วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เ-พ-ลี-ย

แผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูดทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ไม่ใช่หายนภัยร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
         แต่เมื่อรวมกับสึนามิที่มียอดคลื่นสูงสุดถึง 37.9 เมตร และปัญหาต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะ ความสูญเสียในระดับที่นายกรัฐมนตรี นาโอตะ คัง บอกว่าเป็นวิกฤตร้ายแรงที่สุดในรอบ 65 ปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นสิ่งที่ไม่มีใครโต้แย้ง ธนาคารโลกประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่ 235,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เกิดจากภัยธรรมชาติราคาแพงที่สุดในโลก ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินไว้สูงกว่านั้น-ที่ 309,000 ล้านดอลลาร์
         เป็นความสูญเสียที่ยังไม่รวมถึงผลกระทบจากการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีในดิน-น้ำ-อากาศ ยังไม่รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ชะงักงันและปัญหาอันเนื่องจากไม่มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ และอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่ได้นึกถึง.....
ณ วันเกิดเหตุ เราต่างก็เห็นอานุภาพของสึนามิที่สาดซัดเข้ามาในแผ่นดินเกือบสิบกิโลเมตร และกวาดล้างเกือบทุกอย่างที่ขวางหน้า
         นาทีนั้น คนจำนวนมากคงรู้สึกไม่ต่างจากผม ว่าแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตมนุษย์เปราะบางเพียงไร และไร้ความสามารถขนาดไหนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่
         บางวาบความคิด ผมรู้สึกชื่นชมกับความสามารถทางวิศวรกรรมของคนญี่ปุ่น ที่พิสูจน์ผ่านอาคารน้อยใหญ่ซึ่งรอดผ่านจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงกว่าเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบมาได้ จนอดไม่ได้ที่จะคิดว่า ถ้าไม่มีสึนามิซ้ำด้วยความแรงและความสูงอย่างที่เกิด ภัยพิบัติรอบนี้จะถูกจำกัดความสูญเสียไว้แค่ไหน และ-ในทางตรงข้าม แผ่นดินไหวระดับนี้ หากเกิดในประเทศอื่น เศษซากตึกสูงคงเกลื่อนเมือง
         แต่ในอีกวูบความรู้สึกบอกว่า แม้มนุษย์จะพากเพียรเพียงไรในการเอาชนะธรรมชาติ สุดท้ายมนุษย์ก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ฝากชะตาไว้ภายใต้ความการุณของมวลพระแม่ธรรมชาติ ไม่ต่างจากตึกรามที่รอดพ้นจากภัยแผ่นดินไหว แต่ในที่สุดก็ต้องสยบใต้เกลียวคลื่น
         อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เปราะบาง ก็สามารถมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ และวินัยที่แข็งแกร่ง จากภาพข่าวที่พรั่งพรูมา เราได้เห็นสิ่งซึ่งอยู่เหนือภัยพิบัติและความสูญเสีย นั่นคือจิตใจและวินัยของคนญี่ปุ่น ซึ่งแม้ในยามตระหนกต่อมหันตภัยที่คุกคาม แต่ก็ไม่แตกตื่น และไม่แย่งชิง
         เป็นวิถีแห่งสติ แห่งการถือกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน แห่งการอดทนและสะกดกลั้น ที่ตราตรึงใจคนทั้งโลก และยิ่งไม่ต้องสงสัยว่ามันทั้งแปลกตาและน่าทึ่งสำหรับคนในประเทศที่เพียงการแย่งซื้อน้ำมันปาล์มก็ทำให้ตบตีกันได้แล้ว ลูกสาวผมคนหนึ่งซึ่งไปเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นและเดินทางกลับมาตั้งหลักที่บ้านเล่าเรื่องเชิงเปรียบเปรยว่า เพียงเจอคณะทัวร์คนไทยกลุ่มแรกที่สนามบินก็ “เพลีย” เลย กับการแซงคิวและจองคิว
