วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บุกบ้านบรรณ

บรรณ สุวรรณโณชิน น่าจะเป็นนักเพลงที่อยู่ใกล้ชิดผมมากที่สุด
            ในแง่ที่ว่า พอผมเลี้ยวซ้ายออกจากปากซอยบ้าน เลียบคลองประปาไปสอง-สามอึดใจ เลี้ยวซ้ายอีกทีที่หัวมุมกระทรวงการคลัง ตรงไปอีกนึดนึงก็ถึงซอยบ้านเขาแล้ว
            เมื่อเห็นเขาบ่นผ่าน Facebook ว่า เสร็จลงจนได้ อัลบั้มนี้เหนื่อยอิ๊บอ๋าย” ผมก็นึกอยากฟังขึ้นมา และทางที่เร็วที่สุดโดยไม่รบกวนใคร ก็คือ ไปฟังที่บ้านของบรรณ
“อัลบั้มนี้” ของบรรณ หมายถึง “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี เป็นทริบิวต์อัลบั้มที่คัดสรรเพลงของวงดนตรีที่เป็นตำนานเพลงโฟล์ค มาทำใหม่ในสไตล์ Bun-Bun
            ทำไมถึงเป็น “ชาตรี” ผมถามทั้งที่มีคำตอบอยู่ในใจว่า คงเป็นเพราะคนรุ่นเขาเองโตมากับเพลงของวงนี้ และชาตรีก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาจับกีตาร์ แต่คำตอบที่มากกว่านั้นก็คือ ยังมีงานของศิลปินอีกมากที่เขาอยากทำ อย่างเช่น สุรพล สมบัติเจริญ, ดิ อิมพอสสิเบิ้ล, แกรนด์เอ็กซ์ เพียงแต่โอกาสในการทำเพลงชาตรีมาถึงก่อน “แฟนคลับชาตรีส่วนหนึ่งเป็นแฟนเพลงของเราด้วย ก็สนับสนุนกัน เรื่องลิขสิทธิ์เพลงก็เคลียร์กันได้หมด”
            ลิขสิทธิ์เพลงไทยเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าปวดหัว เรามีลิขสิทธิ์เพลงเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของคนเขียนเนื้อร้อง คนแต่งทำนอง แต่บ่อยครั้งที่โครงสร้างทางธุรกิจบิดเบือนกรรมสิทธิ์ตรงนี้ไปในรูปรอยและวิธีการต่างๆ กันในแต่ละยุค
            ในกรณีของ “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี การ “เคลียร์” ยังหมายถึงค่าลิขสิทธิ์เพลงที่ค่ายเพลงเล็กๆ สามารถจ่ายได้ “ถ้าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงละสามหมื่นห้าหมื่นก็ไม่ไหว” คูณสิบเข้าไป การแบกต้นทุนค่าเพลง 300,000 บาทเป็นอย่างน้อยต่อหนึ่งอัลบั้ม โดยที่ยังไม่ได้เริ่มคำนวณต้นทุนอะไรอื่นเลย ไม่เพียงแต่เกินความสามารถที่ค่ายเพลงเล็กๆ จะแบกรับ การปรับตัวหลายๆ ระลอกของบริษัทมหาชนในยุคดิจิทัลดาวน์โหลดก็สะท้อนสถานการณ์ธุรกิจดนตรีปัจจุบันได้หลายแง่มุม
            การที่บรรณประคอง “ใบชาซอง” ของเขามาได้หลายปี ก็โดยการทำทุกอย่างที่ทำได้ด้วยตัวเอง เขาแต่งเพลงเอง เรียบเรียงเอง โพรดิวซ์เอง เล่นเอง(บางส่วน) ร้องเอง(บางเพลง/บางชุด) และบันทึกเสียงในสตูดิโอเล็กๆ ของตัวเอง ผมขอให้เขาคำนวณยอดขายที่ช่วยให้อยู่รอดปลอดภัยได้ในยุคนี้ บรรณเคาะออกมาที่ 3,000 แผ่นต่ออัลบั้ม ซึ่งไม่มากเลยทั้งจำนวนชุดและจำนวนเงินที่กลับมา
            แต่จะทำอย่างไร ถ้าคุณขายได้แค่ 500 แผ่น?
