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจว่าจะลงสมัครในพรรคใด โดยถ้าทางพรรคได้พิจารณาเรียบร้อยแล้วว่าจะส่งใครเป็นตัวแทนพรรค ก็คงตัดสินใจง่ายกว่านี้ สำหรับความต้องการส่วนตัวที่จะลงสมัครนั้น มีความเต็มใจที่จะบริการประชาชน แต่โอกาสในการที่จะได้บริการประชาชนเป็นคนละเรื่องกับการเป็นตัวแทนของพรรคใดพรรคหนึ่ง
            ต่อมา วันที่ 19 กุมภาพันธ์ คุณกฤษฎาก็ให้สัมภาษณ์อีกว่า ถ้าถามว่ามีความพร้อมในการลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เพียงไร ก็ขอตอบว่าถ้ามีที่ให้ลงสมัครก็พร้อม และในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ คุณกฤษฎาก็เริ่มบ่นว่า หากพรรคพลังธรรมตัดสินใจช้าตนเองคงลำบาก เพราะจะหมดสิทธิ์ที่จะลงสมัครในนามพรรคอื่น และอีกสองวัน 27 กุมภาพันธ์ คุณกฤษฎาก็เริ่มพูดชัดเจนขึ้นว่า ในเมื่อพรรคยังไม่ประกาศออกมาว่าจะส่งใคร ทำไมต้องไปปิดประตูตัวเองด้วยการบอกว่าจะไม่ขอลงอิสระ ควรรักษาสถานภาพเอาไว้ก่อน แม้การลงสมัครอิสระจะลำบากแค่ไหนก็ตาม
            เว้นช่วงไปอีกระยะ วันที่ 12 มีนาคม คุณกฤษฎาตอบคำถามสื่อมวลชนอีกว่า ยังไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่เปลี่ยนสังกัดพรรคในการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยหน้า แล้วในวันที่ 17 มีนาคม คุณกฤษฎายืนยันว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน ในส่วนของพรรคพลังธรรมหลังการประชุมวันที่ 19 คงทราบแน่นอนว่าพรรคจะส่งใครลงสมัคร ส่วนหากไม่ได้รับเลือกจากพรรคแล้วจะลงสมัครในนามอิสระหรือไม่นั้น เห็นว่าการลงสมัครอิสระก็มีความคล่องตัวดี แต่จะเสียตรงที่ไม่มีองค์กรของพรรคมาช่วยหาเสียง
            ผมไม่แย้งหรอกว่า คุณกฤษฎา แสดงเจตจำนงชัดเจนมาเป็นลำดับ แต่สำคัญว่า คุณกฤษฎาได้พูดกับคุณทักษิณหรือเปล่า ยืนยันกับคณะกรรมการบริหารพรรคหรือเปล่าว่าจะลง และในระบบพรรคพลังธรรม ก็รู้อยู่ว่าต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรคชี้ขาดว่าจะส่งใคร ไม่ใช่ว่าคุณกฤษฎานึกอยากจะสมัคร พรรคก็ต้องส่งสมัครให้ได้ดั่งใจ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ยังมี พลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 22  พฤษภาคม 2538 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปว่า “ผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อีกแล้ว และจะรอสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.” ซึ่งก็มีคนเที่ยวตีความกันเอาเองตั้งแต่ตอนนั้นว่า คุณจำลอง (ยังไม่ใช่ของผม – รอให้เป็นผู้ว่าฯอีกสมัยก่อน) จะบีบให้คุณกฤษฎาลาออกกลางคันเพื่อจะลงสมัคร แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีการลาออก ซึ่งตามตรรกะก็ต้องแปลว่าไม่มีใครบีบคุณกฤษฎา
            นอกจากนั้น คุณจำลองก็พูดมาเสมอว่า ขอเป็นทางเลือกสุดท้าย ให้พรรคพิจารณาบุคคลอื่นที่เหมาะสมที่สุดก่อน ถ้าไม่มีใครพร้อมก็พร้อมที่จะอาสาเป็นตัวแทนพรรค คนที่ได้ชื่อว่า “มหา” ถือศีลแปด และย้ำเสมอว่าไม่โกหก ไม่จ้วงจาบ ไม่หยาบช้า พูดออกชัดเจนอย่างนี้แล้ว จะหาว่าคุณจำลอง หรือกรรมการบริหารพรรคจะกีดกันไม่ให้คุณกฤษฎาลงสมัครได้อย่างไร
            ประเด็นอยู่ที่ว่า คุณกฤษฎาเหมาะสมที่สุดหรือเปล่า