         ฟังดูเหมือนดัดจริตอยู่บ้าง สำหรับคนที่เพิ่งจากเมืองไทยไปเรียนที่นั่นเพียงเทอมเดียว แต่เมื่อคิดถึงว่า ณ ที่ที่เธอไปอยู่ เพียงการข้ามถนนที่ไม่ใช่ทางม้าลายก็ทำให้ถูกตัดทุนการศึกษาได้ เราก็จะเข้าใจวิถีที่สังคมหนึ่งๆ ได้หล่อหลอมผู้คน
ข่าวสารที่ออกมา ยังน่าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สื่อสารมวลชนทุกวันนี้ “ป่วย” ไปถึงไหนแล้ว
         อาจจะเป็นเพราะภาพของผู้คนที่ได้รับผลกระทบไม่ “ดราม่า” เพียงพอต่อการขายและ “ขยาย” ข่าว จึงมีนักข่าวหลายสำนักตั้งคำถามนำในทำนองว่า “รัฐบาลเตือนภัยสึกนามิช้าเกินไปไหม” ในวันแรกๆ และ “ความช่วยเหลือของรัฐบาลช้าเกินไปหรือเปล่า” ในวันถัดๆมา น่าเสียดายที่คำถามเหล่านี้ไม่อาจจุดติดในหมู่คนที่ยังครองสติอยู่ได้
         หากนั่นเป็นอากัปของ “สื่อเสี้ยม” เราก็ได้เห็นกิริยาอีกแบบของ “สื่อแช่ง” ผ่านการเสนอข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิจิ ประหนึ่งจะภาวนาให้เหตุการณ์ที่เชอร์โนบีลเกิดขึ้นซ้ำสอง แน่นอนว่าเหตุใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่การล้ำหน้าสถานการณ์และละเลยข้อมูลข้อเท็จจริงที่เข้าถึงได้ไม่ยากจากนักวิทยาศาสตร์สายนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ทำให้ยากจะเห็นบทบาทสื่อบางส่วนเป็นอื่นไปได้ ถ้าไม่ใช่นักค้าความแตกตื่นและปั่นป่วน
         ยังมีนักข่าวของรอยเตอร์คนหนึ่ง เขียนบล็อกบอกชาวโลกว่า ไม่ควรบริจาคเงินช่วยญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รวยอยู่แล้ว และการที่คนเราพากันบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ๆ ก็มักกระทบต่อทุนสนับสนุนกิจวัตรประจำของเอ็นจีโอองค์กรต่างๆ
         ซึ่งเป็นเหตุผลที่ชวน “เพลีย” อย่างยิ่ง
เรื่องเพลียๆ ของผู้คน ยังมีอีกมาก
         ในอเมริกา มีคนจุดประกายผ่านทวิตเตอร์ว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่น เป็นผลกรรมที่ญี่ปุ่นทำไว้ในสงครามโลกครั้งที่สอง บ้างก็ว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้เทียบไม่ได้เลยกับเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ เมื่อปี 1941 แล้วก็มีคนรีทวีตต่อๆ กันไป จนเกิดกระแสต้านขนานใหญ่แม้ในกลุ่มคนชาติเดียวกันที่มีจิตใจเป็นธรรมพอ มีบางคนบอก(และทวีตต่ออย่างกว้างขวาง)ว่า ถ้ารู้จักเพิร์ลฮาเบอร์แค่จากหนังบิดเบือนประวัติศาสตร์เมื่อสิบปีก่อน ก็ควรจะลองเสิร์ชคำว่า Hiroshima กับ Nagasaki ดูบ้าง ว่าอเมริกาสร้างบาปหนาไว้ขนาดไหน
         เพราะในขณะที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์โดยมีเป้าหมายที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ แต่วิธีที่อเมริกาเอาคืนโดยการปูพรมทิ้งระเบิดโตเกียวช่วงปี 1942-1945 และการใช้ระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มฮิโรชิมากับนางาซากิในปี 1945 ล้วนเป็นการทำลายล้างที่ไม่เลือกเป้าหมาย ยังไม่นับว่าอเมริกา “สู้รบอย่างไร” ในสงครามอินโดจีนเป็นต้นมา จนถึงสงครามกับผู้ก่อการร้าย สงครามปลดปล่อยอิรัก และสงครามเพื่อลิเบีย
         ถ้ามองในแง่นี้-ที่เอาภัยธรรมชาติไปผูกโยงกับผลกรรม ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับสหรัฐอเมริกา คงเป็นเรื่องน่าห่วงสุดๆ
คนละไม้คนละมือ-งานเล็กๆ ที่มีความหมายของ “อาสาดุสิต”
