วันพุธที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554

You Better Not Touch

ถ้าอยากแก้ไขอะไรละก็ นั่นคือการไม่ทำอะไรเลย
            ประธานของโอโซระ อีเล็คทริคส์ บอกกับ มาซาฮิโกะ วาชิสึ แห่ง ฮอไรซัน อินเวสท์เมนท์ ไว้อย่างนั้นในมินิซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่อง เกมล่าธุรกิจ” (The Vultures)
            โอโซระ เป็นความภูมิใจของญี่ปุ่นในยุคสร้างชาติใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายมาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก แต่วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ทำให้ทุกอาณาจักรธุรกิจที่เคยฟ่องฟูอยู่ในมายาภาพของการเติบโตที่ไม่สิ้นสุดต้องร่วงดิ่งลงมาสู่โลกความจริงที่ไม่มีทางให้เลือกมากนัก... ลดขนาดองค์กร ปรับโครงสร้างหนี้ และยอมรับการเข้าควบคุมกิจการ        
            มาซาฮิโกะ วาชิสึ เป็นผู้จัดการกองทุนของอเมริกาที่ได้รับมอบหมายให้กลับมากว้านซื้อกิจการในบ้านเกิดเพื่อตัดขายทำกำไรให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด โอโซระเป็นดีลใหญ่ที่สุด และเป้าหมายที่ฮอไรซันต้องการจริงๆ ก็คือแผนกเลนส์ที่มีทักษะและเทคโนโลยีดีที่สุดในโลก
            ถ้อยคำของประธานโอโซระค่อนข้างคลุมเครือ (ตามแบบแผนหนังญี่ปุ่น หรืออาจจะโดยวัฒนธรรมญี่ปุ่น) ด้านหนึ่ง เขาก็คือตัวแทนของอนุรักษนิยมที่พยายามประคับประคองทุกส่วนของอาณาจักรที่เขาก่อร่างสร้างขึ้นมาเอาไว้จนถึงที่สุด ซึ่งดูเหมือนกับ การไม่ทำอะไรเลยแต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อไม่อาจฝืนต่อความเปลี่ยนแปลง/ความเป็นจริงอีกต่อไป เขาก็ยอมรับแผนปฏิรูปและลงมือแก้ไขแผนด้วยตัวเอง
            เพราะอาจไม่มีใครรู้ดีกว่าเขาว่า ส่วนไหนที่ควรทำอะไรกับมัน และส่วนไหนที่ไม่ควรทำอะไรเลย
แวบแรกที่ได้ยินประโยคนั้น ผมนึกถึงความพ้องพอดีกันระหว่างสำนวนไทยที่ว่า ดูแต่ตา มืออย่าต้องกับเพลง “You Can Look (But You Better Not Touch)” ของบรูซ สปริงสทีน (อัลบัม The River, 1980)
            ที่จริงเพลงของบรูซก็เป็นแค่เพลงสนุกๆ เพลงหนึ่ง แต่ท่อนคอรัสที่ย้ำชื่อเพลงซ้ำไปซ้ำมาก็ช่วยให้น้ำเสียงการเตือนจริงจังขึ้น เช่นเดียวกับวิธีเล่นคำสำนวนของเรา ซึ่งให้น้ำหนักต่างกันมากกับการบอกตรงๆ ว่า ห้ามจับจนเมื่อต่อสร้อยลงไปว่า ของจะเสียจึงค่อยสะกิดใจกันได้บ้าง
            คำแนะนำของประธานโอโซระไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรทำอะไรเลย แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม แต่เป็นการสะกิดปมอดีตของวาชิสึ ซึ่งเคยเป็นพนักงานธนาคารใหญ่ของญี่ปุ่นมาก่อน ความตายของลูกค้าที่เขาดูแลอยู่เพราะถูกกดดันจากการเร่งรัดหนี้ ทำให้เขาหันหลังให้กับอาชีพเดิมไปเริ่มต้นใหม่ในอเมริกา เขากลับมาพร้อมกับความรู้สึกเยาะหยันต่อขนบโบราณที่ทำให้ธุรกิจ-อุตสาหกรรมญี่ปุ่นก้าวไม่ทันอัตราเร่งของกระแสทุนโลก เขามีคำอธิบายที่รวบรัดต่อทุกการกระทำว่านี่คือวิถีของทุนนิยม แล้วญี่ปุ่นก็เลือกเองที่จะอยู่บนเส้นทางนี้ตลอดมาหลังสงคราม และหากมีใครถามถึงความเข้าใจเห็นใจ เขาก็จะบอกได้ทันทีว่ามันคือสิ่งที่ธนาคารญี่ปุ่นนี่แหละที่สอนให้เขาลบล้างมันออกไปจนหมดตั้งแต่วันที่ลูกค้าของเขาจบชีวิต
            ประธานโอโซระย่อมต้องการให้วาชิสึและฮอไรซันรามือจากการเทคโอเวอร์ เพราะอย่างน้อยการสละอวัยวะโดยปฏิรูปเสียเองยังมีโอกาสรักษาชีวิตเอาไว้ ในขณะที่เหยื่อของ อีแร้งคือซากศพ แต่คำพูดของเขาก็เจาะจงเฉพาะตัววาชิสึด้วย หากอดีตคือบาดแผล เกมล่าธุรกิจในแบบที่วาชิสึทำอยู่นอกจากไม่อาจสมานเยียวยา ยังจะเปิดแผลใหม่ที่ใหญ่-ลึกกว่าเดิม

