วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ศาสตร์แห่งความสุข

ตั้งแต่เมื่อไรกันที่ความสุขกลายเป็นเรื่องทางเทคนิค?” เป็นคำถามที่เจเน็ต มา ส่งไปยังนิตยสาร Time อีกคำถามหนึ่งของเธอคือเราจะหวนกลับไปหาวันเวลาที่ผู้คนใช้ชีวิตไปตามใจปรารถนา โดยไม่ต้องสงสัยว่าสารเคมีตัวไหนในสมองที่ทำให้เรามีความสุขไม่ได้หรือ?” เธอบอกด้วยว่า เธอรู้สึกเศร้าใจที่วิทยาศาสตร์เข้าไปยุ่มย่ามในทุกแง่มุมของความเป็นมนุษย์
ภาพประกอบ: มนูญ จงวัฒนานุกูล

            ถ้าเรายังคงเชื่อ ยังคงระลึกได้ว่า ความสุขอยู่ที่ใจเราอาจจะเห็นพ้องกับเจเน็ต แต่ในโลกที่หมุนเร็วขึ้น เต็มไปด้วยสรรพวัตถุที่กำหนดจิต และมากด้วยสิ่งเร้าที่กระตุ้นความกระหายอยาก ได้ดึงให้เราห่างเหินจากความนึกคิดและจิตใจของตัวเองมากขึ้นจนยากจะหยั่งถึง ในโลกที่ กระบวนการและ วิธีทำเข้ามาแทนที่สำนึกและเป้าหมาย ในโลกที่แม้แต่ความสุขและความพึงพอใจของเราได้กลายเป็นสิ่งที่ คนอื่นมาบอกกับเราว่า จะเกิดขึ้น-มีได้ ก็โดยการได้มาซึ่งสิ่งนั้น การบรรลุถึงสิ่งนี้
            การอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งอาจจะเคยรับรู้ได้ด้วยหัวใจ และเข้าถึงได้ด้วยความรู้สึก โดย ศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม มีกระบวนการศึกษาวิจัยรองรับ มีข้อมูลสนับสนุน ก็อาจจะเป็นสิ่งซึ่งควรแก่เหตุและกาลสมัย
Time ฉบับอันเป็นที่มาของคำถามข้างต้น รายงานถึงความก้าวหน้าของศาสตร์หลายแขนงในการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าความสุขวิธีสร้างสุข และหามาตรวัดระดับความสุข
            ในทางพันธุกรรม เมื่อหลายปีก่อนเคยมีการวิจัยที่สรุปว่า ยีนเป็นปัจจัยหลักที่มีบทบาทกำหนดระดับความสุขความพึงพอใจที่แตกต่างกันในแต่ละคนมากถึง 50% ในขณะที่ปัจจัยอื่น เช่น รายได้ ชีวิตครอบครัว ศาสนา การศึกษา มีส่วนกำหนดเพียง 8% ที่เหลือเป็นปัจจัยอื่นๆ ที่เรียกรวมว่าสายโยงและศรชี้ของชีวิต
            ระดับความสุขที่กำหนดโดยยีนจึงเหมือนกับการตั้งค่าเอาไว้แล้วล่วงหน้าตั้งแต่เกิด และยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้มากนักเช่นเดียวกับยีนที่กำหนดค่าความสูงหรือน้ำหนัก การศึกษาในช่วงต่อมาไม่ได้ ปฏิเสธบทบาทของยีน แต่โต้แย้งถึงค่าที่กำหนดโดยยีน จนเป็นที่ยอมรับว่ามีปัจจัยอื่นที่ทำให้คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงระดับความสุขในตัวได้ในช่วงกว้างกว่าที่เคยคิดกัน
            นักจิตวิทยาก็พยายามขยายนิยามของสุขภาพจิตจากการบำบัดรักษาอาการป่วยไข้ทางจิต ไปสู่สุขภาวะทางใจ ความท้าทายใหม่ก็คือ หลังจากที่เคยปรับภาวะจิตใจของคนที่มีค่า -5 ให้กลับมายังจุดศูนย์ได้สำเร็จแล้ว จะสามารถปรับจาก 0 ขึ้นไปสู่ภาวะ +5 ได้หรือไม่ อย่างไร
            งานวิจัยหลายชิ้นค้นพบว่า ความมั่งคั่งและความเพลิดเพลินพอใจที่ซื้อได้ด้วยเงินไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีข้อสรุปที่ตรงกันว่า เมื่อความต้องการจำเป็นพื้นฐานของเราได้รับการสนองตอบ ส่วนที่เกิน เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้น ระดับการศึกษา ระดับไอคิว ล้วนมีผลน้อยมากต่อระดับความพึงพอใจในชีวิต
            เคยมีการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้บริหารที่รวยที่สุดในอเมริกา พบว่าคนเหล่านี้มีความสุขในชีวิต มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนอเมริกันทั่วไปเพียงเล็กน้อย
            การศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์สัมพันธ์สนับสนุนเรื่องนี้ งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่ารายได้ประชาชาติและรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาตรฐานการดำรงชีวิตที่สูงขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตจำนวนมากขึ้น มีผลกับความรู้สึกดีต่อชีวิตไม่มากนัก
            อาจจะเป็นจริงที่ความยากจนเป็นอุปสรรคต่อชีวิตที่มีความสุข ประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกาที่ประชากรมีรายได้ต่ำมากๆ อาจไม่มีความสุขมากเท่ากับประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วที่มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูงกว่า มีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมครบสมบูรณ์กว่า แต่ในสังคมพัฒนาด้วยกัน ประเทศ กลุ่มสแกนดิเนเวียและยุโรปบางประเทศที่มีการกระจายรายได้ดีกว่า ดัชนีความสุขของคนในสังคมจะสูงกว่าประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่สูงอย่างอเมริกา เช่นเดียวกับที่คนในชนบท คนในเมืองเล็กๆ มักจะมีความพอใจกับชีวิตมากกว่าคนเมืองใหญ่ในประเทศเดียวกัน และคนจรจัดในกัลกัตตาก็เป็นทุกข์น้อยกว่าคนไร้บ้านในแคลิฟอร์เนีย
            นักสังคมวิทยาอธิบายเรื่องนี้ด้วยคำว่า ค่าอ้างอิงความกังวลซึ่งในสังคมที่มีสภาพความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันจะมีค่าอ้างอิงความกังวลต่ำ และมีความพอใจในชีวิตสูงกว่าสังคมที่มีความแตกต่างทางรายได้และความเป็นอยู่มากๆ ความพยายามที่จะไต่บันไดชนชั้นและสถานภาพทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญที่กันคนเราออกห่างจากความสุข เพราะทุกครั้งที่เราแหงนมองขึ้นไปข้างบน ก็จะพบว่ามีคนที่รวยกว่าเราอีกมาก
            คนที่กำลังเตรียมจะซื้อพลาสมาทีวีจอห้าสิบกว่านิ้วมาเข้าชุดโฮมเธียเตอร์ จึงอาจรู้สึกประหลาดใจกับผลการศึกษาครั้งแล้วครั้งเล่าที่ยืนยันตรงกันว่า คนในละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความสุขในโลก ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ยังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคม ไม่หยุดหย่อน ประชากรมีรายได้ การศึกษา และมาตรฐานการครองชีพต่ำ แต่คนละตินอเมริกันก็ยังมีความสุขมากกว่าคนในหลายประเทศที่มีพร้อมทุกอย่าง พัฒนาแล้วในทุกด้าน
            ค่าอ้างอิงความกังวลใช้อธิบายกรณีนี้ไม่ได้ สิ่งที่อธิบายได้ดีกว่าคือวัฒนธรรม-ความคิด-ความเชื่อที่ถ่ายทอดปลูกฝังกันมา จนหล่อหลอมเป็นทัศนคติเชิงบวก เป็นความศรัทธาที่มั่นคงต่อชีวิตและสิ่งที่ดีงาม หรืออาจจะพูดง่ายๆ ว่า คนละตินอเมริกามีความสุขเพราะพวกเขามองโลกในแง่ดีและต้องการให้ชีวิตมีความสุข
คนที่เคยดื่มด่ำกับเรื่องราวของครอบครัวแมคคอลี ในหนังสือความสุขแห่งชีวิต” (Human Comedy) ของวิลเลียม ซาโรยัน คงคุ้นเคยและได้เรียนรู้หลายอย่างจากทัศนคติและท่าทีต่อชีวิตแบบเดียวกันนั้น
            โฮเมอร์ แมคคอลี เด็กชายวัยสิบสี่ กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวหลังจากพ่อเสียชีวิต พี่ชายถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่สอง แม่มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากงานในโรงงานหีบห่อเฉพาะช่วงฤดูร้อน พี่สาวยังเรียนในวิทยาลัยและถือกันว่าลูกผู้หญิงวัยนี้ไม่ควรออกไปหางานทำนอกบ้าน น้องชายอีกคนก็ยังเล็กมาก
