วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาจากน้ำ และ กลับสู่น้ำ


ผม “ส่ง” พี่ชาย ไปโดยเรียบร้อย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 พ.ย.)

หลังจากทำบุญ 7 วัน หลังจากพิธีพระราชทานเพลิงศพ และหลังการจัด/เก็บอัฐิ

ภาคสุดท้ายของพิธีกรรม คือการ “ลอยอังคาร” ที่ปากน้ำ

การลอยอังคาร (ซึ่งในกรณีส่วนใหญ่ได้ลอยอัฐิไปด้วย) เป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพแบบไทย ที่มีรายละเอียดทางพิธีให้ถือปฏิบัติกันอย่างพิศดารพอสมควร แต่ข้อมูลเชิงที่มาของพิธีกรรมนี้ กลับมีเพียงข้อสังเกตสั้นๆ ที่อ้างอิงต่อๆ กันมาว่า (น่าจะ)รับมาจากศาสนาพราหมณ์/ฮินดู โดยโยงใยกับแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อความสงบเย็น

บางที ผมก็เคยสงสัยไปตามประสาผมว่า ในเมื่อเรามีแบบแผนทางพิธีละเอียดขนาดนี้ (คือที่ทำกันอยู่) แล้วเราเอาที่มาที่ไปและความหมายของพิธีกรรมนี้ไปทิ้งเสียที่ไหน ทั้งที่น่าจะเป็นสิ่งซึ่งบันทึกและยึดถือคู่เคียงกันมา

หรือว่า พิธีกรรมที่ประกอบกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นการสอดประสมกัน ระหว่างกระบวนการส่งเสริมธุรกิจออกเรือ และการสมานบรรเทาความรู้สึกของญาติผู้ยังอยู่ ในยุคที่มีคนอยากเก็บอัฐิไว้กับบ้านน้อยลง (เพราะกลัวถูกทิ้งขว้าง กลัวเป็นภาระ)

หรือว่า ความรู้น่ะมี แต่ผมไม่รู้เอง

แต่ สิ่งที่สงสัย ก็ไม่ได้แปลว่าคัดค้าน ผมมองว่าการลอยกระดูกและเถ้าถ่านลงสู่แม่น้ำ/ทะเล ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกที่ถูกทาง เพราะเราต่างเกิดมาจากน้ำ มีต้นทางชีวิตที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ และเติบโตมีชีวิตอยู่โดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก

วัฒนธรรมชาวน้ำแท้ๆ ที่ไม่ผูกติด ยึดครอง ก็ดูจะโอบเอื้อกับพิธีกรรมการลอยอังคาร ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็เป็นสัญลักษณ์ของ การน้อมละวางปลายสุดของสังขาร คืนกลับสู่มหานที

ตอนเด็กๆ (แปลว่านานมากแล้ว) เคยดูหนังฝรั่งเรื่องหนึ่ง และจำฉากที่พระเอกขึ้นภูเขาไปโปรยเถ้าถ่านของนางเอกได้ติดตา ด้วยเหตุผลว่า มันดูโรแมนติกมาก ต่อมาเมื่อรู้จักเพลง Dust In The Wind ของวง แคนซัส ภาพนั้นกับเพลงนี้ก็คลิกกันพอดี ให้ความหมายที่สมบูรณ์ของ “ฝุ่น (ที่เคว้งคว้าง) กลางสายลม”

พอโตขึ้นมาอีกหน่อย และได้ร่วมอยู่ในพิธีกรรมลอยอังคารครั้งแรก ผมก็พบว่า อัฐิและอังคารในลุ้ง ที่ค่อยๆ จมลงสู่ห้วงน้ำ ดูจะเอิบอาบ ชุ่มเย็น และอาจเป็นวิถีที่เหมาะกับเรามากกว่า

แม้จะไม่มีองค์ความรู้ใดอธิบาย แต่ก็โดยสัญชาตญาณของเราเอง
#

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น