ที่ลานจอดรถหน้าโรงแรมดุสิตธานี (ภาพจาก www.arsadusit.com)
ในแง่มุมเดียวกัน กรรมเก่าของประเทศไทยเราคงมีอยู่ไม่มาก ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจึง(ยัง)ไม่รุนแรงเท่าไหร่
         แต่เราก็มีกรรมปัจจุบันของเราที่ถือว่าหนักหนาสาหัส ทั้งในแง่ขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติของหน่วยงาน-องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งในแง่ศักยภาพของผู้บริหารประเทศอย่างที่เห็นกันมาทุกยุคทุกสมัย และในแง่การฉ้อฉลบนความทุกข์ยากของเพื่อนร่วมแผ่นดินได้อย่างไม่ลดละของข้าราชการและนักการเมืองผู้ทรงเกียรติ
สิ่งที่พอจะช่วยให้ไม่รู้สึกเพลียกันจนเกินไป เห็นจะเป็นเรื่องของน้ำใจคน (ซึ่งน่าเสียดายที่เอาไปถัวเฉลี่ยกับวินัยไม่ได้) เราระดมความช่วยเหลือให้กับญี่ปุ่นกันอย่างแข็งขันมากมายจนคนญี่ปุ่นซาบซึ้งในน้ำใจไทยไปตามๆ กัน แล้วเราก็ยังมีน้ำใจอีกเหลือเฟือเพื่อผู้ประสบภัยทางภาคใต้ของเราเองในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายเดือนมีนา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสัญญาณเตือนว่า สิ่งที่ไม่คาดคิด ภัยที่ไม่คาดฝัน ยังจะทยอยกันมาท้าทายเรา
เมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่เกิดสึนามิ เราเริ่มเห็นกลุ่มคนที่อาสาออกไปทำงานบรรเทาทุกข์ให้กับเพื่อนร่วมชาติทางฟากฝั่งอันดามันกันอย่างกระตือร้น เมื่อปีที่ผ่านมา การจุดไฟเผาบ้านเผาเมืองตัวเองของคนกลุ่มหนึ่ง ได้ปลุกจิตอาสาของคนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นมาร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทยในนามและกิจกรรมต่างๆกันอย่างมีชีวิตชีวา และภัยพิบัติใหญ่ในปีนี้ ก็ได้นำคนกลุ่มนี้ออกมารวมกันเพื่อภารกิจเฉพาะหน้าซึ่งบางงานแม้จะดูเล็กย่อยแต่เปี่ยมเต็มคุณค่าของความอาทร-อีกครั้ง
คนหลายคนอาจรู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรมากนัก แต่เวลาสอง-สามชั่วโมงต่อวันหลังเลิกงานที่พวกเขาไปช่วยบรรจุข้าวของที่มีคนบริจาคมาให้ ที่ลานหน้าโรงแรมดุสิตธานี เพื่อจัดส่งออกไปให้ถึงพื้นที่ที่กำลังต้องการ ก็มีคุณค่ามากแล้วสำหรับสังคมที่กำลังเรียนรู้สำนึกสาธารณะ และแพร่เมล็ดพันธุ์ของการกระทำเพื่อส่วนรวม
         ผมยังพบว่าทัศนคติของบางคนในกลุ่มที่ออกมาทำงานแบบนี้ น่าสนใจ นอกจากเขาจะไม่รู้สึกใหญ่โตกับการทำงานเพื่อคนอื่น เขายังเข้าใจข้อจำกัดของคนอื่น หน่วยงานอื่น โดยไม่กล่าวโทษใคร บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนต่างพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อทุกคน
         อาจจะเป็นการมองโลกในแง่ดีไปบ้าง แต่ก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าประเทศไทยยังมีความหวัง ต่างจากคนรุ่นผม ที่บ้างก็เห็นทุกอย่างเลวร้ายไปหมด บ้างก็ฝังหัวอยู่ในความเคียดแค้นชิงชังโดยที่ไม่ยอมรู้และไม่ยอมรับเลยว่าตัวเองก็เป็นผู้ร่วมก่อ บ้างก็งมงายอยู่ในความกระหายอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศและสังคมโดยไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงความคิดพฤติกรรมตัวเอง และบ้างก็ได้แต่ก่นด่าผู้อื่นไปพร้อมกับอวดภูมิรู้ของตัวเอง ซึ่งชวนให้เพลียและสิ้นหวังกว่ากันเยอะเลย
         ดูเหมือนว่าตัวผมเองก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
#
4 เมษายน 2554
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น