วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

The Way We Walk

คงเป็นเพราะผมไปจากเมืองซึ่งสิทธิของคนเดินเท้าถูกละเมิดมากที่สุดแห่งหนึ่ง ผมจึงหลงใหลได้ปลื้มกับบ้านเมืองใดก็ตามที่รักษาทางเท้าไว้ให้เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของคนเดินเท้า
            มันคงไม่ใช่ความดัดจริตของชนชั้นไหน อย่างที่เดี๋ยวนี้ชอบยกมาเป็นข้อต่อสู้/กล่าวหา เวลาที่มีคนคิดแตกมองต่าง (แล้วไม่รู้จะเอาอะไรไปถกกับเขา) แต่มันเป็นเรื่องของสิทธิ อันผูกโยงกับเทศะ กาละ และบริบท
            สำหรับผม-ทางเท้าก็คือพื้นที่สำหรับคนเดินเท้า และถ้ามันกว้างขวางเพียงพอ มันก็คงไม่เป็นไร หากเราจะแบ่งปันให้เป็นทางรถจักรยานบ้าง จอดรถจักรยานบ้าง ตู้โทรศัพท์และส้วมสาธารณะบ้าง อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ส่วนรวม
            แต่ ไม่ใช่แผงสินค้าที่ยื่นจากร้านออกมา ไม่ใช่แผงลอย-ซึ่งแม้จะผ่อนผันและตีเส้นให้แล้ว ก็ยังต้องให้ได้ล้ำเส้นออกมา ไม่ใช่รถเข็นและโต๊ะนั่งกินอาหาร รวมถึงที่ล้างจานชาม ไม่ใช่วินมอเตอร์ไซค์ และยิ่งไม่ใช่ที่ปลูกต้นโฆษณา
            การใช้ประโยชน์แบบนั้น เราอาจยกเว้นให้ได้ในบางย่านบางเวลา เพื่อเป็นสีสัน เป็นชีวิต เป็นกิจกรรมวันหยุด หรืออะไรอีกหลายๆ อย่าง แต่ไม่ใช่ว่าใครอยากจะทำอะไรบนทางเท้าที่ไหน ก็ต้องได้ทำ
            ยกเว้นการเดินอย่างสะดวก ปลอดภัย และสบายใจ
ผมอาจจะเคยเดินทางไปไม่กี่ประเทศ แต่ก็ได้ประสบการณ์บนทางเท้าที่หลากหลายพอสมควร
            ผมชอบบรรยากาศทางเท้าที่เรียบริมฝั่งทะเลของเล็กซานเดรีย เช่นเดียวกับที่เคยชอบทางเดินริมอ่าวมนิลา บรรยากาศของเมืองและภูมิทัศน์เฉพาะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่มันก็สะท้อนความอึดอัดของคนที่มาจากประเทศซึ่งพื้นที่ริมแม่น้ำริมทะเลส่วนใหญ่ไม่ใช่พื้นที่เปิดสำหรับสาธารณชน
            ญี่ปุ่นเป็นประเทศซึ่งถ้าไม่ใช่ที่สุด ก็ต้องติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่ “น่าเดิน” ทั้งในแง่ความสะดวก ปลอดภัย และเคารพ-ให้เกียรติคนเดินเท้า ทั้งบนดินและใต้ดิน เวลาเราไปมหานครที่แออัดอย่างโตเกียว เราอาจจะคิดได้ว่า กระบวนทัศน์เรื่องทางเท้าและการเดินเป็นผลิตผลของการเดินทางในโตเกียวเอง ที่ต้องอาศัยระบบขนส่งมวลชนเป็นหลักและมีการเดินเท้าเป็นสิ่งเชื่อมโยง ซึ่งก็อาจจะใช่ เมื่อเราคิดในมุมที่มองกลับมายังกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศนี้ ที่ส่งเสริมความสะดวกสบายในการเดินทางด้วยรถส่วนบุคคลและมีวินรถตู้กับวินมอเตอร์ไซค์เป็นสิ่งเติมเต็ม
            แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่านั้นก็คือ: วิสัยทัศน์ทางผังเมืองและการขยายตัวของเมือง กระบวนทัศน์ทางโครงสร้างสาธารณูปโภคและการเดินทาง-ขนส่ง โลกทัศน์ของผู้บริหารประเทศและเมือง และที่เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง--ชีวทัศน์และจิตสำนึกสาธารณะของพลเมือง
            ซึ่งสำหรับญี่ปุ่น โครงสร้างของระบบการเดินทางสัญจรทั้งหมด จากทางเท้าถึงรถไฟใต้ดินและรถไฟความเร็วสูง เป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างทั่วถึงและสมดุล ไม่เฉพาะแต่โตเกียว แต่เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างมองเห็นและได้ใช้ประโยชน์ ทั้งใน โยโกฮาม่า โอซาก้า นาโงย่า ฮิโรชิม่า นารา เกียวโต ฯลฯ
ผมไปโอซาก้าช่วงปีใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ได้เดิน เดิน และเดิน อย่างจริงจัง ในเมืองนี้
            เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เคยไปเตร็ดเตร่อยู่ย่านสถานีเจอาร์โอซาก้าเพียงประเดี๋ยวประด๋าวพอได้บรรยากาศว่าไปถึงโอซาก้าแล้ว ก่อนเดินทางต่อไปเมืองอื่น เมื่อไม่กี่ปีก่อน คณะทัวร์ก็จัดให้ไปเดินดูคนดูของย่านชินไซบาชิอยู่สองสามชั่วโมง นอกเหนือไปจากสถานที่ "ต้องไป" ประเภท ปราสาท พิพิธภัณฑ์ และสวนสนุก
            คราวนี้ ผมปักหลักอยู่หลายวันในโรงแรมย่านนัมบะ ซึ่งเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกสบายอย่างยิ่ง เพราะรถบัสไป-กลับสนามบินก็มีต้นสายอยู่ที่นี่ สถานีรถไฟเจอาร์ก็อยู่ติดกัน เดินลงใต้ดินไปอีกนิดก็เป็นสถานีรถไฟใต้ดินสามสายอยู่เรียงกัน
            ทางใต้ดินตรงนี้ มีชื่อเฉพาะว่า Namba Walk สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมสถานีเจอาร์และสามสถานีรถไฟใต้ดินเข้าด้วยกัน แล้วก็ถือโอกาสทำเป็นศูนย์การค้าใต้ดินขนาดใหญ่ มีร้านค้าร้านอาหารมากมายตลอดเส้นทาง ซึ่งไปโผล่ที่ย่านโดตองบุริ (ที่ใครไปแล้วต้องไปถ่ายรูปกับป้ายไฟโฆษณากูลิโกะและภัตตาคารที่มีรูปปูยักษ์เป็นเครื่องหมาย) และจากตรงนั้น ถ้ายังมีแรงเหลือ ก็จะเดิน(บนถนน)ไปได้เรื่อยๆ จนถึงย่านชินไซบาชิ เป็นเส้นทางที่ทำให้นักช้อป “หลง” ได้เป็นวันๆ หรือหลายวัน เลยทีเดียว
            ตรงช่วงสถานีเจอาร์ต่อกับสถานีรถไฟใต้ดิน มีพื้นที่ที่เรียกกันว่า Chicago Gallery เป็นหอศิลป์แบบเปิด ที่ประดับด้วยงานจิตรกรรมยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ของอัครศิลปินอย่าง โกแกง, ฟาน ก๊อก, โมเนต์, เรอนัวร์ ฯลฯ รวมจำนวน 60 รูป

 Chicago Gallery ที่ Namba Walk เป็นหอศิลป์แบบเปิด 
ให้คนเดินผ่านได้ชื่นชมงานมาสเตอร์พีซจากยุคอิมเพรสชันนิสม์อย่างใกล้ชิด

           แวบแรกที่เห็น ผมถึงกับอึ้ง ตะลึง จนเดินต่อไม่ถูก ใครจะไปคิดล่ะครับ ว่าอยู่ๆ ก็จะได้เห็นผลงานระดับโลกมาติดวางให้ชื่นชมอยู่สองข้างทางเดินแบบนี้ ถึงจะไม่ใช่ชิ้นงานจริงก็เถอะ แต่งานที่จำลองมาอย่างประณีตด้วยฝีมือระดับสุดยอดแบบนี้ มาติดตั้งไว้บนทางที่คนเดินผ่านไปมาเป็นแสนๆ อย่างนี้ ถือเป็นความท้าทายระดับเทพเลยทีเดียว ท้าทายทั้งในแง่ศิลปศึกษาต่อมหาชน และท้าทายในแง่ที่ว่ามันจะรอดจากมือคนไปได้กี่ปี
            คำว่า “รอด” จาก “มือคน” กินความรวมหมดทั้งในกรณีสูญหายจากโจรกรรม เสียหายจากการแต้มเติมของคนมือบอน และเสื่อมโทรมไปตามสภาพแวดล้อม-เวลา-และรอยมือ ในกรณีหลังนี้ ผมมาค้นข้อมูลพบว่า เขาวาดกันบนแผ่นเซรามิกด้วยสีชนิดพิเศษ ซึ่งวิจัยกันแล้วว่าเหมาะกับสถานที่เปิดโล่งแบบนี้ ทั้งจะยังคงทนได้นานนับพันปี  ส่วนในสองกรณีแรก หกปีที่เปิดแกลเลอรี่นี้มา ก็คงเป็นคำตอบในตัวของมันเอง
            โครงการนี้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของ The Art Institute of Chicago ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและคัดสรรผลงานทั้ง 60 ชิ้นนี้ ในโอกาสฉลอง 30 ปี ความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างโอซาก้ากับชิคาโก เมื่อปี 2004 ส่วนที่ชิคาโก้นั้น ทางโอซาก้าก็ไปช่วยจัดสร้างสวนหินแบบญี่ปุ่นขึ้นมา จากจุดนี้ ผมก็ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาว่า ความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง หรือ sister city เขาเป็นกันได้กับหลายๆ เมือง อย่างที่โอซาก้านี่ เขายังมี sister city อีก 8 เมือง คือ เมลเบอร์น, มิลาน, เซนต์ ปีเตอร์สเบอร์ก, ซาน ฟรานซิสโก, คันปูร์, เซาเปาโล, เซี่ยงไฮ้, ฮัมบูร์ก
            แต่ถ้าวัดกันโดยถือจำนวนเป็นสำคัญ คงเทียบกับกรุงเทพฯ ของเราไม่ได้ เพราะเท่าที่ค้นดู เรามีพี่น้องอยู่ไม่น้อยกว่า 21 เมือง
            ไม่แพ้คนที่นิยม add friend ใน facebook เลยทีเดียว
ที่แปลกตาสำหรับผมอีกอย่าง คือ การใช้จักรยานในโอซาก้า


ธรณีนี่นี้เป็นพยาน: ทางของคน ทางของรถจักรยาน ในโอซาก้า

            ผมไม่แปลกใจที่เห็นการใช้จักรยานของคนในเมืองสงบอย่าง นารา หรือกระทั่งเกียวโต แต่ไม่เคยรู้ว่าเมืองใหญ่อันดับ 2 ทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และอันดับ 3 ทางด้านจำนวนประชากร ทั้งยังมีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่สูงกว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่มีคนใช้จักรยานเป็นพาหนะอย่างหนาตา แม้กระทั่งห้างใหญ่อย่าง Bic Camera ที่เป็นศูนย์รวมเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีแผนกจักรยานและอุปกรณ์ขนาดใหญ่โตตรงทางเข้า
            ด้วยความที่ทางเท้าของเขากว้างขวาง นอกจากใช้เป็นที่จอดจักรยานได้โดยไม่รบกวนคนเดินแล้ว ในย่านรอบนอกออกไปยังเห็นรถจักรยานปั่นกันบนฟุตปาธเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยประกอบด้วย เพราะรถยนต์วิ่งกันได้ค่อนข้างเร็ว พอเข้าย่านชุมชนเขตเมืองที่เต็มไปด้วยคนเดิน จักรยานก็ลงไปแจมกับรถยนต์บนถนนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
            ไม่เสี่ยงชีวิต
#
2 กุมภาพันธ์ 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น