วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ตะไคร่ยังไม่จับ


ถ้านับเอาวันที่พวกเขาออกแสดงครั้งแรก-ภายใต้ชื่อ The Rollin' Stones
ที่มาร์กีคลับในลอนดอน เป็นวันเกิดของวง
โรลลิง สโตนส์ มีอายุวงครบ 50 ปีเต็ม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

บทความชิ้นนี้เขียนไว้เมื่อ 7 ปีก่อน อาจจะดูเก่าไปบ้าง 
แต่เมื่อดูว่าเป็นบทความที่ไม่ได้เน้นเพียงผลงานเพลงของพวกเขาในช่วงนั้น 
หากได้เขียนถึงแง่มุมหลากหลาย ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ของสมาชิก 
และวิธีที่พวกเขาจัดการกับความสำเร็จ-ผลประโยชน์-และธุรกิจ 
บทความนี้ก็น่าจะยังมีประโยชน์อยู่บ้างในแง่ที่อาจจะช่วยให้เรารู้จักกับอีกบางแง่มุมของ  
"วงร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก"   . . . ที่มีการจัดการดีที่สุดในโลกด้วย
A Bigger Bang (2005) เป็นอัลบัมใหม่เต็มๆ ชุดของโรลลิง สโตนส์ แผ่นแรกในรอบ 8 ปี นับจาก Bridges To Babylon เมื่อปี 1997 และยังได้การยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์จากแฟนเพลงและนักวิจารณ์ว่าสมบูรณ์แบบกว่าหลายอัลบัมในระยะหลัง นักวิจารณ์บางคนถึงกับบอกว่า ดีที่สุดในรอบ 25 ปี ตั้งแต่ Tattoo You (1981)    
        ที่จริงอัลบัมใหม่ของสโตนส์ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น พวกเขาเพียงแต่ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด และไม่ได้พยายามที่จะแต่งเติมอะไรให้มากเกินไป ที่มากจริงๆ ก็เห็นจะเป็นจำนวนเพลงนั่นแหละ ร็อกเกอร์อายุปูนนี้ยังมีไฟทำเพลงออกมามากถึง 16 เพลง แล้วก็ไม่ใช่เพลงที่ใส่เข้ามาให้เต็มความจุซีดีด้วย ถือเป็นเรื่องน่าทึ่งทีเดียว
            มิก แจกเกอร์ให้สัมภาษณ์ก่อนออกอัลบัมว่า เราออกงานใหม่ก็เพราะว่าเรายังสร้างงานใหม่ๆ ได้ และเรามีมากเสียด้วยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอั้นมานาน แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นที่วิธีการทำงาน คราวนี้มิก กับคีธ ริชาร์ดส์ มีเวลา (และอารมณ์) มานั่งทำเพลงด้วยกันอย่างใกล้ชิด สานต่อไอเดียให้กันและกัน จนได้เพลงแบบที่คีธบอกว่า พร้อมที่จะเล่นบันทึกเสียงได้เลยต่างจากงานในระยะหลังที่คีธเป็นคนคิดโครงเพลงขึ้นมา ส่งต่อให้มิกเขียนเนื้อ แล้วค่อยไปปรุงแต่งกันต่อในห้องบันทึกเสียง