Preah Vihearphoto © 2011 Jeff McNeill | more info (via: Wylio)

หลายสิ่ง หลายเรื่อง ก็ไม่สมควรที่ใครจะไป แตะต้องจริงๆ
            เขาพระวิหารตั้งอยู่บนสภาวะคลุมเครือมาสี่สิบกว่าปี นับตั้งแต่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ไม่ได้ตัดสินชี้ชัดลงไปว่า พื้นที่เขานอกตัวปราสาทที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ สมควรเป็นของใคร
            ไทยจึงยังคงอ้างสิทธิ์ตามแผนที่ของเรา ในขณะที่กัมพูชาก็ถือสิทธิ์ตามแผนที่ฝรั่งเศส ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายถ้าจะปล่อยให้มันคลุมเครืออยู่อย่างนั้น จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมหรือเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
            แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2551 ไม่ได้มาจากเงื่อนไขของเวลาหรือประเด็นอะไรเลย นอกเสียจากความกระเหี้ยนกระหือรือของรัฐบาลไทยที่จะส่งมอบเขาพระวิหารเป็นบรรณาการแก่รัฐบาลกัมพูชา เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของคนที่ชักเชิดอยู่ข้างหลังรัฐบาลหุ่นชุดนี้ ดังที่ กวีซีไรต์-เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รจนาเอาไว้ว่า ลุกลี้ไปรับรอง แลลุกลนมีลับลม ซ่อนเล่ห์อันโสมม ด้วยสามานย์สันดานเดิม
            เป็นมือโสมมของคนสามานย์ไม่กี่คนเท่านั้นจริงๆ ที่เปิดแผลการสูญเสียดินแดนขึ้นมาใหม่ ใหญ่และลึกกว่าเดิม คราวนี้ไม่ใช่แค่ปราสาท แต่ทั้งเขาพระวิหาร และอาจจะลามรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปที่ประเมินกันว่าเป็นขุมทรัพยากรมหาศาล
ด้านหนึ่งของ The Vultures ชูธงการปกป้องผลประโยชน์และความพยายามที่จะรักษาวิถีธุรกิจแบบญี่ปุ่นเอาไว้ แม้ว่าในสายตาคนไทยหรือคนทั้งโลกก็ตามมองญี่ปุ่นเป็นสัตว์เศรษฐกิจ แต่คนญี่ปุ่นเองเชื่อว่าวิถีธุรกิจของพวกเขาไม่ได้มีความหมายเพียงเงินตราและกำไร
            ขนานไปกับการฉายภาพพฤติกรรมแทะทึ้งของทุนต่างชาติที่พวกเขาเรียกว่า ฮาเกตากะ” (แร้ง) The Vultures ได้ฉายแสดงความอ่อนแอ ไร้ความสามารถ ขาดวินัย และไม่เป็นมืออาชีพในการบริหารธุรกิจของญี่ปุ่นออกมาด้วย สิ่งเหล่านั้นเคยถูกปิดซ่อนเอาไว้หลังความรุ่งเรือง แต่เมื่อฟองสบู่แตก ทุกอย่างก็เป็นที่ประจักษ์ว่าจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นในยุคสร้างชาติเป็นเพียงอดีตที่รางเลือน
            แผนกเลนส์ของโอโซระเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณและความมุ่งมั่นแบบนั้น เทคโนโลยีของกองทัพสหรัฐฯ เป็นต้นแบบของการเรียนรู้และฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ ขณะเดียวกันก็สั่งสมทักษะจนสามารถพัฒนาไปไกลกว่าผู้ต้นคิด แต่หากอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นี้จะต้องล่มสลายลง และต้นกำเนิดของทุกสิ่งส่วนในอาณาจักรนี้กำลังจะตกอยู่ในมือคนต่างชาติ พวกเขาจะเผชิญกับมันอย่างไร?
            คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องชาตินิยม แต่หลังจากสงครามโลกกับการสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่า ดูเหมือนคนญี่ปุ่นจะน้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่โยกคลอนคติของพวกเขาได้มากขึ้น และสามารถขีดเส้นแบ่งระหว่างความรักชาติกับคลั่งชาติเอาไว้ชัด คนญี่ปุ่นดู The Vultures อย่างยอมรับในปัญหาของตัวเอง เช่นเดียวกับที่พวกเขาเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่ดิ่งลึก ภาวะซบเซาอันยาวนาน และการเข้าถือครองกิจการของทุนต่างชาติ ด้วยความอดทน และไม่สิ้นหวัง
            ในความมืดมน ช่างฝีมือดีที่สุดและมองเห็นทุกสิ่งทุกที่เกิดขึ้น-เป็นไปในโอโซระนับตั้งแต่วันที่เริ่มต้น ยืดอกประกาศว่า คนมีฝีมืออยู่ที่ไหนก็อยู่ได้”          
            อหังการของช่างอาวุโสแตกต่างจากอหังการของวาชิสึ แผนกเลนส์ของโอโซระและสายโยงกับปมอดีตของเขา ทำให้วาชิสึอยากแก้มือ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นแค่ตัวเบี้ยที่ถูกจับวางลงตรงไหนก็ได้อีกแล้ว หากอยู่ในสถานะที่สามารถกำหนดเกมได้ อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสติสำนึกในความเป็นชาติ ในฐานะคนของฮอไรซัน เขาไม่อาจวางมือตามที่ประธานโอโซระแนะนำ แต่ในฐานะมาซาฮิโกะ วาชิสึ วาระส่วนตัวของเขาคือการรักษาแผนกเลนส์เอาไว้จากอุ้งมือฮอไรซัน
            ชื่อภาษาอังกฤษอีกชื่อหนึ่งของมินิซีรีส์เรื่องนี้คือ Road To Rebirth
ไม่ใช่เรื่องคลั่งชาติ และไม่ใช่เรื่องไมตรี เป็นเรื่องเราเสียที ก็เพราะคนของเราเอง เป็นอีกคำตอบที่หมดจดจากเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
            ปฏิกิริยาของคนไทยต่อการที่รัฐบาลหุ่นไปลงนามรับรองให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ย่อมไม่ใช่อาการคลั่งชาติแบบที่คนเขมรลุกขึ้นมาเผาสถานทูตไทย แต่เป็นสติสำนึกสามัญที่คนทั่วไปมีให้แผ่นดินเกิด เป็นความรักชาติที่ถูกปลุกขึ้นมาเองเมื่อเราต้องเผชิญกับการสูญเสียเขตแดนแผ่นดิน
            ปัญหาเขาพระวิหารอาจจะดูซับซ้อนจริง ด้วยเงื่อนปมมากมายทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กฎหมาย และการเมือง ที่ต้องศึกษาอย่างใคร่ครวญ แต่โดยนัยนี้เอง ที่นักประวัติศาสตร์ผู้ยังมีความเคารพตัวเองเหลืออยู่บ้างย่อมจะไม่ตัดตอนประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้เอาไว้เพียงแค่การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสกับคำตัดสินของศาลโลกในส่วนของปราสาทพระวิหาร แล้วข้ามบริบทอื่นทั้งหมด เพื่อจะสรุปเอาว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาแต่ไหนแต่ไรมา
            และนักวิชาการที่ซื่อสัตย์ต่อข้อเท็จจริงย่อมจะไม่เข้าร่วมขบวนแห่ผ้าป่าแผ่นดินไทยไปส่งมอบให้กัมพูชา พลางกล่าวประณามคนชาติเดียวกันที่ทักท้วงคัดค้านว่าเป็นพวกคลั่งชาติ
            ในทางตรงข้าม สถานการณ์ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ยากเกินจะทำความเข้าใจว่า
            หนึ่ง-คำตัดสินของศาลโลกจำกัดขอบเขตอยู่ที่ตัวปราสาท
            สอง-แผนที่ฝรั่งเศสที่กัมพูชาอ้างตลอดมาเป็นมรดกของนักล่าอาณานิคม
            สาม-แนวพรมแดนตามแผนที่ดังกล่าวขัดต่อหลักการสากล
