วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

มากเกินไป–น้อยเกินไป

ในวันที่หนังสือแปลท่วมท้น 
วันที่ดูเหมือนนักแปลจะเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมากยิ่งกว่าคนรุ่นเก่า
และวันที่หนังสือถูกผลิตอย่างเป็นระบบ
มีทั้งบรรณาธิการเล่ม และบรรณาธิการสำนักพิมพ์
แต่ทำไม หนังสือแปลเล่มด่วนที่ให้รสฝาดเฝื่อนฝืดคอ
จึงมีจำนวนมากกว่าเล่มที่ให้ความรื่นรส
มากขึ้นและมากขึ้น


SFMoMA (final set) - Chairs, Typewriters & Twist
photo © 2010 Michael Wade | more info (via: Wylio)


ตัดไม้ทั้งป่ามาทำเก้าอี้ตัวเดียวคงเป็นประโยคแสลงหูนักอนุรักษ์ และตกสมัยในยุคของการรีดเอาอรรถประโยชน์สูงสุดจากทุกสิ่ง
            แต่นั่นคือคำคารวะของวงวรรณกรรมไทยต่องานชั้นครู ของประมูล อุณหธูป หรือครูมูลของคนรุ่นศิษย์ที่ใกล้ชิด รวมตลอดจนถึงคนที่ได้ชิดเชื้อกับรุ่นศิษย์เหล่านั้นอีกต่อ
            ในนาม อุษณา เพลิงธรรม ครูมูลได้เสกสรรค์ เรื่องของจัน ดาราอันลือเลื่อง กระทั่งเมื่อผู้อ่านนิตยสาร ชาวกรุงเพรียกหางานใต้นามปากกานั้นอีก ได้นิยามด้วยคำว่า เรื่องที่อ่านแล้วท้องได้ของ อุษณา เพลิงธรรม”           
            กับงานบรรณาธิการเรื่องสั้นโดยเฉพาะในยุคทองของ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์อันเข้มงวดและพิถีพิถัน ครูมูลช่วยขัดเงาเกลากลึงงานของนักเขียนรุ่นใหม่คนแล้วคนเล่า สุรชัย จันทิมาธรในวันก่อนที่จะมาเป็นหงา คาราวาน ไม่รู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จกับการเขียนเรื่องสั้น จนกว่างานของเขาจะผ่านครูมูลได้ตีพิมพ์ และความภูมิใจสูงสุดในชีวิตการเขียนของเขาอาจยังไม่มีครั้งไหนเกินไปกว่าครั้งแรกที่เรื่องสั้นของเขาปรากฏในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์’––ไม่ใช่เรื่องเดียว แต่สองเรื่องพร้อมกัน
            และในนามจริงประมูล อุณหธูป กับบทบาทของนักแปลที่ไม่มีคนที่สอง อาจินต์ ปัญจพรรค์เคยกล่าวถึงไว้ว่า แต่ละบรรทัดของแกนี่ใช้เวลา ไม่ใช่เอาแต่ทิ่มพรวดๆ... คิดแล้วคิดอีกกว่าจะใช้คำอะไรสักคำ ถ้าเราดูในโลกียชนนะ เป็นตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการซึ่งลูกสาวของครู-ศิเรมอร อุณหธูป ได้ขยายความบุคลิกการแปลของพ่อว่าประณีตทุกตัวอักษร ปรานีปราศรัยกับภาษาถึงขั้นละเอียดลอออย่างแท้ จริง