            เพลงใน A Bigger Bang จึงมีความสดที่รู้สึกได้ในความเรียบง่าย และมีพลังของความดิบหยาบที่เป็นแบบฉบับของสโตนส์มากกว่าเวลาที่เขาพยายามจะแต้มสีสันของความ ร่วมสมัยลงไป เปิดแผ่นมา  สโตนส์ก็ชนะใจคนฟังไป 4 เพลงรวด ไล่มาตั้งแต่ “Rough Justice” เร็ว สนุก สมกับที่เลือกตัดเป็นซิงเกิลแรก “Let Me Down Slow” ผ่อนลงมานิดตามชื่อเพลง แต่ทำนองเพราะ ฟังเพลิน ก่อนจะชวนโยกหัวและขยับขากันต่อใน “It Won’t Take Long” และ “Rain Fall Down”
            มีอีกหลายเพลงที่พวกเขาทำได้ดี อย่าง “Biggest Mistake” ที่มีเสียงคอรัสมาช่วยเติมความไพเราะได้อย่างพอเหมาะพอดี คนชอบเพลงสนุกก็ยังมี “Oh No Not You Again” “Look What The Cat Dragged In” กับ “Driving Too Fast” ให้คึกคักกันต่อ ที่ไม่เคยขาดคือเพลงทางบลูส์ “Back Of My Hand” เป็นบลูส์จ๋า ช่วยให้นึกภาพออกว่าเพลงแบบนี้กระมังที่สโตนส์จะร้องเล่นกันตอนที่ร็อกกันต่อไม่ไหวแล้ว แม้แต่ “This Place Is Empty” จากเสียงร้องของคีธก็ยังฟังดีกว่าที่เคย
            เพลงที่พูดถึงกันมากเพราะฟังยังไงก็ซัดไปโดนประธานาธิบดีบุชตรงๆ เต็มๆ คือ “Sweet Neo Con” สะใจทั้งดนตรี วิธีร้อง และวิธีเขียนคำของมิกซึ่งไม่ค่อยได้เขียนเพลงแบบนี้บ่อยนัก คีธไม่เห็นด้วยกับการปล่อยเพลงนี้ ทั้งความแรงและโอกาสที่จะเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จนกลบข่มเพลงอื่นๆ เขาบอกมิกว่า แต่ถ้านายรู้สึกอยากจะพูดแบบนั้นจริงๆ ฉันก็จะสนับสนุนแต่มิกเอามา อำต่อว่า คีธกังวลกับเพลงนี้นิดหน่อย เพราะเดี๋ยวนี้เขาอยู่ในอเมริกา แต่ผมไม่ได้อยู่
สโตนส์ปี 2005 ชาร์ลี วัตส์, คีธ ริชาร์ดส์ และ มิก แจกเกอร์ อยู่กันมาตั้งแต่ก่อร่างสร้างวง
ส่วนรอน วูด (ขวาสุด) เข้ามาสมทบเมื่อปี 1975 (Credit: AP)
มิก แจกเกอร์ กับ คีธ ริชาร์ดส์ เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก มาเจอกันอีกทีในปี 1960 ตอนนั่งรถไฟเข้าไปเรียนหนังสือในลอนดอน มิกเรียนเศรษฐศาสตร์ คีธเรียนศิลปะ แต่ชอบเพลงร็อกและรีธึมแอนด์บลูส์ของศิลปินอย่าง ชัก เบอร์รี และลิตเทิล ริชาร์ด เหมือนกัน
            ทั้งคู่สานมิตรภาพกันใหม่ แล้วตั้งวงในปีต่อมา หลังจากได้รู้จักกับไบรอัน โจนส์ ที่หลงใหลเพลงบลูส์อีกคน ไบรอันเป็นผู้นำวงด้วยพื้นความรู้ทางดนตรีดีกว่า เล่นกีตาร์เก่งกว่า ตอนนั้นคีธยังหัดเล่นกีตาร์แบบแกะตามแผ่นอยู่เลย ส่วนมิกก็มีเพียงความอยากจะเป็นนักร้อง พวกเขาตั้งชื่อวงจากเพลงของมัดดี วอเทอร์ส มีสมาชิกร่วมวงอีก 3 คนคือ เอียน สจวร์ต (เปียโน) ชาร์ลี วัตส์ (กลอง) และ บิลล์ ไวแมน (เบสส์)