บรรณ สุวรรณโณชิน ในสตูดิโอ (ที่บ้าน)

งานของบรรณอยู่ในกลุ่มงานเพลงที่ “ไม่ขาย” มาตั้งแต่อัลบั้ม “บราซิล” ที่ออกกับอาร์เอส
            แม้แต่อัลบั้ม “สำนวนสวนสัตว์” ในปี 2548 ที่เปิดทางให้เขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางครั้งแรก พร้อมด้วยเสียงชื่นชมมากมาย กับอีกหลายรางวัลที่ได้รับ ก็มียอดขายเพียง 500 แผ่น ในตอนที่บริษัทจัดจำหน่ายเริ่มเก็บแผ่นออกจากตลาด โดยมียอดคืนสูงกว่ายอดขาย 9 เท่า
            แต่นั่นก็เป็นการพิสูจน์คน กับความหมายมั่นที่มี บรรณยังออกผลงานต่อมาทุกปี แต่มียอดผลิตที่ลดลงตามลำดับ จนมาถึงโครงการนำเสนอคุณแม่ยาย “สวีทนุช” ในอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ปี 2551 บริษัทจัดจำหน่ายบอกว่า “300 ก็พอ” แต่อัลบั้มที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิงนี้ กลับประสบความสำเร็จใหญ่โต กลายเป็นอัลบั้มหาซื้อยากโดยไม่ต้องมีใครปั่นกระแส เพราะแผ่นที่ผลิตออกมาทั้งหมดมีเพียง 500 แผ่น
            สุดท้าย เมื่อซัพพลายสมดุลกับดีมานด์ ยอดขายก็ไปถึงหลักหมื่น และเปิดพื้นที่ให้ใบชาซองได้มีที่ทางของตัวเองอยู่ในธุรกิจดนตรี
            ในความผกผันระหว่าง “สำนวนสวนสัตว์” มาถึง “สวีทนุช” บรรณเรียนรู้หลายอย่าง หนึ่งคือ การแจกแผ่นไปตามรายการวิทยุ ตอนทำ “สำนวนสวนสัตว์” เขาวิ่งหว่านไปเท่าไร ก็แทบไม่มีใครเปิดออกอากาศ แต่กับ “สวีทนุช” รายการมากมายที่ไม่เคยเปิดเพลงของใบชาซองมาก่อน และเขาก็ไม่มีกะใจจะเอาไปแจกแล้ว กลับหามาเปิดกันจนได้
ช่องทางจัดจำหน่ายก็เป็นปัญหาใหญ่ ค่ายเล็กกับงานที่ขายได้จำกัด มีพื้นที่และเวลาวางอัลบั้มอย่างจำกัด กว่าที่การขานรับของสื่อที่เดินทางช้าอย่างนิตยสาร และการบอกต่อของแฟนเพลงจะช่วยกระจายความสนใจออกไป บ่อยครั้งที่รอบการเก็บแผ่นคืนมาถึงเสียก่อน สิ่งที่บรรณได้เรียนรู้ต่อมาก็คือ ร้านซีดีที่เปิดรับงานชุดย้อนหลังของเขาเป็นช่องทางการขายที่สำคัญ และเขาก็เริ่มโฟกัสตลาดชัดเจนขึ้น โดยข้อมูลที่สะท้อนจากช่องทางการขายเหล่านี้ ควบคู่ไปกับช่องทางสื่อสารกับคนฟังเพลงผ่านทางเว็บไซต์ www.baichasong.com และเฟซบุ๊ค
นั่นก็คือที่มาของการทำ “ใบชา song ร้องเพลง ชาตรี ที่จะพึ่งพาระบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบน้อยลง และเปิดการขายตรงด้วยรูปแบบ Limited Edition จำนวน 999 ชุด ในราคา 650 บาท ซึ่งผมคงบอกไม่ได้ว่าถูก แต่เท่าที่เห็นบางส่วนของแพ็คเกจพิเศษที่ยังไม่เสร็จดี ก็เห็นความตั้งใจของคนทำที่จะให้เป็นงานสะสมที่มีคุณค่าในตัวเอง
แต่เราซื้อซีดีเพื่อฟังเพลงเป็นอย่างแรกนี่นา...