            ‘โลกียชนที่ครูมูลแปลจาก ‘Tortilla Flat’ ของจอห์น สไตน์เบ็ค เป็นงานที่ได้รับการอ้างอิงเสมอเมื่อพูดกันถึงงานแปลที่เข้าถึงภาษาเดิมอย่างลึกซึ้ง และถ่ายทอดออกมาด้วยความเข้าถึงภาษาไทยในลักษณะเดียวกัน ภูมิประเทศของเมืองมอนเทอเรย์ที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวทั้งหมดเมื่อผ่านถ้อยคำของครูมูล อาจแทนภาพได้นับพันตอนเหนือขึ้นไปบนภูเขาอันเป็นบริเวณที่ป่ากับเมืองปนเปกันอยู่ ถนนหนทางยังไม่ประสีประสาต่อยางมะตอย และตามซอกตามมุมก็ยังเป็นเสรีจากแสงไฟถนนอยู่
            เมื่อแนะนำแดนนี่-ตัวละครเอก เพียงอ่านพบถ้อยคำเรียบสั้น (แต่เท่) ในประโยคเขาเกี่ยวพันเป็นสังคญาติกับชาวที่ราบนั้นแทบจะทั่วทุกคนก็ว่าได้ ไม่โดยเชื้อสายก็ในฉันชู้สาวคนเคยแปลหรืออยากแปลหนังสือทั้งหลายอาจได้แต่อึ้ง ตะลึงใจ เช่นเดียวกับครั้งที่ครูมูลถอดชื่อหนังสือที่เขียนขึ้นจากหนังคาวบอยเรื่อง ‘For A Few Dollars More’ ออกมาเป็นเก็บเบี้ยในรังโจร
อาจินต์ ปัญจพรรค์ยังพูดถึงความละเมียดในการทำงานของครูมูลว่า ไม่มากเกินไป (แต่) คนทำงานอย่างแกมีน้อยเกินไปแม้กระทั่งในยุคที่ธุรกิจหนังสือให้ผลงอกงาม วันที่หนังสือแปลเบียดกันอยู่เต็มร้านจนเลือกอ่านไม่หวาดไหว นักแปลที่ได้สักครึ่งของครูมูลก็ยังมีน้อยเกินไป และน้อยลงกว่าเดิมโดยสัดส่วน
            ว่าที่นักแปลคนหนึ่งพยายามเดินตามความสนใจที่ตัวเองมีต่อการแปลงานวรรณกรรม เขาเคยถามเคล็ดวิธีในการแปลจากนักแปลและบรรณาธิการหลายคน และมาติดใจในประเด็นการรักษาน้ำเสียงของผู้เล่าเรื่อง ซึ่งก็คงสอดคล้องกับที่ครูมูลเคยกล่าวว่าการแปลที่ดีที่น่านับถือคือสามารถแปลได้ออกรสดีตามครรลองของต้นเรื่อง ซึ่งก็คือจะต้องรักษาสำบัดสำนวนของเขาเอาไว้ให้ถูกต้องตรงกัน อย่างน้อยก็ควรรักษาเอาไว้ให้มากที่สุด
            เขาเริ่มต้นได้ไม่เลวนักกับเรื่องสั้นๆ ลองมือ แต่ก็ยอมรับว่าในความยากและความงงงวยเหมือนมีเสียงตะโกนบอกว่า นี่เพิ่งตีนดอย... ไอ้น้องเอ๋ยอุปมาว่าผมจะขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพคนเคยแปลจึงบอกกับเขาโดยอุปไมยให้ก้าวขึ้นบันไดแต่ละขั้นไปให้ได้ท่า เพราะว่าการวิ่งตะบึงขึ้นไปโดยยังไม่คุ้นระยะขั้นและความชันของบันได กำลังขาอาจไม่เป็นใจพาให้พลาดพลิกขาแพลงได้สิ่งที่สำคัญและต้องมุ่งให้ได้ก่อนเข้าไปถึงน้ำเสียงสำนวนผู้เขียน ก็คือการแปลความที่ถูกต้อง และตีความหมายที่ซับซ้อนให้แตก
            ยี่สิบกว่าปีมาแล้วที่ครูมูลเอ่ยเตือนไว้ว่าอย่าเที่ยวได้ผันแปรของเขาไปดะแบบทำ ฟาสท์ ฟูดชนิดสุกเอาเผากินเป็นอาชีพนักแปลหลายคนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์หลายแห่งอาจไม่เคยได้อ่านไม่ได้ยิน หนังสือแปลเล่มด่วนที่ให้รสฝาดเฝื่อนฝืดคอจึงมีจำนวนมากกว่าเล่มที่ให้ความรื่นรส มากขึ้นและมากขึ้น แม้ในหนังสือที่เราไม่ได้คาดหวังรสเลิศทางวรรณศิลป์
            อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โตนัก หาก แบล็คเบอรีจะถูกตีความเสมือนหนึ่งผลิตภัณฑ์พันธุ์เดียวกับ เบอร์เบอร์รีเมื่อแรกปรากฏในนิยายกลุ่มชิค-ลิตเรื่องหนึ่ง แต่การใช้งานสิ่งนั้นในตอนต่อมา ก็น่าจะพอทำให้(ผู้แปล)เฉลียวใจได้(พอๆ กับผู้อ่าน)ว่านี่คืออุปกรณ์สื่อสารไร้สายชนิดแรกที่รับ-ส่งอีเมล์ได้ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในอเมริกา กรณีที่แย่กว่านั้นคือ การถ่ายชื่อ ‘Subway’ ออกมาตรงๆ ในความหมาย รถไฟใต้ดินทั้งที่เป็นคำเฉพาะที่ใช้ตัวพิมพ์ใหญ่และเนื้อหาในช่วงนั้นกำลังอธิบายถึง วิธีการติดป้ายโฆษณา/แนะนำสินค้าในร้านอาหารจานด่วน รวมทั้งการพิมพ์ข้อความบรรยายสรรพคุณอาหารบนแผ่นรองถาดและกระดาษเช็ดปาก ไม่พักต้องพูดถึงสาขาหลายแห่งของร้านแซนด์วิชชื่อเดียวกันนี้ที่มาเปิดอยู่ ริมถนนสุขุมวิท
            คนอ่านควรทำอย่างไร เมื่อในหนังสือทางการตลาดและโฆษณา เขียนลอยๆ ขึ้นมาถึงนักร้องโอเปร่า ร้องเพลงชื่อ Lucky Strike ’ แต่เรากลับนึกถึงหนังโฆษณาชวนสูบบุหรี่ยี่ห้อนั้นมากกว่าจะพึงเป็น ชื่อเพลงที่ร้อง อีกเล่มหนึ่งยกวิธีที่ร้านสะดวกซื้อใช้ไล่เด็กวัยรุ่นไม่ให้มาเตร็ดเตร่แถวร้านตอนกลางคืนอย่างได้ผลและประหยัด โดยการ เปิดเสียงแหลมแผ่วๆ ที่ฟังแล้วชวนขนลุกของตัวแมนโทวานีผ่านลำโพงแต่ทำให้เราสงสัยว่าเสียงนั้นจะไม่ไล่ลูกค้าทุกเพศทุกวัยไปด้วยหรือ ตัวแมนโทวานีจะมีหน้าตาอย่างไรหนอ แล้วเราก็หายสงสัยในประโยคต่อๆ มาว่าพวกเขา(แก๊งวัยรุ่น)จะรีบหนีไปให้ไกลจากเพลงอีซี่ลิสซึนนิ่งราวกับว่ามันเป็นโรคแอนแทร็กซ์และพลันนึกถึงแมนโทวานีผู้เป็นนายวงดนตรีแนวไลท์ออร์เคสตรา ส่วนอีกเล่มให้ความรู้ใหม่ว่าเจ้าหญิงไดอะน่าทรงทุ่มเทพระวรกายให้กับสาธารณกุศลเช่นการขจัดการลักลอบวางระเบิดแต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าพระองค์ทรงทำเรื่องนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ก่อนหรือหลังการรณรงค์กำจัดกับระเบิดตกค้าง
            ความสงสัยในเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ นำไปสู่ความคลางแคลงใจที่ใหญ่กว่า ว่าเราจะวางใจในความถูกต้องของส่วนที่ซับซ้อน เข้าใจได้ยากกว่า ได้แค่ไหนในหนังสือแปลเล่มที่เรากำลังอ่าน นักแปลและบรรณาธิการสาวคนหนึ่งบอกว่า สิ่งที่เธอทำคือ วางเลย เลิกอ่านและบางกรณีเธอก็อาจจะโทรไปต่อว่าเพื่อนร่วมอาชีพที่ผลิตหนังสือเล่มนั้นว่าปล่อยออกมาได้ยังไง           
            ในยุคที่หนังสือแปลเป็นธุรกิจสมบูรณ์แบบ เงื่อนไขที่ต้องรีบแปล รีบพิมพ์ เพื่อให้ทันกับกระแส และรักษาอายุลิขสิทธิ์ที่ได้มาให้อยู่ในตลาดนานที่สุด เป็นที่เข้าใจได้ แต่นักแปลหน้าใหม่ซึ่งเป็นช่องทางจำเป็นในการผลิตงานก็ไม่ใช่ข้ออ้าง ภาวะตลาดที่เปิดให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้แสดงฝีมือ ย่อมหมายถึงความรับผิดชอบที่มากขึ้นของบรรณาธิการเล่ม และ/หรือบรรณาธิการสำนักพิมพ์ด้วย
