วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

มรดกโลก-มรดกไทย-มรดกใคร(หว่า)

ความย้อนแย้งแห่งเวลาก็คือ ในขณะที่เดือนปีดูแสนสั้น และยิ่งผ่านไปเร็วขึ้น เหตุการณ์ที่แฝงฝังในนั้น กลับดูเนิ่นนาน และห่างไกล
ผมเพิ่งไปสุโขทัยเมื่อช่วงวันหยุดต้นเดือนธันวาคม แต่ความรู้สึกตอนที่นั่งเขียนต้นฉบับนี้ในช่วงปลายเดือนเดียวกัน เหมือนกับว่ามันผ่านไปนานมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ความประทับใจจากการเดินทางยังไม่เลือนไป
ความคิดที่จะไปสุโขทัยเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ตอนเดินผ่านบู๊ตโรงแรมในงานท่องเที่ยวไทยที่ผมไม่เคยจำชื่อได้ มันโยงย้อนกลับไปถึงวันที่เดินอยู่ในนครวัด แล้วแวบความคิดขึ้นมาว่า น่าจะกลับไปชมดูมรดกโลกของเราเองบ้าง อะไรบ้าง (คำว่าอะไรบ้างในที่นี้ นอกจากเป็นสร้อยคำตามสมัยนิยม ยังหมายถึงเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ และปราสาทหินหลายแห่งที่มีตำแหน่งแห่งที่เชื่อมโยงกันกับนครวัดอย่างน่าสนใจ)
เมื่อมีที่พักดีๆ ในราคาที่พอเหมาะพอควร กับเวลาที่พอจะปลีกตัวจากตารางงานได้ จะให้ผมขับรถไปถึงไหน ก็ไปได้ทั้งนั้นแหละ การใช้ที่พักและราคาของที่พักเป็นเงื่อนไข ก็เพราะว่าถ้าเราเหน็ดเหนื่อยกับการเที่ยวมาทั้งวัน กลับมาถึงห้องพักก็ควรจะได้รื่นรมย์และผ่อนคลาย ไม่ใช่งุ่นง่านหรือคันคะเยออยู่ในห้องพักที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องความ(ไม่)สะอาด ซึ่งจะให้ประสบการณ์ดีๆ เสียรส
สุโขทัยมีโรงแรมใหม่ๆ ดีๆ ผุดขึ้นมาเยอะทีเดียว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลพวงจากมรดกโลก ที่ทำให้สุโขทัยเป็นเมืองปลายทางของนักท่องเที่ยว ต่างจากเมื่อก่อนที่แทบจะไม่ได้เป็นกระทั่งเมืองผ่าน ช่วงที่ผมไป เจอนักท่องเที่ยวหลายชาติหลายภาษาพอสมควร มาแบบเริด ขนาดจัดดินเนอร์หรูเฉพาะหมู่คณะกลางสวนโรงแรมสี่ดาวก็มี แต่ที่มาแบบรุ่ย พักเกสต์เฮาส์-โฮมสเตย์ ปั่นจักรยานเที่ยวก็มีอีกเหมือนกัน
สุโขทัยเปลี่ยนไปจากที่ผมเคยไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนอยู่บ้าง เป็นการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะ ซึ่งยังคงความเนิบ นิ่ง และดูจริงใจ มีบางอารมณ์และบางสถานที่ที่ทำให้นึกถึงวังเวียงและหลวงพระบาง ในขณะที่เวลาในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ให้อารมณ์ของนครวัดที่ย่อส่วนทุกอย่างลงมา
ตัวอุทยานฯ ทั้งสองแห่งได้รับการดูแลดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับภาพในความทรงจำ วันที่ผมไปถึงสุโขทัย เป็นวันเสาร์แรกของเดือน ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมีการจัดแสดงแสงเสียงแบบเบาๆ เก็บค่าเข้าชมพร้อมดินเนอร์เพียงคนละ 600 บาท ซึ่งไม่แพง แต่ผมยังอิ่มอยู่ และเพิ่งผ่านประสบการณ์ “เสมือน” แอบดูอยู่ไกลๆ จากการดูโขนมาหมาดๆ จึงสมัครใจแอบดูอยู่อีกฝั่งของสระน้ำรอบวัดสระศรีที่เป็นเวทีแสดง ขึ้นชื่อว่า “มินิไลท์แอนด์ซาวด์” ทำให้ไม่ต้องคาดหวังกันมากนัก ถือเป็นเวทีฝีกซ้อมของเหล่านักเรียนนาฏศิลป์ ที่สมประโยชน์กันทุกฝ่าย
ตามข้อมูลที่มี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยปิดราวๆ ห้าโมงเย็น แต่คงเป็นเพราะการแสดงแสงเสียงที่ทำให้ผมมีโอกาสเที่ยวรอบๆ อุทยานฯ ตั้งแต่ช่วงเย็นถึงค่ำ ซึ่งได้บรรยากาศอย่างหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปเที่ยวชมอีกครั้ง ก็ได้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง เช้าวันนั้นเป็นวันที่ 5 ธันวาคม มีการนิมนต์พระสงฆ์มารับบิณฑบาต เห็นชาวบ้านชาวเมืองมายืนเรียงตักบาตรกันเป็นแถวยาว ผมกับภรรยาก็หยิบฉวยของที่เตรียมไว้ทำสังฆทานจากท้ายรถไปต่อคิวกับเขาด้วย เหมือนตอนไปหลวงพระบาง-อย่างนั้น
ที่ให้ความรู้สึกดีอีกอย่าง (ส่วนจะดีหรือไม่ดี-เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) คืออุทยานฯ ทั้งสองแห่งเปิดให้ขับรถเข้าไปเที่ยวชมภายในได้ ซึ่งก็สะดวกดีสำหรับผม โดยเฉพาะที่ศรีสัชนาลัยซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่า อาจจะมีคนรู้สึก “ขวาง” กับการปล่อยให้ขับรถส่วนตัวเข้าไปในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ บ้างก็อาจเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่างๆ กับโบราณสถานสำคัญ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ควรจะถกกันด้วยข้อมูล
แต่ระหว่างนี้ ที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และจำนวนรถของนักท่องเที่ยวก็อาจจะไม่มากมายอะไร มันก็ช่วยให้อุทยานประวัติศาสตร์มีความเป็นกันเองไปอีกแบบ