            สี่-เขาพระวิหาร หากใครจะไม่ยอมรับว่าเป็นเขตแดนไทย ก็ต้องถือเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่สองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์
            ห้า-การรับรองให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกจึงเสี่ยงต่อการเสียอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร
            หก-เอกสารที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกระบุชัดว่า ในขั้นนี้ขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทไปก่อน
            เจ็ด-แผนที่แนบเอกสารเป็นแผนที่ตามข้อสอง เพียงแต่มีการขีดเส้นแสดงส่วนพื้นที่ปราสาทที่ขอขึ้นทะเบียนก่อน
            แปด-การรับขึ้นทะเบียนมรดกโลกขัดต่อหลักเกณฑ์ความสมบรณ์ี่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดเอง
            เก้า-องค์ประกอบความสมบูรณ์ที่ว่านั้น อยู่นอกขอบเขตคำตัดสินศาลโลก
            สิบ-คณะกรรมการมรดกโลกถือสิทธิ์เหนืออธิปไตยไทยด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วม 7 ชาติเข้ามาบริหารพื้นที่รอบปราสาท
            นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และนี่คือฉากทัศน์ที่จะเกิดต่อไป
            สิบเอ็ด-การยอมรับบทบาท/อำนาจของคณะกรรมการร่วมดังกล่าว มีนัยที่ตีความได้ว่าไทยปฏิเสธแผนที่ตัวเอง และยอมรับที่จะสละอธิปไตยเหนือพื้นที่นั้น
            สิบสอง-ในที่สุดปราสาทและเขาพระวิหารในฐานะมรดกโลกที่สมบูรณ์จะเป็นของกัมพูชาฝ่ายเดียว
            สิบสาม-คดีพิพาทเรื่องเขตแดนกับกัมพูชาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ไทยจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และสูญเสียทุกกรณี
            สิบสี่-รวมถึงไปถึงเขตน่านน้ำไหล่ทวีปและทรัพยากรในบริเวณนั้น
            เราไม่จำเป็นต้องยกโยนความผิดไปให้ประเทศมหาอำนาจที่แสดงชัดว่าล้วนเฝ้ารอจะฉกฉวยผลประโยชน์ต่อจากกัมพูชา เราอาจจะแกล้งปิดตามองไม่เห็นผลประโยชน์แลกเปลี่ยนกับดินแดนที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งผลักดันเรื่องนี้จะได้รับ แต่เราจะยอมทนอย่างสิ้นหวังกับอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล กระบวนการปล้นชาติขายแผ่นดินอย่างไร้สำนึกเช่นนี้กันต่อไป
            หรือเราจะลุกขึ้นมาชำระล้างสิ่งปฏิกูลเพื่อ เกิดใหม่
#
23 กรกฎาคม 2551
(ตีพิมพ์ในคอลัมน์ "The Circle" นิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2551)

4 ความคิดเห็น:

  1. ชอบมากครับ โดยเฉพาะบท Destiny

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2 มกราคม 2555 เวลา 00:29

    แอบเดาว่าคุณอยากเขียนถึงประเด็นเขาพระวิหาร'ก่อน'?
    ค้นข้อมูลดีจังค่ะ ย่อยให้อ่านง่าย
    เล่าเรื่องก็ดีค่ะ
    อืมมมมม-เหมือนๆๆเคยได้ดูซีรีย์นี้เหมือนกันนะ
    ชอบ (อีกแล้ว) ค่ะ

    ตอบลบ
  3. น่าจะเดาถูกนะครับ
    ผมก็เลือนๆ ไปบ้างเหมือนกัน
    แต่ที่จำได้แน่ๆ ก็คือ ซีรี่ส์นี้เข้มข้น น่าดูมาก

    ตอบลบ