            สโตนส์มีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะวงประจำผับที่เล่นเพลงแนวอาร์แอนด์บีได้ดีที่สุดวงหนึ่งในลอนดอน แอนดรูว์ ลู้ก โอลด์แฮม เป็นคนจัดการให้สโตนส์ได้เซ็นสัญญากับเดกกา โดยตัวเองทำหน้าที่ทั้งผู้จัดการและโพรดิวเซอร์ แอนดรูว์ไม่รู้เรื่องดนตรีมากนัก แต่เขาเก่งประชาสัมพันธ์ ภาพแบบดิบเถื่อน แบบเด็กเกเร ของสโตนส์ ที่ตั้งใจให้เป็นด้านตรงข้ามกับความสด สะอาดของเดอะ บีเทิลส์ ก็มาจากการ วางตำแหน่งของเขา
            ซิงเกิลและอัลบัมยุคแรกที่ออกในช่วงปี 1963-1965 ส่วนใหญ่เป็นการคัฟเวอร์เพลงของศิลปินรุ่นก่อน ไม่เว้นแม้แต่เพลงของเดอะ บีเทิลส์ ความเป็นผู้นำของไบรอัน โจนส์ ค่อยๆ ลดลงเมื่อแอนดรูว์ ทั้งส่งเสริมและเคี่ยวเข็ญให้มิกกับคีธเริ่มแต่งเพลงเอง ความสำเร็จใหญ่โตของเพลง “(I Can’t Get No) Satisfaction” ในปี 1965 ได้สถาปนาชื่อ แจกเกอร์/ริชาร์ดส์ ขึ้นเป็นคู่หูนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ถัดจากเลนนอน/แม็คคาร์ตนีย์ และเป็นแกนเคลื่อนหินที่ไม่เคยหยุดกลิ้งก้อนนี้มาตลอดสี่ทศวรรษนับจากนั้น
            ไบรอัน โจนส์ เสียชีวิตในปี 1969 แต่ถึงตอนนั้นการมีหรือไม่มีไบรอันก็ไม่มีความสำคัญสำหรับสโตนส์แล้ว เล่ากันว่ามิกกับคีธเป็นคนขอให้เขาออกจากวงก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ เพราะปัญหายาเสพติดที่หนักหน่วงกว่าเพื่อนร่วมวงทุกคน ทำให้ไบรอันอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมสำหรับการแสดงสด มิก เทย์เลอร์ มือกีตาร์จากวงบลูส์เบรเกอร์ส ของจอห์น เมย์ออล เข้ามาแทนในช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นยุคทองของสโตนส์ แต่ความขัดแย้งกับคีธ และผลประโยชน์ที่ได้น้อยกว่าที่ควรจะได้ ทำให้มิก เทย์เลอร์ถอนตัวไปในปี 1975
            กรณีของไบรอันกับมิกคนที่สอง อาจสะท้อนปัญหาการนำวงของแจกเกอร์/ริชาร์ดส์ แต่อีกด้านหนึ่ง สโตนส์กลับเป็นวงที่เกาะกลุ่มกันมาอย่างเหนียวแน่น สมาชิกคนหลังสุดของวงคือ รอน วูด มือกีตาร์ จากเดอะ เฟสเซส ที่คีธเลือกเข้าแทนมิก เทย์เลอร์ อยู่มาสามสิบปีแล้ว เอียน สจวร์ต ซึ่งถูกแอนดรูว์กันออกจากการเป็นสมาชิกวงอย่างเป็นทางการตั้งแต่แรกทำสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง ก็ยังอยู่กับวงมาจนเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจในปี 1986 บิลล์ ไวแมน เล่นมาจนถึงปี 1991 จึงเกษียณตัวเอง