เป็นธรรมดาที่โพรดิวเซอร์จะเลือกเพลงในมุมมองของเขา บรรณเลือกเพลงของชาตรีโดยไม่มีเพลงอย่าง “จากไปลอนดอน” หรือ “แฟนฉัน” ด้วยเหตุผลว่า “ช้ำ” ซึ่งทำให้ “ทำยาก”
            สิ่งที่ผมรู้สึกตั้งแต่ฟัง “สำนวนสวนสัตว์” ก็คือ บรรณเป็นคนมีไอเดีย และตั้งใจทำงาน ส่วนของไอเดียที่สะท้อนในการทำทริบิวต์อัลบั้มเพลงของชาตรี คือการเรียบเรียงดนตรีออกมาหลากหลายลีลา เขาให้ สวีทนุชร้อง “รักครั้งแรก” ในจังหวะแทงโก้ ตัวเขาเองร้อง “เธอเปลี่ยนใจ” ในสไตล์บอสซาโนวา กับ “อย่าลืมฉัน” ในแนวพ็อปเนียนๆ และร้อง “รักต้องตอบด้วยรัก” คู่กับอุ๊บอิ๊บส์ ในแนวโฟล์คง่ายๆ ตัวอุ๊บอิ๊บส์ร้องอีกเพลง “เข้าใจรัก” ที่ตั้งใจทำแนวอิเล็กทรอนิกส์บางๆ ที่เป็นลูกทุ่งจากเสียงของเบิร์ด ธรรมรัตน์ กับกุ๊ก อรสุรางค์ ก็ได้พลิกอารมณ์ไปเป็นลูกทุ่งจริงๆ
            แต่ไอเดียก็ดูจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ผมเข้าใจว่าบรรณจำเป็นต้องจัดสมดุลระหว่างแนวดนตรีตามไอเดียของเขา กับข้อจำกัดของนักร้องที่เขามี ได้ยินเขาเปรยๆ อยู่เหมือนกันว่ามีนักร้องอีกสามคนที่น่าจะได้มาร่วมร้องในอัลบั้มนี้ อาจเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าบางเพลงในส่วนที่ร้องโดยคนใกล้ชิดมีการปรับหาจุดลงตัวบางอย่างกับแนวดนตรีที่น่าจะเป็น
            แต่กับนักร้องรับเชิญสามคน เหมือนกับบรรณมีภาพชัดแต่แรกแล้วว่า ใครเหมาะที่จะร้องเพลงไหน ในลีลาใด แล้วมันก็ออกมาสมบูรณ์ทีเดียว ทั้ง สายชล ระดมกิจ กับ “ที่รักอย่าจากพี่ไป” ในลีลาดิอินโนเซ้นท์ บี๋ คณาคำ อภิรดี กับอารมณ์ซึ้งใน “เหมือนฝัน” และความเบิกบานของสุเมธ องอาจ ในเพลง “ทะเลของเรา
            ศิลปินรับเชิญอีกคนคือ ชีพชนก ศรียามาตย์ ไม่ได้มาร้องแต่มาเดี่ยวกีตาร์เพลง “เหมือนฝัน” ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงที่มีแต่ในชุด Limited Edition เท่านั้น ถ้าไม่ได้ฟังอาจจะรู้สึกว่าไม่เป็นไร แต่ผมได้ฟังแล้ว เสียดายเหมือนกันที่แผ่นวางขายทั่วไปจะไม่มีเพลงนี้รวมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเพลงบรรเลง “ใบชาตรี” ที่บรรณแต่งขึ้นใหม่ในสไตล์ของชาตรี
            ส่วนที่สะท้อนถึงความตั้งใจทำงาน คือ รายละเอียดของงานในแต่ละองค์ประกอบ และคุณภาพงานโดยรวม ตั้งแต่คุณภาพเสียงและการบันทึกเสียง การมิกซ์และทำมาสเตอร์ การออกแบบปกและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทำให้งานที่ออกมาในนามใบชาซอง มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์ และวางใจได้มาตลอดหลายปี
            คำว่า “วางใจได้” มีความสำคัญมากในตลาดเพลงระดับออดิโอไฟล์ งานที่ผ่านมาของบรรณ เป็นที่กล่าวถึงและยอมรับกันมากขึ้นเป็นลำดับในคนฟังเพลงจากเครื่องเสียงชั้นดี ที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดีพอๆ กัน (หรือมากกว่า) เพลงที่ชอบ และบรรณก็ใช้ช่องทางงานแสดงเครื่องเสียงที่จัดกันหลายราย ปีละหลายครั้ง เป็นช่องทางการขายและสร้างฐานแฟนเพลงในตลาดนี้ขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ
            แม้จะต้องแลกกับเสียงบ่นว่า “เหนื่อยอิ๊บอ๋าย” ซึ่งเป็นผลโดยตรงมาจากการที่ต้องแบกรับความคาดหวังเรื่องคุณภาพเสียงจากคนฟังกลุ่มนี้ แต่เมื่อถามไถ่ต่อไป บรรณบอกว่าเป็นงานเหนื่อยที่มีความสุข
            การทำงานอาจจะยากขึ้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำอยู่แล้ว
#
2 มีนาคม 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2554)

1 ความคิดเห็น: