วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

See through

มีคนชอบพอกันมาถามผมว่า จะไม่ร่วมลงชื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับใหม่) กับเขาเสียหน่อยหรือ?
            ผมก็ตอบไปอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาที่สุด ว่า:
1.      ผมเลิกลงชื่อคัดค้าน ต่อต้าน ประท้วง อะไรต่อมิอะไรมาหลายปีแล้ว
2.      ผมไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะคัดค้านหรือเห็นด้วย เพราะไม่ได้สนใจติดตามเรื่องนี้
            แต่เสียงผมคงจะงึมงำไปบ้าง เพราะดูเหมือนคำว่า “ไม่ได้สนใจติดตาม” กลายเป็นที่เข้าใจเพียงว่า “ไม่ได้ติดตาม” ผมก็เลยได้รับลิงก์ จดหมายเปิดผนึกที่เชิญชวนให้ประชาชนและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตร่วมกันหยุดการนำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี กับลิงก์ที่วิจารณ์ฎหมายใหม่ในประเด็นสำคัญ รวม 10 ประเด็น
            เป็นกรรมของคนเสียงไม่ดัง แท้ๆ เชียว
ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ไม่ทันเข้าที่ประชุม ครม. เพราะมีการถอนเรื่องออกก่อน
            จะโดยเหตุที่มีผู้ค้าน และถือเป็นชัยชนะเบื้องต้นของคนค้าน (ซึ่ง ณ เวลานั้นลงชื่อกันไปประมาณหนึ่งพันคน) หรือโดยมารยาทของรัฐบาลที่กำลังจะหมดวาระ (ตามที่นายกฯ ได้ประกาศว่าจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่) ก็ดูเหมือนจะไม่มีความต่างในสาระสำคัญ เพราะเสียงค้านดูจะยังไม่มีความหมาย-โดยเฉพาะในเชิงปริมาณ-ที่จะไปหยุดยั้งอะไรได้จริงๆ ส่วนมารยาทของรัฐบาลก็คงแสดงออกได้แค่ประเด็นที่ไม่มี(ผล)ประโยชน์แบบนี้เท่านั้น ในขณะที่การอนุมัติจัดซื้อและโครงการที่มีงบประมาณมากๆเกี่ยวข้องก็เร่งผ่านกันไปเป็นที่เพลิดเพลิน-เหมือนกันทุกพรรค ทุกสมัย
            ในพันกว่ารายชื่อที่ลงกันไป ไม่มีชื่อผมลงรวมอยู่ด้วย ทั้งที่ตอนแรกอ่านจดหมายเปิดผนึก เขาก็เขียน “จูง” เอาไว้ดี “สาระสำคัญของร่างกฎหมายสร้างความหวาดกลัวให้แก่ผู้เล่นอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการที่อาจได้รับผลกระทบจากกฎหมาย มีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น นอกจากจะไม่ได้แก้ไขปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แล้ว ยังเพิ่มสาระสำคัญที่ยิ่งสวนทางกับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” และการเรียกร้องว่า “ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมเสนอข้อแก้ไขหรือทำประชาพิจารณ์” ก็ถือว่า “ควรแก่เหตุ”
            แต่พออ่านเนื้อหาจริงๆ มันไม่ใช่นี่นา
สาระสำคัญ 10 ประเด็น ที่ดูเหมือนเยอะ และอ้างว่าทำให้คนกลัว เมื่ออ่านดูแล้ว ผมคิดว่าถ้าจะเป็นเรื่องน่ากลัวก็คงเฉพาะกับพวกละเมิดลิขสิทธิ์ กับพวก(แอบ)กล้าทำแต่ไม่กล้ารับ เท่านั้น ถ้าจะเพิ่มเติมจากนี้ ก็คงจะเป็นพวกจิตอ่อน
            ไม่ถึงขนาดที่จะมาอ้างกันว่า “ร่างกฎหมายนี้จะทำให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนมีโอกาสทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว”
            ผมลองไล่ดูประเด็นตามที่กลุ่มผู้ค้าน-ซึ่งนำโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้วิเคราะห์และนำเสนอไว้ พบว่าประเด็นว่าด้วยการให้หน้าที่หน่วยใหม่ คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ในมาตรา 6 เป็นประเด็นที่ตัดออกไปได้ก่อน เพราะเป็นการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบตามกฎหมายเพิ่มขึ้นมา และข้อสังเกตของโครงการฯ ก็ไม่ได้ชี้ประเด็นอะไรในทางที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวาดกลัว
            อีกสามประเด็นที่ผมไม่เห็นว่ามีน้ำหนักเชิงคัดค้านคือ ประเด็นว่าด้วยไฟล์ลามกเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งมาตรา 25 บัญญัติว่า “ผู้ใดครอบครองข้อมูลคอมพิวเตอร์ซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
            ทางโครงการฯ ทักท้วงว่ายังมีความคลุมเครือของ “ลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน” นั้นหมายความอย่างไร ซึ่งผมเห็นว่าจริง (และเป็นปัญหามาตรฐานของกระบวนการร่างกฎหมายไทย) แต่ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องนิยามในกฎหมายฉบับนี้ ทั้งขอบเขตของลักษณะอันลามก (ในกรณีทั่วไป) ก็มีแนวทางคำพิพากษาของศาลและการวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่/อัยการที่อ้างอิงได้อยู่แล้ว
            ส่วนมุมวิเคราะห์ที่ว่า “มาตราดังกล่าวยังเป็นการเอาผิดที่ผู้บริโภค ซึ่งมีความน่ากังวลว่า การชี้วัดที่ การครอบครองอาจทำให้เกิดการเอาผิดที่ไม่เป็นธรรม เพราะธรรมชาติการเข้าเว็บทั่วไป ผู้ใช้ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าการเข้าชมแต่ละครั้งดาวน์โหลดไฟล์ใดมาโดยอัตโนมัติบ้าง และหากแม้คอมพิวเตอร์ถูกตรวจแล้วพบว่ามีไฟล์โป๊เด็ก ก็ไม่อาจหมายความได้ว่าผู้นั้นเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ดูผู้ชม” นั้น... ตลกมาก
            อันนี้ก็ตลกอีกแหละ: ประเด็นเกี่ยวกับการคัดลอกไฟล์โดยมิชอบ ซึ่งมาตรา 16 บัญญัติว่า “ผู้ใดสำเนาข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางโครงการฯ วิเคราะห์ว่า “มาตรานี้อาจมีไว้ใช้เอาผิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือเพลง แต่แนวทางการเขียนเช่นนี้อาจกระทบไปถึงการแบ็กอัปข้อมูล การเข้าเว็บแล้วเบราว์เซอร์ดาว์นโหลดมาพักไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติหรือที่ เรียกว่า แคช” (cache เป็น เทคนิคที่ช่วยให้เรียกดูข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น โดยเก็บข้อมูลที่เคยเรียกดูแล้วไว้ในเครื่อง เพื่อให้การดูครั้งต่อไป ไม่ต้องโหลดซ้ำ) ซึ่งผู้ใช้อาจมิได้มีเจตนาหรือกระทั่งรับรู้ว่ามีกระทำการดังกล่าว”
            คล้ายๆ กัน ประเด็นความผิดเกี่ยวกับโปรแกรมทะลุทะลวง ซึ่งใช้ในการทำความผิดเกี่ยวกับระบบและ/หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ผู้อื่น (ตามมาตรา 15-20) ซึ่งทางโครงการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า “เพียงแค่ทำซ้ำ หรือมีไว้ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เจาะระบบ การก๊อปปี้ดาวน์โหลดไฟล์อย่างทอร์เรนท์ การดักข้อมูล การก่อกวนระบบ ก็มีความผิด” และ “เรื่องนี้น่าจะกระทบต่อการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์โดยตรง”
            ขำก็ขำนะครับ แต่ก็เริ่มเพลียละ เพราะในกรณีแบบนี้ ผมคงลงความเห็นได้สองอย่าง ถ้าไม่ตั้งใจจะขยายภาพให้กฎหมายฉบับนี้แลดูน่ากลัวเพื่อหวังจะได้จูงกันมาร่วมคัดค้านมากๆ ก็คงเป็นปัญหาวิจารณญาณของคนที่คิดว่าคนอื่นจะมีวิจารณญาณเท่าๆกัน
สองประเด็นเกี่ยวกับ การลดโทษผู้ส่งสแปมเพื่อประโยชน์ทางการค้า และก่อความเดือดร้อนรำคาญ (มาตรา 21) กับ การเพิ่มโทษการเจาะระบบ (มาตรา 25) ผมเห็นเป็นการปรับให้เหมาะสมกับลักษณะความผิด ซึ่งไม่มีนัยสำคัญอะไร
            อีกหนึ่งประเด็นที่อาจจะอยู่นอกบริบทของกฎหมายฉบับนี้ คือ สัดส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน (นายกฯ, รมว.ที่เกี่ยวข้อง, ผบ.ตร., สมช., สำนักข่าวกรอง) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่งตั้งโดย ครม. 3 คน ซึ่งโครงการฯ เห็นว่าสมควรมีสัดส่วนจากภาคประชาชนร่วมด้วย ซึ่งผมไม่ได้เห็นต่าง แต่คิดว่าสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการใดๆ ของรัฐ เป็นเรื่องที่น่าจะลงแรงผลักดันกันในระดับโครงสร้างใหญ่ พิจารณากันในระดับปรัชญาการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และสอดคล้องกับลักษณะวัตถุประสงค์-อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระดับชาติประเภทต่างๆ
            ไม่ใช่ทำกันกระปริบกระปรอยตามความพอใจหรือไม่พอใจของใคร
            ถึงตรงนี้ ผมมองว่าสาระของการคัดค้านหรือไม่คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็จะเหลือเพียง 3 ประเด็น หนึ่ง-คือ การเพิ่มนิยาม “ผู้ดูแลระบบ” และกำหนดความรับผิด ซึ่งทางโครงการฯ ตีความนิยามว่า อาจหมายความถึงเจ้าของเว็บไซต์ เว็บมาสเตอร์ แอดมินระบบเครือข่าย แอดมินฐานข้อมูล ผู้ดูแลเว็บบอร์ด บรรณาธิการเนื้อหาเว็บ เจ้าของบล็อก” และตีความต่อไปว่ามีฐานะเป็น “ตัวกลาง” เช่นเดียวกับ “ผู้ให้บริการ” (ที่มีมาตั้งแต่กฎหมายเดิม) ซึ่ง “ตัวกลาง” ที่ว่านี้ “ต้องรับโทษเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด เช่น หากมีการเขียนข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริง กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ผู้ดูแลระบบและผู้ให้บริการที่จงใจหรือยินยอมมีความผิดทางอาญาเท่ากับผู้ที่กระทำความผิด” ผลก็คือจะเกิด “ความหวาดกลัวและทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง”
            การวิเคราะห์วิจารณ์ประเด็นนี้อาจทำได้ยืดยาว แต่ถ้าเรามองความรับผิดของ “ผู้เขียน/ผู้พิมพ์/ผู้โฆษณา” ในโครงสร้าง “สื่อเก่า” และเป็นความรับผิดที่เป็น “สากล” ความรับผิดของ “ผู้ให้บริการ/ผู้ดูแลระบบ” ก็ไม่น่าจะมีข้อยกเว้นเพราะเป็น “สื่อใหม่” เว้นเสียแต่ว่าเราจะอยากอยู่ร่วมกันบนฐานของการที่ใครทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิด
            สอง-คือ ความผิดฐานดูหมิ่น ตามมาตรา 26 ซึ่งทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียง ทางโครงการฯ ยอมรับว่า กฎหมายเดิมไม่มีมาตราใดที่ใช้ฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาทได้ตรงประเด็น (ในขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามกฎหมายอาญา ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงสื่อคอมพิวเตอร์ชัดเจน) แต่ก็แปลกที่โครงการฯ ชี้ประเด็นนี้ไปในมุมที่ว่า “สร้างความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ใช้ตั้งข้อหาการดูหมิ่นต่อกันได้ง่ายขึ้น” และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบทลงโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในเชิงเปรียบเทียบว่า “การหมิ่นประมาทในกรณีปกติ ตามประมวลกฎหมายอาญามีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”
            อันนี้เป็นเรื่อง “ผิดปกติ” มากสำหรับผู้ที่ “อ้าง” หรือ “ทำให้เชื่อว่า” ทำงานเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะโทษตามกฎหมายอาญาที่นำมาเปรียบเทียบเป็นความผิดตามมาตรา 326 “ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง” แต่ความผิดตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องเทียบกับมาตรา 328 “ความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา” และกำหนดโทษไว้ที่ “จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท” ซึ่งโทษจำคุกสูงสุดน้อยกว่า แต่โทษปรับมากกว่า และไม่ได้ต่างกันมากเหมือนการเปรียบเทียบของโครงการฯ
            สาม-คือ (และเหลือ) ประเด็นเดียวที่รองรับการกล่าวหาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ “ละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินความจำเป็น” โดยอ้างถึงความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 24 (1) บัญญัติว่า “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
            ทางโครงการฯ บอกว่าเจตนารมณ์เดิมของ “คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง” หมายถึงการหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing) แต่การตีความและขยายความที่ผ่านมาทำให้กลายเป็นเรื่องการเขียนเนื้อหาอันเป็นเท็จ ซึ่งนำไปใช้ฟ้องร้องกันในเรื่องการหมิ่นประมาท และบัดนี้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของประเทศ/ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ซึ่งจะนำไปสู่  “ก่อให้การเอาผิดประชาชนอย่างกว้างขวาง เพราะหลายกรณี รัฐไทยเป็นฝ่ายครอบครองการนิยามความจริง ปกปิดความจริง ซึ่งย่อมส่งผลให้คนหันไปแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตแทน อันอาจถูกตีความได้ว่ากระทบต่อความไม่มั่นคงของ รัฐบาลข้อความกฎหมายลักษณะนี้ยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็น”
            การพิจารณาเรื่องนี้ ผมคิดว่าจำเป็นต้องแยกเรื่อง phishing ออกไปก่อน เพราะไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันโดยการตีความผิดหรือขยายความเกิน หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงรวมกันให้สับสน ทั้งความผิดกรณี phishing ก็น่าจะระบุไว้ในมาตรา 18 แล้ว ประเด็นอยู่ที่ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ควรครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงของประเทศหรือก่อก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” หรือไม่ มีนิยามที่ยอมรับกันเกี่ยวกับความมั่นคงและความตื่นตระหนกที่ว่านั้นแล้วหรือไม่
            ผมขอไม่ตอบคำถามนี้ด้วยอัตวิสัยของตัวเอง แต่อยากจะตั้งคำถามต่อไปมากกว่า
            ถามว่า คนประเภทไหนกันที่ขยายความกฎหมายฉบับหนึ่งให้แลดูน่ากลัวเกินจริง คนประเภทไหนกันที่ปั่นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ให้คนกลัวเพื่อเป็นแนวร่วมคัดค้าน คนประเภทไหนกันที่ใช้ประโยชน์จากความไม่รู้(และไม่อยากรู้)ทางกฎหมายของประชาชนทั่วไปในการบิดเบือนความจริง คนประเภทไหนกันที่แอบวาระซ่อนเร้นไว้ใต้เสื้อคลุมของสิทธิเสรีภาพ
            คำตอบมีหลากหลาย แต่ที่รวมอยู่ด้วยแน่ๆ ก็คือ (กลุ่ม)คนที่รู้ว่ากำลังทำความผิดตามมาตรา 24 (1)
#
2 พฤษภาคม 2554
 (ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น