            โฮเมอร์ยังไปเรียนตอนกลางวันและทำงานส่งโทรเลขตอนกลางคืน วิลเลียม ซาโรยันบอกเราว่า ชีวิตนั้นยากลำบาก แต่ชีวิตก็ยังดำเนินไปและยังมีส่วนที่น่ารื่นรมย์เสมอ ตราบเท่าที่เรายังรักษาความรู้สึกดีๆ เอาไว้ได้ และสร้างโลกอย่างที่ต้องการขึ้นมาใหม่ในทุกๆ วัน งานส่งโทรเลขนำโฮเมอร์ไปพบกับเรื่องราวและอารมณ์หลากหลายของผู้คน รวมทั้งเรื่องที่หนักหนาที่สุดสำหรับเขา คือการส่งข่าวความตายไปยังคนที่รอลูกชายกลับจากสงคราม
            โฮเมอร์เติบโตอย่างรวดเร็วในความเปลี่ยนแปลงของชีวิต คติที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัวนำเขาผ่านข้ามทุกอย่างไปได้ เป็นคติแบบที่มิสซิสแมคคอลีเคยบอกกับลูกชายคนเล็กว่า สิ่งที่ดีไม่เคยสูญ เพราะถ้ามันสูญ ก็จะไม่มีคนเหลืออยู่ในโลกอีกแล้ว--ไม่มีชีวิตเหลืออยู่เลย แต่ในโลกนี้ก็ยังเต็มไปด้วย ผู้คนและชีวิตที่แสนสุขและเป็นคติแบบที่เธอบอกกับลูกชายคนรองว่า ย่อมจะมีความเจ็บปวดอยู่ในสิ่งต่างๆ เสมอ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะต้องสิ้นหวังไปเสียหมด คนดีๆ ย่อมจะทำให้ความเจ็บปวดหายไปได้เสมอ
            ในที่สุด เมื่อโฮเมอร์ต้องส่งข่าวความตายให้ครอบครัวของตัวเอง เขาก็รู้วิธีที่จะทำให้ความเจ็บปวดหายไป และยังคงยิ้มได้ ยิ้มของคนในครอบครัวแมคคอลีนั้น ซาโรยันบรรยายไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องว่าหมายถึงการตอบรับต่อทุกสิ่ง
คติและความคิดเชิงบวกเป็นที่ยอมรับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของความสุขแห่งชีวิต นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้ได้ข้อสรุปตรงกันว่า การมีชีวิตอยู่ด้วยความเชื่อและศรัทธาต่อชีวิตและสิ่งที่ดีงามย่อมนำมาซึ่งความสุข
            คติและท่าทีเช่นนี้อาจปลูกฝังโดยศรัทธาทางศาสนา บ่มเพาะโดยครอบครัว-สังคมที่คนเราเติบโตมา รักษาไว้โดยความพอใจในสิ่งที่มี ชีวิตที่เป็น และเพิ่มพูนขึ้นโดยการทำชีวิตให้มีความหมาย รับใช้จุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าอัตตาตัวเอง
            เมื่อแปรออกมาเป็นวิธีสร้างสุขอย่างเป็นรูปธรรม นักจิตวิทยาที่เคยให้คำแนะนำถึงการรับมือกับความเครียดและความวิตกกังวล จึงเริ่มเสนอให้ฝึกฝนการให้ รู้คุณของการรับ รู้จักการอภัย ถักทอสายใยสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้างให้แน่นแฟ้น
            ด้วยข้อสรุปและข้อเสนอเช่นนี้ อาจทำให้หลายคนรู้สึกว่า ความพยายามของศาสตร์ยุคใหม่ที่จะนำเราไปสู่ความสุข สุดท้ายก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนหลักธรรมคำสอนทางศาสนาต่างๆ ที่ถ่ายทอดมานับพันๆ ปี และเรายังได้ยินกันอยู่เสมอ
            ซึ่งก็จริง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราได้ทำหรือทำได้แค่ไหนกัน
#
Rhymes to learn
  • ข้อมูลการศึกษาวิจัยต่างๆ ในบทความนี้ เก็บความมาจากบทความหลายชิ้นใน Time ฉบับพิเศษ “Mind & Body” (28 กุมภาพันธ์ 2548) ซึ่งยังมีข้อมูลและแง่มุมที่น่าสนใจอีกมาก น่าจะหาซื้อย้อนหลังได้ไม่ยากจากร้านขายนิตยสารเก่า
  • มัทนี เกษกมล เป็นผู้ถ่ายทอด “Human Comedy” ของ วิลเลียม ซาโรยัน ออกมาเป็นความสุขแห่งชีวิตด้วยภาษาที่ง่ายและงาม พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน เมื่อปี 2541

#
9 พฤษภาคม 2548

(ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น