วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Talking Heads

Credit: education.eol.org

บ้านญาติผมมีนกขุนทองตัวหนึ่งพลัดหลงมา ถ้ามาเฉยๆ ก็คงไม่มีใครได้สังเกต แต่นี่มาแบบเอาหัวชนประตูกระจกแล้วก็ร่วงลงไปกองกับพื้นระเบียง พอมีคนเข้าไปดู มันก็ส่งเสียงออดอ้อนทักทายก่อนเลยว่า สวัสดีค่ะ คุณแม่ขา
            นกขุนทองก็คงเหมือนนกกระจิบกระจอกอื่นๆ ที่ไม่รู้ว่ากระจกใสๆ ไม่ใช่อากาศธาตุ แต่นกขุนทองรู้ที่จะเลียนคำของผู้คน เมื่อรักษาพยาบาลกันดีแล้ว ขุนทองตัวนั้นก็กลายเป็นนกเลี้ยงของบ้านนั้นไป
            เวลามีเสียงเลื่อนประตูรั้ว มันก็จะส่งเสียงแจ๋นๆ ทักทายก่อนเลยว่า สวัสดีค่ะ มาหาใครคะโดยไม่รับรู้ว่าใครเขาเข้ามาหรือว่าจะออกไปกันแน่ เข้าใจว่าเจ้าของเก่าคงสอนไว้เยอะ มันจึงมีถ้อยประโยคให้เจื้อยแจ้วได้ทั้งวัน ใครอยากให้มันพูดอะไรใหม่ๆ ก็แค่ไปยืนพูดย้ำๆ สอง-สามครั้ง เดี๋ยวมันก็เลียนตามได้ทั้งถ้อยคำน้ำเสียง แล้วเวลาที่มัน (คงจะ) เบื่อ มันก็จะบ่นงึมงำฟังไม่ได้ศัพท์ของมันไปเรื่อย
            อย่างตอนนี้ (พ.ศ. 2550) ถ้าใครไปหน้ากรง บอกว่า คมช.ออกไปมันก็จะช่วยไล่ คมช. ให้วันละหลายๆ รอบ
กระบวนการย้ำซ้ำ (หรืออีกนัยหนึ่ง กรอกหู”) ได้ผลไม่เฉพาะกับนกแก้วนกขุนทอง แต่ยังสามารถสร้างและเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คน นกขุนทองอาจจะไม่ได้รับรู้อะไร ถ้ามีใครไปบอกกับมันว่า ทิวาหล่อ ทิวาหล่อแต่เมื่อมันถ่ายทอดต่อออกไปทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง คนที่ไม่เคยรู้หน้าค่าตา บ.ก.สีสัน ก็จะคุ้นชินต่อการรับรู้เช่นนั้น คนที่เคยเห็นหน้ากันอยู่และเคยเห็นแย้งก็อาจจะค่อยๆ รู้สึกว่าทิวาหล่อขึ้น
            หนุ่มหล่อสาวสวยผู้มีความสามารถรอบด้านที่เด่นดังอยู่ในวงการบันเทิงทุกวันนี้ จำนวนมากเป็นผลผลิตของกระบวนการย้ำซ้ำที่ทำกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น สร้างและเปลี่ยนการรับรู้ของผู้คนได้จำนวนมากขึ้นและเร็วขึ้น คนๆ หนึ่งสามารถเริ่มจากเวทีประกวดอะไรสักอย่างไร ตามมาด้วยการถ่ายแบบ และ/หรือแสดงมิวสิควิดีโอ จนใบหน้าเริ่มปรากฏต่อการรับรู้ เส้นทางของการเป็นนักร้อง นักแสดง ดีเจ พิธีกร ฯลฯ ก็จะเปิดกว้าง ไม่ทางใดทางหนึ่งก็ทุกๆ ทาง
            เป็นไปตามทฤษฎีการสมรู้ของยุคสมัยที่ว่า หากคนๆ หนึ่งคนนั้นได้ทำอะไรอย่างหนึ่ง ย่อมต้องหมายความว่าเขา/เธอมีความสามารถ และเมื่อมีความสามารถอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมต้องมีความสามารถที่จะทำอะไรอย่างอื่นๆ ได้ (และดี) ด้วย ในขณะเดียวกัน ที่อาจจะเคยดูไม่หล่อ/ไม่สวยในตอนแรก ก็จะหล่อ/สวยขึ้นมาได้เองตามระดับชื่อเสียงและความคุ้นชิน
            “ขอเพียงเราสร้างกระแสขึ้นมาเท่านั้น” 