ถ้าถามอย่างนั้น ก็ต้องมาดูทางคุณทักษิณและพรรคพลังธรรมบ้าง มีรายงานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม คุณทักษิณเดินทางไปอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้ว่าฯกฤษฎา และกล่าวถึงผู้ว่าฯกทม. ว่าเป็นที่จริงใจ มีอัธยาศัยดีเสมอต้นเสมอปลาย และที่ตนเองมีผลงานมาพอสมควรก็เพราะผลงานของผู้ว่าฯกทม.ส่วนหนึ่ง
            หลังจากการประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังธรรม เพื่อพิจารณาส่งตัวแทนพรรคสมัครผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 19 มีนาคม คุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ของผมอีกเหมือนกัน) รมช.กระทรวงมหาดไทยและเลขาธิการพรรคพลังธรรมก็บอกว่า “ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคได้มีความเห็นพ้องกัน มีมติออกมาว่าเรามีผู้มีประสบการณ์อยู่สองท่าน ก็คือท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือง และท่านผู้ว่าฯกฤษฎา ทางกรรมการบริหารพรรคได้เห็นพ้องต้องกันว่าทั้งสองท่านนั้นมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง”
            วันเดียวกัน คุณทักษิณก็พูดทำนองเดียวกันว่า ทั้งคุณจำลองและคุณกฤษฎา “เป็นผู้ใหญ่ที่ทางกรรมการบริหารพรรคมองเห็นว่าเหมาะสมทั้งคู่”
            จะเห็นได้ว่า พรรคพลังธรรมเห็นว่าคุณกฤษฎามีความเหมาะสมมาตลอด เพราะถ้าไม่เหมาะสมก็คงไม่ให้เป็นหนึ่งในสองที่จะให้หัวหน้าพรรคไปเจรจาขั้นสุดท้าย ก่อนสรุปว่าจะให้ใครเป็นตัวแทนพรรคลงสมัคร แต่การณ์เป็นว่า ในขณะที่คุณทักษิณยังไม่ได้สรุปอะไร และไม่มีใครรู้ว่าคุณทักษิณกับคุณกฤษฎาได้คุยอะไรกัน แต่คุณกฤษฎาก็ได้ออกมาแถลงแล้วว่าจะลงสมัครอิสระโดยมีพรรคประชากรไทยให้การสนับสนุน
            วันที่ 25 มีนาคม คุณทักษิณจึงได้บอกว่า “จริงๆ แล้วผมอยากให้ท่านลง เพราะผู้ว่าฯกฤษฎาพูดกับผมตลอดเวลาว่าจะไม่ลง พูดตลอดเวลา ไม่เคยบอกผมว่าจะลงเลย เพราะฉะนั้นวันนี้ เมื่อผู้ว่าฯกฤษฎาพูดกับผมมาตลอดเวลาว่าไม่อยากลง ผมถึงพยายามไปตื๊อท่านจำลองมาโดยตลอด ไม่ใช่ว่าท่านจำลองอยากลง ต้องเข้าใจตรงนี้”
            และในการปราศรัยเปิดตัวคุณจำลอง ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2539 คุณทักษิณก็ย้ำอีกว่า “ผมได้คิดกันหลายรอบ พลตรีจำลองบอกว่าพยายามหาคนใหม่ๆ เข้ามาพรรคพลังธรรมมากๆ เพราะพรรคเราจะได้เติบโต แต่คนรุ่นใหม่ๆ ที่ว่านั้น ขอให้เก่งด้วย ให้ดีด้วย และต้องมีอุดมการณ์ตรงกับพรรคพลังธรรม ผมก็ไปหา ผมพยายามคุยกับผู้ว่าฯกฤษฎาของผม ถามว่า เอาจริงๆ เถอะ ท่านจะลงหรือไม่ลงท่านก็บอกว่า ผมไม่ลงหรอกครับ ฯพณฯท่านสบายใจได้ ผมไม่ลงแน่นอน ถามอยู่สิบกว่าครั้งก็บอกไม่ลง”
            ไม่ว่าคุณกฤษฎาจะเคยพูดกับสื่อไว้อย่างไรก็ตาม แต่การที่คุณกฤษฎาไม่ได้ออกมาโต้แย้งเลยว่าไม่เคยพูดอย่างนั้น (อย่างที่คุณทักษิณเล่า) เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเชื่อคุณทักษิณ ถ้าตรรกะแค่นี้ยังไม่พอที่จะเชื่อ ลองฟังคุณทักษิณกันต่อ “แหม... รองนายกฯ ฟังผู้ว่าฯกทม.พูด ไม่เชื่อได้อย่างไร ก็ต้องเชื่อ อย่างไรก็ต้องเชื่อ”
            ครับ ประชาชนอย่างเราๆ ฟังรองนายกฯพูด ไม่เชื่อได้อย่างไร ก็ต้องเชื่อ
แล้วคุณทักษิณก็เล่าต่อไปว่า “ผมก็รีบไปหาคนใหม่ทันทีเลย ไปหาหลายคน ไม่ว่าจะเป็นนายแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นศาสตราจารย์ เป็นนักบริหาร โอ้โห... แต่ละคนก็สนใจมาก แต่ปรากฏว่าฤกษ์งามยามดี ปี่กฏว่าวันที่ 21 มีนาคม ผู้ว่าฯกฤษฎาบอกผมว่า ไปแล้ว ไปประชากรไทย’ ผทบอกว่า ‘เปลี่ยนพรรคการเมืองโดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์หรือ’ ก็ไม่เป็นไร พรรคพลังธรรมของผม อุดมการณ์ การรับใช้ประชาชนมาก่อน สำคัญที่สุด”