            แต่สัมพันธภาพระหว่างสองผู้นำวงก็ไม่ได้ราบรื่นนัก คู่แฝด กลิมเมอร์ ทวินส์” (ชื่อที่ทั้งคู่ใช้ในการโพรดิวซ์งาน) เข้าขากันดีในการเขียนเพลง แต่นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย คนหนึ่งเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ อีกคนหนึ่งเลือกเรียนศิลปะ คนหนึ่งชอบชีวิตหรูหราฟู่ฟ่าอยู่ในแวดวงเจ็ตเซ็ต อีกคนหนึ่งเก็บตัวอยู่ห่างไกลผู้คน คนหนึ่งชอบจัดระบบวางแผน อีกคนหนึ่งเฝ้ารอแรงบันดาลใจ คีธเคยบรรยายให้เห็นภาพว่า มิก เป็นพวกที่ตื่นขึ้นมาโดยมีแผนการทุกอย่างอยู่ในหัว ต้องโทรหาใคร จะกินอะไร ไปที่ไหน ส่วนผม ตื่นนอนด้วยความรู้สึกขอบคุณพระเจ้า แล้วลุกไปตรวจดูให้แน่ใจว่าโทรศัพท์ทุกเครื่องไม่ได้เสียบปลั๊กไว้” 
            ความต่างทำให้ทั้งคู่ทะเลาะกันจนไม่พูดจาไม่มองหน้ากันนานๆ หลายครั้ง ที่หนักที่สุดน่าจะเป็นตอนที่มิกไปทำอัลบัมเดี่ยวสองชุดช่วงกลางทศรรษ 1980 ทิ้งให้คีธแต่งเพลงลงอัลบัมของวงอยู่คนเดียว มีการด่าทอกันไปมาผ่านสื่อมวลชน จนไม่มีใครคิดว่าจะกลับมาคืนดีกันได้อีก เมื่อมีคนเปรียบเปรยกับความสัมพันธ์ฉันท์สามี-ภรรยาคู่ที่มีเรื่องทะเลาะตบตีกันเสมอ แต่ก็ไม่เคยแยกขาดจากกันเสียที คีธหัวเราะ บอกว่า ถ้าเราทำงานแบบคู่ผัวเมียกันจริงๆ มิกก็คงเป็นแม่ ส่วนผมเป็นพ่อ แล้วเราก็มี ผลิตผลที่ต้องดูแลเยอะเลย
A Bigger Bang - ‘ผลิตผลล่าสุดของโรลลิง สโตนส์ออกมาตอนต้นเดือนกันยายน ติดอันดับ 3 ของบิลล์บอร์ด ด้วยยอดขาย 129,000 แผ่นในสัปดาห์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ในสัปดาห์นั้น แร็ปเพอร์ รุ่นใหม่มาดเนี้ยบที่มาแรงสุดคานเย เวสต์ ยังรั้งอันดับหนึ่งเอาไว้ได้ และอันดับสองก็เป็นอัลบัมฮิปฮอปของวง 50 เซนต์ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นเรื่องยากที่ร็อกรุ่นลายครามจะกลับมาผงาดในตลาดเพลงที่กลุ่มคนฟังวัยรุ่นเป็นกำลังซื้อหลัก ไม่ว่าอัลบัมนั้นจะถึงพร้อมขนาดไหน
ปก Fortune ปี 2002
            พื้นที่จริงๆ ของร็อกเกอร์วัยเกษียณอยู่บนเวทีคอนเสิร์ต และสำหรับโรลลิง สโตนส์ นั่นคือ ผลิตผลที่พวกเขาดูแลยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อปี 2002 นิตยสารฟอร์จูนเคยเจาะเข้าไปในกลไกการทำเงินของวง พบว่ารายได้กว่า 1,500 ล้านดอลลาร์ที่สโตนส์ทำได้ในช่วงปี 1989-2002 มากกว่าครึ่ง (865.3 ล้าน) มาจากคอนเสิร์ต เสริมด้วยสินค้าและของที่ระลึกต่างๆ ที่ทำออกขายในคอนเสิร์ต (135.9 ล้าน) กับรายได้จากสปอนเซอร์ซึ่งผูกติดไปกับทัวร์คอนเสิร์ต (21.5 ล้าน) ส่วนรายได้จากการขายแผ่นเสียงอยู่ที่ 466.4 ล้าน ที่เหลือเป็นรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ (ประมาณ 56 ล้าน)
            ผลลัพธ์แบบนี้ไม่ได้มาจาก ธุรกิจครอบครัวแน่ๆ สโตนส์เคยโปรโมทการทัวร์ด้วยคำว่า วงร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 ก่อนที่ประโยคนี้จะเป็นที่ยอมรับกันและใช้ต่อๆ กันมา คนที่ไม่ชอบพวกเขาเท่าไหร่กระแนะกระแหนว่าน่าจะเป็น วงร็อกที่มีความเป็นมืออาชีพที่สุดในโลกมากกว่า ซึ่งในเชิงธุรกิจต้องถือเป็นคำชม และนับจากปี 1989 ความยิ่งใหญ่และความเป็นมืออาชีพก็หลอมรวมกันเป็นวงร็อกต้นแบบที่มี การจัดการดีที่สุดในโลก
            ถ้ามิกเป็น แม่ก็เป็นแม่ที่ถี่ถ้วนมากในการบริหารการเงินและธุรกิจของครอบครัว ต้องไม่ลืมว่ามิกเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แม้จะไม่จบ และลอนดอนสคูลออฟอีโคโนมิกส์ที่เขาสอบเข้าไปได้ ก็มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในสาขาวิชานี้ มิกยังเก็บเกี่ยวประสบการณ์มามากมายตามรายทาง จากทุกคนและทุกข้อตกลงที่วงเกี่ยวข้อง ช่วงที่สโตนส์ขยายพื้นที่เล่นคอนเสิร์ตออกไปสู่สนามกีฬาที่มีความจุหลายหมื่นคนตอนปลายทศวรรษ 1960 ซึ่งแปรความหมายของคอนเสิร์ตเพื่อสนับสนุนอัลบัมมาเป็นธุรกิจในตัวของมันเอง ก็เป็นมิกนี่แหละที่จัดการดูแลระบบแสง เสียง เวที ทั้งหมด บางครั้งก็ไปเจรจาต่อรองกับโปรโมเตอร์ท้องถิ่นด้วยตัวเอง
            เมื่อต้องหาคนมาดูแลแทนในยุคที่อุตสาหกรรมดนตรีเติบโตอย่างรวดเร็วตอนกลางทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา มิกก็รู้ว่าคนแบบไหนที่มีคุณสมบัติที่เขาต้องการ และเขายังกว้างขวางในหมู่นักธุรกิจชั้นนำพอที่จะเฟ้นหาจนได้มือดีที่สุด
            พรินซ์ รูเพิร์ต ซู โลเวนสไตน์ นายธนาคารเชื้อสายเยอรมันที่มาปักหลักทำธุรกิจในลอนดอน ทำหน้าที่ ประธานที่ปรึกษาให้โรลลิง สโตนส์ มากว่า 30 ปีแล้ว เขาวางโครงสร้างใหม่ให้สมาชิกสี่คน (ห้าคนถ้ารวมบิลล์ ไวแมน ในช่วงก่อน) เป็นผู้ถือหุ้น “The Rolling Stone Inc” ที่เปรียบเสมือนโฮลดิง คัมพานี แต่อย่าถามว่าหุ้นที่แต่ละคนถือเท่ากันไหม เพราะคนที่รู้จะไม่มีใครปริปากบอก อัลเลน ไคลน์ อดีตผู้จัดการธุรกิจของสโตนส์ในยุคหนึ่งเคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อก่อนทุกคนได้แบ่งเท่ากัน แต่สำหรับตอนนี้ ผมยังสงสัยอยู่แต่ที่ไม่ต้องสงสัยเลยคือ ทุกคนพอใจกับผลตอบแทนที่ตัวเองได้ เพราะไม่เกิดกรณีแบบมิก เทย์เลอร์อีกเลย
            กลุ่มบริษัทในเครือสโตนส์ แตกออกเป็น โพรโมทัวร์ โพรโมพับ โพรโมโทน และมิวสิดอร์ ดูแลผลิตผลแยกแขนงกันไป ทั้งหมดจดทะเบียนในฮอลแลนด์ ซึ่งมีเงื่อนไขทางภาษีดีที่สุด พนักงานประจำของทุกบริษัทมีจำนวนรวมกันไม่กี่สิบคน แต่เมื่อถึงฤดูทัวร์ ทีมงานหลายร้อยคนก็พร้อมที่จะตระเวนไปพร้อมขบวนรถบรรทุกเพื่อติดตั้งและรื้อถอนเวที ระบบแสง-เสียง
            ผ่านทางพรินซ์ รูเพิร์ต โปรโมเตอร์ชาวแคนาดาไมเคิล โคห์ล เข้ามาเริ่มงานทัวร์ไดเร็คเตอร์ กับ Steel Wheel Tour ในปี 1989 เพื่อไม่ให้รายได้รั่วไหลไปไหน ไมเคิลตัดโปรโมเตอร์ท้องถิ่นออกไป ติดต่อเช่าสถานที่เอง แล้วเพิ่มรายได้เข้ามาจากการขายบัตรราคาแพงสำหรับที่นั่งพิเศษ จัดทัวร์ตามดูคอนเสิร์ต เพิ่มไลน์สินค้าสำหรับขายในงาน ขายสิทธิ์แพร่ภาพทางทีวี และรับสปอนเซอร์ที่พร้อมจะจ่าย ให้ไม่อั้นสำหรับการทำโปรโมชั่นร่วมกับโรลลิง สโตนส์ รวมแล้วประมาณกันว่าสโตนส์ทำเงินได้ไม่น้อย กว่า 260 ล้านดอลลาร์จากทัวร์เดียว
            นับจากนั้น สโตนส์เป็นเครื่องจักรทำเงินที่มีจังหวะการทำงานที่แน่นอนและเที่ยงตรงที่สุดในธุรกิจดนตรี พวกเขาไม่เคยยุบวงและไม่เคยหายไปไหนนาน เมื่อตัวเองพร้อมหรือแฟนเพลงเริ่มคิดถึง พวกเขาจะกลับมา และมาทีเป็นชุด เริ่มจากอัลบัมแล้วตามมาด้วยเวิลด์ทัวร์ เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่อัลบัม Steel Wheels (1989) Voodoo Lounge (1994) Bridges To Babylon (1997) จนถึง Licks ในปี 2003 และ Bigger Bang ในปี 2005 นี้
            เฉพาะรายได้จากทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักและมีระบบการเก็บตัวเลขที่ครบถ้วน ทัวร์คอนเสิร์ตของสโตนส์ติดอันดับทำเงินสูงสุดเกือบทุกครั้ง โดยเฉพาะ Voodoo Lounge Tour ทำรายได้สูงถึง 121.2 ล้านดอลลาร์ เป็นสถิติที่ไม่มีใครลบได้มานานกว่า 10 ปีแล้ว
ถ้าเอาสโตนส์ไปผูกโยงกับกระแส สิ่งที่ควรทำก่อนตายคอนเสิร์ตของพวกเขาก็ควรจะอยู่ในอันดับต้นๆ ที่ควรจะได้ดูสักครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ว่าจะชอบเพลงของพวกเขามากน้อยขนาดไหน เพราะคอนเสิร์ตของโรลลิง สโตนส์ ไม่ใช่และไม่เคยเป็นการกลับมารวมกันเฉพาะกิจเพื่อเก็บเกี่ยวดอกผลที่เคยหว่านเพาะไว้ พวกเขาทัวร์แล้วทัวร์อีก เพราะสนุกกับมันและได้เงินเยอะ แฟนเพลงในอเมริกาและยุโรปที่ดูกันแล้วดูกันอีก ทั้งที่ต้องจ่ายค่าบัตรแสนเพลง ก็เพราะสนุกกับมันเหมือนกัน
            เมื่อสองปีที่แล้ว (พ.ศ. 2546) แฟนเพลงเมืองไทยควรจะมีโอกาสสนุกกันบ้าง แต่โรคซาร์สก็หยุดพวกเขาไว้ที่อินเดีย ปล่อยให้มิก แจกเกอร์บินเดี่ยวมาเที่ยวเล่นอยู่คนเดียว
            ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะมีโอกาสสักครั้งไหม
#
19 ตุลาคม 2548
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น