ก่อนวันที่ 30 พฤษภาคม (พ.ศ. 2550) ผมได้รับรู้ว่ามีคนไม่ใช่น้อยๆ เลยที่เห็นว่า ถ้าจะยุบพรรคไทยรักไทยก็ต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ด้วย หรือไม่ก็ต้องไม่ยุบทั้งสองพรรค แต่เมื่อถามว่าข้อกล่าวหาพรรคไทยรักไทยคืออะไร ต่างกับข้อกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร เกือบทั้งหมดไม่รู้ ถามว่าจำที่มาที่ไปและท่าทีของ กกต. ชุดก่อนต่อทั้งสองคดีได้ไหม เกือบทั้งหมดจำไม่ได้ หลายคนจำได้แต่ว่า กกต. ชุดนั้นถูกศาลพิพากษาจำคุก แล้วไงเหรอ?”
            นั่นก็เป็นผลผลิตของกระบวนการให้นิยามความยุติธรรม ซึ่ง (ต้อง) หมายถึง การยุบ/ไม่ยุบ ทั้งสองพรรคเสมอกัน (โดยไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเล็กที่เหลือ) เป็นกระแสที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากคำพิพากษาก่อเตรียมกันมาก่อนหน้านี้หลายเดือน และขานต่อซ้ำๆ กันมาแบบนกขุนทอง
            เพื่อนำไปสู่วาทกรรม อำนาจจากปากกระบอกปืนที่ต่อเนื่องมาจากวาทกรรมในชุด สิบเก้าล้านเสียง” “ทุนนิยมชั่วช้าดีกว่าศักดินาล้าหลัง
กระบวนการย้ำซ้ำสามารถสร้างกระแสอันอาจโน้มนำและเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้คนในบริบทและห้วงเวลาเฉพาะ แต่วาทกรรมในแง่หนึ่งอาจนิยามอย่างสั้นว่าเป็นการพยายาม สร้างความจริงขึ้นมา
            นักคิดผู้ทรงอิทธิพลในเรื่อง วาทกรรมคือ นักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสชื่อมิเชล ฟูโกต์ (1926-1984) เขาเสนอแนวคิดว่า ความจริงของสรรพสิ่งไม่สำคัญเท่ากับการรับรู้ ทัศนะ และระบบการคิด การให้เหตุผล ซึ่งอาจนิยามรวมว่า วาทกรรม” (discourse) ของคนเราต่อสิ่งนั้น
            แนวคิดของมิเชล ฟูโกต์ มีจุดต่างจากปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ์ ในแง่ที่การคลี่คลายทางสังคมไม่ได้เป็นผลจากวิวัฒนาการ/เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เขามีจุดร่วมกับมาร์กซ์ในเชิงวิภาษวิธี ที่มองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นผลจากการปะทะ ประสาน แต่ก็ต่างกันตรงที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการปะทะ ประสาน ระหว่างโครงสร้างทางอุดมการณ์ ทฤษฎีสังคม-การเมือง หรือชนชั้น หากเป็นโครงสร้างทางความคิดที่สัมพันธ์กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมที่คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย
            แนวคิดแบบฟูโกต์ค่อนข้างมีเสน่ห์สำหรับนักคิดร่วมสมัย โดยเฉพาะกลุ่มโพโม หรือโพสต์โมเดิร์น เพราะนอกจากช่วยเปิดมุมมองต่อความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ได้ชัดและกว้างขึ้น ยังเผยแสดงถึงสมรภูมิแห่งวาทกรรมเพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์และการปะทะขัดแย้งต่างๆ ในปัจจุบันสมัย ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมได้ดีขึ้น
            ยกตัวอย่างผลเอแบคโพลล์ ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อสถานภาพคุณธรรมในสังคมไทย ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และประมวลผลออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ พบว่า ในขณะที่ค่าคะแนนของคุณธรรม 6 ด้านที่สำรวจ อยู่ที่ 66.3 คะแนน จาก 100 แต่ในขณะเดียวกันกว่า 70% เอนเอียงที่จะยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น
            ปฏิทัศน์เช่นนี้สะท้อนอะไรได้มากมาย และมันก็อาจเป็นบทสรุปที่ชัดเจนว่า วาทกรรม โกงกันบ้างช่างมัน ขอให้เศรษฐกิจดีก็แล้วกันที่ก่อกันมาแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้หยั่งรากของฐานคิดที่ให้ค่าผลประโยชน์เหนือความถูกต้องดีงามเอาไว้อย่างแข็งแรงเพียงใด
            ด้วยอานุภาพเช่นนี้ ย่อมจูงใจให้จงใจ ผลิตวาทกรรมเพื่อสนองวัตถุประสงค์และผลประโยชน์โดยเจาะจงของแต่ละกลุ่มผลประโยชน์ และไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ประเด็นต่อสู้ทางการเมือง
เพราะ ความจริงไม่สำคัญเท่ากับ การรับรู้เครื่องมือที่ทรงพลังของการผลิตวาทกรรมจึงอยู่ที่กระบวนการสื่อสารแบบตอกย้ำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสังคมเชื่อฟังสื่อ และเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสื่อสิ้นจรรยา
            การเรียนรู้จากฟูโกต์ จะทำให้เรารู้ว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะไปอภิปรายโต้แย้งกับนักผลิตวาทกรรม หรือกระทั่งนกขุนทองที่เจื้อยแจ้วไปตามวาทกรรมที่ต้องจริตหรือเอื้อประโยชน์ตน เพราะเขาจะไม่ใช้เหตุผลและความจริงกับเรา เขาจะพูดแต่สิ่งที่เขาต้องการให้เป็นที่รับรู้และข้อกล่าวหาโจมตีกลับ
            เหมือนกับกรณียุบพรรค ซึ่งไม่ได้มีความพยายามโต้แย้งหักล้างในส่วนความผิดที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่เขาจะพร่ำบอกถึงความไม่ยุติธรรม คณะผู้พิพากษาไม่มีความชอบธรรม การจ้องทำลายล้าง และอำนาจจากกระบอกปืน  กระทั่งนำไปสู่สมการสตึๆ ทักษิณ = ประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะเหมาะแต่กับคนขาดสติ
            ในแง่หนึ่ง วาทกรรมที่จัดสร้างขึ้นเพื่อแสวงประโยชน์ ดูจะสะท้อนและสัมพันธ์กับกระบวนวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์แยกส่วน ว่ามนุษย์สามารถสร้างและ/หรือพิสูจน์ความจริงเฉพาะด้านย่อยๆ ได้ การเสนอความจริงเฉพาะด้านจะสามารถกันความจริงด้านที่เหลือออกจากการมองเห็นและรับรู้ของผู้คนได้ หรือกระทั่งสามารถปฏิเสธการมีอยู่ของความจริงที่ไม่สามารถสอบวัดอย่างเป็นภาวะวิสัย
            แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความจริงจะมลายไปภายใต้เงื่อนไขของการไม่รับรู้และมองไม่เห็น
            แล้วคนที่เอาหัวชนความจริงอันกระจ่างใส ก็ใช่ว่าจะโชคดีเหมือนนกขุนทองทุกรายไป
#
12 มิถุนายน 2550
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 18 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2550)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น