ฟังคุณทักษิณแล้วก็ต้องชื่นชมว่า ทั้งๆ ที่คุณกฤษฎาไม่ได้แสดงความจำนงกับคุณทักษิณว่าจะลงสมัคร พรรคพลังธรรมก็ยัง “ให้เกียรติ” ว่าเป็นผู้ที่เหมาะสม และยังมอบหมายให้หัวหน้าพรรคไปเจรจาตามมติกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ทั้งที่คุณทักษิณจะแจ้งที่ประชุมไปเลยก็ได้ว่า คุณกฤษฎาเคยบอกว่าไม่อยากลงสมัคร (เพราะคุณกฤษฎา “ต้อง” พูดอย่างนี้ก่อนหน้านั้นแล้วแน่ๆ เพราะจากวันที่ 19 ที่มีการประชุมพรรค จนถึงวันที่ 21 ที่คุณกฤษฎาประกาศตัวสมัครอิสระ คุณทักษิณคงไม่ถามซ้ำซากอยู่สิบกว่าครั้งในเวลาเพียงสองวันหรอก) และทั้งที่ผลงานสี่ปีในตำแหน่งของคุณกฤษฎาก็ไม่ประทับใจชาวพลังธรรม เหมือนที่คุณทักษิณได้แย้มออกมาในวันที่ 25 มีนาคม หลังจากที่คุณกฤษฎาแยกวงไปแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า “ท่านรองฯลำบากใจหรือเปล่าในการประสานงานต่อไประหว่างท่านกับผู้ว่าฯกฤษฎา อาจจะทำให้นโยบายของท่านที่จะผลักดันเรื่องต่างๆ ใน กทม. ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร” ซึ่งคุณทักษิณตอบว่า “ความจริงมันไม่ราบรื่นมาพักใหญ่ๆ แล้ว”
อาจจะมีคนแย้งว่า เอ๊ะ ไม่เห็นจะเหมือนที่ไปพูดอวยพรวันเกิดคุณกฤษฎาเมื่อสิบกว่าวันก่อนหน้านั้นเลย ไม่เห็นจะเหมือนที่พรรคบอกว่าคัณกฤษฎาเหมาะสมเลย
อันนี้ผมตอบแทนให้ก็ได้ว่า เป็นเรื่องของมารยาทและการให้เกียรติกันน่ะ เข้าใจไหม?
ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ “ต้อง” เป็นอย่างที่คุณจำลอง ศรีเมือง พูดที่เดอะมอลล์ในวันเปิดตัว
            “กรุงเทพฯ หลังจากที่ผมหมดหน้าที่นี้ไปแล้ว ไปเป็น ส.ส. ไปเป็นรองนายกฯนั้น กรุงเทพฯสภาวะต่างๆ มันทรุดลงมากทีเดียว ต่างกันอย่างเห็นเด่นชัดเลย แล้วถ้าท่านเคยเป็นคนอาสาเข้ามาครั้งหนึ่ง มาทำงาน แก้ไขปัญหาให้ได้ จนกระทั่งได้ผลดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันน้ำท่วม การรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การแก้ไขปัญฆาจราจร ในความรับผิดชอบของคนกรุงเทพมหานคร แล้วท่านจะนั่งดูดายอยู่เฉยๆ ที่บ้านได้ไหมถ้าไม่อาสาเข้ามาคราวนี้”
            ฉะนั้น เลิกคิดเถอะครับว่าใครจะโกหก คุณทักษิณของผมรู้อยู่เสมอว่าท่านพูดอะไร วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ท่านก็พูดออกจะชัดเจน “คนเราเวลาทำอะไรไป เราต้องมีเหตุผลในการทำ ไม่ใช่เสียสติ ที่ทำอะไรไปแล้วไม่มีเหตุผล ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ตัว ถ้าเรามีสติเรารู้ว่าเราพูดอะไรไป ทำอะไรไป เขาถามกันเราก็ต้องคุยกัน ก็ต้องมีเหตุผลอธิบายได้ ผมไม่ได้คิดร้ายประสงค์ร้ายกับใคร และไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นเลวแล้วผมดี ไม่ได้คิดอย่างนั้นเลยจริงๆ”
            ฟังอย่างนี้แล้วก็ไม่ควรเคลือบแคลงสงสัยด้วยประการ เรื่องที่น่าสงสัยจริงๆ เห็นจะเป็นเรื่องของดาวพุธมากกว่า ที่ทำให้คุณทักษิณพูดอะไรทีเป็นต้องมีคนคอยจับผิดอยู่ร่ำไป
            เพียงแต่ไม่รู้ว่าเป็นดาวพุธที่โคจรผ่าน หรือเป็นดาวพุธกุมลัคนา?
#

(ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "ยิ้มทั้งน้ำตา" นิตยสาร สีสัน ปีที่ 8 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2539)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น