แต่สำหรับคนที่ไม่มีรถ การเที่ยวเมืองไทยไม่ใช่เรื่องสนุกนัก และยังไม่สะดวกเอาเสียเลย
            ตอนที่คุยเกี่ยวกับการเดินทางเที่ยวนี้ ผมก็เล่าไปในมุมมองของผม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมุมมองของคนขับรถเที่ยวเอง ลืมไปว่ามีคนที่ไม่ขับรถแต่อยากเที่ยวให้ทะลุเหมือนคนขับรถบ้าง อย่างเช่นที่ คุณน้องผู้ช่วยบรรณาธิการ “สีสัน” เธอบ่นว่า บ้านเราน่าจะมีระบบรองรับคนที่ไม่ได้ขับรถเที่ยวมากกว่านี้
            ซึ่งจริงทีเดียว
            ไม่ต้องอื่นไกลไปถึงเมืองที่ไม่คุ้น คิดเพียงแค่ว่าถ้าผมลงนคร(ศรีธรรมราช) โดยไม่ขับรถลงไป เอาละ ผมคงหารถจากโรงแรมไปวัดพระมหาธาตุได้ไม่ยาก แต่ถ้าผมอยากไปยืนอยู่สุดปลายแหลมตะลุมพุก ผมอาจได้อาศัยรถโดยสารหรือรถแท็กซี่ระหว่างอำเภอ แต่ไปถึงปากพนังแล้ว ผมก็คงเคว้งไม่รู้จะไปต่ออย่างไร เว้นเสียแต่ผมจะเหมารถแท็กซี่ไปจากนครฯ หรือใช้บริการรถโรงแรม
            ต้องวงเล็บไว้สักนิดว่า (นครฯ เป็นหนึ่งในจังหวัดมากมาย ที่ยังไม่มีบริษัทรถเช่า)
            หรือถ้าลองคิดอีกมุม โครงสร้างการเดินทางของเรามันไม่เอื้อกับการเดินทางท่องเที่ยวตั้งแต่กรุงเทพฯ แล้ว เรามีรถไฟ(ลอย)ฟ้าสองสายสั้นๆ กับรถ(ไฟฟ้า)ใต้ดินที่แล่นไม่ครบวงเล็กๆ ผมลองสมมุติตัวเองเป็นคนต่างชาติ ลองกำหนดเส้นทางไปโน่นนี่อย่างที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่พึงไป แล้วก็อ่อนใจ
            โชคดีที่กรุงเทพฯ ยังมีตุ๊กตุ๊ก และแท็กซี่ก็ราคาไม่แพง
            เรา (หมายถึงคุณๆ ด้วย) ต่างก็มีประสบการณ์ต่างบ้านต่างเมืองกันมาบ้าง และคงจะเห็นว่าความสะดวกสบายสำหรับนักท่องเที่ยวในหลายๆ ประเทศนั้น ถ้าไม่ใช่ประเทศที่เขาใส่ใจกับการทำให้โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานตอบสนองความพึงพอใจประชาชนของเขาเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และนักท่องเที่ยวพลอยได้อานิสงส์ไปด้วย ก็จะเป็นประเทศที่สร้างระบบเหล่านั้นขึ้นมารองรับความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่นำรายได้ไปส่งให้เขาถึงบ้าน
            ไม่ต้องพูดถึงความเป็นระบบของประเทศอย่างญี่ปุ่น และความสามารถในการจัดการแบบสิงคโปร์ ครั้งหลังสุดที่ผมไปฮ่องกง--ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากฮ่องกงกลับไปอยู่ใต้การปกครองของจีน ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนก็คือโครงข่ายการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินที่เพิ่มขึ้น กับการออกแบบทางเดินที่ลดอัตราการข้ามถนนและความเบียดเสียดแออัดบนทางเท้า ทั้งทางเดินจากรถใต้ดินแต่ละสถานีที่เชื่อมออกไปได้มากมาย และทางเดินยกระดับหรือสกายวอล์คในหลายย่าน
         มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเราไม่มีอย่างเขา แต่เป็นเพราะทางเท้าของเรา นอกจากจะถูกยึดครองโดยรถเข็น แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ แล้ว นับวันยังถูกกีดขวางเบียดบังโดยสิ่งที่ผมเรียกว่า “ต้นโฆษณา”