            คนเคยแปลจึงบอกกับคนอยากแปลว่า ถ้านักแปลถ่ายทอดได้ติดๆ ขัดๆ บก.ต้องช่วยทำให้มันราบรื่น ถ้านักแปลตีความผิด บก.ต้องทำให้มันถูก ถ้านักแปลรู้ไม่รอบไม่ทันกระแสโลกที่หมุนเร็วเหลือเกิน บก.ก็ต้องรู้ หรือหาคนมารู้แทนให้ได้แต่ในภาวะที่อาจจะพึ่งพาบรรณาธิการไม่ได้มากนัก นักแปลคงต้องกลับไปสู่พื้นฐานแรกสุด คือเริ่มจากแนวที่ชอบ เรื่องที่สนใจความสนใจเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับผมถือว่า มันนำไปสู่การเติมความรู้ สร้างความหลงใหล ใฝ่ชอบ และส่งเสริมความเพียร
            แม้แต่ครูมูล เมื่อถามถึงปัญหาในการแปล ครูบอกว่าดูเหมือนจะมีอยู่ประการเดียวเท่าที่นึกออกในตอนนี้ นั่นก็คือศัพท์เฉพาะในวงการต่างๆ... เจอเข้าหน้ามืดทีไรก็เป็นต้องพล่านไปทั้งเมืองเพื่อหาความรู้
หากนักแปลชั้นครูทั้งหลายได้ตัดไม้ทั้งป่า เพื่อคัดเอาแต่ส่วนที่เหมาะงามมาทำเก้าอี้ตัวหนึ่ง หนังสือแปลแต่ละเล่มก็อาจเปรียบได้กับเก้าอี้ต่างแบบ ต่างวัตถุประสงค์การใช้สอย
            เมื่อเราอ่านหนังสือเชิงความรู้-ธุรกิจ เราคงต้องการเก้าอี้ที่ออกแบบถูกตามหลักสรีรศาสตร์และความคล่องตัวในแต่ละอิริยาบถของเก้าอี้ทำงาน เมื่อเราอ่านวรรณกรรมชิ้นเอก เราคงคาดหวังในเก้าอี้ ไม้เนื้อดี หุ้มบุด้วยวัสดุคัดสรร ผ่านการสลักเสลาเกลากลึงอย่างประณีตหมดจด เมื่อเราอ่านเพียงเพื่อความบันเทิงเริงรมย์แห่งสมัย เราอาจต้องการเก้าอี้นวมนุ่มเอน สบาย
            แต่ถ้าเลือกไม่ได้มากนัก เราอาจขอแค่เก้าอี้ที่นั่งแล้วไม่ปวดหลังไม่เจ็บก้น ก็ยังดี
#
Rhymes to learn
·       เท่าที่ทราบ ข้อมูลอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ ครูมูลมีอยู่ในประวัตินักเขียนไทย เล่ม 1’ ซึ่งกรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2520 บางส่วนที่นำมาใช้อ้างอิงในคอลัมน์นี้ เป็นงานที่ คำรพ นวชน เรียบเรียงไว้ในนิตยสาร ถนนหนังสือ’ (ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 กันยายน 2528)
·       โลกียชนเป็นหนังสือ ต้องอ่านทั้งในฐานะงานเขียนคลาสสิกของจอห์น สไตน์เบ็ค และในฐานะงานแปลขึ้นหึ้งของประมูล อุณหธูป ไม่แน่ใจว่าหลังการพิมพ์ซ้ำเมื่อนานมากมาแล้ว (สมัยที่ยังมีนิตยสารชื่อลลนา’) โดยสำนักพิมพ์ ดวงตา ต่อมามีการพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์มติชน
#
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)

2 ความคิดเห็น: