วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

Empire Burlesque

วิธีง่ายๆ ในการช่วยกันลดปัญหาโลกร้อน ที่แทรกอยู่ในคอนเสิร์ต Live Earth เป็นความพยายามที่ดีและแสดงรูปธรรมของการมีส่วนร่วมว่าไม่ใช่เรื่องยากและเกินกำลัง
            แต่วิธีง่ายๆ สำหรับคนอเมริกัน ก็อาจกลายเป็นวิธีขำๆ สำหรับคนในซีกโลกอื่น อย่างเช่น การตากผ้าหลังซักแทนการใช้เครื่องอบ
            วิธีของบรรพชนที่ปล่อยให้ผ้าแห้งเองภายใต้สายลมและแสงแดดยังคงเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ในโลกทำกัน นอกจากธุรกิจซัก-อบ-รีด และบริการประเภทโรงแรม-โรงพยาบาล เครื่องอบผ้าอาจมีความจำเป็นสำหรับผู้คนในพื้นที่เขตฝน และที่พักอาศัยซึ่งไม่มีพื้นที่พอให้ตากผ้า แต่เอาเข้าจริง เครื่องอบผ้าก็กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของคนที่มีเงินซื้อเครื่องและจ่ายค่าไฟในอัตราก้าวหน้ามากกว่าสิ่งตอบสนองความจำเป็นของคนห้องแถวและชาวแฟลต
            เช่นเดียวกับกรณีเครื่องอบผ้า มีหลายคนถามว่า คอนเสิร์ต Live Earth เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2550) ตอบสนองความจำเป็นและคุ้มค่าแค่ไหนในการรณรงค์แก้ปัญหาโลกร้อน
Credit: Christopher J. Morris from http://www.photosensitive.com
เดอะ ฮู เปรียบเปรยคอนเสิร์ตใหญ่คราวนี้กับ “(การนั่ง) เครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนรอเจอร์ ดัลทรีย์-นักร้องนำ บอกด้วยว่ามันเป็นคอนเสิร์ตที่ไร้จุดหมายสิ่งสุดท้ายที่โลกนี้ต้องการก็คือร็อคคอนเสิร์ต คำถามและคำตอบเกี่ยวกับปัญหานี้มันใหญ่โตเกินไปจนผมไม่รู้ว่าร็อคคอนเสิร์ตจะไปช่วยอะไรได้
            บ็อบ เกลดอฟ ผู้จัด Live Aid เมื่อ 22 ปีก่อน ก็เห็นว่า Live Earth เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ หากวางเป้าหมายไว้เพียงแค่สร้างความตระหนักและตื่นตัว เพราะทุกคนรับรู้ปัญหาโลกร้อนมาเป็นปีๆ แล้วและถ้าเป็นเขา เขาจะจัดคอนเสิร์ตคอนเสิร์ตแบบนี้ก็ต่อเมื่อผมสามารถขึ้นไปบนเวทีแล้วประกาศได้ว่าผู้สมัครประธานาธิบดี สภาคองเกรส และบรรษัทใหญ่ของอเมริกา มีมาตรการที่ชัดเจนอย่างไรในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม
            ทั้งรอเจอร์และบ็อบเป็นคนอังกฤษ ซึ่งอาจเป็นประเด็นอยู่บ้าง เพราะประเด็นเกี่ยวข้องและสำคัญกว่าคือ สหรัฐอเมริกา ทั้งที่เป็นประเทศปล่อยก๊าซที่สร้างภาวะเรือนกระจกสูงสุด ไม่ยอมให้สัตยาบันต่อพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันของนานาชาติในการแก้ปัญหานี้ (แม้ปัจจุบันตัวเลขของจีนได้แซงสหรัฐฯไปแล้ว แต่สหรัฐฯยังครองค่าสูงสุดต่อจำนวนประชากรอยู่ดี)
            ในอีกด้านหนึ่ง ดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ รายงานว่า ก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากคอนเสิร์ตนี้ทั้งหมด รวมถึงการเดินทางและการใช้พลังงานของนักดนตรีและผู้ชม ไม่ต่ำกว่า 74,500 ตัน หรือ 3,000 เท่าของค่าเฉลี่ยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อปีในพื้นที่ทั่วทั้งสหราชอาณาจักร สอดคล้องกับข้อมูลจากสื่ออื่นๆ เช่น เดลีเมล์บอกว่า นักร้องนักดนตรีที่ร่วมแสดงคอนเสิร์ตนี้ใช้เส้นทางบินรวมกันไม่น้อยกว่า 358,278 กม. คิดเป็นระยะทางรอบโลก 9 รอบ นี้ยังไม่รวมการเดินทางของทีมงานฝ่ายต่างๆ ซึ่งทางบีบีซีประเมินว่าต้องปลูกต้นไม้ 100,000 ต้นเพื่อชดเชยกับมลภาวะที่เกิดขึ้นจากคอนเสิร์ตวันเดียวนี้
โลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบอย่างทั่วถึง แก้ยาก และรุนแรงขึ้นทุกขณะ เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนกระทั่งทุกคนต้องร่วมมือกัน การเป็นส่วนหนึ่งในการลด/แก้ปัญหา หรือกระทั่งเพียงพยายาม ย่อมดีกว่าเพิกเฉยและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาต่อไป
            แต่คำวิพากษ์ที่อาจเหมือนกับการตั้งแง่ต่อคอนเสิร์ตเพื่อการรณรงค์ หรือแม้แต่เคลือบแคลงต่อบทบาทนำของอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (รวมไปถึงประเด็นการใช้พลังงานเกินงามในคฤหาสน์ของเขา) ก็สะท้อนถึงกระบวนคิดอีกแบบที่จำเป็นในโลกที่ซับซ้อน
            สิ่งที่รอเจอร์ ดัลทรีย์พูด กับตัวเลขแสดงผลกระทบที่คอนเสิร์ต Live Earth ได้ซ้ำเติมต่อโลก บอกว่าเราจำเป็นต้องถี่ถ้วนกับประสิทธิผลและผลข้างเคียงทุกๆ ด้าน สิ่งที่บ็อบ เกลดอฟวิจารณ์ กับท่าทีของสหรัฐฯต่อปัญหานี้ ชี้ถึงการจัดลำดับความสำคัญว่า อัล กอร์น่าจะไปปลุกสำนึกของประธานาธิบดี-นักการเมือง-นักธุรกิจอเมริกันก่อนจะมาส่งเสียง เวค-อัพ คอลล์กับคนทั้งโลกซึ่งอาจจะลุกตื่นขึ้นมาก่อนแล้ว
            เหมือนกับที่คนไทยบอกว่า ไม่ต้องมาบอก (กู) เลยเรื่องตากผ้า” 
เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เราได้ยินเสียงปลุกจากอัล กอร์  เราก็ได้เห็นคนในปารีสนับหมื่นหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะ
            นายกเทศมนตรีปารีสเริ่มคิดเมื่อไหร่ เราอาจไม่รู้ พูดเอาไว้หรือไม่ เราอาจไม่ได้ยิน แต่การเปิดตัว “Paris Velib” หรือ “Freedom Bike” เพื่อจูงใจให้คนในมหานครที่แออัดที่สุดแห่งหนึ่งหันมาเดินทางด้วยจักรยาน ได้แสดงถึงกระบวนทัศน์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุดในการแก้ปัญหาการ จราจร-พลังงาน-มลพิษ-และโลกร้อน เท่าที่เคยเห็นกันมา
            จักรยาน 3 เกียร์ที่ออกแบบเฉพาะเพื่อรับงานหนักและกันขโมยจำนวน 10,000 คัน จุดเช่า/คืนรถ 750 แห่งทั่วกรุง กับพื้นผิวถนนระยะทางนับร้อยกิโลเมตรที่กันเป็นเลนเฉพาะ เป็นสามโครงสร้างหลักที่รองรับอิสรภาพในเดินทาง โดยไม่ต้องกังวลกับความปลอดภัยบนถนน การหาที่จอด การดูแลรักษาและสูญหาย หลังจากสมัครสมาชิกรายปีและวางเงินประกัน ทุกคนสามารถเช่าและส่งคืนจักรยานได้ทุกจุดบริการ
            สามสัปดาห์ให้หลัง ชาวปารีเซียงเช่าจักรยานใช้ไปแล้ว 1,200,000 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 6 ครั้งต่อคัน เป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนรถ จำนวนจุดบริการ และพื้นผิวจราจรรองรับ พร้อมๆ กับที่จูงใจให้มหานครหลายแห่งเคลื่อนตาม
            บ็อบ เกลดอฟพูดถูก นี่คือเวลาของการลงมือทำ
อาจจะเร็วเกินไปที่จะตัดสินคนและโครงการ คอนเสิร์ต Live Earth เป็นเพียงจุดเริ่มของแผนงานรณรงค์ 3 ปี แต่ไม่ได้ช้าเกินไปสำหรับการประเมินผลความคุ้มค่าของทรัพยากรทั้งหมดที่ใช้ไป กับการบรรลุเป้าประสงค์ และความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาวะปัญหาจริง
            อัล กอร์ กับทีมทำงานของเขาคงไม่ได้มาศึกษางานจาก สสส. บางทีอาจเป็นเพราะว่า เอ็นจีโอสายวิชาการ (แต่ชอบที่จะได้ชื่อว่าเป็นนักการตลาดเพื่อสังคม”) ที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน... ทำงานได้แค่(แบบ)นี้เอง พูดกันร้ายๆ ก็คือ แบบที่ใช้เงินคนอื่นมารณรงค์สร้างผลงานให้ตัวเองซึ่งถ้าวัดผลแบบการตลาดภาคธุรกิจคงจะนั่งอยู่ได้ไม่เกินหกเดือน
            ร้ายกว่านั้นอีกก็คือ อัล กอร์ ผู้ผิดหวังจากการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เป็นเสมือนหนึ่งประธานาธิบดีแห่งโลกที่มีคน 2,000 ล้านเฝ้าดูเขาอยู่--อย่างน้อยก็สอง-สามนาที
            คอนเสิร์ต Live Earth กับ Freedom Bike เป็นความเหลื่อมทั้งทางวิธีคิด วิธีทำ ความเข้าใจสถานะและบริบทของปัญหา ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหลื่อมห่างกันสุดกู่ ไม่ต่างอะไรจากที่เรารณรงค์กันซ้ำซากเรื่องเมาไม่ขับ ในขณะที่สภาพปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย
ถ้าคิดให้มากกว่าเรื่องขำๆ กรณีเครื่องอบผ้าจากสปอตรณรงค์ในคอนเสิร์ต Live Earth สะท้อนทั้งวิธีคิดในการจัดคอนเสิร์ตนั้น และแสดงถึงความเป็นอเมริกันที่สำคัญตัวเอง ผิดตลอดมานับตั้งแต่ชนะสงครามโลกครั้งที่สอง เพียงแต่ยิ่งใหญ่พอที่จะบอกว่าตัวเอง ถูกเสมอ
            เครื่องอบผ้าเช่นเดียวกับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอีกมากมายในชีวิตประจำวัน ไม่ได้เป็นเพียงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ยังกลายเป็นมาตรฐานการดำรงชีวิตของสังคมอารยะ ที่สหรัฐฯเป็นผู้นำกำหนด ในยุคหนึ่งเครื่องอบผ้าได้แฝงคติความสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง ซึ่งทำให้ราวผ้าที่ตากแขวนกันระเกะระกะทุกแฟลต-อพาร์ตเมนต์-คอนโดมิเนียม สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นธงแสดงความด้อยพัฒนาที่น่ารังเกียจ เมื่อมาถึงยุคนี้การตากผ้าได้กลายคุณค่าเป็นการกอบกู้โลก
            กอบกู้กันทั้งๆ ที่สหรัฐยังคงนำหน้าทุกประเทศในการกระตุ้นความอยากได้ใคร่มีไปสู่การบริโภค ที่ไม่รู้จบ ไปสู่การเผาผลาญทรัพยากรอย่างไม่บันยะบังยัง ไปสู่วงจรขยะใหม่ที่เกินขีดความสามารถในการย่อยสลาย-ทำลาย-นำไปใช้ใหม่ ไปสร้างอาณาจักรอันมั่งคั่งของกลุ่มธุรกิจจำนวนไม่กี่หยิบมือ และปฏิเสธการทำสัตยาบันผูกมัดตัวเองในการแก้ปัญหา แต่ออกมาเรียกร้องรณรงค์จากคนทั้งโลก
            ซึ่งเป็นวีรบุรุษกันไปแล้วมากกว่าครึ่งค่อน ถ้าจะวัดกันด้วยดัชนีการตากผ้า
#
17 สิงหาคม 2550
(ตีพิมพ์ในนิตยสาร สีสัน ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2550)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น