ต้นไม้หลายคนโอบในพื้นที่มรดกโลก กับต้นโฆษณาที่ไม่รู้ว่าเป็นมรดกใคร?



วันที่ผมไปสุโขทัย ที่กรุงเทพฯ มีเรื่องตลกร้าย ตัดต้นไม้อายุร้อยปีที่ซอยสุขุมวิท 35 ฉลองวันสิ่งแวดล้อมไทย
            เรื่องนี้เริ่มเป็นประเด็นขึ้นมาช่วงเดือนพฤศจิกายนในเฟซบุ๊ค โดยกลุ่ม Big Trees Project ที่ออกมาพูดแทนต้นไม้ เพราะว่า “ต้นไม้พูดไม่ได้ หนีไม่ได้” ต้นไม้ในที่นี้เป็นต้นไม้เก่าแก่บนที่ดินแปลงซึ่งกำลังจะถูกแปลงโฉมเป็นศูนย์การค้าและอพาร์ทเมนท์หรู เหมือนกับเอ็มโพเรียมที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
            เห็นได้ว่า คนเปิดเกมและเปิดหน้านี้ในเฟซบุ๊ค มีเจตนาดีและพยายามเสนอทางออกที่น่ารับฟัง โดยเริ่มตั้งแต่ ชะลอการตัด ระดมทุน-ระดมสมอง-ระดมแรงเพื่อไถ่ชีวิตต้นไม้ไปปลูกที่อื่น และผลักดันไปสู่การออกกฎหมายคุ้มครองต้นไม้เหมือนกับที่บางประเทศได้ทำไปแล้ว แต่ก็น่าเหนื่อยใจตรงที่ผู้ซึ่งร่วมด้วยช่วยกันบางส่วน เอาแต่แสดงความคิดเห็นเชิงด่าทอที่ทั้งไม่สร้างสรรค์และไม่เกิดประโยชน์อะไร
            การด่านายทุน การประณามความเห็นแก่ตัว น่ะ คนที่พูดได้ก็ด่าเป็นกันทั้งนั้นแหละ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในบริบทที่กฎหมายของเรายังยื่นมือไปไม่ถึงต้นไม้ในที่ดินเอกชน ก็คือความเป็นปฏิปักษ์ ความยากของคนที่ไปเจรจา และเร่งให้ปิดเกมเร็วขึ้น

            ตอนที่เห็นข่าวนี้ ผมนึกถึงรูปที่ผมเคยถ่ายเก็บไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือ บังเอิญที่ถ่ายจากหน้าเอ็มโพเรียม บังเอิญที่ถ่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายน แต่ตั้งใจถ่ายรูปของต้นโฆษณา ซึ่งโดยไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบ ผมก็ยังเห็นว่า น่าจะโค่นทิ้งมากกว่าด้วยประการทั้งปวง
            เริ่มกันตั้งแต่เลือกผู้ว่า กทม. สมัยหน้าเลยดีไหม?                    
#
29 ธันวาคม 2553
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 22 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น